22 พฤษภาคม 2023
18 K

The Cloud เคยแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักโรงแรมสุขนิรันดร์ไปแล้วครั้งหนึ่งจากคอลัมน์ Have a Nice Stay ในฐานะโรงแรมเก่าแก่ ตั้งอยู่ติดหอนาฬิกาประจำจังหวัด จนคนท้องถิ่นและแขกที่เคยเข้าพักนับเป็นหนึ่งแลนด์มาร์กของเชียงรายเลยทีเดียว

เล่าให้ฟังแบบกระชับสั้น ด้วยอายุที่เขยิบเข้าเลข 60 ปี วันนี้สุขนิรันดร์ผ่านการรีโนเวตมาแล้ว 1 ครั้ง จากฝีมือของ ส้ม-สุธาสินี จิตรสกุล ทายาทรุ่นสามผู้นั่งตำแหน่ง CEO บริหารและดูแลภาพรวมของโรงแรมในปัจจุบัน ยกระดับโรงแรมโบราณให้เป็น Luxury Boutique Hotel ด้วยการลดจำนวนห้อง อัปราคา และตกแต่งภายในแบบยังคงกลิ่นอายความเป็นเชียงรายและสุขนิรันดร์เดิมไว้จาง ๆ โดยมีคติประจำใจ คือบริการแขกทุกคนให้ดีที่สุด

การสานต่อตำนาน 'โรงแรมสุขนิรันดร์' ในเชียงราย ที่เต็มไปด้วยความสุขคลุกเคล้าหยดน้ำตา
การสานต่อตำนาน 'โรงแรมสุขนิรันดร์' ในเชียงราย ที่เต็มไปด้วยความสุขคลุกเคล้าหยดน้ำตา

แต่นอกเหนือจากความดีงามของโรงแรม เรื่องราวของครอบครัวจิตรสกุลผู้อยู่เบื้องหลังนั้นน่าสนใจไม่แพ้กัน ตั้งแต่เรื่องราวของ อากงประเสริฐ จิตรสกุล ผู้ก่อตั้ง ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองจีนและมุ่งมั่นพิสูจน์ตัวเองในฐานะนักธุรกิจให้อาเหล่ากง ไปจนถึงการส่งไม้ต่อของ ป่าป๊าเรืองชัย จิตรสกุล และ หม่าม้าจินตนา จิตรสกุล ทายาทรุ่นสองที่เชื่อในการเปิดเวทีให้ลูกได้แสดงความสามารถมากกว่าสิ่งอื่นใด

การสานต่อตำนาน 'โรงแรมสุขนิรันดร์' ในเชียงราย ที่เต็มไปด้วยความสุขคลุกเคล้าหยดน้ำตา

เหมือนกับโรงแรมที่ต้องผ่านร้อนหนาว ครอบครัวจิตรสกุลในฐานะผู้เกี่ยวดองทางสายเลือด-เพื่อนร่วมงาน-เซฟโซนที่คอยซัพพอร์ตจิตใจ ก็ต้องเดินทางร่วมกันด้วยเสียงหัวเราะ หยาดน้ำตา และช่องว่างระหว่างวัย กว่าจะมาเจอจุดที่สมดุลนั้นไม่ง่ายและไม่เคยง่าย

 แต่ขึ้นชื่อว่าครอบครัว พวกเขาไม่เคยปล่อยมือกัน

ธุรกิจ : สุขนิรันดร์

ประเภท : โรงแรม

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2505

ผู้ก่อตั้ง : ประเสริฐ จิตรสกุล

ทายาทรุ่นสอง : เรืองชัย จิตรสกุล และ จินตนา จิตรสกุล

ทายาทรุ่นสาม : สุธาสินี จิตรสกุล

แพร่-กรุงเทพฯ

ไม่ต่างจากครอบครัวคนจีนทั่วไป ป่าป๊าของอากงย้ายจากจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดแพร่ ประเทศไทย พร้อมเสื่อ 1 ผืนและหมอน 1 ใบ เริ่มตั้งต้นชีวิตจากการทำธุรกิจขายจักรยานแบบซื้อมาขายไป

First Impression ที่อากงประเสริฐมีต่อเมืองไทยจึงเป็นภาพกงล้อหมุนติ้วของจักรยานคันเล็กใหญ่ เขามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่อายุราว 15 ปี ตอนนั้นสกิลล์ภาษาไทยที่ไม่แข็งแรง ทำให้อากงต้องไปเริ่มเรียน ป.1 ใหม่กับน้อง ๆ ที่อายุน้อยกว่าเท่าตัว 

แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะ “อากงหัวดี คิดเลขไว และลายมือสวยมาก” ส้มย้อนความ “อากงเคยเล่าว่า เวลาเขียนหนังสือต้องสวยไว้ก่อน จะได้รู้ว่าเป็นคนมีการศึกษา แม้กระทั่งตอนทำงาน เวลาอากงเสร็จงานแล้ว เขาก็เอาโต๊ะมานั่งตั้งเทียนไขและคัดไทย นี่คือความพยายามของอากง”

และแม้อากงประเสริฐจะจบแค่ ป.4 แต่เขามีฝันใหญ่ 

“เขาเป็นตัวของตัวเอง เป็นคนแน่จริง อยากไปให้ได้ ไปให้ถึง อยากเก่งกว่าอาเหล่ากงไปอีก” ป๊าเรืองชัยพูดกลั้วหัวเราะแล้วเล่าต่อว่า หลังเรียนจบประถม อากงก็ศึกษาเรื่องบัญชีและกฎหมายเพิ่ม พอถึงจุดหนึ่งก็ออกจากบ้านมาเดินตามทางของตัวเอง

“เขามองว่าถ้าเขาอยู่กับพ่อแม่ เขาโตกว่านี้ไม่ได้แล้ว ด้วยความเป็นคนรักอิสระก็ออกมาอยู่คนเดียวที่กรุงเทพฯ มาประกอบจักรยาน เป็นเชฟ รับทำงานหลายอย่าง” 

กรุงเทพฯ-เชียงราย

“อากงเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนอากงออกจากแพร่มาตะลอน ๆ หางานในกรุงเทพฯ สิ่งที่น่ารักที่สุดคืออาเหล่ากงให้ทุนมาก้อนหนึ่ง และแอบตามสืบอยู่ไกล ๆ” นี่คือหนึ่งในเรื่องเล่าที่ส้มประทับใจจากปากคำของอากง

“จริง ๆ อาเหล่ากงเขามีอีโก้ของความเป็นผู้ใหญ่ เป็นพ่อแม่ที่จะชอบพูดว่าไม่สนใจหรอก แต่จริง ๆ เขาก็แอบตามสืบว่าอากงอยู่ไหน ทำอะไร คอยให้กำลังใจอยู่แต่ไม่เคยบอก” หม่าม้าจินตนาสมทบ

ตอนไปใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ นั้นเอง เขามีโอกาสได้เห็นโรงแรมหลายแห่งซึ่งสร้างด้วยปูน มีห้องน้ำในตัว ต่างจากโรงแรมในต่างจังหวัดที่มักเป็นตึกไม้และมีห้องน้ำรวม อากงประเสริฐเก็บช่วงเวลาพักผ่อนที่น่าประทับใจเหล่านั้นไว้ในใจ ทดไว้ว่าวันหนึ่งถ้าจะสร้างโรงแรมของตัวเองก็ต้องทำให้ได้แบบนี้บ้าง

จากกรุงเทพฯ ระหกระเหินสู่เชียงราย อากงตกหลุมรักจังหวัดเล็ก ๆ ที่มีบรรยากาศเงียบสงบ จึงตั้งใจจะตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ ด้วยความที่คนในจังหวัดประกอบอาชีพค้าขายเสียส่วนใหญ่ อากงจึงริเริ่มธุรกิจค้าขายของตัวเองบ้าง

และจะมีอะไรที่คุ้นเคยไปกว่าการขายจักรยาน ธุรกิจที่เขาเห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ

จากจักรยาน อากงขยับขยายไปขายมอเตอร์ไซค์ และเพราะมีวิสัยทัศน์ว่าในอนาคตถนนหนทางในเชียงรายจะเดินทางสะดวกขึ้น เขาจึงเบนสายมาขายรถยนต์ก่อนเขาก่อนใคร

ธุรกิจนั้นคือ TOYOTA สาขาจังหวัดเชียงราย ซึ่งในอีกหลายสิบปีต่อมาออกดอกออกผลกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจรถยนต์ที่ชาวเชียงรายนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ แถมยังขยายไปอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ 

การสานต่อตำนาน 'โรงแรมสุขนิรันดร์' ในเชียงราย ที่เต็มไปด้วยความสุขคลุกเคล้าหยดน้ำตา

เมื่อธุรกิจเริ่มทรงตัว อากงกลายเป็นเจ้าสัวคนสำคัญที่คนเชียงรายหลายคนรู้จัก เขาก็ถูกอาเหล่ากงเรียกกลับไปแต่งงานกับ อาม่าอุบล จิตรสกุล ที่แพร่ ก่อนจะพาภรรยากลับมาพำนักในจังหวัดที่เขารักด้วยกัน แล้วช่วยกันขยายอาณาจักรทางธุรกิจของตัวเองให้ใหญ่ขึ้น

ความฝันเกี่ยวกับการทำโรงแรมที่อากงเคยทดไว้ในใจถูกรื้อออกมาปัดฝุ่นใหม่ กลายเป็นธุรกิจโรงแรมที่ไม่เหมือนกับโรงแรมไหน ๆ ที่เชียงรายเคยมี 

‘สุขนิรันดร์’ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2505 ในฐานะโรงแรมแรกที่ทั้งตึกสร้างจากปูน มีห้องน้ำส่วนตัว พร้อมให้บริการแขกที่แวะเวียนมาจังหวัดเชียงรายมากถึง 100 ห้อง 

ชื่อของโรงแรมก็มีที่มาไม่ธรรมดา เพราะเป็นชื่อที่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดในยุคนั้นตั้งให้ทีเดียว ที่ปังที่สุดคงยกให้โลเคชันใกล้หอนาฬิกาเชียงราย ซึ่งทำให้สุขนิรันดร์กลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ผู้คนสัญจรไปมาจะต้องมองเห็น

“เรียกว่ามาเชียงรายก็ต้องมาพักที่นี่ เพราะดีที่สุดในยุคนั้น” หม่าม้าเล่าความป๊อปปูลาร์ให้เราฟัง

ไม่เพียงแค่เฉพาะผู้คนในเชียงราย แต่ลูกชายอย่างป่าป๊าเรืองชัยก็เติบโตมากับภาพโรงแรมและการบริหารของผู้เป็นพ่อเช่นกัน เขารู้อยู่ลึก ๆ ว่าวันหนึ่งจะต้องมารับช่วงต่อ เมื่อได้แต่งงานกับหม่าม้าจินตนา และเรียนรู้ระบบการทำงานในโรงแรมหมดแล้ว อากงก็ยอมปล่อยมือให้ทายาทรุ่นที่ 2 และลูกสะใภ้เข้ามาช่วยบริหาร โดยผู้ก่อตั้งอย่างเขายังคอยแวะเวียนไปดูเป็นระยะ

เมื่อโรงแรมไปได้ดี บ้านจิตรสกุลขยับขยายไปเปิดอีกโรงแรมชื่อ ‘เวียงอินทร์’ ขนาด 260 ห้องในโลเคชันไม่ไกลกัน ขณะที่สุขนิรันดร์โฟกัสกับการให้บริการนักธุรกิจ ผู้บริหาร และข้าราชการ เวียงอินทร์ก็จับกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวด้วยราคาที่ย่อมเยากว่านั่นเอง

เชียงราย-สวิตเซอร์แลนด์

วันคืนผันผ่าน เมืองเชียงรายพัฒนาขึ้นตามยุคสมัย โรงแรมมากมายเกิดขึ้น บ้างก็ล้มหายตายจากไป แต่สุขนิรันดร์ยังหยั่งรากลึกในฐานะโรงแรมใหญ่ใกล้หอนาฬิกาเชียงราย

ทายาทรุ่นที่ 3 ส้ม-สุธาสินี จิตรสกุล วิ่งเตาะแตะอยู่ในโรงแรมสลับกับโชว์รูมโตโยต้าเชียงรายมาตั้งแต่เด็ก ป่าป๊าเรืองชัยและหม่าม้าจินตนาเคยเห็นภาพอากงทุ่มเทกับการทำธุรกิจยังไง ส้มเองก็เห็นภาพเดียวกันของป่าป๊า หม่าม้​า และอากงอย่างนั้น

“ส้มเขาก็จะโดนสอนให้เรียนรู้เรื่องพวกนี้แบบทรหดที่สุดในบรรดาลูก ตอนเขาอายุสัก 3 ขวบ เวลาป๊าไปประชุมกับ GM ของโรงแรมก็จะอุ้มส้มไปด้วย” หม่าม้าเล่า

“ที่โรงแรมจะมีดิสโก้เทก ตอนเด็ก ๆ ก็จะตามป่าป๊าไปแอบเต้นดิสโก้ที่โรงแรมด้วย ตอนนี้เลยอาจจะมีปัญหาการได้ยินนิดหน่อย” ส้มเล่นมุก เรียกเสียงหัวเราะครืนจากเราทุกคน 

“ส้มอยู่ในทุกช่วงของโชว์รูมกับโรงแรม เราเห็นทุกโมเมนต์ ภาพเหล่านี้จึงซึมอยู่ในสายเลือดของเรา ไม่ใช่เฉพาะส้มคนเดียว น้อง ๆ ก็เหมือนกัน” หญิงสาวผายมือไปยัง เอ-อังคณา จิตรสกุล น้องสาวที่อ่อนกว่า 4 ปี และน้องชายฝาแฝด พงศธร จิตรสกุล, วงศธร จิตรสกุล ที่ห่างจากส้ม 11 ปี

“ส้มรู้ตั้งแต่เด็กแล้วว่าเราต้องมารับช่วงต่อ เพราะเวลาคุณครูให้ทำแบบสอบถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เพื่อนจะตอบหมอ พยาบาล คุณครู แต่เราเขียนว่านักธุรกิจ มันเป็นอาชีพในฝันตั้งแต่อนุบาล มันคือสิ่งที่เราถูก Groom มาตั้งแต่เด็กว่ายังไงก็ต้องได้กลับมาทำงานที่บ้าน ยังไงเราก็ต้องได้เป็นนักธุรกิจ”

ด้วยความที่เป็นลูกคนแรก หลังจากเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหิดล ส้มจึงบินไปเรียนต่อสาขา Master of Business Administration in International Hospitality and Service Industries Management with Leadership ไกลถึงสวิตเซอร์แลนด์ 

“ส้มอยู่สวิตฯ 1 ปี เป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก แต่ที่ชอบคือเราได้เรียนรู้จากโรงแรมเชนดัง ๆ เรื่อง Revenue Management (การจัดการรายได้) ไปจนถึงเรื่องการเซอร์วิสลูกค้าในระดับโกลบอล

“เพื่อน ๆ ที่ไปเรียนก็จะเป็นเจ้าของโรงแรมบ้าง เป็นคนทำงานในโรงแรมระดับ Professional ที่ทำงานในโรงแรมมาหลายปี หรือบางคนเป็นเจ้าของโรงแรมในอินเดีย มีโรงแรมอยู่เป็น 20 แห่งอย่างกับมหาราชา เราจึงได้เรียนรู้ประสบการณ์จากคนหลาย ๆ แบบ”

สวิตเซอร์แลนด์-เชียงราย

หลังเรียนจบ ส้มกระโดดเข้าไปทำงานที่โตโยต้า พะเยา แต่ด้วยความที่เรียนด้านการโรงแรมมา ทายาทรุ่นสามแอบฝันว่า สักวันหนึ่งอยากเปิดโรงแรมบูทีกเล็ก ๆ ของตัวเอง

เธอไม่ขัดเขินที่จะคุยเรื่องความฝันกับพ่อแม่ และทั้งสองก็ไม่ปิดโอกาสที่จะปล่อยให้เธอทำตามฝัน ติดตรงที่โอกาสถูกแตกเป็น 2 ออปชัน หนึ่ง รีโนเวตตึกเก่าแห่งหนึ่งที่ครอบครัวจิตรสกุลเป็นเจ้าของอยู่ และสอง รีโนเวตโรงแรมอายุ 50 ปีอย่างสุขนิรันดร์ที่ถึงคราวต้องปรับปรุง

ด้วยงบประมาณในการสร้าง จุดมุ่งหมายของกลุ่มเป้าหมาย ทุกคนในครอบครัวจิตรสกุลจึงตกลงกันว่าจะเลือกออปชันที่ 2 

เหตุผลข้อสำคัญอีกข้อ คือสุขนิรันดร์เป็นดั่งรากเหง้าของตระกูล

“โรงแรมสุขนิรันดร์เป็นที่แรกที่อากงสร้าง เป็น Core ของตระกูล การเก็บมันไว้ก็จะเป็นสิ่งที่เราเตือนตัวเองด้วยว่ารากเหง้าของเราคืออะไร สุขนิรันดร์คือโรงแรมที่อากงเก็บหอมรอมริบเพื่อสร้างมันขึ้นมา และไม่ได้สร้างทีเดียว 100 กว่าห้อง แต่สร้างมากถึง 3 เฟส เก็บเงินได้ก้อนหนึ่งก็สร้างตึกหนึ่ง”

“การรีโนเวตอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าเราจะไม่ทุบ” หม่าม้าจินตนาขอเสริม “รื้อได้แต่ไม่ทุบ สร้างเพิ่มได้แต่ไม่ทำลาย”

การสานต่อตำนาน 'โรงแรมสุขนิรันดร์' ในเชียงราย ที่เต็มไปด้วยความสุขคลุกเคล้าหยดน้ำตา
เคล็ดลับการบริหารโรงแรมที่ทั้งสุขและทุกข์ของ ‘สุขนิรันดร์’ โรงแรมรุ่นอากงในเชียงรายที่ส่งต่อมาสู่ทายาทรุ่นสาม

จากโรงแรมที่ให้บริการจำนวน 105 ห้อง สุขนิรันดร์โฉมใหม่ปรับลดจำนวนห้องที่ให้บริการเหลือเพียง 52 ห้อง นั่นก็เพราะ “ส้มอยากมีโรงแรมเล็ก ๆ เพราะอยากดูแลเอาใจใส่ เข้าถึงลูกค้าทุกคนได้ ถึงอย่างนั้น เราก็ยังให้มีกลิ่นอายเดิมอยู่ ยังคงองค์ประกอบบางอย่างไว้ เช่น พื้นสีส้ม โคมไฟ ที่พยายามใช้ของเดิม”

แน่นอน ความท้าทายที่ตามมาหลังจากรีโนเวต คือราคาค่าห้องที่ปรับสูงขึ้น แปรผันตามจำนวนห้องที่ลดลง รวมไปถึงการจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ที่แปรผันไปตามราคาค่าห้องอีกที

“ตอนอากงทำ อากงอยากให้สุขนิรันดร์เป็นโรงแรมดีที่สุดในยุคนั้น ส้มก็รู้สึกว่าอยากทำให้ที่นี่กลับมาดีที่สุดในยุคนี้เหมือนกัน เราไม่ได้หวังลูกค้าเก่าอยู่แล้ว ลูกค้าเก่าเขาเคยนอนแบบเดิมคืนละ 300 แต่เราปรับราคาขึ้นมาคืนละ 3,000 ลูกค้าเก่าบางคนขึ้นรถตู้มาพอเห็นราคาก็ลากกระเป๋ากลับออกไปก็มี เราก็ใจแป้วนิดหนึ่ง แต่ก็ต้องปรับกันไป 

“สำหรับส้ม การได้ทำสุขนิรันดร์เป็นทั้งการรับช่วงต่อและการนับหนึ่งใหม่ ลูก ๆ ในบางครอบครัวอาจคิดว่าการรับช่วงต่ออะไรบางอย่างมาจากรุ่นพ่อแม่เป็นภาระ แต่สำหรับส้ม มันคือโอกาส โชคดีที่ป่าป๊าหม่าม้าเปิดสเตจให้เดิน มีเวทีให้โชว์ความสามารถ เหนื่อยไหม ก็อาจจะเหนื่อย แต่มันเป็นโอกาส 

“คิดดูสิ จะมีคนอายุ 22 กี่คนกันที่จะมีโอกาสได้บริหารคนเป็นพันคน จะมีคนอายุ 22 กี่คนกันที่ไปไหนแล้วมีคนรู้ว่าเราดูแลอะไร เดินเข้าไปพบผู้ว่าฯ ได้ มันคือโอกาสที่เรารู้สึกว่าไม่ได้มีทุกคน เราต้องใช้โอกาสนี้ให้ดีที่สุด” 

ส้มบอกว่า หนึ่งในคำสอนของป๊าเรืองชัยและม้าจินตนาที่เธอยึดถือไว้ในใจมาตลอดในการทำโรงแรม คือการ ‘รู้จริง’ ในเรื่องนั้น ๆ

“สิ่งที่จะทำให้เขาไปต่อได้ คือการเรียนรู้อย่างจริงจัง รู้ทุกขั้นตอน รู้จริง เห็นจริง และทำจริง ทำจริงไม่ได้หมายความว่าต้องทำจนแก่จนเฒ่า แต่ตอนคุณเริ่มต้น คุณต้องทำ ทำเพื่อให้รู้ หลังจากนั้นคุณถึงจะตั้งใจและรักมันจริง ๆ” ม้าจินตนาแนะนำ

“ส้มเป็นคนใช้เงินเยอะตั้งแต่เด็ก สิ่งที่เป็นแรงฮึดให้เราทำงานทุกวันนี้คือคำของหม่าม้าที่บอกว่า ‘อยากใช้เงินเยอะก็ต้องหาเงินเยอะ ๆ’ หรือเมื่อก่อนที่อากงยังทำงานอยู่ วันหยุดเดียวที่อากงมีคือวันตรุษจีน เราเห็นว่าอากงทำงานทุกวัน เราจึงตระหนักว่ามีใช้ทุกวันนี้เพราะทุกคนทำงาน ถ้าเราอยากใช้เงินเยอะ เราก็ต้องทำงานเยอะ” ส้มหัวเราะ

“เราทำธุรกิจแบบไม่ได้ไปแข่งกับใคร แต่ถือว่าเราทำด้วยความสนุก ทำด้วยกำลังของเราที่ไปได้ นี่คือรากฐานที่อากงเคยสอนไว้ คือการค่อย ๆ ทำ” ม้าจินตนาเสริม

เคล็ดลับการบริหารโรงแรมที่ทั้งสุขและทุกข์ของ ‘สุขนิรันดร์’ โรงแรมรุ่นอากงในเชียงรายที่ส่งต่อมาสู่ทายาทรุ่นสาม
เคล็ดลับการบริหารโรงแรมที่ทั้งสุขและทุกข์ของ ‘สุขนิรันดร์’ โรงแรมรุ่นอากงในเชียงรายที่ส่งต่อมาสู่ทายาทรุ่นสาม

อีกหนึ่งคำสอนของป่าป๊าหม่าม้าที่ยึดไว้ คือการดูแลพนักงานทุกคนให้เหมือนคนในครอบครัว นั่นทำให้แม้แต่ช่วงที่ส้มนิยามว่ายากลำบากที่สุดคือช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ โรงแรมสุขนิรันดร์รวมถึงธุรกิจในเครืออื่น ๆ ไม่มีการเลย์ออฟพนักงานออกเลยแม้แต่คนเดียว

ถึงอย่างนั้น ส้มก็บอกว่าตั้งแต่เปิดโรงแรมสุขนิรันดร์โฉมใหม่มาตั้งแต่ปี 2019 บรรยากาศการทำงานกับครอบครัวก็ไม่ได้สดใสเฮฮาเสมอไป มีช่วงเวลาที่เธอรู้สึกเครียด เพราะรับแรงกดดันจากผู้ใหญ่จนรู้สึกเหมือนไปต่อไม่ไหว แต่ก็เป็นคนในครอบครัวนี่แหละที่พยุงเธอขึ้นมา

“บางครั้งเราเห็นไม่ตรงกับป่าป๊าและหม่าม้า อาจเป็นเจเนอเรชันที่แตกต่างกันและประสบการณ์เราไม่ได้เก่งเท่าเขา แต่เรายังมีน้อง ๆ เป็นแบ็กอัปให้ เช่น การโทรหาน้องที่อยู่อังกฤษตอนเที่ยงคืน ตี 1 ขอเขาให้ช่วยรับฟังหรือทำงานให้ ป่าป๊าหม่าม้าไม่โอ๋เรา เราโทรไปบ่นกับเอบ้าง หรือตอนอากงยังอยู่ ส้มก็ไปร้องไห้กับอากง” ส้มเปิดอก 

“ตอนเราทำธุรกิจ ถึงแม้เราจะเหนื่อยยังไง กลับมาที่บ้าน ถึงเขาจะคุยเรื่องธุรกิจกันต่อแหละ แต่เราก็ยังไปซุกตัวกับใครบางคนได้ รู้ว่าอย่างน้อยเราก็มี Emotional Support ตรงนี้อยู่”

แม้ผู้เป็นพ่อแม่จะไม่โอ๋ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่รักหรือเป็นห่วงทายาทของตัวเองเลย ม้าจินตนาเผยว่า นี่คือ Tough Love ที่อยากสอนให้ลูกหลานอดทนกับอุปสรรค 

“ไม่ว่าอุปสรรคอะไร เราต้องฟันฝ่าไปให้ได้ ไม่ใช่มานั่งจมและเศร้ากับมัน เวลามีปัญหาเราต้องหาทางออก เราไม่ได้ก้าวขึ้นได้อย่างสบาย ๆ หรอก อาจจะต้องเจอหินสักหน่อยหนึ่ง ที่ถ้าเราเจอเราก็ต้องก้าวข้ามไปให้ได้ ถ้าเรารู้จริงมันจะมีหนทางออก”

สำหรับครอบครัวจิตรสกุล สุขนิรันดร์โฉมใหม่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่มีทางเดินอีกยาวไกลให้เดินต่อ

“อย่างที่บอกว่าเราอยากทำสุขนิรันดร์ให้เป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในยุคนี้ ในอนาคตส้มอยากให้เป็นที่ที่ทุกคนมาพักแล้วอยากกลับมา และอยากให้เป็นหนึ่งในที่ที่ทุกคนนึกถึงเมื่อนึกถึงโรงแรมที่เชียงราย

“มากกว่าการเป็นโรงแรมที่มีมาตั้งแต่รุ่นอากง สุขนิรันดร์เป็นความหมายของครอบครัวจิตรสกุล มันคือความไว้เนื้อเชื่อใจที่รุ่นพ่อแม่ให้เรามา ไม่ใช่แค่ส้มคนเดียว แต่รวมไปถึงน้อง ๆ คนอื่นด้วย เราคือเจเนอเรชันที่ผู้ใหญ่ส่งต่อความรัก ความหวงแหนของเขามาให้ เพราะเขาเชื่อว่าเราจะทำได้ ซึ่งเราจะทำดีเท่าเขาไหมไม่รู้ แต่เราจะทำให้ดีที่สุด”

3 คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ในการส่งต่อธุรกิจให้ลูก จากปากของ ป่าป๊าเรืองชัยและหม่าม้าจินตนา จิตรสกุล

  1. สอนให้รู้จริงเกี่ยวกับธุรกิจผ่านหลายวิธี ตั้งแต่การซึมซับการทำงานตั้งแต่เด็ก ๆ การชี้แนะ การให้โอกาสในการไปเรียนรู้เพิ่มเติม
  2. ปิดตาไว้ข้างหนึ่ง มีเวทีให้เขา ถ้าสอนแต่ไม่มีเวทีให้เขา พ่อแม่ไม่ยอมถอยออกมา เราก็ต้องสร้างเวทีใหม่ให้เขา
  3. คอยให้กำลังใจ ซัพพอร์ตเขา

คำแนะนำสำหรับลูกที่รับช่วงต่อธุรกิจมาจากพ่อแม่ จากปากของ ส้ม-สุธาสินี จิตรสกุล

“การปรับตัวกับพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อก่อนเราอาจจะเป็นลูก แต่ทุกวันนี้เราคือผู้บริหารที่ทำงานกับพวกเขา มุมมองหลาย ๆ อย่างก็จะไม่ได้มองผ่านเลนส์ของลูกอย่างเดียว หรือพี่ ๆ ทีมงานเองก็ตาม เมื่อก่อนเขาเป็นพี่เรา แต่วันนี้เราเป็นลีดเดอร์ให้เขา หรือพี่น้องที่เคยวิ่งเล่นกัน วันนี้เราต้องปรับเข้าหากันในฐานะเพื่อนร่วมงาน”

Writer

พัฒนา ค้าขาย

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนชาวเชียงใหม่ผู้รักทะเลและหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographers

Avatar

ปฏิเวธ ยืนธรรม

สถาปนิกอิสระ ชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก ชื่นชมแสงธรรมชาติสวยๆ

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'