Sourcing Table คือร้านอาหารแบบ All Day Brunch ที่เพิ่งเปิดใหม่ อยู่ในซอยบางแวก 35 จะเข้าจากทางราชพฤกษ์หรือทางจรัญสนิทวงศ์ก็ได้ครับ
ร้านนี้เหมาะกับคนที่อาศัยในละแวกนั้น อยู่ในซอยแต่ไม่ลึกมาก เข้ามาก็มีพื้นที่ให้จอดรถพอสมควร เป็นโกดังเก่าที่ปรับเปลี่ยนและตกแต่งจนข้างในสวย สูงโปร่งใหญ่โตน่านั่ง


บนผนังด้านหนึ่งของร้านเขียนคอนเซปต์ของ Sourcing Table ไว้ว่า ‘Crafted Experiences, Interconnected, Flavors and Narratives’ มาจากการที่ร้านอยากเล่าเรื่องวัฒนธรรมของพื้นที่ที่ไปศึกษาเรื่องอาหารผ่านอาหารอีกที
เจ้าของร้านนี้คือ มิ้งค์-ณิชกานต์ คัณธามานนท์ ที่ลาออกจากงานสายธนาคารมุ่งมาทำร้านอาหารเพื่อแพสชันส่วนตัวที่แรงกว่าอย่างเรื่องการกิน และการออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรม ตามหาวัตถุดิบทางอาหารทั้งไทยและต่างประเทศ
มิ้งค์ชอบเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง และเชื่อว่าอาหารคือสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรม ถ้าเล่าวัฒนธรรมผ่านอาหารน่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนเชื่อมโยงได้ง่าย


ผมคิดว่าจุดเด่นของร้านนี้คืออาหารที่นี่ขาย All Day Brunch แบบมีเมนูที่ไม่น่าจะเจอได้บ่อยในร้านบรันช์ทั่วไป เป็นอาหารที่คิดจากพื้นฐานของอาหารแบบตะวันตก แต่มีรสชาติของการปรุงและรสของวัตถุดิบแบบไทย ๆ เป็นเพราะมิ้งค์มีไอเดียของอาหารเกือบทุกจานที่พิเศษมาจากประสบการณ์ของเธอเอง
“เวลาไปกินอาหารที่ไหนหรือดูรายการทำอาหาร เรามักจะมีไอเดียเสมอว่า ถ้าเป็นเราทำบ้าง จะทำเมนูออกมายังไง
“เวลาเรากิน ไอเดียเราจะฟุ้ง กินแล้วคิดว่าอันนี้เหมือนอันนั้น หรือวัตถุดิบนี้เอาไปทำเมนูอะไรได้อีกบ้าง เราสนุกที่จะปรับวัตถุดิบไทยให้เข้ากับอาหารตะวันตก มิ้งค์ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เอาวัตถุดิบไทยมาทำอาหารแบบตะวันตก เพราะเวลาเรากินอาหารฝรั่ง เราก็คิดว่ามีวัตถุดิบไทยหลาย ๆ อย่างก็มีคาแรกเตอร์คล้าย ๆ กัน อย่างซีซาร์สลัดใส่แองโชวี เราคิดว่าปลาเค็มของไทยมาปรุงด้วยวิธีไหนดีที่จะให้ปลาเค็มไม่รู้สึกคาวเหมือนเอามาทำอาหารไทย“ มิ้งค์เล่าให้เห็นที่มาของอาหาร
ถึงอาหารแต่ละจานของ Sourcing Table จะหน้าตาดูเป็นอาหารเช้าแบบฝรั่ง แต่จริง ๆ แล้วรสค่อนข้างรสจัด อร่อย และนำเสนอวัตถุดิบแต่ละอย่างได้มีไอเดีย ตัวอย่างเช่น
Somtum Moo-Ping Cornbread
ขนมปังข้าวโพด | ซัลซาตำข้าวโพด | เบคอนหมูปิ้ง | ไข่ต้มยางมะตูม

คล้ายเมนูคอร์นเบรดกับซัลซา แต่ปรับให้เป็นไทยมากขึ้น ร้านทำคอร์นเบรดเอง ใส่ผักชี พริกชี้ฟ้าแดง-เขียว ปกติซัลซาที่เป็นแบบเม็กซิกันก็ปรับให้ออกมาเป็นเหมือนตำข้าวโพดให้มีรสแบบน้ำส้มตำ ให้มีรสและกลิ่นหอมของน้ำตาลมะพร้าว ในจานจะมีเบคอนหมูปิ้งด้วย ชื่อนี้เพราะเขาทำแบบหมูปิ้ง เอาเบคอนหมักกับกะทิแล้วค่อยเอาไปย่าง เคลือบด้วยน้ำตาลมะพร้าว กินแล้วนึกถึงหมูปิ้ง จานนี้จะเสิร์ฟพร้อมไข่ต้ม และเจลพริกชี้ฟ้า เหมือนกินส้มตำหมูปิ้งข้าวเหนียว
Thai-French Striploin Northern Chimichurri
เนื้อโคขุนโพนยางคำ | ซอสชิมิชูรี ผักแพว มะแขว่น | พริกหนุ่มและผักย่าง


ใช้เนื้อจากสกลนครย่างแล้วตัดเอาส่วนติดมันและเอ็นมาย่างเพิ่มอีกให้กรอบขึ้น กินกับน้ำจิ้มชิมิชูรีแบบไทย ๆ ใช้สมุนไพรไทยมาผสม มีผักแพว มะแขว่นที่มีความเปรี้ยวหอม จะมีรสเปรี้ยวนำ สดชื่น เครื่องเคียงใช้พริกหนุ่มย่างแทนพริกหวานย่าง มีเกลือผสมผักไชยา และพริกไทยจากตรัง เป็นเนื้ออีสานที่เคี้ยวสนุกและได้ความหอม เป็นสเต๊กรสจัดแบบอีสานปนเหนือ
Acai Smoothie with Dark Soy Sauce Granola
สมูตตี้อาซาอิ น้ำมะพร้าว | ผลไม้สด | กราโนลาซีอิ๊วดำ ลำไยอบแห้ง


ชามที่เป็นได้ทั้งอาหารเช้าและขนม เบอร์รีปั่นผสมกับน้ำมะพร้าวจากสวนลุงวิทย์ซึ่งเป็นน้ำมะพร้าวที่หอมหวานมากที่สุดแหล่งหนึ่งในไทย ปั่นผสมกับกล้วย กินคู่กับกราโนลาที่เคล้ากับซีอิ๊วหวานจี้แซ จากนครสวรรค์ เพราะมีความเป็นน้ำตาลเคี่ยวมากกว่าที่จะทำให้นึกถึงความคาวของซีอิ๊ว เมื่อคลุกเคล้ากับธัญพืชต่าง ๆ ได้รสออกมาคล้ายคาราเมลหอมกลิ่นไหม้นิด ๆ เค็มหวาน ตัดกับรสหวานอมเปรี้ยวสดชื่นของเบอร์รีปั่น
Isaan Almond Banoffee
อัลมอนด์อีสานครัมเบิล | มูสช็อกโกแลต กล้วย ซอสคาราเมล

จานนี้เป็นบานอฟฟีที่แยกส่วนต่าง ๆ ออกมา มีกล้วยเนื้อฉ่ำที่เคลือบคาราเมลกรอบ ๆ มีมูสช็อกโกแลต Salted Caramel และมาสคาโปน แต่ใช้ครัมเบิลกรุบ ๆ รองฐานจากกระบก พืชที่ถูกเรียกว่าอัลมอนด์อีสาน เนื้อจะมัน ๆ คล้ายอัลมอนด์สไลซ์ อบแล้วทำเป็นผงเคล้าเนย น้ำตาล วางรองไว้ใต้สุด
Citrus Miang Kum Salad
ส้มเกลี้ยง | ใบชะพลู | น้ำสลัดยูซุ | ซอสเมี่ยงคำ | มะพร้าวคั่ว

มาจากยำส้มโอ แต่มีส้มเกลี้ยง เชื่อมโยงกับเมี่ยงคำที่จะมีมะนาวซีกเป็นหนึ่งในเครื่องด้วย น้ำสลัดใช้ส้มเกลี้ยงผสมกับยูซุ และยังมีน้ำราดเสริมอีกอย่างเป็นน้ำราดเมี่ยง ใช้น้ำปลาที่หมัก 2 ปีมาเคี่ยวกับน้ำตาลโตนดจากสงขลา ใส่กุ้งแห้ง โรยมะพร้าวคั่ว เป็นสลัดแบบไทย ๆ
สลัดยังมีอีก 2 แบบ สลัดแบบสดชื่นใส่สโมกชีสรีคอตตาที่ทำโดยคนไทย และอีกแบบเป็นซีซาร์สลัดที่ใช้ปลาเค็มแทนแองโชวี เสิร์ฟกับสาลี่น้ำผึ้งแทนลูกแพร์
Pink Rice Gelato
เจลาโต้ข้าวหอม แสงแรก | ข้าวหอมมะลิพวงชมพู GI อุบลราชธานี

ไอศกรีมที่ได้ Ampersand Gelato มาช่วยพัฒนา เลือกใช้ข้าวที่เป็นวัตถุดิบกลาง ๆ ที่เมื่อทำเป็นไอศกรีมแล้วพลิกแพลงได้กับหลายเมนู
ใช้ข้าวแสงแรกจากอุบลราชธานี ได้ชื่อนี้มาจากแหล่งปลูกที่พระอาทิตย์ขึ้นเป็นที่แรกของประเทศ กลิ่นของข้าวจะเป็นกลิ่นดอกไม้ สั่งไอศกรีมมากินหรือจะเลือกเมนูของหวานที่มีไอศกรีมข้าวด้วยก็ได้
Sourcing Table ตั้งใจจะเป็นมากกว่าร้านอาหาร นอกจากอาหารอร่อยที่ใครก็มากินก็ได้ ร้านนี้ยังเน้นเรื่องประสบการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับอาหารอีก เช่น กิจกรรม ไปจนถึงร้านขายของชุมชน
“เราอยากทำร้านอาหารเพราะอยากเปลี่ยนประสบการณ์ที่เราได้ลงพื้นที่มาหลาย ๆ ที่ให้กลายมาเป็นอะไรสักอย่างที่มีประโยชน์กับคนอื่นและดีกับความรู้สึกของตัวเองด้วย Sourcing Table ในความหมายของเราจึงมีมากกว่าแค่อาหาร แต่อยากให้เหมือนเป็นที่รวบรวมคน ทั้งผู้ผลิตที่ตั้งใจ หรือแม้แต่คนที่สนใจในเรื่องอาหารเหมือนกัน”

จุดประสงค์ที่มิ้งค์และหุ้นส่วนอยากทำ Sourcing Table ก็เพื่อสนับสนุนคนที่มีแพสชันในเรื่องอาหารเหมือนกัน ตั้งแต่คนกินจนถึงผู้ผลิต
การมีแพสชันมันมีพลังมากเลย เราอยากสนับสนุนคนที่มีแพสชันในสิ่งที่เขาทำ เช่น คนทำขนมปังที่เขาอินกับสิ่งนั้นและศึกษาแบบลงลึก เพราะเราเชื่อว่าใครที่อินกับสิ่งไหน มันจะได้ผลลัพธ์ที่ดีออกมา
“พอเราเลือกสนับสนุนเกษตรกรหรือผู้ผลิตที่มีความตั้งใจ ต้นทุนอาหารของเราเลยค่อนข้างสูง แต่สูงแบบที่รู้ว่าเงินไปถึงใครบ้าง อย่างเช่น ‘แมวกินปลา’ สตาร์ทอัพที่ทำเรื่องปลากับประมงพื้นบ้าน เราใช้ปลาจากเขา เราชอบระบบที่เขาให้ชาวประมงเป็นคนกำหนดราคาที่อยู่ในกรอบของคุณภาพที่กำหนดไว้ เราเลยมั่นใจว่าได้ของที่มีคุณภาพดีในสิ่งที่จ่ายไป
“เรารู้ว่าราคาที่เหมาะสมของวัตถุดิบแต่ละอย่างควรอยู่ที่ราคาประมาณเท่าไหร่ แต่อะไรที่มีคุณค่ามากกว่า เช่น การได้สนับสนุนชาวบ้านหรือคุณภาพที่ดีจริง ๆ เราก็ยอมเลือกใช้”


Sourcing Table
ภายในร้านมีเคาน์เตอร์กลางที่มิ้งค์เรียกมันว่า Sourcing Table ตั้งใจไว้ใช้ดิสเพลย์วัตถุดิบที่ไปตามหามาจากทั้งในและต่างประเทศ
“วัตถุดิบของไทยบางอย่างคุณภาพดีมาก แต่บางอย่างจากต่างประเทศก็ต้องยอมรับว่าคุณภาพ และรสชาติที่ออกมานั้นดีกว่า เลยไม่ได้เน้นว่าจะต้องเป็นของจากไทยทั้งหมด”
ส่วนโต๊ะใหญ่ตรงกลางร้านเป็น Sharing Table มีไว้สำหรับคนที่มาคนเดียวมานั่ง โต๊ะที่ขนาดใหญ่พอจะให้ความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ตรงกับคอนเซปต์ของร้านที่อยากให้มีพื้นที่การเชื่อมต่อระหว่างคนที่สนใจในเรื่องอาหารแบบเดียวกันด้วย
เมื่อมีกิจกรรมโต๊ะนี้ก็ใช้สำหรับทำเวิร์กช็อปได้ด้วย ส่วนพื้นที่ชั้นบนของร้านเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ และเตรียมไว้สำหรับเป็น Grocery ขายของจากชุมชนที่ไปเลือกมา

