บ้านปู คือธุรกิจพลังงานของไทยที่เริ่มต้นจากการทำสัมปทานครั้งแรกที่หมู่บ้านบ้านปู อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำมันแพงและขาดแคลนใน พ.ศ. 2527 จนต้องหาพลังงานทางเลือก

เป็นปีเดียวกับที่ คุณสมฤดี ชัยมงคล เริ่มทำงานที่นี่หลังเรียนจบสาขาบัญชี เติบโตมาพร้อมบ้านปูและเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงาน ตั้งแต่วิสัยทัศน์ที่เล็งเห็นอนาคตธุรกิจพลังงานที่ต้องขยับขยายไปสู่พลังงานเพื่ออนาคตมากขึ้น จึงวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจพลังงานจากต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรพลังงาน ไปสู่กลางน้ำคือการผลิตพลังงาน และปลายน้ำในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน บ้านปูจึงเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทของไทยที่สร้างสรรค์พลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ โดยดำเนินธุรกิจใน 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงสหรัฐอเมริกา

ผ่านมา 39 ปี ปัจจุบัน เธอคือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ ซีอีโอคนที่ 2 ต่อจาก คุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทฯ คุณสมฤดีเป็นผู้บริหารที่กำลังนำพาการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญขององค์กรไปสู่ ‘พลังงานที่ดีขึ้นเพื่ออนาคต’ ซึ่งต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดหาได้ด้วยราคาที่เหมาะสม มีความเสถียร และส่งมอบให้กับผู้ได้รับอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ‘ความยั่งยืน’ โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบด้วยหลักความยั่งยืน คือ ESG (Environment, Social, Governance) เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือครั้งไหนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากขาดกำลังสำคัญจาก ‘คน’ ที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด 

บ้านปูจัดสรรงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปีเพื่อพัฒนาบุคลากรให้เก่งและดียิ่งขึ้น ออกแบบสวัสดิการพิเศษที่นอกเหนือจากพื้นฐาน ซึ่งสามารถตอบโจทย์เฉพาะบุคคลได้ สร้างวัฒนธรรมบ้านปู หรือ Banpu Heart เพื่อบริหารคนที่มีไม่น้อยกว่า 20 เชื้อชาติ ใน 10 ประเทศ ให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นและเข้าใจกันมากที่สุด 

ในวงการสื่อมวลชน คุณสมฤดีได้รับการกล่าวขานว่าเป็นคนที่พลิกวิกฤตถ่านหินของบ้านปู 

ในแวดวงธุรกิจ เธอเป็นซีอีโอหญิงของบริษัทพลังงานที่เติบโตอย่างยั่งยืนทุกปี ผู้สืบทอดวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ของคุณชนินท์ได้อย่างดีเยี่ยม

ในองค์กร เธอคือผู้บริหารเก่งที่มีความจำดีเลิศ เธอเอาใจใส่แม้กระทั่งรายละเอียดเล็ก ๆ ของคนในทีม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ชอบ งานอดิเรก หรือจุดเด่นที่เขามี และเป็นผู้นำที่ใคร ๆ ก็อยากทำงานด้วย

สมฤดี ชัยมงคล CEO หญิงแห่ง ‘บ้านปู’ องค์กรที่ผูกโยงหัวใจพนักงานด้วยวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง

ตำแหน่งงานแรกของคุณที่บ้านปูคืออะไร

ปีที่เรียนจบเป็นปีที่บ้านปูก่อตั้งเป็นปีแรก เราเข้ามาเป็น Receptionist ช่วงนั้นบ้านปูยังเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่ทุกคนต้องทำทุกอย่าง แต่ต่อมาก็ย้ายไปทำบัญชี เพราะเรียนจบบัญชี

บ้านปูเมื่อ 39 ปีที่แล้วเป็นยังไง

ต่างกันมหาศาลเลย ตอนนั้นมีพนักงานอยู่แค่ 20 กว่าคนเอง หลัก ๆ เป็นนักธรณีที่สำรวจแหล่งแร่ เป็นวิศวกรวางแผน ส่วนงานบริการสนับสนุนก็เป็นฝ่ายบัญชี การเงิน และบุคคล 

วันนี้บริษัทฯ มีพนักงานทั้งหมดกี่คนแล้ว

ถ้ารวมทั้งกลุ่ม 10 บริษัทใน 10 ประเทศ จะมีประมาณ 5,700 คน ในประเทศไทยมีกว่า 400 คน อินโดนีเซียมากหน่อย 2,000 กว่าคน จีนก็ราว ๆ 1,000 คน ออสเตรเลียประมาณ 1,500 คน ที่เหลือกระจายอยู่ในญี่ปุ่น เวียดนาม มองโกเลีย และสหรัฐอเมริกา

ความท้าทายของการบริหารธุรกิจที่มีอยู่ถึง 10 ประเทศคืออะไร

ความแตกต่างของพนักงาน เราเคารพในความหลากหลาย (Diversity) และความเท่าเทียม (Equitability) ในเรื่องของการปฏิบัติกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ 

ในแต่ละประเทศก็อาจจะมีพนักงานถึง 4 – 5 เชื้อชาติ ซึ่งมีพื้นฐานประเทศต่างกัน พื้นเพครอบครัวก็ต่างกัน แม้กระทั่งคนในประเทศเดียวกันยังไม่เหมือนกันเลย เราจึงต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงมาก ๆ ซึ่งเรามี Banpu Heart ที่หล่อหลอมพนักงานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน มี Shared Value ร่วมกัน โดย Banpu Heart ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก 1) Passionate ใจรักในการทำงาน 2) Innovative ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ ๆ 3) Committed หรือความมุ่งมั่นยืนหยัดที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วง รวมไปถึงความแน่วแน่ต่อความถูกต้องโดยยึดหลัก ESG ซึ่งทั้งหมดได้หลอมรวมทุกความต่างของพนักงานให้เป็นหนึ่งเดียว เกิดความเป็นครอบครัวในองค์กร

ขณะที่หลายตำราและสื่อธุรกิจเห็นตรงข้าม ทำไมบ้านปูถึงยังเชื่อเรื่องการทำงานแบบครอบครัว

ด้วยความที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เราจึงต้องการความร่วมมือระหว่างกันสูง ถ้าคิดว่านี่คือครอบครัวเดียวกัน เราทำงานร่วมกันด้วยความสัมพันธ์แบบพี่น้อง เราจะเคารพซึ่งกันและกันไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นเจเนอเรชันไหน จะ Baby Boomer, Gen X, Gen Y หรือดิจิทัล เราจะเคารพความคิดของกันและกัน พอเคารพกันแล้ว ก็ทำให้ร่วมมือกันสร้างแนวคิด นวัตกรรม หรือทางเลือกธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาได้

ถ้าเป็นยุค 30 ปีที่แล้ว อาจเคยได้ยินปัญหาที่ไม่เข้าใจกันระหว่างแผนก เกิดฝ่ายใครฝ่ายมัน ขอบเขตของฉัน เธออย่ามาก้าวก่าย เป็นการทำงานแบบแยกส่วน (Silo) แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เราต้องมี One goal, One dream, One team ทำงานแบบ Agile เน้นผลลัพธ์มากกว่าขั้นตอน 

งานหนึ่งชิ้นอาจประกอบไปด้วยผู้รับผิดชอบมากกว่า 1 ฝ่ายขึ้นไป เพื่อช่วยกันระดมความคิดของตัวแทนจากทุกหน่วยงาน อย่างเช่น ตอนนี้เรากำลังมีแผนปรับปรุงออฟฟิศ เนื่องจากเรามีนโยบายให้ Work from Anywhere 100% จึงจะทำให้ออฟฟิศเป็น Co-working Space ซึ่งมีที่พักผ่อนหย่อนใจ มีระบบแอปพลิเคชันในการจองที่นั่ง ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนในบริษัทฯ ก็ต้องมีส่วนร่วม

กลับมาเรื่องความเป็นครอบครัว พอเราบริหารทีมแบบนี้ การคิดว่าทุกคนเป็นครอบครัวก็ได้ประโยชน์มาก ถ้าเรามีพี่ชายพี่สาวที่รักกัน เราคุยกัน ทำทุกอย่างร่วมกัน เพื่อทุกคนในครอบครัว เพื่อทุกคนที่รู้จักครอบครัวเรา มันคือการเลียนแบบชีวิตจริงของแต่ละคนในที่ทำงาน

เราจะย้ำกับน้อง ๆ เสมอว่า ทุกเช้าที่ตื่นมา ขอให้คิดว่าการได้ทำงานกับเราเหมือนกับการได้อยู่ในอีกครอบครัวหนึ่ง ในทางกลับกัน ในฐานะบริษัท เราก็ต้องสร้าง Happy Workplace เพื่อสมาชิกในครอบครัวของเรา และมีพันธสัญญาที่จะดูแลพนักงานของเราอย่างดีที่สุด เราดูแลไปถึงครอบครัวของเขา 

จึงเป็นเหตุผลที่พนักงานบ้านปูเลือกรับ Benefit ของตัวเองได้

เราเรียกว่า Flexible Benefit สมัยเริ่มทำงานเมื่อ 39 ปีก่อนมันก็เป็นระบบทั่วไป สวัสดิการก็มีประกันชีวิต ประกันสุขภาพ มีเงินเดือน มีโบนัสตามแต่กำไรในแต่ละปี ผ่านมาอีกยุคหนึ่ง ประเทศไทยเริ่มมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทต่าง ๆ ก็นำมาใช้ รวมถึงบ้านปูด้วย

มาถึงปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัล ความต้องการพื้นฐานของทุกคนไม่เหมือนเดิมแล้ว กลุ่มคนที่มีครอบครัว มีลูก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ทำเพื่อลูก กลุ่มคนที่แต่งงานแต่ไม่อยากมีลูก ก็อาจจะชอบชีวิตอิสระ กลุ่มคนโสดก็ตั้งใจจะดูแลตัวเองให้ดี ดังนั้น เราอยากให้สวัสดิการของบริษัทฯ ตอบโจทย์วิถีชีวิตของพนักงานจริง ๆ ถ้าคุณมีลูก ก็เลือกเบิกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกได้ ถ้าคุณไม่มีลูก ก็อาจจะเลือกเบิกเป็นค่าน้ำมัน ค่าดูแลรถ หรือถ้าคุณชอบออกกำลังกาย ก็เอาสวัสดิการตรงนี้ไปใช้กับเมมเบอร์ฟิตเนส มีหลายรูปแบบจนเราเองก็จำไม่ได้ (หัวเราะ)

เกือบ 40 ปี ของเส้นทางการสร้างสรรค์พลังงาน จากการขับเคลื่อนองค์กรของพนักงานที่มีหัวใจและเป้าหมายหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวด้วยวัฒนธรรมองค์กร 

ปัจจุบันบ้านปูดำเนินธุรกิจบนทิศทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่สะอาดขึ้นและฉลาดขึ้นด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยยึดมั่นหลักการของ ESG หรือ Environment, Social, Governance เพื่อสร้างคุณค่าและความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มใน 10 ประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อโลกและสังคม รวมถึงส่งมอบ ‘พลังงานที่ดีขึ้นเพื่ออนาคต’

ลักษณะของ ‘ผู้ส่งมอบพลังงานที่ดีขึ้นเพื่ออนาคต’ คืออะไร

คือผู้ที่ขับเคลื่อนอนาคตพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ระบบดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องไปกับ 3 เมกะเทรนด์พลังงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น

1) Decarbonization คือ การหาพลังงานสะอาดที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ลดปัจจัยการเกิดภาวะโลกร้อน

2) Decentralization หรือ การกระจายตัวของแหล่งผลิตและจำหน่ายพลังงาน โดยผู้ผลิตเป็นผู้ใช้เอง เช่น โรงงาน โรงเรียน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งครัวเรือน ก็ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เองแล้วนำกลับมาใช้ทำธุรกิจหรือใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ เพราะห่วงโซ่การบริการสั้นลง

3) Digitalization ซึ่งเป็นกระแสในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต้องทำให้ห่วงโซ่การให้บริการสั้นที่สุด ประหยัดต้นทุนที่สุด จึงปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ลดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพ จนลดต้นทุนได้อีกเช่นกัน

บ้านปูมีกลยุทธ์อย่างไรเพื่อให้ตอบรับเมกะเทรนด์นี้

เรามีแผนกลยุทธ์ชื่อ Greener & Smarter โดยตั้งใจให้ธุรกิจสะอาดขึ้นและฉลาดขึ้น

Greener เราเน้นลงทุนในธุรกิจที่สะอาดขึ้น สำหรับธุรกิจต้นน้ำ เช่น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ในสหรัฐฯ ธุรกิจกลางน้ำ เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม และจีน รวมถึงโรงไฟฟ้าก๊าซ ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจก๊าซต้นน้ำ 

ในส่วน Smarter เรานำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อก้าวให้ทันเทรนด์พลังงานในอนาคต 

นอกจากนี้เราใช้สูตร 3A คือ Acceleration หรือการปรับธุรกิจให้เร็วขึ้น ถัดมาคือ Augmentation การต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และสุดท้ายที่สำคัญมากในยุคนี้ที่เข้ากับภาวะปัจจุบันที่เกิดวิกฤตพลังงาน และสงครามการเมืองในภูมิภาคยุโรป คือ Antifragile หรือความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที ความพร้อมในการป้องกันความเสี่ยง และหาโอกาสจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

สมฤดี ชัยมงคล ซีอีโอหญิงแห่ง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่มาตั้งแต่ปีแรก และให้ความสำคัญกับ ‘คน’ เป็นที่หนึ่ง
สมฤดี ชัยมงคล ซีอีโอหญิงแห่ง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่มาตั้งแต่ปีแรก และให้ความสำคัญกับ ‘คน’ เป็นที่หนึ่ง

อะไรคือสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

คน คืออันดับหนึ่ง

บ้านปูพัฒนาคนอย่างไรให้เท่าทันการปรับตัวตามโลกในทุกวัน

เราต้อง Transform คนไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเราได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี เพื่อพัฒนาศักยภาพของคน รวมถึงจัดตั้ง Banpu Academy เพื่ออบรมให้ความรู้ เสริมทักษะให้คนของเราเป็นเจเนอเรชันดิจิทัล 

เราถือว่าทรัพยากรบุคคลมีค่ามากที่สุด เราจึงได้มุ่งมั่นพัฒนาคน สร้างผู้นำ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นตัวขับเคลื่อนองค์กรให้พร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

สมฤดี ชัยมงคล CEO หญิงแห่ง ‘บ้านปู’ องค์กรที่ผูกโยงหัวใจพนักงานด้วยวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง

รู้ไหมว่าสื่อต่าง ๆ ยกให้คุณเป็น ‘คนที่พลิกวิกฤตถ่านหินของบ้านปู’

เห็นบ้าง (หัวเราะ) แต่จริง ๆ แล้วผู้ที่พลิกวิกฤต คือ พนักงานทุกคนของบ้านปูต่างหาก

ความท้าทายของการเป็นผู้บริหารหญิงในอุตสาหกรรมพลังงานคืออะไร

เราโชคดีที่อยู่ในองค์กรที่มีความแตกต่างสูงมาก และทุกคนก็เคารพกันและกัน ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ประเด็นเรื่องเพศหรือการเป็นผู้หญิงจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ในบ้านปู เรามีผู้บริหารหญิงหลายคน วิศวกรมีผู้ชายเยอะ แต่คนเก่ง ๆ ที่เป็นผู้หญิงก็มีมาก จุดนี้คือเอกลักษณ์ของที่นี่ที่ความแตกต่างไม่ใช่ข้อด้อย แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่เหมือนคนอื่น

สำหรับคุณ การเป็นผู้นำที่ดีคือพรสวรรค์หรือพรแสวง

ส่วนหนึ่งต้องมาจาก Inner ข้างในของตัวเอง เหมือนกระบวนการศึกษาที่เราได้รับมาตั้งแต่เด็ก ต้องยอมรับว่ามันคือกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์ ทำไมเราถึงต้องใส่เครื่องแบบไปเรียน ทำไมต้องไปเรียนให้ตรงเวลา ทำไมต้องมีการสอบ สำหรับเรา นั่นคือการฝึกวินัย และในกระบวนการเหล่านั้นมันก็จะมีโอกาสให้เราได้แสดงภาวะการเป็นผู้นำ เช่น มีการทำงานกลุ่ม 

ดังนั้นเรื่องของภาวะผู้นำมันเกิดตั้งแต่กระบวนการศึกษาแล้ว บางคนอาจจะเป็น Talent ติดตัวที่ได้มาจากพื้นฐานครอบครัว ได้เห็นความเป็นผู้นำของผู้ปกครอง มี Role Model มาตั้งแต่เด็ก เหมือนกับที่เรามีคุณชนินท์เป็นต้นแบบ พอเรามีแบบอย่าง Talent ก็จะตามมา เพราะเรามีแรงบันดาลใจ

นั่นคือ 30% ของการเป็นผู้นำ ส่วนอีก 70% คือหัวใจข้างในของเราว่าอยากเป็นผู้นำแบบไหน ผู้นำก็มีหลายสไตล์ ต้องปรับให้เข้ากับภาวะต่าง ๆ ผู้นำที่ดีมีแค่พรสวรรค์ไม่พอ ต้องมีหัวใจ และรู้จักเรียนรู้ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของโลกในปัจจุบันด้วย

ถ้าอย่างนั้น คุณจะเป็นผู้นำที่ดีในสถานการณ์โลกวันนี้อย่างไร

ด้วยความที่เราเป็นธุรกิจพลังงาน ซึ่งอยู่ในภาวะที่มีความผันผวนมาก เปลี่ยนแปลงตลอด การเป็นผู้นำพร้อมวิสัยทัศน์ที่คาดการณ์ไปข้างหน้าได้อย่างน้อย 2 – 3 ก้าวเป็นข้อได้เปรียบ เพราะจะทำให้เราเตรียมรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้

เรายังมี Tagline ประจำตัวคือ Here to Serve ที่พร้อมจะเป็นผู้ให้ เรานำแบบ Humble Leadership คือ 1) ถ่อมตัว 2) เห็นอกเห็นใจ 3) โอบอ้อมอารี เราต้องสร้างความใกล้ชิด และความเข้าใจระหว่างกัน ทำได้ง่าย ๆ อย่างการ Walk the Floor ที่ชวนผู้บริหารเดินทักทายพนักงานในวาระหรือโอกาสต่าง ๆ

ถ้ามีโอกาสก็แสดงให้เขารู้ว่าเราเห็นคุณค่าของเขา และขอบคุณในสิ่งที่เขาทำ

เป็นซีอีโอมาแล้ว 7 ปี ยังต้องฝึกซ้อมก่อนคุยกับน้อง ๆ อยู่ไหม

เบื้องหลังเราใช้เวลาเป็นคืน ๆ เพื่อคิดว่าจะสื่อสารกับทั้งองค์กรอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ ทำอย่างไรให้น้องไม่เครียด ให้น้องเห็นภาพใหญ่ของบริษัท ให้น้องกลับบ้านไปแล้วอิ่มเอมด้วยความสุข 

ในภาวะที่ดี น้องจะรู้สึกปลาบปลื้มไปกับองค์กร ส่วนในภาวะที่ไม่ดี เราก็ยังได้รับความเห็นอกเห็นใจจากน้อง ๆ

มีอยู่ปีหนึ่ง ธุรกิจขาดสภาพคล่องและเราต้องสื่อสารให้พนักงานทุกคนรับรู้ สิ่งที่เราได้รับ คือ ความเห็นใจ ‘พี่สมไม่ต้องกลัวนะ พวกเราจะอยู่ข้างพี่สม’ ‘พวกเราจะสู้ต่อไป’ เสียงเหล่านี้เป็นพลังสำคัญที่ทำให้เราอยากทำอะไรเพื่อน้อง ๆ เพื่อบ้านปู เพื่อครอบครัวของเราต่อไป แล้วก็เป็นที่มาของ Tagline ที่ว่า Here to Serve ของเรา

สมฤดี ชัยมงคล ซีอีโอหญิงแห่ง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่มาตั้งแต่ปีแรก และให้ความสำคัญกับ ‘คน’ เป็นที่หนึ่ง

Questions answered by CEO, Banpu Public Company Limited

1. คนในบริษัทมองว่าคุณเป็นผู้บริหารที่

คุณสมฤดี : ให้น้องตอบแทนได้ไหม (หัวเราะ)

น้อง ๆ : พี่สมเป็นผู้บริหารที่เข้าถึงง่าย ทำงานเก่ง พี่สมรู้จักทุกคนจริง ๆ รู้จุดแข็งของคน มี Empathy สูงมาก และพร้อมที่จะส่งเสริมให้ทุกคนเติบโตในองค์กร ใคร ๆ ก็อยากทำงานด้วย เพราะทำงานด้วยแล้วสบายใจ

2. คำชมที่ภูมิใจที่สุดคือ

‘ทำไมพี่จำแม่นจังเลย’ เราจำชื่อทุกคนได้ จำรายละเอียดได้ จำได้ว่าเขาทำงานอะไร

3. เทคนิคการจำเก่งคือ

จำเป็นภาพ จำเป็นตัวเลข จำเสื้อที่เขาใส่ สมมติต้องจำชื่อคนคนหนึ่ง ก็อาจจะเชื่อมโยงกับสิ่งของหรือสถานที่ที่มีชื่อเรียกคล้าย ๆ กัน พอเราจำได้ อีกฝ่ายก็รู้สึกดีนะ เหมือนถ้าเราบังเอิญไปเจอใครแล้วเขาจำเราได้ เราก็รู้สึกดีนะ

4. เอกลักษณ์ของ Speech คุณคือ

ถ้าเรียกตามภาษาการตลาดคือ Touch Point เราจะมีลูกเล่นให้คนได้ลุ้น จนบางทีน้องชอบบอกว่า ‘พี่สมชอบแกง’ หลายครั้งเวลาเราพูด คนตื่นเต้นหัวใจจะวายกัน แต่สุดท้ายก็ยิ้มหน้าบานกลับไป

5. สิ่งที่ภูมิใจในตัวเองมากที่สุดในฐานะ CEO คนที่ 2 ของบ้านปูคือ

คือการได้เป็นซีอีโอของบ้านปูคนที่ 2 ต่อจากคุณชนินท์นี่แหละ

6. ผู้นำที่คนรักสำหรับคุณคือ

ผู้นำที่คนจะรักต้องให้ความสำคัญกับจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตตัวเองได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในภาวะผู้นำเท่านั้น

ภาพ : Banpu

ทำความรู้จักกับบ้านปูให้มากขึ้น ทั้งหมดอยู่ในภาพยนตร์สื่อสารองค์กรชุดใหม่ของ BANPU แล้ว youtu.be/L5ow68bNz-M

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน