​โซฟีลีน​ เจียม​ ชาร์ปิโร​ (Sophiline Cheam Shapiro) คือผู้รอดชีวิตจากการสังหารโหดของเขมรแดง เธออายุ 8 ขวบเมื่อทั้งครอบครัวย้ายไปอยู่ชนบทเพื่อหนีสงครามกลางเมือง 

พ.ศ. 2518 – 2522 เขมรแดงหรือกองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตยยึดครองกัมพูชา ด้วยอุดมการณ์สังคมนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ที่สุดโต่ง พวกเขาลบช่องว่างทางชนชั้นด้วยการกวาดต้อนผู้คนมาใช้แรงงานและกำจัดทิ้ง ปัญญาชน ครู พระสงฆ์ ทหาร ข้าราชการ พ่อค้า และผู้คนนับล้านถูกประหาร

90 เปอร์เซ็นต์ของศิลปินกัมพูชาทุกแขนง ไม่ว่านักดนตรี นักเต้น นักเขียน จิตรกร ฯลฯ ถูกกำจัดไปจากแผ่นดิน

หลังเขมรแดงหมดอำนาจ กัมพูชาต้องการฟื้นฟูประเทศอย่างเร่งด่วน ปีถัดมา School of Fine Arts ในพนมเปญจึงเปิดประตูต้อนรับเด็กๆ ให้เรียนรู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมกัมพูชา

Sophiline Cheam Shapiro ผู้รอดจากสงครามเขมรแดง แม่ครูกัมพูชาที่พานาฏศิลป์ไปทั่วโลก

โซฟิลีนคือหนึ่งในเด็กหญิง 111 คนที่เข้าไปเป็นนักเรียนนาฏศิลป์รุ่นแรกของโรงเรียน เธอเป็นลูกหลานครูนาฏศิลป์ ลุงของเธอเป็นศิลปินแห่งชาติที่ต่อมากลายเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ผู้หญิงคนนี้เป็นนักเต้นคนสำคัญที่ขับเคลื่อนนาฏศิลป์กัมพูชา ในยามสรรค์สร้างชาติบ้านเมืองขึ้นอีกครั้ง เธอย้ายไปอยู่อเมริกา อุทิศเวลาให้การสอนนาฏศิลป์แก่ชาวกัมพูชา-อเมริกัน เช่น Prumsodun Ok ผู้ก่อตั้งคณะนักเต้นเกย์คณะแรกในกัมพูชา แม่ครูคนนี้ยังสร้างสรรค์ผลงานจนได้รับรางวัลมากมายและเดินสายแสดงผลงานไปทั่วโลก ผลงานดังของเธอคือละครรำแบบรัดเครื่อง ที่ดัดแปลงจากเรื่อง Othello ของเชกสเปียร์ 

ปัจจุบันเธอกลับมาตั้งรกรากที่กัมพูชา และพัฒนาสถาบันศิลปะกัมพูชาแบบไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อสร้างศิลปินกัมพูชารุ่นใหม่ในวิถีสากล เดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอเป็นศิลปินหญิงหนึ่งเดียวที่ได้รับเชิญมาแสดงโชว์เคส รามเกียรติ์ และเปิดสอนเวิร์กช็อปนาฏศิลป์ที่ โรงละครช้าง ซึ่งเปิด Rama’s House Open Studio ให้ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

Sophiline Cheam Shapiro ผู้รอดจากสงครามเขมรแดง แม่ครูกัมพูชาที่พานาฏศิลป์ไปทั่วโลก
Sophiline Cheam Shapiro ผู้รอดจากสงครามเขมรแดง แม่ครูกัมพูชาที่พานาฏศิลป์ไปทั่วโลก

รามายณะ วันนั้นสนุกและแปลกมาก พระรามเป็นชาวเมียนมา หนุมานอินโดนีเซียน นางสีดาชาวกัมพูชา ทศกัณฐ์ชาวไทย และมีพิธีกรดำเนินรายการเป็นชาวไทยกับชาวไต้หวัน เนื่องจากโรงละครนี้ไม่มีม่าน เราจึงได้ดูทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังของสุดยอดนักเต้นชาวอาเซียน 4 ประเทศ 

บรรยากาศคึกคักน่ารักเมื่อคนรักนาฏศิลป์มารวมตัวกัน ชวนให้ตั้งคำถามว่าทั้งที่อยู่ใกล้กัน มีวัฒนธรรมที่แบ่งปันร่วมกัน ไฉนเราแทบไม่รู้จักเพื่อนบ้านของเรา ซ้ำยังขัดแย้งกันอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะข้อพิพาทเรื่องนาฏศิลป์ระหว่างชาวไทยและชาวกัมพูชาที่คุกรุ่นตลอดมา ทั้งที่ทุกวันนี้ศิลปะโลกยุคโพสต์โมเดิร์นก้าวข้ามพรมแดนและรูปแบบนานาไปไกลโข 

หลังการแสดงจบ เรานั่งลงคุยกับโซฟิลีน มีเสียงบทสวดละหมาดจากมัสยิดย่านประชาอุทิศดังประกอบเรื่องราวพหุวัฒนธรรม

ไม่ได้คุยกันว่าใครมีสิทธิ์ความเป็นเจ้าของเหนือศิลปะ แต่เปิดใจทำความรู้จักบรมครูศิลปินจากประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ขับเคลื่อนนาฏศิลป์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตลอด 30 ปี

การเป็นนักเรียนนาฏศิลป์รุ่นแรกของ School of Fine Arts ที่พนมเปญเป็นอย่างไร 

เมื่อยุคเขมรแดงจบลง ช่วง ค.ศ. 1980 – 1981 เป็นต้นมา เป็นยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมกัมพูชากลับมาอีกครั้ง คนที่รอดชีวิต ผู้เชี่ยวชาญการรำตัวยักษ์ ตัวพระ และตัวนาง นักเต้นจากในวัง รวมถึงลุงของฉันกลายเป็นครู ศิลปินจากยุค 1930 – 1960 ต้องการสร้างคนรุ่นใหม่ และถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่ค่ะ 

ละครกัมพูชาแสดงโดยหญิงล้วน ทั้งตัวพระ ตัวนาง และยักษ์ ยกเว้นลิงที่เปลี่ยนมาใช้ผู้ชายแสดงแทน เพราะว่าแสดงกายกรรมหรือเล่นฉากขำขันได้ดีกว่า ตอนแรกฉันเรียนตัวพระและตัวยักษ์ แต่ว่าตัวไม่สูงขึ้นสักที (หัวเราะ) ครูก็เลยแนะให้เปลี่ยนมาเรียนตัวนาง 

ฉันเริ่มเรียนรำตอนอายุ 12 – 15 ปี ถือว่าช้า เพราะตามปกติต้องให้เริ่มเรียนตั้งแต่ 6 – 8 ขวบ แต่เพราะช่วงนั้นต้องสร้างคน รุ่นฉันมีเด็กหลายช่วงอายุ ทั้งคนที่ผ่านการสอบคัดเลือก คนที่สนใจ ลูกหลานของศิลปินที่ตายไปแล้ว

สิ่งที่เราเรียนคือทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติของนาฏศิลป์กัมพูชา เรียนประวัติศาสตร์ ความสำคัญ และการรำ ทั้งแบบดั้งเดิมและการสร้างท่วงท่าใหม่ พอถึงช่วงมัธยมปลายเราก็เรียนและสอบการรำประกอบบทร้อง รามเกียรติ์ และตำนานปรัมปราต่างๆ 

Sophiline Cheam Shapiro ผู้รอดจากสงครามเขมรแดง แม่ครูกัมพูชาที่พานาฏศิลป์ไปทั่วโลก

ต้องใช้เวลาฝึกนานแค่ไหนถึงจะเป็นนักเต้นมืออาชีพ 

เก้าปีค่ะ สามปีแรกเรียนเทคนิค สามปีต่อมาเรียนการผสานเทคนิคกับอารมณ์ และสามปีสุดท้ายฝึกการแสดงและทำความเข้าใจตัวละครจนแสดงได้ 

ยุคนั้นการเรียนการสอนค่อนข้างลำบาก แทนที่จะมีวงดนตรีสด เราต้องร้องทำนองเอง จะ โจง จะ ทิง ทิง โจง แล้วค่อยประสานกับจังหวะกลองทีหลัง เทปเพลงก็ไม่มี แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีช่วยให้ง่ายขึ้น 

สมัยก่อนครูดุมากด้วย เห็นรอยนี่มั้ยคะ (ชี้รอยแผลเป็นที่ไหล่) ฉันต้องตั้งวงแล้วกดไหล่ลงมา แต่ทำไม่ได้ ครูเลยเอาเล็บจิกตรงนี้ เลือดไม่ไหล แต่เป็นรอยถึงตอนนี้ สมัยก่อนครูชอบใช้เล็บหยิกและจิกให้จำท่าสำคัญๆ ให้ได้ เพราะว่ามันยากและเครียดมาก บางครั้งครูก็หมดความอดทนกับเรา

ถึงจะมีรอยแผลเป็นถึงทุกวันนี้ ฉันก็ซึ้งใจที่ครูตั้งใจสอน ตั้งใจเคี่ยวเข็ญให้ฉันเป็นนักเต้นที่ดี แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีหยิกแล้วนะ ครูรุ่นใหม่ๆ ต้องเรียนวิชาการสอนและเปลี่ยนมาใช้วิธีสอนที่นุ่มนวลและให้กำลังใจนักเรียนมากขึ้น 

คุณตัดสินใจไปเรียนนาฏศิลป์เอง หรือที่บ้านพาไปสมัคร

บางคนที่มาเรียนเคยเห็นการแสดงสดหรือดูจากโทรทัศน์ เด็กผู้หญิงหลายคนอยากเรียนรำมาก แต่ไม่รู้ว่าอยากเป็นนางรำอาชีพรึเปล่า บางคนครอบครัวพามาเพราะเป็นครอบครัวศิลปิน และอยากให้ลูกเรียนรู้ศิลปะของกัมพูชา 

ฉันเรียนเพราะว่าชอบนาฏศิลป์ พอได้เรียนแล้วรู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกว่าชีวิตของฉันได้เชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเขมรโบราณ ทำให้ได้ทักษะและภาษาศิลปะ ซึ่งทำให้ฉันสร้างงานงานศิลป์ร่วมสมัยได้ อีกอย่างคือเวลารำแล้วรู้สึกสวยสง่าค่ะ ภูมิใจที่เกิดเป็นผู้หญิงกัมพูชาแล้วรู้จักการร่ายรำ เหมือนนางอัปสรที่กำแพงนครวัด ฉันตั้งใจเป็นนักเต้นอาชีพ

Sophiline Cheam Shapiro ผู้รอดจากสงครามเขมรแดง แม่ครูกัมพูชาที่พานาฏศิลป์ไปทั่วโลก
Sophiline Cheam Shapiro ผู้รอดจากสงครามเขมรแดง แม่ครูกัมพูชาที่พานาฏศิลป์ไปทั่วโลก

ทำไมคุณถึงย้ายไปอเมริกา

ฉันได้เจอผู้ชายคนหนึ่งชื่อ จอห์น ชาร์ปิโร (​John Shapiro) (ยิ้ม) เขาเป็นพี่ชายของผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำปริญญาเอกเรื่องยุคฟื้นฟูวัฒนธรรมหลังเขมรแดง จอห์นมาเยี่ยมเธอที่กัมพูชา เราได้เจอกันอีกที่แคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก ตอนฉันไปทัวร์การแสดงใน ค.ศ. 1990 ศิลปินสามสิบสองคนจากโรงเรียนไปทัวร์การแสดงสิบสองเมืองในอเมริกา โดยเริ่มจากแคลิฟอร์เนีย 

ตอนนั้นเรารู้แล้วว่าเรามีใจให้กัน เขาขอฉันแต่งงานและอยู่กับเขาที่นั่น ฉันบอกให้เขามาขอฉันกับแม่ ให้เราได้แต่งงานกันตามธรรมเนียมกัมพูชาก่อนค่ะ

หลังแต่งงานกัน พวกเราไปฮันนีมูนที่นครวัด เสียมราฐ วันที่กลับฉันโบกมือลานครวัด เศร้ามาก คิดว่าตัวเองเป็นเหมือนใบไม้ที่หล่นจากต้น ต้องแห้งกรอบผุพังแล้วก็หายไป ฉันคิดด้วยซ้ำว่าอาจไม่ได้กลับมาที่กัมพูชาอีกแล้ว หรือถ้าจะกลับคงยากมาก ครูบาอาจารย์สอนฉันมาสิบปี พวกเขาคาดหวังให้ฉันอยู่กัมพูชาเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของพวกเขา แต่ฉันได้เจอจอห์นและออกมา รู้สึกผิดมากที่ทิ้งความรับผิดชอบ

แต่คุณและสามีก็ไปก่อตั้งโรงเรียนสอนนาฏศิลป์ Khmer Arts Academy ที่แคลิฟอร์เนีย

จริงๆ ตอนที่อยู่ลอสแอนเจลิส มีตัวเลือกว่าทิ้งการเต้นแล้วไปเรียนพยาบาล บัญชี หรืออย่างอื่นดีไหม แต่พอไปแคลิฟอร์เนีย ฉันก็ตระหนักว่านาฏศิลป์ยังอยู่กับฉัน มันทำให้ฉันยังเชื่อมต่อกับรากเหง้าของตัวเอง และทำให้ฉันมั่นใจในตัวเอง ฉันคิดว่านาฏศิลป์น่าจะช่วยเด็กๆ เหมือนกัน 

ด้วยความช่วยเหลือจากสามีและผู้คนที่ดูแลชุมชนชาวกัมพูชา ฉันเลยสอนนาฏศิลป์ให้เด็กชาวกัมพูชา-อเมริกัน พวกลูกหลานของชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยไปอเมริกา แล้วก็แสดงตามเทศกาลต่างๆ ช่วงแรกต้องทำชุดแสดงเองด้วยนะคะ แต่หลังจากนั้นก็ซื้อชุดจากกัมพูชามาใช้

Sophiline Cheam Shapiro ผู้รอดจากสงครามเขมรแดง แม่ครูกัมพูชาที่พานาฏศิลป์ไปทั่วโลก

ก่อนกลับมาอยู่กัมพูชา คุณสอนเด็กไปกี่คน

ตอบไม่ถูก เยอะมากค่ะ ฉันสอนอยู่สิบห้าปี ส่วนใหญ่สอนช่วงวันเสาร์อาทิตย์ และตอนวันธรรมดาก็สร้างการแสดงใหม่สำหรับแสดงตามเทศกาล บางทีก็สอนแค่คนเดียว แต่บางครั้งสอนทีเดียวเจ็ดสิบคน เหนื่อยมาก แต่ว่ามีความสุขที่เด็กๆ อยากเรียนรู้

เป้าหมายการสอนของฉันไม่ใช่การสร้างนักเต้นมืออาชีพเหมือนที่ครูสอนฉัน แต่คือการทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของนาฏศิลป์ จะอ้วนผอมสูงต่ำก็ไม่สำคัญ ฉันรับทุกคนมาเรียนโดยไม่คัดเลือก สิ่งสำคัญคือความเข้าใจการเชื่อมต่อทางวัฒนธรรม แต่บางคนก็กลายเป็นนักเต้นอาชีพจริงๆ อย่าง พรอม (พรอมสดัง โอค) เขาเรียนกับฉันที่ลองบีช แคลิฟอร์เนีย เวลานักเรียนแสดงความตั้งใจและทุ่มเทอย่างหนัก ฉันจะสอนบทเรียนยากๆ ให้พวกเขา แต่ไม่หยิกเขานะ (หัวเราะ) ฉันผลักดันให้พวกเขาซ้อมหนักและตั้งเป้าให้รำได้สมบูรณ์แบบ พรอมทำได้ดีและทะเยอทะยานที่จะสร้างคณะละครของตัวเอง เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ศิลปะของเขา คนอื่นๆ ที่เรียนแต่เบื้องต้นก็กลายเป็นผู้ชม

ฉันเคยสอนเด็กปริญญาตรีที่ UCLA ด้วย ดังนั้น เด็กๆ ที่ไม่ใช่ชาวกัมพูชาก็เรียนได้ ที่ลองบีชก็มีชาวต่างชาติมาเรียนนะ ส่วนใหญ่เป็นนักเต้นที่มีพื้นฐานบัลเลต์ แจ๊ส หรือการเต้นแบบต่างๆ พวกเขาอยากรู้จักนาฏศิลป์กัมพูชาและมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ บางคนก็เลือกเรียนเพราะว่านาฏศิลป์กัมพูชาตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกเขาเรียน บัลเลต์ยืนบนปลายเท้า แต่รำกัมพูชาใช้ส้นเท้า เขาก็อยากรู้จักและมองหาสิ่งที่คล้ายกันระหว่างการเต้นเหล่านี้ 

พออายุมากเข้า นักเต้นมักเต้นได้ดีขึ้นหรือว่าแย่ลง 

ทั้งดีขึ้นและแย่ลง ขึ้นอยู่กับว่าคุณดูแลตัวเองยังไง ความท้าทายของนักเต้นอายุมากคือสุขภาพ รูปร่างที่เปลี่ยนไป ตัวแข็งไม่อ่อนช้อย และความทรงจำที่แย่ลง แต่สิ่งที่มาพร้อมอายุมากคือความเข้าใจชีวิต ชีวิตที่ผ่านทุกข์สุขเป็นทรัพยากรที่ทำให้การแสดงลึกซึ้งและซับซ้อน 

นักเต้นอายุน้อยมีความยืดหยุ่นและความงดงาม นักเต้นรุ่นเดียวกับฉันผิวมีริ้วรอย ผมก็กลายเป็นสีเทา สมดุลร่างกายไม่ดีจนรำท่าเดิมไม่ได้ แต่เราทั้งได้และเสีย เพราะรู้ว่าร่างกายมีข้อจำกัด แต่อารมณ์และความเข้าใจตัวละครมีมากขึ้น 

เมื่อคุณเข้าใจชีวิต ความซับซ้อนของชีวิตจะเปิดโลกทัศน์คุณให้กว้างขึ้น ซึ่งนำมาใช้ในการแสดงได้ ถ้าคุณเป็นวัยรุ่นแล้วแสดงเป็นคนมีความรัก คุณย่อมเข้าใจตัวละครได้ดีเพราะชีวิตมอบประสบการณ์ให้คุณ ดังนั้นนักเต้นอายุมากๆ ยังถ่ายทอดได้ แม้เทคนิคจะไม่เท่าเดิม 

Sophiline Cheam Shapiro ผู้รอดจากสงครามเขมรแดง แม่ครูกัมพูชาที่พานาฏศิลป์ไปทั่วโลก

อะไรคือความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างนาฏศิลป์ไทยและกัมพูชา

ฉันไม่เคยเรียนนาฏศิลป์ในไทย เลยไม่แน่ใจนะคะ แต่ดูจากการแสดงทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง คิดว่าภาษาท่าเราเหมือนกัน ท่ารำที่ใช้มือสื่อสาร เช่น ไป มา สวย รัก เหมือนกัน แต่เท้าไม่เหมือน สังเกตว่ารำกัมพูชาจะต้องยกปลายเท้าขึ้น แต่ของไทยไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป แล้วก็ท่าตั้งวงของกัมพูชาจะเล็กกว่าของไทย (ลุกขึ้นมารำให้ดู) และการใช้ร่างกายก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว นาฏศิลป์กัมพูชาเริ่มจากการวางหัวไหล่ให้ถูกต้อง จัดร่างกายแล้วไล่ไปให้ความสำคัญที่สีหน้า ดวงตา ปาก ไปจนถึงปลายเท้า

ที่พูดมาทั้งหมดไม่รู้ว่าถูกมั้ย จริงๆ น่าจะมีการคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง

คนไทยมักพูดว่าอยากอนุรักษ์นาฏศิลป์ไทย แต่ชีวิตประจำวันกลับไม่สนใจดูนาฏศิลป์ คนดูส่วนใหญ่กลับเป็นคนต่างชาติ ที่กัมพูชามีปัญหานี้เหมือนกันไหม 

เห็นด้วยค่ะ แต่ก็แล้วแต่ศิลปินด้วย บางคนก็ขายบัตรหมดตลอด การแสดงของฉัน A Bend in the River ใน ค.ศ. 2014 แสดงสามวันก็ขายบัตรหมด แต่ไม่ใช่ทุกโชว์ที่มีคนดู คนคิดว่านาฏศิลป์อีกแล้ว น่าเบื่ออีกแล้ว 

คนดูบอกว่าเขามาดูงานฉัน เพราะงานทำให้เขารู้สึกมีส่วนร่วม เวลาดูคณะอื่นแล้วไม่รู้สึกแบบนั้น ส่วนตัวฟังแล้วก็แอบดีใจ แต่ในฐานะศิลปินกัมพูชา รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เพราะจริงๆ ก็อยากให้ผู้ชมสนุกกับการแสดงของทุกคณะ ไม่ใช่แค่งานของฉัน 

ตอนนี้คณะนักเต้นต้องหาวิธีสร้างงานที่สื่อสารกับผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นงานแบบดั้งเดิมหรืองานร่วมสมัย ทำให้คนดูรู้สึกมีส่วนร่วม ทำให้เขาสนใจ เพลิดเพลิน เรียนรู้บางสิ่ง และมองเห็นความคิดสร้างสรรค์ของนักเต้น ความท้าทายที่เรามีร่วมกันคือทำยังไงให้คนท้องถิ่นไปโรงละคร 

UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนนาฏศิลป์กัมพูชาเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หมายความว่าคนสนใจรูปแบบศิลปะ แต่รูปแบบจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีศิลปิน และศิลปินก็อยู่ได้เพราะการสนับสนุนจากผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมที่ซื้อตั๋วเข้าชม ถ้าขึ้นทะเบียนไว้แล้วไม่ทำอะไรเลย นาฏศิลป์ก็จะตาย ถูกไหมคะ 

ถ้านักแสดงอยู่ด้วยทุนสนับสนุน แล้วเปิดการแสดงให้ชมฟรี แบบนั้นก็ไม่ยั่งยืนเหมือนกัน สิ่งที่เราต้องการคือการจัดการสถานการณ์ให้ศิลปะทุกแขนง รูปแบบจะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับผู้ชมท้องถิ่นนี่ล่ะ การซื้อตั๋วดูละครเป็นความรับผิดชอบของผู้ชม ถ้าคุณไม่รำ ก็มาดูคนที่รำ สนับสนุนคนรำ เพราะเราไม่ได้รำแค่เพื่อตัวเอง แต่เราทำเพื่อแบ่งปัน

ระหว่างการแสดง คุณพูดว่าอยากให้เราเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน หมายความว่าอย่างไร

การที่ประเทศอาเซียนรวมตัวกันทางการเมืองฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่ฉันรู้สึกว่ามันไม่จริงค่ะ ข้างในทุกประเทศต่างมีความรู้สึกชาตินิยม และความไม่พอใจเพื่อนบ้านรอบข้าง โดยเฉพาะเรื่องนาฏศิลป์ หลายครั้งก็เจอคำพูดไม่ดี 

ตอนทัวร์การแสดงที่อเมริกา ค.ศ. 1990 ขากลับก็แวะกรุงเทพฯ อยู่หลายวัน ฉันไม่อยากออกไปเที่ยวเลย ทุกคนออกไปเที่ยวเล่น แต่ฉันแค่อยู่ในห้องที่โรงแรม เพราะรู้สึกว่าถ้าออกไปจะถูกทำให้อับอาย และใน ค.ศ. 1998 ที่อเมริกา ฉันและสามีจัดการแสดง รามเกียรติ์ เราเชิญนักแสดงจากอินเดีย อินโดนีเซีย ไทย และกัมพูชา รวมหกคณะมาแสดงต่อกัน สิ่งแรกที่คณะนักแสดงไทยพูดกับฉันหลังทักทายกันคือ เธอรู้มั้ยว่านาฏศิลป์กัมพูชามาจากประเทศไทย 

เวลาไปแสดงตามที่ต่างๆ ฉันรู้สึกว่ามีความตึงเครียดระหว่างชาวไทยและกัมพูชา ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างเรามีมายาวนาน คนกัมพูชาเจ็บช้ำในสิ่งที่คนไทยเคยทำ แต่ฉันก็มั่นใจว่าตอนที่ขอมเรืองอำนาจ ก็คงข่มเหงชนชาติอื่นเหมือนกัน แต่เราควรเข้าใจว่าในอดีตผู้เข้มแข็งย่อมเอาเปรียบผู้อ่อนแอ 

ในฐานะคนกัมพูชา ฉันมีชีวิตผ่านสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฉันรู้ว่าความหิวเป็นอย่างไร และฉันก็ได้เห็นครูอาจารย์ฟื้นฟูนาฏศิลป์และวัฒนธรรมกัมพูชากลับมาอีกครั้ง ฉันได้ลิ้มรสทั้งความเจ็บปวดและความภูมิใจ และคิดว่าพอทีกับความเกลียดชัง 

เราควรก้าวข้ามเรื่องเหล่านี้ ปล่อยวางเรื่องชาตินิยมบ้าง และปฏิบัติตัวกับชนชาติอื่นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คนไทยพยายามมีชีวิตรอด เติบโต และพัฒนาประเทศให้มากที่สุด คนกัมพูชาก็เหมือนกัน ทุกประเทศต่างบอบช้ำ ดังนั้นเราต่างพยายามพัฒนาระบบการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ การเมือง และทุกๆ ด้าน เราน่าจะก้าวไปข้างหน้าด้วยความเครียดที่น้อยลง เป็นเพื่อนบ้านที่สนับสนุนกันมากขึ้น ของดีๆ หลายอย่างที่คนกัมพูชาชอบก็นำเข้าจากเมืองไทยมามากมายค่ะ

นาฏศิลป์และวัฒนธรรมกัมพูชาเติบโต นักเต้นกัมพูชาพยายามอย่างดีที่สุดที่จะแสดงเอกลักษณ์ของชาติตัวเอง และนักเต้นชาวไทยก็เช่นกัน เรากำลังทำสิ่งเดียวกัน นาฏศิลป์เป็นความภูมิใจของเราและของชาติเหมือนกัน แล้วทำไมเราถึงสนับสนุนกันไม่ได้ล่ะ 

หวังว่าสิ่งที่ฉันทำที่นี่จะช่วยให้เราเข้าใจกัน เคารพกัน และเห็นคุณค่ากันมากขึ้น การมีนาฏศิลป์ทั้งไทยและกัมพูชาย่อมดีต่อโลกใบนี้มากกว่ามีการเต้นแค่แบบเดียว ถูกมั้ยคะ 

Sophiline Cheam Shapiro ผู้รอดจากสงครามเขมรแดง แม่ครูกัมพูชาที่พานาฏศิลป์ไปทั่วโลก

ขอบคุณข้อมูลจากศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน