‘เรือนไทยสวย ต้อง ส.รวยเจริญ’ ไม่ใช่สโลแกนที่ตั้งขึ้นสวยๆ เพื่อโฆษณา แต่เป็นคำพูดจริงจากลูกค้ามากหน้าหลายตาที่เลือกใช้บริการรับสร้างเรือนไทยของที่นี่

The Cloud มีนัดกับ สุชญา สุขรวยเจริญ ทายาทรุ่นสองของกิจการรับสร้างเรือนไทยนาม ส.รวยเจริญ ที่ต้อนรับเราอยู่หน้าเรือนไทยโบราณทรงงามอันเป็นที่อยู่อาศัยของเธอ พร้อมชี้ชวนให้ดูโรงงานที่อยู่ข้างกัน 

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

จากแม่ค้าในเรือที่ฝันอยากมีเรือนไทยหลังงามสักหลังให้ลูกอยู่ สู่การเป็นกูรูและมือหนึ่งด้านเรือนไทยโดยปราศจากความรู้ทางสถาปัตยกรรม แต่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์และความรักในเรือนไทย จนคนทั้งไทยและเทศให้การยอมรับ

ส.รวยเจริญ เจริญเรื่อยมา จนเดินทางมาอยู่ในมือของทายาทรุ่นสองอย่างสุชญาได้เกือบสิบปี เธอออกจากการเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขณะพี่น้องคนอื่นได้เรียนต่อ เพราะบางสิ่งในตัวลูกคนที่ 3 อย่างเธอทำให้แม่ลูกหกอย่างคุณแม่สำรวยผู้บุกเบิกกิจการ เลือกให้เธอพร้อมรับไม้ต่อ

อาชีพนักค้าเรือนไทยและเรือนไทยแบบโบราณเป็นอย่างไร เหตุใดคนที่ไม่มีความรู้ทางสถาปัตยกรรมจึงบุกเบิกกิจการสร้างเรือนไทยได้ ทายาทรุ่นที่สองรับไม้ต่อและพร้อมส่งไม้ผลัดนี้ให้ทายาทรุ่นต่อไปอย่างไร 

ค่อยๆ ขึ้นจากเรือ ย่องขึ้นเรือนเบาๆ แล้วไปรับชมกัน

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ


บริษัท : ส.รวยเจริญ บ้านทรงไทย
ประเภทธุรกิจ : รับปรึกษาและสร้างบ้านเรือนไทย
อายุ : 44 ปี
ผู้ก่อตั้ง : สำรวย สุขรวยเจริญ
ทายาทรุ่นสอง : สุชญา สุขรวยเจริญ

จากความฝันที่อยากมีเรือนอยู่อาศัย สู่อาชีพนักค้าเรือนไทยคนแรกๆ 

ย้อนกลับไปก่อน พ.ศ. 2518 คุณแม่สำรวยและสามีประกอบอาชีพค้าขาย ทั้งผัก ผลไม้ อิฐ และสารพัดสิ่งจำเป็นในชีวิตเพื่อเลี้ยงลูกทั้งหกคน เพราะความยากจนจึงมีเรือเป็นทั้งพาหนะเดินทาง ที่ทำมาหากิน และที่อยู่อาศัย แต่ไม่ว่าจะล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปขายค้าที่ใด คุณแม่สำรวยก็ไม่เคยละสายตาไปจากเรือนไทยทรงงามที่เรียงรายอยู่ริมน้ำได้สักครา 

เวลาไปขายของก็มองข้างทางตลอด คิดว่าเรือนไทยนี่สวยนะ มีเสน่ห์ อยากได้สักหลัง” ขณะจับเข่าคุยกันในเรือนไทยสมัยปัจจุบัน คุณแม่สำรวยก็เล่าถึงความทรงจำที่มีต่อบ้านเรือนไทยสมัยอดีตให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

คุณแม่และสุชญาสลับกันเล่าเรื่องครั้งอดีตให้เราฟังต่อว่า หลังจากคุณแม่และสามีเลิกรากัน ลูกทั้งหกก็กระจัดพลัดพรายไปอาศัยตามบ้านญาติหลังละคนสองคน คุณแม่ตั้งใจทำงานหาเงินหนักกว่าเดิมเพราะหวังปลูกบ้านให้ลูกทั้งหกได้อยู่ 

วันหนึ่งหลังล่องเรือไปขายของที่จังหวัดนครสวรรค์ ก็ได้เรือนไทยเรือนย่อมกลับมากองไว้ที่บ้านพี่สาว หวังปลูกให้ลูกอยู่ แต่เมื่อคนแถวนั้นเห็นว่าเป็นเรือนร้างที่ยังสภาพดี จึงขอซื้อต่อไปปลูกเอง

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

“เราซื้อมาสี่พันบาท เขาขอซื้อต่อแปดพันบาท เราก็ขายเพราะเงินจำนวนเท่านั้นก็ถือว่าเยอะมากแล้ว” สุชญาเล่าเเล้วเสริมต่อว่า เมื่อคุณแม่ส่งต่อเรือนหลังแรกให้คนอื่น จึงต้องเสาะหาเรือนใหม่มากองไว้รอสร้าง แต่ก็จบลงเช่นเดิม คือมีคนมาขอซื้อ เมื่อเห็นว่ากิจการค้าเรือนไทยน่าจะไปได้ดี คุณแม่จึงหันมาจับอาชีพนี้เป็นหลัก และอาจถือได้ว่าคุณแม่สำรวยเป็นนักค้าเรือนไทยคนแรกๆ ของประเทศเลยทีเดียว

การค้าเรือนไทยเริ่มจากการเสาะหาเรือนเก่าเองและให้นายหน้าช่วยประกาศซื้อขาย เพราะเรือนไทยนั้นถอดและปรุงขึ้นใหม่ได้ 

เมื่อถอดและล้างทำความสะอาดเรียบร้อยก็ล่องเรือพร้อมส่งต่อ เรือนไทยทางภาคกลางตอนบน เช่น ชัยนาท นครสวรรค์ มีทรงเตี้ย ฝาเรือนไม่ติดกันสาด ทำให้ฝาเรือนผุง่ายกว่า ส่วนทางภาคกลางตอนล่าง โดยเฉพาะเรือนพระทรงใหญ่ของสุพรรณบุรีและเรือนนางทรงอ่อนช้อยของอยุธยามีทรงที่สูงกว่า 

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

ทำอาชีพค้าเรือนไทยเป็นล่ำเป็นสันได้ขนาดนี้ เราจึงสงสัยว่าทำไมคนสมัยนั้นถึงขายเรือนทิ้ง คุณแม่ตอบว่า

“เขาก็ต้องการเงินไปใช้หนี้บ้าง เพราะเห็นว่าบ้านปูนสวยและทันสมัยกว่าบ้าง บางรายก็กลัวเรือนที่อยู่มาเกือบร้อยปีพังลงบ้าง ทั้งๆ ที่แค่เปลี่ยนฝาเรือนหน่อยก็อยู่ต่อได้อีกหลายสิบปี” คุณแม่เล่าว่าซื้อมาขายไปจนย้ายจากเรือมาขึ้นเรือนของตนเองได้ในเวลาไม่นาน

แม่ค้าผู้ไม่มีความรู้ทางสถาปัตย์ แต่เปี่ยมด้วยความรักเรือนไทย 

ด้วยเรือนเก่าเริ่มหายากขึ้น ประกอบกับคนมีฐานะสมัยนั้นอยากได้เรือนจากไม้ใหม่ไม่ใช่เรือนไทยที่รื้อมาขายเช่นเดิม คุณแม่จึงหันมาเปิดโรงงานสร้างเรือนไทย หรือในวงการเรียกกันว่า ‘ปรุง’ ขึ้นภายในชื่อ ส.รวยเจริญ อันมีที่มาจากนามสกุลสุขรวยเจริญ นามสกุลแบบไทยๆ ที่คุณแม่ตั้งขึ้นใหม่แทนนามสกุลจีนเพื่อรับโชครับทรัพย์กับกิจการนี้ 

การรื้อเรือนไทยมาขายคงไม่ยากเกินความสามารถคนทั่วไป แต่การปรุงเรือนไทยขึ้นเองทั้งหลังโดยปราศจากความรู้ทางสถาปัตยกรรมนั้นทำได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เราสนใจที่มาที่ไปของ ส.รวยเจริญ

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

“แม่ไม่มีความรู้ทางสถาปัตย์เลยแต่เขาเป็นคนฉลาด ตั้งแต่ตอนขายเรือนเก่า ถ้าเขาเห็นว่าเรือนไหนทรงสวยก็จะวัดและจดไว้ ช่างที่ปรุงเรือนขึ้นก็ไม่มีใครทำเป็น แต่แม่ก็ให้เอาของเก่ามาเป็นครู ฝึกด้วยการเลียนแบบจนได้เรือนหลังแรกขึ้นเป็นเรือนแฝดราคาหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท” 

สุชญาเล่าถึงความสำเร็จขั้นเริ่มของคุณแม่ด้วยรอยยิ้มภูมิใจ พร้อมยกตัวอย่างผลงานชิ้นโบว์แดงฝีมือคุณแม่ในครั้งต่อๆ มาให้ฟัง ไม่ว่าจะเรือนไทยที่วังสวนผักกาด โรงแรมแชงกรีลา หรือเรือนไทยที่โกอินเตอร์ถึงเยอรมนี เซี่ยงไฮ้ และหลายประเทศ มีทั้งส่งช่างไปปรุงเรือนต่างถิ่น หรือลูกค้าเอาไปปรุงเองแล้วแชะภาพเรือนไทยทรงงามท่ามกลางหิมะโปรยปรายมาให้ชม 

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

ฝีมือคุณแม่เลื่องชื่อจนได้รับรางวัลผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมดีเด่นและรางวัลอื่นๆ อีกมาก แถมครั้งหนึ่งที่ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ได้ชมยังกล่าวไว้ว่า ‘นี่เรือนที่ป้ารวยปลูกแน่นอน’ 

จากมือขวาของแม่ในวัยเยาว์ สู่เจ้าของกิจการครอบครัว

ทายาทรุ่นสองบางคนอาจไม่คุ้นชินกับธุรกิจครอบครัวเลย บางคนคุ้นชินเพราะวิ่งเล่นทั่วโรงงานตั้งแต่วัยเยาว์ แต่สำหรับสุชญานั้นแตกต่างออกไป เธอไม่ได้แค่คุ้นเคย แต่เธอใช้เวลาตลอดชีวิตกับกิจการ ก่อนที่คุณแม่สำรวยจะเปลี่ยนมาประกอบอาชีพรับปรุงเรือนไทยเสียอีก 

ปกติพ่อแม่มักให้ลูกคนโตออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว แต่คุณแม่สำรวยเลือกให้ลูกคนที่ 3 จากทั้งหมด 6 คนอย่างเธอ ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 4 ขณะที่ลูกอีก 5 คนที่เหลือได้เรียนจนจบปริญญาตรี 

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

“เขาบอกว่าเราฉลาด แก่นแก้ว น่าจะช่วยได้มาก เราเลยจบแค่ปอสี่ ส่วนพี่น้องจบปริญญาตรี ตอนเด็กๆ ฝันว่าอยากเป็นพยาบาล ตอนนั้นเสียใจมาก ไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ให้เราออก แม้ออกจากโรงเรียนมาสองปีแล้วก็ยังขอกลับไปเรียนอีก แม่ก็บอกว่า ไม่ต้องเรียนแล้ว เรียนกับแม่นี่แหละ” สุชญาเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยเสียงหัวเราะ 

เธอเล่าถึงการศึกษานอกห้องเรียนโดยมีคุณแม่เป็นคนสอนให้ฟังว่า ไม่ว่าจะเลี้ยงน้อง ปลูกผัก ขายผลไม้ ทอดอิฐ หรือกิจการงานใดๆ ที่แม่ทำ เธอก็ทำเป็นทั้งนั้น เมื่อคุณแม่หันมาทำโรงงาน ส.รวยเจริญ เธอจึงรู้จักทุกซอกทุกมุมของโรงงาน และทุกขั้นตอนในการปรุงเรือนไทย ตั้งแต่องค์ประกอบเรือน การปรุงเรือน จนกระทั่งการพูดคุยกับช่าง โดยที่คุณครูสำรวยไม่ได้สอนนักเรียนสุชญาตรงๆ แต่เธอได้เรียนรู้จากการตามติดไปทุกที่จนความรักและความรู้ด้านเรือนไทยซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปโดยปริยาย 

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

ย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน คุณแม่เริ่มป่วยและมีโรคตามวัย สถานภาพทายาทรุ่นสองจึงตกอยู่ในมือของเธอโดยที่แม่ไม่ต้องบอก แต่เป็นความเข้าใจกันระหว่างคู่แม่ลูก แม้การรับช่วงต่อกิจการของเธอตั้งแต่วัยเด็กจะเป็นไปด้วยความจำเป็นในการเลี้ยงครอบครัว แต่เราเชื่อว่าเธอมีความสุขกับการเป็นทายาทรุ่นสองในทุกย่างก้าว การันตีด้วยเรื่องราวการอนุรักษ์เรือนไทยที่เราจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

ทายาทรุ่นสองกับภารกิจอนุรักษ์เรือนไทยโบราณ

นั่งคุยที่โรงงานได้สักพัก สุชญาพาเราย้ายจากอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ไปอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นที่ตั้งของโชว์รูมเรือนไทยมากหน้าหลายแบบให้ลูกค้าเลือกชม ความแตกต่างของเรือนแต่ละหลังคือรูปแบบ จำนวนหมู่ของเรือน แต่ความเหมือนอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่เธอดำรงต่อจากแม่จนปัจจุบัน คือความเป็นเรือนไทยอย่างโบราณ ที่ทำให้ลูกค้าต่างมาใช้บริการของที่นี่

เธอชี้ชวนให้ดูเอกลักษณ์ของเรือนไทยที่เสา ฝาเรือน หน้าต่าง บานประตู ฯลฯ สอบเข้าหากัน จึงมีทรงอย่างสี่เหลี่ยมคางหมูที่ด้านล่างใหญ่ด้านบนเล็ก บางครั้งก็ชวนให้ลูกค้าเข้าใจผิดคิดว่าสร้างบ้านผิดแปลกไป แท้จริงคือเสน่ห์ของเรือนไทย ที่ไม่เพียงทำให้บ้านดูงามได้สัดส่วน แต่ยังมีประโยชน์สอดรับกับภูมิประเทศและภูมิอากาศของไทย 

“คนโบราณโดยเฉพาะภาคกลางที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำไม่ทำให้เรือนตั้งตรงก็เพื่อความแข็งแรงของเรือน ถ้าคิดง่ายๆ ลองนึกถึงคนยืนขาชิดกับขาห่าง ถ้าสองคนนี้โดนผลัก คนยืนขาห่างไม่มีทางล้ม” เธอยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพแล้วเล่าถึงครั้งที่พายุโหมกระหน่ำ บังกะโลหลังย่อมที่สร้างจากอิฐและปูนพังทลาย แต่เรือนไทยที่ยังสร้างไม่เสร็จของเธอกลับยืนหยัดได้อย่างสวยงาม 

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

เธอยังบอกถึงเอกลักษณ์ซ่อนรูปที่สำคัญอีกประการให้เราฟัง นั่นคือองค์ประกอบของเรือนที่ไม่ได้ใช้ตะปูยึดเข้าหากันสักตัวเดียว แต่ใช้เดือยรูปแบบต่างๆ ขัดกันทั้งหลัง เพื่อให้โครงสร้างเรือนแข็งแรงและสะดวกในการต่อเติมหรือขนย้าย เพราะถอดชิ้นส่วนเหล่านั้นแล้วประกอบขึ้นใหม่ได้โดยง่าย 

นอกจากนั้น เรือนไทยพื้นฐานยังต้องประกอบด้วยหอนอน ชานเรือน บันได และใต้ถุน หากเป็นชาวบ้านทั่วไปหรือครอบครัวเล็กๆ มักมีเพียงหอนอนเดียว แต่หากมีฐานะหรือมีลูกก็จะมีหลายหอซึ่งเรียกต่างกันไป เช่น เรือนประธาน หอขวาง หอรี โดยหอเหล่านี้เชื่อมกันด้วยชานเรือนที่ทอดยาว 

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ
ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

นอกจากองค์ประกอบหลักเหล่านี้แล้ว เธอก็ยังคงรักษารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไว้ เช่น ความกว้างยาวตามมาตรฐานของเรือนที่ต้องได้สัดส่วน ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป ความต่างของขั้นบันไดต้องอยู่ที่ประมาณ 18 เซนติเมตรเพื่อให้ก้าวได้สะดวก และบันไดของเรือนต้องเป็นเลขคี่ตามอย่างโบราณ เธอยังเสริมว่าขนาดของเรือนนั้นต้องเป็นเลขที่มีเศษ ไม่เป็นเลขพอดี ส่วนใหญ่มักเกี่ยวเนื่องกับดวงเจ้าของเรือน แต่ปัจจุบันหากลูกค้าไม่ถือเธอก็จะทำตามขนาดที่ลูกค้าต้องการ 

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

“นอกจากเรือนไทยจะคงทนแข็งแรง ถอดประกอบและต่อเติมได้ เราว่าข้อดีอีกอย่างคือเรือนไทยปรับเปลี่ยนอุณหภูมิได้ เราแค่เปิดปิดหน้าต่างให้ถูกทิศทางลม ตอนอากาศหนาวในบ้านอุ่น ตอนอากาศร้อนก็แค่เปิดหน้าต่างไว้ระบายอากาศ สมัยนี้จะติดแอร์ก็ได้เพราะเราทำระบบให้เปิดแอร์ได้ แอร์ก็เย็นเร็วกว่าบ้านตึกด้วย” เธออวดสรรพคุณเรือนไทยจนเราอยากจะทดลองนอนสักคืน

ถึงเวลาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง

แม้เธอจะพร่ำบอกเราตลอดการสนทนาว่าการรับกิจการต่อจากแม่นั้นเป็นเช่นเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและไม่มีปัญหาที่เธอคิดว่ากวนใจ เพราะเธอคลุกคลีอยู่กับโรงงานปรุงเรือนและช่างทุกคนตั้งแต่เด็ก แต่เราเชื่อว่ากาลเวลาที่ผันเปลี่ยนประกอบกับคนบริหารที่ต่างกัน เรือนไทย ส.รวยเจริญ ในมือทายาทรุ่นที่สองก็คงต้องมีเรื่องราวที่แตกต่างเล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้าง 

“การดูแลกิจการเรือนไทยให้เติบโตขึ้นคงทำยาก แต่การพัฒนาให้เรือนงามและอยู่ได้ยาวนานขึ้นโดยที่เขาไม่จำเป็นต้องซ่อมนั้นทำได้ เรามองเผื่ออนาคตที่ช่างปรุงเรือนหายากขึ้นทุกวันๆ” สุชญาเกริ่นการเปลี่ยนแปลง ส.รวยเจริญ ในแบบของเธอแล้วยกตัวอย่าง เช่น สมัยโบราณจะทำลายขอบเช็ดหน้าหรือกรอบหน้าต่าง และฝาเรือนเพียงด้านนอกแต่ด้านในเรียบ เธอจึงปรับเปลี่ยนให้ช่างปรุงขึ้นให้เหมือนกันทั้งสองด้าน เพื่อเพิ่มสุนทรีย์ให้ผู้อาศัยได้ชม 

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

นอกจากนั้น เธอยังขยับขยายสัดส่วนเรือนมาตรฐานสมัยคุณแม่ให้กว้างขวางกว่าเดิม เพื่อให้ลูกค้าอยู่สบายขึ้น หรือแม้กระทั่งการเลือกไม้ เธอก็เลือกใช้ไม้ที่หนากว่าเดิมเพื่อยืดระยะเวลาการผุของไม้ออกไป รวมถึงเปลี่ยนจากการปักเสาลงดินด้วยการก่อปูนก่อนลงเสา เพื่อให้เสาไม่ผุเพราะความชื้นของดิน เธอแอบกระซิบว่าความรู้ดังกล่าวนี้ได้มาจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้โด่งดังด้านเรือนไทยแนะนำ

เธอยังบอกอีกว่า สมัยโบราณคนไทยจะสร้างห้องน้ำแยกกับเรือน แต่เพราะสังคมที่เปลี่ยนไป การจับห้องน้ำมาเข้าคู่กับเรือนนอนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลูกค้าบางราย เธอจึงดัดแปลงให้มีห้องน้ำในเรือน หรือบางครั้งก็เชื่อมติดกับหอนอน คล้ายบ้านสมัยใหม่แต่ยังคงสัดส่วนเรือนไทยไว้ได้ ด้วยความร่วมมือของลูกสาวคนเล็กผู้กลับมาช่วยกิจการครอบครัวและลูกเขยคนโตผู้จบด้านการออกแบบตกแต่งภายในมา

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

“สิ่งสำคัญที่เราทำก็คือการเปลี่ยนไปใช้กลอนระแนง และส่วนต่างๆ ให้เป็นสเตนเลส เพื่อให้ใช้ได้นานขึ้นและง่ายต่อการซ่อมแซม แต่คนนอกจะไม่เห็นเพราะเราซ่อนไว้” สุชญาบอกการเปลี่ยนแปลงข้อนี้กับเราหลายครั้งจนทำให้เราเชื่อมั่นว่าเรือนไทย ส.รวยเจริญจะต้องอยู่ยืนยาวได้เป็นร้อยปี เพราะเธอไม่ได้สนใจพัฒนาองค์ประกอบหลักเท่านั้น แต่ยังใส่ใจปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกค้า (รวมถึงเรา) อาจคาดไม่ถึงให้ดีขึ้นกว่าเดิม 

“เราไม่มีทฤษฎี เรามีแต่ภาคปฏิบัติ เราอยากรู้อะไรก็ลองทำเลย” เธอย้ำให้ฟังอีกครั้งถึงความรู้จากประสบการณ์มิใช่จากการร่ำเรียนทางสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยคุณแม่จนถึงมือเธอ แต่การลองทำของเธอก็ต้องอ้างอิงกับหลักเรือนไทยเสมอ

ในสมัยคุณแม่ เคยมีสถาปนิกชาวต่างชาติออกแบบเรือนที่ผิดส่วนไปจากเรือนไทยโบราณ คุณแม่จึงแนะนำไว้ว่าสร้างไม่ได้เพราะเรือนจะติดกันจนไม่มีระยะรางน้ำ และเมื่อลองทำตามแบบก็สร้างไม่ได้จนต้องรื้อออก เหตุการณ์ในครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้าใจสัดส่วนเรือนไทยและประสบการณ์การปรุงเรือนไทยของคุณแม่สำรวยได้อย่างดี 

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ
ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

เธอยังเคยลองใช้เครื่องจักรในการปรุงองค์ประกอบเรือนแต่ความยาวของเดือยต่างๆ ไม่ได้ตามมาตรฐานเรือนไทย ทำให้เรือนไม่ค่อยเเข็งแรง เธอจึงหันกลับมาใช้ระบบหนึ่งสมองและสองมือของช่างเช่นเดิม เรือนไทย ส.รวยเจริญ จึงปรุงขึ้นจากฝีมือของช่างมากประสบการณ์ที่รับรองได้ว่าประณีตและแข็งแรงแน่นอน 

ในยุคสมัยที่มีเทคโนโลยีและเครื่องมือพร้อมสรรพ การเลียนแบบของโบราณไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเลียนแบบที่อนุรักษ์ความดั้งเดิมไว้ให้ยืนนานเข้ากับยุคสมัยนั้นไม่ง่าย สุชญา ทายาทรุ่นที่สองของ ส.รวยเจริญ คือนักคิด นักพัฒนาและนักบริหารคนหนึ่งที่ทำสิ่งเหล่านั้นได้ผ่านการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบบางอย่างให้เข้ากับสมัย แต่ยังยืนหยัดรักษาความเป็นไทยจนลูกค้าต่างแนะนำปากต่อปาก และสถานศึกษาด้านสถาปัตยกรรมก็ยังต้องมาศึกษาดูงานที่นี่ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน จึงยืนยันว่าเธอดำรงอาชีพแรกและอาชีพเดียวของเธอได้อย่างสวยงาม

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

ส.รวยเจริญ กับเส้นทางการปรุงเรือนในอนาคต

“เราอยากจะทำง่ายๆ บ้างนะ เพราะอนุรักษ์แบบเรามันหาช่างยาก ช่างเก่าแก่เสียไปเยอะแล้ว ช่างปัจจุบันก็ใช้เวลาฝึกห้าถึงหกปี แต่เราก็ยังอยากทำแบบนี้อยู่” เธอเล่าให้ฟังว่าโรงงานของเธอมีช่างประมาณ 30 คน แบ่งออกเป็นช่างไม้ ช่างทำฝา ช่างทำเครื่องบน และช่างประกอบ ซึ่งในอนาคตอาจลดน้อยถอยลง เพราะการยืนยันจะอนุรักษ์ของโบราณก็ตามมาด้วยความยากในการฝึกช่างด้วย 

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

“เราไม่กังวลเลยตอนรับช่วงต่อ แต่เรากังวลการส่งต่อให้ลูกเพราะปัญหาช่าง เราจึงคุยกับลูกสาวคนเล็กที่เข้ามาช่วยและลูกเขยคนโตที่เป็นนักออกแบบภายในถึงอนาคตเมื่อเขาต้องดูแลว่าอาจจะทำแบรนด์แยกออกจาก ส.รวยเจริญ ที่ดัดแปลงให้ทำง่ายขึ้น อาจจะทำเป็นแบบบิวต์อินหรือทำในรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์” สุชญาเล่าถึงแผนการในอนาคตที่ปรึกษากับทายาทรุ่นต่อไป
เธอยังเผยโครงการในใจให้เราฟังว่าอยากทำพิพิธภัณฑ์เล็กๆ สำหรับอนุรักษ์และส่งต่อความรู้ด้านเรือนไทยให้คนรุ่นหลังได้สัมผัส แต่ด้วยงบประมาณและภาระงานจึงยังไม่ได้เริ่ม เราก็ได้แต่ส่งเสียงเชียร์ในใจเพราะในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอันเป็นบ้านเกิดเรือนทรงนางที่ ส.รวยเจริญ ถนัดนั้นยังขาดสถานที่ให้ความรู้ด้านนี้อยู่ หาก ส.รวยเจริญ ปรุงเรือนเพื่ออนุรักษ์ขึ้น ที่นั่นคงเป็นสถานที่สำคัญที่แขกไปใครก็ต้องแวะมาชมแน่นอน

สุข รวย เจริญ 

การทำงานในอาชีพรับปรุงเรือนไทยของสุชญาเดินทางมาถึงปีที่ 44 แต่การทำงานในฐานะเจ้าของกิจการเพิ่งเข้าปีที่ 10 สิ่งที่เธอมุ่งมั่นตลอดคือการอนุรักษ์เรือนไทยโบราณไว้ให้ได้มากที่สุดด้วยการฝึกช่างฝีมือดี ใช้ไม้สักเนื้อดีเพื่อความคงทนสวยงามและรักษาฝีมือช่างที่ลงแรงทำอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ปรุงให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า ดังสุภาษิตว่า ‘ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน’ ที่แม่ของเธอพร่ำสอนตั้งแต่เล็ก

“ต้องทำให้ลูกค้าอย่างดีที่สุด เพราะเขาเสียเงินแล้ว เเม่เคยจน กว่าจะปลูกบ้านได้หลังหนึ่งนานมาก” เธอบอกถึงคำแม่ที่ยึดมั่น ทุกวันนี้ ส.รวยเจริญ จึงไม่เพียงรับสร้างบ้านตามแบบ แต่ยังคอยให้คำแนะนำแก่ลูกค้าทุกรายละเอียด มีแบบบ้านหลายราคารองรับงบประมาณที่แตกต่าง และมีบริการหลังการขายเผื่อต้องการซ่อมแซมหรือปรับปรุงเพิ่ม

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

เพราะความจำเป็นที่ต้องช่วยเเบ่งเบาภาระคุณแม่สำรวยตั้งแต่ยังเด็ก เธอจึงได้รับฐานะทายาทรุ่นสองไปโดยปริยาย แล้วเธอคิดเห็นอย่างไรในฐานะผู้ที่ต้องส่งไม้ต่อ

“บ้านเราไม่มีปัญหาเรื่องการรับช่วงต่อหรือปัญหาระหว่างรุ่นเลยนะ อาจเพราะเราเลี้ยงลูกติดตัวแบบที่แม่เลี้ยงเรา ลูกจึงตกลงที่จะมารับแถมยังเสียดายด้วยซ้ำที่ไม่ได้เรียนสายที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม ทุกวันนี้เราก็สอนเขาแบบที่แม่สอนเรา นั่นคือให้เขาเรียนรู้จากการอยู่กับเราตลอด” เธอบอกกับเราถึงการสอนลูกสาวเหมือนครั้งที่คุณแม่สอนเธอ 

จนถึงตอนนี้ สุชญาคิดเห็นอย่างไรกับเส้นทางที่เดินมาแต่วัยเยาว์และยังคงจับมือทายาทคนต่อไปร่วมทาง

“ตอนนี้เราไม่เสียใจแล้ว” สุชญาบอกด้วยรอยยิ้ม การันตีด้วยการรับช่วงต่อกิจการที่เธอย้ำกับเราอีกครั้งว่าไม่มีความกังวลเมื่อถึงคราว และรับประกันคุณภาพด้วยคำบอกกล่าวของลูกค้าตั้งแต่อดีตว่า

‘เรือนไทยสวย ต้อง ส.รวยเจริญ’

ทายาทรุ่นสอง ส.รวยเจริญ นักปรุงเรือนไทยมือหนึ่งผู้ไม่เคยเรียนเขียนแบบ

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องของ ส.รวยเจริญ ติดตามชมรายละเอียดได้ในงานสถาปนิก’63 “มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage” ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ​ฮอลล์ เมืองทองธานี ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ถึงวึนที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ในส่วนนิทรรศการที่จัดร่วมกันระหว่าง The Cloud และสมาคมสถาปนิกสยามฯ

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ