สวัสดีค่ะ ฉันชื่อฟ้าใส เป็นหญิงสาวที่เรียกชื่อเล่นของ สรกล อดุลยานนท์ หรือ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ว่าพ่อค่ะ

ถ้าคุณคลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ ฉันคิดว่าคุณคงเคยเห็นผลงานเขียนของพ่อมาบ้าง อาจเป็นคอลัมน์ ‘ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ’ คอลัมน์การเมืองอย่าง ‘Xคลูซีฟ’ หรือหนังสือประวัติบุคคลอย่าง ทักษิณ ชินวัตร อัศวินคลื่นลูกที่สาม และ ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน “ตัน โออิชิ” 

บันทึกชีวิต ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ด้วยตัวอักษรของลูกสาว

ผลงานของพ่อที่ทุกคนรู้จักกันตลอดหลายสิบปีคือสิ่งที่อยู่หน้าบ้าน ส่วนฉันคือคนที่อยู่หลังบ้านค่ะ เคยไปนั่งเล่นแถวโต๊ะทำงานพ่อที่บริษัทมติชนมาบ้าง ได้เห็นพ่อเดินบ่นว่าคิดชื่อหนังสือไม่ออกตอนใกล้งานหนังสือ และปั่นต้นฉบับหนีเดดไลน์อยู่บ่อยๆ 

ในวันนี้ ถึงเวลาที่ฉันโตพอจะนั่งลง ณ โต๊ะทำงานตัวเอง แล้วบันทึกช่วงเวลาเหล่านั้นไว้ค่ะ

มีเรื่องราวมากมาย ทั้งเรื่องที่เคยและไม่เคยรู้ รวมถึงหลายเรื่องที่ได้รู้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม 

ฉันสนุกมากที่ได้จดบันทึกชิ้นนี้

หวังว่าคุณจะรื่นรมย์กับการอ่านนะคะ

01 

พ่อเป็นลูกของนักอ่าน

สมัยปู่ยังอยู่ ฉันมักได้เจอปู่ตอนกลับไปจันทบุรีช่วงงานเช็งเม้งประจำปี ปู่จะนั่งอยู่ในห้องนอนที่ชั้นสองของบ้าน ภายในห้องนอกจากเตียงและโทรทัศน์ ยังมีหนังสือกองอยู่เป็นตั้งสูง

เมื่อลองทวนเข็มนาฬิกากลับไป ฉันพบว่าปู่เป็นอย่างนั้นก่อนฉันเกิดเสียอีก 

พ่อเล่าให้ฟังว่าปู่เป็นนักอ่านตัวยง สมัยเด็กๆ ที่บ้านพ่อเลยเต็มไปด้วยหนังสือ ตั้งแต่เหล่าพ็อกเก็ตบุ๊กปกแข็งที่มีหนึ่งในส่วนประกอบหลักคือนิยายกำลังภายใน จนถึงหนังสือพิมพ์และนิตยสารอย่าง มติชนสุดสัปดาห์ ที่พ่อบอกว่าปู่เป็นสมาชิกมาตั้งแต่เล่มแรก

ถ้ามองหนังสือในฐานะสิ่งที่ไม่ใช่ปัจจัยสี่ และเทียบกับฐานะครอบครัวพ่อในวันนั้นที่ไม่ดีนัก นับได้ว่าปู่ลงทุนกับสิ่งนี้อย่างจริงจัง และเพราะอย่างนั้น แม้ไม่เคยสอนเป็นคำพูด ลูกๆ ก็กลายเป็นหนอนตัวอ้วนตามรอยปู่ 

ซึ่งเมื่อย้อนมองกลับไป ความเป็นนักอ่านของปู่สะท้อนถึงการเป็นคนสนใจโลกรอบตัวเสมอ 

พ่อเองก็มีคุณสมบัตินี้อยู่เต็มๆ 

นอกจากนั้น เมื่อความเป็นนักอ่านเต็มเปี่ยม มันก็ขยายวงกว้างมาสู่การลงมือเขียน 

จากที่ฉันเคยแอบเห็นว่าปู่เขียนจดหมายรักถึงย่าอย่างแสนน่ารัก เมื่อถึงรุ่นลูก พ่อและพี่น้องในวัยเด็กก็รวมตัวกันทำหนังสือทำมือแบบเขียนเองอ่านเองในชื่อ ‘อดุลยา’ พอโตขึ้น พี่น้องของพ่อยังกลายเป็นนักเขียนเต็มตัว อาทิ คุณลุงคนโตสุดของฉันที่ถึงขั้นเคยเป็นนักเขียนมีนิยายลงเป็นรายเดือน 

ส่วนพ่อก็รู้ตัวว่าพอจะเขียนหนังสือได้ แต่ไม่ได้สนใจจนลงมือทำจริงจังเหมือนพี่น้อง 

“ไม่มีความใฝ่ฝันว่าจะเป็นนักเขียนเลย แต่รู้ว่าเขียนได้ จำได้ว่าหนังสือเฟรนด์ชิปตอนมัธยมปลาย มีเพื่อนเขียนบอกพ่อว่า จะไม่แปลกใจเลยถ้าพ่อจะเป็นนักเขียน” พ่อย้อนเล่าความทรงจำ 

ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะนั่งขีดเขียนเรื่องลงกระดาษ เราจึงพบเด็กชายสรกลวิ่งไปเตะบอลกับเพื่อนฝูงแทน

แน่นอนว่า สุดท้ายเราจะได้เห็นพ่อนั่งเขียนงานยาวนานเป็น 10 ปี แต่นั่นเป็นเรื่องราวหลังจากนั้น

ต้องมาคั่นฉากกันก่อนด้วยอีกส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของพ่อ

บันทึกชีวิต ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ด้วยตัวอักษรของลูกสาว

02

พ่อเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

แม้ฉันจะเลือกเรียนที่อื่น แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นสถานที่พิเศษเสมอ เพราะมันบรรจุความทรงจำของพ่อและแม่ที่เป็นหนุ่มสาวธรรมศาสตร์ทั้งคู่เอาไว้ 

ขณะที่แม่เป็นสาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด พ่อคือหนุ่มเมืองจันท์ที่เข้าเมืองหลวงมาเพราะเลือกเรียนธรรมศาสตร์โดยตั้งใจ โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 

พ่อมักเล่าเสมอเรื่องพลังการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล เพราะตอนนั้นสื่อไม่ได้หลากหลาย มีเสรีภาพเท่าวันนี้ จนทำให้พ่อรู้สึกดีใจเมื่อได้ยินว่านักศึกษาโดนปราบ

มารู้ความจริงเอาภายหลัง เมื่อพี่ชายคนโตของพ่อที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยมหิดลกลับมาบ้าน พร้อมเรื่องราวอีกด้าน หนังสือและอัลบั้มวงประกายดาวซึ่งเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตของนักศึกษามหิดล หลังจากวันนั้น พ่อที่สนใจบ้านเมืองเป็นทุนจึงมองธรรมศาสตร์ด้วยสายตาใหม่ และเลือกสอบเอนทรานซ์เข้าที่นี่อย่างไม่ลังเล

แล้วก็ไม่ผิดหวัง

“บรรยากาศอบอุ่นแบบที่ใฝ่ฝันไว้ว่า ธรรมศาสตร์คือดินแดนแห่งประชาธิปไตย ดินแดนแห่งเรื่องการเมือง เรื่องความเท่าเทียม” พ่อเล่าถึงหนึ่งในช่วงดีที่สุดของชีวิต 

วันเวลานั้นเป็นยุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ประมาณ 5 ปี พ่อในฐานะนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้มีโอกาสสนทนากับรุ่นพี่ผู้มีประสบการณ์ตรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ได้เห็นว่าอุโมงค์ลับที่ร่ำลือกันแท้จริงเป็นเพียงท่อระบายน้ำ รวมถึงได้โดดไปร่วมทำกิจกรรมซึ่งยังกรุ่นกลิ่นอายสังคมการเมือง 

พ่อนั่งเล่นหมากรุกใต้คณะ วิ่งเตะบอลกับเพื่อน ไปพร้อมๆ กับเป็นประธานคณะ แล้วไปต่อที่ตำแหน่งอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้หัดจัดม็อบรวมมวลชน รวมถึงร่วมจัดกิจกรรมสำคัญอย่างงานรำลึก 6 ตุลาฯ 

แม้ชื่อของธรรมศาสตร์จะถูกตัดคำว่าการเมืองออกไปนานแล้ว แต่พลังของที่แห่งนี้ยังเข้มขลัง ช่วยรดน้ำให้ความสนใจบ้านเมืองของพ่อทั้งหยั่งรากลึกและแตกกิ่งก้านงอกงาม 

“พ่ออยู่ธรรมศาสตร์สี่ปี มุมคิดการเมืองชัดเจน เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะวิเคราะห์หรือมีจุดยืนทางการเมือง มันก็ชัดเจน พ่อไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบเลวร้ายน้อยที่สุด และการเลือกตั้งคือกระบวนเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดในการเลือกว่า คนส่วนใหญ่เห็นว่าจะให้ใครบริหารประเทศ”

ขณะเดียวกัน พลังการรวมตัวของหนุ่มสาวก็ช่วยลับมิติความคิดให้พ่อ

บันทึกชีวิต ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ด้วยตัวอักษรของลูกสาว

“กิจกรรมนักศึกษาทำให้บางทีตอนดึกๆ เรานั่งคุยกันในเรื่องที่ไม่ใช่งาน คุยเรื่องชีวิตคืออะไร มนุษย์คืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องกึ่งนามธรรมที่ถกเถียงกันอย่างหนักแต่นำไปสู่ปัญญา ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ดีมาก และเป็นช่วงที่ควรต้องคุยถึงสิ่งเหล่านั้น”

 หากชีวิตคือเส้นทางทอดยาวและประกอบสร้างขึ้นด้วยชิ้นส่วนมากมาย ช่วงเวลาในธรรมศาสตร์ก็คือหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญ แม้ไม่ใช่ช่วงผลิตผลงาน แต่ทรงพลังในฐานะรากอีกเส้นที่ช่วยให้พ่อเป็นพ่อทุกวันนี้ 

ก่อนที่เมื่อเวลา 4 ปีสิ้นสุดลง พ่อจะเดินออกจากมหาวิทยาลัยไปสู่จิ๊กซอว์อีกชิ้นสำคัญ

นั่นคือการเข้าสู่โลกหนังสือพิมพ์

03

พ่อเป็นนักข่าว

ฉันรู้ว่าพ่อเป็นนักข่าว ไม่ใช่เพราะเห็นตำแหน่งใดบนนามบัตร แต่รู้สึกได้

เวลาอยู่บ้าน วันไหนเกิดเหตุการณ์สำคัญ บ้านเราแทบเปลี่ยนร่างเป็นสำนักสื่อ เพราะพ่อเล่นตามข่าวจากทุกช่องแบบไม่ยอมคลาดสายตา และทั้งที่ลาออกจากการเป็นสื่อมาหลายปี พ่อก็ยังไปร่วมกินข้าว คุยเรื่องข่าวกับเพื่อนพี่น้องตระกูล มติชนสุดสัปดาห์ ทุกอาทิตย์

“พ่อคิดว่านักข่าวคือความอยากรู้อยากเห็น เวลาคุยเรื่องหนึ่งแล้วอยากรู้ว่าทำไมทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้เพราะอะไร พอรู้สึกว่า เฮ้ย เรื่องนี้น่าสนใจ ไม่เคยรู้เบื้องหลังเรื่องนี้ เรดาร์จะจับทันทีเลย” พ่ออธิบายถึงสิ่งที่เป็นเนื้อเป็นตัว

เพราะอย่างนั้น ไม่น่าแปลกใจที่ตอนพ่อเรียนจบ แล้วได้เริ่มงานแรกที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ บัณฑิตหนุ่มคนนั้นจะเมามันกับงานหนักระดับทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์เป็นที่สุด 

 “ตอนนั้นพ่อจบมาใหม่ๆ ห้าวน่ะ เป็นช่วงหนุ่มที่งานเยอะ ออกไปทำข่าวเสร็จกลับมาพิมพ์ข่าว ตอนเย็นลงไปเตะบอล ขึ้นมาพิมพ์ข่าวต่อ เสร็จแล้วก็ไปกินข้าวต้มโดยยังคุยกันเรื่องข่าวอยู่ กลับมาพิมพ์ข่าวต่อ แล้วก็นอนค้างโรงพิมพ์ด้วยการเอาเก้าอี้มาต่อกัน ตื่นเช้ามาก็ไปอาบน้ำ ชงกาแฟ แล้วก็มานั่งพิมพ์งานต่อ ชีวิตอยู่กับงานแบบนี้ มันสนุก” พ่อเล่าเรื่องตัวเองในวัย 20 ต้น

ไม่ใช่แค่ได้ทำงานข่าวที่ชอบ พ่อยังสนุกมากเวลาได้โจทย์ใหม่มาให้รับมือ หนึ่งในเรื่องที่พ่อมักเล่าเป็นกรณีศึกษา คือ การเขียนสกู๊ปใหญ่ขนาด 2 หน้าหนังสือพิมพ์ช่วงวันหยุดยาว (ตัวช่วยช่วงโฆษณาน้อยแล้วหน้ากระดาษเหลือเยอะ) ซึ่งพ่อชอบหาวิธีเล่าแบบใหม่ๆ ให้คนอ่านงานเขียนยาวและเยอะจนจบ 

“เวลาเขาให้งานกลางๆ มา มันมีอยู่สองอย่างที่เราคิดได้คือ หนึ่ง โยนงาน กับสอง โอกาสในการเรียนรู้” พ่อพูดถึงวิธีคิด “ถ้าคิดว่าโยนงาน เราจะตั้งการ์ดแล้วรู้สึกว่าทำไมพี่ไม่ให้คนนั้นไป แต่ถ้าคิดว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้ เราจะคิดว่ามันคือโอกาสได้เขียน ดีไม่ดีก็ได้ลอง บางเรื่องที่ไม่ค่อยรู้เรื่องก็จะได้ค้นข้อมูลแล้วได้ความรู้เพิ่ม” 

การเปิดรับโอกาสนำไปสู่ประตูบานใหม่ จากสกู๊ปชิ้นแรก พ่อได้เขียนชิ้นต่อๆ ไป แล้วสุดท้าย สกู๊ปเหล่านั้นก็ไปผ่านตา เสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการบริหาร มติชนสุดสัปดาห์ ในขณะนั้นที่กำลังมองหาเรื่องธุรกิจมาใส่ในเล่ม 

พี่เสถียรถามพ่อว่า ถ้าจะเขียนประวัตินักธุรกิจรุ่นใหม่ มีใครน่าสนใจ

พ่อเอ่ยชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ 

และนี่คือต้นกำเนิดซีรีส์ประวัติทักษิณ ชินวัตร ในหนังสือ มติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งผสมผสานระหว่างเขียนใหม่จากการค้นข้อมูลเก่าและการคุยเพิ่มอีกเล็กน้อย 

ซีรีส์ที่กลายเป็นหนังสือเล่มแรกของสรกล อดุลยานนท์

04

พ่อเป็นคนเขียนหนังสือ

ทักษิณ ชินวัตร อัศวินคลื่นลูกที่สาม คือชื่อเต็มของหนังสือเล่มนั้น 

แม้มีหนังสือมาแล้วหลายสิบเล่ม แต่พ่อยังจดจำความตื่นเต้นของการพิมพ์ครั้งที่หนึ่งได้ และเล่าว่าตอนหนังสือเล่มนี้ออกมาก็มียอดขายน่าชื่นใจ เพราะจังหวะเหมาะเจาะกับการที่คุณทักษิณเป็นดาวรุ่งในวงธุรกิจ อีกทั้งยังกลับมาขายดีในหลายปีให้หลังเมื่อนักธุรกิจคนนี้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

บันทึกชีวิต ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ด้วยตัวอักษรของลูกสาว

ขณะฉันที่ซึ่งหยิบหนังสือมาดูได้พบความตื่นเต้นอีกแบบ เพราะที่หน้าคำอุทิศ มีชื่อแม่และฉันอยู่ตรงนั้น

“นก-ฟ้าใส” ผู้เป็นพลังแห่งชีวิต

“เป็นพลังจริงๆ” พ่อที่นั่งอยู่ตรงข้ามยืนยัน “คนที่เป็นพ่อแม่ก็อย่างนี้แหละ พอมีลูก เรารู้สึกว่ามีเป้าหมายในชีวิต ไม่อย่างนั้นก็อาจคิดถึงแค่ชีวิตเราสองคน พอมีคนคนหนึ่งที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มันก็ต้องทำอะไรเพื่อสิ่งเหล่านี้” 

แล้วจากวันของการพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ่อก็มีโอกาสเขียนประวัติบุคคลอีกหลายเล่ม เล่มที่ฉันชอบเป็นพิเศษคือ ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน “ตัน โออิชิ” ที่พ่อได้สัมภาษณ์คุณตันแบบลงลึกจนตัดสินใจเลือกเล่าจากมุมคุณตันไปเลย แทนที่จะเล่าจากสายตาคนนอก และเป็นงานเขียนที่ตกผลึกวิธีเล่าแล้ว

บันทึกชีวิต ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ด้วยตัวอักษรของลูกสาว

“เล่มนี้ถือว่าเขียนดี ได้ประมวลกระบวนท่าทั้งหลายมา ทั้งเรื่องการวางโครงเรื่อง ประสบการณ์ในการสัมภาษณ์ที่เก๋าขึ้น รวมถึงวิธีที่เราเคยเขียนสกู๊ปสองหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์แล้วทำให้คนอ่านติดตามได้ เช่น ช่วงไหนควรเป็นล้อมกรอบ ช่วงไหนควรเป็นบทสัมภาษณ์ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น” พ่อทบทวนให้ฟัง

และแน่นอน เรื่องราวคุณทักษิณจากตัวอักษรของพ่อไม่ได้แค่พาพ่อเดินต่อบนทางสายประวัติบุคคล แต่ยังเปิดทางสายสำคัญอีกเส้น เมื่อพี่เสถียรชวนพ่อเปิดคอลัมน์เล่าเรื่องธุรกิจแบบง่ายๆ ใน มติชนสุดสัปดาห์

‘ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ’ และ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ จึงมีโอกาสลืมตาดูโลก มาเคียงคู่กับชื่อ ‘สรกล อดุลยานนท์’ ที่เล่าเรื่องการเมืองและธุรกิจแบบลงลึก 

บันทึกชีวิต ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ด้วยตัวอักษรของลูกสาว

จากการโฟกัสเรื่องธุรกิจย่อยง่ายเพื่อตอบโจทย์หนังสือที่มีกลุ่มเป้าหมายคือปัญญาชนท้องถิ่น (พี่เสถียรเปรียบไว้เห็นภาพว่าคือผู้อำนวยการโรงเรียนที่ยโสธร) ผสมกับโจ๊กตลกซึ่งพ่อชอบ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจคลี่คลายเป็นพื้นที่ซึ่งพ่อใช้นั่งคุยสบายๆ กับคนอ่าน โดยคง 3 ดีเอ็นเอหลักไว้ คือ ธุรกิจแบบง่ายๆ แรงบันดาลใจ และอารมณ์ขัน เมื่อคุณเปิดอ่านคอลัมน์นี้ จึงเป็นไปได้ที่จะเจอหนังสนุกที่พ่ออยากชวนดู หรือบางทีก็เจอวีรกรรมลูกที่พ่อแอบหยิบมาเม้า

ฟาสต์ฟู้ดฯ จะแวะเวียนมาพบผู้อ่านบนหน้ากระดาษทุกวันอังคาร รู้อีกที แต่ละสัปดาห์ก็เลยผ่าน กลายเป็นเวลายาวนานเกินกว่า 20 ปี 

“มีบางวันที่ตัน แต่ไม่มีความรู้สึกว่าจะเลิกเขียน เพราะยังมีเรื่องเล่าอยู่” พ่อบอกฉัน “แล้วมันเหมือนคุยกับเพื่อนที่เจอกันทุกสัปดาห์ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดว่าต้องคมที่สุด ดีที่สุด มันเป็นเรื่องเล่าของอาทิตย์นั้น พ่อชอบคำของพี่ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ที่บอกว่า งานเขียนเขามีมาตรฐานอยู่ระดับหนึ่ง เขาเขียนไม่ต่ำกว่ามาตรฐานนี้แน่นอน แต่จะสูงกว่าแค่ไหนไม่รู้ หรือจะเท่ากับมาตรฐานก็โอเค พ่อก็เหมือนกัน มีมาตรฐานระดับหนึ่ง คือเขียนแล้วอ่านรู้เรื่องและได้อะไรบางอย่าง 

“แต่เวลารวมเล่มอีกเรื่องนะ มาตรฐานสูง เพราะการเขียนลงคอลัมน์มันขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ เวลารีไรต์ เราต้องนึกว่าเรื่องนี้อาจจะอ่านในอีกหกเดือน บางเรื่องก็ต้องตัดทิ้งไปเลย”

อย่างไรก็ตาม พ่อที่ได้เขียนงานลงนิตยสารซึ่งตัวเองอ่านมาแต่เล่มแรก แถมยืนระยะได้ยาว ก็ยังไม่ค่อยอยากเรียกตัวเองว่านักเขียน

“พ่อรู้สึกว่างานตัวเองไม่ได้ลึกซึ้งลุ่มลึก ไม่ใช่นิยาย เป็นการเล่าเรื่องธรรมดาเท่านั้นเอง สมัยก่อนพ่อจะใช้คำเรียกตัวเองว่าเป็นแค่คนเขียนหนังสือ เวลาใครเรียกนักเขียนมันจะเขินๆ” พ่อบอกฉัน

แต่บางที คำเรียกขานอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญขนาดนั้น เมื่อตั้งใจทำไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดพ่อก็เขียนหนังสือมาแล้วมากกว่า 30 เล่ม (เฉพาะ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ คือ 32 เล่ม) ได้พบเรื่องประทับใจจากผู้อ่านมากมาย อีกทั้งงานเขียนยังพาพ่อต่อยอดไปทำสิ่งอื่นอีกหลากหลาย อาทิ รายการ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ที่เคยออกอากาศทางช่อง Workpoint TV และพอดแคสต์ THE POWER GAME

และเมื่อตั้งใจทำไปเรื่อยๆ พ่อก็เป็นคนเขียนหนังสือมาถึงปีที่ 58 ของชีวิต 

พร้อมกับที่โลกเข้าสู่ปี 2021 และหมุนเร็วขึ้นทุกที

บันทึกชีวิต ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ด้วยตัวอักษรของลูกสาว
บันทึกชีวิต ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ด้วยตัวอักษรของลูกสาว

05

พ่อเป็นคนมีความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่

ขณะที่ยังคงพบปะผู้อ่านในหน้าฟาสต์ฟู้ดธุรกิจสม่ำเสมอ วันสองวันก่อน พ่อเพิ่งมาถามฉันถึงเรื่อง Reach กับ Engagement ของเฟซบุ๊ก เพราะพ่อมีแฟนเพจที่เอาไว้โพสต์เล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้คนอ่านฟัง 

ส่วนเมื่อวาน พ่อเพิ่งทดลองเข้าไปแจมในแอปพลิเคชัน Clubhouse ที่ชักฮอตขึ้นเรื่อยๆ (เร็วๆ นี้คุณอาจเจอพ่อเปิดห้องของตัวเองทดแทน THE POWER GAME ที่จบซีซั่นไปแล้วก็ได้)

ในปี 2021 ที่โลกแห่งการสื่อสารผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง และยังมีคลื่นลูกใหม่ซัดมาไม่ขาดสาย ฉันเห็นพ่อยังคงสนุกกับการมองหาช่องทางเล่าเรื่องที่อยากเล่า ไม่ต่างจากนักข่าวหนุ่มคนนั้นที่เฝ้าครุ่นคิดว่าจะเล่าเรื่องใส่ 2 หน้ากระดาษหนังสือพิมพ์อย่างไรดี

 “ถ้าเรายังอยากนำเสนอความคิดต่อเรื่องต่างๆ อยู่ เหมือนการเป็นนักข่าว เป็นคอลัมนิสต์ แล้วโลกวันนี้ยังมีช่องทางให้เราเสนอความคิด แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” พ่อกล่าวเรียบง่าย

เมื่อละสายตาจากการสื่อสารกับผู้อ่าน คุณจะพบพ่อเปิดประตู เดินออกไปนอกบ้าน รดน้ำสารพัดต้นไม้อย่างตั้งอกตั้งใจ

“แก่แล้วนิ่งขึ้น ไม่ตื่นเต้นกับอะไรมาก ตื่นเต้นกับต้นไม้มากกว่าแล้ว บางทีเห็นต้นโมกที่ใบร่วงอยู่ ลองให้ปุ๋ยให้น้ำมัน สามสี่วัน เฮ้ย ใบออก ดีจังเลย” นักทดลองที่มีแล็บเป็นสวนหน้าบ้านบอกฉัน 

อาจกล่าวได้ว่า พ่อที่วันนี้ลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์หลายปีแล้วได้ผ่อนฝีเท้าลง สังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ถ้ามีเรื่องใหม่น่าสนใจก็ยังพร้อมกระโดดเข้าไปสนุกกับมัน 

อาจพูดได้อีกอย่างคือ ไม่ว่าชีวิตจะเคลื่อนไปสู่จุดไหน เป็นจุดที่ต้องเจออะไร พ่อก็ยังคงยืนอยู่ได้อย่างรื่นรมย์

“ชีวิตที่ผ่านมา พ่อชอบที่ตัวเองปรับตัวได้กับทุกช่วงเวลา จะให้เป็นอะไรก็หาความสุขได้เสมอ พ่อเคยบอกน้องหลายคนที่มีปัญหาเรื่องงานว่า มันเหมือนนักฟุตบอล เวลาลงสนามก็มีความสุขกับเกมให้มากที่สุด ส่วนวันโดนให้พักอยู่ข้างนอกก็ให้มีความสุขในฐานะคนดู อยู่ในร่มเงา ไม่ร้อน อยู่กลางสนาม ร้อนแต่ได้เล่น อยู่ในจุดไหน หาความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่ให้เจอ” พ่อบอก แล้วหัวเราะเมื่อโดนฉันบ่นว่าโฆษณาผลงาน

“เวลาเซ็นหนังสือ ความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่ พ่อเขียนว่า จุดหลายจุดรวมกันเป็นเส้น เส้นทางแห่งความสุข ถ้าคุณมีความสุขครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ยังไงมันนำพาคุณสู่ชีวิตที่มีความสุขแน่นอน”

บันทึกชีวิต ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ด้วยตัวอักษรของลูกสาว
บันทึกชีวิต ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ด้วยตัวอักษรของลูกสาว

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล