“มันต้องย้อนกลับไปตั้งแต่เกิด”

ตุ่ม-ทรงพล สังข์สวน (Toom Visualizer) นักวาดสตอรี่บอร์ดประสบการณ์มากกว่า 30 ปี บอกกับเราแบบนั้น เมื่อถามถึงก้าวแรกในการเข้าสู่วงการ ‘Visualizer’ ที่เขาถอดจินตนาการให้กลายเป็นภาพจริง ๆ

ผลงานเขียนสตอรี่บอร์ดของตุ่มมีทั้งภาพยนตร์ ภาพยนตร์สั้น ภาพยนตร์โฆษณา และแอนิเมชัน เช่น สตรีเหล็ก, 15 ค่ำ เดือน 11, แฟนฉัน, ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, เด็กหอ, 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น, อินทรีแดง, แสงกระสือ, Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย, ครุฑ มหายุทธ หิมพานต์, ภาพหวาด, ผีตามคน, คอลเกต ยิ้มสู้, โดฟ #LetHerGrow ฯลฯ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากลายเส้นตลอดชีวิตของเขา

ตุ่ม สตอรี่บอร์ด : Visualizer ที่วาด Storyboard ให้หนังและโฆษณาไทยมาตลอด 30 ปี

ชายคนนี้สร้างคำว่า ‘ล่ามภาษาภาพ’ มานิยามอาชีพที่เขารัก เขาทำหน้าที่สร้างภาพฟุ้งฝันของบรรดาผู้กำกับให้ประจักษ์ ความสนุกคือมันเหมือนจริงขนาดนั้นได้อย่างไร และความน่าสนุกอีกอย่างคือ ตุ่มเป็นคนเขียนสตอรี่บอร์ด สิ่งที่นำไปขายจึงไม่ใช่ตัวเขา แต่เป็นภาพที่เขาเขียน

เมื่อสิบกว่าปีก่อนนับเป็นยุครุ่งเรืองของ ‘ตุ่ม สตอรี่บอร์ด’ คิวทองจนภาพยนตร์และภาพยนตร์โฆษณาต่อแถวจองตัวกันชนิดนับเรื่องไม่ถ้วน แม้วันวานจะล่วงเลยผ่าน พาอายุเด็กหนุ่มเข้าสู่วัย 55 แต่ตุ่มยังเป็นที่ยอมรับของวงการ มีผู้กำกับมากหน้าหลายตาชวนเขาเขียนสตอรี่บอร์ดด้วยกันอยู่เสมอ (ขนาดที่ว่าระหว่างสนทนากันอยู่ก็มีสายเข้า เพื่อจองตัวและนัดหมายคุยเรื่องหนังใหม่ที่ชวนให้เขาเขียนบอร์ด) และตุ่มยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในหลายมหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจแก่นแท้ของ Visualizer

นี่พอจะยืนยันได้ว่า ‘ล่าม’ คนนี้สื่อสารด้วย ‘ภาพ’ เก่งกาจขนาดไหน

เรื่องราวทั้งหมดนี้คือ ชีวิตและ Visualizer ของชายผู้ตั้งใจจะเขียนสตอรี่บอร์ดจนหมดลมหายใจ

ฉากที่ 1
เด็กชาย-นายทรงพล

เด็กชายตุ่มเป็นเด็กจังหวัดนนทบุรี เขาเกิดในยุคแอนะล็อกและธรรมชาติ โตมากับดิน โตมากับทราย โตมากับหนังกลางแปลงตามงานวัด โตมากับการ์ตูนผีเล่มละบาทจากนักวาดคนไทย

“เราเชื่อว่าในวัยเด็กยังไม่มีใครรู้หรอกว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร เราก็เหมือนกัน เรามีปมด้อยเรื่องกีฬา สิ่งที่สนใจตอนนั้นคือการวาดรูป เพราะมีแรงบันดาลใจจากการ์ตูนเล่มละบาทและโปสเตอร์หนังวาดมือ มันทำให้เรารู้สึกว่ากลุ่มคนที่วาดรูปพวกนี้มหัศจรรย์มาก

“เรายังไม่รู้ว่า ‘ศิลปิน’ คืออะไร ศิลปินคือเทพเจ้าหรือเปล่า กินอาหารทิพย์หรือเปล่า ถึงได้เก่งขนาดนั้น จากนั้นเราก็เริ่มขีด ๆ เขียน ๆ หัดวาดการ์ตูนก่อน สมัยนั้นก็ทำมาหากินแล้วนะ”

ตุ่ม สตอรี่บอร์ด : Visualizer ที่วาด Storyboard ให้หนังและโฆษณาไทยมาตลอด 30 ปี
ตุ่ม สตอรี่บอร์ด : Visualizer ที่วาด Storyboard ให้หนังและโฆษณาไทยมาตลอด 30 ปี

คุณทำมาหากินจากการวาดรูปตั้งแต่ตอนไหน – เราสงสัย

“ตั้งแต่ ป.5 – 6 เราฉีกหน้ากลางของสมุดปกอ่อนมาวาดอุลตร้าแมน ไอ้มดแดง ให้เพื่อน คิดเงินครั้งละสลึง” เขาเล่าด้วยเสียงหัวเราะถึงอาชีพแรกในชีวิตของเด็กชายทรงพล

ตุ่มซึมซับความสนใจของเขามาเรื่อย ๆ จนตัดสินใจเรียนสายวิชาชีพด้านวิจิตรศิลป์

“เราเลือกเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา เพราะตอน ม.3 อาจารย์เห็นแวว ส่งแข่งวาดรูประดับจังหวัด เราติด 1 ใน 3 ตอนนั้นคิดว่าตัวเองเจ๋ง เป็นหนึ่งในตองอูของเมืองนนท์ พอเข้ามาเรียนปีแรก สุดท้ายบ๊วย เพราะเป็นกลุ่มที่อายุน้อยที่สุด เพื่อน ๆ เรียนศิลปะกันมาแล้ว หลายคนซิ่วมาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาด้านศิลปะจากที่ต่าง ๆ

“จากปี 1 ที่เราบ๊วยสุด เราแก้ปัญหาด้วยการฝึก พอ 5 โมงเลิกเรียน ไม่กลับบ้าน เอาหุ่นนิ่งมาตั้ง นัดเพื่อน 3 – 4 กลุ่มมาวาดหุ่นนิ่งด้วยกันตั้งแต่ 6 โมงถึง 1 ทุ่ม แล้วก็นั่งรถเมล์กลับบ้าน ทำแบบนี้อยู่เป็นปี จนปี 2 งานเราเริ่มติดบอร์ด ทุกอย่างมาจากการฝึกจริง ๆ ไม่ได้มาจากพรสวรรค์

“สิ่งที่เราเรียนรู้จากการเรียน ปวช. คือพื้นฐานการวาดรูป จากที่เคยคิดว่าตัวเองเจ๋งที่สุดในปฐพี จริง ๆ ก็แค่กบในกะลา พอเราวาดทุกวัน มันก็เข้ามาในสัญชาตญาณ จนรู้สึกว่ามันอยู่ในตัวเราแล้ว มันอยู่ในทุกอณูของชีวิตเราแล้ว” นายทรงพลในวัย 55 ย้อนความทรงจำถึงตนเองในวัยเด็ก

ตุ่ม สตอรี่บอร์ด : Visualizer ที่วาด Storyboard ให้หนังและโฆษณาไทยมาตลอด 30 ปี

ช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ปวช. สู่ ปวส. ตุ่มก็ยังเลือกเชื่อสัญชาตญาณด้านศิลปะของตนเอง

“ตอนนั้นวิทยาลัยเพาะช่างเปิดคณะใหม่ คือ แผนกพาณิชยศิลป์ แล้วพาณิชยศิลป์มันจบไปทำอะไรกินวะ ไปทำงานโฆษณา ไปทำงานกราฟิก ซึ่งสุดท้ายเราตอบไม่ได้จริง ๆ ว่าจบแล้วจะทำอาชีพอะไร

“พอมาเรียนพาณิชยศิลป์ ยอมรับว่าหลักสูตรและระบบการเรียนการสอนในยุคนั้นมันทำร้ายเราทางอ้อม เชื่อไหม เราเรียน ปวส. 2 ปี ได้เรียนสตอรี่บอร์ดแค่ 1 คาบ แล้ววันที่สะท้อนใจมาถึงทุกวันนี้ คืออาจารย์เดินเข้ามาตอน 9 โมง ‘วันนี้เราจะทำงานเรื่องสตอรี่บอร์ดกัน’ เราใบ้แดก สตอรี่บอร์ดคืออะไร

“อาจารย์ให้เขียนมิวสิกวิดีโอ 1 เรื่องมาส่งภายในสัปดาห์หน้า แล้วอาจารย์ก็เดินออกไป มันเป็นสิ่งที่เราต้องค้นคว้าหาความรู้เอง เราเริ่มจากศูนย์ แล้วโจทย์คือมิวสิกวิดีโอ ก็เลยเอาเพลงของอัสนี-วสันต์มาเล่า เป็นเรื่องคนบ้านนอกเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เราใช้วิธีด้นสด ด้นจากเนื้อเพลง คิดภาพอะไรก็วาดอย่างนั้น การวิจารณ์ของอาจารย์เราก็หวังว่า เขาจะให้เด็กวิเคราะห์แล้วถอดความจากเนื้อหามาสู่ภาพ มันควรจะหนึ่ง สอง สาม สี่ อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แต่นี่ไม่ใช่ มึงวาดสวยใช่ไหม งั้นมึงเอา A ไป

“นี่คือความเจ็บปวดที่เรายอมรับว่าเจ็บปวดมาก” ตุ่มบรรยายถึงแผลในใจระดับ A+

ตุ่ม สตอรี่บอร์ด : Visualizer ที่วาด Storyboard ให้หนังและโฆษณาไทยมาตลอด 30 ปี

จนกระทั่งช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เขาต้องเลือกว่าจะเรียนให้จบปริญญาหรือเบี่ยงเส้นทางชีวิตไปทางไหน โชคดี (มาก) ที่ ม่ำ-สุธน เพชรสุวรรณ กับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง แมวมองจากบริษัทโฆษณา มาเห็นผลงานรีโปรดักต์โปสเตอร์หนังของตุ่มพอดี เหตุการณ์ไม่คาดคิดของชายที่อายุกำลังจะปริ่ม 20 ก็เกิดขึ้น เมื่อแมวมองจากเอเจนซี่ทาบทามให้เขาไปทำงานด้วยกัน

แมวมองชวนคุณอีท่าไหน

เขามาทิ้งนามบัตรไว้ แล้วถามว่าคุณจะเรียนต่อหรืออยากทำงาน คุณลองไปคุยที่ออฟฟิศผมหน่อย และโชคดีฉิบหาย ดันเป็นบริษัทลินตาส เอเจนซีโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เราด้วยความเป็นเด็กบ้านนอก สาทร ธานี ทาวเวอร์ จำได้แม่นเลย กดลิฟต์ ลิฟต์แม่งพูดได้ นี่คือสิ่งมหัศจรรย์มาก เราหิ้วงานพะรุงพะรัง กดลิฟต์ไปชั้น 8 ไปคุยกับ พี่มนัส อัตตวัฒนา หัวหน้าแผนกวิชวลของบริษัท

เขาถามเราว่า ‘น้องจะเรียกเงินเดือนเท่าไหร่’ เราก็โอ้โห

คุณเรียกเท่าไหร่

3,500 เพราะเพื่อนเรา (พิง ลำพระเพลิง) ได้จากบริษัทญี่ปุ่น 3,500 เขาตอบกลับมาว่า ที่นี่สตาร์ท 5,000 เราเลยตอบตกลง ณ วันนั้นกูไม่เรียนต่อแล้ว ตัดสินใจเริ่มต้นชีวิต Visualizer ที่บริษัทนี้ตั้งแต่อายุ 19 – 20

เรื่องราวของ ตุ่ม-ทรงพล สังข์สวน (Toom Visualizer) กับอาชีพ Visualizer ที่ถอดภาพจินตนาการเป็นภาพจริง

ฉากที่ 2
ชีวิตในบริษัทโฆษณา

คุณคิดถูกแล้วใช่ไหมที่เลือกทำงานแทนการเรียนต่อปริญญาตรี

คิดถูก เราทำงาน 2 ปี เรามีเงินเดือน มีเงินให้แม่ เลี้ยงดูแม่ได้ นั่นคือสิ่งที่มีความสุขที่สุด ในขณะที่เพื่อนเรา อีก 2 ปีก็จะรับปริญญา แต่เราไม่เคยรู้สึกขาดตรงนั้นเลย เพราะในแต่ละวันที่ทำงาน มันคือการเรียนรู้ อย่างที่บอก เราเคยเจ็บจากตอนเรียนมาแล้ว แต่งานคือของจริง

มันจริงขนาดไหน

งานเราออนแอร์ทีวี ขึ้นบิลบอร์ด ลงโฆษณาในแม็กกาซีน ซึ่งต้นทางเราเป็นคนวาด

คนวาดที่คุณว่า เรียกว่า Visualizer ใช่ไหม

ตอนนั้นก็ยังไม่รู้หรอกว่าหน้าที่ของ Visualizer คืออะไรกันแน่ เพราะมีแค่ครีเอทีฟมาสเก็ตช์ไอเดียด้วยลายเส้นก้างปลา แล้วบอกเราว่าทำให้มันสวยที เรามีหน้าที่จัดการไอเดียเขาให้ออกมาสวยงามสำหรับการพรีเซนต์ หน้าที่มีแค่นั้นและเรารู้แค่นั้น แล้วตอนนั้นเราก็เจอโปรดักต์ที่หินที่สุดด้วย

โปรดักต์คือ

Consumer Product ของ Lever Brothers จะต้องเขียนผู้หญิงสวย เขียนแชมพูก็ต้องสะบัดให้สลวยสวยเก๋ ตอนนั้นทำงานเข้าปีที่ 3 กำลังเป็นดาวของบริษัท ตอน 10 โมง ครีเอทีฟไดเรกเตอร์บรีฟให้วาดหนัง 1 เรื่อง ตอนบ่าย 2 ลูกค้ามาฟังพรีเซนต์ เรามีเวลา 4 ชั่วโมงในการเขียนบอร์ด ใครจะไปเขียนได้ เขาก็บอกว่าสุด ๆ นะ เราก็เลยสุด ๆ ไป เขาก็เร่ง ‘ตุ่มเสร็จยัง’ เราก็รีบปะบอร์ด วิ่งลงมาจากชั้น 8 ไปที่ห้องฉายหนังชั้น 6 แล้วก็ขอเข้าไปในห้องประชุมด้วย ห้องก็มืด

อย่าบอกนะว่า บอร์ดของคุณทำให้บริษัทขายงานผ่านฉลุย

ลูกค้าถามว่าใครเป็นคนวาด เอามือหรือเท้าวาดคะ เรานี่นั่งหน้าซีด น้ำตามา เรา The show must go on ไปแล้ว ไม่มีใครบอกได้ว่าเขียนแค่ 4 ชั่วโมง มันพูดไม่ได้ เจ้านายก็อธิบายว่ามันนู่นนี่นั่นนะ

มันไม่มีหรอกที่เวลาเร่งขนาดนั้นแล้วงานจะออกมาดี นี่คือความจริง ตอนนั้นแม่งเสียศูนย์จริง ๆ

เรื่องราวของ ตุ่ม-ทรงพล สังข์สวน (Toom Visualizer) กับอาชีพ Visualizer ที่ถอดภาพจินตนาการเป็นภาพจริง

ทรงพลในวัย 23 จัดการกับความรู้สึกนั้นยังไง

เรากลับมาถามตัวเองว่ามาถูกทางหรือเปล่า จะไปต่อไหม โฆษณาก็ไม่เคยเรียน เรียนรู้จากประสบการณ์ล้วน ๆ จากนั้นก็ฝึกวาดผู้หญิง วาดอยู่ 2 ปี จนเป็นมือต้น ๆ ของบริษัท ไม่ว่าจะ Johnson & Johnson สินค้าเกี่ยวกับงานผิว งานผม มาเถอะ มาเลย จำไฮไลต์ได้หมดแล้ว สั่งเราได้เลย

ซึ่งมันพิสูจน์ได้ว่าทุกอย่างต้องฝึกฝนอย่างหนักจริง ๆ แล้วก็โชคดีที่เราได้เลื่อนตำแหน่งจาก Visualizer เป็น Art Director ต้องอยู่ในกระบวนการคิดงานมากขึ้น ถือว่าเป็นโลกใหม่ของเรา

ตอนนั้นคุณเป็น Art Director แบบไหน

เราเป็น Art Director ที่ทำงานหนักมาก คิดด้วย วาดรูปด้วย ขอบอกความลับ 1 ข้อ ช่วงนั้นเราทำงานแบบแมนนวล ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่มาพร้อมคอมประจำตำแหน่ง เงินเดือนก็สูง แต่กูยังนั่งปาดมาร์กเกอร์ สเก็ตช์มืออยู่เลย ทำไมเด็กมันเทพกันจัง ด้วยความที่เป็นมนุษย์รุ่นเก่าก็เริ่มหนี

เดี๋ยว หนีเลยเหรอ

เราว่ามันถึงจุดอิ่มตัว ก็ลาออกเลย ค่อนข้างหักดิบนะ ตอนนั้นเงินเดือนสูงมาก เอาเข้าจริงงานสายครีเอทีฟเราก็ยังไปต่อได้ แต่ที่ออกมายอมรับว่าเป็นอุบัติเหตุทางชีวิต เลยตัดสินใจเป็นฟรีแลนซ์สักระยะ ยังไม่รู้หรอกนะว่าจะไปรอดหรือเปล่า แค่อยากใช้เวลาหาตัวเองอีกสัก 1 ปี

เรื่องราวของ ตุ่ม-ทรงพล สังข์สวน (Toom Visualizer) กับอาชีพ Visualizer ที่ถอดภาพจินตนาการเป็นภาพจริง

1 ปีนั้นคุณเจออะไรบ้าง

เจอว่าตัวเองทำงานได้หลายอย่าง เป็นโปรดักต์ดีไซน์ในโปรดักชันเฮาส์ เป็นดีไซเนอร์ทำสต็อปโมชัน เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เขียนสตอรี่บอร์ด วาดการ์ตูน ใน 1 ปีนั้นเรารับทำทุกอย่าง จนเจอคำถามจากเพื่อนว่า ‘ผ่านมา 1 ปี มึงคิดว่ามึงคือใคร’ เรารู้สึกเหมือนโดนตบหน้า

หลังจากหน้าชา คุณตอบคำถามกับเพื่อนและตัวเองยังไง

เรากลับมาคำนวณต้นทุนชีวิตและคอนแทคในการทำงาน แล้วก็เห็นช่องทางว่าการเขียนสตอรี่บอร์ดน่าสนใจมาก ตอนเป็นฟรีแลนซ์เราปล่อยงานพวกนี้ไปเยอะมากเพราะเงินน้อย แต่ข้อดีคือมีงานถี่ เราก็เลยเปิดตัวว่ามาทางนี้ ไม่ทำพวกครีเอทีฟแล้ว แต่ก็เจอคำถามหนึ่งที่ทำให้สะอึกไปเหมือนกัน

โดนตบหน้าอีกครั้งด้วยคำถามอะไร

‘ตุ่มเป็นถึงครีเอทีฟ ทำไมลดตัวมาทำวิชวลวะ’ คำถามนี้เราวิ้งไปเลย แต่เราเช็กตัวเองตลอดนะ เพราะตอนเป็นครีเอทีฟ เราเรียนรู้เยอะมาก ได้คอนเนกชันเยอะมาก แต่สิ่งที่ตามมาคือโรคเครียด เราต้องนั่งคิดไอเดียกับเพื่อนก๊อปปี้ไรเตอร์ ต้องคอยยิงงานเพื่อน แล้วอวยงานตัวเอง ชีวิตมีแต่การประชุม ๆ ๆ เราไม่มีความสุข

พอกลับมาวาดรูป เรารู้สึกว่านี่คือจุดเริ่มต้นของเรา เราเกิดจากตรงนี้ การประสบความสำเร็จหรือการมีชื่อเสียงเป็นเรื่องปลายทาง แต่ละคนควบคุมเรื่องพวกนี้ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือ ‘ใจ’

การกลับมาวาดรูป ทำให้เรารักษาสมดุลชีวิตของตัวเองได้เป็นอย่างดี เราทำงานแล้วมีความสุข แสดงว่านั่นคือทางที่ควรจะไป มันเป็นจุดเริ่มต้นในอาชีพเขียนสตอรี่บอร์ดของเรา

ฉากที่ 3
ตุ่ม สตอรี่บอร์ด

คุณจำจุดสูงสุดของวิชาชีพได้ไหม

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรากล้าพูดเลยว่า เราคือหนึ่งใน Top 5 ของเมืองไทย หนังไทยเรื่องแรกที่เราวาดคือ สตรีเหล็ก แล้วก็ 15 ค่ำ เดือน 11, แฟนฉัน, ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, เด็กหอ, อินทรีแดง ฯลฯ

นี่คุณกล้าเคลมเลยเหรอ

เพราะยุคนั้นมีคนวาดสตอรี่บอร์ดแบบมืออาชีพน้อย เราทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด แล้วก็กล้าพูดอีกรอบว่า จองคิวลำบากมาก ไม่ได้โม้นะ เรียกว่าคิวทองเลย ตอนนั้นใครยกเลิกคิวเรา เราคิดค่ายกเลิกด้วย เดี๋ยวนี้ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว

ยุครุ่งเรืองของคุณ พอจะบอกได้ไหมว่ามีหนังต่อคิวกันกี่เรื่อง

นับไม่ถ้วน 1 เดือนไม่มีวันหยุด โดยเฉพาะศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตัวดีเลย

เรื่องราวของ ตุ่ม-ทรงพล สังข์สวน (Toom Visualizer) กับอาชีพ Visualizer ที่ถอดภาพจินตนาการเป็นภาพจริง
เรื่องราวของ ตุ่ม-ทรงพล สังข์สวน (Toom Visualizer) กับอาชีพ Visualizer ที่ถอดภาพจินตนาการเป็นภาพจริง

เขาว่ากันว่า ลูกค้ากลัวคุณ

เพราะเราด่าเก่ง (หัวเราะ) โดยเฉพาะจูเนียร์ที่ร้อนวิชา เราเหวี่ยงกับคนที่ไม่ทำการบ้านมาก่อน สิ่งสำคัญคือเขาต้องคิดงานมาให้เสร็จ ไม่อย่างนั้นถือว่าเขาไม่ให้เกียรติเราและไม่ให้เกียรติตัวเอง หน้าที่ของเราต้องต้อนลูกค้าให้จนมุม ถ้าไม่เห็นภาพในหัว เราวาดภาพออกมาไม่ได้ เราจะซักทุกอย่าง พยายามคิดทวิสต์ คิดเบิ้ล โดยไม่เปลี่ยนบทและยังเคารพบริบทเดิม เพราะเราจะไม่เป็น Visualizer ที่ซื่อบื้อเด็ดขาด เราต้องต้อนด้านภาพกับลูกค้าให้จนมุม

แม้บางครั้งลูกค้าไม่มีประสบการณ์ เรายินดีเป็นพี่เลี้ยง เป็นคนที่กล้าทุบหม้อข้าวตัวเอง เงินหายไปหลายร้อยต่อช็อต ไม่เป็นไร เพราะเราอยากเขียนงานที่มันปังแล้วจบ ให้มันไปถึงไอเดียสุดท้ายจริง ๆ นี่คือสิ่งที่ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพมาขับเคลื่อนงานของเรา เพื่อให้ลูกค้าทำงานง่ายขึ้น

ในวัย 55 แต่คุณยังคิวทองอยู่ คิดว่าเป็นเพราะอะไร

วินัย (ตอบทันที) และเราเคารพเวลามากที่สุด ด้วยความเป็นฟรีแลนซ์ คนมองว่างานสบาย ไม่จริง วินัยต้องมากกว่าพนักงานประจำถึง 3 เท่า อีกอย่างคือรูปแบบการทำงาน เราชอบต้อนลูกค้า งานจึงออกมาค่อนข้างชัดเจนมาก ๆ เราใช้วิธีการทำงานออนไซต์ ถ้าออนไลน์ก็ต้องแชร์สกรีนให้ลูกค้าดูว่าสิ่งที่คิดมาตรงกันหรือเปล่า ภาพสเก็ตช์จะเป็นด่านแรกที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในตัวเราแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ จุดแข็งอีกข้อคือเราแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ ที่สำคัญ เราไม่ยอมเป็น Option เราต้องทำตัวเองเป็น Destination

ฉากที่ 4
ล่ามภาษาภาพ

ตอนไหนที่คุณเข้าใจจริง ๆ ว่า Visualizer คืออะไร

ตอนที่เริ่มเป็นวิทยากรสอนหนังสือในมหาลัย ซึ่งประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เรายังทำงานแบบอุตสาหกรรมอยู่ ด้วยตำแหน่ง Visualizer ไม่มีคำจำกัดความเป็นภาษาไทย หน้าที่คือดูเรื่องภาพเป็นหลัก มันคือการแปลงจินตนาการจากหัวออกมาเป็นภาพ เราคิดแบบนี้มาตลอดจนกระทั่งเริ่มสอนหนังสือ

ลูกศิษย์ถามทุกปี ปีแรก ๆ ตอบไม่ได้ จนเราเริ่มสร้างคำว่า ‘ล่ามภาษาภาพ’ เราเอาคำนี้ไปปรึกษา พี่อ้ำ-ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ อาจารย์แม่ที่เคารพรัก เขาบอกว่าคำนี้คือคำที่ถูกต้องที่สุดแล้ว

การทำงานของ Visualizer เริ่มต้นจากอะไร

เริ่มต้นจากบทที่แข็งแรงก่อน เรามีเทคนิคส่วนตัวคือ ‘หลับตา’ แล้วให้ลูกค้าเล่าเรื่อง ยังไม่ต้องวาดใด ๆ ทั้งสิ้น สิ่งนี้ทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมด หลังจากเห็นภาพก็เริ่มลงรายละเอียด ต้องคิดตลอดเวลาว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร สิ่งนี้จะทำให้คนเห็นภาพรวมชัดเจนขึ้น ซึ่งพื้นฐานต้องมาจากบทที่ดีและชัดเจน สิ่งที่เราเพิ่มเติมเข้าไปได้อีกคือขนาดภาพ มุมกล้อง และการเคลื่อนที่ของกล้อง

บทดี บอร์ดดี หมดหน้าที่ของคุณหรือยัง

หมดแล้ว ด้วยความที่วันถ่ายเราไม่ได้ไป เลยต้องรับผิดชอบภาพให้ออกมาเคลียร์ที่สุด แต่ก่อนจะแปลงออกมาเป็นภาพ ต้องอินกับบทหรือเรื่องราวให้ได้ ตราบใดที่ยังไม่อิน เราไม่มีทางเขียนได้

คุณเคยอินกับบทขนาดไหน

เราฝันว่าบินได้ ตอนนั้นเขียนแอนิเมชันเรื่องแรก ‘ครุฑ มหายุทธ หิมพานต์’ ฝันว่าบินได้จริง ๆ ฝันเห็นสีด้วย เห็นครุฑเป็นสีแดง เราบอกพี่วิศิษฏ์ได้ว่าหิมพานต์เป็นยังไง เขาวงกตเป็นยังไง แล้วฉากครุฑบินก็พยายามนึกว่า ถ้าเราเป็นนกจะเห็นอะไรบ้าง เพราะถ้ามานั่งรอว่าต้องเขียนแบบนี้นะ ไม่ทันกิน คนอื่นเอาไปหมด เราว่าการทำงานมันกินกันตรงนี้

เรื่องราวของ ตุ่ม-ทรงพล สังข์สวน (Toom Visualizer) กับอาชีพ Visualizer ที่ถอดภาพจินตนาการเป็นภาพจริง

แล้วหัวใจของการเขียนสตอรี่บอร์ดคืออะไร

ภาพต้องสื่อสารและบอกจุดประสงค์ในแต่ละเฟรมได้ มันไม่ใช่งานที่วาดรูปสวย แต่มันคืองานสื่อสาร สำหรับเรา สตอรี่บอร์ดที่ดีคือสตอรี่บอร์ดที่ทำให้ทีมงานต่อยอดออกมาได้ดีที่สุด

ซึ่งท้าทาย

ท้าทาย เราจะเอาสิ่งที่อยู่ในหัวของผู้กำกับออกมาเป็นภาพได้ไหม จะเหมือนมากน้อยขนาดไหน บางครั้งไม่ใช่ว่าเราเขียนตามคำสั่งอย่างเดียวนะ ต้องใช้สัญชาตญาณด้วย เช่น ความต่อเนื่องของภาพ เฟรมต่อไปควรเป็นอย่างไร เราควรมีเซนส์ในการนำเสนอ การคิด และการถ่ายทอด

ปกติคุณใช้เวลาทำงานเท่าไหร่

ตามความเร่งของลูกค้า

เร็วที่สุด คือ

บัดนาว เอาเลย ต้องเสกขึ้นมาให้ได้

ฉากที่ 5
วิชวลไลเซอร์ที่รัก

ความสนุกของคนแปลงจินตนาการให้เป็นภาพมันอยู่ตรงไหน

ความสนุกคือการเรียนรู้ ยิ่งมีงานใหม่ ๆ เข้ามา เรายิ่งตื่นเต้น ได้เจอผู้กำกับใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ เหมือนได้ลับสมองอยู่ตลอด โดยเฉพาะทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ มันเจ๋งและสนุกมาก

อีกช่วงที่ชอบ คือวันที่หนังออนแอร์ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มไหน แค่ผู้กำกับส่งลิงก์หนังมาให้ก็มีความสุขแล้ว แม้แต่รอบปฐมทัศน์ เราจะดูหนังจนเห็นชื่อตัวเอง เหมือนโรคจิตนะ แต่มันเป็นความภูมิใจว่าเราก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่แข็งแรงของกระบวนการทำงาน

สิ่งที่คุณเรียนรู้จาก Visualizer มาตลอด 30 ปี คืออะไร

เราเรียนรู้ว่าศักยภาพของมนุษย์เป็นสิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อน

คุณกำลังจะบอกว่า

เรากำลังจะบอกว่ามนุษย์ดูถูกศักยภาพของตัวเองมากเกินไป

ตอนนี้เรามีทักษะ มีความสามารถ แต่เราใช้ตัวช่วยกันเยอะมาก รู้สึกอย่างนี้จริง ๆ บวกกับระยะหลังได้เป็นวิทยากรสอนเด็ก ๆ เห็นชัดเลย เด็กจะถามเรื่องเครื่องมือตลอด ใช้หัวแปรงอันไหน ใช้โปรแกรมอะไร ถ้าไฟดับ ไม่มีเน็ต จะทำยังไง แต่เรามีกระดาษ มีดินสอ ก็หาเงินได้แล้ว ที่สำคัญคืออยากให้เขาเห็นและเข้าใจแก่นแท้ของการทำงาน เพราะเด็กส่วนใหญ่หลงระเริงกับปลายทาง อยากให้เขาใช้ศักยภาพความเป็นมนุษย์ให้มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

มีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกเราว่า Virtual กำลังมา NFT กำลังมา ลุ้นตัวเองอยู่ว่าจะตามทันไหม แต่ก็มองว่าเราอยู่มา 50 กว่าปี อยู่รอดได้เพราะความเป็นมนุษย์นะ ถ้า AI ครองโลกก็คงต้องยอมรับ ถึงตอนนั้นคงตายก่อน (หัวเราะ) แต่เชื่อว่าเรายังวาดสตอรี่บอร์ดได้ยันตาย จนกว่าจะไม่มีแรง

เรื่องราวของ ตุ่ม-ทรงพล สังข์สวน (Toom Visualizer) กับอาชีพ Visualizer ที่ถอดภาพจินตนาการเป็นภาพจริง

คุณรักอะไรในอาชีพนี้ถึงอยู่กับมันมาค่อนชีวิต และจะวาดสตอรี่บอร์ดยันตาย

เพราะมันคือชีวิตเรา เราเกิดจากตรงนี้ และอยากตายจากตรงนี้

อย่างที่บอก ตอนเราเป็นครีเอทีฟ เรามีทางเลือก ทำไมถึงไม่ไปทางนั้น แต่กลับเลือกมาเป็น Visualizer เพราะรู้สึกว่ามันใช่ และอีกอย่างคือดัชนีชี้วัดความสุขของเราอยู่ตรงนี้

คุณพูดถึงเด็กชายทรงพลหน่อยสิ เด็กชายที่ฉีกสมุดหน้ากลางวาดอุลตร้าแมนขาย

ต้องขอบคุณมันจริง ๆ ถ้าไม่รู้สึกคันไม้คันมือ อยากหยิบดินสอมาวาดอุลตร้าแมนในหน้ากลางแล้วฉีกไปขาย คงไม่มีเราในทุกวันนี้หรอก ในช่วงวัยนั้นไม่มีใครรู้ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่อย่างน้อยมันเป็นตัวสะกิดจิตวิญญาณให้เรา พอถึงจุดหนึ่งก็ต้องขอบคุณโอกาส ถือว่าจังหวะมันสมูทมาก ๆ แม้จะเฟลจากระบบการศึกษาที่ไม่ถูกใจนัก แต่พออยู่ในองค์กรที่มีระบบ ได้เรียนรู้การทำงาน การจัดการกับความคิดสร้างสรรค์ มันยิ่งกว่าการเรียนในสถาบันอีก ประสบการณ์สอนเราเยอะมากจริง ๆ

แล้วทรงพลในวัย 55 ใช้ชีวิตแบบไหน

ใช้ชีวิตแบบมนุษย์ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ตื่น 7 โมงครึ่ง ต้มน้ำ รดน้ำต้นไม้ กวาดใบไม้ สแตนด์บายรอทำงาน ทำงาน ทำงาน ถ้ามีเวลาก็พาภรรยาไปพักผ่อนบ้าง

ทำไมคนวัยนี้ชอบรดน้ำต้นไม้

ถึงที่สุดแล้ว อยู่กับธรรมชาติปลอดภัยที่สุด มันไม่มีอะไรแอบแฝง

เรื่องราวของ ตุ่ม-ทรงพล สังข์สวน (Toom Visualizer) กับอาชีพ Visualizer ที่ถอดภาพจินตนาการเป็นภาพจริง

ฉากพิเศษ

ว่าแต่หน้าตาคุณคุ้นมาก เคยเป็นดาราหรือเปล่า

เป็นตำรวจ

ตำรวจจับผู้ร้ายหรือคะ

แสดงเป็นตำรวจ เราสนิทกับ คุณสิน-ยงยุทธ ทองกองทุน และ พี่เก้ง-จิระ มะลิกุล เขาให้แสดงเป็นตำรวจในเรื่อง สตรีเหล็ก พอ 15 ค่ำ เดือน 11 ก็รับบทเป็นตำรวจรถไฟ มีบทพูดบ้าง แต่อย่าให้พูดนานนะ พูดนานแล้วตาย มีครั้งหนึ่งพี่เก้งเขียนบนปก DVD ให้เป็นของขวัญว่า ‘การที่มึงเล่นหนังกู 9 เทก เกือบทำให้หนังกูฉิบหาย’

คุณทำหนังของผู้กำกับดังฉิบหายเลยเหรอ

สมัยนั้นถ่ายด้วยฟิล์ม แล้วเราไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ พอเห็นกล้องปุ๊บ

ตีบทแตก

จำบทไม่ได้!

เรื่องราวของ ตุ่ม-ทรงพล สังข์สวน (Toom Visualizer) กับอาชีพ Visualizer ที่ถอดภาพจินตนาการเป็นภาพจริง

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ