ห้องแถวสไตล์จีนปนตะวันตกทอดแนวยาวสุดสายตา ทุกคูหาทาสีสดสวย ช่วยขับเน้นลวดลายอันวิจิตรพิสดารบนตัวอาคารและบานหน้าต่าง ตลอดสองฝั่งถนนอันสะอาดสะอ้าน ปราศจากขยะหรือสิ่งกีดขวางที่ดูรกตา ผู้คนมากมายพากันเดินเท้ายลความงามของสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน บางห้องเปิดเป็นร้านกาแฟขนาดเล็ก บ้างดัดแปลงเป็นโฮสเทลสุดหรู บางส่วนเป็นร้านอาหารและที่ขายสินค้ากระจุกกระจิก สลับกับร้านขายเครื่องใช้เพื่อคนในพื้นที่อย่างกลมกล่อมลงตัว

นักท่องเที่ยวชาวไทยถือแก้วชาไข่มุก ส่วนฝรั่งตาน้ำข้าวชวนกันดูกางเกงลายช้างข้างทางอย่างสนุก สวนทางกับแก๊งสาวจีนในชุดนักเรียนไทยที่กำลังควานหามุมถ่ายรูปเซลฟี่ ต่างส่งเสียงเจื้อยแจ้วผสานกันเป็นท่วงทำนองแห่งย่านเมืองเก่าภูเก็ต… แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

นี่คงเป็นภาพที่ดูชินตาของจังหวัดภูเก็ตใน พ.ศ. นี้ ตามใบปิดและโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตย่อมต้องมีภาพบรรยากาศ Phuket Old Town ไว้ล่อตานักเที่ยวอยู่ทุกแห่งหน แต่ถ้ามองย้อนหลังกลับไปสัก 20 – 40 ปีก่อน ความคึกคักที่เห็นคงเป็นสิ่งแปลกปลอม ค่าที่ย่านการค้าแห่งนี้ถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมจนแทบไม่เหลือหนุ่มสาวชาวเมืองเก่าคนไหนอยากอยู่บ้านตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นยุคที่เมืองเก่าเคยรุ่งเรือง ตกต่ำ จนถึงวันที่กลับมาฟุ้งเฟื่องขึ้นอีกครั้ง คาน-สมยศ ปาทาน คือลูกหลานย่านเมืองเก่าภูเก็ตคนหนึ่งที่ทันได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ยุคนี้ และเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ขับเคลื่อนพัฒนาเมืองเกิดของตัวเองจนเป็นสถานที่ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกคนต้องมาเยือน

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

นอกจากสถานะทายาทร้านค้าผ้าชื่อดังแห่งถนนถลาง คานมีอีกหลายบทบาทความรับผิดชอบที่มักสื่อถึงย่านกำเนิดของเขาอยู่ด้วย อาทิ รองประธานกรรมการชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต รองประธานถนนคนเดินภูเก็ตตลาดใหญ่ รองประธานสภาวัฒนธรรมตำบลตลาดใหญ่

ตลอดจนตำแหน่ง ‘ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต’ ที่ตัวเขาแสนภาคภูมิใจ แม้ในอดีตเขาจะเคยเป็นคนหนุ่มคนหนึ่งที่ต้องการจะไปสร้างชีวิตใหม่ให้ไกลจากบ้าน

ก่อนไปรับฟังวิธีการที่คานใช้สร้างสรรค์ย่านเมืองเก่าภูเก็ตให้มีชีวิตชีวาเช่นทุกวันนี้ รวมทั้งสาเหตุที่เขาเลือกจะกลับบ้าน เรื่องราวของเราคงต้องเริ่มต้นที่ร้าน ‘โตราคานสโตร์’ เป็นอันดับแรก

ประธานชาวปาทาน

“ผมเป็นคนปาทานที่อยู่ท่ามกลางคนจีนครับ” ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตให้คำนิยามถึงชาติภูมิของตัวเขา

เนิ่นนานนับร้อยปีที่ล่วงมา เกาะภูเก็ตเคยลือชื่อด้านแร่ดีบุกซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกในสมัยนั้น คนต่างชาติต่างภาษาพากันบ่ายหน้ามาสู่เกาะเล็ก ๆ กลางทะเลอันดามันแห่งนี้เพื่อหวังครอบครองสินแร่ที่มีมหาศาลใต้ชั้นดิน ประกอบกับการที่ภูเก็ตเป็นเกาะ มีสภาพภูมิประเทศเหมาะต่อการเป็นจุดพักเรือและแหล่งค้าขาย ภูเก็ตจึงเปรียบดั่งเกาะสวรรค์ที่ใคร ๆ ต่างก็อยากมาเริ่มต้นชีวิตใหม่กันทั้งสิ้น

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

นอกจากกลุ่มชาวจีนที่เป็นบรรพบุรุษของคนภูเก็ตจำนวนมากแล้ว ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีกลุ่มชาวอินเดียและปากีสถานจำนวนไม่น้อยที่หลั่งไหลมายังภูเก็ต หนึ่งในนั้นคือ โตรา คาน ชายชาวปาทาน (ปุชโต) ผู้ล่องเรือผ่านช่องแคบมะละกาขึ้นมาแสวงโชคที่นี่

“คุณพ่ออพยพมาเป็นแรงงานช่วยค้าขาย จนสุดท้ายก็พบว่าธุรกิจที่มันจะโตขึ้นในภูเก็ตคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต คนเชื้อชาติอินเดียและปากีสถานเขาก็ถนัดด้านการค้าขาย คุณพ่อก็เลยเริ่มประกอบธุรกิจเล็ก ๆ” ธุรกิจที่ว่านั้นคือนำผ้าเดินแบกขายตามบ้านจนเก็บเงินได้ 1 ก้อน นายโตรา คาน นำทุนก้อนนั้นไปซื้ออาคารใกล้คลองบางใหญ่ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือ เรียกว่าบริเวณ ‘แถวน้ำ’ แต่ก็มักประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง จึงย้ายมาซื้อบ้านหลังใหม่เป็นตึกแถวริมถนนถลางแทน

ที่นี่เองที่ ราสมา คาน ผู้เป็นลูกได้ลืมตาดูโลก คนมีชื่อไทยว่า สมยศ ถึงกล่าวได้เต็มคำว่าตนเป็นคนย่านเมืองเก่าภูเก็ตตั้งแต่เกิด

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

ธุรกิจของร้านโตราคานสโตร์เติบโตขึ้นจากการนำเข้าผ้าโสร่ง ผ้าปาเต๊ะเนื้อดีมาขายให้กับสตรีชาวภูเก็ต คุณพ่อโตรา คาน ติดต่อซื้อผ้าจากพ่อค้าชาวปีนัง ซึ่งรับจากพ่อค้าคนกลางชาวสิงคโปร์ โดยผ้าเหล่านั้นมีแหล่งผลิตอยู่ที่อินโดนีเซีย เรียกได้ว่ารับสินค้าต่อกันมาเป็นทอด ๆ ในคาบสมุทรมลายู

“ท่านมีโรคประจำตัว เดินทางไปรักษาที่ประเทศสิงคโปร์ คุณหมอฉีดยาให้ผิด ทำให้เซลล์เม็ดสีผิวมันเกิดความบกพร่อง ทำให้ร่างกายที่เป็นสีแทนด่างขาวไปทั้งตัวเลย คนภูเก็ตก็รู้จักคุณพ่อค่อนข้างดี เพราะไม่มีที่ไหนที่จะขายผ้าปาเต๊ะเนื้อดีนอกจากที่ร้านโตราคานสโตร์ ก็เลยเรียกว่า ‘บังหน้าด่าง’ คนโบราณเขาจะรู้กันดีว่า ร้านบังหน้าด่าง อยู่ที่ไหน”

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

ถึงครอบครัวของพวกเขาจะเป็นชาวมุสลิมปาทานไม่กี่ครอบครัวที่แวดล้อมไปด้วยคนจีน แต่ภูเก็ตก็เป็นเมืองพหุวัฒนธรรมมาช้านาน ในย่านนี้ยังมีชาวคริสต์และชาวมุสลิมกลุ่มเล็ก ๆ อยู่ ทุกคนต่างเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน คานเลยไม่รู้สึกถึงความแปลกแยกแม้แต่น้อย

“ที่นี่พอถึงวันตรุษจีน เพื่อนบ้านเขารู้ว่าของที่ไหว้เราทานไม่ได้ ก็อาจจะซื้อส้มมาให้เรา เอาขนมเข่งที่ไม่ได้ทาน้ำมันหมูมาให้ พอถึงวันตรุษของเรา เช่น ฮารีรายอ เราทำขนมอะไรต่าง ๆ ก็เอาไปให้กับเพื่อนบ้าน รุ่นแม่เอง คุณยายเอง ก็ชวนชาวจีนไปดูหนังกัน เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก ที่สำคัญคือเราเองก็เรียนรู้ภาษาจีนฮกเกี้ยนเหมือนกับเขาด้วย เช่น เหล่าเต้ง จุ๊ยตี๋ อะไรอย่างนี้ เราก็จะใช้ทับศัพท์ ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นของเมืองเก่า ความแปลกแยกก็ไม่เคยเกิดขึ้นเลยครับ”

คนหลาดใหญ่

“คำว่า ‘ย่านเมืองเก่าภูเก็ต’ ผมก็กลับไปดูประวัติศาสตร์ว่าสิ่งที่ ท่านพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้วางแปลนเอาไว้ มันกินพื้นที่ทั้งหมด 210 ไร่ ซึ่งในเขตเมืองเก่านี้มีอาคารหลายประเภทด้วยกัน ทั้งอาคารสาธารณะอย่างศาลากลาง โรงเรียนจีน มีอาคารตึกแถวที่เรียกว่า ‘เตี่ยมฉู่’ ซึ่งอยู่รายล้อมบนย่านการค้า และมีอาคารแบบคฤหาสน์ เรียกว่า ‘อั่งหม่อหลาว’ ”

คานเล่าว่าปัจจุบันเนื้อที่เมืองเก่าจะครอบคลุมถนนราว 6 สาย ได้แก่ถนนกระบี่ ถนนถลาง ถนนระนอง ถนนสตูล ถนนพังงา และถนนรัษฎานุสรณ์ ร้านโตราคานสโตร์ที่ตั้งอยู่ริมถนนถลาง จัดว่าเป็นใจกลางเขตเมืองเก่า เป็นศูนย์กลางของตลาดใหญ่ที่คนภูเก็ตเรียกด้วยสำเนียงถิ่นใต้ว่า ‘หลาดใหญ่’

“เมื่อก่อนภูเก็ตเราไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่มีห้าง ทุกคนก็จะมาจับจ่ายใช้สอยในบริเวณนี้ ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียก ‘ตั่วโพ้’ ไทยเรียก หลาดใหญ่ มันก็จะคึกคักมาก”

ในยุคที่คานยังเด็กมาก การค้าขายในหลาดใหญ่ยังเฟื่องฟู ดีบุกยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้จังหวัดภูเก็ต ความเจริญทั้งมวลในจังหวัดยังรวมกันอยู่หน้าบ้านของเขา ถัดจากนี้ไปไม่ไกลเป็นที่ตั้งของซอยรมณีย์ ภาษาจีนเรียก ‘หั่งอาหลาย’ เป็นแหล่งรมณียสถานทั้งโรงสูบฝิ่น โรงน้ำชา และผู้หญิงบริการ ซึ่งเมื่อไหร่ที่การค้าภาคกลางวันสิ้นสุดลง ซอยนี้จะตื่นจากห้วงนิทราทันที

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

“เมื่อย่านการค้าปิดไป เราจะเห็นเลยว่าในซอยรมณีย์เนี่ยคลาคล่ำไปด้วยผู้คน คนจะเยอะมากเหมือน Walking Street เลย คนจะไปช้อปปิ้งตามสิ่งที่เลือก”

อีกสิ่งหนึ่งที่คานได้เห็นมาตั้งแต่เล็กคือช่องทางเดินใต้อาคารตึกแถว ซึ่งคนภูเก็ตจะเรียกตามจีนว่า ‘หง่อคาขี่’ ภาษามลายูเรียก ‘Kaki Lima’ หมายถึงทางเดินความกว้าง 5 ฟุต มีไว้ให้ผู้คนสัญจรผ่านไปมาได้โดยไม่ต้องตากแดดและฝน ทั้งยังก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างบ้านทุกบ้านที่ใช้ทางเดินร่วมกัน ผิดจากรุ่นหลังที่หลายบ้านนำสินค้าหรือข้าวของในบ้านตนมาตั้งปิดหง่อคาขี่

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

“บ้านผมเมื่อก่อนก็คึกคักมาก จะเห็นว่าเวลาคุณพ่อนำสินค้าเข้ามา ของเพื่อนบ้านเป็นไม่รู้กี่ร้อยกระสอบ ภายใน 3 วันก็กระจายสินค้าออกไปได้หมดทั่วเกาะภูเก็ต ผ่านไปทางพังงา ตะกั่วป่า กระบี่ได้ด้วย นั่นคือยุคที่เศรษฐกิจยังรุ่งเรืองนะครับ”

แต่แล้วเมื่อการท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาในภูเก็ตช่วง พ.ศ. 2525 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปจากเดิม ความเจริญหนีจากหลาดใหญ่ไปอยู่แถบชายหาดซึ่งเป็นสวรรค์ของชาวต่างชาติ ขณะที่การค้าแร่ดีบุกก็เสื่อมความนิยมลงเนื่องจากโลกหันไปใช้โลหะแทน ละแวกหลาดใหญ่ เมืองเก่า เลยถูกทิ้งร้าง ร้านค้าจำนวนมากปิดตัวลง ตามบ้านเรือนเหลือแต่ผู้สูงอายุ ขณะที่ลูกหลานชวนกันหนีเข้ากรุงเทพฯ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

“ผมรู้สึกว่าที่นี่มันเปรียบเสมือนกับพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มันมีคนที่อาศัยอยู่จริง ๆ แต่พิพิธภัณฑ์นี้มันกำลังจะตายไปสักวันหนึ่ง เพราะการท่องเที่ยวไปบูมเอารอบนอก แล้วเมืองเก่ามันก็ค่อย ๆ ทรุดโทรมตามกาลเวลา” คานทอดถอนใจเมื่อย้อนรำลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสัก 40 ปีที่แล้ว 

“ตัวเราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง กลับไปเรียนมหาวิทยาลัย กลับมาดูหลาย ๆ รอบ หลาย ๆ เรื่อง ทำไมบ้านเราน่ากลัวอย่างนี้ มีแต่คนแก่ที่อาศัยอยู่ แต่คนรุ่นใหม่เขาไปประกอบธุรกิจซึ่งเป็นช่วงที่เศร้ามากของย่านเมืองเก่า ก็ประมาณเกือบ 20 ปีครับที่เราต้องเจอสภาวะแบบนั้น”

ฟื้นอดีตด้วยยาแรง

ในวันที่เมืองเก่าซบเซาถึงขีดสุด เด็กหนุ่มชาวภูเก็ตเชื้อสายปาทานคนนี้เลือกย้ายไปอยู่เมืองหลวงเพื่อร่ำเรียนวิชา และตั้งเจตนาไว้แน่วแน่ว่าจะต้องหางานทำที่กรุงเทพฯ เท่านั้น เขามองไม่เห็นโอกาสในการทำกินในจังหวัดบ้านเกิด ภาพความศิวิไลซ์ของถนนถลาง หลาดใหญ่ ที่เคยเห็นในวัยเยาว์เป็นได้แค่ความหลังซึ่งไม่อาจหวนคืน

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

“ผมมีความรู้สึกว่าต้องไปเรียนกรุงเทพฯ ซะ เราต้องไปเรียนที่มหาลัยในกรุงเทพฯ ทำงานที่กรุงเทพฯ รู้สึกว่าบ้านมันไม่ใช่สิ่งที่เราอยู่และเราประกอบอาชีพได้ เพราะว่ามันมีแต่ผู้สูงอายุ มันก็ไม่ตอบโจทย์ กิจกรรมของเมืองก็ไม่มี”

ทว่าหลังจากที่คานศึกษาจบชั้นมหาวิทยาลัย และเริ่มทำงานในเมืองกรุงได้ระยะหนึ่ง เมืองเก่าภูเก็ตก็เป็นที่สนใจขึ้นมาอีกครั้งโดยเหล่าผู้สนใจประวัติศาสตร์ที่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมชาติพันธุ์ผสมของภูเก็ตที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า ‘บ้าบ๋า’

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

“มีกลุ่มผู้สนใจทางประวัติศาสตร์ใน พ.ศ. 2547 เขารู้สึกว่าวัฒนธรรมบ้าบ๋ากำลังจะถูกกลืนหายไปจากการท่องเที่ยว เขาก็เลยพยายามรื้อฟื้น สิ่งที่เขามองอันดับแรกคืออาคารสถาปัตยกรรม เราจะต้องเก็บข้อมูลทั้งหมดของบ้านที่มันจะถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยที่ ณ ตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายต่าง ๆ มาควบคุม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายผังเมือง กฎหมายสิ่งแวดล้อม เขาก็เลยร่วมมือกับทางกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์ แค่ไปดู ไปวางแผนว่าอาคารนี้มันมีประวัติเรื่องเล่าอะไร”

คนกลุ่มนี้นำประเด็นเรื่องสถาปัตยกรรมในเมืองเก่าไปปรึกษาภาครัฐ นำไปสู่การวิจัยที่ได้รับความช่วยเหลือจากทั้งเทศบาลนครภูเก็ต องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ทั้ง 2 สำนักให้คำตอบไปในทิศทางตรงกันว่าจะพลิกฟื้นเขตเมืองเก่าภูเก็ตคงจะบูรณะด้วยการอนุรักษ์อาคารไม่ได้แล้ว แต่จำเป็นต้องมีกิจกรรมของเมืองเพื่อสร้างกระแสฟื้นฟูความสนใจให้ผู้คนกลับมาอีกครั้ง

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

“ภูเก็ตถ้าจะพลิกฟื้นอีกครั้ง ต้องใช้ยาแรง” คานสรุปผลการวิจัยด้วยสำนวนของเขา

ยาแรงขนานแรกที่เมืองเก่าภูเก็ตได้รับ คือการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมทั้งหมดที่มีอยู่มาใช้ ทั้งเรื่องอาคาร อาหาร และอาภรณ์ ทุกอย่างที่กล่าวมาถูกนำเข้ามาใช้จัดกิจกรรม ‘ตรุษจีนย้อนอดีตเมืองเก่าภูเก็ต’ ซึ่งแรก ๆ คนท้องถิ่นก็เต็มไปด้วยกังขา เมื่อเห็นกลุ่มผู้ขับเคลื่อนเมืองชวนกันแต่งชุดพื้นเมืองสมัยก่อน ทำอาหารโบราณในบริเวณชุมชนเมืองเก่าของพวกตน

“เราทำมาก็ 15 – 17 ปีได้แล้วครับ” คานคะเนจำนวนปีที่จัดกิจกรรมนี้มา “งานตรุษจีนมันจุดกระแสเมืองติดแค่ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งมันไม่เพียงพอต่อการสร้างความรับรู้ให้กับคนนะครับ”

ถึงอย่างนั้น เขาก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นนิมิตหมายอันดีของการพัฒนาย่านเมืองเก่า โดยกลุ่มชาวภูเก็ตที่รู้จักกันในนาม ‘มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต’’

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

สมาชิกมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต

“ทีนี้ผมเองก็มีโอกาสที่จะเข้าไปเป็นทีมมูลนิธิเมืองเก่าด้วย คือกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เขาบอกแล้วว่าบ้านเรือนก็ต้องมีการปรับปรุงอาคาร แต่จะหาเงินจากไหนได้ เทศบาลซึ่งเป็นเจ้าของงบประมาณมีเงิน แต่จะเอาเงินภาครัฐนี้ไปให้ภาคเอกชน ไปซ่อมแซมอาคารเอกชน มันผิดข้อระเบียบ ฉะนั้นถ้ามันอุดหนุนเงินผ่านมูลนิธิ มันก็จะนำเงินมาใช้ได้ครับ”

สิ่งแรก ๆ ที่คานมีส่วนผลักดันและกลายมาเป็นข้อสรุปของมูลนิธิ คือจำเป็นต้องทำให้เมืองเก่ามีแสงสว่างก่อนเป็นอย่างแรก เมื่อเมืองมีความสว่างแล้ว ความปลอดภัยก็จะตามมา

“โอ้โห! พอโครงการนี้เสร็จนะ ภูเก็ตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย จากเมืองที่มันน่ากลัว มันมีแต่เสาไฟเฉย ๆ มีไฟหลอดสีขาว ๆ แต่พอเราเอาไฟพวกนี้ไปติดให้มีแสงสีนวลขึ้นมา ผมก็ว่า เฮ้ย! ทำไมบ้านเรามันสวยขึ้นมาอย่างนี้นะ”

มติมูลนิธิข้อนี้ทำให้ชาวเมืองเก่าทุกคนเริ่มได้เห็นข้อดีของการพัฒนาบ้านเมืองของพวกตน หลายบ้านทยอยกันซ่อมแซมอาคารที่เริ่มผุพัง ทางมูลนิธิเองก็เห็นข้อบกพร่องของช่องทางเดินหง่อคาขี่ในยุคนั้น เมื่อการค้าเงียบเหงา บางบ้านไม่เห็นมีคนเดินทะลุช่องทางเดินที่ผู้สร้างตึกในอดีตจงใจสร้างไว้เป็นอรรถประโยชน์ของสาธารณะ เลยขยับขยาย เพิ่มพื้นที่บ้านตนออกมาครอบหง่อคาขี่ไว้ทั้งหมด ด้วยถือว่าทางเดินหง่อคาขี่อยู่ในโฉนดที่ดินตนเอง ย่อมเป็นสิทธิ์ขาดที่เจ้าของบ้านจะทำอย่างไรก็ได้

“เราก็พยายามไปคุยกับเจ้าของบ้านว่าเราช่วยฟื้นแบบในอดีตได้มั้ย ช่วยทุบตรงช่องทางเดินออกเสีย เพื่อที่จะให้มันกลับไปเป็นเหมือนเดิม แต่ว่ารัฐอุดหนุนไม่ได้ ก็อาจจะทำได้ปีหนึ่ง 5 หลัง 10 หลัง อาจจะถือเป็นจุดเริ่มต้น จนทุกวันนี้เราทุบที่ปิดช่องทางเดินหง่อคาขี่ได้ ประมาณ 45 หลัง ก็ถือว่าเยอะนะครับ

“แล้วการที่เราติดไฟของเมืองเนี่ยมันทำให้เกิดอิมแพกต์ว่าทุกคนก็รู้สึกว่าบ้านเรามันโทรม มันผ่านกาลเวลามาเยอะนะ เป็นกุศโลบายให้คนเริ่มที่จะซ่อมแซมอาคาร แล้วอาคารก็ดูสวยงามขึ้นครับ” 

สร้างสีสันให้กับเมือง

แม้สภาพเมืองเก่าจะดูดีขึ้น มีแสงไฟสว่าง ช่องทางเดินเริ่มกลับมาเปิดให้สาธารณชนใช้เดินได้จริง แต่คานก็ปักหมุดในใจไว้ว่าจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะตราบใดที่ทุกคนหยุดพัฒนา คิดว่าทำเท่านี้ดีแล้ว ท้ายที่สุดบ้านของเขาและทุกคนก็จะกลับไปสู่วังวนวัฏจักรเดิม ๆ

“คนในชุมชนต้องคุยกันระดับหนึ่งนะครับว่าตอนนี้ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย บ้านเราก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมครับ” ผู้สืบทอดกิจการร้านค้าผ้ากล่าว

ครั้งนั้นกลุ่มสตรีนำโดย คุณยินดี เป็นพลังหลักที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ นอกจากจะพลิกฟื้นอาคารสถาปัตยกรรมแล้ว พวกเธอเสนอว่าอยากจะฟื้นขนบประเพณีบ้าบ๋าภูเก็ตโดยเริ่มที่วัฒนธรรมการแต่งกายตามความถนัดก่อน ผู้หญิงกลุ่มนี้นำเสื้อผ้าพื้นเมืองภูเก็ตอย่างชุดเกอบายาที่ชาวภูเก็ตเรียกว่า ‘ชุดย่าหยา’ และชุดคอตั้งมือจีบมาสวมใส่ ทำกิจกรรมชักชวนคนมาเรียนรู้

ในระยะเริ่มต้น กิจกรรมของกลุ่มสตรีมีเพียงแต่งชุด พาคนเดินชมสถานที่ และเล่าเรื่องในอดีตให้พวกเขาได้รู้จักประวัติศาสตร์ย่านเมืองเก่าภูเก็ต โดยเน้นไปที่ตึกรามบ้านช่องเป็นสำคัญ คานเห็นดังนั้นก็ได้ขออาสามาร่วมทีม พร้อมทั้งเสนอแนวคิดว่าผู้สนใจเรียนรู้อดีตของภูเก็ตควรจะได้รู้เรื่องวิถีชีวิตควบคู่ไปกับเรื่องอาคาร ทั้งหมดเลยรวมตัวกันหาบ้านหนึ่งหลังเพื่อใช้ทำกิจกรรมร่วมกับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างถิ่นก็จะได้เข้าไปชมวิถีชีวิตภายในบ้านคนภูเก็ตหลังนั้นด้วย

“ผมก็เริ่มเสนอความคิดเห็นควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมของเมือง ก็เลยเกิดขึ้นมาเป็นวิสัยทัศน์ว่า เราต้องการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม ส่งเสริมให้การค้าเกิดขึ้น พันธกิจที่เรามองไว้ก็คือเรื่องของการท่องเที่ยว เราต้องเอาการท่องเที่ยวมาเป็นเครื่องมือ”

สมยศ ปาทาน ลูกชายร้านขายผ้าผู้ชุบชีวิตย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วยการท่องเที่ยวชุมชน

คานเองไม่ใช่คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เขาไม่ทราบแม้กระทั่งคำจำกัดความของ ‘อุตสาหกรรมท่องเที่ยว’ ทั้งนี้คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ไกลกว่านั้นอย่างการตลาด และวิธีสรรหากลุ่มนักท่องเที่ยวตัวอย่าง แต่เขาก็นึกได้ว่าภูเก็ตมีตลาดธรรมชาติอยู่ คือกลุ่มผู้มาศึกษาดูงานเทศบาล กลุ่มของคานจึงไปชักชวนกลุ่มผู้ศึกษาดูงานเทศบาลมาทดลองเป็นนักท่องเที่ยวของเมืองเก่าภูเก็ตเสีย

เมื่อทดลองไปได้สักระยะ ทุกคนเห็นถึงความเป็นไปได้ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวในย่าน ขณะที่สมาชิกในกลุ่มก็มีอยู่น้อยคน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นในภายหน้า และชักจูงคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมมากขึ้น พวกเขาจึงรวมตัวกันไปขอเทศบาลนครภูเก็ตจัดตั้ง ‘ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต’ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2551

ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผู้ฟื้นความเจริญให้บ้านเกิดด้วยถนนคนเดินและการท่องเที่ยวโดยชุมชน

สมาชิกชุมชนเริ่มเห็นกระบวนการที่เกิดขึ้น ส่วนคานก็อยากให้ทุกบ้านมีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านนี้ เลยกระจายเงินลงทุนเป็นหุ้น หุ้นละ 100 บาท แต่ทุกบ้านลงได้ไม่เกิน 10 หุ้น ชาวบ้านร้อยละ 65 เห็นด้วยและรวมเงินลงขันมาให้ เงินจำนวนนี้ก็นำไปพัฒนาการท่องเที่ยว ก่อนปันผลคืนเมื่อครบปี ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ทางกลุ่มก็ชักชวนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น งานวันเด็ก วันผู้สูงอายุ จนพวกเขาค่อย ๆ เข้าใจและเริ่มให้การยอมรับมากขึ้นทีละหลัง

ถนนคนเดินบนความเห็นต่าง

เมืองเก่าแปรสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากเพียงใด แรงต่อต้านโดยคนในพื้นที่ก็ยิ่งทวีมากขึ้นเพียงนั้น ซึ่งความขัดแย้งแรก ๆ ที่ปะทุให้เห็นเด่นชัดคือเรื่องกลุ่มคนผู้ขับเคลื่อนซึ่งมีแต่ผู้หญิง และส่วนใหญ่เป็นคนมีอายุ เด็ก เยาวชน และผู้ชายยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม

“กลุ่มสตรีเขาจะถนัดแค่เรื่องของการแต่งกาย ไปไหนชวนกันแต่งกาย แต่ผมมองว่าแล้วทำไมเรายังขาดโอกาสให้กับเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง แล้วในคณะกรรมการก็มีผมอยู่คนเดียวที่เป็นผู้ชาย นอกนั้นจะเป็นป้า ๆ แม่ ๆ คุณยายทั้งนั้นเลย

“ผมก็เลยนำเสนอว่าเราต้องทำกิจกรรมของเมืองนะ แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากคณะกรรมการชุดก่อน ๆ ว่า มันจะเป็นการสร้างความวุ่นวาย เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ เราอยู่กันแบบนี้ อย่าทำอะไรที่มันเกินตัว อีกอย่างคือความอาวุโสที่ต่างกัน การสร้างการยอมรับก็เป็นปัญหา ผมก็เพิ่งเข้ามา เป็นแค่รุ่นเด็กคนหนึ่ง เขาก็ยังไม่เห็นว่ามันจะทำได้”

ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผู้ฟื้นความเจริญให้บ้านเกิดด้วยถนนคนเดินและการท่องเที่ยวโดยชุมชน

อีกหนึ่งข้อขัดแย้งที่ตามมาติด ๆ เป็นผลพวงจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจหมู่บ้านและชุมชน (SML) ซึ่งรัฐจะให้เงินอุดหนุนแก่ชุมชนต่าง ๆ โดยแบ่งตามขนาด ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตจัดอยู่ในชุมชนขนาดกลาง ได้เงินมาทั้งสิ้น 4 แสนบาท คณะกรรมการชุดก่อน ๆ เสนอว่าควรใช้เงินอุดหนุนก้อนนี้มาพัฒนาการปักผ้า เย็บผ้า ส่วนคานมองต่างออกไป เขาไม่คิดว่านั่นจะเป็นยาที่แรงพอสำหรับใช้กระตุ้นบรรยากาศความคึกคักของเมืองเก่า เมื่อเทียบกับมูลค่าของเงินที่ได้มา

“ผมก็เสนอว่าถนนเรามันซบเซา นักท่องเที่ยวมาแล้วคิดว่าไม่มีอะไร มาถ่ายรูปกับตึกแล้วก็กลับไป ถ้างั้นเราลองมาทำ Walking Street วันอาทิตย์ดีมั้ย ทุกคนก็ตกใจว่าทำไมทำแบบนี้ ไม่ได้นะ!”

กระนั้นก็นับว่าเป็นโชคดีของคานที่เขาได้เตรียมแผนไว้ล่วงหน้าด้วยการหยั่งเสียงคนรุ่นใหม่ในชุมชนเสียก่อน เด็ก ๆ ส่วนมากเห็นด้วยกับคานที่จะจัดถนนคนเดินขึ้นบริเวณถนนถลาง เพราะพวกเขาก็ต้องการมีส่วนร่วมกับย่านด้วยวิธีนี้ ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างยกเหตุผลเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวขึ้นมาอ้างว่า การเปิดถนนคนเดิน ออกร้านขายของ อาจทำให้เกิดความวุ่นวายและอัคคีภัยขึ้นมาได้ ในที่ประชุม ประชาคมเต็มไปด้วยการโต้เถียงอย่างดุเดือด แต่ที่สุดแล้ว ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเปิดถนนคนเดินก็เป็นฝ่ายกุมเสียงข้างมาก คิดเป็นร้อยละ 70 ของคนในประชาคมทั้งหมด

ที่นี่คือบ้านของเรา

ถึงได้รับชัยชนะ แต่คานก็ยังอดจะรู้สึกผิดไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ประชุม

“ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักคำว่าวิธีการบริหารความขัดแย้งนะครับ อาศัยพลังของคนรุ่นใหม่ แล้วตัวเองก็ตั้งธงไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดเลย เพราะการจะเป็นผู้นำที่ดีได้ต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้ดี และบริหารความขัดแย้งให้เป็น ผมคิดถึงแค่ว่าประชาธิปไตยคือเสียงส่วนใหญ่ ถ้าประชามติเห็นด้วยปุ๊บ ผมก็จะลุยเต็มที่โดยลืมไปว่าความสุขของคนในชุมชนมันไม่ได้เกิดขึ้นจากแค่กิจกรรมของเมืองอย่างเดียวนะ มันต้องมีการคุยกันว่าอะไรคือความสุขของคนในชุมชน แล้วคนในชุมชนต้องการ 100% มั้ย การประชุมประชามติ ปรากฏว่าประมาณ 70% เห็นด้วย ที่จะให้คนกลุ่มนี้ดำเนินการจัดตั้งถนนคนเดิน”

เมื่อคานจัดตั้งถนนคนเดินตามดำริของเขา คนในชุมชนได้แตกหักเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ต่างฝ่ายต่างแข็งข้อและประณามผู้เห็นต่างด้วยมุมมองของตน กว่าคานจะเขียนโครงการผ่านเทศบาล และได้รับการอนุมัติโดยตำรวจ ทุกขั้นตอนดำเนินไปด้วยความทุลักทุเล

“ตอนเปิดนี่ค่อนข้างจะทุลักทุเล เพราะตำรวจเองก็เพิ่งเซ็นใบอนุญาต เราเปิดวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556 ตำรวจเพิ่งเซ็นให้ใช้พื้นที่สาธารณะจัดกิจกรรมวันที่ 26 กันยายน แค่ 1 วันก่อนงานจะเริ่ม เพราะเขาก็ต้องการเช็กความมั่นใจว่าพวกคุณไม่มีความขัดแย้งจริง ๆ”

พอถนนคนเดินหลาดใหญ่ถือกำเนิดขึ้นแล้ว คานได้ฟอร์มทีมดูแลรับผิดชอบถนนคนเดินขึ้นมาโดยเสนอให้ผู้อาวุโสขึ้นเป็นประธาน ส่วนเขาลดบทบาทเป็นเพียงรองประธาน ปัญหาทั้งหลายที่เคยถูกต่อต้านมาก่อนหน้านี้ ทีมถนนคนเดินหยิบยกมาพิจารณาพร้อมหาทางแก้ไขให้หมดสิ้น

เริ่มจากอัคคีภัยที่ชาวบ้านหลายคนกลัว คานและพรรคพวกเสนอให้ผู้ประกอบการทั้งหมดมาซ้อมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ทุกคนรู้วิธีดับถังแก๊ส ปิดวาล์วแก๊ส อย่างต่อมาคือเรื่องทีมแพทย์กู้ภัย ทุกครั้งที่จะปิดถนนถลางในวันอาทิตย์ ก็จะต้องมีทีมแพทย์กู้ภัยฉุกเฉินมาประจำการเพื่อช่วยเหลือให้ทันท่วงที ใครมีความจำเป็นต้องเดินทางออกไปข้างนอก เช่น พาแม่ที่นั่งรถเข็นไปหาหมอ ทีมถนนคนเดินก็ต้องอำนวยความสะดวกแลกเปลี่ยนกับที่ชาวบ้านอนุญาตให้ใช้พื้นที่หน้าบ้านตนจัดกิจกรรม

“ค่อย ๆ แก้ปัญหาให้ผู้คนจนเข้าใจอยู่ 4 ปี นานเลยครับ เพราะว่าแถวนี้คือคนรวยอยู่ทั้งนั้นเลย พูดกับคนรวยนี่ พูดว่าต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไม่ได้นะ เขาบอกเลยว่าฉันรวยอยู่แล้ว ไม่ต้องพลิกฟื้นเศรษฐกิจเลยนะ” คานเปรยคำพูดเด็ดที่ใช้เกลี้ยกล่อมจนทุกคนเข้าใจ 

ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผู้ฟื้นความเจริญให้บ้านเกิดด้วยถนนคนเดินและการท่องเที่ยวโดยชุมชน

“ผมต้องบอกว่า ที่นี่คือบ้านของเรา ถ้าเราไม่ช่วยกันพัฒนาแล้วเราจะรอใครมาพัฒนา วันนี้เรามาช่วยกันพัฒนาดีกว่ามั้ย โดยเอากิจกรรมของเมืองเข้ามาช่วย ลูกหลานเราจะได้กลับมา ค้าขายเราก็จะดีขึ้น… ผมใช้คำนี้คำเดียวเลย ‘ที่นี่คือบ้านของเรา’ ครับ”

เมื่อนั้น ความเข้มขึงตึงเครียดจึงค่อย ๆ มลายไปจากหัวใจของผู้เห็นต่างทีละน้อย

“ทุกคนก็เริ่มที่จะเปิดใจ เห็นกลุ่มนี้ 3 ปีที่ผ่านมาเขามีความขัดแย้ง แต่เขามีความพยายามทำงานจริงจังมาก แล้วเราทำงานทั้งหมด เราไม่มีเงินเดือน ผมไม่มีเงินเดือนมาถึงวันนี้ เพราะคิดว่าเราแค่ตอบแทนให้กับสังคมเท่านั้นเอง

“สังคมที่เป็นสุขของผม ตามที่ผมตั้งธงไว้ในใจก็คือทุกคนได้กลับมาคุยกัน ลูกหลานได้กลับมาอยู่ที่บ้าน มาสืบทอดกิจการของที่บ้านต่อ อาคารหลังนั้นอาจจะเป็นร้านยาจีนก็ได้ แต่ถ้าลูกหลานเขามองว่าไม่เหมาะ จะปรับเป็นร้านคาเฟ่ ผมก็รู้สึกว่าทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตแล้ว… ที่สำคัญที่สุดเลยคือเราได้กลับมาคุยกัน เหมือนตอนที่เราเคยรุ่งเรืองในอดีตก่อน พ.ศ. 2525 ความสุขพวกนี้มันก็จะค่อย ๆ กลับมาครับ”

ทำหน้าบ้านให้น่ามอง

ใครมาเที่ยวชมย่านเมืองเก่าภูเก็ตในวันนี้ อาจรู้สึกว่ารอบตัวเต็มไปด้วยทัศนียภาพที่น่าพึงตา ตึกแถวทุกห้องทาสีสดใหม่ รถราจอดเป็นระเบียบ ไม่กีดขวางการจราจร พื้นทางเท้าเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าหรือเศษมูลฝอยอยู่ตามทาง แต่ใครเลยจะรู้ว่าหากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนหน้า ละแวกนี้ยังเคยมีหลายสิ่งที่จัดเป็น ‘ทัศนะอุจาด’ ตามคำเรียกของคานอยู่

“ผมก็มองว่าตอนนี้เมืองมันเริ่มมีกิจกรรมของเมืองแล้วนะ แต่มันยังขาดเสน่ห์ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวขึ้นมา อย่างแรกคือต้องทำหน้าบ้านให้น่ามองก่อน”

ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผู้ฟื้นความเจริญให้บ้านเกิดด้วยถนนคนเดินและการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ทัศนะอุจาดอย่างที่หนึ่ง คือป้ายที่ติดยื่นออกมาจากหน้าร้าน คานคิดเรื่องนี้ได้ช่วงที่รัฐบาลสมัยหนึ่งจัดประกวดโครงการ ‘ร้อยมือสร้างเมือง’ ให้ชุมชนจากทั่วประเทศเสนอแนวคิดที่จะพัฒนาชุมชนตนเองให้ดีขึ้นออกรายการโทรทัศน์ ขณะที่ชุมชนอื่นพากันเสนอแผนการสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ สมยศ ปาทาน ผู้เป็นตัวแทนชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตเสนอแค่ให้ปลดป้ายที่ยื่นออกจากอาคารลงเท่านั้น เรียกเสียงหัวเราะขบขันจากคนในรายการ รวมทั้งพิธีกร ที่คิดว่านั่นเป็นเรื่องเล็กเกินกว่าที่จะต้องเสนอออกสื่อ

“เขาก็ถามว่าคุณไปขอความร่วมมือจากพวกเขาไม่ได้เหรอ ผมบอกว่าเสน่ห์ของย่านเมืองเก่าคืออาคาร แต่สิ่งที่จะเป็นทัศนะอุจาดของเมืองคือป้าย ถ้าผมเอาป้ายออก เทศบาลทำโครงสร้างพื้นฐาน แล้วเมืองเก่าเราเริ่มที่จะปรับอาคารให้มันสวยงาม แล้วก็ใส่กิจกรรมการท่องเที่ยวเข้าไป มีถนนคนเดินเข้ามา ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวก็จะกลับมา ภูเก็ตไม่ได้มีดีแค่ทะเล ยังมีอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของคนภูเก็ต คณะกรรมการก็เลยเข้าใจ จนผมได้รางวัลและเงินมา 1 ล้านบาท”

ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผู้ฟื้นความเจริญให้บ้านเกิดด้วยถนนคนเดินและการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ทั้งที่ได้เงินจากรายการมาแล้ว แต่การดำเนินงานก็ไม่ง่าย เพราะหลาย ๆ ร้านต่างไม่พอใจที่คานไปชักชวนให้เขาปลดสัญลักษณ์ทางการค้าของพวกเขาลง ทั้งที่พวกเขาเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อมีผู้นำก็มีผู้ตาม จนในที่สุดถนนถลางก็ปลดป้ายที่บดบังทัศนียภาพของตึกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นโมเดลให้ถนนอื่น ๆ ทำตาม ตึกเก่าทรงชิโน-ยูโรเปียน จึงอวดโฉมโชว์ความงามได้เต็มที่

ทัศนะอุจาดต่อมาคือขยะ จากเดิมที่บ้านทุกหลังเคยชินกับการนำขยะออกมาทิ้งหน้าบ้าน บ้างนำถุงดำออกมากองบนทางเท้าจนดูรกหูรกตา คานก็ขอความร่วมมือให้ทุกบ้านช่วยเก็บขยะไว้ในบ้านตัวเองก่อน แล้วรวบรวมออกมาทิ้งเป็นเวลาในช่วงเย็น ถังขยะสีเขียวของเทศบาล คานก็แนะให้เปลี่ยนมาใช้ถังขยะที่มีรูปทรงสวยงาม เพื่อแต่งบรรยากาศให้ท้องถนนตอบรับการท่องเที่ยวมากขึ้น

ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผู้ฟื้นความเจริญให้บ้านเกิดด้วยถนนคนเดินและการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ส่วนที่สาม คือสีทาอาคารที่เริ่มซีดหรือโทรมตามประสาตึกเก่า ช่วงที่เริ่มทำถนนคนเดิน เคยมีบริษัทสีรายใหญ่มาติดต่อขอทาสีให้ตึกทุกคูหาใหม่ แต่หลังจากได้ตริตรองดูแล้ว คานก็ปฏิเสธไปด้วยเหตุผลว่า “ผมให้ความสำคัญกับความเป็นตัวตนของคนมากกว่าการสร้างแบรนด์ของภูเก็ตโดยใช้บริษัทยักษ์ใหญ่” 

ในการจะทาสีอาคารใหม่ คานไม่ได้สักแต่ว่าจะหาช่างมาทาสีเฉย ๆ แต่เลือกเฟ้นช่างที่มีความรู้ด้านการอนุรักษ์อาคารเก่าเป็นอย่างดี ก่อนจะทาสีบ้านทุกบ้าน ถ้าที่ไหนจะต้องซ่อมแซมลายปูนปั้นก็จะดำเนินการซ่อมให้เสร็จก่อน เมื่อจะซ่อมปูนปั้นก็ต้องใช้ปูนขาวหมักนาน 45 วัน คานยังสนับสนุนให้มีการขุดลอกชั้นสีเพื่อหาสีดั้งเดิมที่ฉาบลงบนตัวอาคารห้องนั้น ก่อนว่าจ้างบริษัทสีช่วยผลิตสีหายใจได้เพื่อใช้ถนอมตึกเก่าเหล่านี้โดยเฉพาะ

“ถ้าหน้าบ้านมันน่ามอง คนจะกลับมาท่องเที่ยวครับ” คานเชื่อเช่นนี้เสมอ

วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต

งานตรุษจีนย้อนอดีตจัดได้เพียงปีละครั้ง ส่วนถนนคนเดินก็มีได้เฉพาะวันอาทิตย์ คนมีหัวคิดริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ อย่างคานมองว่าการท่องเที่ยวในเมืองเก่ามีได้ทุกวัน ทำให้เขาต้องจัดตั้งวิสาหกิจใหม่เพื่อดูแลการท่องเที่ยวรายวันที่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ วันไหนก็ได้ 

“พอชุมชนก้าวกระโดดจากเมืองร้างสู่การท่องเที่ยว ปัญหาที่จะเกิดคือการจราจรบนถนนมันเริ่มแออัด คนมาจอดรถถ่ายรูปแล้วไม่ดับเครื่องยนต์ เขาก็บอกว่าตกลงความสุขของเราจะหายไปแล้วจากนักท่องเที่ยว ผมก็เลยตั้ง ‘วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว’ ขึ้นมาใน พ.ศ. 2561 – 2562 ประมาณนี้ เพื่อมาจัดระเบียบนักท่องเที่ยวที่เขาเหลืออยู่”

“ถนนคนเดินทำวันอาทิตย์ ส่วนท่องเที่ยวนี่ทำได้ทุกวัน ทำเรื่องการท่องเที่ยวในชุมชน ชวนคนในชุมชนมาเปิดบ้าน แล้วเผอิญโชคดีว่ามีบ้านหลังหนึ่ง คุณหมอที่เป็นเจ้าของบ้านเขาเป็นเจ้าของโรงแรมด้วย เขาก็รู้สึกว่าปรับแบบนี้แล้วคิดถึงชีวิตในอดีต เลยอนุญาตให้ชุมชนใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นฐานของท่องเที่ยวชุมชน แล้วเราก็ไปชวนชาวบ้านแต่ละหลังเริ่มมาเปิดบ้านเยอะขึ้น พัฒนาเป็นเส้นทาง ทำโปรแกรมการท่องเที่ยวครับ”

ปัญหาที่คานต้องถกเถียงและตามแก้ให้ชาวบ้านอีกครั้งคือเรื่องที่จอดรถ ชาวบ้านหลายคนรู้สึกว่าบ้านของพวกเขากำลังถูกรุกล้ำโดยนักท่องเที่ยวที่มาแล้วก็ไป บ้างมาจอดรถขวางทาง ร้านค้าที่ขายสินค้าบางชนิดที่นักท่องเที่ยวไม่ซื้อก็มีแต่เสียผลประโยชน์ เขาเลยต้องรณรงค์ให้มีธรรมนูญชุมชน จัดระเบียบที่จอดรถเว้นวันคู่-วันคี่ ทำป้ายเชิงสัญลักษณ์เป็นมาสคอต ‘น้องนายเหมือง-น้องย่าหยา’ ไว้เตือนสติว่าต้องดับเครื่องยนต์เวลาจอดรถเสมอ เป็นการสร้างความรับรู้ว่าเมืองเก่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผู้ฟื้นความเจริญให้บ้านเกิดด้วยถนนคนเดินและการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผู้ฟื้นความเจริญให้บ้านเกิดด้วยถนนคนเดินและการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตมีหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะแทบทุกวัน เป็นแขกมากหน้าหลายตาทั้งไทยและเทศ เมื่อเขามาถึงก็จะได้พบกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่เดินชมเมืองเก่า เข้าไปศึกษาวิถีชีวิตคนในอดีต หัดทำขนมพื้นบ้าน กินอาหารภูเก็ตดั้งเดิม

คนเก่าแก่ที่เคยคิดต่างจากคานเริ่มให้การยอมรับในวงกว้าง ผู้ใหญ่บางคนที่เคยต่อต้านการท่องเที่ยวในชุมชน ก็เริ่มนำเอาสินค้าวางขายหน้าบ้านตนเอง คานละลายความไม่เห็นด้วยที่เกิดขึ้นด้วยการสนับสนุนให้ทุกคนได้ทำตามงานที่ตนถนัด นำไปสู่การจัดตั้งวิสาหกิจใหม่ คือ ‘วิสาหกิจผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวในชุมชน’ มารวมตัวกันเป็นแม่ครัวทำขนม ทำอาหาร ปักเย็บ ขายงานฝีมือแก่คนที่มาเที่ยว

ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผู้ฟื้นความเจริญให้บ้านเกิดด้วยถนนคนเดินและการท่องเที่ยวโดยชุมชน

จากจุดเริ่มต้นในหลาดใหญ่ ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต ผลงานและชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวชุมชนของคานค่อย ๆ ขจรขจายไปสู่ต่างชุมชนในจังหวัด ต่างจังหวัดในภูมิภาคทะเลอันดามันด้วยกัน ภาคอื่นในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น คานยังได้รับเชิญให้ขึ้นบรรยายบนเวทีงานประชุมวิชาการกรอบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ที่เมืองปาเลมบัง ประเทศอินโดนีเซียมาหมาด ๆ

“ผมก็ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะพลิกผันจากอาชีพที่เราเคยทำงานมา มาสู่งานสังคม แต่ผมมองว่าความสุขของคนมันมากกว่าเงิน แล้วผมก็จะตอบคำถามเดิมว่าที่นี่คือบ้านของเรา ที่นี่คือประเทศของเรา ถ้าเราไม่ช่วยกัน แล้วใครจะมาช่วย ในฐานะที่เราพอมีแรง เรามีความคิด เราก็พยายามที่จะช่วยพัฒนาให้ทุกคนได้มีความสุขกับบ้านของเรา แค่นั้นเองครับ”

ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผู้ฟื้นความเจริญให้บ้านเกิดด้วยถนนคนเดินและการท่องเที่ยวโดยชุมชน

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ทยาวีร์ สุพันธ์

ช่างภาพอิสระ บ้านอยู่ภูเก็ต หลงรักการดื่มกาแฟ ขับรถเที่ยว ชมธรรมชาติ การถ่ายรูปทะเลและผู้คน ชอบดนตรี ตีกลองเป็นงานอดิเรก