เอ่ยชื่อ ‘เซี่ยงไฮ้’ เราทั้งหลายจะนึกถึงอะไรได้บ้าง?

เมืองใหญ่ที่สุดในประเทศจีนทั้งในแง่พื้นที่ ประชากร และขนาดเศรษฐกิจ ซีรีส์ฮ่องกงยอดฮิตยุค 80 กับเพลงประกอบชื่อเดียวกันที่ร้องตามได้ทันทีที่อินโทรขึ้น หอคอยไข่มุกตะวันออกและบรรดาตึกระฟ้าอันล้ำสมัยที่ตั้งตระหง่านริมแม่น้ำหวงผู่ฝั่งตะวันออก ดูขัดแย้งกับตึกเก่าสไตล์ยุโรปซึ่งทอดตัวเรียงรายอยู่ฝั่งตรงข้าม อดีตเขตเช่าฝรั่งเศสอันรุ่งเรืองซึ่งเป็นที่มาของฉายาเมืองนี้ว่า ‘ปารีสแห่งแดนบูรพา’ สวนสนุกดิสนีย์แลนด์แห่งที่ 6 ฐานการถ่ายภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฯลฯ 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือภาพจำที่ผมมีต่อเซี่ยงไฮ้ และพานคิดต่อไปว่าเมืองที่เพิ่งยกระดับเป็นมหานครเมื่อร้อยกว่าปีมานี้คงไม่มีประวัติความเป็นมายาวนานนัก จวบจนกระทั่งวันที่ผมได้มาเยือนเมืองปากแม่น้ำหวงผู่แห่งนี้ด้วยตัวเอง ผมจึงได้รู้ว่าในความเป็นจริงแล้ว เซี่ยงไฮ้ยังเต็มไปด้วยสถานที่เก่าแก่โบราณที่เร้นกายอยู่ตามย่านต่างๆ ทั้งในเมืองและนอกเมืองอีกมากมาย 

หนึ่งในนั้นคือ มัสยิดซงเจียง (Songjiang Mosque) ศาสนสถานของศาสนาอิสลามที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนดั้งเดิม หากมองเพียงผิวเผินก็คงดูไม่ออกว่าที่นี่คือมัสยิดเป็นแน่แท้

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

ฉากหน้าประตูทางเข้ามัสยิด มีการตกแต่งแผ่นกระเบื้องเขียนอักษรจีนว่า ซงเจียงชิงเจินซื่อ (松江清真寺) แปลตรงตัวว่า มัสยิดซงเจียง

ชาวจีนมุสลิม

กล่าวถึงศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมในประเทศจีน ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่น่าจะนึกถึง ‘ชาวอุยกูร์’ ชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเติร์กซึ่งกำลังเป็นประเด็นพิพาทในทุกวันนี้เป็นอย่างแรก ทว่าจริงๆ แล้ว ชาวมุสลิมในประเทศนี้มีอีกหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ โดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจำแนกออกเป็น 10 กลุ่มที่จัดได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มแขกขาว สืบเชื้อสายมาจากเอเชียกลาง เรียกว่า ‘พวกเติร์ก’ หรือ ‘พวกซินเจียง’ กับกลุ่มคนผิวเหลืองที่พูดภาษาจีนกลางซึ่งเรียกว่า ‘จีนมุสลิม’

ในที่นี้เราจะพูดถึงแต่ชาวจีนมุสลิมกลุ่มใหญ่สุด ซึ่งเรียกกันว่า ‘ชาวหุย’ (Hui People) เท่านั้น ค่าที่พวกเขาเป็นผู้สร้างสรรค์มัสยิดแห่งนี้ขึ้น

ศาสนาอิสลามแพร่เข้ามาในจีนครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618 – 960) โดยราชสำนักถังมีบันทึกเกี่ยวกับศาสนาต่างชาติศาสนานี้ว่า ในปีที่ 2 แห่งรัชกาลจักรพรรดิถังเกาจง (เทียบได้กับ ค.ศ.651) มีคณะทูตจากแดนอาระเบียนำบรรณาการมาถวาย พร้อมกับโน้มน้าวพระทัยให้ถังเกาจงเข้ารับอิสลามด้วย แม้พระองค์จะทรงปฏิเสธ แต่ก็ทรงยินยอมให้ชาวมุสลิมเผยแผ่ศาสนาได้อย่างเสรี นับเป็นจุดกำเนิดของการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในแผ่นดินมังกร

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

การแพร่กระจายของอิสลามในจีนมีความเกี่ยวข้องกับการค้ากับต่างชาติอย่างแนบแน่น เนื่องจากพ่อค้าชาวอาหรับและเปอร์เซียที่รอนแรมมาค้าขายจำนวนไม่น้อยได้ตั้งรกรากถาวรในเมืองจีน บ้างสมรสกับชาวจีนฮั่น เป็นเหตุให้ชาวจีนทั้งชายและหญิงหันมานับถืออิสลามตามคู่สมรสชาวมุสลิมของพวกตน นำไปสู่การผสมผสานกลืนกลายทางชาติพันธุ์ นอกจากนี้บทบาทและฐานะทางสังคมของชาวมุสลิมในสังคมจีนโบราณยังจัดอยู่ในระดับที่ดี ปริมาณอิสลามิกชนชาวจีนจึงเติบโตขึ้นโดยลำดับ จนก่อกำเนิดเป็นชนกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า ‘ชาวหุย’ 

ปัจจุบันนิยามคำว่า ‘หุย’ ในสายตาชาวจีนทั่วไปมีความหมายว่า ‘ชาวฮั่น (จีน) ที่นับถือศาสนาอิสลาม’ ประมาณกันว่าทุกวันนี้ชาวหุยในจีนมีประชากรราว 9 – 11 ล้านคน ใกล้เคียงกับชาวอุยกูร์ ถือได้ว่าเป็นมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในจีน พวกเขามีวัฒนธรรมส่วนใหญ่เหมือนกับชาวฮั่น เว้นแต่บางอย่างที่ต่างกันด้วยข้อบังคับทางศาสนา เช่นการไม่บริโภคอาหารที่มีหมูเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น 

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

เสาธงชาติจีนตั้งเด่นอยู่กลางสวนของมัสยิด ตึกด้านหลังที่เห็นคืออาคารที่สร้างใหม่

มัสยิดทรงจีน

เมื่อพูดถึง ‘มัสยิด’ ท่านผู้อ่านเกินครึ่งคงนึกถึงอาคารที่สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอาหรับ ลายดาวคู่พระจันทร์เสี้ยว มีโดมอยู่บนยอด อีกทั้งมีหอคอยสูงชะลูดหนึ่งหอหรือมากกว่านั้นสร้างคู่อาคารหลัก… นั่นคงเป็นจินตภาพของคนส่วนใหญ่ หารู้ไม่ว่าทั้งหมดที่ว่ามาข้างต้นเป็นเพียง ‘ค่านิยม’ ในการสร้างศาสนสถานของชาวมุสลิม หาใช่ ‘ข้อกำหนด’ ในการสร้างไม่

อันที่จริงศาสนาอิสลามไม่มีข้อกำหนดหรือข้อบังคับที่ตายตัวเรื่องรูปแบบสถาปัตยกรรมศาสนสถานแต่อย่างใด แม้แต่มัสยิดยุคแรกอย่างมัสยิดอัลนะบะวีย์แห่งนครมะดีนะฮ์ที่สร้างสมัยท่านศาสดามุฮัมมัดยังมีชีวิตอยู่ ก็สร้างขึ้นง่ายๆ จากวัสดุท้องถิ่นและภูมิปัญญาของชาวบ้าน เช่น ทำเสาอาคารจากต้นอินทผลัม รับหลังคาที่ทำจากกิ่งอินทผลัม ใบอินทผลัม และโคลน ก่อกำแพงด้วยโคลนและอิฐดิบเท่านั้น 

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

ครั้นเมื่อศาสนาอิสลามแพร่เข้าไปสู่ดินแดนอื่นๆ ที่มีอารยธรรมของตนเองมาก่อน เมื่อชาวพื้นเมืองเข้ารับนับถืออิสลาม ก็จะนำแนวคิด รูปแบบ และวิธีการทางศิลปะ ที่ชนชาติตนเองคุ้นเคยมาประยุกต์ใช้ในการสร้างมัสยิด 

เพราะเหตุนี้ มัสยิดในโลกนี้จึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันออกไปตามภูมิหลังของแต่ละดินแดน ตัวอย่างเช่นในเปอร์เซียสร้างมัสยิดที่มีซุ้มประตูขนาดใหญ่ หลังคาโดม และหลังคาโค้ง ตามวิหารของศาสนาโซโรอัสเตอร์ที่ชาวเปอร์เซียนับถือมาแต่เดิม มัสยิดบางแห่งในชวาประยุกต์หลังคาแบบโจโกลโดยเพิ่มยอดแหลมเข้าไป เรียกว่าทรง ‘เมอรุ’ และวางผังตามแผนภูมิจักรวาลในศาสนาพุทธและฮินดู หรือในไทยมีการสร้างมัสยิดก่ออิฐถือปูนแบบไทยประเพณีดังเช่นมัสยิดบางหลวง ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อชาวจีนบางส่วนเข้ารีตนับถืออิสลาม มีหรือที่ลูกหลานพันธุ์มังกรซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลก จะไม่หยิบยืมลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชนชาติตนมาใช้ในการสร้างมัสยิด? 

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

โถงละหมาดของมัสยิดซงเจียง

มัสยิดหลังแรกในจีนคือ มัสยิดหวายเชิ่ง (Huaisheng Mosque) ในเมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเชื่อกันว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 7

ทว่าที่นี่กลับไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เมื่อเทียบกับ มัสยิดใหญ่แห่งซีอาน (The Great Mosque of Xi’an) ที่สร้างราวศตวรรษที่ 8 สมัยราชวงศ์ถัง เป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน ทั้งยังดูโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ที่ปรากฏในมัสยิดใหญ่แห่งซีอานทุกวันนี้ ได้รับการบูรณะและรังสรรค์ขึ้นใหม่ในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368 – 1644)

ภาษาจีนกลางมีคำเรียกมัสยิดหลายคำด้วยกัน คำที่นิยมที่สุดในปัจจุบันคือ ชิงเจินซื่อ (清真寺) มีความหมายว่า ‘วิหารแห่งความบริสุทธิ์และความจริง’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกซีนากอก (วิหารในศาสนายูดาย) ของชาวจีนเชื้อสายยิวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีคำเรียกอื่นๆ อาทิ หุยหุยถัง-โถงของชาวหุย (回回堂) หุยหุยซื่อ-วัดของชาวหุย (回回寺) หลี่ไป้ซื่อ-วิหารแห่งการสักการะ (礼拜寺) ฯลฯ 

ปัจจุบันประเทศจีนมีมัสยิดมากกว่า 39,000 แห่ง กระจายตัวอยู่แทบทุกภูมิภาค หากไม่นับภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (แถบซินเจียง) ซึ่งมีวัฒนธรรมค่อนไปทางเอเชียกลางมากกว่าจีน จะพบว่ามัสยิดเก่าแก่หลายแห่งสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมจีนแท้ นอกจากมัสยิดใหญ่แห่งซีอานแล้ว ยังมีมัสยิดที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่ง เช่น มัสยิดหนิวเจีย (Niujie Mosque) กรุงปักกิ่ง มัสยิดใหญ่แห่งถงซิน (Tongxin Great Mosque) จังหวัดถงซิน เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย หรือมัสยิดใหญ่แห่งจี่หนาน (Jinan Great Southern Mosque) เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง เป็นต้น

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

มัสยิดใหญ่แห่งซีอาน (ภาพจาก muslimvillage.com)

มัสยิดซงเจียง

มัสยิดซงเจียงตั้งอยู่ริมถนนกังเปิ้ง เขตซงเจียง บริเวณรอบนอกของเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ในอดีตถูกเรียกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดเจินเจี้ยว (Zhenjiao Mosque) มัสยิดชิงเซิ่น (Qingshen Mosque) และมัสยิดอวิ๋นเจียนไป๋เฮ่อ (Yunjian Baihe Mosque) ก่อนเปลี่ยนมาเป็นมัสยิดซงเจียงตามชื่อเขตที่ตั้ง ความสลักสำคัญของมัสยิดหลังนี้มิใช่อยู่ที่ความเก่าแก่เหนือมัสยิดหลังอื่นๆ ในเซี่ยงไฮ้แค่นั้น หากยังเป็นมัสยิดแห่งเดียวในเมืองนี้ที่สร้างเป็นทรงจีนโบราณ ขณะที่มัสยิดอื่นสร้างเป็นทรงอาหรับตามแบบฉบับมัสยิดทั่วไป

ภูมิหลังของมัสยิดซงเจียงสืบย้อนไปได้ถึงรัชสมัยจักรพรรดิหยวนฮุ่ยจง (ค.ศ.1333 – 1370) จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หยวน ตามบันทึกท้องถิ่นระบุว่าสมัยนั้นชาวหุยจำนวนมากอพยพมาตั้งรกรากใหม่ในเขตซงเจียง และสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางชุมชนและปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนา 

การก่อสร้างมัสยิดซงเจียงกินเวลานานถึง 27 ปี โดยเริ่มสร้างใน ค.ศ.1341 แล้วเสร็จใน ค.ศ.1368 คาบเกี่ยวห้วงเวลา 2 ราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง จากนั้นมามีการบูรณะซ่อมแซมอีกหลายต่อหลายครั้ง ก่อนได้รับการประกาศให้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมโดยรัฐบาลท้องถิ่นของเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1980

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

เนื้อที่ 4,900 ตารางเมตรของมัสยิดแห่งนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม พื้นที่สุสาน และพื้นที่สวนหย่อม โดยประตูทางเข้าหลักอยู่ทางทิศเหนือ เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้วจะพบลานกว้างกลางมัสยิด อันเป็นจุดศูนย์กลางของพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนดังที่กล่าวมา

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

ลานกว้างนี้ถูกโอบล้อมไว้ด้วยกำแพงโบราณ มีจุดสังเกตอยู่บนยอดซึ่งก่อกระเบื้องเป็นรูปลำตัวมังกรเลื้อยคลานเป็นลูกคลื่น กำแพงลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า ‘กำแพงมังกร’ (Dragon Wall) ชวนให้นึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้อย่างสวนอวี้ (Yu Garden) สวนสวยที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิง ซึ่งใช้กำแพงแบบเดียวกันนี้เป็นเครื่องกั้นแบ่งสวนออกเป็นหลายๆ ส่วน

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

กำแพงมังกรที่สวนอวี้ ตกแต่งเป็นรูปหัวมังกรด้วย (ภาพจาก pinterest.com)

จุดเด่นประการหนึ่งของมัสยิดซงเจียงอยู่ที่ซุ้มประตูทรงจีน สำหรับใช้ผ่านเข้าไปยังลานประกอบพิธีกรรม ซุ้มที่เห็นในปัจจุบันสร้างเมื่อปี ค.ศ.1535 ในรัชกาลจักรพรรดิว่านลี่แห่งราชวงศ์หมิง แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะเป็นแค่ซุ้มประตูและตกแต่งตามแบบศิลปะจีนโบราณทุกกระเบียดนิ้ว แต่ใครเลยจะรู้ว่าภายในซุ้มประตูนี้ได้รับการใช้สอยในฐานะมินาเรต (Minaret) หรือหอประกาศอะซาน สำหรับเรียกศาสนิกชนให้ละหมาด อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มัสยิดทุกแห่งต้องมี รวมถึงภายในยังสร้างเป็นทรงโดมแบบอาหรับ เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะ 2 สกุลได้อย่างกลมกลืน

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

เป็นที่น่าสังเกตว่า ซุ้มประตูและมินาเรตนี้มีปลายหลังคาแอ่นโค้งราวหางนกนางแอ่น รูปแบบสถาปัตยกรรมนี้มีชื่อเรียกว่า เหยี่ยนเว่ย (燕尾) นิยมใช้กับศาสนสถานและบ้านเรือนของขุนนางที่สอบรับราชการระดับท้องที่ผ่าน ประดับรูปสัตว์ในจินตนาการ 3 ชนิดซึ่งเป็นเครื่องแสดงฐานานุศักดิ์ของอาคาร 

ขยับมาที่ปลายสันหลังคาทั้ง 2 ด้าน พบว่ามีการประดับประดารูปสัตว์ในจินตนาการที่มีหัวเป็นมังกร มีตัวเป็นปลา ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ‘เหง่าฮื้อ’ ตามตำนานกล่าวว่าสัตว์ชนิดนี้ชอบกินไฟเป็นอาหาร ชาวจีนจึงนิยมแกะสลักตัวเหง่าฮื้อประดับหลังคาศาสนสถาน เพื่อเป็นเคล็ดป้องกันอัคคีภัย จึงแลดูแปลกตาเมื่อศาสนสถานของอิสลามนำสัตว์ในเทพนิยายชนิดนี้มาประดับหลังคาด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ บนหน้าบันยังประดับด้วยแผ่นกระเบื้องสลักลายอักษรอาหรับคำว่า ‘อัลลอฮ์’ หรือพระนามของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลามอีกด้วย

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

หากพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่า บริเวณส่วนประกอบพิธีกรรมนี้สร้างโดยยึดหลักฮวงจุ้ย เพราะนอกจากโถงละหมาดหลักแล้ว ยังมีอาคารอีก 2 หลังสำหรับเทศนาธรรมสร้างหันหน้าเข้าหากันเอง เมื่อรวมกับซุ้มประตูจะมีลักษณะเหมือนเรือนหมู่ 4 หลัง ล้อมรอบลานกว้างตรงกลาง รูปแบบการจัดวางอาคารนี้เป็นที่นิยมในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจีน มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘ซื่อเหอเยวี่ยน’ (四合院) 

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์
มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

ถึงแม้ว่ามัสยิดซงเจียงจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบจีน แต่อย่างไรเสีย ขึ้นชื่อว่ามัสยิด ไม่ว่าที่ไหนๆ ในโลกก็ไม่อาจตัดขาดศิลปะอาหรับจากดินแดนอันเป็นถิ่นกำเนิดศาสนาอิสลามได้ หากสังเกตดีๆ จะพบว่างานศิลปะอาหรับแซมแทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของสิ่งปลูกสร้างในมัสยิดหลังนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลวดลายอักษรวิจิตร (Calligraphy) ซึ่งเป็นทัศนศิลป์ที่ชาวอาหรับชำนาญ กระทำกันอย่างแพร่หลาย และส่งผ่านไปสู่ชาวมุสลิมชนชาติอื่นๆ ที่มาเข้ารับอิสลามในภายหลัง

งานอักษรวิจิตรในมัสยิดหลังนี้มีทั้งที่เป็นงานไม้แกะสลัก งานหินแกะสลัก รวมไปถึงจิตรกรรม โดยปรากฏในหลายตำแหน่ง ไล่เรียงมาตั้งแต่ซุ้มประตู โถงละหมาด มิห์รอบ (ตำแหน่งบอกทิศกิบละฮ์ซึ่งมุสลิมจะต้องหันหน้าไปทุกครั้งที่ละหมาด) หรือแม้แต่บนมิมบัร (แท่นเทศน์ของอิหม่าม) 

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์
มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์
มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

เสร็จจากการเยี่ยมชมพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ผมขอพาทุกท่านมาชมกันต่อที่กุโบร์ หรือสุสานของชาวมุสลิม กุโบร์ของมัสยิดซงเจียงนี้เป็นที่เล่าลือกันว่าร่มรื่นและเงียบสงบที่สุดในบรรดากุโบร์ทุกแห่งของเมืองเซี่ยงไฮ้ ป้ายหินจารึกชื่อผู้ตายทุกแผ่นทำขึ้นอย่างเรียบง่าย สลักข้อความต่างๆ ทั้งอักษรจีนและอักษรอาหรับ ดูเผินๆ คล้ายกับสุสานคนไทยเชื้อสายจีนที่พบได้ทั่วไปในบ้านเรา แต่ความเหมือนเหล่านั้นถูกทำให้ต่างโดยอักษรวิจิตรอาหรับ และการฝังบนพื้นดินเรียบๆ ไร้การประดับประดาทั้งปวงตามขนบธรรมเนียมอิสลามนั่นเอง

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์
มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์
มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์

ปัจจุบันมัสยิดซงเจียงยังใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจอยู่ แต่ก็เปิดกว้างให้คนต่างชาติต่างศาสนาเข้าชมได้ โดยคิดค่าเข้าชม 3 หยวน แน่นอนว่าต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย สำรวมกิริยาวาจา ส่วนสุภาพสตรีต้องไม่มีประจำเดือนระหว่างเยี่ยมชม ภายในมีป้ายข้อมูลกำกับอยู่ในหลายจุด แต่พึงสังวรว่ามีแต่ภาษาจีนเท่านั้น เดินทางไปได้โดยรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 9 ลงสถานีสวนสาธารณะจุ้ยไป๋ฉือ (Zubaichi Park) ออกทางออกชื่อเดียวกับสถานี เดินตรงไปเรื่อยๆ จนถึงแยกที่ถนนกังเปิ้ง (Gangbeng Alley) ตัดผ่าน เลี้ยวซ้ายไปไม่ไกลก็จะพบมัสยิดทางซ้ายมือครับ

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของมัสยิดซงเจียง มัสยิดเก่าแก่คู่เมืองเซี่ยงไฮ้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานถึง 7 ศตวรรษ เลอค่าด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมผสมผสานจีนและอาหรับ ตลอดจนความร่มรื่นเขียวขจีของต้นไม้ใบหญ้า ชนิดไม่มีมัสยิดอื่นใดในเมืองเจ้าพ่อจะเทียบเทียม


ข้อมูลอ้างอิง

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. ประวัติศาสตร์ศิลปะจีนโดยสังเขป. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, 2562. 

อาดิศร์ รักษมณี. มัสยิดในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.

松江清真寺 Songjiang Mosque. songjiang.guu.shine.com. accessed on 26 December 2019 (http://songjiang.guushine.com:8080/Home/Index/index/id/15)

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย