หากเอ่ยชื่อ อาย-ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณอายุเท่าไหร่และรู้จักเธอในฐานะอะไร
ถ้าคุณอายุมากกว่า 30 คุณอาจจดจำได้ว่า ศรสวรรค์ คือนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทยผู้สร้างปรากฏการณ์ให้วงการกีฬาไทยในฐานะ ‘ราชินีแห่งอาเซียน’ ด้วยการกวาด 7 เหรียญทองจากมหกรรมซีเกมส์ 3 ครั้ง เคยขึ้นถึงจุดสูงสุดด้วยการอยู่บนอันดับ 8 ของโลกในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ มากไปกว่าอันดับและจำนวนเหรียญทอง เธอคือนักกีฬาผู้สร้างความสุขและความภาคภูมิใจให้กับคนไทย

แต่หากคุณอายุต่ำกว่า 30 ลงมา คุณอาจคุ้นหน้าและเสียงของเธอในฐานะผู้ประกาศข่าวกีฬา และพิธีกรรายการกีฬา รายการข่าววาไรตี้ แห่งช่อง 7HD ผู้พกพาความสนุกสนานมาฝากผู้ชมตลอดระยะเวลา 26 ปี ยืนระยะยาวไกลที่เดียวไม่เปลี่ยนไปไหน

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

แต่ไม่ว่าคุณจะรู้จัก อาย-ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร ในฐานะไหน (หรือทั้งสองก็ตาม) คุณควรต้องรู้เพิ่มเติมว่าผู้หญิงคนนี้กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับตัวเอง ในวัย 48 ศรสวรรค์กลับมาเป็นเงือกสาวลงสระอีกครั้งด้วยอะดรีนาลีนที่สูบฉีดเต็มกำลัง เพราะนี่คือการลงสระในฐานะการแข่งขัน และที่สำคัญเป็นการแข่งขันในระดับชิงแชมป์โลก

ศรสวรรค์ยอมรับว่าอายุที่มากขึ้นไม่เคยทำให้เธอหยุดคิดเรื่องการคว้าเหรียญทอง ไม่ใช่เพราะต้องการเหรียญมาเพิ่มในตู้เก็บของ แต่เธอมองว่ามันเป็นความท้าทาย ท้าทายทั้งเงื่อนไขเรื่องอายุ ท้าทายทั้งสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนก่อน ท้าทายทั้งการจัดสรรชีวิตครอบครัว บทบาทความเป็นแม่ ทำทุกอย่างให้สอดคล้องไปกับหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบและการฝึกซ้อมซึ่งเรียกร้องวินัยขั้นสูงสุด

ทั้งหมดทั้งมวลก็คือการท้าทายหัวจิตหัวใจในระดับที่ต้องถามตัวเองทุกวันว่า “ยังไหวไหม ยังสู้หรือเปล่า” แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย

อ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ คำตอบของคำถามทั้งหมดอยู่ในนั้น

ช่วยเล่าถึงทัวร์นาเมนต์ที่จะลงแข่งให้ฟังหน่อย มีความเป็นมาและมีความสำคัญอย่างไรบ้าง

มันเป็นการแข่งขันชิงแชมป์โลกสำหรับผู้สูงวัยค่ะ เริ่มต้นจากตัวเราก็ห่างหายจากการว่ายน้ำไปนานมาก คือว่ายตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ห้าขวบ จนเลิกเมื่ออายุประมาณยี่สิบสอง รวมเวลาประมาณสิบสามปีที่เราอยู่ในฐานะนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ หลังจากนั้นเราก็มาทำงาน โดยที่เราไม่ได้สนใจเรื่องกีฬาอีกเลย ทำงานอย่างเดียว

ทำไมตอนนั้นถึงตัดสินใจเลิก

เราเป็นนักกีฬามาตั้งแต่เด็ก อยู่กับการซ้อมหนักมาโดยตลอด ตอนนั้นเราเลยรู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว ชีวิตฉันเหนื่อยแล้ว พอเรียนจบที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เข้ามาทำงานที่ช่อง 7HD จากการชักชวนของ พี่โย่ง (เอกชัย นพจินดา) พอเริ่มทำงานก็เหมือนเราอยู่อีกโลกหนึ่งที่เราต้องทุ่มเทกับมัน ทุกอย่างมีวินัยหมดเลย ทำให้ไม่ได้แตะต้องเรื่องกีฬาอีกเลย 

พอนานๆ เข้า มันก็ทำให้ร่างกายเราอ่อนแอ จากที่เราแข็งแรงก็เหนื่อยง่าย พอมาถึงวันหนึ่ง ประมาณสามปีที่แล้ว เราก็คิดว่าไม่ได้แล้ว เราต้องกลับมาแข็งแรงเพื่อจะได้ดูแลครอบครัวหรืออะไรก็แล้วแต่ จนกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง หลังจากทำแต่งานมาโดยตลอด สามปีที่แล้วเรามาวิ่ง ชอบวิ่ง เริ่มจากศูนย์นะ พี่ตูน บอดี้สแลม ชวนให้ตามไปทำสกู๊ป แต่ได้กลับมาว่ายน้ำช่วง พ.ศ. 2563 เพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันว่ายน้ำ

ถ้ารู้สึกว่าร่างกายไม่แข็งแรง ก็แค่เข้าฟิตเนสก็ได้ ทำไมถึงต้องไปลงแข่งขันด้วย

อืม มันไม่สนุก (หัวเราะ) เราคิดว่าถ้าเล่นกีฬาแล้วมันต้องสนุก แล้วบังเอิญว่าเราเจ็บเอ็นข้อเท้าจากการวิ่ง ทำให้เราต้องหยุด เราสงสัยว่าถ้าต้องหยุด ทุกอย่างที่ทำมาต้องหยุดไปด้วยเหรอ พอเราเจ็บเอ็นข้อเท้า หมอบอกว่าให้พักก่อนนะ แต่เราเสียดายความฟิตของเรา แล้วเผอิญมีการแข่งขันทัวร์นาเมนต์การว่ายน้ำของผู้สูงอายุ ซึ่งการแข่งขันนี้มีอยู่แล้วทุกปี แต่เราไม่เคยสนใจที่จะกลับมาลงแข่งขัน รู้สึกว่าฉันไม่ว่าย ฉันจะว่ายทำไม ขี้เกียจแล้ว และฉันก็ชอบการวิ่งไปเสียแล้ว แต่ด้วยความห่วงว่าความฟิตของเราจะหายไป เมื่อสองปีที่แล้ว ก็เลยเป็นทัวร์นาเมนต์แรกที่รับปากกับเพื่อนว่าจะลงแข่งขัน ก็ชวนกันไปลง โดยที่เราไม่เคยแตะต้องการว่ายน้ำเลยหลังจากเลิกไปแล้ว

ห่างสระไปกี่ปี

ยี่สิบสองปี ไม่ได้ว่ายน้ำเลย

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

ยี่สิบสองปีมันนานมาก นานพอที่เราจะไปทำอย่างอื่น หรือเล่นกีฬาแบบอื่น ทำไมถึงเป็นว่ายน้ำ ยังมีกีฬาแบบอื่นที่เล่นได้โดยไม่ต้องวิ่ง

คิดว่า “ก็ฉันเคยว่ายน้ำนี่นา ฉันเป็นนักกีฬานะ” 

คือลึกๆ ชอบการแข่งขัน อยากสู้ ตอนแรกคิดแค่ว่ากลับไปว่ายน้ำกับเพื่อนสนุกๆ ทำไปทำมา ไม่ได้ สนุกไม่พอแล้ว ก็เลยกลับมาลงแข่งขันเมื่อ พ.ศ. 2562 มันคงอยู่ในสายเลือดจริงๆ (หัวเราะ) ถ้าได้ลงมือทำอะไรแล้วก็จะตั้งใจสุดๆ

ว่ายเล่นๆ ไม่เอา

ไม่ได้ ขึ้นชื่อว่าการแข่งขัน เราเป็นคนฟาดตลอด เป็นคนสู้ สู้ทุกเม็ดค่ะ สมมติว่าเราเริ่มที่จะตั้งเป้าหมายว่าเราจะต้องลงแข่งขันรายการนี้ แม้จะเป็นรายการว่ายน้ำผู้สูงอายุก็เถอะ ฉันก็จะต้องเอาให้ได้ ฉันต้องทำให้เต็มที่

จะเอานี่จะเอาอะไรให้ได้

เหรียญทอง (ตอบเร็ว) จะเอาให้ได้ เราเป็นคนชอบการแข่งขัน

ตั้งเป้าหมายสูงที่สุดเลยใช่ไหม เหรียญเงินไม่เอา

เป้าหมายคือถ้าลงแข่งขันแล้วก็ต้องชนะ เราเป็นคนบ้าค่ะ ตั้งเป้าหมายทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ อย่างการวิ่งก็ไม่ใช่แค่วิ่งไปเรื่อยๆ เราวิ่งก็ต้องมีโค้ช มีตารางวิ่ง วันนี้วิ่งอะไรยังไง เช่นเดียวกับการกลับมาว่ายน้ำผู้สูงอายุก็จำเป็นต้องมีโค้ช ก็เลยติดต่อโค้ชเก่า อาจารย์ธนาวิชญ์ โถสกุล เป็นโค้ชตั้งแต่สมัยเรายังเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ

เมื่อยี่สิบสองปีที่แล้ว

ใช่ค่ะ เราก็บอก “อาจารย์คะ ช่วยเขียนตารางมาให้หน่อยนะ ตารางให้หนูว่ายตั้งแต่เริ่มต้นเลยนะ” เขาก็วางคอร์สให้เราทุกวัน ในช่วงสองปีที่แล้วที่เราลงมาแข่งขัน เราซ้อมโดยตารางของอาจารย์ตั้งแต่ศูนย์เลย แต่โชคดีที่เรายังมีความฟิตได้มาจากการวิ่ง แต่ว่าเรื่องสโตรกเนี่ย เมื่อยี่สิบปีที่แล้วกับปัจจุบันมันคนละเรื่อง

สโตรกแบบศรสวรรค์ที่เราเคยดูในการแข่งขันหายไปเยอะไหม

มันหายหมดเลยค่ะคุณขา (หัวเราะ) ทีนี้พอเริ่มปั๊บ อ้าว อีนี่ก็บ้าแล้ว ไหนมาดูสิว่าตอนนี้นักว่ายน้ำกบยุคปัจจุบันเขาว่ายกันยังไง ไปดูใน YouTube อดัม เพียตี้ (Adam Peaty นักกีฬาว่ายน้ำชาวอังกฤษ เหรียญทองในการว่ายน้ำท่ากบ 100 เมตรในกีฬาโอลิมปิก 2016) ซึ่งเป็นที่สุดในการว่ายท่ากบ เขาดึงแขนกันยังไง ศึกษาสโตรกเขา แล้วก็ปรึกษากับอาจารย์ว่าเราจะว่ายกันยังไง เขาก็วางคอร์สมาให้ ทุกอย่างปูพื้นฐานใหม่หมด มันไม่ใช่เล่นๆ แล้วล่ะ ทีนี้พอเราจะลงว่ายปั๊บ ก็มีพี่สื่อมวลชน มีรุ่นน้องมาสนใจเราอีก มันก็เริ่มกดดันแล้ว

ครั้งหนึ่งเราเป็นราชินีสระ เราประสบความสำเร็จมานับไม่ถ้วน เมื่อกลับมาลงสระอีกครั้งหนึ่ง คุณกดดันไหม

ก็กดดันอยู่ลึกๆ แต่เราจะแปลงความกดดันนี้ให้เป็นความทุ่มเทกับมันมากกว่า ยิ่งกดดันเราก็ยิ่งต้องทำให้ดี วางตารางในหนึ่งสัปดาห์ให้ดี เมื่อก่อนนี้ขอว่ายน้ำให้ได้สามวัน วิ่งสักสองวันเพื่อจะได้เสริมร่างกาย เสริมทุกอย่าง แล้วก็กลับมาดูแลเรื่องของอาหารการกินใหม่เลย คือจริงจังมาก

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์
การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

เหมือนนักกีฬาอาชีพมากเลย

เราเป็นคนจริงจังมาก รู้สึกว่าเราไม่มีเวลาจะมาเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ทดลองผิดทดลองถูก ไม่แล้ว เราต้องการเดินตรงไปที่เป้าหมาย เลือกสิ่งที่ดีที่สุด โค้ชที่เก่งที่สุดสำหรับเรา อย่างเรื่องโภชนาการหรือเรื่องอาหารการกิน เราก็ศึกษาว่าเราจะกินอะไรเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เวทเทรนนิ่งยังไง เราศึกษาจากผู้รู้ แล้วปรับใช้กับตัวเรา ก็คิดว่าเราอย่าเสียเวลากับการลองผิดลองถูกหรือว่ายน้ำสนุกๆ ว่ายไปเถอะ สบายๆ แต่ไม่ค่ะ เราไม่ใช่คนแบบนั้น เราลงมือทำอะไรแล้วเราต้องไปให้สุดๆ เอาให้เต็มที่

ทำไมต้องจริงจังขนาดนี้ มันสนุกยังไง

สนุกนะคะ (หัวเราะ) ยิ่งทำยิ่งรู้สึกสนุก แล้วพอเห็นว่ามันได้ผลนะ จากที่เรามีความย้วยหรือความฟิตที่ไม่มี จากศูนย์แล้วค่อยๆ แข็งแรงขึ้น แล้วจึงกลายเป็นความสนุก เมื่อก่อนเราวิ่งแล้วเหนื่อย แต่ตอนนี้เราวิ่งแล้วไม่เหนื่อย แล้วเราวิ่งเร็วได้ เฮ้ย สนุก ได้ New PB (New Personal Best เวลาที่เร็วกว่าสถิติส่วนบุคคลคือเวลาที่วิ่งเร็วที่สุดในทุกระยะทาง) เฮ้ย สนุก 

มันก็คือความสนุกที่เราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ดังนั้นพอเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ เราได้ทีมงานที่เขาซัพพอร์ตเรา มันก็ทำให้การฝึกซ้อมในทุกวันเป็นวันที่เราท้าทายตัวเอง วันนี้คอร์ทเป็นแบบนี้ ว่ายเสร็จเราก็ถามว่า “อาจารย์ เป็นยังไง” ทั้งที่ไม่มีใครมาดู เราก็ว่ายของเราเอง ห้าสิบเมตร สี่เที่ยว ทำตามตารางทุกอย่างที่โค้ชกำหนด ซึ่งในครั้งแรกที่เราลงแข่งขัน ซ้อมได้ประมาณยี่สิบสองวันเมื่อปีที่แล้ว เป็นการลงแข่งครั้งแรก

ทัวร์นาเมนต์ที่ไทย

ใช่ค่ะ รายการว่ายน้ำผู้สูงอายุค่ะ สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดการแข่งขัน แข่งขันที่การกีฬาแห่งประเทศไทย

ขอโทษที่คงต้องขออนุญาตถามอายุ ตอนที่กลับมาลงปีที่แล้วอายุเท่าไหร่

สี่สิบเจ็ดปีแล้วนะคะ ก็อายุเยอะมากๆ ผู้เข้าแข่งขันก็รุ่นอายุนี้แหละค่ะ สี่สิบห้าถึงสี่สิบเก้าปี (หัวเราะ) อายุเยอะกันหมด แต่เราก็เชื่อมั่นว่าถ้าในอายุเท่าเรา เราก็น่าจะแข็งแรง แล้วก็มีความเชื่อมั่นว่าน่าจะคว้าเหรียญทอง เพราะมันไม่โอเคถ้าเรากลับมาแล้วเราได้เหรียญทองแดง ได้เหรียญเงินอะไรอย่างนี้ค่ะ

ไม่ได้เผื่อใจเอาไว้สำหรับโพเดียมอันที่สองเลยใช่ไหม

ไม่ค่ะ

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

ต้องยืนที่หนึ่งเท่านั้น

ใช่ เราก็ต้องศึกษาสิ ปีที่แล้วเนี่ยเขาว่ายกัน สถิติเท่าไหร่ในส่วนนี้ ใครเคยแข่งขันบ้าง เราก็เป็นเจ้าแห่งการศึกษาหาข้อมูลคนหนึ่งเหมือนกัน (หัวเราะ)

ก็คือเรามีกลยุทธ์ของเราอยู่แล้วเหรอ

ใช่ค่ะ

แล้วผลออกมาเป็นอย่างไรบ้าง

ได้เหรียญทองทั้งห้าสิบเมตร และว่ายกบหนึ่งร้อยเมตรค่ะ

นี่คือแชมป์ระดับประเทศ เรียกได้ใช่ไหมครับ

ระดับประเทศค่ะ สถิติเราอยู่ที่ห้าสิบเมตร สามสิบเก้าวินาที (ดีดนิ้ว) เฮ้ย ก็ใช้ได้เหมือนกันว่ะ

ดังนั้นก็หยุดได้แล้ว แชมป์ใสๆ

ไม่หยุดค่ะ (หัวเราะ)

ได้เหรียญทองแล้วก็ไม่หยุดเหรอ

เหรียญทองแล้วก็หยุดไม่ได้ เพราะมันจะมีแข่งอีก แล้วพอหนึ่งปีผ่านไปเราก็รู้สึกว่าโพเดียมมันหอมหวานเว้ย (หัวเราะ) เฮ้ย มันสนุกแล้วว่ะ จากนั้นเราก็วิ่งต่อ สนุกสนานกับการวิ่ง แล้วก็ความฟิตของตัวเอง เราเริ่มมีร่างกายที่เฟิร์ม กล้ามเนื้อคือกล้ามใหญ่มาก แล้วเราก็ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหนึ่งปีต่อมามันก็วนมาที่การแข่งขันว่ายน้ำผู้สูงอายุอีกเหมือนเคย แต่เป็นมาสเตอร์ การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดการแข่งขัน

ก็ยังเป็นรายการในประเทศ

ใช่ คือถ้ามันไม่มี COVID-19 จะมีต่างชาติมาแข่งขันด้วยค่ะ คราวที่แล้วเราซ้อมยี่สิบสองวัน คราวนี้เราต้องซ้อมมากขึ้นสิ เอาแบบสามสิบกว่าวัน เกือบเดือนกว่าๆ เดือนครึ่งค่ะ เรามีตารางการฝึกซ้อมเหมือนเดิมวนลูปเดิม สนุกจังเลย โค้ชก็ให้โปรแกรมเดิม (หัวเราะ) แต่คราวนี้เราวิ่งมากขึ้น เราแข็งแรงมากขึ้น แล้วสถานที่แข่งขันเป็นที่การกีฬาแห่งประเทศไทยเหมือนเดิม แต่ว่าเพิ่มเติมก็คือมันมีความน่าสนใจว่าถ้าเราผ่านเกณฑ์

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

ผ่านเกณฑ์อะไร

เกณฑ์ของการแข่งขันมีเวิลด์มาสเตอร์ที่ชิงแชมป์โลกของผู้สูงอายุ แล้วก็เป็นเอเชียนมาสเตอร์ การแข่งขันระดับเอเชียก็เป็นอาเซียน ก็คือมีทั้งสามรายการ

พูดอย่างนี้แปลว่าคุณเข้าร่วมแน่นอน

คิดว่าฉันไม่เคยติดทีมชาติสูงอายุมาก่อนในชีวิต (หัวเราะ) ก็เลยคุยกับน้องๆ “มันมีเกณฑ์อย่างนี้ๆ พี่สนใจไหม” หูย เราหูตั้งเลย อยากติดทีมชาติอีก อยากไปว่ายแบบในนามของทีมชาติ มีธงไตรรงค์ เขียนคำว่า Thailand อยู่ข้างหลัง เป็นตัวแทนในระดับอาวุโส ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีรุ่นพี่ซึ่งเขาก็ไปติดทีมชาติอาวุโสไปมาสเตอร์เหมือนกัน ก็มองว่าเราน่าจะทำตรงนี้ได้ในศักยภาพของเรา เราก็เลยไปหาเสิร์ชดูตารางเวลาแล้วว่าอันดับหนึ่ง สอง สาม น่ะสถิติเท่าไหร่ แล้วเขาเอาแค่อันดับหนึ่ง สอง สามเพื่อจะไปเวิลด์มาสเตอร์ เอาสามอันดับแรกของระดับประเทศไปเวิลด์มาสเตอร์ ซึ่งสามอันดับแรกของการแข่งขันเมื่อปีที่แล้ว มีเกณฑ์เพื่อที่จะไปเวิลด์มาสเตอร์ว่าว่ายห้าสิบเมตร สถิติประมาณสี่สิบวินาทีนิดๆ อันดับสามคือสามสิบเก้าปลายๆ สามสิบเก้าจุดแปด สามสิบเก้าจุดเก้า มันก็ห่างกันนิดเดียวเนอะ ซึ่งเราสามสิบเก้า เฮ้ย ไปได้นี่หว่า

ขอถามสถิติในวัยที่เราทำได้ดีที่สุดหน่อย ห้าสิบเมตรกี่วินาที

สามสิบสี่วินาทีค่ะ นี่หายไปเยอะมาก

หายไปห้าวินาที นี่ถือว่าเยอะไหม

เยอะค่ะ เยอะมาก แล้วระยะแค่ห้าสิบเมตรด้วยถือว่าเยอะมาก คือสโตรกมันไม่แข็งแรงเหมือนเด็กๆ แล้ว แล้วพละกำลังก็ไม่เท่าเดิม โอ้โห เมื่อก่อนฟาดได้เต็มที่ แต่ตอนนี้ด้วยวัยของเรา สมรรถภาพก็ถดถอยไปเยอะ แต่ว่าถ้าในอายุสี่สิบห้าถึงสี่สิบเก้าปี ถ้าสถิติของคุณอยู่ประมาณสามสิบแปดถึงสามสิบเก้าวินาที คุณก็ติดเหรียญเมื่อสองปีที่แล้วได้แล้วนะ แต่เราเนี่ยได้สามสิบเก้าถึงสี่สิบวินาที เราก็เริ่มมีความโลภแล้ว แหม อีกนิดเดียว เราก็เลยทำให้ตั้งเป้าหมายว่าจากซ้อมยี่สิบสองวัน เอามันสักหนึ่งเดือนสิ หนึ่งเดือนครึ่ง เกินๆ ไป แล้วพอแข่งจริงมันดันได้ว่ะ สามสิบเก้าจุดแปด ก็คือผ่านเกณฑ์อันดับสามของเวิลด์มาสเตอร์ที่คันไซ ญี่ปุ่น โอ้โห ตายล่ะ ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ก็สนใจ มีการพาดหัวผ่านเกณฑ์ได้ไปเวิลด์มาสเตอร์แล้ว ตอนนั้นเราก็ดีใจ เฮ้ย ดีว่ะ เราก็มีความหวังว่าปีหน้าก็คือปีนี้เราจะได้ไป ตั้งเป้าหมายว่าเดี๋ยวเก็บเวิลด์มาสเตอร์ได้ เดี๋ยวไปเอาอาเซียนบ้าง

การแข่งขันเวิลด์มาสเตอร์ถ้าเราชนะ เราก็จะเป็นแชมป์โลก

เป็นแชมป์โลกค่ะ เราเข้าไปร่วมการแข่งขัน ซึ่งสำหรับการแข่งขันว่ายน้ำเองเรายังไม่เคยไปชิงแชมป์โลกเลย เคยไปแต่โอลิมปิก ซึ่งก็ผ่านได้อันดับแปด อันดับเก้าอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่นี่คือยิ่งใหญ่มากๆ

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

ขอถามตรงๆ ไม่กลัวว่าจะเอาชื่อเสียงมาทิ้งเหรอ

ถ้าคุณสามารถลงแข่งขันชิงแชมป์โลกได้ คุณก็คือผู้สูงอายุระดับโลกแล้วนะ มันไม่ได้มองว่าเหรียญหนึ่งอันดับหนึ่ง สอง สาม แต่ถ้าเราสามารถผ่านเกณฑ์ได้ก็อ้วกแตกแล้ว การผ่านเกณฑ์ที่จะไปแข่งขันชิงแชมป์โลกมันยากมากๆ แค่ไปได้นี่ก็ถือว่าเป็นคนแก่ระดับโลกแล้ว (หัวเราะ)

แปลว่าเราไม่กดดันเลย

ไม่กดดัน ถ้าเข้าร่วมการแข่งขันได้ เราก็จะไปอย่างเต็มภาคภูมิ มันคือที่สุดแล้ว อายุเราเท่านี้แล้ว จะเอาอะไรมากไปกว่านี้อีก

ลงแข่งขันว่ายน้ำประเภทไหนบ้าง

ว่ายกบห้าสิบเมตรกับกบหนึ่งร้อยเมตรค่ะ แต่ว่าจริงๆ เป้าหมายเราอยู่ที่ห้าสิบเมตรมากกว่า หนึ่งร้อยเมตรค่อนข้างยากกว่านี้ ใช้อีกเกณฑ์ที่จะตัดสินค่ะ

เราได้เหรียญทองสำหรับการแข่งขันว่ายน้ำอาวุโสในประเทศแล้ว แต่ในระดับโลก มีใครบ้างไหมที่เราจะต้องข้ามเขาไปให้ได้

โอ้โห หลายประเทศเลยค่ะ แต่เราก็ไม่รู้ว่าสองปีผ่านไปจะเป็นยังไง ที่รู้ก็มีอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา แต่ก็ไม่แน่ใจ เพราะว่าสองปีผ่านมา พอมาเจอเรื่อง COVID-19 เราไม่รู้ความฟิตของแต่ละคนเลย ตอนนี้คือศูนย์เลย ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าชาติไหนเขาเขาเก็บตัวกันยังไง คิดว่าต้องใกล้วันกว่านี้ เพราะว่าจริงๆ ทัวร์นาเมนต์นี้เลื่อนไปเป็นปีหน้า น่าจะเป็นกลางปีหน้าเลยด้วยซ้ำ แต่ว่าตอนนี้เราก็คงจะต้องเก็บความฟิตของเราเอาไว้ แล้วมันก็จะมีการแข่งขันกลางปีสำหรับบ้านเรา เป็นการลงแข่งขันชิงแชมป์มาสเตอร์ของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่เราจะกลับมาทำเวลาให้ได้ใกล้เคียงกับเดิม หรือว่าให้ดีกว่าเดิม แต่มันค่อนข้างยากไง เพราะเราต้องรักษาความฟิตของเราเอาไว้ตลอด

แล้วอย่างชาติอื่นๆ เขาก็เป็นนักกีฬาทีมชาติหรืออดีตนักกีฬาทีมชาติเหมือนกันหรือเปล่า

ใช่ มีอดีตนักกีฬาทีมชาติด้วยค่ะ เหมือนกันนี่แหละ

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์
การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

แปลว่ามันไม่ได้ง่ายกว่าที่เราเคยแข่งมาเลย

ไม่ได้ง่ายค่ะ แล้วยิ่งต่างประเทศเขาฟิตกว่าเราเยอะมาก อย่างญี่ปุ่นเนี่ย อื้อหือ ดูเวลาที่ได้แล้วต้องร้องว่า “อะไรวะ” นี่ป้าอายุมากกว่าเราแต่ป้าว่ายดีกว่าเราอีก (หัวเราะ) 

คือแต่ละประเทศเขาให้ความสำคัญกับกีฬาผู้สูงอายุหรือว่ามาสเตอร์นะคะ มันเป็นศักดิ์ศรีเลย แต่ว่าบ้านเราอาจจะเพิ่งเริ่มต้น แล้วก็มีทัวร์นาเมนต์เนี่ยแหละค่ะ หลักๆ ปีละครั้ง เลยทำให้คนมักคิดว่าเราจะซ้อมไปทำไม ทั้งปีมารอทัวร์นาเมนต์เดียว ซึ่งถ้ามันมีความเฟื่องฟูกว่านี้ มันจะทำให้เราคว้าเหรียญรางวัลได้มากกว่า จริงๆ นักว่ายน้ำบ้านเราก็เก่ง แต่ว่าถ้าเป็นระดับอายุขนาดนี้ คนเล่นน้อย แต่ถ้าอย่าง น้องอุ้ม (ณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง) ซึ่งก็อายุสามสิบต้นๆ ไปลงแข่งแบบนี้ คว้าเหรียญเลย เหรียญทองเลย เขายังแอคทีฟ เราก็เลยคิดว่าถ้าเป็นรุ่นอายุขนาดนี้น่าที่จะให้มีคนแข่งเยอะๆ เพื่อที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงอายุจะห้าสิบแล้วแต่ก็มาทำอะไรแบบนี้อยู่

คุณในวัยเด็กกับคุณในวันนี้ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

น่าจะพละกำลัง แล้วก็ความฟิตร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าความบ้าบอหรือว่าความซ่า คิดว่าเรายังซ่า ซ่าได้เหมือนเดิมนะ คนที่เคยเจอเราตอนเด็กๆ แล้วมาเจออีกทียังบอกว่า “แกนี่มันยังบ้าเหมือนเดิม” เรายังดีดไง เรายังเล่นได้ อย่างปีที่แล้ว ผึ้ง (สาลินี เขมจรัส) มาว่ายด้วยกัน เป็นทีมชาติรุ่นเดียวกัน เราก็ยังกิ๊วก๊าว เรายังเล่นอยู่ ถ้าเรามาที่สระว่ายน้ำ ความเป็นเด็ก ภาพในอดีตของเรามันกลับมา มันคือความสุขที่เราได้มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ คือคนก็จะบอกว่า “เฮ้ย แกเหมือนเดิมว่ะ” “แกบ้าบอเหมือนเดิมเลย” ใช่ ฉันไม่แก่จ้ะ

มีอะไรที่เราเพิ่งค้นพบหลังจากมีอายุมากขึ้นไหม

น่าจะเป็นเรื่องของความรับผิดชอบที่มากขึ้นกว่าตอนเด็กเยอะ ตอนเด็กเราไม่ได้คิดอะไร ตื่นมาแม่ก็พามาว่ายน้ำ ดูแลทุกอย่าง กินข้าวแทบจะป้อน แต่ตอนนี้เราบริหารจัดการเวลาของเราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เรารู้เลยว่าเราเหนื่อยแค่ไหนนะ แต่พอมาลงน้ำ เรายังมีแรงที่จะฟาด จะฝึกซ้อม เราจะได้ตรงนี้มากกว่า แล้วเราไม่มีคำว่าอู้ เวลาที่เราโต เราแก่แล้วเนี่ยไม่มีอู้นะ ยกเว้นไม่ไหวจริงๆ จะบอกอาจารย์ว่า “อันนี้ไม่ไหวนะ ขอเหอะ อันนี้หนูยอมแพ้นะ” แต่น้อยมากที่เราจะบอกเขาว่าเราขอยอมแพ้ในโปรแกรมที่เขาให้ ก็จะสองร้อยเมตร สี่เที่ยว สามเซต หรืออะไรอย่างนี้ เราก็ว่ายๆๆ จนเราล้า จนเราไม่ไหว เราก็บอกเขาว่ายอมแพ้ แต่ถ้าเราเป็นเด็กๆ (หัวเราะ) อู้แล้ว ลอยเล่นแล้ว

ตอนเด็กดูเอาเรื่องอยู่

ตอนเด็กๆ เราก็ร้ายอยู่นะ ไม่ใช่ว่าเป็นเด็กขยัน ก็อู้ เกเรเหมือนกัน ถ้าเราไม่ว่ายเราก็เดินขึ้นเลย หรือบอกอาจารย์ว่าไม่ว่าย “วันนี้ขี้เกียจว่ะ อาจารย์” งอแง อาจารย์ก็บอก “ถ้าไม่ว่ายต่อ แกก็มาทดสอบเวลา ถ้าว่ายร้อยเมตรแล้วผ่าน แกก็ขึ้นเลย” เอ้า เอาก็เอานะ แล้วก็ผ่าน ขึ้นจากสระเลย (หัวเราะ) เฮี้ยว เด็กๆ นี่ก็ขึ้นชื่อความเฮี้ยว ความขี้เกียจอยู่นะ แต่ไม่รู้ได้มาเพราะอะไร (หัวเราะ)

อย่างคุณนี่ถือเป็นนักว่ายน้ำที่มีพรสวรรค์ใช่ไหม

อุ๊ย (หัวเราะ) มันอาจจะเป็นเรื่องของกำลังขา เราเป็นคนที่เตะขากบได้แรงมาก เวลาที่ว่ายคอร์ทเนี่ย อาจารย์จะให้เราไปถีบกบแข่งกับผู้ชาย เพราะว่าในรุ่นผู้หญิงไม่มีใครมาฟาดกับเราแล้ว ก็เลยบอกให้ไปแข่งกับผู้ชาย อัดๆๆ ถีบกบอัดไล่กันน่ะค่ะ เรื่องของขามันมีความสำคัญมาก ถ้าเราขาแข็งแรง มันก็ทำให้เราพัฒนาสถิติได้มากกว่า อาจารย์วรรณะ สง่าอารีย์กูล ที่ฝึกซ้อมจนเราโด่งดังสมัยก่อนก็จะบอกว่า “ขาแกเนี่ยนะ มันเหมือนขาคนถีบสามล้อ” มันใหญ่ น่องเป็นมัดๆ แล้วความแข็งแรงของขา เขาก็ถือว่าเป็นจุดเด่นของเรา

พอได้มาว่ายน้ำในวัยนี้ พรสวรรค์หรือขามันช่วยไหม

(หัวเราะ) มันหายไปเยอะเลยค่ะ คราวนี้เราค้นพบว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือสโตรกการว่ายในยุคปัจจุบัน แล้วในสปีดที่เรามีซึ่งมันลดลงไปเยอะมาก พอไปดู Motion ระหว่างแขนกับขา วิธีการดึงสโตรกมันทำให้เราต้องแก้สโตรกอยู่ตลอดเวลา แต่มีรุ่นน้องคนหนึ่ง ชื่อ น้องตู่ ธเนศ เราคุยกันตลอด “สโตรกแบบนี้นะพี่อาย พี่อายต้องดึงแบบนี้” 

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

เขามาดูการดึงสโตรกให้ “อย่างนี้ต้องพุ่งไปเร็ว” เราสับสนกับสโตรกอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ยังหาจุดที่มีความลื่นไหลของการว่ายไม่ได้ จนกระทั่งทุกวันนี้เขาก็ยังแนะนำว่า “บางทีพี่อายดึงเนี่ย กระตุกไปนะพี่ แขนพี่ต้องไปเร็วกว่านี้” นี่คือปัญหาที่เรายังแก้ไม่ได้ สโตรกที่ดีที่สุดสำหรับเราในวัยนี้ยังหาไม่เจอ กำลังแก้อยู่ แต่สิ่งที่ใส่เข้าไปตลอดคือแรง ให้มีพละกำลังเอาไว้ก่อน ให้ว่ายโดยกะเวลาให้ได้ ขากลับเราต้องมีแรงเหลือ 

จะด้วยศักยภาพก็ดี สมรรถภาพก็ดี หรือว่าการฝึกซ้อมก็ดี คิดว่าตอนนี้คุณพร้อมสำหรับเหรียญทองกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว

ตอนนี้กราฟตกนิดหนึ่งค่ะ (หัวเราะ) กำลังวางแผนกันว่าการแข่งขันกลางปีนี้ที่จะเกิดขึ้นเนี่ย เราจะเริ่มซ้อม นับถอยหลังอีกกี่วัน จะเป็นเดือนครึ่งหรือสองเดือน พอถึงตรงนั้นปั๊บ เราก็จะเริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่หนึ่ง สอง สาม ไปเรื่อยๆ เพราะตอนนี้แผนก็คือว่าเจ็บอีกแล้ว เป็นคนที่วิ่งแล้วเจ็บเอ็นหัวเข่า รักษาอยู่ก็เกือบหายแล้วสักเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ถ้าขาหายก็จะกลับมาวิ่งเพื่อรักษาความฟิต ดึงมันขึ้นมา เสร็จแล้วก็จะเริ่มลงน้ำ Drill สโตรกให้ดี สร้างพละกำลัง แล้วก็ใส่สปีดเข้าไป ก็น่าจะเคาต์ดาวน์ประมาณสองเดือนก่อนการแข่งขัน ก็อาจจะได้ไม่เท่าเดิม หรืออาจจะด้อยกว่าเดิม อันนี้เราก็ต้องทำใจเพราะหยุดไปพอสมควร ประมาณเดือนกว่าๆ เกือบสองเดือน แต่ก็คิดว่าถ้ามีการแข่งขันขึ้นมา บรรยากาศจะช่วยเร่งความกระตือรือร้นของเรากลับมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะทำสถิติให้ดีในการแข่งขัน

ความสุขของการว่ายน้ำคืออะไร

ทำให้เรากระชุ่มกระชวย กลับมาเป็นตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ชอบ มันรู้สึกเหมือนตอนเราเด็กๆ คนเคยถามว่า “ว่ายน้ำแล้วไม่เบื่อเหรอ ว่ายไปว่ายกลับ มันไม่มีอะไร” มันก็มีอยู่เท่านี้ ก็ใช่ แต่พอถึงเวลาว่ายจริงๆ แล้ว มันคือความจดจ่อ ความตั้งใจของเรา มันอยู่กับโปรแกรม หนึ่งร้อยเมตร สิบเที่ยว มันต้องว่ายเท่านี้ๆ คือในใจเราก็คิดว่าสถิติเท่านี้นะ เที่ยวต่อไปเท่านี้ เที่ยวต่อไปเท่านี้ ถึงเวลาเราก็มุ่งมั่นอยู่กับการฝึกซ้อมของเรา มันคือความท้าทายในแต่ละวันว่าเราจะทำได้หรือไม่ได้ เราจะพัฒนาตัวเองได้หรือเปล่า มันเป็นความบ้าส่วนตัวของคนที่ค่อนข้างตั้งใจสุดๆ ค่ะ

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราว่ายแล้วเราไม่ได้จดจ่อ หรือไปคิดเรื่องอื่น

ก็ไม่ดี ไม่ได้ผลเท่าที่โค้ชเค้าวางไว้ ทุกครั้งที่ว่าย เขาจะกำหนดเลยว่าคุมเวลาที่เท่านี้ สมมติว่าหนึ่งร้อยเมตร คุมเวลาที่หนึ่งนาที สี่สิบวินาที เที่ยวต่อมาหนึ่งนาที สามสิบห้าวินาที เที่ยวต่อมาหนึ่งนาที สามสิบวินาที โอ้โห ไม่มีสมาธินี่ตายเลยนะ เวลาไหลเป็นโจ๊กเลย ไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าสปีดเท่านี้เราว่ายเท่านี้ เที่ยวต่อมาเราต้องว่ายเท่านี้ เราต้องเตะขามากขึ้นไหม เราต้องดึงแขนหนักขึ้นไหม เราต้องผ่อนแรงตรงไหนได้ ตารางของโค้ชที่วางเอาไว้มันเป็นตัวที่ทำให้เราต้องคิดตลอดว่าเราต้องทำยังไง เช่นเดียวกันเหมือนตอนวิ่ง โปรแกรมวิ่งก็เหมือนกัน เราต้องคิด จะมาเอ้อระเหย ชมนกชมไม้ ตาย ไม่ได้ค่ะ นี่คือการต้องมุ่งมั่นกับตารางที่โค้ชเขาวางไว้ ไม่งั้นก็ไม่ได้ผล

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

ขอถามอีกนิดหนึ่ง ความสุขหรือความสนุกของการแข่งขันคืออะไร ไม่แข่งสนุกได้ไหม

ไม่แข่งก็ได้ แต่ว่าแข่งมันได้มากกว่า ได้บรรยากาศเก่าๆ เรารู้สึกสนุกที่ว่าพอไปถึง “อาจารย์ สวัสดีค่ะ” เรากับแม่เราก็ได้เจอผู้ปกครองเก่าๆ เพราะเราเอาแม่อายุแปดสิบสองปีไปนั่งดูเราด้วย หิ้วกระเตงกันขึ้นอัฒจันทร์ หิ้วปีกแม่ “มาๆ แม่ นั่งตรงนี้นะ” โอย เราชอบ มันเหมือนต่อพลังชีวิตให้กับเขา พ่อไม่ทัน พ่อเสียแล้ว ไม่เป็นไร แม่มาเขาก็จะเจอเพื่อนรุ่นเก่าๆ ของเขา เขาก็จะ “เออ เธอเป็นยังไงบ้าง” แม่เราแฮปปี้ มันเติมเต็มชีวิตให้กับเขาในวัยที่ขนาดนี้แล้ว แล้วเขากลับมาอยู่สระว่ายน้ำ 

ลูกเราก็ไม่เคยเห็นแม่ว่ายนะ “มาเอมมี่ มาดูแม่” แบบนี้เขาก็ได้เห็นในสิ่งที่เราเคยทำ ซึ่งตอนนี้ก็เป็นสาวแล้ว เขาอายุสิบสี่ปี อาจจะต่อต้านอะไรก็แล้วแต่ แต่เขาได้ดูว่าแม่ทำอะไร ได้เห็นแล้วว่าแม่มาแข่งขันแล้วแม่มีเหรียญทองกลับบ้าน ครอบครัวก็มาเชียร์ ในขณะเดียวกันเราได้เห็นโค้ชที่สอนเราตั้งแต่เด็กๆ แล้วเขาก็ยังแข็งแรง คือบรรยากาศเก่าๆ มันทำให้แฮปปี้น่ะค่ะ มันเติมพลังชีวิตให้กับเรา แล้วทำให้วงการว่ายน้ำครึกครื้นดี มีข่าว มีอะไร ทุกคนก็แฮปปี้ มีแต่เรื่องดีๆ ให้กับเรา แม้ว่าจริงๆ โคตรเหนื่อยเลย 

เอาจริงๆ นะ ทำงานมาปวดหัวทั้งวัน ขับรถจากช่อง 7HD มาที่นี่ เพื่อมาซ้อมแล้วก็กลับ มันคือการลงทุนเรื่องการเดินทางมโหฬาร แต่พอเราเหนื่อยๆ มาถึงสระ ลงน้ำ เริ่มนับหนึ่ง ฉันเริ่มต้นใหม่ เริ่มสนุกใหม่ค่ะ มันก็มีแต่เรื่องที่ได้ และสุขภาพเราก็ดี

ดีเกินเพื่อนบ้าน เกินมนุษย์วัยเดียวกัน

บ้าบอ (หัวเราะ) มาดูเรื่อง Fitness Age ของเราเนี่ย เราแข็งแรงเท่าคนอายุยี่สิบสามปีนะ เราไปวัดค่าความฟิตมาแล้ว มันก็รู้สึกว่าไม่มีเรื่องเสียแล้วนะที่เรากลับมา Fitness Age เท่าคนอายุยี่สิบสาม ไขมันในร่างกายน้อยมาก เรามีซิกแพ็กในวัยจะห้าสิบ เรามีความฟิตแอนด์เฟิร์มก็น่าจะแบบมีแต่เรื่องดีๆ ถ้าเราปล่อยตัว ถ้าไม่เล่นกีฬานี่ยานถึงพื้นแล้วนะเนี่ย (หัวเราะ) ทำให้เวลาเราไปเจอใครหรือไปเจอรุ่นน้อง เขาก็มักจะบอกว่า “หูย อยากออกกำลังกายอย่างพี่อาย” มันก็แฮปปี้เนอะ

ออกกำลังกายอย่างพี่อายคือต้องหักโหมมากเลยนะ ไม่ใช่ออกกำลังกายธรรมดา

(หัวเราะ) ก็บอกไปว่า “แกเอาง่ายๆ ก่อน แกไม่ต้องมาเป็นบ้าอย่างฉัน” คืออย่างน้อยเราจะบอกทุกคนว่าให้ออกกำลังกาย เขาอาจจะเบื่อแล้วก็ได้นะ แต่ถ้าเจอกัน เราก็เอาแล้ว “ทำไอ้นี่สิ เปิดคลิปอันนี้สิ ครึ่งชั่วโมงนะ ไปวิ่งนะ หรือวิ่งไม่ไหวก็เดิน” เราจะเป็นคนกระตุ้นคนรอบข้าง “อาหารอย่างนี้อย่ากินเยอะนะ ตัดน้ำตาลนะ ลอง IF (Intermittent Fasting คือการลดน้ำหนักแบบจำกัดช่วงเวลาการกิน) ไหม หรือว่ากินสลัดทุกวัน” คือเราต้องการให้คนรอบตัวมีสุขภาพที่ดีให้ได้ ซึ่งเราพิสูจน์กับตัวแล้วว่ามันดีว่ะ แล้วเราไม่ได้ผอมนะ ก่อนหน้าที่จะออกกำลังกาย น้ำหนักลดไปแค่ประมาณสามกิโลกรัมเท่านั้น แต่กล้ามเนื้อมันมา ก็โอเคอยู่

สำหรับคุณ เหรียญทองที่ได้มาทั้งหมดกับเหรียญที่ยังไม่ได้ เหรียญไหนสำคัญกว่ากัน

อืม ตอบยากนะคะ คิดว่าเหรียญที่ได้มาเป็นเหรียญที่สำคัญ มีความทรงจำที่ดีอยู่ในนั้น เวลานึกถึงเหรียญทองซีเกมส์ที่ได้มาเจ็ดเหรียญเนี่ย แต่ละภาพที่มันออกมา มันพาให้ย้อนรำลึกความหลังเรื่องราวต่างๆ ได้ตลอด ว่าครั้งแรกที่อินโดนีเซียนะ ตอนที่ฉันไป โอ้โห ไม่มีใครรู้จักฉัน ไม่มีใครคิดว่าฉันจะได้ แล้วมีแต่เสียงของคนอินโดนีเซียมาเชียร์ แล้วฉันได้เหรียญทอง เป็นดาวรุ่ง แล้วทุกๆ เหรียญต่อมามันจะมีภาพของมันออกมา และเช่นกัน ทุกๆ ครั้งที่เราไปทีมชาติ ได้เข้าเฝ้าในหลวง มันคือที่สุดของชีวิตน่ะค่ะ มันก็ทำให้สิ่งเหล่านี้มันคือความทรงจำที่มันยอดเยี่ยม

แล้วเหรียญที่ยังไม่ได้แต่อยากจะได้ล่ะ มันสำคัญไหม

ก็สำคัญอีกค่ะ เหรียญมาสเตอร์เหรียญใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญจากอาเซียนหรือในระดับเอเชีย หรืออาจจะฝันไกลในระดับชิงแชมป์โลกก็ได้ เหรียญใดก็ได้ที่มันจะเติมเต็มความฝันของเราว่าเราอยากติดทีมชาติไประดับมาสเตอร์ อันนั้นก็คืออีกความฝันหนึ่ง แต่ว่ายังนึกไม่ออกเพราะเราไม่รู้ว่าช่วงเวลานี้มันจะแข่งเมื่อไหร่ หรือจะเคาต์ดาวน์กันยังไง ฝึกซ้อมยังไง

เวลาเราอยู่ในรายการใหญ่ๆ มีทั้งความแบบตื่นเต้น มีความกดดันเต็มไปหมด คุณต้องจดจ่อใช่ไหม ทีนี้เลยอยากรู้ว่าเวลาที่เราลงไปในสระแล้ว ได้ยินเสียงคนรอบข้างไหม

เอาจริงๆ ไม่ได้ยินหรอก (หัวเราะ) อาจจะเป็น เฮ้ๆ แต่ก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าเสียงนั้นมันดังเบาแค่ไหน เพราะว่าขึ้นมาหายใจอาจจะแค่สองวินาทีแล้วก็ลง สองวินาทีแล้วก็ลง สิ่งที่เราจดจ่อก็คือไม่ให้หมดแรงมากกว่า สำคัญว่าห้าสิบเมตร ยี่สิบห้าเมตร เราควรจะว่ายเท่าไหร่ ความเหนื่อยแค่ไหน สปีด สโตรกเรตของเรามากน้อยแค่ไหน ซึ่งมันละเอียดมากสำหรับตอนนี้ 

เมื่อก่อนเป็นเด็ก ใส่เต็มที่ ไม่หมดหรอก เพราะว่าแรงเราเหลือ แต่ตอนนี้คือใส่ได้ไม่เต็มที่นะเว้ย เดี๋ยวพอใกล้ๆ แลคเตทขึ้นว่ะ (Lactate แลคเตทเป็นแหล่งพลังงานของร่างกายชนิดหนึ่ง ยิ่งออกแรงมากก็จะยิ่งมีแลคเตทออกมาสะสมจนเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อร่างกายมีแลคเตทสูงมากเป็นเวลานานจะเกิดอาการปวด เมื่อยล้า และเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อ) 

ขาเขอแข็งหมดอะไรอย่างนี้ ถ้าอยู่ตรงนั้นน่ะ เราไม่ได้จดจ่อว่าเราได้ยินเสียงอะไร เราจดจ่อว่าเราคุมแรง คุมสโตรกได้มากน้อยแค่ไหน อย่าเพิ่งหมดนะเว้ย อีกห้าวินาทีก็จะถึงแล้วเนี่ย ควรจะรักษาสภาพไปให้ถึงมากกว่า

ตอนเด็กไม่ต้องคิดอะไร ว่ายอย่างเดียว ตื่นมากิน ออกกำลังกาย ว่าย ไปแข่ง นอน ตอนนี้แตกต่างไปหมดแล้ว คุณกลายเป็นแม่คน เป็นคนทำงาน มีหน้าที่รับผิดชอบ มีครอบครัวต้องดูแล เป็นนักกีฬาด้วย มันยากกว่าแน่ๆ อยู่แล้ว แต่ว่าคุณบริหารจัดการมันยังไง

ต้องยอมรับว่าถ้ามันมีการแข่งขันขึ้นมา คนในบ้านลำบากนะ “สามี เธอต้องไปสแตนด์บายรับลูกนะ” หรือ “ฉันต้องไปซ้อมตรงนี้ ตรงนั้นนะ” เรื่องของการทำงานก็คือเราเอางานเป็นหลักแหละ ดูว่าวันนี้เรามีงานกี่โมง เรามีเวลาเท่าไหร่ในการซ้อม ถ้าเรามีสักสามชั่วโมงก็แวบมา ในสามชั่วโมงนี้เราจะทันฝึกซ้อมแล้วเราจะกลับไปทำงานทันไหม ซึ่งตรงนี้อายวางแผนสัปดาห์ต่อสัปดาห์เลย เอาแค่หนึ่งสัปดาห์ วินัยสำคัญมาก พอถึงวันเสาร์ปั๊บ เอาล่ะ วางแผนจันทร์ถึงอาทิตย์ วันไหนจะซ้อมบ้าง จะลิสต์กับทางครอบครัวเลยว่า “แม่จะซ้อมวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เวลานี้ๆๆ นะ แม่จะไปรับหนูได้วันไหนบ้าง พ่อจะต้องไปสแตนด์บายรับหนูวันไหน” อย่างนี้ 

คือเราจะวางตารางกันออกมาแบบเป๊ะๆ เลย เพื่อไปซ้อมโดยที่เราไม่ต้องห่วงลูก เพราะลูกเองนอกจากเรียนแล้วเขายังเต้น ร้องเพลง กิจกรรมเขาก็สารพัดเหมือนกันค่ะ แต่ลูกก็ไม่ฟังแม่เลย คือแม่ก็หัวเน่าน่ะ (หัวเราะ) แต่พยายามว่าถ้าเขามาว่ายด้วยกันก็ดึงมาซ้อม “หนูจะว่ายก็ว่าย แต่แม่ซ้อมอยู่ตรงนี้นะ” อะไรอย่างนี้ เอาเขามาไว้ตรงนี้ “หนูจะเล่นฟิตเนสอะไรก็ได้” แต่ว่าความสนใจของเขาคือการเต้นมากกว่า ถ้าเราว่างเราพาเขาไปซ้อมเต้น

นึกถึงตอนที่เราอายุสิบสี่ปี เราเป็นแบบนั้นไหม

ก็ใช้ได้อยู่นะ (หัวเราะ) รู้สึกเป็นเวรกรรมที่เราได้ทำไว้กับพ่อกับแม่พอสมควรเนอะ เออ พอเขาเถียงเรา “ไม่พูดอย่างนี้กับคุณแม่นะ” โอ้โห ภาพย้อนกลับมา เราเมื่อก่อนคงเป็นอย่างนั้นมั้ง (หัวเราะ) ก็ยากน่ะ ยิ่งลูกโตเป็นสาวก็ยิ่งยาก แต่ก็ให้พื้นที่เขา ให้เขาอยู่ในพื้นที่ที่เขาอยากจะคิด อยากจะทำอะไรก็ได้ เราก็ฟังแต่จริงๆ มันยากไง พอเขาพูดอะไรมาปั๊บ เราก็ “ไม่ได้นะลูก!” 

เรามานึกในใจ คำว่า “ไม่” น่ะ มันใช้ไม่ได้กับเด็กที่เป็นวัยรุ่นแล้ว มันต้องแนะว่า “เอาอย่างนั้นดีไหมลูก อย่างนี้ดีไหมลูก” แต่ต้องยอมรับว่าเป็นแม่ที่ปากไว ก็เลยต้องปรับเยอะมาก ตอนนี้ก็ปวดหัวมากกับเด็กวัยรุ่น

งั้นขออนุญาตถามแทนลูกว่า การมีแม่เป็นศรสวรรค์ ภู่วิจิตร คิดว่าลูกต้องแบกอะไรไว้ไหม

แบกค่ะ ใครรู้ก็ต้องถามเขา ยิ่งพ่อเป็น โทนี่ มีชัย เป็นนักกอล์ฟอย่างนี้ “เอ้า หนูจะว่ายน้ำหรือหนูจะเป็นนักกอล์ฟ” นี่คือคำถามที่ใครเจอหน้าลูกทุกครั้งก็ถาม เขาก็เบะปาก แต่ว่าเขาก็เป็นเด็กที่โอเค พอจะรักษามารยาท “ไม่หรอกค่ะ หนูชอบเต้นมากกว่า” 

ทุกคนถามหมดน่ะ แม้กระทั่งตอนเจออาย “นี่ลูกจะเป็นนักกอล์ฟหรือเป็นนักว่ายน้ำ” มันคือคำถามที่เหมือนกับ กินข้าวหรือยัง ไปไหนมา

แต่มันตอบไม่ง่ายเลยนะ

ใช่ ตอบไม่ง่าย แต่เราก็พยายามที่จะตอบ “ก็ให้ลองทั้งสองอย่างตั้งแต่เด็กๆ แต่เขาไม่ชอบ เขาชอบเรียนเต้น”

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

สมมติว่าเขาไม่เอา อยากจะเป็นคนธรรมดาทั่วไป อยากไปทำอย่างอื่น คุณจะคิดยังไง

เขาก็ไม่เอาอยู่นะตอนนี้ (หัวเราะ) เขาไม่เอา เรายิ่งไปชี้ให้เขาทำอะไรเขายิ่งไม่ทำ ตอนนี้ก็บอกเลยว่า “หนูอยากทำอะไร หนูทำ” หรือเขาก็จะมาบอกว่าอยากให้ทำอะไร เช่น “หนูอยากจะทำโน่น หนูอยากจะทำนี่นะแม่” “แม่จองอันนี้ให้หน่อย หนูจะไปคลาสเต้นนะ ที่สตูดิโอนี้” “เดี๋ยวแม่ติดต่อครูสอนร้องเพลงให้หนูนะ” เขาจะบอกเราว่าให้เราทำอะไร แล้วเราเองแหละที่เป็นคนตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ

ไม่ได้บังคับลูกใช่ไหม

ไม่กล้าค่ะ เพราะว่าเขามีความฝันของเขา แล้วเขาก็จะบอกเสมอว่าเขาอยากเป็นอะไร เราไม่อยากทำลายความฝันของเขา คือการเป็นไอดอลน่ะมันยากมากๆ แต่นั่นคือความสุขของเขา เขามีความสุขกับการที่เขาได้เต้น ที่บ้านก็ติดกระจกในห้องนอนเพื่อซ้อมเต้น

หมายความว่าเราก็เคารพความฝันของลูก

ใช่ค่ะ เขาพูดอยู่เรื่อย “แม่ไม่เห็นสนับสนุนหนูเลย” โอ้โห ตอกลิ่มกลางอกแม่ คือเราอาจให้การสนับสนุนเขาไม่เพียงพอเท่าที่เขาต้องการ เขาต้องการเรียนเต้นเยอะกว่านี้ เขาต้องการเรียนแบบตัวต่อตัว เขาต้องการที่จะเรียนร้องเพลงกับครูคนนี้ เรามีญาติเป็นนักร้อง เป็นโปรดิวเซอร์ เราก็ให้เขาเรียนอย่างนี้ค่ะ ก็เลยคิดว่าความต้องการของเขานี่มันพุ่งสูงมาก เด็กวัยนี้ เรารู้สึกว่าโคตรจะมุ่งมั่น

คิดดีๆ แล้วก็เหมือนกับแม่ตอนเด็กไหม

รู้สึกเห็นเวรกรรม เอ๊ย (หัวเราะ) รู้สึกเห็นเงาตัวเอง แต่เป็นเงาของนักเต้น แค่เปลี่ยนฟีลเท่านั้นเอง

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

ส่วนความมุ่งมั่น ความตั้งใจที่จะเอาชนะให้ได้ ยังเหมือนคุณ

เอ่อ ก็คงจะได้เลือดแม่ตรงนี้ไป แค่ไม่ใช่ในรูปแบบกีฬาว่ายน้ำ

ขอถามเรื่องงานบ้างนะ เราก็เห็นคุณอายอยู่ช่อง 7HD มานานมากแล้ว ยังอยากทำต่อ ยังสนุกอยู่ไหม

ยังสนุกอยู่ เป็นคนที่ทำเพราะความสนุกล้วนๆ เลยนะคะตอนนี้ เหมือนกับว่ามันไม่ได้เป็นกิจวัตร เรารู้สึกว่าพอวันนี้ไป สปอร์ตแฟนออนไลน์ เฮ้ย มันแฮปปี้ แล้วเรารู้สึกว่าเรายังมีเอเนอจี้ตลอดเวลาในการทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ ซึ่งมันนานมาก เราอยู่ช่อง 7HD มายี่สิบหกปีแล้ว

คิดว่าตัวเองเป็นสื่อมวลชนอาชีพไหม

โดยอาชีพใช่ค่ะ เริ่มตั้งแต่เป็นผู้สื่อข่าวนี่แหละ ออกไปทำข่าวสังคมทั่วๆ ไป ถือไมค์ กลับมาเขียนข่าว พิมพ์ข่าว ตัดต่อข่าว ทำตั้งแต่เริ่มต้น แล้วก็ออกภาคสนาม ไปทำข่าวต่างประเทศ ไปกับช่างภาพสองคน ไปนั่งลุ้นกับอินเทอร์เน็ตที่เมื่อก่อนต้องต่อโมเด็มลุ้นแล้วลุ้นอีกว่าอย่าหลุดนะเว้ย ไม่ได้หลับไม่ได้นอน เราต้องไปที่วิมเบิลดัน ไปตาม แทมมี่-แทมมารีน ธนสุกาญจน์ แล้วก็ไปกันแค่สองคน ไปอยู่กันหนึ่งเดือน ซึ่งเราก็ไปฝังตัว ตามเขา ทำสกู๊ปทีหนึ่ง สามรายการ สี่รายการต่อหนึ่งวัน

นี่มันคืองานของมืออาชีพ

ก็มันคืออาชีพ เราไม่ได้วัดว่าเราทำดีหรือไม่ดี แต่เราสามารถทำสิ่งที่ถือว่าหนักมากในสมัยนั้น ก็คือผู้หญิงบ้าๆ บอๆ คนหนึ่ง เราไปทำสกู๊ปเด็กของเรา ดนัย อุดมโชค, แทมมารีน ธนสุกาญจน์ แล้วก็เดินทางตลอดเพื่อที่จะได้สกู๊ปมาแล้วก็ส่งข่าวทุกวัน ซึ่งเรารู้สึกว่ามันคือความรักในการทำงาน เราจะทำอะไรต้องโคตรรักน่ะ อย่างตอนที่ไปทำข่าวนักกีฬาวอลเลย์บอลไทย เราจะไปทำกับเขาได้ เราต้องให้ใจ ให้ความเชื่อใจ เราเป็นพี่ เราไปด้วยความหวังดี เฮ้ย หน่อง (ปลื้มจิตร์ ถินขาว) เอางี้ไหม เอาภาพออกมาแนวนี้ไหม มีอะไรที่จะเสนอพี่ไหม หรือ กิ๊ฟ (วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์) กิ๊ฟชอบแบบไหน กิ๊ฟบอกเลย หรือว่า ซาร่า (นุศรา ต้อมคำ) ไม่มีที่เขียนคิ้วเขียนตา เอาของพี่ เดี๋ยวพี่แต่งให้ไหม ซาร่าอยากได้อะไร วันเกิดเราก็ไปหาเค้กมา เดินทางไปนู่นนี่ ทำทุกอย่างเพื่อให้เขาแฮปปี้ เราแฮปปี้ แฟนกีฬาแฮปปี้ แล้วก็เป็นภาพที่ออกมา เราคือคนที่อยู่ในทีมงานของเขา ให้ความรักกับเขา เหมือนทีมเดียวกัน

ทั้งๆ ที่เราเป็นสื่อมวลชน

ใช่ค่ะ แต่คือเขามองข้ามความเป็นสื่อมวลชน โค้ชอ๊อด (เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร) ก็เหมือนเป็นพี่น้องกัน “เฮ้ย พี่ เอายังไง เอาแบบนี้ได้ไหม หนูเข้าไปตรงนี้ได้ไหม” เขาก็ไว้ใจเรา จะเกลียดมากที่เป็นสื่อมวลชนแล้วไปกัดจิก โจมตี แอบด่า หรือว่าอาศัยคนนี้มาด่าคนนี้ ไม่เอา อย่างเรานี่จะชอบให้มันแฮปปี้ ชอบสร้างสรรค์ ชอบเห็นทุกคนยิ้ม หัวเราะ เพราะฉะนั้น สกู๊ปที่เคยทำก็จะออกมาแนวอมยิ้ม ให้เห็นความน่ารักของแหล่งข่าวคนนู้น คนนั้น ซึ่งคือสิ่งที่ทำมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

เราเชื่อว่าทำอะไรก็ต้องให้เขาแฮปปี้ ดูข่าวก็ต้องมีความสุข อมยิ้ม หรือดูรายการ สปอร์ตแฟนออนไลน์ คนดูต้องขำให้ได้ในแต่ละวันน่ะ ไม่ใช่สาดข้อมูล หรือทำให้คนดูต้องมานั่งคิดมาก บ้าสิ เขาทำงานอยู่ เขาจะมานั่งคิดมากอะไร เขาต้องการความบันเทิงก็จะเป็นแนวนี้ สะเก็ดข่าว นี่แบบทำมาสิบสามปีน่ะ บ้าบอไหม

การเป็นนักกีฬามาก่อนหรือว่าอยู่ในวงการนักกีฬามาก่อน ช่วยเรื่องการทำงานสื่อมวลชนทางด้านกีฬาบ้างไหม

มันช่วยมากๆ เราเข้าใจชีวิตเขาด้วยมากกว่าคนที่ไม่เคยมีแบกกราวด์ในวงการกีฬามาก่อน อย่างน้อยคนในวงการกีฬา เขาก็รู้จักเรา เราก็รู้จักเขา ในความสนิท คุ้นเคย ความไว้วางใจ เราก็ได้มากกว่านักข่าวคนอื่นๆ แต่ว่าตรงนี้เราไม่ได้เอาเป็นข้อได้เปรียบนะคะ แต่ว่าเอาเป็นความลึกของข่าว อะไรที่เขาไว้ใจจะบอกเรา ที่เขารู้สึกว่าแบบแฮปปี้กับเรา มันจะไม่เหมือนกับแหล่งข่าวคนอื่นที่มาแบบ “รู้สึกยังไงคะ” อะไรอย่างนี้ 

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

บางครั้งเราไม่ถามอะไรอย่างนั้น เพราะมาถามว่าเรารู้สึกยังไงที่แพ้ เปรต! เราก็ไม่ได้รู้สึกยังไง เราก็เสียใจ เออ ก็แพ้น่ะ เราเคยถูกถามแบบนี้ตอนซีเกมส์ที่สิงคโปร์น่ะ มันเคยชนะมาตลอด แล้วพอมาแพ้เนี่ย ได้คำถามนี้ฟังแล้วอยากตีหัวเลย (หัวเราะ)

งั้นสมมติว่ากลางปีนี้แพ้ ถ้าโดนถามว่ารู้สึกยังไงที่แพ้ คุณจะตอบได้ดีขึ้นกว่าตอนเป็นเด็กไหม

ก็ต้องตอบได้โอเคกว่าค่ะ สมมติว่าแพ้ปั๊บ เรารู้สึกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวคราวหน้าเอาใหม่ แต่ว่าในใจน่ะจะไม่พูดไปทั้งหมดอยู่แล้วไง ในใจมีอีกร้อยคำแต่ไม่พูด แต่ตอนเด็กมันก็เสียใจ ที่ทำได้คือเราต้องร้องไห้ เขาก็จะหนีเราไปเอง สมาคมเขาก็จะพาเราออกไป เรารู้ลิมิตว่าพูดได้แค่ไหน หรืออะไรที่เก็บเอาไว้ในใจ อย่างตัวเองเนี่ยเรื่องการโพสต์ในโซเชียลไม่มีหรอก ไม่มีหรอกชอบไม่ชอบ เกลียดหรือไม่เกลียด เราไม่โพสต์อะไรแบบนั้น

แล้วถูกถามว่ารู้สึกยังไงที่แพ้ ในวันนี้ ในใจจะเหลือสักกี่คำ

อาจจะสี่ห้าคำ “ซ้อมน้อยไปนี่หว่า หยุดเยอะทำไม” คือจะด่าตัวเอง โทษตัวเองมากกว่า

ไม่เหมือนร้อยคำในอดีตเหรอ

ไม่เหมือนค่ะ อันนั้นคือเราเต็มที่กับมัน สิ่งที่แพ้คือโอเค เราอายุเยอะ แต่ตอนเด็กเราคิดไม่ได้ แล้วเราก็โกรธแค้นมากที่เขาเอาโค้ชของเรา อาจารย์โจว ทง เหวิน ซึ่งเราว่ายกับเขามาตลอด แล้วสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ เขามาซื้อตัวไปเลย ไปฝึกให้ โจ สกูลิง (โจสลิน โยว) ซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นกำลังขึ้นมา ซึ่งเราก็ฝังใจว่า “โอ้โห ถ้าอาจารย์โจวอยู่นะ อาจจะไม่แพ้ก็ได้ว่ะ” อะไรอย่างนี้ แต่จริงๆ ไม่หรอก ยังไงก็แพ้เพราะว่าอายุเยอะแล้ว (หัวเราะ)

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

แปลว่าตอนนี้เราเข้าใจเรื่องการแพ้ได้ดีขึ้นหรือเปล่า

มีกลไกในการที่จะคิดได้ดีขึ้น เราก็จะไม่พูดออกไปด้วยอารมณ์ เราจะปลอบใจตัวเองก่อน “อุ๊ย ไม่เป็นไรหรอก แพ้คราวนี้ เดี๋ยวคราวหน้าเอาใหม่ แกก็ซ้อมน้อยเองนี่นา ช่วยไม่ได้” ก็คิดว่าเป็นผู้ใหญ่พอที่จะแสดงออกอะไรที่ต้องมีสปิริต อันนี้นี่คือสำคัญ

นี่คือสิ่งที่อายุให้เรามาหรือเปล่า

ใช่ค่ะ มีวันหนึ่งชนะ อีกวันหนึ่งก็แพ้ “ก็เหมือนตอนที่แกแพ้ที่สิงคโปร์น่ะ วันนั้นแกก็แพ้ วันนี้ก็เหมือนกัน” อะไรอย่างนี้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น

ตอนเป็นเด็กก็จะโทษอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าตอนนี้คิดเรื่องตัวเองว่าเราซ้อมน้อย ว่าเรามีอายุ อะไรต่างๆ

แต่ไม่พูดนะ เราคิดว่าซ้อมน้อย เขาเก่งขึ้น เขาอยากชนะเราอะไรอย่างนี้ ก็ต้องมีความคิดที่มันเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น นี่คือความเปลี่ยนแปลงเนอะ โทษก็น่าจะโทษตัวเอง อาจจะมีเหวี่ยงบ้างแต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าเรารู้สึกยังไง

เป็นนักข่าวกับเป็นนักกีฬา อันไหนใช้วินัยมากกว่ากัน

โอ้โห นักกีฬานะเอาจริงๆ นอกจากวินัยคือความเหนื่อย ทนกับความเหนื่อยในแต่ละวันได้ไหม เพราะซ้อมกีฬา เหนื่อยนี่คือเหนื่อยจะตาย เหนื่อยมาก เหนื่อยมากกกกก (ลากเสียง) เหนื่อยจริงๆ เลย คือถ้าคุณไม่เหนื่อยคุณก็ไม่เก่ง ถ้าคุณไม่เหนื่อยคุณก็ไม่ทน คุณก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ถ้าเป็นนักข่าว ทำงานมันมีตารางของมันอยู่แล้ว ทำงานให้ตายก็ไม่เหนื่อย มันก็แค่เพลีย แต่กีฬาเนี่ยเหนื่อย เหนื่อยมาก

งั้นระหว่างงานกับกีฬา อะไรรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่ากัน

งาน งานคือเราทำงานผ่านสื่อ ซึ่งคนร้อยคน พันคน แสนคน ล้านคนดูในสิ่งที่เรานำเสนอ จะถูกจะผิดไม่ได้ เราต้องอยู่ตรงกลาง ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความคิดเห็นของตัวเอง มีจรรยาบรรณในการทำข่าว เสนอข่าว อันนี้สำคัญมาก ไม่มีการใส่ความคิดเห็นอะไร แม้ว่าในชีวิตประจำวันก็เถอะ ใครจะมีความเห็นเรื่องการเมืองยังไง มีความเห็นเรื่องอะไรยังไง ใครอยากเล่า เราก็หูตั้ง “เอ้าฟัง อะไรนะ ยังไงนะ” ฟังหมด แต่ไม่บอกว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะนั่นทำให้เราไม่มีเกราะกำบัง เราคุยได้กับทุกคน

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่คุณทำเนี่ยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในวัยเดียวกันหรือคนที่อาจจะแก่กว่าเราก็ได้ อย่างไรบ้าง

อยากให้ทุกคนตั้งเป้าหมายในชีวิต ไม่ว่าเราอายุน้อยหรืออายุมาก บางคนแก่แล้วไม่มีเป้าหมายแล้ว ไม่ได้นะคะ เป้าหมายเล็กๆ ที่เราเซ็ตเอาไว้ก็ได้ ไม่งั้นชีวิตเราก็จะเดินทางไปเช้าไปทำงาน เย็นกลับบ้าน เช้าไปทำงาน เย็นกลับบ้าน ถามตัวเองสิว่ามันสนุกหรือเปล่า ถ้ามันไม่มีความท้าทายในชีวิตเลย คุณจะลุกจากที่นอนมาด้วยอาการเฉยๆ แล้วคุณก็จะกลับบ้านเฉยๆ อยากให้มีการเซ็ตเป้าหมายอะไรก็ได้ในชีวิตเล็กๆ เพื่อให้ตื่นเต้นในการทำมันในทุกวัน 

อย่างเช่นเอาง่ายๆ คุณไม่เคยออกกำลังกาย วันนี้คุณหยิบรองเท้าผ้าใบ ชุดกีฬา แล้วคุณก็เดินทางไปสวนสิ ใกล้ๆ น่ะ ไม่เคยวิ่งเลย เอ้า เริ่มจากเดินก่อน ตั้งเป้าหมายว่าหนึ่งเดือน ฉันจะวิ่งได้ต่อเนื่องเป็นเวลาสามสิบนาที ลองตั้งเป้าหมายสิ แล้วเซ็ตเลยวันนี้เราได้เท่าไหร่ เขียนบันทึก ไอ้การทำบันทึกประจำวันของตัวเองเนี่ยมันเป็นการสื่อสารกับตัวเองได้ดีที่สุด 

ของอายทุกวันนี้ อายมีบันทึกการฝึกซ้อมที่ผ่านมาว่าวันนี้เราเป็นยังไง ความรู้สึกเราเป็นยังไง เลยอยากให้ทุกคนสร้างเป้าหมายเล็กๆ ที่เราพอทำได้ แล้วพอสำเร็จปั๊บ มันจะเสพติดละ คราวหน้าเราจะตั้งเป้าให้มากกว่าเดิม แล้วมันก็คือความสำเร็จในชีวิตเล็กๆ ไม่ต้องมาว่ายทีมชาติมาสเตอร์อย่างที่อายทำ ไม่ต้องไปวิ่งมาราธอนก็ได้ ทำอะไรเท่าที่เราทำได้ แล้วแต่ละวัน เราก็จะตื่นขึ้นมาแบบมีความหมาย มันจะนัยน์ตาลุกวาวเลย เอาละวะ เย็นนี้ฉันจะไปสวนรถไฟ ฉันจะไปวิ่งสิบกิโลเมตร ฉันจะว่ายน้ำหนึ่งพันห้าร้อยเมตร สามพันเมตรอะไรอย่างนี้ มันจะมีความสุข ชีวิตเราจะมีความหมาย

ในแต่ละวันที่เราตื่นมาอย่างมีความหมาย

ใช่ค่ะ เราตื่นมาแล้วอยากทำกิจกรรมของเราให้เสร็จ เพื่อไปทำอีกเป้าหมายหนึ่งนอกเหนือจากการทำงาน ไม่ได้บอกว่าทิ้งงานนะ งานคือเราเต็มที่ในพาร์ตหนึ่ง แต่มันจะเป็นอีกความสำเร็จหนึ่งในชีวิตที่งอกขึ้นมา ไอ้ความสำเร็จนี้มันทำให้เรามีร่างกายที่ดี สุขภาพที่ดีแบบเป็นผลพลอยได้ โคตรแฮปปี้เวลาเราแข็งแรง เดินขึ้นบันไดลงบันไดเราไม่เหนื่อย แล้วเพื่อนน่ะหอบแฮ่กๆ รู้สึกว่าฉันชนะน่ะ เราไปไหนแล้วเรายังมีร่างแบบนี้ เพื่อนรุ่นเดียวกันย้วยแล้วน่ะ รุ่นเดียวกันเหรอ อะไรอย่างนี้ มันมีความสุขในชีวิตเรา ซึ่งต้องพิสูจน์ด้วยตัวเราเอง

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

คิดว่าจะว่ายถึงอายุหกสิบปี เจ็ดสิบปี หรือเท่าไหร่

ถ้าร่างกายมันยังไหว เรายังรักษาสภาพไปได้เรื่อยๆ แล้วคิดว่าสิ่งที่เราทำมันมีประโยชน์กับคนอื่นๆ เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ได้ เราก็อยากจะทำมันต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่ไหวน่ะค่ะ เพราะว่าที่ไปเนี่ย ก็จะมีคุณยายอายุเจ็ดสิบถึงแปดสิบปีที่เคยถ่ายรูปด้วยกัน ก็ “หวัดดี เป็นยังไง” (ทำเสียงคนแก่) แล้วไปคัดตัวทีมชาติจะไปอาเซียนมาสเตอร์ด้วย เราแบบ…ย๊าย (หัวเราะ) ยายเป็นแรงบันดาลใจให้เราเหมือนกันนะว่าเราไปได้ด้วยร่างแบบนี้เลยนะ เอาวะ ถ้ายายไหว เราก็ไหว ถ้าถึงวัยนั้นเราก็คงว่ายเอาสนุกๆ แล้วล่ะ เรื่องสถิติ เรื่อง New PB คงไม่เกี่ยวแล้ว ขอแค่เราได้ยังออกกำลังกายต่อเนื่องอยู่ นั่นสำคัญที่สุด คือการออกกำลังกายมันสำคัญกับทุกคน ต้องออก ไม่ใช่ไปเรื่อยๆ แต่ละวัน แล้วถึงเวลาเป็นไง ตรวจสุขภาพ เบาหวาน ความดันมาว่ะ

ตอนนี้คุณมีปัญหาเรื่องนั้นไหม

ไม่มีเลยค่ะ ผลการตรวจสุขภาพดีเลิศค่ะ ทั้งๆ ที่อายุประมาณนี้ต้องมีอะไรบางอย่างบ้างแล้ว แต่ไม่มีเลยค่ะ ไขมันดี ก็โอ้โห โคตรดี ไขมันเลวก็หาย เลเวลดีมากๆ หมอยังงง ไม่เคยเห็นใครต่ำกว่าร้อย เพราะเราดูแลตัวเองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้แม่บ้านจะจัดข้าวมาให้ เราบอกเขานะว่าเราเอาอกไก่ ไรซ์เบอรี่นิดหน่อยนะ สลัดโบลว์หนึ่ง แล้วก็ผักปั่น แล้วก็กาแฟแบบไม่มีน้ำตาล เขาจัดมาใส่รถให้เราทุกวัน นี่คือเมนูที่เรากินแล้วเรารู้สึกว่าไม่ได้โหยหาอาหารข้าวแกงเหมือนเพื่อน เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เราใส่ในร่างกายเราคือสิ่งที่ดี อาจจะมีบ้างที่ออกนอกลู่นอกทาง แต่ ณ วันนั้นคือแกต้องคาร์ดิโอสักชั่วโมงหนึ่งนะเว้ย ขนมก็ยังกิน ยังอะไรได้ แต่ขอให้อาหารหลักเราก็คืออาหารคลีนและอาหารที่ดีที่สุด อัลมอนด์เราก็ใส่ปากไป เพราะมันคือสิ่งที่ดีเข้าร่างกายเราค่ะ

การกลับคืนสังเวียนทีมชาติในรอบ 22 ปีของเงือกสาวราชินีแห่งอาเซียน อาย ศรสวรรค์

ขอบคุณสถานที่ : Stage Find The Real U

Writer

Avatar

จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

บรรณาธิการ นักเขียน นักแปล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล