“ไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวยวัฒนธรรม เราอยากเป็นเวทีตัวแทนของคนทั้งประเทศที่ผลักดันภูมิปัญญาไทยให้ไปเวทีโลก”
ฟังดูเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ แต่นี่คือความตั้งใจของ โอ๊ต-ชยะพงส์ นะวิโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม
ไม่ว่าจะก๋วยเตี๋ยวเรือธรรมดาที่แวะกินข้างทาง ผลไม้แปรรูป และงานถักที่คนไทยเราเคยเห็นจนชินตา บวบที่ใครหลายคนมองว่าเป็นพืชขยะ หรือการนำหม้อดินเผามาทำกาแฟที่บางคนอาจมองว่าเชย เหล่านี้เป็นผู้ประกอบการร้านเล็กๆ จากหลายภูมิภาคทั่วไทย ที่ได้มาเปิดร้านที่สุขสยามและได้รับความสนใจจากต่างชาติอย่างล้นหลาม
ทั้งได้รับการติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ ได้ส่งออกไปยังประเทศในแถบเอเชียและยุโรป และแม้กระทั่งมีแบรนด์ระดับโลกให้ความสนใจ โอ๊ตให้ความเห็นว่า เรามักเคยชินกับ ‘วิถีไทย’ จนรู้สึกว่าเป็นสิ่งสามัญธรรมดา แต่หากมองลึกลงไปจะเห็นว่าภูมิปัญญาไทยนั้นมีเสน่ห์
คนต่างชาติที่มาเห็นรู้สึกประทับใจเพราะเห็นเสน่ห์ที่เรามองข้ามไป
ดีที่สุดของแต่ละภาค
สิ่งที่คนตัวเล็กๆ ต้องการมากที่สุดคือ เวที
เมืองสุขสยามจึงเป็นเมืองจำลองที่พร้อมต้อนรับคนไทยและนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก ทั้งกรุ๊ปทัวร์และนักท่องเที่ยวสัญจรที่อยากสัมผัสวิถีความเป็นไทย
โจทย์ที่หินที่สุด คือการคัดสรรของดีที่สุดของแต่ละภาคมารวมไว้ด้วยกัน
ข้าวซอยที่อร่อยที่สุด กาละแมที่หวานอร่อยที่สุด ลายผ้าที่สวยสะดุดตาที่สุด มีทั้งของกินของใช้ให้ช้อปครบจบในที่เดียว พร้อมทั้งหมุนเวียนสับเปลี่ยนร้านค้าอยู่เสมอ
เมื่อถามโอ๊ตว่า มีวิธีเสาะหาของดีเหล่านี้อย่างไร เพราะเมืองไทย 77 จังหวัดมีของดีเยอะมาก
ก็ได้คำตอบว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้จะต้องมีต้นตำรับดั้งเดิม นั่นคือ มีภูมิปัญญาที่สืบสานส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่หยุดพัฒนา ปรับตัวให้พร้อมขายในระดับสากล พร้อมขยับขยายสู่เวทีโลก
ในฐานะคนรุ่นใหม่ โอ๊ตมองว่า “ประวัติศาสตร์สร้างใหม่ไม่ได้ คนรุ่นใหม่ต้องขุดไปเจอรากนั้นก่อนแล้วค่อยบิด ดัดแปลงให้เป็นภาษาของปัจจุบันเพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น”
หากอยากรู้ว่าของไทยที่โกอินเตอร์มีดีแค่ไหน และมีไม้เด็ดอย่างไร
วันนี้ The Cloud ขอรับอาสาเป็นไกด์ ชวนมาแวะพูดคุยกับ Local Heroes ผู้ประกอบการดีเด่นในเมืองสุขสยามกัน
ภาคอีสาน
01 กลุ่มวิสาหกิจไทเมืองเพีย
‘ศิลปะจากใยบวบที่มีออเดอร์จากยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์’

“อย่ายึดติดว่าภูมิปัญญาไทยจะต้องเชย โบราณ” เป็นอุดมการณ์ของ เรืองอุไร ชาแป ประธานกลุ่มวิสาหกิจไทเมืองเพีย จังหวัดขอนแก่น ที่ทำสินค้าศิลปะอีสานหลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจอย่างล้นหลาม คือสินค้าจากใยบวบ
“หลายประเทศมีบวบ แต่พันธ์ุพื้นเมืองของไทยมีเส้นใยพิเศษ เมื่อโดนน้ำแล้วนุ่ม เหมาะนำมาทำที่ใส่สบู่ ที่ขัดตัว” เรืองอุไรเล่าความเป็นมาที่เล็งเห็นโอกาสจากบวบพันธ์ุไทยที่ใครหลายคนมองว่าเป็นแค่พืชขยะ
เธอนำเศษเหลือจากบวบมาออกแบบเป็นสินค้าที่เธอเรียกว่า ‘นวัตกรรมอีสาน’ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบให้เป็นรูปมีมิติต่างๆ เช่น รูปสัตว์ และยังผลิตด้วยมือจากคนในชุมชน ทั้งคนพิการ คนสูงวัย และออทิสติก


สิ่งที่เห็นได้ชัดเวลาเธอเล่าคือความภาคภูมิใจในบ้านเกิดแดนอีสาน
“ขอบคุณที่เกิดบ้านนอก เราปั้นวัวปั้นควายตอนเด็กเล่น นั่นคือการฝึกให้มีไอเดียออกแบบงานศิลปะจากใยบวบหลายๆ อย่าง”
เรืองอุไรเล่าว่าต่างชาตินิยมสั่งทำออเดอร์ตามวัฒนธรรมความเชื่อของแต่ละชาติ สิงคโปร์ชอบสิงโตทะเล คนยุโรปชอบปลากระเบน ในขณะที่ญี่ปุ่นชอบเต่า
ส่วนเคล็ดลับในการส่งออกขายชาวต่างชาติให้ประสบความสำเร็จนั้น เธอบอกว่า คือการรู้จักประยุกต์การออกแบบให้หลากหลาย เช่น ช้างซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยก็ออกแบบไว้หลายเวอร์ชัน เวลามีคนสั่งอยากให้ทำ รูปตุ๊กตุ๊ก หรือ Angry Bird เธอก็เคยทำมาแล้ว มีการคิดค้นสินค้าใหม่ตลอด เช่น โคมไฟจากบวบ สควิชชี่ที่ทำจากใยบวบผสมยางพารา
การไม่หยุดนิ่งของร้านทำให้แม้แต่แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกก็สนใจมาสั่งทำสินค้าจากใยบวบมาแล้ว และเรืองอุไรก็ไม่เคยลืมถิ่นบ้านเกิดของเธอ
“ศิลปะอีสาน มีความซื่อ แซ่บ จริงใจ เราใช้ชื่อ ‘ไทเมืองเพีย’ คนจะได้รู้ว่าสินค้ามาจากชุมชนไหน เราไม่ได้มีดีกรีดอกเตอร์ แต่มีดีกรีในฐานะคนในชุมชนที่สามารถอนุรักษ์ภูมิปัญญาไว้ได้”
ภาคกลาง
02 ก๋วยเตี๋ยวเรือเมืองปทุม
‘นอกจากมีคนสิงคโปร์ที่มากินทุกวัน ก็ยังคนจีนมาขอซื้อสูตรไปขาย’

ว่ากันว่าปทุมธานีขึ้นชื่อเรื่องก๋วยเตี๋ยวเรือ หมวย-กมลรัตน์ แซ่อึ้ง เล่าว่าตาของเจ๊หมวยเคยขายก๋วยเตี๋ยวเรือในคลอง พอเริ่มมีถนน ก็ยกพลขึ้นมาขายบนบก และเปลี่ยนมาขายประจำอยู่ที่ตลาดน้ำขวัญเรียม
สูตรเด็ดของก๋วยเตี๋ยวเรือเมืองปทุมไม่ใช่แค่น้ำซุปที่ต้มเกิน 2 ชั่วโมงจนเข้มข้นเท่านั้น แม้แต่เครื่องปรุงอย่างพริกกับถั่วทางร้านก็คั่วเอง พริกน้ำส้มทำเองด้วยสูตรไม่เหมือนใคร กระเทียมเจียว เจียวสดใหม่ทุกเช้า คลุกเคล้าให้เข้ากันออกมาเป็นรสก๋วยเตี๋ยวเรือที่กลมกล่อม
ลองชิมแล้วรสแซ่บ กลิ่นหอมจัดจ้านจากเครื่องปรุงและวัตถุดิบที่สดใหม่
พอมาขายที่สุขสยาม ก็มีการปรับขนาดชามให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เหมาะกับคนต่างชาติ คัดสรรวัตถุดิบ ปรับปรุงรสชาติให้ดีขึ้นเรื่อยๆ


เวลาคนต่างชาติมากินก็จะช่วยแนะนำว่ากินเมนูอะไรให้ถูกปาก เพราะแต่ละประเทศชอบไม่เหมือนกัน คนจีนชอบกินหมู กัมพูชาชอบกินเนื้อ
ความภูมิใจของเจ๊หมวย คือ “เราเป็นก๋วยเตี๋ยวที่ต่างชาติยอมรับในรสชาติ เป็นต้นตำรับที่คนกินแล้วติดใจ มีคนสิงคโปร์ที่มากินทุกวัน คนจีนมาขอซื้อสูตรไปขาย”
นอกจากรสชาติของก๋วยเตี๋ยวที่ทำให้ร้านแน่นขนัดแล้ว เจ๊หมวยกำชับว่าสิ่งที่ลืมไม่ได้ คือ “การยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นส่วนหนึ่งของรสชาติ อร่อยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องบริการดีด้วย”
ภาคใต้
03 ขนมจีบป้าพิณ
‘ของดีเมืองตรังที่อร่อยถูกปากคนฝรั่งเศสและอิตาลี’

มาถึงของดีประจำจังหวัดตรังอย่างขนมจีบ
ฟังชื่อแวบแรกนึกว่าเป็นขนมจีบติ่มซำ แต่ โด๊ฟ-ณัฐวัตร ตันศิริเสถียร ทายาทรุ่นสองของร้านขนมจีบป้าพิณอธิบายว่า ขนมจีบภาคใต้มีลักษณะคล้ายกะหรี่ปั๊บ ที่เรียกขนมจีบเพราะเวลาเข้าเตาอบต้องขลิบและม้วน
สินค้าหลักของร้านขนมจีบป้าพิณคือขนมจีบ ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ พ.ศ. 2539 และในภาคใต้มีเฉพาะจังหวัดตรังที่มีขนมแบบนี้
หากเช็กอินตรัง ต้องมาซื้อขนมจีบสังขยา ถึงจะรู้สึกว่ามาถึงตรังแล้ว
จุดเด่นของขนมจีบป้าพิณ คือไส้สังขยาทำจากไข่ 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้วิธีอบไม่ทอด ไส้หลักคือ ไส้สังขยาไข่ดั้งเดิม และมีไส้อื่นๆ อีกเกือบ 10 ไส้ให้เลือก เช่น มะพร้าว ทุเรียน มันม่วง


ใครๆ ก็ว่าขนมของประเทศตะวันออกกับตะวันตกไม่เหมือนกัน แต่โด๊ฟบอกว่าความจริงแล้วรสนิยมการกินมีความคล้ายกันอยู่
“คนฝรั่งเศสกับอิตาลีชอบขนมเราเพราะเมืองเขากับเมืองเรากินขนมหวานคล้ายกัน ฝั่งเอเชีย คนเวียดนาม มีขนมเทียนเวียดนามที่คล้ายกัน โดยรวมแล้วมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม ชอบกินขนมเราที่สุด กินแล้วถูกปาก”
เพราะชาวต่างชาติไม่เคยรู้จักขนมเมืองตรังมาก่อน การจัดร้านแบบเปิดให้ลูกค้าได้เห็นขนมชัดๆ ทำให้คนกล้าเข้ามาลอง
โด๊ฟบอกว่า การได้มาอยู่สุขสยามก็เหมือนกับการได้เปิดร้านให้เจอคนต่างชาติหลากหลายมากขึ้น หากกินแล้วติดใจ อยากซื้อซ้ำ ทางร้านก็มีช่องทางการขายออนไลน์ ทั้งผ่าน Lazada และไปรษณีย์รองรับ
“เราจะบอกเสมอว่า มากินวันนี้แล้ว ตามไปเที่ยวเมืองตรังวันหลังได้นะ บางคนตามไปซื้อที่ตรังเลยก็มี”
ภาคเหนือ
04 ลุงเงินกาแฟหม้อดิน
‘เปิดแฟรนไชส์ที่ต่างประเทศ ทั้งจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย’

ขวัญ-มณฑล อาจหาญ เป็นเจ้าของร้านรุ่นสองที่สืบสานสูตรการทำกาแฟหม้อดินของภาคเหนือมากว่า 50 ปี จากลุงเงินผู้เป็นพ่อ
“เด็กรุ่นใหม่มาเห็นแล้วแปลกใจว่าหม้อดินเผาใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยเหรอ นึกว่าใช้ปลูกต้นไม้ได้อย่างเดียว” ขวัญเล่าว่าภาชนะดินเผาอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยในสมัยก่อน เพราะใช้เก็บความร้อนก็ได้ เก็บความเย็นก็ดี นึกภาพหม้อตุ่มที่เก็บน้ำเย็นได้และหม้อใส่อาหารร้อนที่มีไอกลิ่นหอมลอยฉุยๆ ขึ้นมา
การนำหม้อดินเผามาทำกาแฟทำให้มีจุดเด่นทั้งในแง่รสชาติและภาพจำของร้าน

เมล็ดกาแฟจากป่าดอยสะเก็ดที่เติบโตมาจากในป่า มีกลิ่นไอของดอกไม้ป่า ดิน ลำธาร เมื่อนำมาต้มกับน้ำใบเตยในหม้อดินเผา คั่วกาแฟจากหม้อดินโดยใช้ถ่าน ทำให้เกิดกลิ่นหอมอบอวลของกาแฟโบราณที่ไม่เหมือนใคร
เมื่อนำร้านเข้าห้าง ก็มีการปรับกระบวนการใช้หม้อดินให้ปลอดภัยและทันสมัยขึ้น แต่ยังคงต้นตำรับภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่ โดยเปลี่ยนจากใช้หม้อกับเตาถ่านมาใช้ฮีตเตอร์ขดลวดความร้อนแทน
“ร้านเราใช้วิธีสร้างแรงดึงดูดก่อน พอคนเห็นหม้อก็สนใจ เดินเข้ามาชิม ชอบรสชาติก็ติดใจ เราทำโลโก้ให้จำง่าย”
ปัจจุบันมีชาวต่างชาติที่มาชิมแล้วติดใจหลายราย ทำให้ได้เปิดแฟรนไชส์ที่ต่างประเทศ ทั้งจีนอินโดนีเซีย มาเลเซีย และยังมีขายที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นร้านดั้งเดิมด้วย
“เราคงกระบวนการทำกาแฟและคอนเซปต์ร้านเดิมทุกอย่าง เวลาไปขายต่างประเทศ แต่รสชาติของวัตถุดิบ เช่น ใบเตย นม ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เราต้องไปสำรวจตลาดเพื่อเสาะหาวัตถุดิบให้คงรสชาติใกล้เคียงกาแฟโบราณดั้งเดิมของเรามากที่สุด” ขวัญเล่าด้วยความภูมิใจที่ได้เห็นสูตรกาแฟของพ่อเดินทางไกลไปหลายประเทศ
05 กลุ่มแปรรูปผลผลิตเกษตรตำบลสันติสุข
‘ได้รับความนิยมจากหลายชาติทั้งฮ่องกง ไต้หวัน จีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย’

บุญนภา วรรณคำ และ โสภา ทาอ้าย สองพี่น้องจากกลุ่มแปรรูปผลผลิตเกษตร ตำบลสันติสุข เริ่มนำผลไม้ท้องถิ่นอย่าง ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด มะม่วง มะขาม กล้วย มาทำเป็นผลไม้แปรรูป ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 โดยมีชาวบ้านกว่าร้อยชีวิตช่วยกันทำ
เคล็ดลับการทำผลไม้แปรรูปให้อร่อย คือใส่ใจคุณภาพผลไม้ที่ดี ตั้งแต่ตอนเลือกผลไม้ไปจนถึงขั้นตอนแปรรูปที่ไม่ใส่น้ำตาล เน้นกระบวนการผลิตแบบธรรมชาติ ใส่ใจสุขภาพของคนทาน

ด้วยคุณประโยชน์ของผลไม้แต่ละชนิดที่ไม่เหมือนกัน เช่น ลิ้นจี่บำรุงผิวพรรณ มะขามแก้ท้องผูก ทำให้มีผลไม้มากมายหลายชนิดให้เลือก และด้วยความหลากหลายนี้เองที่ทำให้โดนใจชาวต่างชาติหลายประเทศที่แวะเวียนมา
“คนจีนชอบลำไยอบแห้งเพราะเชื่อว่าเป็นตามังกร (Dragon Eyes) เป็นของที่มีค่าของคนจีน มะม่วงอบแห้ง ก็ได้รับความนิยมจากหลายชาติ ทั้งฮ่องกง ไต้หวัน จีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย” โสภาเล่าสิ่งที่สังเกตได้จากพฤติกรรมการซื้อของคนแต่ละชาติ
การได้ขยับขยายมาขายที่สุขสยามทำให้ได้ทำผลิตภัณฑ์ให้เป็นสากลมากขึ้น แพ็กเกจใสที่มองเห็นผลไม้ได้ชัดและการให้ชิมที่หน้าร้าน ทำให้ลูกค้าต่างชาติที่ไม่เคยทานกล้าลองชิม และกลับมาสั่งออเดอร์เพิ่มเติมต่อไป
ธนบุรีดีไลท์
06 จุ๊บเจลเนอรัล
‘กระเป๋าถักนิตติ้งและโครเชต์ของกลุ่มชาวบ้านที่ดีไซเนอร์จากปารีสติดต่อขอซื้อ’


นอกจากสินค้าภูมิปัญญาของภาคต่างๆ แล้ว แถบชุมชนคลองสานก็มีกลุ่มที่เชี่ยวชาญในงานถักทุกชนิดทั้งนิตติ้งและโครเชต์ โดยนำแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ดอกคาเมลเลีย ลายกนกไทย ทำออกมาเป็นสินค้าหลากหลาย ทั้งกระเป๋า รองเท้า ผ้าพันคอ เครื่องประดับ
ความพิเศษ คือไม่ได้มีดีแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ จุ๊บ-ปิลันธนา นามวงศ์ ตั้งใจให้งานถักเป็นศิลปะบำบัดสำหรับกลุ่มคนเกษียณที่มีฝีมือการถักดอกไม้ระดับครู ไปจนถึงเด็กสาวที่มีลูกในวัยเรียนและกลุ่มแม่บ้าน
โดยจุ๊บได้มอบหมายงานถักที่เหมาะกับนักถักแต่ละกลุ่ม เด็กๆ มักได้ถักของชิ้นเล็กชิ้นน้อยเช่นดอกไม้ ส่วนแม่บ้านเน้นถักกระเป๋า เธอยังให้อิสระในการออกแบบแก่นักถัก แต่ก็ยังคุมคอนเซปต์ให้ตรงความต้องการของตลาด
งานถักของร้าน จุ๊บเจลเนอรัล เริ่มโกอินเตอร์เมื่อมีซุปเปอร์สตาร์และอินฟลูเอนเซอร์จากไต้หวัน
มาซื้อกระเป๋าถัก ทำให้คนไต้หวันแห่มาซื้อตาม

เมื่อมีคนสนใจมากขึ้น สิ่งที่ร้านปรับตัว คือไม่ได้ทำตามสีและออกแบบที่ตัวเองชอบเท่านั้น แต่ฟังความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
“แต่ละประเทศตอบรับสีไม่เหมือนกัน โทนสีที่เราคิดว่าสวย บางทีคนต่างชาติก็ไม่ได้ชอบแบบเรา คนอังกฤษอยากได้สีเรียบๆ อย่าง ขาว ดำ เราก็ทำให้ หลายครั้งลูกค้ามีไอเดียมาว่าอยากได้แบบไหน ก็จัดให้”
ดังนั้นไม่ว่าจะมีดีไซเนอร์ที่ปารีสมาติดต่อขอซื้อ หรือคนมุมไบจากอินเดียมาสั่งทำหมวกและผ้าพันคอเป็นจำนวนหลายร้อย จุ๊บเจลเนอรัล ก็จัดให้ได้


สร้างเมืองแห่งสารพัดสุข โดยนักออกแบบสวนสนุก
Local Heroes แต่ละคนนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่แตกต่างกัน และนี่เป็นหนึ่งในความตั้งใจของโอ๊ตที่อยากให้สุขสยามเป็นเมืองสารพัดสุข
“คนไทยมีความสุขที่มีเสน่ห์แบบไม่เหมือนใครในโลก อะไรก็สุขได้” สุขสยามเลยอยากนำเสนอทั้งอาหารเลิศรสแบบ ‘สุขแซ่บ’ ตีแผ่ความเป็นมิตรแบบ ‘สุขสนุก’ ของคนไทย รวมถึงเรื่องราววัฒนธรรมวิถีไทยที่มีทั้ง ‘สุขเสน่ห์’ ‘สุขสัมพันธ์’ ‘สุขสืบสาน’ ‘สุขสร้างสรรค์’
หนึ่งในวิธีที่ทำให้คนเดินเล่นสัมผัสถึงวิถีไทยเหล่านั้น คือการออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองให้ไม่เหมือนห้างทั่วไป รวมทั้งใส่อัตลักษณ์ไทยลงไป
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบเดินสำรวจเมืองสวนสนุก ก็น่าจะชอบเดินเล่นที่สุขสยามเหมือนกัน เพราะนักออกแบบสุขสยามคือคนเดียวกับคนที่ออกแบบให้ Harry Potter Land ที่ Universal Studio
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมสุขสยามถึงมีแผนที่แบ่งเป็นโซนภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ โดยแต่ละโซนมีการร่วมมือกับศิลปินไทยและ Urban Architect เพื่อออกแบบรายละเอียดสถาปัตยกรรมของบ้านในแต่ละภาคที่ต่างกัน ทั้งลายไม้ จั่ว วิธีการก่อสร้าง
เมื่อเดินเข้าไป จึงเห็นทั้งบันไดพญานาคของภาคเหนือ ชิโน แมนชั่นของภาคใต้ ลานเมืองของภาคกลาง และเล้าข้าวไทยในแบบอีสาน
หากเงี่ยหูฟังให้ดี เวลาเดินเล่นในแต่ละโซนจะได้ยินเสียงเพลงพื้นบ้านของแต่ละภาค ที่กระซิบเล่าเรื่องวัฒนธรรมเพื่อรอให้คนเงี่ยหูฟัง
Rome was not Built in One Day
สำหรับโอ๊ต การคัดสรรร้านค้ามาอยู่ในสุขสยามเป็นงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด
การสืบสานวัฒนธรรมเป็นงานที่พัฒนาต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ เหมือนพัฒนาเมืองๆ หนึ่ง หากร้านค้าที่มาอยู่ในเมืองสุขสยาม ไม่ได้ขยับขยายหรือพัฒนาต่อก็ไม่มีความหมาย
การไม่ได้มองสุขสยามว่าเป็นแค่ตลาดน้ำติดแอร์ แต่เป็นเวทีตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศ จึงทำให้แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ที่ปล่อยพื้นที่ให้ร้านค้ามาเช่าเท่านั้นแล้วจบ
ในปีนี้สุขสยามเริ่มก่อตั้ง สุขสยาม อะคาเดมีที่มุ่งติดอาวุธให้ผู้ประกอบการอย่างจริงจังมากขึ้น ทั้งด้านการค้ากับต่างประเทศ การสร้างแบรนด์ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และอีกมากมาย
สิ่งสำคัญที่สุด คือการให้โอกาสกิจการชุมชนได้เติบโตอย่างยั่งยืน
หลายกิจการ เมื่อต่างชาติให้ความสนใจมากขึ้นก็สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนต้นน้ำมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟ ผลไม้จากไร่ หรือชุมชนคนทำงานฝีมือ
เพราะเมืองที่ดีจะเติบโตได้เมื่อทุกคนโตไปด้วยกัน
Facebook : SOOKSIAM