“ทำไมคุณต้องมาสัมภาษณ์ผม”

ต้อง-ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง สำนักพิมพ์สมมติ ร่วมกับ จ๊อก-ชัยพร อินทุวิศาลกุล ยิงคำถามใส่ผมก่อนบทสนทนาจะเริ่มต้น

ในฐานะคนทำงานสัมภาษณ์ยอมรับว่าไม่ค่อยคุ้น ที่อีกฝ่ายเป็นผู้เริ่มต้นคำถามแรก และจากน้ำเสียงของเขา มันบ่งบอกชัดเจนว่าเขาสงสัยจริงๆ หาได้ตั้งคำถามเพื่อทดสอบไหวพริบฝ่ายตรงข้าม

จะมาสนใจอะไรกับสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่พิมพ์หนังสือที่ขายไม่ค่อยได้ – เขาว่าอย่างนั้น

แน่นอน สนใจอะไรตอบได้ไม่ยาก ในแวดวงวรรณกรรมคลาสสิก สำนักพิมพ์สมมติคือชื่อแรกๆ ที่นักอ่านนึกถึง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสำนักพิมพ์ที่ให้พื้นที่กับเนื้อหาแบบนี้ในบ้านเรามีแทบจะนับนิ้วได้ พูดอย่างตลกร้ายคือ หากคุณเริ่มต้นทำวันนี้ก็แทบจะติดท็อปเท็นในทันที

แต่ไม่ใช่แค่เรื่องจำนวนหรอก ที่ทำให้ใครหลายคนคิดถึงชื่อ สำนักพิมพ์สมมติ

ความเอาจริงเอาจัง ทำอย่างต่อเนื่องจนปีนี้หยัดยืนมาครบทศวรรษ ความซื่อสัตย์ต่อผู้อ่านและความเชื่อของผู้ผลิต ต่างหาก ที่ทำให้สำนักพิมพ์นี้ยังอยู่ในใจคนอ่านของพวกเขา

วรรณกรรมคลาสสิกจำนวนมากที่รู้ทั้งรู้ว่าขายยากกลับมามีลมหายใจอีกครั้งเพราะพวกเขาเห็นความสำคัญ จำเป็น พูดได้ว่าหนังสือหลายเล่ม สมมติถ้าเขาไม่ทำ ถ้าสำนักพิมพ์สมมติไม่พิมพ์ ก็ไม่มีใครกล้าทำ

1984 วรรณกรรมทรงพลังของ George Orwell กลับมาแปลและพิมพ์อีกครั้ง หลังหายไปราว 20 ปีก็เพราะสำนักพิมพ์ของเขา

ในวาระครบรอบ 10 ปี ของสำนักพิมพ์ เรานัดพบเจอกันในช่วงเช้าวันหนึ่งที่ ร้านสมมติ & the Object ย่านถนนกาญจนาภิเษก สถานที่ซึ่งเป็นทั้งร้านหนังสืออิสระและฐานบัญชาการของเขา และบทสนทนาบนโต๊ะหน้าร้านก็เวียนวนอยู่กับเรื่อง ‘สมมติ’ ในโลกแห่งความจริง

และอย่างที่บอก บทสนทนานี้เขาเป็นผู้เริ่มต้น

ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ

“ทำไมคุณต้องมาสัมภาษณ์ผม

“ตอนผมเป็นเด็ก นิตยสาร a day เคยสัมภาษณ์พี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี คำถามแรกที่พี่สุชาติถาม ถ้าจำไม่ผิดคือ ‘คุณจะมาสนใจอะไรเรื่องแบบนี้’ ถ้านับสื่อที่มาสัมภาษณ์ผม คุณน่าจะเป็นคนแรกที่มาในลักษณะของคนที่เป็นนักสัมภาษณ์ ที่ไม่ใช่ข่าว เพราะฉะนั้น มันเลยเป็นคำถามว่า คุณสนใจในฐานะอะไร ในฐานะที่เป็นสำนักพิมพ์ ในฐานะที่ครบรอบวาระ หรือในฐานะที่ผมทำหนังสือที่ไม่มีคนอ่านแบบนี้ ซึ่งมันไม่กระตุ้นยอดไลก์ยอดแชร์ของเพจคุณแน่นอน บอกไว้เลย”

ทำไมถึงคิดว่าไม่มีคนสนใจสิ่งที่คุณทำ

ไม่มีหรอก เพราะมันเล็กมาก เล็กมากจนมึงต้องเจียมเนื้อเจียมตัวตลอดเวลา แต่ตอนแรกผมไม่ได้คิดแบบนี้นะ แรกๆ ผมอหังการมากเลย คิดว่าหนังสือเปลี่ยนโลก หนังสือเปลี่ยนวิธีคิดคน คนไปเปลี่ยนสังคมได้ ผมเชื่ออย่างนั้นเลยนะ ผมรู้สึกว่า ถ้าเราทำหนังสือมาเล่มหนึ่ง แล้วมันมีผลต่อคนที่ได้อ่าน แล้วคนคนนั้นมีผลต่อเพื่อนของเขา แล้วเพื่อนของเขามีอีก 10 คน ถ้าคุณเชปไอเดียบางอย่างที่คิดว่ามันโอเคในทางหลักการ มันจะไม่เปลี่ยนโลกได้ยังไง มันจะไม่เปลี่ยนสังคมที่เฮงซวยแบบนี้ได้ยังไง มันเปลี่ยนได้ด้วยหนังสือแน่นอน แต่นั่นมันคือความคิดตอนนั้น แล้วมันก็ค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ เพราะคุณก็เจอความจริงตรงหน้าที่กระทำกับมึงว่า สิ่งที่มึงทำไม่ได้กระทบอะไรเลย ไม่ได้ส่งผลอะไรที่มีนัยกับสังคมอะไรสักอย่างเลยว่ะ เรื่องนี้ซีเรียสนะ

ยกตัวอย่าง สมมติคุณรณรงค์ให้คนปลูกต้นไม้วันละต้น โลกมันจะดีขึ้น คุณจะไม่ทำเหรอ มึงต้องทำ ช่วยกันทำ รณรงค์แม่งไป ปลูกคนละต้น หน้าบ้าน ข้างออฟฟิศ ปลูกไป มึงเจอหนึ่งโรงงานที่มีศักยภาพมหาศาลปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปแค่ 1 ชั่วโมง สิ่งที่พวกคุณทำทั้งหมดมันไม่มีความหมายทางผลลัพธ์เลยนะ มันมีความหมายต่อจิตใจคุณเท่านั้นเอง ซึ่งปัญหาแบบนี้ ถ้าคุณซูมดูในทุกๆ เหตุการณ์ ในทุกๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเวลามีความคิดเห็น เราอยู่กันแบบนี้หมด

คือการไปคาดหวังว่าเราจะเปลี่ยนบางอย่างด้วยสิ่งเล็กๆ ที่ทำมันยากมาก เพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่โครงสร้างมันบิดเบี้ยวไปหมด ถ้าพูดง่ายๆ คือมันไม่มีโครงสร้างอะไรสักอย่างในสังคม ระบบการศึกษา ระบบสาธารณะสุข ครัวเรือน ชุมชน มันไม่มีเลย แต่คุณไปคาดหวังว่าจะเปลี่ยนบางอย่างด้วยสิ่งเล็กๆ ที่พวกคุณช่วยกันทำ เฮ้ย โลกสมัยใหม่ว่ะ มันเปลี่ยนไม่ได้หรอก ถ้าย้อนกลับไปเมื่อร้อยปีคุณอาจจะเปลี่ยนได้ แต่ทุกวันนี้คุณอยู่ในโลกสมัยใหม่ คุณไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้อีกต่อไปแล้วในความเชื่อของผม

ระบบมาแบบไหน โครงสร้างมาแบบไหน ถ้าคุณทำเล็กๆ แล้วคาดหวังว่าจะเปลี่ยน ผลลัพธ์มันไม่มีความหมาย ถ้าจะเปลี่ยนคุณต้องถอนรากถอนโคนถึงจะเปลี่ยนได้ ซึ่งพอพูดแบบนี้ก็เท่ากับเปลี่ยนไม่ได้ เพราะไม่มีใครถอนรากถอนโคนอะไรสักอย่างได้

ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าทำบางสิ่งเล็กๆ อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยหรือเปล่า

ใช่ มันก็วนอยู่แบบนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่พวกเราทำมันตอบปัจเจก แต่ไม่ได้ตอบหลักการที่จะไปกระทำเพื่อให้มันเปลี่ยนโครงสร้าง มันตอบแค่ปัจเจก เราสำเร็จความใคร่ในทางตัวเองแค่นั้น

ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ

สำนักพิมพ์สมมติก็เกิดขึ้นด้วยการตอบแค่ปัจเจกแบบที่คุณว่าด้วยไหม

ถูกเลย ตอนเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์ผมไม่เคยคิดทำธุรกิจ ไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นธุรกิจเลยนะ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าพี่จ๊อกกับ พี่โย-กิตติพล สรัคคานนท์ (ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน) คิดไหม แต่ผมเชื่อว่าไม่มีใครคิดหรอก ตอนนั้นเราเด็กกันหมด ไม่ได้คิดเลยว่ามันขายไม่ได้แล้วจะเป็นยังไง สต็อกเป็นยังไง ส่งสายส่งเป็นยังไง ส่วนลดเป็นแบบไหน จ่ายค่าเรื่องจ่ายค่าพิมพ์แล้วเหลือเงินเท่าไหร่ ไม่ได้คิดอะไรพวกนี้เลย แล้วไม่ใช่ชั่ววูบด้วยนะ ในช่วง 3 – 4 ปีแรกในการทำสำนักพิมพ์ไม่เคยคิดเรื่องแบบนี้เลย เพราะว่ามันไม่ได้อยู่ในหลักการของการทำสำนักพิมพ์ตั้งแต่ต้น แต่ถ้าหลักการในการทำสำนักพิมพ์ตั้งแต่ต้นยึดว่ามันเป็นธุรกิจ เราต้องคิด

ถ้าไม่คิดเรื่องธุรกิจแล้วคิดอะไร

คิดแค่ว่าทำยังไงก็ได้ให้มันมีหนังสืออย่างที่เราอยากให้มันมี คิดแค่นั้นเลย

ถ้ามองสำนักพิมพ์เป็นธุรกิจ คุณถือเป็นคนทำธุรกิจที่…

เหี้ยมาก (ชิงตอบก่อนคำถามจบ) ผมเพิ่งเปลี่ยนโลโก้สำนักพิมพ์เมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเอง ถ้าคนทำธุรกิจแบรนดิ้งต้องมาก่อนเลย โลโก้ เฉดสีแบบไหน อัตลักษณ์องค์กรเป็นแบบไหน แต่เราไม่เคยคิดอะไรแบบนั้น โลโก้เดิมก็แค่เอาให้มันมีบนปกก่อน

ถ้าคนทำธุรกิจเขาไม่ทำแบบนี้หรอก เขาก็ดูว่าเทรนด์หนังสือแบบไหนมา ทำหนังสือแบบนั้น อะไรกำลังจะมา เล่มไหนจะทำเป็นหนังหรือเปล่า เป็นซีรีส์หรือเปล่า แต่เราไม่เคยทำอะไรแบบนั้นเลย มันเป็นหลักการ เราก็แค่ทำหนังสือที่คิดว่าดี หนังสือที่คิดว่าควรจะมีเป็นภาษาไทยในสังคมไทย ไม่ได้ทำด้วยหลักการว่า เฮ้ย อีก 3 ปีมาชัวร์ มีข่าวว่าจะทำหนัง เอามาทำก่อน ไม่ได้คิดแบบนั้น

ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ

ที่คุณเคยบอกว่า ‘หนังสือผมไม่เน้นขาย’ คุณพูดเล่นหรือพูดจริง

ผมว่าจริงนะ ด้วยตัวมันเองมันไม่ได้ขาย ด้วยประเภทหนังสือ วรรณกรรมคลาสสิกมันไม่ได้เป็นหนังสือที่ต้องซื้อวันนี้ ถ้าคุณไม่ซื้อคุณจะตกเทรนด์ ชีวิตคุณจะไม่รอด ไม่ใช่ หนังสือคลาสสิกมันไม่ได้บอกคุณแบบนั้น หนังสือคลาสสิกคุณอายุ 50 คุณค่อยอ่านก็ยังได้ ลูกคุณเติบโตคุณก็ยังอ่านได้ เพราะฉะนั้น โดยธรรมชาติของหนังสือวรรณกรรมคลาสสิกมันเป็นแบบนั้นโดยตัวมันเอง มันไม่ขายด้วยตัวมันเองตั้งแต่ต้น เรารู้ตัวตั้งแต่ต้นเลยว่ามันขายยาก

หนังสือสำนักพิมพ์สมมติติดอันดับหนังสือขายดีกับเขาบ้างไหม

มันก็มีบ้าง ซึ่งไม่รู้ว่าจริงไม่จริง แต่ผมไม่เคยหลงระเริงว่าติดชาร์ตอันดับ 1 อันดับ 5 ผมไม่เชื่ออะไรแบบนี้

Best Seller มันคืออะไร มันคือ Pop Culture เหมือนหนัง Box Office มันคืออุตสาหกรรมที่เป็น Mass Production คุณหวังจะใช้เครื่องมือ Mass Production ในการมากำกับ ในการมากระตุ้นยอดขายในสิ่งที่มันไม่ใช่สิ่งที่ป็อปปูล่า มันก็สวนทางตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ผมเคยขึ้นว่า ‘5 อันดับหนังสือขายไม่ดี’ คือมันขายไม่ดีแต่เป็นหนังสือดี คุณรับไปเถอะ แล้วมันก็ขายได้

มีหนังสือเล่มไหนมั้ยที่รู้ทั้งรู้ว่าทำไปก็ขายไม่ได้ แต่ก็ยังยืนยันที่จะทำ

ทุกเล่ม (ตอบทันที) คุณว่าตอนเอา 1984 มาพิมพ์คิดว่าจะขายได้เหรอ ผมไม่เคยเชื่อเลยว่าจะขายได้ มันหายไปเกือบ 20 ปีนะ จากพิมพ์แรกจนเราเอามาทำ ถ้ามีคนเห็นว่าขายได้ สำนักพิมพ์ที่ทำธุรกิจเขาเอาไปทำก่อนหน้าผมแล้ว หรืออย่าง ราโชมอน ผมไม่เคยคิดว่าจะขายได้เลย

รู้ว่าขายไม่ได้ทำไมยังเลือกทำ

อย่างที่บอก เพราะหลักการในการเลือกหนังสือที่จะทำเราไม่ได้คิดว่าต้องเอาเล่มที่ขายได้เป็นหลัก หลักในการเลือกหนังสือของเราคือมันต้องเป็นหนังสือที่มีคุณค่าทางวรรณกรรม คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรจะได้รับการแปลในสังคมไทย

ทุกวันนี้ผมก็ยังใช้หลักแบบนี้อยู่ เพียงแต่ทำออกมาแล้วมึงต้องขายแล้วนะ อันนี้มันเหมือนเป็น Post Production แต่ไม่ได้คิดตั้งแต่ต้นว่าเอาเล่มนี้เพื่อขาย เราเอาเล่มที่ดีก่อน ส่วนเรื่องขายค่อยมาช่วยกันคิดว่าจะพรีเซนต์ยังไง ใครจะซื้อ เป็นปัญหาของพวกเราทั้งหมดที่ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันเขย่า

ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ

เวลาผลิตหนังสือคุณมองมันเป็นสินค้าชนิดหนึ่งไหม

ทุกวันนี้มองมันเป็นผลิตภัณฑ์ มองเป็นสินค้า แต่ 3 – 4 ปีแรกผมไม่ได้มองเป็นสินค้า ผมมองมันเป็นอาวุธบางอย่าง ปากกาคืออาวุธไง นักเขียนบอกไว้ไง คุณพูดกันมาแบบนี้ แต่คุณไม่เคยวงเล็บเลยว่ามันคือในเชิงอุดมคติ ในเชิงที่คุณอาจจะไม่ได้ทำธุรกิจกับมัน ในเชิงที่เป็นวาทะเพื่อปลุกเร้าให้คนมีแพสชันในการทำงาน แต่ถ้าคุณถอดวงเล็บพวกนี้ออก แล้วใส่วงเล็บเข้าไปใหม่ว่า มันคืออาชีพจริงๆ ของมึงนะ มึงต้องจ่ายค่าพิมพ์ด้วยนะ มึงต้องจ่ายค่าเรื่อง ต้องจ่ายเงินเดือนลูกน้อง คุณก็ต้องมองมันเป็นผลิตภัณฑ์ที่คุณต้องขาย ไม่อย่างนั้นคุณไม่รอด

พอเปลี่ยนมุมมองจากอาวุธเป็นผลิตภัณฑ์ วิธีคิดในการทำเปลี่ยนไหม

เปลี่ยนแน่นอน ช่วงแรกๆ ผมไม่เคยโปรโมตหนังสือผมเลยนะ หรือโปรโมตก็น้อยมากๆ ตอนที่เริ่มมีเฟซบุ๊ก สันดานแบบพวกผมก็ไม่ได้คิดว่า เฮ้ย มันเป็นเครื่องมือทางการตลาด เราได้ช่องทางใหม่กันแล้ว ลุกขึ้นมาทำการตลาดบนเฟซบุ๊ก มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เราก็แค่ เออ มีเฟซบุ๊กเหรอ ช่างแม่ง (หัวเราะ) ผมให้เด็กฝึกงานเปิดเพจสำนักพิมพ์ด้วยซ้ำ ตอนนั้นทำไม่เป็น

ตอนแรกเราไม่ขายเลย เพราะมันมีความเชื่อว่าหนังสือดีคนบอกต่อ ปากต่อปาก เดี๋ยวคนซื้อเอง คุณแค่ทำมันให้ดี เดี๋ยวมันจะขายได้ด้วยตัวมันเอง แต่ทุกวันนี้ของดีๆ ทั้งหลายมันก็ขายไม่ได้หรือเปล่า ถ้าคุณไม่นำเสนอมัน มันคือการนำเสนอบางอย่าง มันคือการอธิบายบางอย่างออกไปให้คุณขายของได้ เฟซบุ๊กไม่ใช่ว่ามีเฉยๆ แล้ว มันต้องเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารกับคนอ่าน ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเครื่องมือในทางรูปธรรมที่บอกว่า เราต้องทำเพื่อให้เรารอด นี่คือวิธีง่ายสุด

ถ้าไม่ทำอะไรคุณตายแน่นอน ถ้าคุณยังทำแบบเดิมๆ คุณไม่มีทางรอดในโลกสมัยใหม่ที่แข่งขันกัน ทุกอย่างมันเปลี่ยนเร็วไปหมด ถ้าคุณตามไม่ทัน ถ้าไม่ปรับตัวคุณก็รอวันไปสู่จุดจบ หรือต่อให้ถ้าคุณไม่เปลี่ยน แต่คุณต้องรู้ว่ามันจะเปลี่ยน ต้องรู้ว่าสิ่งที่มันหมุนอยู่คืออะไร ต้องบาลานซ์ให้ได้ แต่ไม่รู้อะไรแล้วทำแบบเดิมนี่ฉิบหายเลย

นอกจากขายของมากขึ้น มีอะไรเปลี่ยนไปอีกไหม

ผมเครียดมากขึ้น เพราะตอนแรกเราทำด้วยอุดมคติอย่างเดียว ทำด้วยอยากจะทำอย่างเดียว แต่พอเจอความเป็นจริงตรงหน้า เรื่องธุรกิจ เรื่องตัวเลข เรื่องยอดขาย มันคือชีวิตแล้ว มันคือความเป็นจริงแล้ว เพราะฉะนั้นความจริงอยู่ตรงหน้า คุณต้องซีเรียสกับมันแล้ว

ที่ผ่านมามันเหมือนฝันๆ ทำๆ ไป มีความสุข แต่ผมว่า ความจริงมันให้ภาพอีกแบบหนึ่งที่เราไม่เคยคิดกับมัน สิ่งที่เราคิดในด้านบวกทั้งหลายส่วนใหญ่มันเป็นจินตนาการทั้งนั้น ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น ความจริงจะเป็นด้านตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุณจินตนาการไว้เสียส่วนใหญ่ โอเค มันไม่ทั้งหมดหรอก แต่ส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น

คุณคาดหวังอะไรสักอย่างที่มันดีงาม คุณจินตนาการว่ามันใช่ แต่ความจริงมันบอกคุณอีกแบบ

ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ

เจ็บปวดไหม ความจริงเป็นด้านตรงกันข้าม

มาก เจ็บปวด บั่นทอน เบื่อ มีคำถามอยู่ตลอดเวลา ทำไมวะ ทำไปทำไมวะ ใครอ่าน อ่านแล้วเกิดอะไรขึ้น มีอยู่ตลอดเวลา

แล้วผ่านมาได้ยังไง

เวลาผมเหนื่อยๆ จะมีประมาณ 2 – 3 อย่างที่กลับมาพยุงให้ผมรู้สึกว่า เออ มึงก็ทำไปว่ะ

หนึ่งคือคนอ่าน ในยุคแรกเป็นอีเมล จดหมาย แม้ว่ามันไม่เยอะหรอก แต่การที่คุณทำอะไรออกไปแล้วมีคนอ่านหนังสือที่คุณทำ ของที่คุณผลิต ข้อเขียนที่คุณเขียน มันเป็นแรงบางอย่างให้คุณทำสิ่งนั้นต่อไปได้

อย่างที่สองที่นึกออก ผมกลับไปอ่านบทบรรณาธิการพี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ในนิตยสาร open เล่มท้ายๆ เราอ่านแล้วมันฮึกเหิมว่ะ มันมีพลัง มันช่วยชีวิตในเสี้ยววินาทีได้ เวลาท้อๆ ผมกลับไปอ่านตลอด ยิ่งเล่มหลังๆ ที่เขาพยายามยื้อ เขาพยายามดื้อ เขาพยายามเอาให้รอดให้ได้ในหลักการที่เขาเชื่อ มันฉายภาพให้เห็นเลยว่า เขาต้องรับมือกับอะไรบ้าง เขารับมือมันด้วยวิธีคิดแบบไหน แล้วผลมันจะเป็นแบบไหน ถ้าผลมันเป็นแบบนี้ มึงยอมแลกหรือเปล่า ถ้าแลกแล้วเป็นแบบนี้ ถ้าไม่แลกเป็นแบบนี้นะ มึงจะเอายังไงกับชีวิตมึง มึงจะเอายังไงกับการที่มึงจะพยุงองค์กรให้มึงรอดตามหลักการความเชื่อที่มึงมี

ผมกลับไปอ่านบทบรรณาธิการ open บ่อยมากเลยช่วงแรกๆ ในการทำสำนักพิมพ์ เพราะมันไม่มีคู่มือบอกว่าคุณต้องทำแบบไหน ในการทำสำนักพิมพ์เล็กๆ เฉพาะทางให้มันรอด แล้วก็ตอบโจทย์ทางธุรกิจ บทบรรณาธิการนั้นมันเป็นเสมือนแสงไฟปลายถ้ำให้เห็นว่ามึงก็ดื้อได้ แต่ต้องเจอสภาพอะไรแบบนี้นะ หรือถ้าคุณยอม คุณยอมอะไรได้บ้าง แล้วทุกวันนี้ตัวหัว open มันก็ยังอยู่ แล้วก็แข็งแรงอย่างที่เห็น ไม่มากไม่น้อยมันก็มาจากหลักคิดความเชื่อบางอย่างที่เขาเชื่อจริงๆ แล้วมั่นคงกับมันจริงๆ แล้วก็ทำมัน มันก็ทำได้ อยู่ได้

แต่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้อยู่แบบทนอยู่ใช่ไหม

ใช้คำว่าทนไม่ได้เลยว่ะ ทำอาชีพไหนถ้าคุณซีเรียสกับมัน คุณทนอยู่ไม่ได้หรอก คุณต้องรักในสิ่งที่คุณทำในเบื้องต้น ทุกอาชีพเลยนะ คุณควรเป็นครูที่ดี สถาปนิกที่ดี บาร์เทนเดอร์ที่ดี บุรุษไปรษณีย์ที่ดี โสเภณีอาว์ปุ๊ (’รงค์ วงษ์สวรรค์) ยังบอกเลยว่าห้ามเร่งลูกค้านะ

งานกับชีวิตผมไม่เคยแยกจากกันเลย งานกับชีวิตผมเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วผมบอกเพื่อนร่วมงานเสมอ คุณทำหนังสือแบบไหน จงใช้ชีวิตให้มันใกล้เคียงกับหนังสือที่คุณทำ ให้ได้มากที่สุด มันไม่ต้องเป๊ะหรอก แต่คุณต้องไม่บิดพริ้วไปจนเกินเลย ไม่ใช่มึงทำหนังสือขาวแต่ชีวิตประจำวันมึงมันดำ มันไปด้วยกันไม่ได้หรอก งานกับชีวิตสำหรับผมมันไม่เคยเป็นคนละเรื่อง มันเป็นเรื่องเดียวกัน

สิ่งนี้สำคัญยังไง เพราะคนอ่านก็ไม่รู้หรือเปล่าว่าคนทำใช้ชีวิตแบบไหน

การงานบางอย่างคุณต้องใช้ชีวิตและงานให้มันสัมพันธ์กัน ให้มันสมดุลกัน

ถ้าเป็นหน้าที่การงานที่ไม่ต้องสัมพันธ์กับชีวิต ทำทำจบ มันก็อาจจะไม่ต้องสนใจเรื่องนี้ก็ได้ แต่การงานบางอย่างมันพัวพันกับชีวิตคุณ มันให้วิธีคิดบางอย่าง ซึ่งคุณต้องรับไปในชีวิตประจำวัน ไม่อย่างนั้นคุณตอบตัวเองไม่ได้ว่าคุณทำหนังสือแบบนี้ ผลิตประโยคออกมาแบบนี้ แต่คุณไปเชื่ออีกประโยคหนึ่งได้ยังไง มันตอบยากนะ แค่ตอบตัวเองยังยากเลย เพราะฉะนั้นในระดับหนึ่ง ไม่มากก็น้อย คุณต้องปรับให้มันโอเคกับสิ่งที่คุณทำ ชีวิตประจำวันกับหน้าที่การงานต้องไปพร้อมๆ กันให้ได้

ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ

แล้วสุดท้ายคุณบาลานซ์ระหว่างโลกจริงกับโลกอุดมคติอย่างไร

มนุษย์ไม่เคยบาลานซ์อะไรได้สักอย่างในชีวิต ทุกวันนี้คุณก็ยังต้องบาลานซ์อยู่ คุณก็เสียสมดุลอยู่ทุกวี่ทุกวัน มันเป็นการดีลกับสิ่งที่คุณเจอตรงหน้าให้มันรอด มันไม่มีกฎว่า คุณทำหนึ่ง สอง สาม สี่ แล้วชีวิตคุณสมดุลทั้งชีวิต ไม่มีทาง

ทำสำนักพิมพ์มา 10 ปีแล้ว พอเจอโลกแห่งความจริงในโลกธุรกิจ ความเชื่อในวรรณกรรมของคุณลดลงไหม

ผมเชื่อในวรรณกรรมเสมอเลยนะ แล้วผมเชื่อว่าคนอ่าน หรือว่าคนที่ทำหนังสือ คนที่ทำสำนักพิมพ์ก็เชื่อในสิ่งนามธรรมแบบนี้ มันเป็นพลังนะ ประโยคบางประโยคมันเปลี่ยนชีวิตคุณได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ถ้าคุณเชื่อไปแล้วคุณไม่มีทางไม่เชื่อหรอก

ไชยันต์ รัชชกูล เคยเขียนในบทตามหนังสือ The Overcoat ของ Nikolai Gogol เขาบอกว่า พนันกันมั้ยว่า อีกร้อยปีข้างหน้าคุณว่าชื่อของ Gogol หรือชื่อของ Google จะยังอยู่ คุณว่าชื่อของนักเขียนหรือชื่อของกูเกิลจะยังอยู่

ชื่อนักเขียนอยู่กับเรามา 500 ปี 1,000 ปี เทคโนโลยีอยู่เหรอวะ คุณจำ Netscape ได้มั้ย คุณจำ Winamp ได้มั้ย คุณจำ Hi5 ได้มั้ย

แต่ในแง่ผู้ผลิต คนคิดค้นเทคโนโลยีเขาอาจจะร่ำรวยมหาศาล ชีวิตสุขสบายไปแล้วหรือเปล่า โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าสิ่งที่สร้างจะมีอายุยืนยาวแค่ไหน

ถูก ผมตอบแบบนี้ สิ่งที่ผมพูดมันเป็นเชิงปัจเจก ไม่ใช่ในเชิงหลักการ ปัจเจกคุณมีสิทธิ์คิดฟุ้งซ่าน มีสิทธิ์จินตนาการ มีสิทธิ์คิดถูกคิดผิดได้หมด แต่ในทางหลักการอาจจะเป็นแบบที่คุณพูดก็ถูก คนคิดค้นเทคโนโลยีเก่าๆ ทั้งหลายอาจจะประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ ชีวิตดีงามไปแล้ว แต่ผมไม่ได้มองมันในแง่นั้น ผมมองว่าวรรณกรรมมันตอบปัจเจกผม ว่าสิ่งเหล่านี้มันมีคุณค่ากับผมแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้น เวลามองคุณต้องแยกระหว่างความพึงพอใจหรือคุณค่าในทางปัจเจกของคุณเอง กับคุณค่าบางอย่างที่ไม่ใช่ปัจเจก

ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ

ถึงวันนี้คุณคิดว่าธุรกิจสำนักพิมพ์เป็นธุรกิจที่น่าลงทุนมั้ย

น่าลงทุนอย่างยิ่งในโลกที่เจริญแล้ว และในโลกที่มีวัฒนธรรมการอ่านเป็นเรื่องปกติ ควรลงทุนอย่างยิ่ง เพราะมันมีมูลค่า และนอกเหนือจากธุรกิจที่คุณจะได้ คุณยังให้ปัญญากับคนอ่าน คุณให้ปัญญากับสังคมที่คุณไปลงทุน แต่ในสังคมไทย จงอย่ามาทำถ้าคิดว่าจะมาลงทุนในธุรกิจหนังสือ ในวงเล็บว่าหนังสือแบบที่ผมทำ ถ้าคุณเป็นนักลงทุน มีธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่านี้ล้านเปอร์เซ็นต์

แล้วทำไมคุณถึงยังทำอยู่ ทั้งที่ถ้าหลงใหลวรรณกรรม คุณเป็นเพียงผู้บริโภคก็ได้ ไม่ต้องเป็นผู้ผลิต แล้วไปทำงานอย่างอื่นชีวิตก็อาจจะสุขสบายกว่านี้

ดีที่ถามแบบนี้ มันก็ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปว่า ทำไมผมไม่เป็นแค่ผู้บริโภคอย่างเดียวก็อิ่มแล้ว

ตอบแบบแย่ๆ แต่ก็อาจจะเป็นความจริง คือผมอาจจะทำอาชีพอื่นไม่เป็น บางอย่างคุณเลือกไม่ได้นะในชีวิต ยิ่งระบบการศึกษาแบบนี้ยิ่งเลือกไม่ได้เลย

คุณถูกหล่อหลอมมาแบบนั้น ความเชื่อบางอย่างที่ได้รับ หนังสือที่คุณอ่านในยุคแรกเริ่ม มันหล่อหลอมคุณว่าคุณต้องเป็นคนทำหนังสือว่ะ สุดท้ายไม่มีใครบอกผม หนังสือบอกผม ตัวหนังสือ ประโยคที่อยู่ในหนังสือบอกผมตอนผมอ่านว่า อาชีพนี้ดีว่ะ อาชีพนี้ท้าทายว่ะ อาชีพนี้สนุก อาชีพนี้ทำให้เราเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ก็เลยไม่เป็นผู้บริโภค เป็นผู้ผลิต

คุณบอกว่าตัวเองเป็นคนทำธุรกิจที่แย่มาก แล้วอะไรทำให้สมมติอยู่มาได้ถึง 10 ปี

วินัย วินัยในการทำงาน วินัยในการใช้เงิน

คุณต้องมีวินัยอย่างสูง ทั้งชีวิตประจำวัน ความเป็นอยู่ การใช้เงิน ไม่มีใครเป็นเจ้านายเรา แต่ถ้าเราไม่ทำมันก็ไม่มีงาน คุณก็ต้องมีวินัยในการทำงาน แล้วได้เงินมาคุณต้องมีวินัยในการใช้เงิน วินัยเป็นคำเดียวเลย คุณต้องมีวินัยในการใช้ชีวิต คุณเละเทะไม่ได้ แล้วถ้าคุณมีวินัย สิ่งที่จะตามมาคือความลุ่มหลงในสิ่งที่คุณทำ ถ้าคุณมีวินัยกับมันคุณรักมันแน่นอน

ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ

ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ

ที่ผ่านมาคุณย้ำบ่อยมากว่า ‘ทำสำนักพิมพ์ต้องมีหลักการ’ หลักการที่ว่าคืออะไร

อันดับแรกคุณต้องซื่อสัตย์ต่อผู้อ่าน

จำนวนพิมพ์ต้องชัดเจน ไม่หลอกเขาด้วยตัวเลขบนปก ถ้าไม่จริงต้องไม่ทำ เบื้องต้นในแง่การพรีเซนต์ ในแง่การโปรโมต คุณต้องซื่อสัตย์กับเขา ไม่ใช่ไปหวังเครื่องมือทางการตลาดเพื่อให้คุณขายหนังสือได้มากๆ โดยที่คุณไม่เคารพคนอ่าน

คุณต้องตรวจสอบต้นฉบับ คุณต้องมีขั้นตอนบรรณาธิการ พิสูจน์อักษรที่ดีที่สุด ละเอียดรอบคอบที่สุด แม้ว่ามันอาจจะมีโอกาสผิดพลาดได้ แต่ในเบื้องต้นต้องซีเรียส ไม่ใช่ได้ต้นฉบับปุ๊บ จัดหน้าเสร็จ พิมพ์ ไม่ใช่ ผมได้ต้นฉบับมาผมต้องกระทำกับต้นฉบับ เอามาตรวจสอบ เอามาแก้ไขปรับปรุง ให้ดีที่สุดก่อนถึงคนอ่าน ไม่แน่ใจว่าแบบนี้มันคือเรื่องความซื่อสัตย์หรือเปล่า แต่สำหรับผม ผมว่ามันใช่

คนอ่านให้ตังค์คุณ คนอ่านให้อาชีพคุณ คนอ่านซื้อหนังสือคุณ ให้คุณมีเงินจับจ่ายใช้สอย เลี้ยงครอบครัว ให้เงินเดือนทุกคนได้ คุณต้องซื่อสัตย์กับเขา

ผมขายหนังสือในเฟซบุ๊กยุคแรกๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราว ลด 20 เปอร์เซ็นต์ ส่งฟรี มั่วซั่วไปหมด ไม่รู้ระบบ ไม่รู้อะไร แต่ทุกวันนี้ผมขายราคาปกบวกค่าส่ง หลายต่อหลายครั้ง คนอ่านถามว่า ลดได้มั้ยคะ ลดได้มั้ยครับ ผมก็ตอบไปว่า ถ้าอยากซื้อแบบลดราคามีร้านออนไลน์ร้านนี้ร้านนั้น ติดต่อได้เลย ไม่เป็นไร คือถ้าผมลดราคาผมลดได้มากกว่าร้านค้าอยู่แล้ว แต่ผมไม่เล่นสงครามราคากับร้านค้าเพื่อให้ระบบมันอยู่ อันนี้คือหลักการ ซื่อสัตย์กับคนอ่าน

ถ้าผมอยากขายผมก็บอกไปสิว่าลดไม่ได้ ซื้อที่นี่แหละครับ ราคาเท่ากันหมด แต่ผมบอกว่า ถ้าอยากซื้อแบบลดราคามีร้านออนไลน์ที่ไหนเขาลดราคากันอยู่ แต่ถ้าสั่งซื้อกับสำนักพิมพ์ ผมขออนุญาตขายราคาปก ถือว่าเป็นการสนับสนุนสำนักพิมพ์โดยตรง เพื่อให้เราผลิตหนังสือแบบนี้อยู่ได้ ผมซื่อสัตย์กับคนอ่าน

แล้วคนอ่านซื้อกับคุณไหม พอบอกแบบนั้น

10 คนที่ถามมาแบบนี้ ซื้อกับผม 8 คน

ทำไมคุณประหลาดใจ บอกแล้ว ราคามันไม่ได้ซื้อได้ทุกอย่าง ผมถึงพูดกับคุณตั้งแต่ต้นว่าอะไรที่จุนเจือผม มันคือผู้อ่าน

เขาบอกว่า อ๋อ เข้าใจแล้วค่ะ ทำไมซื้อที่ร้านอื่นถูกกว่า ทำไมซื้อสำนักพิมพ์ถึงแพงกว่า เข้าใจแล้วค่ะ ขอบคุณมากค่ะ ตกลง ซื้อ ผมบอกว่าขอบคุณมาก นี่เป็นการสนับสนุนสำนักพิมพ์โดยตรง

โอเค สเกลมันไม่ได้ใหญ่เป็นพันเป็นหมื่นคน แต่พวกนี้คือกำลังใจ คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่า คุณตอบเขาได้ คุณตอบตัวเองได้

มันหล่อเลี้ยงจิตใจด้วย ไม่ใช่แค่ปากท้อง

ใช่ ผมไม่ปฏิเสธเงินหรอก เงินก็สำคัญแหละ แต่ชีวิตคน ผมว่าสิ่งนี้สำคัญพอๆ กัน

ต้อง ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, สำนักพิมพ์สมมติ

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan