“วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ฉันเจอนกตัวหนึ่ง มันถามฉันว่าจะไปไหน
“ฉันจึงตอบ อยากไปให้ไกล ไกลเกินกว่าที่ฉันเคยไป โว้โหว…”
วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ผมกำลังนั่งฟังเพลงของ พี่แม็กซ์ เจนมานะ เพื่อปลุกขวัญกำลังใจของตนเอง ขณะกำลังปุเลง ๆ ในรถมินิบัสที่มีลูกทัวร์ 10 ชีวิต มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติฟ็องญา-แก๋บ่าง (Phong Nha-Ke Bang) บริเวณภาคกลางของประเทศเวียดนามในจังหวัดกว๋างบิ่ญ (Quang Binh) จังหวัดที่มีพรมแดนติดกับ สปป.ลาว และเป็นที่ตั้งของถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ถ้ำเซิน ดุง (Son Doong) ซึ่งเพิ่งเปิดให้ท่องเที่ยวเมื่อ พ.ศ. 2556 นี้เอง
ก่อนหน้านั้น 2 เดือน โควิด-19 กำลังเริ่มระบาดและสถานการณ์ยิ่งน่ากังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวเวียดนาม ชาวไทย และต่างชาติ ต่างพากันตื่นตระหนกตกใจ และพยายามเดินทางกลับประเทศตัวเอง หลายประเทศทยอยปิดประเทศ ห้ามเดินทางเข้าออกอย่างเคร่งครัด เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มดำเนินนโยบาย Zero Covid อย่างเข้มข้น
ขณะที่กำลังเหนื่อยล้าจากภารกิจประสานงานช่วยเหลืออพยพนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ตกค้างอยู่ในเวียดนามกลับประเทศ โฆษณาในเฟซบุ๊กก็เด้งขึ้นมาว่า การท่องเที่ยวถ้ำเซินดุงประจำปีนี้กำลังจะเปิด มีส่วนลดถึง 10% ! เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 สนนราคาประมาณ 2,700 ดอลลาร์สหรัฐ (จากราคาเต็ม 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ) พอคลิกเข้าไปดูก็แปลกใจเป็นอย่างมากว่า มีที่เหลือเยอะมาก ๆ
หากใครติดตามทัวร์ถ้ำแห่งนี้ จะทราบดีว่า 1 ปีเปิดรับแค่ 50 – 100 รอบ รอบละ 10 คน ระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม (นอกฤดูฝน) เท่านั้น ต้องจองกันข้ามปี สวดมนต์กันข้ามคืน แถมต้องควักกระเป๋าจ่ายเงิน 100% ล่วงหน้าถึงจะได้คิว แต่ปีนี้นักท่องเที่ยวจำนวนมากยกเลิกการจองเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศ
ครุ่นคิดคำนวณต้นทุนค่าเสียโอกาสอยู่สักพัก ก็กระดกเบียร์ไซง่อนจนหมด บีบกระป๋อง และตัดสินใจว่า เอาวะ! ถ้าจะต้องบินจากไทยมาลงนี่ 2 – 3 ต่อ ลางานรวม ๆ อย่างน้อย 1 สัปดาห์ (เวลาเดินเทรกกิ้ง 4 วัน 3 คืน บวกกับเวลาเดินทางมาและกลับอีก 2 วัน 2 คืน) และยังไม่นับคิวที่จองยากโคตร ๆ โอกาสนี้จึงน่าจะเหมาะสมที่สุดแล้ว ผมจึงไม่รีรอ รีบกดลงทะเบียน พร้อมโพสต์หาเพื่อนร่วมชะตากรรมในเฟซบุ๊กทันที ไม่นานพี่สาวผู้ใหญ่ใจดี 2 ท่านที่ทำงานอยู่ในเวียดนามด้วยกันก็ทักแสดงความสนใจมา
พี่แหม่ม และ พี่ปุ๊ก ท่านหนึ่งในขณะนั้นเป็นผู้จัดการธนาคารไทยแห่งหนึ่งในประเทศเวียดนาม ส่วนอีกท่านเป็นนักธุรกิจสาว พูดเวียดนามคล่องกว่าไทย และอาศัยอยู่เวียดนามมากกว่า 20 ปี ผมก็อุ่นใจระดับหนึ่งว่า อย่างน้อยถ้าพลาดพลั้งเป็นอะไรไปจากการเข้าถ้ำครั้งนี้ ก็ยังมีคนรู้จักที่บอกเล่าตำนานการตกหน้าผาแบบเท่ ๆ ให้กับคนรุ่นหลังต่อไป
ฟิตร่างกายก่อนเข้าถ้ำ
พวกเรา 3 ใบเถา มีเวลาเตรียมตัวก่อนเข้าถ้ำประมาณ 1 เดือน ต้องบอกก่อนว่าก่อนจ่ายเงินค่าทัวร์ เซลส์ประจำตัวที่คอยให้คำปรึกษาจะส่งแบบทดสอบและประเมินสมรรถนะความฟิตของร่างกายและสุขภาพ เพื่อดูว่าร่างกายของเราเหมาะสมสำหรับกิจกรรมหรือไม่ หรือจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะด้านใดเพิ่มเติม ซึ่งประสบการณ์เทรกกิ้งของผมนั้นเรียกว่าขี้หมูขี้หมามาก ๆ เคยเดินเทรกกิ้งเข้าถ้ำ Hang En (ห่างเอ๊น) 2 วันถ้วน ซึ่งเป็นถ้ำขนาดกลางบริเวณอุทยานเดียวกันกับเซินดุงเมื่อปีก่อนหน้า จึงได้รับคำแนะนำให้ลองไปเทรกกิ้งขึ้นภูเขาในจังหวัดบริเวณรอบ ๆ นครโฮจิมินห์สัก 2 – 3 ครั้งดูก่อน

พี่แหม่มผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวสายเขียว (ธรรมชาติ) เป็นชีวิตจิตใจรีบจ้างเทรนเนอร์มาเพิ่มความแข็งแกร่งของร่างกาย พี่ปุ๊กก็เช่นกัน ทั้งวิ่ง ทั้งต่อยมวย พวกเรา 3 คน ไปเทรกกิ้งขึ้นภูเขาลูกเตี้ย ๆ บริเวณรอบนคร พยายามเพิ่มความแข็งแรงและความอึดของร่างกาย เพื่อให้มีสมรรถนะพอฟัดพอเหวี่ยงกับการเข้าถ้ำที่มีความยากลำดับ 6 ตามมาตรฐานการเดินถ้ำ ซึ่งเป็นลำดับที่ยากที่สุด
ที่ขาดไม่ได้คือ Shopping Day พวกเรานัดไปช้อปอุปกรณ์ปีนเขา เข้าร้านแล้วตาลายมาก ๆ เสียหายกันหลายล้าน (ด่ง) เพราะของมันต้องมี! เมื่อกายพร้อม ใจพร้อม อุปกรณ์พร้อม เราออกเดินทางจากนครโฮจิมินห์ไปลงที่เมืองด่งเฮ๋ย (Dong Hoi) เมืองเอกของจังหวัดกว๋างบิ่ญ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เมื่อถึงสนามบินปลายทาง มีพนักงานจากบริษัท Oxalis Adventure บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้บริการทัวร์ถ้ำเซินดุงแต่เพียงผู้เดียวมาถือป้ายรอรับอยู่ที่สนามบิน และพาเราขึ้นรถตู้มุ่งตรงไปยังโรงแรมที่พักใกล้อุทยาน ก่อนจะนัดรวมตัวกันที่ออฟฟิศใหญ่ของบริษัท Oxalis ช่วงเย็นเพื่อฟังบรีฟข้อมูลทั้งหมด
How (old) are you? 6519
ในค่ำคืนวันแรก ลูกทัวร์รอบเดียวกันถูกเรียกมารวมตัว เพื่อฟังบรรยายสรุปก่อนทานข้าวเย็นมื้อจัดเต็มที่สุดที่สำนักงานของบริษัท Oxalis ริมแม่น้ำกอน (Song Con) เราพบลูกทัวร์ที่เหลืออีก 7 คน ประกอบด้วยคู่สามีภรรยาชาวฮานอย คู่รักหนุ่มสาวชาวเวียดและฝรั่งเศส สาวไซง่อนกูรูผู้ฝึกสอนโยคะและการออกกำลังทุกประเภท คู่รักไซง่อนอีกคู่ซึ่งมีอาชีพเป็นผู้กำกับในวงการมายาอีก 2 คน
หลังจากเริ่มทำความรู้จักกันเบื้องต้นแบบเขิน ๆ ลุง Howard Limbert (ต่อไปขอเรียกว่าลุงโฮเวิร์ด) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินถ้ำชาวบริติชก็เผยตัว โชคดีมาก ๆ ที่ลุงร่วมทริปนี้ด้วย เพราะลุงเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ร่วมสำรวจถ้ำเซินดุงกับลุง Ho Kanh ชาวบ้านที่ค้นพบปากทางเข้าถ้ำโดยบังเอิญเมื่อ พ.ศ. 2534

ลุงโฮเวิร์ดเริ่มบรรยาย ครอบคลุมเนื้อหาถึงข้อควรระวัง การปฏิบัติตัวเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เส้นทางการเดินในแต่ละวัน วันไหนเท้าเปียก วันไหนปีนผา ลุยน้ำ โรยตัว โดยเฉลี่ยแล้วพวกเราเทรกกิ้งวันละ 6 ชม. รวมระยะทาง 25 กม. มีการปีนป่ายมุดถ้ำ 8 กม. ข้ามลำธารหลายครั้งและว่ายน้ำในถ้ำ ส่วนไฮไลต์คือการปีนกำแพงเมืองเวียด (Wall of Vietnam) ความสูง 100 เมตรเพื่อออกสู่ปากถ้ำ นอนตามจุดตั้งแคมป์ต่าง ๆ 3 คืน ในทริปนี้เราไม่ไปแค่ถ้ำเซินดุงเพียงอย่างเดียว แต่ผ่านถ้ำน้อยใหญ่ เช่น Hang En และ Hang Tien ด้วย พอฟังบรีฟจบก็แอบหวั่นใจ จะไหวไหมนะ ขาก็สั้น มือก็เล็ก ท่าจะเหนื่อย แต่พอหันไปดูน้องหน้าละอ่อนทีมงานลูกหาบที่ตัวเล็กพอกันก็ใจชื้นขึ้นมาบ้าง ฮึบ ๆ น่าจะพอได้
“Has anyone died from Son Doong expedition before?” ผมกระซิบถามลุงโฮเวิร์ดเบา ๆ หลังจบการบรรยาย ลุงมองหน้าผมด้วยความเอ็นดูขำ ๆ แล้วตบไหล่เบา ๆ พร้อมตอบว่า คนอายุน้อยที่สุดที่เคยเข้าถ้ำอายุ 18 ปี และมากที่สุดคือ 80 ปี, How old are you? ยังไม่มีใครตายนะ มีแต่เจ็บหนัก ลุงพูดจบก็หัวเราะ พร้อมมอบสติกเกอร์ติดกระเป๋าเลขที่ 6519 หมายถึงคนที่ 6519 ที่เดินเข้าถ้ำนี้
เท่าที่สืบทราบ ผมน่าจะเป็นคนไทยไม่เกินคนที่ 10 ที่เคยเข้าถ้ำนี้

ลืมบอกว่าการเทรกกิ้งครั้งนี้เป็นการเดินอย่างพระราชา กินอย่างเศรษฐี และเข้าห้องน้ำแบบส่วนตัวสุด ๆ มีห้อง (เต็นท์) เปลี่ยนเสื้อผ้าด้วย แม้เรามีลูกทัวร์ 10 คน แต่มีทีมงานคุณภาพถึง 29 คน!! ใช่ครับ หนุ่มน้อยชาวเวียดนามร่างกายกำยำอายุ 20 ต้น ประกอบด้วยลูกหาบ 18 คน เชฟ 2 คน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย 5 คน ผู้ช่วยถ่ายภาพ 1 คน ไกด์นำเที่ยว 1 คน นายพราน 1 คน และนักเดินถ้ำชาวบริติชสังกัดสมาคมเดินถ้ำโลกอีก 1 คน ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ ทุกคน (ยกเว้นชาวบริติช) ใส่รองเท้าแตะลุงโฮฯ (รองเท้าแตะหุ้มข้อเท้าทำจากยางล้อรถยนต์ คู่ละ 300 บาท)
ในการเดิน 4 วัน ยังไม่เคยเห็นทีมงานคุณภาพท่านใดลื่นล้ม มีแต่ลูกทัวร์รองเท้าเทรกกิ้งแบรนด์ดังคู่ละ 6,000 บาทขึ้นไปที่ลื่นแล้วลื่นอีก ไม่ว่าพื้นยางจะใช้เทคโนโลยี Nano Grip สูงขนาดไหนก็ตาม แต่ทุกคนต้องมีท่าลื่นไถลเท่ ๆ โดยทั่วกัน
การเดินทางของร่างกายและจิตใจ
วันแรกน่าจะชิวที่สุด พวกเราเริ่มต้นจากอุทยานแห่งชาติฟ่องหย่า (Phong Nha) ไกด์หนุ่มหน้ามนพูดภาษาอังกฤษคล่องนาม หยุง มาทักทายพร้อมชี้ให้ดูทากที่กำลังกระดึ๊บ ๆ บนพื้นแล้วพร่ำว่า ฝนเริ่มลงแล้ว ทากออกมาเล่นน้ำ เป็นการต้อนรับลูกทัวร์ทั้ง 10 ด้วยความตื่นเต้น พวกเราเดินลัดเลาะริมลำธาร น้ำใสเย็นฉ่ำ ผีเสื้อหลากสีบินมาทักทายเป็นระยะ เมื่อถึงหมู่บ้านบันดุง (Ban Doong Village) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดุงตามชื่อถ้ำ อาศัยอยู่ใกล้ชายแดน สปป.ลาว เวียดนาม พวกเราแวะแจกขนมน้อง ๆ ในหมู่บ้านและเดินเล่นก่อนรับประทานอาหารกลางวันกันใต้ถุนบ้านของผู้นำหมู่บ้าน
วันนี้อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน พวกเราเดินสบาย ๆ ถ้าเป็นการวิ่งก็ถือเป็น Easy Run และแล้วก็มาถึงถ้ำเอ๊น (Hang En) ช่วงบ่ายแก่ ๆ ซึ่งเป็นไฮไลต์ของวันนี้ เพราะมันคือสถานที่ตั้งแคมป์คืนแรกของพวกเราที่ตั้งอยู่บนชายหาดภายในถ้ำ! เมื่อไปถึงก็พบว่าเต็นท์เอย ครัวเอย ห้องน้ำเอย รวมถึงห้องเปลี่ยนเสื้อเอย ถูกจัดเตรียมไว้อย่างเรียบร้อยโดยเหล่าลูกหาบที่เดินมาถึงล่วงหน้าหลายชั่วโมง

หันไปทางครัวเห็นเชฟกำลังหุงข้าวควันขโมง เชฟนามว่า กวาง ได้ยินเราพูดภาษาไทยก็เข้ามาเว้าลาวทักทายด้วยความดีใจ เธอเล่าว่าเคยไปทำงานใน สปป.ลาว หลายปี เลยพูดลาวได้ พี่สาวคนสวยของผมผู้มีพื้นเพจากอุบลฯ เลยเว้าอีสานกันสนุกสนาน ผูกมิตรอย่างสนิทสนม ผลบุญกุศลครั้งนี้ทำให้พวกเราได้กินอาหารลาวประเภทยำแซ่บ ๆ เสริมมื้ออาหารด้วยเสมอ เพราะเชฟกวางอยากแสดงฝีมือการทำอาหารลาวที่เก็บกดมานาน ต้องบอกว่ากับข้าวแต่ละมื้อมีประมาณ 7 – 8 อย่าง ต้ม ผัด แกง ทอด ครบครัน

วันนี้พระอาทิตย์ตกแล้ว ผมมองลอดช่องเขายุบในถ้ำเหนือชายหาดขึ้นไปเห็นดวงดาวเต็มฟ้า เป็นฉากที่แปลกตามาก เพราะนั่งอยู่ในถ้ำแต่เห็นชายหาดและดวงดาว เหลือบตาลงมาที่ท่าน้ำบริเวณหาดเห็นสาวห่มสไบยืนอยู่! ใช่ครับ พี่สาวคนสวยของผมเอง ชีเอาสไบมาด้วย ชาวไทย-ชาวเวียดทุกคนผลัดกันถ่ายรูปอย่างสนุกสนานที่ท่าน้ำ ก่อนจะอาบน้ำในแอ่งน้ำที่แสร้งว่าเป็นชายหาด ซึ่งอุณหภูมิเย็นเจี๊ยบ เป็นการอาบแบบล้างเนื้อล้างตัวโดยไม่ใช้สบู่ เพราะเป็นกฎสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 100% In and Out แม้แต่ของเสียทั้งหมดของมนุษย์ ลูกหาบก็ต้องแบกออกมาทิ้งนอกอุทยานทุกครั้ง

ผมกลับเข้ามาในเต็นท์ หลับตาลง แฮมสตริงตึงเล็กน้อย ได้ยินเสียงน้ำไหลเบา ๆ จากซอกหิน พร้อมเสียงนกบินเล่นในท้องฟ้าเหนือถ้ำวนไปมาอย่างไม่รู้เหนื่อย รู้สึกสบายตัวและสบายใจ
เด็กกรุงเทพฯ อย่างผมไม่เคยหายใจแล้วเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติแบบนี้มาก่อน
อีกชั่วลมหายใจก็พลันรู้สึกตัวว่า พรุ่งนี้ฉันต้องลืมตาตื่นและเดินต่ออีกกี่โลหนา
เราทุกตนต่างเป็นมนุษย์ถ้ำ
เช้าวันที่ 2 เราออกเดินทางจากถ้ำเอ๊น ลึกเข้าไปผ่านผาหินแหลมคมเพื่อทะลุออกหลังถ้ำ เดินเทรกกิ้งริมลำธารไปเรื่อย ๆ ราว 3 ชม. ในที่สุดก็มาถึงปากถ้ำเซินดุงที่รอคอย หลังจากทานอาหารกลางวัน น้องทีมรักษาความปลอดภัยก็นำเข็มขัดปีนผาหรือฮาร์เนสมาสวมให้ลูกทัวร์ทุกคน ซึ่งชายฉกรรจ์ทุกคนในกลุ่มต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้ารัดแน่นกว่านี้อีกนิดหนึ่งจะกลายเป็นหมันหมู่เป็นแน่แท้

เราฝึกการใช้ฮาร์เนสและคลิปออนอยู่สักพัก ก็พร้อมหย่อนตัวลงไปที่หน้าผาสูงชันทางปากถ้ำเพื่อเข้าถ้ำเซินดุง ขาหยั่งกำแพง แขนตึง ตัวเอียง 60 องศา ถีบตัวออกจากผนังถ้ำพร้อมผ่อนมือเป็นระยะ ทะลุหมอกที่ลอยในถ้ำเหมือนกำลังก้าวข้ามไปอีกภพ อากาศในถ้ำเย็นชื้น ไม่มีกลิ่นอับ แสงไฟฉายบนหมวกกันน็อกฉายไปในความมืดที่ไม่สิ้นสุด ฝ่าผงฝุ่นละอองนับล้านที่มองด้วยตาเปล่าคงไม่ทันสังเกตเห็น

พวกเราเทรกกิ้งต่อในถ้ำจนมาถึงจุดที่เรียกว่า Hand of God หินงอกยินย้อย 3 ล้านปี มีลักษณะคล้ายมือ (อย่างน้อยในทัศนคติผู้ค้นพบ) ทีมถ่ายรูปนำไฟสปอตไลต์ขนาดใหญ่วางทิ้งไว้ 3 จุด สำหรับให้ลูกทัวร์ถ่ายรูป โดยมีน้องทีมงานอีก 1 คน รีบรุดหน้าเดินไปยืนส่องไฟตัวเองกลางฉากเพื่อสร้างมิติระยะชัดลึก เปรียบเทียบความยิ่งใหญ่ของถ้ำกับมนุษย์อย่างรู้งาน ทัวร์ลูกเป็ดข้ามน้ำลำธารในถ้ำที่เย็นเจี๊ยบและเชี่ยวกราดอีกหลายครั้ง ก่อนจะมาถึงเนินที่ผมเรียกว่า เนินดาวอังคาร เพราะเต็มไปด้วยหินฟอสซิลที่ถูกกัดกร่อนโดยน้ำที่หยดจากผนังถ้ำและลมที่พัดภายในถ้ำ จนกลายเป็นหินทรายก้อนกลมเหมือนกระดูกมนุษย์ต่างดาว มีดาษดื่นละลานตาไปหมด หินเหล่านี้อยู่มานานกว่ามนุษยชาติเสียอีก


ข้าง ๆ มีบ่อน้ำ ไกด์หยุงชี้ให้ดูปลาเผือกสีขาวขนาดเท่าฝ่ามือที่ว่ายไปมา ปลาไม่มีตาและลำตัวไม่มีสี เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ – นี่มันจูราสสิกชัดๆ ผมคิดในใจ พวกเรายังคงเดินลึกเข้าไปในถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนมาถึงสถานที่ตั้งแคมป์ บนเนินทรายริมชะง่อนหน้าผาหลุมยุบ มองทะลุเพดานถ้ำเห็นท้องฟ้า พวกเราจัดแจงนำของออกจากกระเป๋าที่ลูกหาบนำมาให้ล่วงหน้า จากนั้นไกด์พาเราไปอาบน้ำ ต้องเดินเทรกลงไปอีก 1 – 2 กิโลเมตรเพื่อลงไปเล่นลำธารใต้ดินในถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการอาบน้ำที่อินดี้สุด ๆ น้ำเย็นใสแจ๋ว คงเป็นเพราะผ่านการกรองจากชั้นหินและแร่ธาติธรรมชาติมาหลายชั้นกว่าจะมาถึงชั้นนี้ สนุกสนานกันพักใหญ่ก็ลืมนึกไปว่าต้องเดินกลับไปเบสแคมป์อีก เอ้า เหงื่อออกอีกแล้วหรอ ฮ่า ๆ

เย็นนั้นอาหารค่ำยังคงอร่อยเช่นเคย เพิ่มเติมคือมิตรภาพที่เริ่มถูกคอ เราเล่นไพ่และแลกเปลี่ยนเรื่องราวมากมายจนดึกดื่น ผมรู้แล้วว่าในโลกแห่งความเป็นจริงแต่ละคนสวมหัวโขนทำอาชีพอะไร แต่วันนี้เราคือคนประเภทเดียวกัน คนถ้ำที่มีเป้าหมายร่วมกัน เผลอคิดไปว่าถ้ารู้จักคนเหล่านี้ข้างนอก เราจะกล้าถอดหัวโขนแล้วมาเป็นมนุษย์ถ้ำเหมือนกันหรือไม่ ในโลกนอกถ้ำ มนุษย์ไม่เคยมีอิสระอย่างแท้จริง เพราะถูกจองจำอยู่กับการไล่ล่าความฝันและเป้าหมายสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ชีวิตได้ตามความจำเป็น
ค่าของฝุ่น
ผมตื่นมาฉีกซองกาแฟดริปแบรนด์ดังของเวียดนาม เอากาดริปจิ๋วออกมาจากกระเป๋า ใช่ครับ ผมพกกาดริปมาเดินถ้ำ บรรจงดริปกาแฟสายพันธุ์คารติมอร์จากที่ราบสูงในจังหวัดเลิมด่ง เมืองดาลัด พร้อมหมอกจาง ๆ ลอยเหนือปล่องถ้ำ ลำแสงที่เล็ดลอดเข้ามาเผยให้เห็นสีเขียวของต้นไม้ที่ขึ้นแซมในชะง่อนผาหิน วันนี้เป็นไฮไลต์ของทริป น้องหยุงบอกว่าวันนี้เดินน้อย ถ่ายรูปเยอะ โอ้โห เข้าทางพวกเราชาวสยาม

เราเดินเทรกกิ้งลึกเข้าไปในถ้ำ อากาศหนาวขึ้น มืดขึ้น แต่หัวใจพวกเรานั้นพองโต ระหว่างทางผ่านช่องหินที่ลูกหาบสถาปนาให้เป็นรูเจมส์บอนด์ เพราะเป็นช่องกลมขนาดพอดีคนยืน พื้นหินลายดำตัดขาวคล้ายหินอ่อนทำให้รูปที่ถ่ายออกมาดูน่าสนใจเหมือนพระเอกในหนังสายลับอังกฤษ เดินต่อราว 2 ชั่วโมงก็ถึง Garden of Eden และ Wedding Cake หลุมยุบในถ้ำขนาดใหญ่ที่แสงสาดส่องเข้ามาถึงพื้นดิน เกิดระบบนิเวศต้นไม้เขียวน้อยใหญ่ เฟิร์นและหญ้ามอสเคลือบชั้นหินสลับซับซ้อนขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ถ้าเปรียบกับจูราสสิก คงเป็นจังหวะที่มองไปแล้วเห็นไดโนเสาร์คอยาวใจดี (Apatosarus) กำลังเล็มยอดไม้

พวกเราผลัดกันปีนขึ้นไปยัง Wedding Cake หรือชั้นหินที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อยู่ตรงกลางช่องปล่องหลุมยุบ น่าจะเป็นจุดที่ผู้คนถ่ายรูปกันมากที่สุดและสวยที่สุดในทริป พี่แหม่มไม่รีรอหยิบธงชาติไทยที่แบกมา 3 วันออกมาจากกระเป๋า ส่วนพี่ปุ๊กคว้าสไบออกมาห่มตัว พร้อมหัวใจอันแรงกล้าในการปักธงความเป็นไทยกลางถ้ำล้านปี นี่แหละ! Soft Power ไทยไปไกลถึงถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวียดนาม

ผมไต่ชั้นหินที่เคลือบด้วยน้ำและมอสขึ้นไปบนจุดสูงสุดแล้วมองไปรอบ ๆ
ผมรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ส่วนมนุษย์เป็นเพียงแค่เศษฝุ่นของจักรวาลเท่านั้นเอง
ปราการด่านสุดท้าย กำแพงเมืองเวียดนาม
การเทรกกิ้งวันสุดท้ายคือการเข้าไปจุดที่ลึกสุด สูงที่สุด และชันที่สุดของถ้ำ
หากเป็นหลังหน้าฝนใหม่ ๆ พื้นถ้ำจะกลายเป็นแม่น้ำย่อม ๆ ลึกกว่า 10 เมตร ต้องลงเรือและพายเข้าไปยังจุดในสุดของถ้ำและไต่กำแพงหินสูง 100 เมตร หรือ Wall of Vietnam เรียกว่ามีทั้งไต่บันได ปีนผาด้วยเชือก เพื่ออกจากถ้ำเซินดุงทางด้านล่างขึ้นไปทางด้านบน ตอนที่พวกเราไปเป็นเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าฝน น้ำในถ้ำจึงสูงแค่เอว วันนี้คุณลุงเดวิดเรียกว่าวันแห่งโคลน หรือ Muddy Day เป็นการเดินลุยดินโคลนกันครึ่งค่อนวัน ลัดเลาะตามซอกหินที่มีน้ำสูงระดับเอวหลายกิโล

วันนี้เป็นวันที่ทุกคนถ่ายรูปได้น้อยที่สุด เพราะลื่นล้มกันเยอะที่สุด การเดินในน้ำโคลนนั้นยากกว่าการเดินบนพื้นแห้งมาก ต้องใช้กำลังมากขึ้นถึง 2 เท่าในการยกและย่ำเท้า แถมยังมองไม่เห็นหลุมหรือซอกหินใต้น้ำสีโคลน แต่ชาวไทยอย่างพวกเราที่ฝึกฝนทักษะการเดินในน้ำท่วมมายาวนานหลายชั่วคน จึงหลบหลีกหลุมบ่อใต้น้ำได้อย่างดีเยี่ยมจนมาถึงกำแพงเมืองเวียด ลูกทัวร์แต่ละคนต้องใช้กำลังที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดไต่หน้าผาชันขึ้นไป 100 เมตร ตกคนละ 10 กว่านาที ในขณะที่ลูกหาบโชว์เหนืออีกแล้ว น้อง ๆ สวมรองเท้าแตะวิ่งไต่ผากับเชือก เหมือนหนังจีนกำลังภายในภายใน 3 – 4 นาทีเท่านั้น
พวกเราทุกคนสีหน้ายิ้มแย้มและภูมิใจ ในที่สุดก็ได้พิสูจน์ตัวเอง พวกเราทำได้!

อาหารมื้อสุดท้ายเป็นปอเปี๊ยะสดสอดไส้ง่าย ๆ นั่งทานบนผืนพลาสติกบริเวณปากถ้ำเซินดุง แต่มื้ออาหารธรรมดากลับพิเศษขึ้นมา เพราะรอยยิ้มของพวกเรา 10 คนที่เต็มไปด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ ในขณะเดียวกันก็โล่งใจที่จะกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงในบ่ายวันนี้ พวกเราเดินเทรกกิ้งออกจากปากถ้ำไม่กี่ชั่วโมงก็มาถึงถนนเส้นหลักที่รถบัสจอดรออยู่ ฝนตกหนัก ทุกคนสภาพเหมือนลูกหมาตกน้ำ
ผมหยิบโทรศัพท์ที่เพิ่งเริ่มมีสัญญาณขึ้นมา ไลน์เด้งติดกันอย่างบ้าคลั่งกว่า 2 – 3 นาที
ผมมองใบไม้เต้นระบำสู้ฝน ฟังเสียงน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ทากกระดึ๊บ ๆ ออกมาเล่นน้ำฝน
“วันนี้ผมเดินออกจากป่า ผมไปไกลมาเกินกว่าที่ผมเคยไป”
โลกความเป็นจริงอาจไม่ใช่โลกแห่งปัจจุบัน เพราะบางครั้งโลกปัจจุบันที่เราใช้ชีวิตอยู่นั้น ทำให้ไม่อาจเห็นความเป็นจริงของธรรมชาติและจิตใจของมนุษย์ ขอบคุณ พี่แม็กซ์ เจนมานะ มา ณ ที่นี้ครับ

Write on The Cloud
Trevlogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ