ทุกวันนี้หากไปเดินเล่นตามชายหาดหลายแห่ง อาทิ หาดชะอำ หาดปราณบุรี และหาดอีกหลายแห่งทางตอนใต้ของประเทศ จะพบสิ่งก่อสร้างของทางการคล้ายเขื่อนกั้นหาด เรียกว่า กำแพงกันคลื่น ยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเล

ภาพชายหาดริมทะเลธรรมชาติอันงดงามค่อย ๆ เลือนหายไป แทนที่ด้วยสิ่งก่อสร้างของมนุษย์

ทางราชการอ้างเหตุผลความจำเป็นว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

แม้ว่านักวิชาการทางทะเลหลายคนจะมีหลักฐานชัดเจนพิสูจน์ว่า หลังจากการสร้างกำแพงกันคลื่นแล้ว จะก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น

ขณะที่ทางการเดินหน้าสร้างเขื่อนกันคลื่น อ้างว่าป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้าน เพราะเขื่อนป้องกันไม่ได้ สุดท้ายก็พังทลาย

งานอ้างอิงถึงงานวิจัยต่าง ๆ ทั่วโลก ระบุตรงกันว่า กำแพงกันคลื่นเป็น Death of the Beach คือตัวการที่ทำให้ชายหาด ชายฝั่ง หายไปตลอดกาล

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เป็นปัญหาทั่วโลก จึงน่าจะมีวิธีจัดการที่ดีกว่าและใช้งบประมาณน้อยกว่านี้

หาดทรายหลายแห่งที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ พอมีโครงการกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้น ทำให้หาดทรายหายไป นักท่องเที่ยวจำนวนมากลดลงทันที จนเกิดการประท้วงขึ้นหลายแห่งของชาวบ้านบริเวณนั้น

เมื่อไม่นานมานี้ ทางเจ้าหน้าที่สถาบันลูกโลกสีเขียวได้ชวนผู้เขียนไปลงพื้นที่ที่ชุมชนบ้านโคกเมือง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ที่ตั้งอยู่ติดทะเลสาบสงขลา

นวัตกรรมชาวบ้านปลูกลำพูเป็น ‘ป่าชายเล’ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแทน ‘เขื่อนกันคลื่น’
นวัตกรรมชาวบ้านปลูกลำพูเป็น ‘ป่าชายเล’ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแทน ‘เขื่อนกันคลื่น’

ไปดูว่าชาวบ้านแถวนั้นปลูกป่าชายเลนเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งมานานแล้ว โดยไม่ต้องใช้เงินมากมายสร้างกำแพงกันคลื่น

แต่กว่าจะสำเร็จก็ไม่ง่ายเลย หากชาวโคกเมืองไม่ลุกขึ้นมาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างฝันให้เป็นจริง

ชาวบ้านโคกเมือง เป็นชุมชนชาวพุทธเก่าแก่อายุนับร้อยปี ตั้งบ้านเรือนอยู่ติดทะเลสาบสงขลา มีแหล่งต้นนํ้ามาจากเทือกเขาบรรทัดและสันกาลาคีรี และไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาที่เชื่อมไปสู่ทะเลที่อ่าวไทย ทำให้เกิดเป็นชุมชนที่มีระบบนิเวศ 3 นํ้า คือ นํ้าจืด นํ้ากร่อย และนํ้าเค็ม

บริเวณแถวนี้เคยเป็นเมืองโบราณ ยังปรากฏหลักฐานให้เห็น ได้แก่ คูเมืองโบราณ แหล่งนํ้าขนาดใหญ่ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ฐานศิวลึงค์ สมอเรือ เครื่องถ้วยชามจีนสมัยต่าง ๆ เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

จนกระทั่งเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ชาวบ้านเริ่มประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาตลอด โดยเฉพาะช่วงมรสุมคลื่นลมแรง ชาวบ้านหลายคนเริ่มพูดคุยกัน มองออกไปนอกฝั่ง พยายามหาวิธีลดความรุนแรงของคลื่นลม และได้ความคิดว่าหากลองช่วยกันปลูกต้นไม้ในทะเลที่ไม่เคยมีต้นไม้มาก่อน อาจจะช่วยป้องกันการกัดเซาะได้ พวกเขาจึงเริ่มจากการลองผิดลองถูก ไม่รู้ว่าต้นไม้จะขึ้นไหม

“ตอนนั้นเราไม่มีความรู้อะไร คิดแค่ว่าจะลองปลูกต้นไม้ในทะเล เพื่อให้ต้นไม้ช่วยบรรเทาคลื่นลม ต้นไม้ชนิดแรกที่นึกถึง คือ ต้นโกงกาง ที่เห็นคนปลูกในป่าชายเลน จึงเดาว่าน่าจะใช้ได้” นายอุดม ฮิ่นเซ่ง อดีตผู้ใหญ่บ้านแกนนำคนสำคัญเล่าให้ผู้เขียนฟัง

“พวกชาวบ้านจึงช่วยกันระดมไปหาต้นโกงกางที่แถวนี้ไม่เคยขึ้นมาก่อน แต่ไปเอามาจากข้างนอกพื้นที่ แล้วระดมปลูกต้นโกงกางในทะเลหลายร้อยต้น หวังว่าจะช่วยลดแรงคลื่นลมได้ แต่สุดท้ายต้นโกงกางตายเรียบ ก่อนจะค้นพบสาเหตุว่า เพราะบริเวณที่ปลูกนี้เป็นดินทราย แต่ต้นโกงกางขึ้นในดินเลน จึงตายหมด”

นวัตกรรมชาวบ้านปลูกลำพูเป็น ‘ป่าชายเล’ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแทน ‘เขื่อนกันคลื่น’
นวัตกรรมชาวบ้านปลูกลำพูเป็น ‘ป่าชายเล’ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแทน ‘เขื่อนกันคลื่น’

บทเรียนครั้งนั้นที่ลงแรงลงเงินไปแบบไร้ประโยชน์ ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ว่า

‘กลับไปดูบ้านตัวเองว่า มีต้นไม้อะไรที่ปลูกขึ้นได้’

“สุดท้ายชาวโคกเมืองพบว่า ในหมู่บ้านตัวเองมีลุงคนหนึ่ง ชื่อ ลุงลั่น ศรีประสม แกปลูกต้นลำพูมาก่อนบนดินทรายแถวบ้านได้นานแล้ว แต่ไม่มีใครสังเกต พวกเราจึงคิดว่าน่าจะลองเอาต้นลำพูไปปลูกริมทะเลน่าจะดี” นายอุดม ฮิ่นเซ่ง เล่าความหลังเมื่อ 10 กว่าปีก่อนให้ฟัง

ใน พ.ศ. 2547 ชาวบ้านระดมกันปลูกต้นลำพูริมฝั่งทะเลที่ไม่เคยมีต้นไม้ขึ้นมาก่อน โดยใช้ลำพูเป็นต้นไม้เบิกนำบนพื้นทรายผสมโคลน

หลายปีต่อมา เมื่อดินค่อย ๆ ปรับสภาพ มีดินโคลนมาทับถมมากขึ้น ก็ปลูกต้นโกงกางเสริม ทำให้เกิดเป็นแนวป่าลำพู โกงกางยาวตลอดชายฝั่งร่วม 1 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่เกือบ 100 ไร่ในทะเล ต่อมาได้ทดลองนำต้นจาก ต้นฝาด ต้นตะบูน มาปลูกเสริม จนแนวป่ามีความหลากหลายของชนิดต้นไม้

จากฝั่งทะเลที่ไม่เคยมีต้นไม้ขึ้นมาก่อนในอดีต กลายเป็นป่าโกงกาง ป่าชายเลน ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างดี เพราะรากโกงกางช่วยยึดพื้นดิน โดยเฉพาะช่วงฤดูมรสุมที่คลื่นลมแรง

ที่น่าสนใจคือ นักวิชาการบางคนเรียกต้นไม้ที่ปลูกในทะเลของชาวบ้านโคกเมืองว่า ‘ป่าชายเล’ ไม่ใช่ป่าชายเลน ซึ่งอาจจะเป็นนวัตกรรมของชาวบ้าน ในการปลูกต้นไม้ในทะเลที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น

แทนที่ ‘เขื่อนกันคลื่น’ ตัวการทำชายหาดหายไปตลอดกาล ด้วย ‘ป่าชายเล’ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

เมื่อป่าชายเลนเกิดขึ้นริมฝั่งทะเล สิ่งที่ตามมาคือ บริเวณนี้ได้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ มีกุ้ง หอย ปู ปลา เข้ามาอาศัยอยู่มาก ชาวบ้านสังเกตว่าเมื่อมีต้นลําพูเกิดขึ้น ทําให้ปลาจำนวนมากมาวางไข่ และต่อมาชาวบ้านยังร่วมใจกันทำแนวเขตฟาร์มทะเล ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยใช้ไม้ไผ่กั้นเป็นแนวรอบ ชาวบ้านจะมาช่วยกันวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 7 – 10 คน และเวียนมาซ่อมแซมเดือนละครั้ง

จากนั้นใช้ภูมิปัญญาของคนเฒ่าคนแก่ในการนํากิ่งไม้มาสุมไว้ในเขตอนุรักษ์ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นํ้า เรียกว่าการ ‘ล้อมหมํา’ เป็นวิธีหนึ่งในการขยายพันธุ์สัตว์นํ้า ทําให้เกิดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์นํ้าเป็นพื้นที่ 320 ไร่ เป็นแบบอย่างในการฟื้นฟูลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา ทะเลหน้าบ้านของพวกเขา ให้มีปริมาณสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น

ชาวบ้านมีรายได้สูงขึ้นจากการมีอาชีพจับกุ้ง หอย ปู ปลา ที่ระเบียบของชุมชนอนุญาตให้จับได้นอกเขตอนุรักษ์ หลายคนที่ไปหางานทำในเมืองได้กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านเกิด

ปลาที่จับได้มีหลากหลายชนิดตลอดปี จากระบบนิเวศในทะเลสาบแห่งนี้ที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล

“ในฤดูฝนที่ฝนจากภูเขาตกลงมาหนัก ช่วยผลักดันน้ำเค็มออกไป น้ำแถวนี้กลายเป็นน้ำจืด แต่หากในฤดูแล้ง น้ำทะเลอาจจะหนุนเข้ามาลึก จนทำให้เกิดน้ำเค็มไปทั่ว ทำให้เกิดสัตว์น้ำหลากหลายชนิด มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำทะเล อาทิ ปลาลิ้นหมา ปลาแป้น ปลาทราย ปลากระโทง ปลากระบอก กุ้งก้ามกราม กุ้งหัวมัน กุ้งหัวแข็ง กุ้งกุลาดำ และปูอีกหลายชนิด และพวกเรายังมีการปล่อยลูกสัตว์น้ำเติมตลอด อาทิ ปล่อยกุ้งแชบ๊วยปีละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1,500,000 ตัว ปลากะพงปีละ 3 ครั้ง ครั้งละ 100,000 ตัว”

แทนที่ ‘เขื่อนกันคลื่น’ ตัวการทำชายหาดหายไปตลอดกาล ด้วย ‘ป่าชายเล’ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

อุดม ฮิ่นเซ่ง วัย 60 บอกกับเราว่า ได้เกษียณตัวเองแล้ว ให้ผู้ใหญ่บ้านรุ่นใหม่มาสืบทอดแนวคิดต่อ และตัวเองถอยออกมาเป็นพี่เลี้ยงแทน

เมื่อสร้างระบบนิเวศที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ผู้คนก็ลืมตาอ้าปากได้จากการหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเล

และที่น่ายินดีคือ เมื่อชุมชนโคกเมืองมีความเข้มแข็ง ได้ขยายแนวคิดและการปลูกป่าชายทะเลไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ในช่วงภาวะเศรษฐกิจวิกฤตไปทั่วประเทศ ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นตัวอย่างของชุมชนที่มีความมั่นคงทางอาหารมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

ด้วยความคิดที่เริ่มจากการปลูก ‘ป่าเล’ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง กลายมาเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของชาวบ้านแถวนั้น จนลืมตาอ้าปากได้อย่างมีความสุข

กลุ่มคนตัวเล็ก ๆ ที่หัวใจไม่เล็กเลย

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว