ธงสีรุ้งที่โบกสะบัดหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โสเภณีพัทยา ชายชอบแต่งหญิง เกย์ไร้บ้าน และสารพัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศในสังคมไทย คือเรื่องราวที่เราเคยเห็นผ่านตาจาก Spectrum เพจและเว็บไซต์ที่เล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศได้อย่างลึกซึ้งถึงเครื่อง ตีแผ่และลงลึกประเด็นเกี่ยวเนื่องกับเพศอย่างแยบคาย น่าจับตามอง แตกต่างจากสื่ออื่นๆ อย่างสิ้นเชิง จนได้รับรางวัลด้านสื่อสร้างสรรค์ ประเภทสื่อออนไลน์ จาก Ardhanareeswara Award ในปี 2019

สเปกตรัมทำให้เราเห็นว่าเรื่องเพศและเรื่องราวของ LGBT+ ไหลเวียนอยู่ในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เราเลยอยากพาไปทำความรู้จักแนวคิดเบื้องหลังการทำสื่อที่เป็นพื้นที่ความคิดของทุกสีสัน


สื่อใหม่ในเรื่องเพศ

เห็นประเด็นหลากหลายขนาดนี้ จริงๆ Spectrum เพิ่งตั้งมาปีครึ่ง เริ่มจาก โอ๋-อภิสิทธิ์ อัศวะภูมิ สร้างพื้นที่ให้คนส่งเรื่องเข้ามา

Spectrum เพจที่ทำให้คนไทยเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง

“เราเล่าเรื่อง Gender Issues คือความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้หมายความว่าทำแค่เรื่อง LGBT+ นะ เรื่องผู้ชายผู้หญิง (Straight) ก็มีหลายประเด็น เราอยากทำเพจที่พูดเรื่องเพศในประเทศไทย เพราะเรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน ก่อนหน้านี้สื่อที่ทำเรื่อง LGBT+ มี แต่ยังไม่เท่ากับคำว่า ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ”

บรรณาธิการบริหารสื่อเพื่อความหลากหลายทางเพศอธิบายจุดเริ่มต้นของสื่อใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Chamni’s Eye ครีเอทีฟโปรดักชันเฮาส์ที่เชี่ยวชาญการเล่าเรื่อง มีจุดแข็งที่ภาพถ่ายและวิดีโอที่เฉียบคม

Spectrum เพจที่ทำให้คนไทยเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง

“ช่วงแรกๆ เป็นเรื่องราวของคนทางบ้านที่ประสบปัญหา ที่เขาเจออคติเรื่องเพศหลายๆ ด้าน เช่น พ่อแม่ไม่ยอมรับ เป็น Sex Worker แล้วสังคมรังเกียจ หรืออาจเป็นเด็กวัยรุ่นที่โดนล้อว่าเป็นคนข้ามเพศแล้วยังตัวดำอีก พอทำไปก็ขยายกลายเป็นพื้นที่ให้คนสนใจประเด็นเกี่ยวกับเพศ เกี่ยวกับสังคมวิทยาได้เข้ามาทำงานร่วมกัน

“ก่อนหน้านี้สื่อมักพูดเรื่อง LGBT+ ด้วย Stereotype ซ้ำๆ และมิติที่เล่าก็ยังแคบอยู่ มันเป็นเหมือนบ้านที่ทุกคนมีห้องนะแต่ทุกคนไม่มานั่งเล่นด้วยกัน สื่อแยกห้องกันอยู่ แล้วพอเป็นห้องรวมส่วนใหญ่มันสะท้อนกันเรื่องเดิมๆ อย่างจุดจบความหลายทางเพศที่ไม่ดี ข่าวที่รุนแรง มันมีแค่ภาพเดียวไปหน่อย สังคมเลยไม่ได้เห็นความเป็นไปของชีวิตในด้านอื่นๆ กับยังไม่ค่อยมีพื้นที่เหมือนห้องนั่งเล่นใหญ่ ให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศอยู่รวมๆ กัน ได้รู้จักกันเองมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละกลุ่มอยู่ในพื้นที่ตัวเอง เกย์อยู่กลุ่มหนึ่ง เลสเบี้ยนอยู่กลุ่มหนึ่ง หรือสนใจนางงามอยู่ด้วยกัน เที่ยวที่แบบนี้อยู่ด้วยกัน ไม่ค่อยมีการผสานโลกกันมากเท่าไร สื่อก็เลยถูกทำมาเพื่อห้องห้องหนึ่ง ตอบโจทย์เฉพาะบางกลุ่มไป

“บางสื่อพูดเรื่องเหล่านี้เยอะแต่ก็เน้นทำเพื่อขาย เช่น ซีรีส์วาย หรือเป็นสื่อที่พูดหลายเรื่อง ไม่ได้เจาะแต่เรื่องเพศ ดังนั้นเลยไม่ได้ครอบคลุมประเด็นทั้งหมด ปัญหาคือคนที่มีความเป็นอื่นเนี่ย มีสิทธิ์มีเสียงน้อย มีห้องนั่งเล่นใหญ่ๆ ได้มาอยู่ร่วมกันน้อย เราอยากทำให้เสียงของคนหลายๆ กลุ่มดังขึ้นมาเท่าๆ กัน และได้มาใช้เวลาด้วยกันผสานโลกกับทุกๆ คนในสังคมมากขึ้น” เดียว–ภัทรดล วีระชัยณรงค์ Content Creator ขยายความสมทบ

เพศ และอื่นๆ

“ประเด็นเรื่องเพศเราก็มี ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ชายขอบอื่นๆ ก็มีแทรกอยู่ เช่น LGBT+ ที่เป็นคนไร้บ้าน เขาถูกผลักออกไปอยู่ชายขอบมากกว่าเดิมอีก มีสิทธิ์มีเสียงน้อยกว่า LGBT+ ชนชั้นกลาง เราพยายามทำเรื่องเพศไม่ให้แปลกแยกออกจากเรื่องอื่นๆ เราอยากแสดงให้เห็นว่าประเด็นเรื่องเพศมันอยู่ในหลากหลายมิติของชีวิต เช่น การแพทย์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ธรรมชาติ สังคม อื่นๆ” โอ๋แจงความตั้งใจของทีมงาน

Spectrum เพจที่ทำให้คนไทยเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง

แนต-อรณี รัตนวิโรจน์ Content Creator อีกคนเล่าว่า คนที่ติดตามสเปกตรัมเป็นวัยทำงาน อายุ 20 ปลายๆ ขึ้นไป แต่จริงๆ แล้วมีความตั้งใจอยากจะสื่อสารถึงคนทุกกลุ่มทุกวัย ให้เข้าใจมิติเรื่องเพศได้ง่ายที่สุด ส่วนเรื่องที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้างมีหลายประเด็น เช่นเรื่อง Sex Worker พัทยาที่รัฐบาลปฏิเสธว่าไม่มีอยู่จริง เรื่องการแพทย์อย่างเพจน้องสาว ที่คนเข้ามาศึกษาเรื่องสุขภาพทางเพศ เรื่องน้องหนูเปีย ผู้ชายที่ชื่นชอบการแต่งตัวสไตล์หวานๆ หรือเรื่องคุณแซ็ค LGBT+ ที่เป็นคนไร้บ้าน

Spectrum เพจที่ทำให้คนไทยเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง

ภาพ : Spectrum

“เดาว่าหลายคนคงรู้สึกเซอร์ไพรส์และอยากรู้เรื่องราวมากขึ้น ซึ่งเป็นเซอร์ไพรส์ในทางที่ดีนะ มีคนเคยหาญาติที่เป็นคนไร้บ้านเจอจากสื่อของเราด้วย แต่เรื่องที่คนไม่เข้าใจ รับไม่ได้ก็มี บางทีเราลงเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องบวก เล่าถึงการลิดรอนสิทธิบางประการผ่านกฎหมาย บางคนก็ไม่เข้าใจว่าเล่าทำไม มองว่าต้องนำเสนอแต่เรื่องดีๆ ของ LGBT+ เท่านั้นสิ

“สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าอะไรถูกต้อง และเราทำอะไรอยู่ เห็นภาพเดียวกันเวลาคุยกัน” บรรณาธิการสรุปแนวทางของสื่อในมือ

ความชัดเจนของสเปกตรัมตรงใจใครหลายคน และทำให้การหาคนหรือประเด็นมาสัมภาษณ์ได้รับความร่วมมือดี บางคนยอมเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวอย่างละเอียด บางทีก็มีกรณีนักเรียนมาเล่าปัญหาทัศนคติของโรงเรียน เรื่องการใช้คำว่าเบี่ยงเบนทางเพศให้รับรู้ เนื้อหาของสเปกตรัมจึงเข้มข้น ตรงไปตรงมา และเป็นที่ถกเถียงสนใจของสังคมเสมอ

Spectrum เพจที่ทำให้คนไทยเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง

ภาพ : Spectrum

ห้องพูดเรื่องเพศ

ท่ามกลางผู้ติดตามกว่า 4 แสนคน สเปกตรัมพบว่า มีผู้อ่านหรือผู้ชมส่งข้อความหรือเรื่องราวเรื่องเพศมาปรึกษาเยอะมาก เลยตั้งกลุ่มปิดให้ผู้มีคำถามหรือปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยไม่ถูกตัดสินหรือล้อเลียน

“ตอนนี้มีสมาชิกมากกว่าห้าพันคนแล้ว คนในกลุ่มพร้อมจะให้คำปรึกษากัน เราเน้นเรื่องสังคมและการแพทย์ ไม่ได้ลงภาพอนาจารนะคะ ประเด็นหลักๆ สามอันดับแรกที่คนถาม หนึ่งคือจะท้องมั้ย ไม่ว่าหลั่งใน หลั่งนอก หรือใส่ถุงยาง คนขาดความรู้เรื่องนี้เยอะมาก สองคือเรื่องหลั่งช้า หลั่งเร็ว มีวิธีแก้ยังไงบ้าง สามคือปรึกษาปัญหาชีวิต เช่น พ่อแม่และครอบครัวไม่ยอมรับ ทำยังไงดี นอกจากนั้นก็มีปัญหาเพศศึกษา ทำนั่นทำนี่ไม่เป็นบ้าง เห็นเลยว่าเด็กไทยหรือวัยรุ่นไทยขาดความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย บางทีแค่คำว่าเซ็กซ์ คำว่าจู๋ จิ๋ม ก็ไม่กล้าพูด เลยอยากพยายามช่วยเรื่องนี้ สร้างพื้นที่ที่เข้าถึงคนกลุ่มนี้ให้มากที่สุด เพื่อให้เขามีเซ็กซ์ที่ปลอดภัย รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย”

ป๋อมแป๋ม-นภัสชล บุญธรรม กราฟิกดีไซเนอร์ที่ควบตำแหน่งผู้ดูแลกลุ่มนี้เอ่ย ชาวสเปกตรัมเห็นพ้องต้องกันว่า กรอบศีลธรรมกีดกันความรู้เรื่องเพศไปจากคนไทย ทำให้ผู้คนมีคำถามเกี่ยวกับเซ็กซ์ แต่ไม่ได้รับการสอนหรือบอกกล่าวให้ถูกต้อง

“เราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินแทนว่าอายุเท่าไหร่ควรมีเซ็กซ์ได้ เพราะการเติบโตของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ก็ควรเป็นช่วงที่ผ่าน Puberty แล้ว ถึง Age of Consent คือตัดสินใจเองได้ มีความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ ปัญหาคือผู้ใหญ่บางคนก็ไม่รู้นะ ไปเจอชีวิตจริงไม่เหมือนในหนัง กลายเป็นปัญหาก็มี” เดียวเสริมประเด็นเพศศึกษาในเพจ

Spectrum เพจที่ทำให้คนไทยเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง

ภาพ : Spectrum

หนทางอันยาวไกล?

“เราต้องการความเท่าเทียม ซึ่งจะมาไม่ได้เลยถ้าไม่แก้กฎหมาย ชอบมีคนถามว่าเรียกร้องมากอย่างนี้ เท่าไหร่ถึงจะพอ ก็ตอบได้เลยว่าจนกว่าจะเท่าเทียม แค่นั้นเลย การเมืองกับเรื่องเพศมันแยกกันไม่ได้ เห็นชัดเลยว่าความไม่เท่าเทียมยังมีอยู่จริง ทุกประเทศที่ LGBT+ มีสิทธิ์มีเสียงคือประเทศที่มีประชาธิปไตย ตัวอย่างในประเทศอื่นก็มีให้เห็น อย่างฟินแลนด์มีระบบการศึกษาและกฎหมายที่สร้างความเท่าเทียมทางเพศ เห็นคนเท่ากัน ให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่คนเท่ากัน”

“แต่เราก็ได้เรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ขนาดการเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าส้วมของคนไทยจากนั่งยองๆ มาเป็นใช้ชักโครก ทุกวันนี้ยังเถียงกันไม่จบเลย เรื่องเพศที่ถูกกดทับมานาน ยิ่งต้องใช้เวลาอีกมาก อดทนกับกระบวนการทุกอย่าง บางทีแนวคิดใหม่เข้ามา ไม่ใช่ว่าเราจะได้ผลลัพธ์ไวๆ ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้อะไรดั่งใจไปทุกอย่าง แต่เราก็ต้องทำไปเท่าที่ทำได้ ประเด็นนี้เข้มข้น เปลี่ยนได้ยาก ต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนให้เปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง และที่ปฏิเสธไม่ได้คือเรื่องเวลา ซึ่งก็หวังว่าอย่าช้านักเลย”

Spectrum เพจที่ทำให้คนไทยเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง

ภาพ : Spectrum

ช่วงเวลาขลุกขลักแบบนี้ สังคมไทยก็ยังมีความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าให้เห็นบ้าง เช่น มี ส.ส. LGBT+ ในสภา เปิดประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และ LGBT+ ก็ปรากฏตัวตามสื่อมากขึ้น จากแต่ก่อนที่แทบไม่มี ถึงยังไม่ได้เป็นตัวแทนของ LGBT+ แบบเต็มที่ก็ตาม ยังมีแสงรำไรให้เห็นความหวังในอนาคต

“เราอยากให้ข้อมูลของเราไปถึงกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ ในสังคม และนำเสนอเรื่องราวของพวกเขามากขึ้น เช่น กลุ่มคนยากจน กลุ่มคนพิการ นี่เป็นความท้าทายของเรา”

นอกจากอุดมการณ์มุ่งมั่น เส้นทางนี้ก็ไม่ได้มีแต่ขวากหนามเสียทีเดียว การที่คนสนใจเรื่องเดียวกัน ทั้งการสื่อสาร ศิลปวัฒนธรรม ก็ทำให้ทีมงานสนุกกับการได้ขบคิด ถกเถียง และต่อยอดความคิดไปด้วยกัน จากคนที่รู้จักเรื่องราว LGBT+ เพียงคร่าวๆ อย่าง ไอซ์- พิพัฒน์ ปะจันทบุตร Video Editor ก็ได้เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศดีขึ้น หรือนักศึกษาฝึกงาน มอลต์-ชญานิน โล่ห์สถาพรพิพิธ ก็ได้วิธีการคิดประเด็นที่คมขึ้น เพื่อสื่อสารเรื่องเพศให้คนเข้าใจ ส่วนคนออกแบบเนื้อหาอย่างแนต ก็ได้ประสบการณ์จากการพบเจอผู้คน และเข้าใจว่านอกจากปัญหาส่วนบุคคล ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงการเมืองที่ครอบความเข้าใจของคนอยู่ เลยยิ่งเข้าใจและสนใจประเด็นเหล่านี้มากขึ้น

“เราได้สร้างความเข้าใจให้คนหลากหลายมิติมากขึ้น เพราะไม่ได้พูดกับคนกลุ่มเดียว คนอ่านก็มีความเข้าใจต่างกัน สิ่งที่เราเรียนรู้คือการทำให้คนเคารพและเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น ก่อนอื่นต้องทำให้เขาเข้าใจก่อนว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติ หลังจากนั้นเราหวังว่าสิ่งที่ทำอยู่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง” เดียวกล่าวตบท้าย

Spectrum เพจที่ทำให้คนไทยเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง

มุมมองของ Spectrum

ปิดท้ายด้วยมุมมองและความเห็นของผู้ขับเคลื่อนสเปกตรัมต่อประเด็นต่างๆ ในสังคมไทย ที่ทำให้คุณเข้าใจทิศทางและความตั้งใจของสื่อเพื่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

การเมือง 

มนุษย์ปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ ทุกสังคมมีการเมือง และการเมืองไม่ใช่แค่ในสภา แต่เป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรในชีวิต เพราะเราต้องใช้ชีวิตในระบบบางอย่าง และในระบบนั้นแหละคือการเมือง การถกเถียงเรื่องการเมืองแบ่งใหญ่ๆ ก็มักมี 2 ประเด็น คือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ และการเมืองเรื่องชนชั้น

เครื่องแบบ

ประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าควรยกเลิกหรือไม่ ถ้าสนับสนุนก็บอกว่าการใส่เครื่องแบบอาจมีฟังก์ชันจำเป็น เพื่อความเป็นระเบียบ พวกพ้อง กลมเกลียว หรือสะดวกต่อการทำงาน เช่น พวกชุดอาชีพต่างๆ แต่บางทีเครื่องแบบก็สร้างความลำบากและแฝงไปด้วยอำนาจนิยมที่ไม่เท่าเทียม เช่น บริษัทบางแห่งไม่ให้พนักงานหญิงใส่แว่น บังคับให้แต่งหน้า และในเมืองไทย ประเด็นที่ถกเถียงคือเรื่องชุดนักเรียนที่จำกัดกรอบ กักขังเสรีภาพในตัวตนของปัจเจก

เพศที่ 3

การมีลำดับขั้น แสดงว่าคุณมีการ Prioritize ว่าเพศไหนมาก่อนหรือมาหลัง ซึ่งคนที่พูดแบบนี้อนุมานได้ว่า อาจคิดว่า เพศที่หนึ่งคือ ผู้ชาย และเพศที่สองคือผู้หญิงแล้วเพศที่สามคือ ?

ลำดับแบบนี้สื่อถึงความไม่เท่าเทียม เหมือนด้อยกว่า ในเพจเราใช้คำว่า ‘คนที่มีความหลากหลายทางเพศ’ มาตลอด

ชาวสีรุ้ง

คำนี้คนก็มักใช้กัน น่าจะมาจากธงรุ้ง รุ้งคือสเปกตรัมของแสงสีขาวที่แทนความหลากหลายของมนุษย์ สีของธงสื่อถึงแต่ละอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างกันอีก คนแต่ละคนสามารถผสมสีที่ตัวเองชอบได้ตามใจเลย

Feminism

อีกรูปแบบของความเคลื่อนไหวเรื่องเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมในเรื่องเพศ

ทำแท้ง

สิทธิที่ผู้หญิงควรมี จะทำหรือไม่ทำก็แล้วแต่เจ้าตัว แต่รัฐควรจัดหาตัวเลือกให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างปลอดภัย ไม่ใช่แค่เรื่องบาป เรื่องผีเด็ก ควรแก้กฎหมายให้ทำแท้งถูกกฎหมาย ในเมื่อเราเห็นผู้หญิงเป็นคน มีสิทธิ์บนเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ทำไมถึงไม่ได้สิทธิ์ที่ควรจะได้

อยู่ก่อนแต่ง

It’s a choice.

Sex Worker

อาชีพหนึ่งที่ควรทำให้ถูกกฎหมาย

ทุนนิยม

เป็นความรุนแรงที่คนส่วนมากไม่ตั้งคำถาม หรือแม้ตั้งคำถามก็ปฏิเสธไม่ได้ สู่สงครามระหว่างคนรวยและคนจนที่ไม่มีวันจบสิ้น ในช่วง COVID-19 เราจะเห็นความรุนแรงที่น่ากลัวของสิ่งนี้ได้ชัดเจนมาก

ประกวดนางงาม

การทำให้ผู้หญิงเป็นสินค้าที่ขายได้ในระบอบทุนนิยม แต่ก็มีวี่แววดีขึ้น คือปรับตัวเข้ากับกระแสโลก ซึ่งแต่ละเวทีทั่วโลกเริ่มเปิดรับความหลากหลายของอัตลักษณ์นางงามมากขึ้น

พื้นที่ปลอดภัย

ไม่ใช่แค่บ้าน แต่คือสิ่งที่รัฐต้องสร้างให้พลเมือง


Facebook : SPECTRUM

spectrumth.com

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ