The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
The Cloud ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จังหวัดสงขลา และกลุ่มภาคีคนรักเมืองสงขลา ลงพื้นที่สำรวจเพื่อทำโครงการศึกษาอัตลักษณ์ของสงขลา แล้วนำมาเสนอในมุมใหม่ เพื่อให้เห็นว่าจังหวัดสงขลามีเรื่องราวที่น่าสนใจนำมาต่อยอดในรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอยากให้เดินทางไปสัมผัสกับสิ่งพิเศษนี้
เรามองว่าหัวใจหลักที่ทำให้ทุกวันนี้สงขลามีความพิเศษคือทะเลสาบสงขลา ที่เป็นต้นกำเนิดของเมือง
ซิงกอรา คือชื่อเดิมของสงขลา เป็นหมุดหมายหนึ่งบนเส้นทางเดินเรือโบราณ ที่มีทะเลสาบสงขลาเป็นที่พักหลบมรสุม ทำให้เกิดการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ถ่ายทอดภูมิปัญญา และตั้งถิ่นฐานจนกลายเป็นเมืองสงขลา

ความผูกพันของชาวสงขลากับทะเลสาบสงขลามีมาตั้งแต่เริ่มสร้างเมือง การเลือกที่ตั้งของเมืองซึ่งมีอยู่ถึง 3 ยุคก่อนที่จะย้ายมาตั้งในที่ปัจจุบันก็เป็นบริเวณที่ลุ่มรอบทะเลสาบสงขลาทั้งสิ้น
ในยุคเริ่มแรก คนที่นี่สร้างเมืองสงขลาด้วยวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาวมุสลิม ก่อนจะย้ายที่ตั้งเมืองครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรมระหว่างไทยพุทธ ไทยจีน และไทยมุสลิม เรื่อยมา จนย้ายมาสร้างเมืองในที่ตั้งปัจจุบัน ซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขายกับจีน และได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมแบบจีนอย่างมากในการสร้างเมือง
วัฒนธรรมแบบจีนปรากฏในหลายๆ อย่างในเมืองสงขลาปัจจุบัน ตั้งแต่คติความเชื่อ การวางผังเมือง เทคโนโลยีการก่อสร้างบ้านเรือน เครื่องนุ่งห่ม และงานช่าง รวมถึงอาหาร ขนม


ทะเลสาบสงขลายังมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร เป็นลากูนหรือแหล่งน้ำ 3 น้ำ คือน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ขนาดใหญ่ ที่มีทางออกสู่ทะเลแหล่งเดียวในไทย ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและเฉพาะตัว
จากการลงสำรวจของกลุ่มภาคีคนรักเมืองสงขลา พบว่าสงขลาเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจที่ยังคงมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภาพความรุ่งเรืองในอดีตส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน และยังอยู่ร่วมสมัยได้ด้วยหัวใจในการอนุรักษ์ของคนสงขลา รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ช่วยกันต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมนี้ด้วยความเข้าใจ
เราเลือกบางส่วนจากข้อมูลจำนวนมากที่จะเล่าให้เห็นภาพของสงขลาผ่านตัวแทน 12 สิ่ง ที่จะทำให้รู้จักสงขลาในมุมมองใหม่

01
ทะเลสาบสงขลา

ทะเลสาบสงขลามีลักษณะเป็นลากูน หรือแหล่งน้ำตื้นขนาดใหญ่ที่มีทางออกสู่ทะเล และเป็นลากูนหนึ่งเดียวของประเทศไทย
ส่วนที่อยู่ในเขตจังหวัดสงขลา เรียกว่าทะเลสาบสงขลาตอนล่าง มีช่องทางออกสู่ทะเล ทำให้เกิดความพิเศษที่พบได้เฉพาะสงขลาเท่านั้น คือสิ่งที่เรียกว่าทะเล 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ปลาและสัตว์น้ำในทะเลใหญ่จะเข้ามาวางไข่ในบริเวณทะเลสาบสงขลา

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำมีมาก โดยเฉพาะปลาพื้นถิ่นที่จะพบได้ง่ายในทะเลสาบ เช่น ปลาขี้ตัง ปลากระบอก ที่เป็นปลาท้องถิ่นขึ้นชื่อของสงขลา หรือปลากะพง 3 น้ำ ปลาที่นิยมนำไปทำอาหาร ด้วยเหตุผลที่ว่ากันว่ามีเนื้อพิเศษจากการอาศัยและว่ายน้ำอยู่ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมถึงแม่กุ้งหรือกุ้งก้ามกรามสองน้ำก็มีความพิเศษที่เนื้อเช่นกัน
ทะเลสาบสงขลายังเป็นจุดพักของนักเดินเรือในอดีต เพื่อหลบลมมรสุมในเส้นทางการเดินเรือในสมัยโบราณ ทำให้สงขลาเป็นเมืองที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า จนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่ง

02
ข้าวสตูหมู


สตูน้ำข้นใส่เนื้อหมู เลือด และเครื่องในกินกับข้าวสวย เป็นเมนูที่อยู่คู่เมืองสงขลามานาน อาหารชื่อฝรั่งที่หน้าตาดูจีนเป็นอาหารจากความคิดสร้างสรรค์ของชาวจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งรกรากในสงขลา ชาวจีนไหหลำที่ทำงานเป็นกุ๊กบนเรือฝรั่ง เรียนรู้เรื่องสตูแบบตะวันตก และใช้ความคิดสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนสูตรไปตามพื้นที่ที่เรือเดินทางไปถึง
เรือฝรั่งเดินทางไปถึงเกาะชวา แหล่งเครื่องเทศ กุ๊กชาวไหหลำจึงได้นำเครื่องเทศมาปรุงกับสตูจานเดิม แต่เปลี่ยนจากครีมเป็นกะทิ กลายเป็นสตูจานใหม่ เมื่อมาตั้งรกรากที่เมืองไทยจึงได้นำสูตรติดตัวมาด้วย

ในช่วงเริ่มต้น สตูหมูใส่กะทิแบบเข้มข้น จนค่อยๆ ปรับให้ถูกปากกับคนในท้องถิ่น สตูหมูที่เคี่ยวน้ำต้มกระดูก ใส่หางและหัวกะทิ ผสมกับเครื่องเทศยาจีนหอมๆ ใส่เนื้อหมูและเครื่องในหมู กินกับข้าวสวยและน้ำจิ้ม มีเครื่องเป็นหมูกรอบ หรือจะใส่หมูกรอบลงไปในสตูด้วยก็เป็นอีกทางเลือกที่คนนิยม
03
เต้าคั่ว

เต้าคั่วเป็นอาหารที่มีมากในแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง คล้ายกับสลัดแบบชาวไทย-มุสลิม แต่ได้รับการผสมผสานวัฒนธรรมไทย-จีน และไทย-พุทธ เข้ามาด้วย มีวิธีปรุงและมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด เต้าคั่วของสงขลามีส่วนประกอบของวัตถุดิบสำคัญที่เล่าความเป็นจังหวัดสงขลาได้ผ่านอาหารจานนี้

น้ำราดเต้าคั่วคือน้ำตาลโตนดเคี่ยว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการใช้ต้นตาลโตนดบนบกและวัตถุดิบจากทะเลสาบสงขลา เช่น กุ้งและปลาเล็กปลาน้อยตามแต่สูตรของแต่ละร้าน ใส่เส้นหมี่หุ้น เต้าหู้ หูหมูหั่นเป็นเส้นที่เป็นวัฒนธรรมอาหารแบบจีน กินแบบคลุกเค้าให้เข้ากัน ราดด้วยพริกน้ำส้มโตนด อีกหนึ่งภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น กลายเป็นอาหารที่เล่าเรื่องจังหวัดสงขลาและพหุวัฒนธรรมได้ดีมากอีกเมนูหนึ่ง
04
ไข่ครอบ


ไข่ครอบคืออาหารที่มีที่มาจากวิถีชีวิตของชาวประมงแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา เกิดจากการนำไข่ขาวไปใช้เคลือบอวนที่ใช้ในการจับปลา เมื่อไข่แดงเหลือใช้ จึงได้นำมาถนอมอาหาร วิธีคือนำไข่แดงไปแช่น้ำเกลือ แล้วช้อนไข่แดง 2 ฟองใส่ลงในเปลือกไข่ที่ล้างและตัดขอบจนเรียบเสมอกัน แล้วนำไปนึ่งจนไข่แดงเริ่มเป็นยางมะตูม
ชื่อไข่ครอบมีที่มาจากกรรมวิธีการทำไข่ครอบตามแบบดั้งเดิม คือการนำไข่แดงใส่ในเปลือกไข่ขาวที่ตัดขอบเรียบ แล้วใช้เปลือกไข่ขาวอีกเปลือกครอบไว้เพื่อกันฝุ่นกันแมลง แล้วตั้งเรียงไว้บนกองฟางเพื่อไม่ให้ไข่หกคะเมน จากนั้นนำไปตากแดดแรง ซึ่งปัจจุบันใช้วิธีนึ่งแทนการตากแดดแล้ว


ไข่ครอบเป็นภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ที่เห็นการใช้ชีวิตของชาวประมงได้ดี ปัจจุบันมีกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนเกษตรกร และชาวประมง ต่างทำไข่ครอบเพื่อเป็นของฝาก และมองหาไข่ครอบตามร้านอาหารได้ทั่วเมืองสงขลาเช่นกัน
05
โรงสีแดง

เมื่อร้อยกว่าปีก่อนสงขลามีโรงสีขนาดใหญ่อยู่ 6 แห่ง โรงสีแดงหรือหับโห้หิ้น เป็นโรงสีข้าวที่มีเทคโนโลยีทันสมัยมีปล่องควันที่สร้างด้วยอิฐนำเข้าจากอินเดีย และสั่งเครื่องสีข้าวแบบเครื่องจักรไอน้ำมาจากประเทศอังกฤษ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากในยุคก่อนสงครามโลก
เมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นขึ้นฝั่งที่จังหวัดสงขลา ยึดเอาตึกและบ้านเรือนเป็นฐานที่มั่น รวมถึงยึดโรงสีแดง สำหรับใช้เป็นสถานที่เก็บเวชภัณฑ์ของกองทัพ บ้านเรือนรอบโรงสีก็เป็นที่พักของนายแพทย์และหน่วยพยาบาล เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเพื่อทำลายฐานของญี่ปุ่น โรงสีแดงเป็นโรงเดียวที่รอดจากการทิ้งระเบิดทำลาย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะถูกใช้เป็นสถานพยาบาลและที่เก็บยา

หลังจากหมดสงคราม โรงสีหับโห้หิ้นเดินเครื่องสีข้าวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือชาวนาสงขลาและจังหวัดรอบข้าง ด้วยการสีข้าวโดยเงินสนับสนุนจากภาครัฐ
จนถึงยุคที่บ้านเมืองฟื้นฟูอีกครั้ง โรงสีข้าวขนาดเล็กเกิดขึ้นมาก จนไม่มีข้าวมาป้อนโรงสีได้เพียงพอ จึงต้องหยุดการสีข้าวลง โรงสีแดงเปลี่ยนเป็นโรงผลิตน้ำแข็งในยุคที่ประเทศยังไม่เคยมีน้ำแข็งมาก่อน กลายเป็นที่เก็บยางพาราเพื่อลำเลียงสู่เรือที่มารับซื้อนำไปขายให้กับต่างประเทศ และปิดโรงสีไปหลายปี


ปัจจุบันโรงสีแดงกลับมาใช้งานอีกครั้ง เปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเมืองสงขลาในรูปแบบต่างๆ ร่วมงานกับภาคประชาชนที่มีต้องการอนุรักษ์เมืองเก่าสงขลา โรงสีหับโห้หิ้นเลยมอบพื้นที่ให้กับงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะในการสร้างห้องสมุดเพื่อสร้างแหล่งความรู้ให้ชุมชน
06
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง


สงขลาเป็นเมืองที่มีกำแพงที่ได้เทคโนโลยีการวางผังเมืองแบบจีน ถอดแบบมาจากเมืองไห่เฉิงซึ่งเป็นเมืองริมทะเล ทำให้ผังเมืองสงขลาแตกต่างจากเมืองอื่นๆ ในอดีตอย่างชัดเจน ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหัวใจของเมืองอยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งตามคติความเชื่อของจีน
สงขลามีค่าย คู ประตู หอรบ ถือเป็นเมืองระดับชั้นเอก ศาลหลักเมืองมีเจ้าพ่อหลักเมืองประทับ ที่นี่จึงมีพิธีแห่เจ้าพ่อหลักเมือง

ชาวจีนโพ้นทะเลในสมัยก่อนเมื่อเดินทางด้วยเรือจะเอาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจจากบ้านเกิดติดตัวมาด้วย เพื่อเป็นสิ่งมงคลในการก่อตั้งศาลหลักเมือง เช่น ของที่เบาที่สุดอย่างผงธูปจากกระถางธูป

รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีน เรียบง่าย เมื่อเป็นศูนย์กลางของเมือง บริเวณรอบๆ ของศาลหลักเมืองจึงเป็นชุมชนของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยเริ่มแรก
ในยุคที่จีนเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ศาลเจ้าและวัฒนธรรมบางส่วนได้ถูกทำลายไป ทำให้ปัจจุบันเมืองสงขลาเป็นแหล่งที่นักประวัติศาสตร์จีนกลับมาศึกษารูปแบบผังเมืองและรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ เพื่อนำไปฟื้นฟูเมืองอีกครั้ง
07
วัดมัชฌิมาวาส

วัดมัชฌิมาวาสตั้งอยู่ระหว่างวัดเลียบกับวัดโพธิ์ปฐมาวาสในเมืองเก่าสงขลา จึงได้ชื่อเรียกกันในชาวสงขลาว่าวัดกลาง
วัดเก่าแก่แห่งนี้มีอายุถึง 300 ปี สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ความน่าสนใจในวัดมัชฌิมาวาสคืองานศิลปะที่แสดงความผสมผสานวิถีชีวิตของผู้คนต่างวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกัน ทั้งคนไทย จีน และชาวต่างชาติจากตะวันตก ที่เคยเข้ามาทำการค้าในสมัยนั้น


ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นบนผนังปูน ซึ่งเป็นฝีมือล้ำเลิศโดยช่างหลวงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ภายนอกพระอุโบสถมีตุ๊กตาจีนเป็นทวารบาล และมีเจดีย์ทรงจีนหรือถะ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมแบบจีนที่มีอิทธิพลในสมัยนั้น และพระวิหารมีซุ้มเหนือหน้าต่าง ที่ใช้กระจกสีศิลปะแบบโกธิกประดับสวยงาม รวมถึงซุ้มประตูหน้าวัด ก็สร้างให้เป็นซุ้มประตูฝรั่งผสมจีน
ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ พระวิหารของวัดกลางเป็นอาคารแบบไทยทรงก่ออิฐถือปูนศิลปะประยุกต์ไทย-จีน หากเห็นลักษณะวิหารแห่งนี้แล้วเดินไปที่มัสยิดบ้านบน จะเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างสองศาสนสถาน
08
มัสยิดบ้านบน

มัสยิดอุสาสนอิสลามหรือเรียกกันว่ามัสยิดบ้านบน เป็นศาสนสถานสำคัญของชาวไทยมุสลิม ตั้งอยู่ในเขตชุมชนบ้านบน ชุมชนชาวมุสลิมที่ย้ายมามาจากเมืองเก่าสงขลาในอดีตที่อยู่ฝั่งตรงข้ามทะเลสาบ มาตั้งถิ่นฐานบริเวณหัวถนนนครในจนถึงปัจจุบัน


มัสยิดบ้านบนสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 สิ่งที่น่าสังเกตคือ มัสยิดบ้านบนมีรูปร่างเป็นอาคารแบบทรงไทย คล้ายกับอุโบสถวัด และหออาซานเดิมก็มีลักษณะคล้ายกับหอระฆัง ซึ่งภายหลังได้รับการต่อเติมเป็นยอดโดม เชื่อว่ามัสยิดบ้านบนใช้ช่างชุดเดียวกับช่างที่สร้างวิหารวัดกลางหรือวัดมัชฌิมาวาสซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ตัวมัสยิดเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะประยุกต์ไทย-จีน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งคราวที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ณ เมืองสงขลา ขณะเสด็จไปชวา
มัสยิดได้รับการบูรณะมาตลอดจากชาวไทยมุสลิม และเป็นมัสยิดหนึ่งเดียวในสงขลาที่มีลักษณะพิเศษของตัวอาคาร
09
The Apothecary of Singora

The Apothecary of Singora เป็นตึกสถาปัตยกรรมบ้านโบราณแบบจีนยุคแรกสุดของสงขลาที่ยังใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
อดีตร้านยายู่เหลียงของปู่ขวด หมอปรุงยาชาวไทยเชื้อสายจีนที่ได้เรียนวิชาการทำยาจากหมอจีน จ่ายยาให้กับชาวบ้านแบบไม่คิดเงิน รวมถึงดูฤกษ์ยาม จนปู่ขวดเสียชีวิต ร้านยู่เหลียงจึงปิดกิจการลง เวลาผ่านไปยังคงมีตู้ยาโบราณเขียนชื่อเครื่องยาไทยกำกับไว้อยู่ในบ้าน ก่อนทำการบูรณะบ้านด้วยการศึกษาเรื่องราวของบ้าน และรักษาสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด


จึงเกิดเป็นโครงการร้านปรุงยาแห่งเมืองสงขลา ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อให้คนมาศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ วิถีวัฒนธรรมของคนสงขลาในอดีต บ้านที่หันหน้าสู่ถนนทั้งสองด้านคือถนนนครใน ปรับเปลี่ยนให้เป็นร้านกาแฟ เพื่อเปิดให้คนได้เข้ามาสัมผัสกับภายในบ้าน

ด้านถนนนครนอก เปิดเป็น Apo Store ร้านขายของที่ระลึกที่ดีไซน์จากของท้องถิ่นของสงขลา เช่น กระเป๋าจากผ้าทอเกาะยอ และยาหม่อง ยาดมที่ออกแบบกลิ่นจากถนนหลัก 3 สายของเมืองเก่าสงขลา ได้แก่ นครนอก นครใน และนางงาม นับเป็นโปรเจกต์การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบโบราณให้กลับมามีชีวิตแบบที่ต่อยอดจากพื้นที่และเข้าใจบริบทในอดีตได้อย่างดี
10
กระเบื้องเกาะยอ

ในเมืองเก่าสงขลาหากสังเกตหลังคาสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม ทั้งอาคาร บ้าน และวัด จะเห็นกระเบื้องหลังคาและกระเบื้องปูพื้นที่มีร่องรอยการผ่านเวลามานับร้อยปี กระเบื้องเหล่านี้คือกระเบื้องเกาะยอที่มีชื่อเสียงของสงขลา
กระเบื้องเกาะยอเป็นดินเผาสีส้มมีลวดลายเฉพาะตัว กระเบื้องที่ใช้มุงหลังคามีความบางและน้ำหนักเบา เป็นเทคโนโลยีการทำกระเบื้องดินเผาที่ได้มาจากช่างชาวจีนที่มาตั้งรกรากอยู่บริเวณริมทะเลสาบ และถ่ายทอดสู่คนพื้นเมือง จนเกิดโรงเผากระเบื้องมากกว่า 200 โรงรอบทะเลสาบสงขลา และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอดีต


ดินรอบทะเลสาบสงขลาเป็นดินน้ำกร่อยที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการทำกระเบื้อง เพราะมีความอ่อนตัวในการงอทำขอกระเบื้องเกี่ยวรางหลังคา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของกระเบื้องเกาะยอ การทำกระเบื้องในอดีตใช้เวลานานร่วม 2 เดือน แต่ปัจจุบันมีโรงงานกระเบื้องดินเผาที่ใช้ระยะเวลาที่น้อยลง แต่ยังรักษาเอกลักษณ์สำคัญคือน้ำหนักเบา บาง เอาไว้ เหมาะกับการใช้บูรณะศาสนสถานและอาคารเก่าแก่
11
ผ้าทอเกาะยอ

ผ้าทอเกาะยอเป็นผ้าพื้นเมืองของสงขลา สันนิษฐานว่ามีที่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากภูมิปัญญาของคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน และเป็นผู้สอนชาวบ้านให้ทอผ้าด้วยเครื่องมือง่ายๆ จากฝ้าย และลวดลายไม่ซับซ้อน ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม และเป็นหนึ่งในสินค้าที่ใส่เรือสำเภาไปขายทั้งแถบสงขลาและแหลมมลายู
ลวดลายผ้าทอได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่น ลายคอนกเขา ที่มาจากลายบนคอของนกเขาชวา ภายหลังได้รับพระราชทานนามใหม่จากรัชกาลที่ 7 ให้เป็นลายราชวัตถ์


ในยุคหนึ่งได้เชิญครูทอผ้าจากเซี่ยงไฮ้มา 2 คน คือนายยี่สุ่นและพุดดิ้น ผู้เชี่ยวชาญในการคิดลายผ้าและการทำกี่ทอผ้า มาสอนการทอผ้าให้ชาวบ้าน
การทอด้วยกี่ทำให้ชาวบ้านสร้างลายผ้าที่ซับซ้อนและเพิ่มจำนวนผลิตได้มากขึ้น โดยมีนายยี่ แสงอรุณ ลูกศิษย์ของครูชาวจีนทั้งสอง เปิดโรงทอผ้าสอนชาวบ้านเกาะยอทอผ้า และคิดลายผ้าต่อมา จุดเด่นคือลวดลายที่ดูลอยขึ้นมาจากเนื้อผ้า นิยมนำไปตัดเป็นเสื้อผ้าแนวร่วมสมัย และนำไปประยุกต์ใช้เป็นงานออกแบบร่วมสมัย

12
สตรีทอาร์ต

เมืองเก่าสงขลามีลักษณะเป็นถนนหลัก ตัดกับซอกซอยย่อยเป็นรูปตาราง หากเดินตามซอยจะเห็นภาพวาดตามกำแพงบ้าน เรื่องราวในภาพเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นเมืองสงขลาแบบต่างๆ
การทำภาพวาดตามฝาผนังเกิดจากการแรงบันดาลใจและที่ปรึกษาจากกลุ่ม Penang Heritage Cluster ที่ใช้ภาพวาดฝาผนังส่งเสริมการท่องเที่ยวจนได้รับความนิยมอย่างมาก


ภาพวาดไฮไลต์ของสงขลาอยู่บนถนนนางงาม เป็นรูปร้านน้ำชาที่มีคน 3 คนกำลังนั่งคุยกันระหว่างร้านน้ำชาและร้านอาหาร 2 ร้านที่สั่งอาหารมากินอีกร้านหนึ่งได้ การแต่งกายของคนทั้งสามไม่ได้บ่งบอกถึงชนชั้นหรือฐานะ แต่คนหนึ่งในภาพเป็นเจ้าสัว คนหนึ่งเป็นนักวิชาการ และอีกคนหนึ่งเป็นคนถีบสามล้อ ภาพนี้มีความหมายถึงนิสัยใจคอที่ไม่ถือชนชั้น สบาย และถ้อยทีถ้อยอาศัยของคนสงขลา ภาพนี้โด่งดังจนกลายเป็นที่รู้จักและทำให้เกิดโปรเจกต์ภาพวาดสตรีทอาร์ตทั่วทั้งเมือง มีคนมาต่อแถวถ่ายรูปกันไม่ขาดสาย
หลายภาพวาดทำให้ซอยแคบซอยเปลี่ยวกลายเป็นซอยที่คึกคักขึ้นมา และเป็นส่วนสำคัญของการท่องเที่ยวสงขลา


