“…มองไปไกลที่ดวงดาวสุดขอบฟ้าไกล อยากจะไปไปให้ถึงครึ่งทางแสงเธอ ดวงดารา เหมือนไม่มีวันจะพบเจอ อยากให้เธอ ส่องแสงลงมาพื้นดิน…”

รู้หรือไม่ว่า กว่าที่เพลง ‘ก้อนหินละเมอ’ จะเข้ามาอยู่ในใจของผู้ฟังได้ต้องใช้เวลานานร่วมปี แถมเวอร์ชันแรกที่คนส่วนใหญ่รู้จักยังไม่ใช่ต้นฉบับอีกต่างหาก แต่ด้วยความไพเราะและความโดดเด่นของออริจินอล ทำให้บทเพลงที่ถูกลืมเลือน ค่อยๆ ซึมลึกเข้าไปในความทรงจำของใครหลายคน จนกลายเป็นบทเพลงอมตะที่ข้ามกาลเวลา

25 ปี Soul After Six จังหวะชีวิตของเจ้าของบทเพลงก้อนหินละเมอ

บางทีความสำเร็จของ ก้อนหินละเมอ คงไม่ต่างจากเส้นทางของ Soul After Six เจ้าของผลงานสักเท่าใด เพราะในวันที่เริ่มต้น ต้องถือว่าห่างไกลจากความสำเร็จพอสมควร ด้วยแนวเพลงที่ฉีกจากกระแสนิยมอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังมีโอกาสแสดงสดแบบเต็มวงแค่หนเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คุณภาพและความตั้งใจ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลงานต่างๆ ไม่จางหายไปไหน และกลายเป็นต้นแบบให้นักดนตรีรุ่นใหม่อีกมากมายได้เดินตาม

ในวาระที่ Soul After Six ครบรอบ 25 ปี ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับ 3 สมาชิก ปึ่ง-ณรงค์ฤทธิ์ สุพรรณเภสัช, ปิงปอง-วิศรุตเทพ สุพรรณเภสัช และ บิ๊ก-ศรุต วิจิตรานนท์ ถึงการเดินทางอันยาวนานที่แม้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็ยังคงหยัดยืนบนถนนดนตรี ด้วยพลังความรักและความเชื่อมั่นที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

25 ปี Soul After Six จังหวะชีวิตของเจ้าของบทเพลงก้อนหินละเมอ
01

รักแล้ว

หากบอกว่า ชีวิตของทั้งสามคนผูกพันกับเสียงดนตรีมาตั้งแต่เด็กก็คงไม่ผิด เพราะอย่างปึ่งและปิงปองนั้นถูกคุณแม่ส่งไปเรียนเปียโนคลาสสิกตั้งแต่อายุ 4 ขวบ พอโตขึ้นปึ่งก็เริ่มหัดเบส หัดกีตาร์ หัดกลองตามเพื่อนๆ เมื่อเล่นเป็นก็ไปสอนน้องชายต่ออีกทอด ก่อนฟอร์มวงของตัวเอง และฝึกแต่งเพลงเพื่อเล่นในงานโรงเรียนเซนต์ดอมินิก 

“สมัยมัธยมโรงเรียนจะจัดประกวดดนตรีช่วงวันพ่อ วันแม่ ใครอยากขึ้นแสดง ต้องแต่งเพลงตามคอนเซ็ปต์ หากได้อันดับหนึ่งถึงสี่จะได้ขึ้นไปเล่น ตอนนั้นเราก็ทำวงขึ้นมา โดยผมเล่นคีย์บอร์ด ส่วนปิงปองเป็นนักร้องนำ” ปึ่งย้อนอดีต

สำหรับพวกเขา การเล่นดนตรีคือกิจกรรมยามว่างที่สนุกสนาน โดยที่บ้านย่านสุขุมวิท 17 ของทั้งคู่มีเครื่องดนตรีครบครัน ตั้งแต่กลอง เบส เปียโน และพอถึงวันอาทิตย์ก็มักชวนเพื่อนๆ มาซ้อมเป็นประจำ

เพลงที่เล่นส่วนใหญ่ หากไม่ใช่เพลงฮิต เพลงเพราะในสมัยนั้น มักเป็นเพลงที่มีเครื่องเป่าเยอะๆ ด้วยมองว่า ทำให้เพลงครึกครื้นและมีสีสันมากขึ้น แม้สมาชิกในตอนนั้นแทบไม่มีใครเล่นเครื่องเป่าเลยก็ตาม

 “อย่าเพิ่งใช้คำว่าโซลนะ คือมันยังติดอยู่กับสตริงคอมโบมาตั้งแต่ยุค Grand Ex’ ซึ่งเวลาที่พี่ๆ เขาเล่นเพลงฝรั่ง เขาก็เล่น Earth, Wind & Fire กัน เราเลยชอบการแสดงแบบนั้น วงแปดเก้าคน รู้สึกว่าสนุกดี เวลาที่เราแต่งเพลงเรียบเรียงกันเอง อยากเล่นแบบนั้น กรู๊ฟแบบนี้ แล้วเราก็จินตนาการว่า ถ้าเรามีเครื่องเป่านะ เราก็จะเป่าแบบนี้ มันเหมือนความฝันในการทำเพลงของเด็ก” ปึ่งอธิบาย

นอกจากนี้ทั้งคู่ยังได้รับอิทธิพลจากเพลงฝรั่ง โดยเฉพาะปลายยุค 80 ถึงต้น 90 ซึ่งเริ่มมีศิลปิน Acid Jazz ดีๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น Jamiroquai, Brand New Heavies, Incognito หรือ James Taylor Quartet ซึ่งแต่ละวงมักมีเครื่องเป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ พอฟังเสร็จแล้ว ก็พยายามตามหารากของแต่ละวงว่ามีแรงบันดาลใจจากใคร

อย่างเช่น Jamiroquai ให้สัมภาษณ์ว่าชอบ Stevie Wonder ทั้งคู่จึงตามหาผลงานของศิลปินคนดังที่มากกว่า I Just Called To Say I Love You มาลองฟัง ซึ่งวิธีนี้ช่วยทำให้มีพัฒนาการการฟังเพลงที่หลากหลายมากขึ้น

ไม่เพียงแค่นั้น พวกเขายังแวะเวียนไปตามผับ ตามบาร์ ฟังเพลง พูดคุยกับนักดนตรีหลายๆ คน เช่น วง Bangkok Connection จนคุ้นเคย หรือแม้แต่วงเครื่องเป่ารัสเซียที่มักรวมตัวกันแสดงที่โรงแรมแชงกรีล่าทุกวันอาทิตย์ ปึ่งกับปิงปองยังมีโอกาสได้ชมอยู่บ่อยๆ แล้วก็มีความฝันในการสร้างงานของตัวเองเก็บไว้ลึกๆ

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2534 หลังปึ่งเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เขาได้พบรุ่นน้องคนหนึ่งชื่อว่า บิ๊ก

25 ปี Soul After Six จังหวะชีวิตของเจ้าของบทเพลงก้อนหินละเมอ

บิ๊กเองก็ไม่ต่างจากสองพี่น้อง เพราะหลงใหลดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เคยฝันอยากขึ้นแสดงดนตรีตามรอย อัสนี-วสันต์ โชติกุล หรือไอดอลยุค 80 อย่างไมโครหรือนูโว แถมยังเคยเรียนเปียโนมาถึง 9 ปีเต็ม พอเจอกันบ่อยๆ ทั้งคู่เลยรู้ว่าต่างเป็นคนคอเดียวกัน จนวันหนึ่งปึ่งจึงชวนบิ๊กมาเล่นเบสให้ เนื่องจากเพื่อนที่เล่นเบสไม่มีเวลามาซ้อมให้แล้ว และจากวันนั้น บิ๊กก็เข้ามาเป็นมือเบสของวงอย่างถาวร

ในเวลานั้นทั้งสามคนมักเล่นเพลงของตัวเองเป็นหลัก อย่าง ก้อนหินละเมอ ปึ่งแต่งไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ส่วนปิงปองมักเอาเพลงที่แต่งไปบันทึกเสียงเล่นๆ ในห้องอัด แล้วส่งไปเข้าเปิดในช่วง Absolute Beginner ทาง Hot Wave FM 91.5 แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีแผนทำอัลบั้มจริงจัง

กระทั่ง พ.ศ. 2537 หลังแต่งเพลงเก็บไว้จำนวนหนึ่ง จึงเริ่มคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะนำเสนอผลงานตามแบบฉบับของตัวเอง ทว่าเมื่อปรึกษาพี่ๆ วง Bangkok Connection อาทิ อั๋น-ปธัยวัฒน์ วิจิตรเวชการบุญ, ต้น-ธีรพงษ์ สวาสดิ์วงศ์ และ ต๊อด-วรรณยศ มิตรานนท์ ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คงเป็นไปได้ยาก เพราะเพลงที่พวกเขาอยากทำนั้นล้วนใช้เครื่องเป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

“ช่วงนั้นในตลาดไม่มีเพลงแบบที่เราอยากทำเลย และพอปรึกษาพี่ๆ ซึ่งหลายท่านเป็นโปรดิวเซอร์ในค่ายใหญ่ๆ ทุกคนส่ายหัวหมดเลย เขาบอกว่าถ้าไปเข้าค่าย อาจโดนเปลี่ยน เพราะเพลงที่ใช้เครื่องเป่าแบบนี้ ตอนนี้ไม่มีใครเขาทำหรอก ไปเจอ Executive Producer เขาไม่มีทางยอมให้ทำอยู่แล้ว แล้วยูจะยอมไหม เราก็ปรึกษาแบบนี้อยู่หลายปี” ปึ่งฉายภาพวงการเพลงไทยในยุคนั้น

แม้รู้อยู่เต็มอกว่ายาก ทว่าด้วยความรักและอยากทดลอง ทั้งสามจึงพยายามหาหนทาง เผื่อว่าฝันจะกลายเป็นจริง หนึ่งในนั้นคือการเชิญ บอย-ชีวิน โกสิยพงษ์ หุ้นส่วนของ Bakery Music มาฟังทั้งสามคนเล่นดนตรี

“เพื่อนของเราคนหนึ่งรู้จักกับพี่บอย เลยเชิญแกมาฟังเพลงที่บ้าน ตอนนั้นมีเปียโนหลังหนึ่ง กลองชุดหนึ่ง แล้วก็เบสตัวหนึ่ง เราเล่นกันสามชิ้น เล่นสดให้พี่บอยฟัง แล้วค่อยๆ อธิบายว่า ตรงนี้เราอยากให้มีเครื่องเป่า ตรงนี้มีเครื่องสาย ตรงนั้นมีแฮมมอนด์ แต่เหมือนตอนนั้นเราเล่นกันแค่ Rhythm Section ทำให้เพลงอาจยังดูไม่สมบูรณ์ เลยไม่มีความคืบหน้าใดๆ หลังจากนั้น จนเราคิดว่าพี่บอยก็คงไม่สนใจแล้ว” บิ๊กย้อนเหตุการณ์

ทว่าปัญหาในวันนั้น ทำให้พวกเขาตระหนักว่า การเล่นสดหรือนำเสนอเพียงเทปเดโม คงไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้บริหารค่ายเพลงเข้าใจถึงความตั้งใจได้ จึงคัดเลือกเพลงออกมา 3 เพลง คือ คงรักตลอดไป, อีกทีได้ไหม และ คำเดียวว่า… มาผลิตเป็นมาสเตอร์ที่สมบูรณ์ ทั้งเครื่องดนตรีและการเรียบเรียงเสียงประสาน

25 ปี Soul After Six จังหวะชีวิตของเจ้าของบทเพลงก้อนหินละเมอ

การบันทึกเสียงนั้น ทำกันที่ Gecco Studio เป็นการทำงานแบบแอนะล็อกล้วนๆ คืออัดด้วยเทปรีล 2 นิ้ว โดยเพลง อีกทีได้ไหม กับ คำเดียวว่า… พวกเขาเล่นกลอง เบส คีย์บอร์ดกันเอง และได้ โปรด-ธนภัทร มัธยมจันทร์ นักดนตรีแจ๊สฝีมือเยี่ยมมาเล่นกีตาร์ให้ ส่วนเพลง คงรักตลอดไป ได้พี่ๆ นักดนตรีที่นับถือ อย่าง ต้น ธีรพงษ์ มาช่วยอัดกีตาร์ และ ต๊อด วรรณยศ มาช่วยอัดกลอง ขณะที่เครื่องเป่าทั้งหมดนั้น ได้นักดนตรีรัสเซียมือดี 3 คน คือ Marat Yuldybaev มือแซกโซโฟน, Genna Kalinin มือทรัมเปต และ Igor Atapin มือทรอมโบน มาช่วยบันทึกเสียง

“ก่อนหน้านั้นซักปีหนึ่ง พี่ต๊อดโทรศัพท์มาบอกว่า กำลังทำวงเล่นที่ผับแถว RCA ได้ทีมเครื่องเป่ารัสเซียมาสามคน จะเล่นเพลงแนว Earth, Wind & Fire, Tower of Power ปึ่งลองมาดูเผื่อปึ่งชอบ ผมก็ไปดูกัน ชวนบิ๊กกับปิงปองไปดูด้วย โอ้โฮเล่นมันมาก” ปึ่งเล่าที่มาของทีมเครื่องเป่าซึ่งเป็นหัวใจหลักของอัลบั้ม

สำหรับชื่อวง ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งกันเลย กระทั่งบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อย ทางเจ้าหน้าที่ห้องอัดจึงถามว่า จะให้เขียนชื่อบนกล่องใส่เทปรีลว่าอย่างไร หรือให้ใส่ชื่อของลูกค้าไปเลย

“ตอนนั้นคุยกับบิ๊กกับปิงปองว่า เราชอบดนตรีโซลใช่ไหม แล้วอัลบั้มที่เราอยากทำก็เป็นโซลแจ๊ส โซลฟังก์ พูดง่ายๆ คือเป็นโซล และเราก็ชอบมาซ้อมดนตรีหลังหกโมงเย็น หลังเลิกเรียนแล้ว ถ้าอย่างนั้นเป็น Soul After Six ไปเลยไหม ง่ายดี” ปึ่งเล่าที่มาของชื่อวง

เมื่อกระบวนการต่างๆ เสร็จเรียบร้อย Soul After Six เริ่มตระเวนไปตามค่ายเล็กๆ หลายค่าย แต่ด้วยแนวเพลงที่ฉีกมากเกินไป ทำให้ทุกค่ายบอกปฏิเสธ พวกเขาจำได้ดีว่า มีอยู่ค่ายหนึ่งบอกว่า ชอบงานมาก แต่ขอเอาเครื่องเป่าออกหมดเลยได้ไหม เหตุผลเพราะนอกจากทำการตลาดยากแล้ว ยังต้องลงทุนสูงอีกด้วย

“เพลงสมัยนั้นที่มีเครื่องเป่าพอมีนะ แต่ไม่ถึงขนาดแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของอัลบั้ม” ปิงปองกล่าว

“สำหรับบางค่าย ถ้าเราทำเพลงให้คนฟังรู้สึกฟังยาก ยูจะไม่มีโอกาสเลย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเครื่องเป่านะ แม้แต่ไลน์กีตาร์ที่ไม่คุ้น ถ้าคุณเล่นโน้ตที่ฉีกจากสูตรสำเร็จ โปรดิวเซอร์บางคนเขาตัดออกทันที” ปึ่งอธิบายต่อ

ผ่านไปนานหลายเดือน วันหนึ่งบิ๊กบังเอิญไปเจอบอยที่ร้านหนังสือแถวทองหล่อ บอยจึงถามความคืบหน้าของเพลงว่าไปถึงไหนแล้ว เป็นจังหวะเดียวกับที่ปึ่งและปิงปอง นำงานมาสเตอร์ไปมอบให้ ดร.กะทิ-สิราภรณ์ มันตาภรณ์ อาของพวกเขา ซึ่งเวลานั้นเป็น GM ของค่าย Bakery Music อยู่พอดี ส่งผลให้ทั้ง 3 คน มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารค่ายขนมปังดนตรีอีกครั้ง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทั้งสามคนรู้สึกแปลกใจ คือการพูดคุยเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะหลังเปิดเพลงมาสเตอร์ทั้ง 3 เพลงกับเพลงเดโมอื่นอีก 3 เพลง สุกี้-กมล สุโกศล แคมปป์ ผู้นำสูงสุดของค่าย ถามกลับทันทีว่า “สามเพลงนี้ ยูขายเท่าไหร่ แล้วเพลงที่เหลือจะอัดที่ไหน” เพียงแค่นั้นก็รู้แล้วว่า สิ่งที่รอมานานได้กลายเป็นจริง และนั่นเองที่นำไปสู่การเปิดตำนานบทใหม่ของดนตรีโซลในเมืองไทย

25 ปี Soul After Six จังหวะชีวิตของเจ้าของบทเพลงก้อนหินละเมอ
02

รอ..คงเพียงพอ

อัลบั้มแรกของ Soul After Six วางแผงเมื่อราวๆ กลาง พ.ศ. 2539 

การทำงานครั้งนั้นไม่นานอย่างที่คิด เพราะพวกเขาเตรียมตัวมาก่อนหน้าพอสมควร อย่างเพลงส่วนใหญ่ถูกแต่งเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ 2 ปีก่อน หรือทีมนักดนตรีมักเป็นมืออาชีพที่คุ้นเคย อาทิ อั๋น, ต้น และต๊อด จาก Bangkok Connection ที่สำคัญคือ Bakery Music ยังปล่อยให้ทำงานกันเองเต็มที่ ไม่เข้ามาแทรกแซงเลย แม้กระทั่งตอนอัดเสียงยังยอมให้ออกไปอัดข้างนอก 

“เขาถามว่าใช้ห้องอัดของเขาไหม แต่ตอนนั้นเราอยากได้แอนะล็อก อัดด้วยเทปรีลสองนิ้ว เลยบอกขอทำข้างนอกดีกว่า แล้วก็มาจบที่ 35 Studio ย่านลาดพร้าว” บิ๊กทบทวนเรื่องราว

“ตอนเข้าไปอัดเพลงกัน เหมือนเราเจอพี่สุกี้แค่ครั้งเดียวมั้ง วันที่เขาเอาเสื้อผ้ามาให้ฟิตติ้ง” ปิงปองช่วยเสริม

นอกจากนั้น บิ๊กยังถือโอกาสไปเรียนเบสเพิ่มเติมจากครูเบสระดับตำนาน อย่าง แป๊ป-วิโรจน์ สถาปนาวัฒน์ แห่งวง Infinity ซึ่งต่อมาเขายังชักชวนอาจารย์ให้ร่วมบรรเลงฝีมือในอัลบั้มถึง 2 เพลง คือ รักแล้ว และ ขอเพียงเวลา

“ตอนที่ปิงปองทำเดโมเพลงรักแล้ว ความสามารถของผมไปต่อไม่จริงๆ คือคิดได้ ทำปากได้ แต่เล่นไม่ได้ ผมเลยคุยกับพี่ๆ ที่มาช่วยอัดให้ว่า อยากเรียนเบสเพิ่มเติม เพราะผมเคยเรียนแต่เปียโนกับกีตาร์คลาสสิก ไม่เคยเรียนเบส เขาเลยแนะนำอาจารย์แป๊ปให้ พอไปเรียนเลยรู้ว่าเบสมีรายละเอียดเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่คิดในหัวก็ยังเล่นไม่ได้อยู่ดี จึงบอกปิงปองกับพี่ปึ่งว่าเพลงนี้ให้พี่แป๊ปเล่นดีกว่า ผมเล่นไม่ไหว”

พวกเขาใช้เวลาบันทึกเสียงราวๆ 1 เดือน ก่อนนำผลงานมาสเตอร์ทั้งหมดมาเปิดให้ผู้บริหารฟัง ซึ่งต้องยอมรับว่า งานของ Soul After Six แตกต่างจากตลาดพอสมควร แต่สำหรับ Bakery Music ที่นำเสนองานเพลงที่หลากหลาย ทั้ง ป๊อป ร็อก ฟังก์ กรันจ์ แรป โฟล์ก หรืออาร์แอนด์บี ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ทว่ามีอยู่เพลงหนึ่งที่ผู้ใหญ่ฟังแล้ว รู้สึกว่าหลุดจากภาพรวมไปหน่อย นั่นคือ ก้อนหินละเมอ

“ตอนนั้นพี่บอยบอกว่า ไม่ค่อยเข้ากับอัลบั้ม ซึ่งเรายอมรับนะ แต่ส่วนตัวมองว่า เนื้อเพลงดูแตกต่างจากตลาดในวันนั้น เป็นการเปรียบเทียบ ซึ่งผมว่าไม่ค่อยมีเท่าไหร่ พี่บอยก็ไม่ได้ว่าอะไร หรือให้เอาออก” ปึ่งเปิดประเด็น

“แต่สิ่งที่พี่บอยพูดทำให้เราฉุกคิดอยู่พักหนึ่งว่า หรือเพลงนี้มันไม่เข้าจริงๆ จะหาเพลงอื่นมาแทนดีไหม แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เอาออก อัลบั้มที่ออกมา คือเหมือนกับที่เราเซ็ตไว้สิบเพลงตามนั้นเลย” บิ๊กกล่าวเสริม

“แต่ที่ตลกสุดคือ ก้อนหินละเมอ เกือบเป็นเพลงแถมแล้วนะ ใส่ไว้เพลงสุดท้ายของอัลบั้มเลย เหมือนประมาณว่า กูเกือบไม่เอาแล้ว จะหลุดอยู่แล้ว อีกเดี๋ยวไปแน่ๆ” ปิงปองปิดท้ายพร้อมเสียงหัวเราะ

อย่างไรก็ตาม การออกอัลบั้มเป็นเพียงด่านแรกของการทำงานเท่านั้น เพราะสิ่งที่สำคัญกว่า คือทำอย่างไรให้อัลบั้มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ครั้งนั้น Soul After Six ไม่ได้จัดทำมิวสิกวิดีโอ เนื่องจากลำพังต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แถม Bakery Music ยังเป็นเพียงค่ายเล็ก ไม่ได้มีสื่อของตัวเอง ช่องทางการโปรโมตหลักจึงเป็นการสัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุ นิตยสาร รวมถึงไปเยี่ยมแท่นพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นประเพณีที่ศิลปินไทยยุคนั้นถือปฏิบัติกัน

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งท้าทายสุดๆ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน คือ การแสดงสด เนื่องจากนักดนตรีที่มาบันทึกเสียงให้ โดยเฉพาะทีมเครื่องเป่า ติดสัญญาหรืองานประจำ ไม่สามารถมาร่วมเดินสายได้ แถมยุคนั้น คนไทยที่เล่นเครื่องเป่าเป็นทีมก็หายากมาก ทำให้สุดท้ายแล้ว Soul After Six ได้แสดงเป็นเต็มวงเพียงครั้งเดียว ในงานมินิคอนเสิร์ตเปิดการแสดงของ Michael Learns To Rock

25 ปี Soul After Six จังหวะชีวิตของเจ้าของบทเพลงก้อนหินละเมอ

ครั้งนั้นพวกเขาคิดจะแก้ปัญหาด้วยการฟอร์มวงแบ็กอัปที่ไม่มีเครื่องเป่าขึ้นมา ถึงขั้นชวน เอก-เอกพงศ์ เชิดธรรม มือกลองจากวง Sepia มาซ้อมด้วยกัน และกำลังมองหามือกีตาร์มาช่วยอีกคน แต่สุดท้ายวงนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

“ตอนนั้นเราประชุมกับค่ายหลายรอบมาก แล้วพี่บอยก็พูดว่า ปึ่งครับ ถ้าปึ่งต้องออกไปเล่นโดยที่ไม่มีเครื่องเป่าเลย อย่าเล่นเลยดีกว่าครับ เพราะปึ่งนำเสนอเพลงเครื่องเป่าเกือบสิบเพลง แต่เวลาเล่นสดกลับไม่มีเครื่องเป่าเลย แล้วคนฟังที่ไหนเขาจะจำภาพวง Soul After Six อย่างที่เราอยากให้เป็นได้ ซึ่งผมเห็นด้วยเลย” ปึ่งเท้าความ

ในที่สุดจึงต้องหันไปใช้วิธีเปิด Backing Track แทนการเล่นดนตรีสดๆ ซึ่งนี่เป็นเหตุการณ์ที่พวกเขาจำไม่ลืมเลย โดยเฉพาะตอนที่ไปแสดงในลานสเก็ตที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหามากมาย

“ตอนนั้นพี่ปึ่งกับปิงปองมีสแตนด์เล็กๆ ส่วนผมไม่ได้เล่นอะไร แต่รู้ว่าทั้งคู่ต้องมีปัญหาแน่ เพราะลานสเก็ตเสียงมันก้องมาก แล้วยังดีเลย์ด้วย ผมเลยออกไปยืนข้างหน้าเพื่อเคาะจังหวะ ให้เขาดูจังหวะจากผม ไม่อย่างนั้นพอเปิดเพลงปุ๊บ เขาจะร้องไม่ได้เลย เพราะสิ่งที่ต้องร้อง มันเลยไปแล้ว คือเขาจะได้ยินเสียงที่เอคโคจากกำแพงกลับมาแทน

“สำหรับผม นี่เป็นความรู้สึกที่แย่สุดๆ เพราะส่วนตัวแล้วผมมีความคาดหวังค่อนข้างสูง ความฝันตั้งแต่เด็กของผมคือนักดนตรี ผมดูวงแบบพี่ป้อม ดูไมโคร เขาอยู่บนเวที เล่นดนตรีมีคนดู แล้วโคตรดี โคตรเท่เลย ผมเลยวาดฝันว่าชุดแรก เราจะได้ขึ้นเวทีแบบนั้นบ้าง แต่ทั้งหมดทั้งปวงมันไม่เกิดขึ้นเลย” บิ๊กย้อนภาพความทรงจำ

25 ปี Soul After Six จังหวะชีวิตของเจ้าของบทเพลงก้อนหินละเมอ

แม้ภายหลัง Soul After Six จะสามารถคว้า 3 รางวัลใหญ่จากเวทีสีสันอะวอร์ดส์ คือ ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และเพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม มาครองได้ แต่ปัญหาต่างๆ ยังคงสะสมเรื่อยมา แถมยอดขายเทปก็คืบคลานไปอย่างเชื่องช้า เพลงที่คนฟังพอรู้จักมีเพียง ‘รู้’ แค่เพลงเดียว แถมยังอยู่ในวงแคบๆ อีกต่างหาก 

หลังผ่านมาได้ราวครึ่งปี ตามสัญญาทั้งสามคนต้องเริ่มต้นทำอัลบั้มชุดต่อไป ซึ่งตอนนั้นปิงปองเขียนเพลงใหม่บ้างแล้ว เช่น จังหวะชีวิต และ เห็นฉันไหม? ทว่าปึ่งในฐานะพี่ใหญ่เห็นว่า หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ย่อมมีแต่ผลเสีย ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจเข้าพบสุกี้ที่บริษัท เพื่อยุติสัญญาของวงที่ยังเหลืออีก 2 ชุดไว้ก่อน

“ผมยอมรับว่าท้อ แต่เราต้องกลับมาเรียนรู้และหาตำแหน่งของวงให้ได้ ตอนนั้นผมพูดตามตรงว่า เรื่องยอดขายทางค่ายอาจไม่แฮปปี้เท่าไหร่ แต่อีกอย่างที่ผมเป็นห่วงมากกว่าคือ การนำเสนอ ซึ่งการไป Backing Track ตลอด ผมว่าไม่เวิร์ก และต่อไปจะกลายเป็นภาพจำ ที่ผ่านมาเราพยายามแก้ปัญหาอยู่ตลอด แต่การหาแบ็กอัปอย่างน้อยหกคนกับเพลงแบบนี้ก็ยากมาก แล้วถ้าปีหน้าผมมาเริ่มชุดที่สอง โดยที่ปัญหายังอยู่ ก็คงต้องวนกันอยู่ในอ่างเรื่อยไป ณ วันนี้วงไม่ได้มีปัญหากับค่าย ค่ายเองก็ไม่ได้โกรธวง แต่ถ้าออกชุดสองแล้วยังเป็นแบบนี้คงมีเคืองกันแน่ๆ ผมเองเห็นว่าค่ายกับเราเป็นพี่เป็นน้องกัน จึงไม่อยากไปให้ถึงจุดนั้น คือคุยกันด้วยความเข้าใจ”

ในการเลิกสัญญาครั้งนั้น สุกี้มีเงื่อนไขง่ายๆ ว่า ภายใน 3 ปีต้องไม่มี Soul After Six ไปปรากฏตัวอยู่ที่ไหน ซึ่งพวกเขาเห็นด้วย เพราะนั่นคือกรอบเวลาดั้งเดิมที่เคยตกลงกันไว้ อีกทั้งช่วงนั้นสมาชิกแต่ละคนเริ่มมีภารกิจอื่นเข้ามา เช่น ปึ่งทำงานประจำ ปิงปองใกล้เรียนจบ ส่วนบิ๊กรับงานแสดงละครบ้างแล้ว

แม้เสียใจที่ต้องหยุดพัก แต่พวกเขาก็ไม่เคยคิดเลิกรากับดนตรีเลย ปึ่งกับปิงปองยังคงแต่งเพลงเก็บไว้ และยังชวนบิ๊กมาซ้อมกันเหมือนปกติ เสมือนรอให้ทุกอย่างพร้อมและลงตัว เพื่อจะได้กลับมาฟอร์มวง Soul After Six อีกครั้ง

03

อีกทีได้ไหม

ในช่วงที่ทุกอย่างเงียบสงบ มีเหตุการณ์น่าสนใจเกิดขึ้นกับผลงานของ Soul After Six เมื่อ ธีร์ ไชยเดช นำเพลง รักแล้ว กับ ก้อนหินละเมอ ไปคัฟเวอร์ในอัลบั้ม Bakery Love 3 ด้วยเสียงกีตาร์ที่มีเสน่ห์ บวกกับเนื้อหาการเปรียบเทียบที่ไม่เหมือนใคร ส่งผลให้เพลงที่เคยอยู่นอกสายตาอย่าง ก้อนหินละเมอ โด่งดังทันที

“พี่โอ๋ทำออกมาเพราะมาก สมบูรณ์แบบมากๆ” บิ๊กจำความรู้สึกแรกที่ได้ยิน ก้อนหินละเมอ เวอร์ชันอะคูสติกได้ดี

“ผมคิดมาตลอดว่าทำไมถึงดัง จนมาตกผลึกว่า อาจเป็นเพราะเพลงของเราที่เป็นฟูลแบนด์ไม่สามารถไปเล่นที่ไหนได้ แต่พอเป็นกีตาร์ตัวเดียว มันง่ายมากที่ไปถึงทุกคน เล่นในสวนอาหารก็ได้ ในผับกลางคืนก็ได้” ปิงปองวิเคราะห์

แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ความสำเร็จของ ก้อนหินละเมอ ฉบับธีร์ ไชยเดช ได้ผลักให้เวอร์ชันออริจินอล ซึ่งไม่เคยได้รับการโปรโมตมาก่อน ถูกนำมาเปิดในสถานีวิทยุต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และค่อยๆ แทรกซึมไปในหมู่คนฟัง จนกลายเป็นเพลงฮิตที่โด่งดังข้ามกาลเวลามาตลอด 20 กว่าปี

“ตอนนั้นรู้สึกดีใจ แปลกใจด้วย เพราะถึงอยู่ในตัดสองของการโปรโมต แต่เหมือนเป็นติ่งห้อยท้ายไป เพลงที่ตั้งใจโปรโมตตอนนั้น คือ รอ…คงเพียงพอ เพลงนี้เลยไม่มีใครรู้จัก แต่ตอนหลังผมมาคุยกับพี่ๆ ดีเจ เขาบอกว่าปึ่งรู้ไหม ในกลุ่มดีเจเขาเปิด ก้อนหินละเมอ เพราะว่าชอบกันเอง” ปึ่งเล่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Soul After Six กลับมาเป็นที่รู้จัก

อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับไม่เคยมองว่า ความดังของเพลง ก้อนหินละเมอ จะมีอิทธิพลหรือสร้างแรงกดดันใดๆ ต่อการทำงาน เพราะว่าตอนที่เพลงนี้ได้รับความนิยมเป็นช่วงที่วงหยุดพักไปแล้ว โดยระหว่างนั้นทั้งสามยังสนุกกับการเล่นดนตรีในบ้าน แต่งเพลงกันเอง แลกเปลี่ยนซีดีกันฟัง เหมือนย้อนเวลากลับไปช่วงก่อนอัลบั้มแรก

กระทั่ง พ.ศ. 2545 เมื่อรู้สึกว่าพร้อมแล้ว จึงตัดสินใจเข้าไปคุยกับ Bakery Music เพื่อเริ่มต้นผลงานชุดใหม่

การทำงานรอบนี้ ทั้งสามคนพยายามอุดช่องว่างที่เคยเป็นปัญหาให้หมด ตั้งแต่การเซ็นสัญญา จากเดิมที่เคยเซ็นกัน 3 ชุดก็เหลือเพียงชุดเดียว หรือเรื่องการแสดงสด ซึ่งถือว่าโชคดีเพราะตอนอัดเสียงทีมเครื่องเป่า Marat มือแซกโซโฟนพา อ้น-ชยันต์ แก้วแบน มือทรอมโบน มาอัดแทนคนเดิมที่กลับรัสเซียไปแล้ว เลยฝากอ้นช่วยฟอร์มทีมเครื่องเป่าคนไทยเพื่อรองรับงานคอนเสิร์ตต่างๆ ด้วย

ส่วนในแง่การผลิต ถึงแม้ความสดใหม่อาจเทียบกับชุดแรกไม่ได้ แต่ในแง่ความตั้งใจและความพิถีพิถันต้องถือว่าไม่เป็นรองเลย โดยตอนนั้นปิงปองเริ่มนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยทำเพลงบ้างแล้ว จึงสามารถทดลอง ปรับรายละเอียดต่างๆ ได้ตลอดเวลา จนกว่าจะถูกใจที่สุด แล้วค่อยบันทึกเสียงจริง

“ชุดนี้เราขึ้นเดโมในคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่างจากชุดแรกเราที่ต้องจำทุกอย่างไว้ในหัว แล้วถึงเข้าไปทำเดโมในห้องอัด เพราะฉะนั้น มันเลยเหมือนถูกบ่มมาเรื่อยๆ ถ้ายังไม่พอใจก็ลบ ทำใหม่ได้ ดังนั้นผมจึงชอบการอะเรนจ์เมนต์ชุดสองมากกว่าชุดแรก อย่างชุดหนึ่ง ผมยังอยากกลับไปเติมนู่นเติมนี่ แต่พอเป็นชุดสอง ถ้าย้อนกลับไป คงไม่เพิ่มอะไร เพราะถือว่าลงตัวที่สุดแล้ว” ปิงปองอธิบาย

สำหรับพวกเขาแล้ว หลักคิดสำคัญ คือ ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพราะไม่มีทางรู้เลยว่า นี่จะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายหรือเปล่า โดยตอนนั้น Soul After Six มีเวลาในห้องอัดเพียงเดือนเดียว จึงต้องวางแผนทุกอย่างให้รัดกุม ตั้งแต่การเรียบเรียงเสียงประสานที่ต้องทำให้เรียบร้อย ไม่มีการมานั่งแก้เพลงหน้างาน หรือนักดนตรีก็ต้องคิดไว้ก่อนว่าอยากได้ใคร ไม่มีการเปลี่ยนกลางคัน ซึ่งอัลบั้มนี้เขายังได้เชิญนักดนตรีระดับอาจารย์มาช่วยหลายคน เช่น อั๋น-ปธัยวัฒน์ มาช่วยเล่นออร์แกน หรือ สู-สันต์ชัย กุศลพิศาลสุทธ์ มาช่วยอัดกลอง และยังได้มือกีตาร์ฝีมือเยี่ยมถึง 7 คนมาช่วยบันทึกเสียง

“คำพูดหนึ่งที่พี่สุกี้เคยบอก คือ Maximize in Minimum ทุกอย่างมีข้อจำกัดหมด แต่ว่าคุณไปสุดแล้วในทุกๆ ด้านหรือยัง ถ้าคุณไปสุดแล้ว พอมองย้อนกลับมา คุณจะไม่เสียใจอะไรเลย ซึ่งผมเชื่อว่า ที่ผ่านมา เราทำเต็มที่ ไม่ว่าจะเจอข้อจำกัดใดๆ ทั้งทางสมอง งบประมาณ หรือเวลา” ปึ่งฉายภาพการทำงาน

เพราะฉะนั้น การกลับมาครั้งนี้จึงค่อนข้างสมบูรณ์แบบ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ทาง Bakery Music นำอัลบั้มแรกซึ่งหมดจากท้องตลาดไปแล้ว มาผลิตซ้ำพร้อมเพิ่มเพลงเวอร์ชันรีมิกซ์อีก 2 เพลง พอเดือนถัดมาก็ปล่อยอัลบั้มเต็มชุดที่ 2 The Rhythm โดยมีเพลง เห็นฉันไหม? เป็นตัวนำร่อง

“ตอนนั้นทางค่ายใช้สูตรโปรโมตว่า เห็นฉันไหม? เป็นเพลงที่ขึ้นเบสเหมือนกับ ก้อนหินละเมอ ซึ่งมันช่วยรีเฟอร์อะไรหลายๆ อย่างของผู้ฟังเกี่ยวกับ Soul After Six แล้วส่วนตัวเพลงนี้ค่อนข้างเข้าถึงง่าย สอดคล้องกับโปรดักต์ของวง และนี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเขาถึงทำเอ็มวีเพลงนี้ออกมา” ปึ่งย้อนเวลาไปเมื่อ 19 ปีก่อน

ครั้งนั้น พวกเขาได้กลับมาทำในสิ่งที่ไม่ได้ทำตอนออกอัลบั้มแรก ทั้งการเล่นแคมปัสตามมหาวิทยาลัย เดินสายให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ นิตยสาร และเว็บไซต์ ก่อนปิดท้ายด้วยคอนเสิร์ตใหญ่ One in a million with Soul After Six ในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน

แม้สุดท้ายเพลงใน The Rhythm อาจไม่โด่งดังถึงขั้น ก้อนหินละเมอ แต่ก็ถือว่าน่าพอใจมาก

อย่างเพลง เห็นฉันไหม? ก็ขึ้นชาร์ตอันดับต้นๆ ของสถานีวิทยุหลายคลื่น หรือ วันของเรา กลายเป็นเพลงที่ถูกเปิดในงานแต่งงานอยู่บ่อยครั้ง แต่ที่สำคัญคือ Soul After Six เริ่มมีกลุ่มแฟนเพลงที่คอยติดตามบ้างแล้ว มีเด็กรุ่นใหม่นำผลงานจากทั้งสองอัลบั้มไปแกะเพื่อเข้าประกวดตามเวทีต่างๆ ตลอดจนมีวงดนตรีรุ่นน้องหลายวงที่ยกให้พวกเขาเป็นแรงบันดาลใจ

“วงแรกๆ ที่ผมนึกออกเลยคือ ETC ตอนนั้นเขายังไม่ทำอัลบั้มเลย จำได้ว่า มินท์ (ปรชญา รามโยธิน-มือเบสวง ETC) เข้ามาถามผมว่า ท่อนนี้โน้ตตัวสุดท้ายที่พี่เล่น คือตัวนี้ใช่ไหมครับ ซึ่งมินท์เขาใช้ภาษาดนตรี ผมนึกในใจ แย่แล้ว กูจะตอบยังไง เพราะเราเล่นตามฟีลแล้วบังเอิญมันโดนพอดี ผมเลยบอกไปว่า พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน คือพอพี่กดไปตรงนี้ แล้วรู้สึกว่ามันดี ก็เลยใช้” บิ๊กเล่าเหตุการณ์พร้อมเสียงหัวเราะ 

04

จังหวะชีวิต

หลังปล่อยอัลบั้มที่ 2 ได้ราวปีเศษ Soul After Six ทำเซอร์ไพรส์ให้แฟนเพลง ด้วยการออกผลงานใหม่ที่ชื่อ Mellow Mood อัลบั้มคัฟเวอร์ที่รวบรวมเพลงที่ทั้งสามคนชื่นชอบและผูกพัน

จุดเริ่มต้นของอัลบั้มนี้มาจากช่วงนั้น ปึ่งกับสุกี้เดินทางไปร่วมงาน MTV Asia Awards ที่สิงคโปร์ แล้วสุกี้ก็ถามถึงผลงานชุดใหม่ ซึ่งเขาตอบไปว่า ยังไม่ได้คิดเลย เพราะว่าลำพังชุดที่ 2 ยังต้องใช้เวลานานถึง 6 ปี แต่หากเปลี่ยนเป็นอัลบั้มเพลงคัฟเวอร์ Soul After Six สามารถทำได้ทันที เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาเคยทดลองนำเพลงที่ชอบมาแสดงสดในรายการที่ว่าการดนตรี ทาง FaT Radio ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ดีพอสมควร

“ตอนที่ผมเสนอเรื่องอัลบั้มคัฟเวอร์ พี่สุกี้บอกว่ามันยากนะ เพราะตามทฤษฎีของเขาต้องเอาเพลงดังมาเล่นถึงขายได้ ผมเลยบอกว่า เท่าที่เห็นศิลปินฝรั่งหลายคน บางทีไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงฮิตแบบล้านตลับก็ได้ เพราะแบบนั้นขอลิขสิทธิ์ยากมาก แต่ถ้าคุณเอาเพลงที่มีคุณค่ามารีอะเรนจ์ให้ดี ตามแบบที่คุณเป็น ผมเชื่อว่าไม่เจ๊ง พอพูดเสร็จ พี่สุกี้ถามเดี๋ยวนั้นเลยบัดเจตเท่าไหร่ ผมก็ตอบเดี๋ยวนั้นเลย เท่านี้ครับ เอาไหม พี่สุกี้บอกว่าเอา มาลองกัน”

หลังกลับมาถึงเมืองไทย ปึ่งจึงชวนบิ๊กกับปิงปองมาช่วยกันคัดเลือกเพลงจนเหลือประมาณ 20 เพลง เพลงส่วนใหญ่ เช่น รักเก่าๆ, สัญญา หรือ ยังไม่ชิน เป็นเพลงที่พวกเขาเล่นสนุกๆ กันมานานหลายสิบปี หรือบางเพลง เช่น คำตอบ ของ Yokee Playboy ถือเป็นเพลงที่ปิงปองประทับใจส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกเพลงจะถูกนำมาใช้ได้ เพราะติดลิขสิทธิ์บ้าง หรือหาเจ้าของเพลงไม่เจอบ้าง แต่มีอีกไม่น้อยที่ต้องใช้เวลาพักหนึ่งถึงได้รับการอนุญาต เช่น เพลง สัญญา ซึ่งเวอร์ชันต้นฉบับเป็นของ บ่น-อนุชิต จุรีเกษ อดีตผู้ประกาศข่าวคนดัง ครั้งนั้นปึ่งถึงขั้นต้องขอนัดพบศิลปินในดวงใจเป็นการส่วนตัวเลยทีเดียว

“ตอนขอนัดพบ ผมเกร็งมาก เจอกันที่ร้านกาแฟแถวสยาม เราก็เตรียมซีดีสองชุดไปให้ ซึ่งตอนแรกพี่บ่นไม่รู้จักเราเลย ไม่เคยฟังด้วย เราก็เล่าให้แกฟังว่าชอบเพลง สัญญา มาก อยากขออนุญาตนำไปทำ แกเลยถามว่าอยากทำเป็นแบบไหน คุยกันไม่เกินสิบนาที พี่บ่นเลยบอกว่าขอไปฟังอัลบั้มของเราก่อน แล้วค่อยให้คำตอบ ผ่านไปอีกวันสองวัน พี่บ่นโทรกลับมาหาผม บอกว่าฟังแล้ว ชอบสองอัลบั้มนี้มาก น้องเอาเพลง สัญญา ไปทำเลย”

หลักคิดในการทำอัลบั้มคัฟเวอร์ของ Soul After Six ไม่ต่างจากอัลบั้มหลักเลย เพราะยังคงความเข้มข้นเหมือนเช่นเดิม แต่สิ่งที่ท้าทายกว่า คือทำอย่างไรให้แตกต่างและหลากหลาย โดยที่ยังคงรักษาคุณค่าของเพลงต้นฉบับไว้ด้วย ซึ่งหลายเพลงใช้วิธีบิดเมโลดี้ ปรับจังหวะใหม่ เช่น หากคิดจะรักก็รัก ของอิทธิ พลางกูร ซึ่งเดิมเป็นเพลงช้าก็ปรับให้เป็นเพลงเร็ว ตลอดจนเพิ่มรายละเอียด อย่างเครื่องเป่าหรือซาวนด์ประกอบเข้าไปเพื่อให้เพลงมีสีสันขึ้น

“สำหรับพวกเราออริจินอลต้องดีที่สุด อัลบั้มนี้จึงไม่ใช่การทำแข่งกับต้นฉบับ ซึ่งความจริง เรากลัวทำเพลงเขาเสียเหมือนกันนะ เพราะหลายเพลงชอบมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นนึกอยู่ว่าจะเรียบเรียงยังไง อย่างบางเพลงไม่มีบราสเซ็กชัน ก็ต้องมานั่งคิดว่า หลุมนี้เอาอะไรหยอดดี พยายามเลือกเสียงมาใส่ เช่น เสียงเบลล์ เสียงกรุ๊งกริ๊งๆ หรือบางทีก็เว้นไว้ แล้วไปบอกมือกีตาร์ว่า หาลูกอะไรมาอุดตรงนี้หน่อย” ปิงปองอธิบาย

Mellow Mood เน้นเพลงเบาๆ ฟังสบายๆ สำหรับหลายคนถือเป็นอัลบั้มที่ฟังเพลิน ติดหู เหมาะกับเวลาขับรถไปต่างจังหวัด จึงไม่แปลกที่เข้าถึงผู้คนในวงกว้างมาก โดยเฉพาะ รักเก่าๆ เพลงเปิดอัลบั้มนั้นติดชาร์ตอยู่นานนับเดือน จนกลายเป็นอัลบั้มที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด และนำไปสู่การแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งที่ 2 Maximize Mellow Moments with Soul After Six เมื่อวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งครั้งนั้น Soul After Six ได้เชิญศิลปินต้นฉบับมาร่วมแสดงด้วย ซึ่งหลายๆ คนห่างหายจากเวทีไปนานนับสิบปี

อย่างไรก็ตาม หลังผลงานชุดที่ 3 วางแผงได้ไม่นาน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน Bakery Music เนื่องจากผู้บริหารตัดสินใจลาออกจากค่ายที่ตัวเองก่อตั้ง พวกเขาจึงถือโอกาสหยุดพักด้วยเช่นกัน

“ความจริงเราทราบล่วงหน้าไม่กี่เดือน แล้วตอนนั้นรู้แค่ว่ามีคอนเสิร์ต B-Day เป็นกิจกรรมสุดท้ายก่อนจบ Bakery Music พอเล่นเสร็จ เราก็แยกย้ายไปทำงานของแต่ละคน” ปึ่งฉายภาพวันวาน

“อีกอย่าง ตอนนั้นเราไม่มีเพลงใหม่ในมือด้วย คือไม่ได้เชิงว่าตันนะ แต่เราไม่ได้มานั่งทำเป็นหลักเหมือนก่อน ซึ่งพอไม่มีคำว่าต้องทำอัลบั้มมาบังคับเรา เลยไม่ได้ทำอะไรต่อเลย” ปิงปองกล่าวสรุป

05

คงรักตลอดไป

หลังหยุดพักไปนานถึง 4 ปีเต็ม เมื่อ พ.ศ. 2551 ทั้งสามคนจึงเริ่มกลับมาฟอร์มวงกันอีกครั้ง

“ตอนนั้นไม่มีเพลงใหม่นะ แต่พี่ๆ นักดนตรีอย่างพี่อั๋น เขาอยากกลับมาซ้อม เลยชวนให้มารวมตัวกัน แล้วก็มีพนักงานเก่าของ Bakery Music มาช่วยขายงานให้วง จำได้ว่าเราเล่นคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯ โคราช อุบลฯ” ปิงปองเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการกลับมา

หลังเดินสายแสดงคอนเสิร์ตอยู่ 4 ปีเต็ม ก็เป็นพี่ๆ นักดนตรีอีกเช่นเคย ที่ช่วยกันยุให้ทั้งสามคน กลับมาทำเพลงใหม่ ปิงปองจึงนำเพลงที่เขียนไว้นานหลายปี อย่าง ‘เวลา’ มาผลิตเป็นซิงเกิลแรก ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนเพลง ยืนยันได้จากยอดรับชมใน YouTube ซึ่งทะลุล้านครั้งไปแล้ว

ในฐานะศิลปินอิสระ Soul After Six ออกซิงเกิลมาแล้วทั้งหมด 5 เพลง คือ เวลา, คนละทางเดียวกัน, กลัว, ลำพัง และ ในฝัน และมีคอนเสิร์ตใหญ่ 1 หน คือ ความทรงจำของก้อนหิน..! เมื่อวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ทว่าสมาชิกทั้งสามก็บอกว่า ยังไม่มีแผนทำอัลบั้มใหม่เลย เพราะการทำอัลบั้มแต่ละชุดต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ค่อนข้างมาก ทั้งการกำหนดโทนสีและทิศทางของอัลบั้ม หรือแนวเพลงที่หลากหลายแต่ยังต้องกลมกลืนกันด้วย ซึ่งคงไม่ใช่แค่การนำซิงเกิลทั้งหมดมารวมกันอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา แม้ Soul After Six จะไม่ใช่วงดนตรีที่โด่งดังอะไร แต่อย่างน้อยๆ การได้กลับมาเล่นดนตรีด้วยกัน ได้เจอแฟนเพลงที่ติดตามมายาวนาน และได้ทราบว่างานของตัวเองนั้นมีอิทธิพลกับคนรุ่นหลังอย่างไร เช่น นักเรียนดนตรีหลายคนยังขวนขวายหาอัลบั้มทั้ง 3 ชุดมาฟัง หรือนำเพลงไปใช้ประกวด ส่งข้อความมาสอบถามเทคนิคต่างๆ ตลอดจนใช้เพลง ก้อนหินละเมอ หัดเล่นเบส เพียงแค่นี้ก็มีความหมายต่อพวกเขามากแล้ว

“สำหรับเราสามคน Soul After Six เป็นสิ่งที่รักแต่ไม่ใช่สิ่งที่เลี้ยงดูชีวิต เหตุผลที่เรายังทำกันอยู่ เพราะเรามีความสุข เราผ่านการตกผลึกมาเยอะ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความทุกข์ ความสุข ความไม่เข้าใจ ความท้อถอย เราจึงไม่ยึดติดอะไร เราคิดว่าแค่ทำให้ดีที่สุด ตามความสามารถตามกำลังที่มี หลังจากนั้นถ้าทำออกไปแล้วยังมีคนฟัง คนรุ่นเรายังชื่นชอบ คนรุ่นหลังกลับมาติดตาม แค่นี้ก็ถือว่าเป็นโบนัสแล้ว” ปึ่งอธิบาย

“แม้เราไม่ได้มีแผนสำหรับ Soul After Six แต่ตราบใดที่เรายังทำเพลงด้วยความสุข ผมเชื่อว่าเดี๋ยวแผนจะตามมาเอง เพราะตอนนี้ปิงปองเองก็ทำเพลงเก็บไว้หลายเพลง แต่กลับกันถ้าทำแล้วต้องมาทุกข์ใจว่า เพลงจะดังไหม มีงานไปต่อยอดหรือเปล่า แบบนั้นไม่ทำดีกว่า แต่ถ้าเป็นวันนี้ ผมบอกได้เลยว่า ยังไงก็ทำต่อ เพราะทำแล้ว ผมรู้สึกว่าชีวิตได้เต็มเติม ความฝันของผมตั้งแต่เด็กคือ นักดนตรี ไม่ใช่ดาราหรือนักแสดง การได้ชื่อว่า บิ๊ก Soul After Six จึงมีความหมายมาก แม้เราไม่มีอัลบั้มใหม่ มีแต่ซิงเกิล แต่ผมเชื่อมั่นว่า เราคงทำกันต่อไปจนกว่าจะหมดแรง” บิ๊กกล่าวบ้าง

“Soul After Six เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก เป็นงานอดิเรกที่ผมโคตรจริงจังกับมันเลย แล้วทุกวันนี้เวลาเบื่อๆ เซ็งๆ ผมจะใช้วิธีเปิดเข้าไปฟังเพลงตัวเองใน YouTube ไปนั่งอ่านคอมเมนต์ ซึ่งมีทั้งชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ถือเป็นสิทธิ์ของคนฟัง แต่เรากลับรู้สึกอุ่นใจ พอฟังแล้วก็นึกว่าตอนนั้นทำอะไรอยู่ เพราะสำหรับผมแล้ว การทำเพลงนั้นเป็นอะไรที่มากกว่าการทำงาน เป็นเหมือนเลือดเนื้อเชื้อไขของเรา” ปิงปองสรุปทิ้งท้าย

และนี่คือเรื่องราวของมิตรภาพ และความผูกพันของวงดนตรีเล็กๆ หนึ่งในผู้บุกเบิกเพลงโซลของเมืองไทย ที่ยังคงหยัดยืนและอยากสร้างผลงานที่เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้ฟังแบบนี้เรื่อยๆ ไป 

ขอบคุณภาพประกอบจากวง Soul After Six

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว