วิชา : Soorten Jaren (Species Hunting)

ประเภทวิชา : ความหลากหลายทางธรรมชาติ 

คุณสมบัติผู้เรียน : มีสายตาว่องไว มองเห็นสัตว์และพืชต่างสายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว 

ความเดิมวิชาที่แล้ว เราตามเด็กๆ ประถมวัย อายุ 6 – 9 ขวบ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้าป่าไปเรียนวิชา Alles Groeit (ทุกสรรพสิ่งล้วนเติบโต) เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ รักษาทรัพยากรและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ

ตอนนี้ ศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนธรรมชาติ (Milieu Educatie Centrum) ได้เปิดห้องเรียนธรรมชาติสำหรับเด็กโตขึ้นอีกครั้ง มาดูกันว่านักเรียนประถมปลาย อายุ 10 – 12 ปี ของประเทศเนเธอร์แลนด์ เรียนรู้เรื่องอะไรกันบ้างในป่า และถือเป็นครั้งแรกของปีนี้ที่ห้องเรียนธรรมชาติของเด็กโตได้เปิดขึ้น หลังจากประชาชนที่นี่เริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 

คาดว่าภายในเดือนกันยายนปีนี้ ประชาชนอายุ 12 ปีจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างทั่วถึง และที่สำคัญ ประชาชนไม่จำเป็นต้องใส่แมสก์อีกต่อไปแล้ว เอาล่ะ ถ้านักเรียนพร้อมแล้ว เตรียมสะพายเป้เข้าป่ากันเลย 

ตามเด็กๆ ประถมไปเรียนวิชาความหลากหลายทางธรรมชาติ ในห้องเรียนกลางป่าเนเธอร์แลนด์

ห้องเรียนธรรมชาติครั้งนี้มีเด็กจำนวน 24 คน มาพร้อมคุณครูผู้ช่วยจากโรงเรียนอีก 2 คน คลาสเรียนเริ่มเวลา 10.30 น. และจะจบลงเวลา 12.00 น. ก่อนเริ่มคลาสจะเป็นการอธิบายถึงการพึ่งพาอาศัยกันของธรรมชาติ โดยเริ่มจาก ‘ดิน’ -ไหนใครรู้บ้างว่าภายในดินกองนี้มีสิ่งมีชีวิตอะไรอยู่บ้าง

เด็กๆ ทยอยยกมือกันทีละคน เราไม่แน่ใจว่าเป็นวัฒนธรรมของที่นี่หรือวัฒนธรรมของโรงเรียน เพราะทุกครั้งที่เด็กๆ ยกมือ จะชูแค่นิ้วชี้ และเราสังเกตว่าจะเป็นกันตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไปที่ยกมือตอบคำถามแบบนี้ 

ตามเด็กๆ ประถมไปเรียนวิชาความหลากหลายทางธรรมชาติ ในห้องเรียนกลางป่าเนเธอร์แลนด์

คุณครูอลิซ่า เอาสตรอว์เบอร์รี่หนึ่งช่อมาวาง แล้วอธิบายว่า “ดินทำให้พืชโต พอโตปุ๊บ ผึ้งก็จะมาผสมเกสร มีนกมากิน แล้วก็มีสัตว์ใหญ่มากินนกอีกที” นอกจากสอนเรื่องการพึ่งพาอาศัยกันของธรรมชาติที่เริ่มจากดิน ยังเป็นการสอนเรื่องห่วงโซ่อาหารด้วย หลังจบบรรยาย เราในฐานะครูอาสาทยอยแจกกระเป๋าเป้ให้กับเด็กๆ แต่ละกลุ่ม ภายในกระเป๋าประกอบด้วยแผ่นข้อมูลความหลากหลายทางธรรมชาติ ปากกาเมจิก ขวดโหล แว่นขยาย

โดยภารกิจคือ มองหาความหลากหลายทางธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

ตามเด็กๆ ประถมไปเรียนวิชาความหลากหลายทางธรรมชาติ ในห้องเรียนกลางป่าเนเธอร์แลนด์
ตามเด็กๆ ประถมไปเรียนวิชาความหลากหลายทางธรรมชาติ ในห้องเรียนกลางป่าเนเธอร์แลนด์

เด็กๆ มีแผ่นความรู้เรื่องความหลากหลายอยู่ในมือ ถ้าระหว่างเดินสำรวจเจอความหลากหลายของพืช สัตว์ หรือเห็ดชนิดต่างๆ ให้เอาปากกาสีแดงมาทำเครื่องหมายลงบนแผ่นพลาสติก ซึ่งเด็กๆ ได้เจอพันธุ์นกหลายชนิด ยิ่งเจอเยอะแค่ไหน ก็ยิ่งห่างไกลคำว่าใกล้สูญพันธุ์มากเท่านั้น ส่วนเจ้าเห็ด ก็ทำให้เรานึกถึงข้อมูลน่ารู้ของที่นี่

ทุกท่านรู้หรือไม่ว่าที่เนเธอร์แลนด์ ประชาชนเก็บเห็ดกินเองได้ แต่ไม่การันตีถึงความปลอดภัยนะ และบางสถานที่ก็มีการจัดทัวร์สั้นๆ สอนเรื่องการเก็บเห็ด ว่าเห็ดพันธุ์ไหนกินได้ และเห็ดพันธุ์ไหนเป็นพิษ รวมถึงอนุญาตให้นำเห็ดออกมาจากป่าได้เพียงแค่ 250 กรัมเท่านั้น ถือเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจเหมือนกัน

ตามเด็กๆ ประถมไปเรียนวิชาความหลากหลายทางธรรมชาติ ในห้องเรียนกลางป่าเนเธอร์แลนด์
เจอหอยทากสีส้ม
ตามเด็กๆ ประถมไปเรียนวิชาความหลากหลายทางธรรมชาติ ในห้องเรียนกลางป่าเนเธอร์แลนด์
เจอเห็ดบางชนิด
ตามเด็กๆ ประถมไปเรียนวิชาความหลากหลายทางธรรมชาติ ในห้องเรียนกลางป่าเนเธอร์แลนด์
เจอนกหลายชนิด

ทีแรกเราก็ทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มบทสนทนากับเด็กๆ ยังไง เพราะเราไม่ชินกับเด็กโต กลายเป็นว่าเด็กๆ วิ่งมาสะกิดเราจากข้างหลัง แล้วบอกว่ากลุ่มพวกเขาเจอหนูตาย และนี่คือจุดเริ่มต้นของบทสนทนา อีกสักพักก็เจอหมา เด็กๆ แวะลูบหัวหมากันสนุกสนาน เพราะป่าแห่งนี้อยู่ใกล้ชุมชนมาก คนแถวนี้มักจะพาหมามาเดินเล่น

ส่วนเราเองก็เคยพาหมามาเดินแถวนี้เหมือนกัน เขาจะมีพื้นที่ที่ปล่อยให้หมาวิ่งเล่นโดยไม่ใช้เชือกจูง ถือเป็นการเข้าสังคมของเหล่าน้องหมาด้วยเช่นกัน และบริเวณเดียวกันก็มีฟาร์มสัตว์สำหรับเด็ก ให้เด็กๆ เข้าไปเล่นกับสัตว์ต่างๆ ได้ เช่น แกะ ม้าแคระ หมู และไก่ ส่วนตรงข้ามจะเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ 

สถานที่ที่เราเล่าให้ฟังมีชื่อว่า Hout Kamp เป็นสวนสาธารณะประจำเมือง Leiderdorp และยังไม่จบแค่นั้น สวนสาธารณะแห่งนี้ยังมีพื้นที่ที่เรียกว่า Heemtuin ซ่อนอยู่ ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของเมืองก็ว่าได้ แถมพื้นที่ตรงนี้ทางชุมชุมก็จัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์พืชและดอกไม้นานาชนิด โดยไม่อนุญาตให้นำสุนัขเข้าไป 

มีม้านั่งสลักชื่อผู้ก่อตั้งและคิดค้นวิชาการศึกษาธรรมชาติด้วยนะ

ตามเด็กๆ ประถมไปเรียนวิชาความหลากหลายทางธรรมชาติ ในห้องเรียนกลางป่าเนเธอร์แลนด์
ตามเด็กๆ ประถมไปเรียนวิชาความหลากหลายทางธรรมชาติ ในห้องเรียนกลางป่าเนเธอร์แลนด์

หลังใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในพื้นที่ป่า เด็กๆ ก็กลับมาที่ศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนธรรมชาติ นำของที่เจอในป่ามานับว่าแต่ละกลุ่มเจออะไรบ้าง หลังจากพูดคุยกันเสร็จ ความน่าสนใจคือ คุณครูจะถามตอนท้ายคาบว่า

“มีใครอยากให้ Tips / Tops กับกิจกรรมในครั้งนี้บ้าง”

เด็กๆ ทยอยยกมือตอบ แสดงข้อคิดเห็น เสนอแนะ ปรับปรุง และชื่นชมกันตรงนั้นเลย

Tips ที่เด็กๆ ให้ก็คือ กิจกรรมควรจะเพิ่มความท้าท้าย เช่น ทำเป็นเกม ทำเส้นทางให้น่าผจญภัยขึ้นหน่อย  

Tops ที่เด็กๆ ให้ก็คือ ได้เรียนรู้ว่าพืชแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร และได้เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม 

เหตุการณ์แบบนี้เราเคยเจอตอนเรียนภาษาดัชต์ที่มหาวิทยาลัยเหมือนกัน โดยเฉพาะคลาสพูด อาจารย์ให้เพื่อนๆ ให้ข้อแนะนำและข้อเสนอแนะ รวมถึงกล่าวชมเราในคลาส ไม่คิดว่าที่นี่จะเริ่มทำกันตั้งแต่อายุน้อยๆ เลย 

และว่ากันว่าคนดัชต์เป็นคนพูดจาตรงไปตรงมา ตอนแรกเราเองก็ตกใจกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง พออยู่ไปสักพัก จึงได้เรียนรู้ว่า การให้เด็กๆ แสดงความเห็น ถือเป็นการแลกเปลี่ยนและส่งเสริมความคิดใหม่ๆ ได้ดีทีเดียว

เด็กที่นี่จึงกล้าแสดงออกและยอมรับความเห็นต่าง : ) 

หลังจบคลาส พืชและดอกไม้ที่เก็บมาจากในป่าจะถูกทิ้งลงในถังปุ๋ย เพื่อเอาไปทำปุ๋ยหมักในอนาคต

หลังจากที่เรามาเป็นครูอาสาสมัครได้สักพัก ก็เริ่มมีสมาชิกอาสาเข้ามาเพิ่มเติม จากที่มีแค่เราคนเดียวและครู 2 คน ตอนนี้มีอดีตคุณครูวัย 74 ปี เข้ามาช่วยสอนและดูแลสวน ส่วนตัวเราก็ได้ฝึกพูดภาษาดัชต์โดยไม่เสียเงินค่าเรียน หรือถ้าอยากกินอะไรก็เด็ดได้เลย กระหายน้ำก็เด็ดใบสะระแหน่ไปชงชา รวมถึงได้เรียนรู้เรื่องการปลูกพืช จนตอนนี้ก็เอาไปปรับใช้กับที่บ้านด้วย และเคยมีเหตุการณ์หนึ่งระหว่างเรานั่งถอนหญ้าในสวน คุณยายอายุ 80 ปีมาขออาสารดน้ำต้นไม้ให้ พร้อมบอกว่า ยายทำช้าหน่อยนะ แต่อยากช่วย เพราะคุณยายอยากออกกำลังกาย 

ศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนธรรมชาติ (Milieu Educatie Centrum) ก็มีพื้นที่ติดกับห้องสมุดประชาชนประจำเมืองด้วยเช่นกัน และเรากำลังเริ่มทำโครงการเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มได้สัปดาห์กว่าๆ ร่วมกับห้องสมุด คือการเปิดอุปการะต้นไม้ หากประชาชนคนไหนอยากอุปการะต้นไม้ก็หยิบไปได้เลย หรือจะเอามาแลกกันก็ได้นะ

ส่วนครั้งหน้า เราจะมาเล่าให้ฟังว่าโรงเรียนและผู้ปกครองของเด็กๆ เตรียมอนุบาล อายุ 4 – 6 ขวบ ทำงานร่วมกันอย่างไร เรื่องการส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้พื้นที่ป่า Hout Kamp เช่นเดิม รวมถึงจะเล่าโปรเจกต์ใหม่ในฤดูร้อน ที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ เข้าป่าและออกไปเล่นข้างนอกมากขึ้นด้วย

เพิ่มเติม : ศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนธรรมชาติ (Milieu Educatie Centrum) เปิดให้ประชาชนทั่วไป เข้ามายืมกระเป๋าเป้และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเข้าไปสำรวจในป่า ได้ในทุกๆ วันพุธ เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป 

Write on The Cloud

บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

อัจฉราพรรณ พาลี

หญิงสาวอายุยี่สิบปลาย อาศัยอยู่เมืองไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ชอบอยู่ใกล้เด็กและธรรมชาติ ชอบเที่ยวป่าและกำลังตัดสินใจซื้อรถคาราวาน