สารภาพตั้งแต่แรกว่าบรรทัดแรกว่า ผมคิดอยู่นานมากว่า คุณสมสุข กัลย์จาฤก คือใครในครอบครัวกันตนา

ทั้งที่เธอเป็นถึงศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครวิทยุ-ละครโทรทัศน์) พ.ศ. 2561

เมื่อพูดถึงความสำเร็จตลอด 70 ปีที่ผ่านมาของ ‘กันตนา’ แสงไฟมักถูกสาดส่องเข้าใส่ผู้ก่อตั้ง และผู้ที่เป็นแทบจะทุกอย่างของกันตนาอย่าง คุณประดิษฐ์ กัลย์จาฤก ถัดจากนั้นเสียงปรบมือก็เป็นของรุ่นลูกที่มีหัวเรี่ยวหัวแรงอย่าง คุณตั้ม-จาฤก กัลย์จาฤก และ คุณต๊ะ-นิรัตติศัย กัลย์จาฤก ผู้เข้ามาสานต่อ และเปลี่ยนแปลงกันตนาจากคณะละครวิทยุสู่ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ แอนิเมชัน แล็บโพสต์โปรดักชัน จนกลายเป็นบริษัทธุรกิจบันเทิงที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

แล้วเสียงชื่นชมก็ยังดังต่อเนื่องมาถึงรุ่นหลานอย่าง เต้-ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก (The Face Thailand) เต็นท์-กัลป์ กัลย์จาฤก (‘อิน จัน’ Extraordinary Siamese Story: Eng and Chang) และ ติ้ว-นฤชล กัลย์จาฤก (หมาดำ) ที่สร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ให้กันตนายังคงเป็นผู้ผลิตที่ยังดูหนุ่มสาวอยู่เสมอ

แต่น้อยคนนักที่จะรู้จัก คุณสมสุข กัลย์จาฤก ภรรยาของคุณประดิษฐ์ ที่ร่วมก่อร่างสร้างกันตนามาด้วยกัน คุณประดิษฐ์ทำงานเบื้องหน้า คุณสมสุขทำงานเบื้องหลัง เธอเขียนบทละครวิทยุมาแล้วราว 300 เรื่อง หลากหลายแนว และนามปากกาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ ‘กุสุมา สินสุข’ ซึ่งสามีเป็นผู้ตั้งให้ โดยได้แรงบันดาลใจจากตัวละคร ‘ตะละแม่กุสุมา’ ในเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ

ละครที่เธอเขียนถูกนำมาทำเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์มากมาย เช่น สุสานคนเป็น ห้องหุ่น เงินปากผี ปะการังสีดำ ตุ๊กตาผี เจ้าสาวในชุดสีดำ และ ซีอุย

คุณย่าวัย 94 ปี ไม่ได้เขียนบทละครวิทยุมา 30 กว่าปีแล้ว แต่เปลี่ยนมารับหน้าที่บรรณาธิการบทละคร คอยดูแลปรับแต่งบทละครทุกชนิดของกันตนา จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เธอส่งต่อหน้าที่นี้ให้ลูกสาว ตุ๊กตา-จิตรลดา (ดิษยนันทน์) กัลย์จาฤก รับช่วงแทน แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังติดตามผลงานของลูก ๆ หลาน ๆ อยู่เสมอ

คุณย่าสมสุขบอกว่า ในชีวิตนี้ให้สัมภาษณ์สื่อนับครั้งได้ เพราะหน้าที่ออกสื่อเป็นของคุณประดิษฐ์และลูก ๆ หลานๆ เธอทำงานอยู่เบื้องหลังเงียบ ๆ ก็พอใจแล้ว

แต่เมื่อ The Cloud ขอสัมภาษณ์ผ่านหน้าจอ โดยมีหลานรักอย่าง ติ้ว นฤชล ร่วมชวนคุยด้วย คุณย่าก็ยินดี

สมสุข กัลย์จาฤก วัย 94 ปีผู้อยู่เบื้องหลังบทละครกันตนากว่า 300 เรื่องตลอด 70 ปี

ชีวิตคนทำละครวิทยุ

“สมัยนั้นยังไม่มีเทป ต้องไปแสดงสด ๆ ที่สถานีวิทยุเลย ไปกันทั้งคณะ หกเจ็ดคนขึ้นรถไปคันเดียวกัน ไปเล่นทีละสถานี เสร็จงานก็พากันไปกินข้าว” คุณย่าสมสุขย้อนเล่าบรรยากาศการทำงานละครวิทยุของคณะกันตนาในยุคเริ่มต้น

สำหรับคนที่เพิ่งเคยได้ยินคำว่า ‘ละครวิทยุ’ เป็นครั้งแรก มันคือความบันเทิงชนิดหนึ่งที่เหล่านักแสดง ‘เล่น’ ละครด้วยการใช้เสียง บางคนอาจจะดัดเสียงรับบทมากกว่าหนึ่งตัวละคร แล้วหยิบอุปกรณ์ต่าง ๆ มาทำเป็นเสียงประกอบ เพื่อให้คนดูจินตนาการภาพตาม เผยแพร่ทางวิทยุ ยุคหนึ่งถือเป็นความบันเทิงหลักที่คนติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง

“เราเป็นคนเขียนบท ต้องเขียนบทให้ทัน ไปถึงสถานีก็แจกบทให้คนละชุด เขาก็รับไปอ่าน ไม่เคยเห็นเขาซ้อมกันนะ ตอนจะแสดงก็ถือบทยืนล้อมไมโครโฟน ทำไม้ทำมือบอกมุกกัน พยักหน้าให้คิว ก็จะใส่เพลงกันสด ๆ ตรงนั้น” นักเขียนบทละครวิทยุมือหนึ่งของกันตนาเล่า

สมสุข กัลย์จาฤก วัย 94 ปีผู้อยู่เบื้องหลังบทละครกันตนากว่า 300 เรื่องตลอด 70 ปี
คุณสมสุข-ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก และนักแสดงละครวิทยุคณะกันตนา

ละครวิทยุของกันตนาในยุคนั้นโด่งดังถึงขนาดมีรายการตอบจดหมายทางวิทยุที่คุณประดิษฐ์ต้องมาตอบจดหมายกองพะเนินของแฟนคลับทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้น กันตนายังทำในสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้

“คนยุคนั้นติดละครวิทยุมาก ฟังแล้วเขาก็อยากเห็นหน้าพระเอกนางเอก คุณประดิษฐ์เลยทำกันตนาโชว์ พาทีมไปทุกจังหวัดเลย ไปเช่าโรงหนัง เขาเรียกว่า เช่าวิก เอาละครวิทยุเรื่องดังมาเล่นสด ให้นักแสดงไปพากย์บนเวที มีดนตรีเล่นสด มีตลกไปโชว์ด้วย ดิฉันเป็นคนเก็บเงิน พอคนรู้ว่ากันตนาจะมา เขาก็มาดูกันแน่นเลย” คุณย่าบอกว่านี่คือช่วงเวลาการทำกันตนาที่มีความสุขที่สุด

ดิฉันก็แค่อยากช่วยสามี

ที่บ้านกันตนามีห้องที่เรียกว่า ‘ห้องบท’ ใครต้องการติดต่อขอซื้อบท ทีมงานจะเอาบทไปใช้ หรือนักศึกษาจะมาขอศึกษา ก็จะมาที่ห้องนี้ ผลงานบทละครวิทยุกว่า 300 เรื่องของคุณย่าสมสุขถูกเก็บรักษาอย่างดีในห้องนี้

นักเขียนบทละครวิทยุระดับศิลปินแห่งชาติผู้นี้ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ แล้วศึกษาต่อชั้นเตรียมอุดม ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนกอักษรศาสตร์ พ.ศ. 2485 เรียนไปได้ปีเดียวก็เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา

“ดิฉันเรียนไม่จบเพราะมีสงคราม ต้องย้ายไปเรียนที่วัดนั้นวัดนี้ในกรุงเทพฯ จะต้องถูกส่งไปเรียนที่อยุธยาด้วย คุณแม่ท่านมีลูกคนเดียว เลยบอกให้เราลาออก ก็เลยเรียนไม่จบค่ะ” คุณย่าเล่าด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำ

หลังสงครามสิ้นสุดลง นางสาวสมสุข อินทรทูต ก็เข้ารับราชการในฝ่ายธุรการที่สำนักพระราชวัง จึงได้พบกับคุณประดิษฐ์ที่ต้องลงเรือข้ามฟากไปทำงานที่กรมแพทย์ทหารเรือ จนในที่สุดก็ได้แต่งงานกันใน พ.ศ. 2493

นอกจากงานหลวง คุณประดิษฐ์ยังมีงานราษฎร์เป็นนักแสดงละครวิทยุของคณะกันตถาวร โดยมีหัวหน้าคณะคือ คุณเอิบ กันตถาวร ต้นตระกูลของ คุณกันต์ กันตถาวร เมื่อคุณเอิบเลือกเขียนบทอย่างเดียว ก็มอบหมายให้คุณประดิษฐ์รับหน้าที่ผู้กำกับ และเป็นหัวหน้าทีมนำคณะกันตถาวรเดินทางไปเล่นตามสถานีวิทยุ

เมื่อคุณเอิบเริ่มมีปัญหาสุขภาพ ในขณะที่คุณประดิษฐ์ก็อยากมีคณะของตัวเอง คุณเอิบจึงเสนอให้นำทีมงานของกันตถาวรไปอยู่ด้วย พร้อมกับตั้งชื่อคณะให้ใหม่ว่า ‘กันตนา’

พ.ศ. 2494 คุณประดิษฐ์และคุณสมสุขจึงร่วมกันตั้งคณะละครวิทยุกันตนา

สมสุข กัลย์จาฤก วัย 94 ปีผู้อยู่เบื้องหลังบทละครกันตนากว่า 300 เรื่องตลอด 70 ปี

คณะกันตนา นำละครวิทยุเรื่อง สิ่งที่ได้จากสมรภูมิ เข้าประกวดได้รับรางวัลถ้วยทองคำชนะเลิศ พ.ศ.2501

สิ่งที่อยู่ในความคิดของคุณย่าสมสุขตอนลาออกจากราชการมาทำละครวิทยุเต็มตัวตามสามีซึ่งลาออกจากราชการมานานแล้ว มีเพียงอย่างเดียวคือ

“ไม่เคยคิดเรื่องทำบริษัท หรือคาดหวังว่าจะต้องเป็นยังไง รู้เพียงอย่างเดียวว่าต้องช่วยสามี เขาตั้งคณะเราก็ต้องช่วยกัน คิดแค่นั้นเองค่ะ”

ขึ้นต้นให้ตกใจ

“บทละครของกันตนาขึ้นมาก็จะเข้าไดอะล็อก ตกอกตกใจ ตื่นเต้น ให้คนสนใจก่อนเลย เอ๊ะ ทำไมเธอทำอย่างนั้น อย่างนี้ล่ะ” คุณย่าเผยสูตรเฉพาะที่คิดขึ้นเอง ต่างจากละครวิทยุของคณะอื่นที่มักเริ่มด้วยการบรรยายฉาก

“ถ้าเอาเรื่องมาจากบทประพันธ์ก็ต้องบรรยายตามบทประพันธ์ เวลาอ่านเป็นหนังสือมันก็ซาบซึ้งดี แต่พอเป็นละครวิทยุอ่านยาว ๆ จะน่าเบื่อ จะทำเกินเลยไปมากก็ไม่ได้ ต้องเคารพบทประพันธ์ เราถึงไม่เอาบทประพันธ์มาทำ แต่เขียนขึ้นเอง จะได้เป็นไดอะล็อกโต้ตอบกัน วิทยุใช้เสียงได้อย่างเดียว เราก็ต้องทำให้เขาสนใจให้เขาตื่นเต้น” คุณย่าเล่าถึงที่มาของการเริ่มต้นเขียนบทละครวิทยุ

สมสุข กัลย์จาฤก วัย 94 ปีผู้อยู่เบื้องหลังบทละครกันตนากว่า 300 เรื่องตลอด 70 ปี

ละครวิทยุออกอากาศทุกวัน จึงต้องการบททุกวัน ถ้าวันไหนเล่นเรื่องเดียวต้องใช้บท 8 หน้า วันไหนเล่น 2 เรื่อง ต้องเขียนบท 16 หน้า ไม่ว่าจะไปเดินทางไปไหน เธอจึงต้องพกพิมพ์ดีดติดตัวไปเขียนบทด้วยเสมอ

“ไม่เคยคิดไม่ออกนะคะ มันเป็นหน้าที่ ถึงเวลาต้องด้นให้เสร็จให้ได้ ไม่เคยไม่ทัน อันนี้เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของคนทำงานละครวิทยุหรือโทรทัศน์ ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่เขียนให้ทัน แต่ต้องขึ้นต้นให้คนสนใจ แล้วจบให้คนอยากติดตาม”

บทละครวิทยุเรื่องแรกในชีวิตของคุณย่าสมสุขคือเรื่อง หญิงก็มีหัวใจ เมื่อ พ.ศ. 2501 ได้แรงบันดาลใจมาจากเนื้อเพลง ผู้หญิงก็มีหัวใจ ของ รวงทอง ทองลั่นธม “เนื้อเพลงสั้น ๆ แค่ ปวดใจยิ่งนัก ความรักทำลายจนตรม แต่จินตนาการมันยืดยาว คุณก็ต้องคิดไปสิว่า มีเหตุการณ์อะไรทำให้ปวดใจ เราก็นึกขึ้นมา”

บางทีเธอก็แต่งเรื่องจากข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์อย่าง ซีอุย หรือ บันทึกรักพิมพ์ฉวี ที่จินตนาการจากข่าวฆาตกรรมพยาบาลสาว ‘นวลฉวี เพชรรุ่ง’

สมสุข กัลย์จาฤก วัย 94 ปีผู้อยู่เบื้องหลังบทละครกันตนากว่า 300 เรื่องตลอด 70 ปี

“เราเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เขียนนิดเดียวว่า ที่สิงคโปร์มีหัวหน้าช่างก่อสร้างพลัดตกตึกลงมา ทีแรกนึกว่าเป็นผู้ชาย พอชันสูตรถึงรู้ว่าเป็นผู้หญิง แปลว่าเขาปลอมตัวเป็นผู้ชายมาตลอดเพื่อทำมาหากิน เราก็เอามาเขียนเป็นเรื่อง ผูู้หญิงคนหนึ่ง เอามาทำเป็นละครโทรทัศน์ (พ.ศ. 2525) ได้รางวัลด้วยนะ”

จากข่าวยาเสพติด นักเขียนบทหญิงคนนี้ก็เอามาเขียนเป็นบทละครวิทยุเรื่อง อาชญากรสังคม แค่มีฉากเอายาเสพติดใส่กาแฟ เธอและสามีก็ถูกตำรวจบุกมาค้นรถยนต์แล้วเชิญไปสอบปากคำที่วังปารุสก์ ซึ่งเป็นที่ตั้งกรมตำรวจในขณะนั้น จนกระทั่งตำรวจเห็นว่าคนเขียนไม่ได้มีความข้องเกี่ยวกับยาเสพติด จึงพาไปดูยาเสพติดของกลางทั้งหมด แล้วให้ข้อมูลอย่างละเอียด จะได้ช่วยกันสื่อสารถึงพิษภัยของยาเสพติด

ดิฉันเป็นคนเขียนเรื่องผีที่กลัวผีมาก

“เริ่มแรกไม่ได้เขียนเรื่องสยองขวัญเลย เขียนเป็นเรื่องชีวิตซะเยอะ เราก็ลองมาเขียนเรื่องผีดูบ้าง” คุณย่าสมสุขย้อนเล่าที่มาของเรื่องสยองขวัญ ซึ่งแทบจะกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของกันตนา

ที่มาของเรื่อง ห้องหุ่น คือมีคุณป้าคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าที่เมืองนนท์ มีช่างปั้นหุ่นอยู่หลายคน แต่ไม่ได้เล่าเป็นเรื่องผีสางแต่อย่างใด นักเขียนบทคนนี้ก็เอามาจินตนาการต่อจนกลายเป็นละครวิทยุและละครโทรทัศน์ชื่อดัง

“ตอนนั้นบ้านอยู่ศรีย่าน ที่ข่าวว่าที่บางกระบือมีคนตายแล้วฟื้นได้ ซึ่งในสมัยนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เขาพาไปวัดแล้วฟื้นขึ้นมา ข่าวนี้ดังมาถึงบ้านเรา เราก็เออมีแบบนี้ด้วย ก็เลยเอามาเขียนเป็นเรื่อง สุสานคนเป็น

นักเขียนบทละครวิทยุระดับศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานทั้งแนวสยองขวัญและไซไฟอย่าง ห้องหุ่น และสุสานคนเป็น

นักเขียนบทผู้ขึ้นชื่อเรื่องจินตนาการสยองขวัญเล่าความลับให้ฟังว่า “ดิฉันเป็นคนเขียนเรื่องผีที่กลัวผีมาก เรื่องที่เขียนแล้วกลัวที่สุดก็คือ ผีพยาบาท บางทีเขียน ๆ ไป ยังต้องหันหลังไปดูว่า เอ๊ะ มีอะไรหรือเปล่า กลัวจริง ๆ”

นักเขียนบทละครวิทยุระดับศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานทั้งแนวสยองขวัญและไซไฟอย่าง ห้องหุ่น และสุสานคนเป็น

จินตนาการอยู่ที่ตัวเราเอง ไม่ต้องไปซื้อไปหาที่ไหน

นอกจากเรื่องสยองขวัญแล้ว เมื่อครึ่งศตวรรษก่อนคุณย่าสมสุขก็ยังเขียนแนววิทยาศาสตร์ไว้หลายเรื่อง เช่น แฝดล่องหน มนุษย์ประหลาด และ สุรีรัตน์ล่องหน

นักเขียนบทละครวิทยุระดับศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานทั้งแนวสยองขวัญและไซไฟอย่าง ห้องหุ่น และสุสานคนเป็น

“เป็นจินตนาการล้วน ๆ เลยค่ะ ก็ยังแปลกใจอยู่ เหมือนสุนทรภู่เขียนว่ามีเรือเหาะ แล้วก็มีเครื่องบินจริง ๆ จินตนาการเป็นสิ่งที่ดีมากเลย อยู่ที่ตัวของเราเองทั้งนั้น ไม่ต้องไปซื้อไปหาที่ไหน” คุณย่าพยายามนึกตัวอย่าง

“เรื่อง จุดเจ็บในดวงใจ ตัวเอกเป็นผู้หญิงหน้าตาน่าเกลียด จนไปเจอหมอทำศัลยกรรมใบหน้า สมัยก่อนยังไม่มีนะ แล้วหมอก็ไปหลงรักคนที่ตัวเองทำศัลยกรรมให้ ยังคุยกับลูกอยู่ว่า สมัยนี้มีศัลยกรรมแบบนี้แล้วจริง ๆ “

ส่วนเรื่อง หมาดำ ที่ได้แรงบันดาลใจจากข่าวหนังสือพิมพ์ว่า มีชายคนหนึ่งขุดหลุมฝังศพหน้าบ้าน คนก็แปลกใจว่ามาฝังศพอะไรตรงนี้ เขาบอกว่าเป็นศพหมา จึงกลายมาเป็นเรื่อง หมาดำ ที่ผู้ชายคนหนึ่งสร้างผีหมาดำขึ้นมาหลอกคนอื่น ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องบอกว่ามันคือเทคนิคโฮโลแกรม แล้วในเรื่องนี้ตัวเอกก็ยังใช้สมาร์ทวอชที่ควบคุมทุกอย่างได้จากนาฬิกาข้อมือ

พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

คุณย่าสมสุขบอกว่า ถ้าต้องนำเรื่องราวของกันตนามาเขียนเป็นบทละคร ฉากที่สำคัญที่สุดของเรื่องคือ รุ่นลูกเอาเทปละครวิทยุไปออกอากาศทั่วประเทศ

“พอมีระบบอัดเทป เราน่าจะเป็นรายแรก ๆ ที่สร้างห้องอัดเสียงที่บ้าน แล้วส่งเทปไปตามสถานี เราทำละครวิทยุมานานก็ไม่ได้รวยนะ เราทำแทบตายส่งที่เดียว ได้ตอนละสามพันบาท แต่ลูก (ตั้ม-จาฤก กัลย์จาฤก) เอาเทปที่เราทำไว้แล้วมานั่งก๊อปปี้ทั้งวันทั้งคืน แล้วไปเหมาเวลาสถานีวิทยุทั่วประเทศ มีกี่สิบสถานีเช่าหมด แล้วส่งเทปไป คุณประดิษฐ์โกรธตั้มมาก บอกว่าเธอไปเช่าทั่วประเทศแบบนี้ ถ้าไม่มีเงินจ่ายขึ้นมาจะทำยังไง เรากลัวกันมาก ตอนนั้นไม่มีใครทำแบบนี้ แต่ตั้มเป็นคนหนุ่มไฟแรง เรารับผิดชอบหาโฆษณามาจนได้ พ่อแม่ทำตั้งนานไม่รวย ลูกใช้เวลาแค่สองปี เอาสิ่งที่เราทำไว้แล้วไปทำต่อ พลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลย” คุณย่าเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญของครอบครัวด้วยน้ำเสียงชื่นชมลูกชาย

ทำละครให้ถนนเงียบ

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน กันตนาก็เริ่มเปลี่ยนจากการทำละครวิทยุสู่ละครโทรทัศน์ โดยเริ่มต้นจากการขายบทละครวิทยุให้บริษัทอื่นนำไปทำละครและภาพยนตร์ก่อน ในช่วงที่ลูกสาว ต๋อย-ปนัดดา กัลย์จาฤก เรียนที่จุฬาฯ ก็ได้เล่นละครกับ ศาสตราจารย์สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภา จนในที่สุด อาจารย์สุรพลและเพื่อนพ้องก็ชวนกันมาทำละครโทรทัศน์ เรื่องแรกคือ ทางที่ไม่ได้เลือก ทางช่อง 7

นักเขียนบทละครวิทยุระดับศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานทั้งแนวสยองขวัญและไซไฟอย่าง ห้องหุ่น และสุสานคนเป็น
บทละครวิทยุเรื่อง หญิงก็มีหัวใจ ของคุณสมสุข กัลย์จาฤก ทางสถานีโทรทัศน์ ททบ.7 ขาวดำ (ช่อง 5 ปัจจุบัน) พ.ศ.2501

“ยุคนั้นถ่ายละครกันง่าย ๆ ที่บ้าน คลานบอกบทกระซิบกระซาบกันหลังเก้าอี้” คุณย่าเล่าบรรยากาศถ่ายละครโทรทัศน์ในยุคแรก แล้วก็พูดถึงเสียงตอบรับละครเรื่อง ตี๋ใหญ่ ทางช่อง 5 เมื่อ พ.ศ. 2528 ที่ยังจำได้ไม่ลืม

“ตอนนั้นคุณคึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเขียนชมเรื่อง ตี๋ใหญ่ ในหนังสือพิมพ์เป็นหน้ากระดาษเลย ท่านเขียนว่า ละครเรื่อง ตี๋ใหญ่ ของคณะกันตนาทำให้ถนนเงียบเพราะทุกคนต้องดู ปัจจุบันพอมีรายการไหนดังคนจะพูดว่าถนนเงียบไม่มีรถ จุดเริ่มต้นมาจากคุณคึกฤทธิ์เขียนชมเรื่อง ตี๋ใหญ่

70 ปี กันตนา

ถึงแม้ว่าจะคุณย่าสมสุขจะเริ่มต้นทำกันตนาด้วยความคิดเพียงแค่อยากช่วยสามี แต่มองย้อนกลับไปดูผลงานตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ก็อดภูมิใจไม่ได้

“ดิฉันภูมิใจนะ นอกจากเราจะมีนักแสดง มีทีมงาน มีอะไรดี ๆ แล้ว เรายังมีสถาบันกันตนาที่ผลิตเด็กที่จะทำงานบันเทิงอย่างจริงจัง สอนให้รู้ว่าการแสดงเป็นยังไง ผู้แสดงควรวางตัวยังไง ดิฉันภูมิใจในสถาบันกันตนามาก เรามีพิพิธภัณฑ์กันตนาด้วย ตอนนี้สร้างเสร็จแล้ว เดี๋ยวจะเอาบททั้งหมดไปเก็บที่นั่น”

คุณย่าเล่าต่อว่า ในวัย 94 ปี แม้ว่าจะปล่อยมือส่งต่องานให้ทายาทดูแลแล้ว แต่ก็ยังติดตามดูผลงานของลูก ๆ หลาน ๆ ด้วยความชื่นชมเสมอ

“ฝากไว้อย่างเดียวเลย ว่าจะทำงานอะไรก็ตามต้องทำให้จบ อย่าค้างคาไว้ งานละครทีวีหรือละครวิทยุมันออกอากาศมันต้องรับผิดชอบ” คุณย่าฝากถึงเหล่าทายาท “คนเขียนบท ถ้าไม่ทำให้จบให้เรียบร้อย อีกหลายคนก็จะลำบาก เพราะฉะนั้น ทำงานอะไรก็ตาม รับงานมาแล้ว ต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์ให้ได้

“ที่ผ่านมา ดิฉันก็เขียนมาทุกรูปแบบ เขียนให้ตบตีกันก็มี แต่ต้องให้แง่คิด ไม่ใช่เขียนให้สนุกหรือให้คนทะเลาะกันอย่างเดียว คนดูต้องได้อะไรไปคิดต่อ จุดจบต้องให้รู้ว่า ความดีความชั่วเป็นยังไง แต่อย่าให้คนดูรู้สึกว่า เรากำลังสอน อันนั้นไม่ดี คนดูไม่ชอบให้ใครมาสอน เราต้องบอกโดยที่ไม่ให้เขารู้สึกว่าเรากำลังสอน” คุณย่าทิ้งท้ายด้วยแนวคิดในการเขียนบทที่ยึดถือมาตลอดทั้งชีวิต

ภาพ : กันตนา

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป