ธุรกิจ : บริษัท สมใจบิซกรุ๊ป จำกัด

ประเภทธุรกิจ : ขายปลีก-ส่งเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลป์

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2498

อายุ : 67 ปี

ผู้ก่อตั้ง : คุณสมใจและคุณนิยม เผดิมชิต

ทายาทรุ่นสอง : คุณสมสลวยและคุณณัฐวุฒิ วิทยานนท์, คุณลาวัลย์และคุณชาย ผดุงโยธี

ทายาทรุ่นสาม : คุณนพนารี พัวรัตนอรุณกร, คุณวิภวานีและคุณวิธวินท์ วิทยานนท์

ตรงข้ามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและวิทยาลัยเพาะช่าง มีร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ตั้งอยู่ นักเรียนในละแวกนั้นรู้จักดีในนาม ‘สมใจ’ ซึ่งตั้งตามชื่อคุณยายผู้ก่อตั้ง

สมใจเริ่มจากร้านขายสารานุกรม ก่อนจะเพิ่มสินค้าจำพวกเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลป์ เป็นแหล่งวัสดุและอุปกรณ์ชั้นดีของนักเรียนมัธยมและนักเรียนศิลปะ ผูกพันกันแบบที่นักเรียนเข้ามาฝากกระเป๋าเวลาโดดเรียนอยู่เสมอ

จากรุ่นก่อตั้ง มารุ่นสอง สู่ทายาทรุ่นสาม สมใจ เครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลป์ ขยายหลายสาขาทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 

การค้าขายเพิ่มจากแค่หน้าร้านเป็นช่องทางออนไลน์

ระบบคลังสินค้าและการจัดซื้อที่เคยแยกขาดกันเป็นสาขา เปลี่ยนมาใช้ร่วมกันตรงกลาง

การบริหารธุรกิจที่เริ่มจากแบ่งให้ลูกทั้งสี่ดูแลคนละสาขา ก็มอบอำนาจให้ผู้จัดการแต่ละร้าน รวมถึงจ้างมืออาชีพเข้ามาดูแลภาพรวม

ตาล-นพนารี พัวรัตนอรุณกร หนึ่งในทายาทรุ่นสามเข้ามารับช่วงต่อหลังเรียนจบปริญญาโทและทำงานที่อเมริกาพักใหญ่ พร้อมความตั้งใจว่าอยากเห็นธุรกิจครอบครัวที่ผูกพันมาตั้งแต่เด็กเติบโตขึ้น

สมใจ การปรับตัวของร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ในมือทายาท ให้คนซื้อได้ประสบการณ์สมใจนึก

วิสัยทัศน์รุ่นตายาย

เรื่องราวของร้านนี้เริ่มขึ้นเมื่อคุณตานิยมและคุณยายสมใจแต่งงานกัน ทั้งคู่อยากทำธุรกิจเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว จึงเริ่มมองหาห้องแถวเพื่อทำมาค้าขาย เป็นช่วงเดียวกับที่คูหาหนึ่งบริเวณวัดราชบูรณะ (หรือที่คนในละแวกเรียกกันว่า วัดเลียบ) ว่างอยู่ ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2498 ร้าน ‘สมใจ’ จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีสินค้ารายการแรกเป็นสารานุกรม

ในสมัยนั้น สารานุกรมเป็นหนังสือที่ต้องมีทุกบ้าน แต่เพราะร้านตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและวิทยาลัยเพาะช่าง จึงมักมีนักเรียนเดินเข้ามาถามหาดินสอปากกาและเครื่องเขียนชนิดอื่น ๆ 

บางธุรกิจอาจเลือกขายเฉพาะสารานุกรมต่อไป แต่คุณยายมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่าง โดยมองเรื่องการตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลัก จึงค่อย ๆ เพิ่มสินค้าจำพวกเครื่องเขียนต่าง ๆ จากคลังสินค้าที่มีแต่สารานุกรม 100 เปอร์เซ็นต์ ก็เริ่มมีอุปกรณ์อื่นเข้ามา 20 เปอร์เซ็นต์ 40 เปอร์เซ็นต์ 90 เปอร์เซ็นต์ จนขยายร้านที่ 2 ที่ 3 ใกล้เคียง และสาขา 4 ที่ดิโอลด์สยาม 

ร้านแรกขายแต่กระดาษ ร้านสองขายเครื่องเขียน ร้านสามเป็นอุปกรณ์ศิลป์ ส่วนร้านสี่เป็นอุปกรณ์ศิลป์เกรดศิลปิน

ร้านสี่ร้านบริหารโดยทายาทรุ่นสองทั้งสี่คนของคุณตานิยมและคุณยายสมใจ ซึ่งเป็นรุ่นที่ตั้งใจสร้างระบบการจัดการและการควบคุมภายในแต่ละสาขาขึ้นมา เพื่อจะขยายสาขาได้ง่ายขึ้น เกิดเป็นสาขาที่ 5 ที่ตึกวรรณสรณ์ สาขาที่ 6 ที่จามจุรีแสควร์ และสาขาที่ 7 ที่สยาม ก่อนจะเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าและต่างจังหวัด

สมใจ การปรับตัวของร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ในมือทายาท ให้คนซื้อได้ประสบการณ์สมใจนึก
สมใจ การปรับตัวของร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ในมือทายาท ให้คนซื้อได้ประสบการณ์สมใจนึก

ทายาทรุ่นสาม

สาขาสยามและสาขาในห้างทำให้สมใจเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ธุรกิจดำเนินไปเรื่อย ๆ จนทายาทรุ่นสามเริ่มเข้ามาทำงาน

วิภ-วิภวานี วิทยานนท์ บริหารฝ่ายบุคคล ระบบไอที และ Warehouse

เนม-วิธวินท์ วิทยานนท์ รับผิดชอบฝ่ายขายและการดำเนินงานหน้าร้านทั้งหมด

ตาล ดูแลการตลาด การจัดซื้อ และการขายออนไลน์

ทั้งสามปรับปรุง 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ พัฒนาระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ให้เชื่อมต่อทุกสาขาเข้าส่วนกลาง และสร้างแบรนดิ้งที่ชัดเจน

ปัญหาที่สมใจเจอมาตลอดคือ การทุจริต ชนิดที่ทุกปีต้องขึ้นโรงพัก เหล่าคนรุ่นสามใช้เวลา 2 ปีในการสร้างระบบที่ตรวจสอบได้ ใช้แรงงานให้น้อยลง ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล รายชื่อผู้ขาย รายชื่อลูกค้า การให้เครดิตลูกหนี้ หรือการขอเครดิตเจ้าหนี้ ไปจนถึงข้อมูลต่าง ๆ ของพนักงาน 

ตาลเล่าให้ฟังว่า “แต่ก่อนจะไปซื้อปากกา ที่สาขาสยามกับสาขาตึกวรรณสรณ์ราคาไม่เท่ากันนะ เพราะระบบของแต่ละร้านเป็นเอกเทศ ไม่เชื่อมต่อกัน เรา Centralize ทั้งหมดให้อยู่ตรงกลาง เพื่อจะได้ใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน

“อย่างสาขาวรรณสรณ์ชื่อสินค้าคือ ปากกา Lamy แต่สยามใช้ Lamy ปากกา พอเรียกไม่เหมือนกัน ราคาก็ต่าง และเราก็ดูสต็อกทั้งหมดไม่ได้”

เช่นเดียวกับระบบการจัดซื้อ เมื่อข้อมูลของสินค้ารวมกันที่ตรงกลางแล้ว ทายาทรุ่นสามจึงยกเลิกวิธีการสั่งของแบบ ‘ร้านใครร้านมัน’ แต่วิเคราะห์จากจำนวนที่มีทั้งหมดองค์กร แล้วอนุมัติโดยผู้จัดการแต่ละสาขาอีกที

“หรืออย่างระบบ HR เมื่อก่อนเราไม่เคยมี ข้างล่างร้านจะมีประตูสไลด์ ๆ เป็นห้องจ่ายเงิน เงินที่ขายได้เอามารวมที่ห้อง แล้วแบ่งว่าไปทำอะไรต่อ เป็นธุรกิจเงินสด ไม่มีระบบอะไร เดี๋ยวนี้แทบไม่ได้จับเงินสดแล้ว”

สมใจ การปรับตัวของร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ในมือทายาท ให้คนซื้อได้ประสบการณ์สมใจนึก

ระบบเปลี่ยน คนต้องเปลี่ยน

การเปลี่ยนระบบไม่ใช่งานที่ยากที่สุด เพราะสำหรับทายาทธุรกิจทุกคน โจทย์หินมาหลังจากนั้น

เปลี่ยนระบบแล้วคนต้องทำอย่างไร คือคำถามถัดมาที่ต้องตอบให้ได้ พนักงานเก่า ๆ ของสมใจลาออกไปกว่าร้อยละ 20 เพราะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ไหว 

คำถามข้อที่ 2 ของผู้รับช่วงต่อคือ จะพาคนทั้งหมดโตไปด้วยกันอย่างไร

“ตอนขึ้นระบบใหม่ ๆ คลินิกความงามที่เราไปประจำเล่าให้ฟังว่า เขาขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินแล้วได้ยินพนักงานสมใจคุยกันว่าเราโหดมาก ช่วงนั้นเราเคี่ยวสุด ๆ เพราะอยากให้ธุรกิจก้าวต่อไป”

วิธีทำงานเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากระบบ A ไป B โดยไม่ใช่วิธีการทำคู่ขนานเพื่อทดลองก่อน เพราะคำนวณแล้วว่างานจะหนักขึ้นมาก 

จากไม่เคยต้องทำเอกสารเกี่ยวกับบุคคล อยากลางานแค่เดินไปแจ้ง ตอนนี้ต้องขออนุมัติวันลาผ่านระบบ

จากที่สินค้าเข้าร้านแค่เช็กใบแจ้งหนี้แล้วขายเลย ก็เปลี่ยนมาตรวจสอบอย่างรอบคอบ ตั้งแต่ใบสั่งซื้อ นับสต็อกสินค้าทุกสัปดาห์ว่าตรงกับรายงานของส่วนกลางไหม แล้วค่อยนำออกไปวางขายเป็นครั้ง ๆ ไป

พนักงานขนส่งมีระบบตรวจว่าไปที่ไหนมาบ้าง จอดกี่นาที 

ส่วนหน้าร้าน ตาลเล่าว่าสมัยก่อนพนักงานสามารถแจกของให้ลูกค้าสมาชิกได้เลย ไม่ต้องรออนุมัติ มาตอนนี้ต้องทำตามเงื่อนไขของบริษัท

ขั้นตอนการทำงานก็เพิ่มขึ้นมาก เรียกได้ว่า จาก 1 เป็น 20 

“ทุกวันนี้เวลาประชุม ก็ยังมีคนบอกอยู่ว่างานเยอะขึ้นมาก ท้อ นอกจากให้กำลังใจกันระหว่างทาง เราต้องทำให้เขาเข้าใจว่า สิ่งที่เขาทำนั้นสำคัญแค่ไหน สำคัญกับบริษัทยังไง ไม่อย่างนั้นเขาจะรู้สึกว่าทำงานหนักแต่ไม่มีค่า 

“แรก ๆ เข้ามาเราก็ไม่รู้หรอก ไม่รู้ว่าคุณค่าของงานที่ทำมันสำคัญกับแต่ละคนยังไง เราค่อยเรียนรู้จากเขามาเรื่อย ๆ พอเราเข้าใจกันและกัน มันก็ไปต่อได้”

ระบบทำให้การดำเนินงานทุกส่วนโปร่งใส คัดคนที่ไม่ซื่อตรงออกไป ส่วนพนักงานดี ๆ ที่ยังอยู่ด้วยกัน บริษัทก็หมั่นจัดเทรนนิ่งเสริมสร้างทักษะในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ อบรมเรื่องความเป็นผู้นำสำหรับตำแหน่งระดับผู้จัดการ หรือฝึกฝนเกี่ยวกับระบบปฏิบัติงานและความรู้เรื่องสินค้าพื้นฐาน เป็นต้น 

หลายคนเลือกอยู่ต่อกับสมใจ เช่น พี่แตน อายุ 60 กว่าปี เป็นพนักงานเก่าแก่ที่สุดของร้าน เขารักการทำงานที่นี่มากจนตาลแซวว่า น่าจะทำงานไปจนอายุ 85

สมใจ การปรับตัวของร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ในมือทายาท ให้คนซื้อได้ประสบการณ์สมใจนึก
สมใจ การปรับตัวของร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ในมือทายาท ให้คนซื้อได้ประสบการณ์สมใจนึก
สมใจ การปรับตัวของร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ในมือทายาท ให้คนซื้อได้ประสบการณ์สมใจนึก

สร้างตัวตนให้แบรนด์ครอบครัว

ชื่อของ ‘สมใจ’ อาจจะคุ้นหูลูกค้าและเป็นร้านลำดับแรก ๆ ที่นึกถึงเมื่อต้องซื้อเครื่องเขียน แต่ถ้าลองนึกเป็นภาพ หลายคนนึกไม่ออก

สมใจไม่เคยออกแบบแบรนดิ้ง เวลาทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ จึงไม่มีไกด์ไลน์ที่ชัดเจน แม้แต่สีของแบรนด์ก็ไม่เคยมีมาก่อน ครั้งหนึ่งบัตรสมาชิกของร้านเป็นรูปชินจัง เพียงเพราะคุณพ่อชอบชินจังเท่านั้น

โลโก้เองก็ไม่เคยถูกกำหนดขนาดกว้างยาวหรือระยะช่องว่าง สีเสื้อพนักงานและสีถุงไม่ต้องพูดถึง ตาลบอกว่ามีมาแล้วทุกสี บางปีใช้สีฟ้ากับชมพู เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากสีประจำโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม

“เราได้ พี่พิม Teaspoon (พิม จงเจริญ) ซึ่งเป็นแฟนสมใจอยู่แล้ว มาช่วยวางไดเรกชัน บนโจทย์ที่อยากให้เก๋ขึ้น ใหม่ขึ้น ซึ่งเราไม่มีงบมากมาย รุ่นสองเขาไม่เข้าใจว่าการทำแบรนดิ้งคือยังไง แต่พอใช้ต้นทุนไม่มาก เขาก็มองว่าเป็นการลงทุนมากกว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย

“พี่พิมให้เลือกหนึ่งสีที่จะเป็นสีประจำแบรนด์ สุดท้ายเลือกสีเขียว เพราะคุณยายเกิดวันพุธ”

การทำแบรนดิ้งทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำมากขึ้น นึกถึงสมใจต้องนึกสีเขียว 

คุยกับทายาทร้านสมใจ เมื่อร้านเครื่องเขียน-อุปกรณ์ศิลปะเก่าแก่ ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่และออนไลน์ โดยยังครองใจคนทุกวัย

Go Online

จากแบรนดิ้งต่อเนื่องมาถึงการทำเว็บไซต์ ที่ตอนแรกตาลคิดว่าไม่ยาก

“เราคิดว่าพร้อม แต่จริง ๆ ไม่พร้อม ข้อมูลสินค้าเรามีกว่า 60,000 รายการ จำได้ว่ามีน้องที่มาช่วยออนไลน์สองสามคน ช่วยกันจัดประเภทสินค้ากัน

“ช่วงแรกโดน Complain เรื่องการขนส่งตลอด ส่งของช้า ส่งของแตก ระบบเว็บนี่เปลี่ยนมา 3 รอบ เพราะไม่พร้อม ตอนที่คอลแลบกับ BNK48 แล้ววางขายผ่านเว็บ ถ้าคนเข้ามากกว่า 50 คน เว็บเจ๊งเลย เราไม่พร้อมถึงขนาดว่าตอนนั้นต้องพรีออเดอร์ผ่าน Google Form สุดท้ายตัดสินใจลงทุนทำเว็บอย่างจริงจัง”

แม้จะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ ที่หลายครั้งก่อนทายาทคนนี้ก็รู้สึกยังไม่คุ้มค่า เพราะยอดขายเทียบไม่ได้กับการเปิดหน้าร้านใหม่ 

โควิด-19 ตอกย้ำให้รู้ว่ามาถูกทาง ขณะเดียวกันสมใจก็ขยายการขายไปบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง Shopee และ Lazada

สต็อก Shopee กับ Lazada แยกกันและอยู่คนละสาขา มีรุ่นพี่บอกตาลว่าคิดผิดที่แยกกันแบบนี้ เพราะต้องใช้คนทำงาน 2 ที่ และยากในการบริหารจัดการ แต่กลายเป็นว่า ตอนที่มีพนักงานติดโควิดที่สาขาหนึ่ง ก็ไปใช้สต็อกของอีกสาขาได้

จุดเด่นของประสบการณ์การซื้อของที่สมใจคือ ความรู้ความเข้าใจเรื่องสินค้าของพนักงาน ผู้เป็นมากกว่าพนักงานขาย แต่เหมือนที่ปรึกษา (หลังจากคุยกับตาลเสร็จ เราเดินลงไปดูกระดาษหน้าร้าน พี่พนักงานผู้ชายก็อธิบายอย่างละเอียดให้เห็นข้อแตกต่างของแต่ละประเภท ข้อดี ข้อเสีย แบบไม่กั๊กความรู้ใด ๆ )

การทำออนไลน์จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจ ว่าจะสามารถยกประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเหล่านี้ ขึ้นสู่โลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร

“หนึ่งคือ คำอธิบายสินค้า สอง การตอบแชท เราเอาใจใส่เรื่องนี้มาก เพราะเป็นช่องทางที่จะถ่ายทอดความเป็นสมใจให้ลูกค้าได้เห็น และสุดท้ายที่น่าประทับใจที่สุดคือ การแพ็กของส่ง ส่งเร็ว และห่ออย่างดี จะสั่งเล็กน้อยกี่บาท เราห่อเหมือนกันหมด เราเคยลองสั่งของแล้วคิดเลยว่า แย่ละ กำไรหมดแล้วเนี่ย” ทายาทรุ่นสามหัวเราะ

ยอดออเดอร์ออนไลน์ที่น้อยที่สุดคือ 20 – 30 บาท 90 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้าเก่าที่กลับมาซื้อซ้ำ แสดงให้เห็นว่าความพยายามที่อยากสร้างประสบการณ์แบบสมใจบนโลกออนไลน์น่าจะสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง

คุยกับทายาทร้านสมใจ เมื่อร้านเครื่องเขียน-อุปกรณ์ศิลปะเก่าแก่ ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่และออนไลน์ โดยยังครองใจคนทุกวัย
คุยกับทายาทร้านสมใจ เมื่อร้านเครื่องเขียน-อุปกรณ์ศิลปะเก่าแก่ ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่และออนไลน์ โดยยังครองใจคนทุกวัย
คุยกับทายาทร้านสมใจ เมื่อร้านเครื่องเขียน-อุปกรณ์ศิลปะเก่าแก่ ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่และออนไลน์ โดยยังครองใจคนทุกวัย

บริหารโดยครอบครัว… และมืออาชีพ

ทายาทรุ่นสามบริหารสมใจร่วมกับทายาทรุ่นสองมาตั้งแต่ต้น

รุ่นสามเป็นหน่วยค้นคว้า ค้นหาวิธีการและโซลูชันใหม่ ๆ

รุ่นสองใช้ประสบการณ์ยาวนานที่มี ตัดสินใจอนุมัติ

ช่วงแรกมีปัญหาเยอะมาก เพราะมุมมองไม่เหมือนกัน แต่โชคดีที่รุ่นสองรับฟังเหตุผลเสมอ สำคัญคือคนรุ่นเก่ายอมรับว่ามีบางเรื่องที่ตัวเองไม่รู้เท่าทัน และคนรุ่นใหม่ก็ไม่มั่นใจเพราะประสบการณ์น้อย พอลดอีโก้ลงมา ก็ร่วมกันหาทางออกได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น พร้อมแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน ไม่ซ้อนทับกัน

“ธุรกิจจะตายไม่ตาย อยู่ที่ครอบครัวชัดเจนเพียงพอหรือเปล่า เราใส่หมวกหลายใบ เถียงกันในที่ประชุมเสร็จ กลับไปต้องทานข้าวพร้อมหน้า บางครั้งเราต้องพูดคะ ขา ในที่ประชุม ช่วงแรกเขินนะ แต่มันช่วยดึงสติกลับมาว่า นี่เรากำลังทำงานอยู่”

ไม่เพียงเท่านี้ พวกเขายังฉีกกฎธุรกิจครอบครัวแบบเก่า ด้วยการจ้างมืออาชีพเข้ามาทำงานในตำแหน่ง CFO (Chief Financial Officer) เพราะไม่มีสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ เชี่ยวชาญ ช่วยบริหารให้สมใจแข็งแรงและเติบโตได้ต่อไป 

การมีมืออาชีพร่วมทีมยังทำให้การทำงานของสมาชิกครอบครัวต้อง ‘มืออาชีพ’ ไปด้วย

คุยกับทายาทร้านสมใจ เมื่อร้านเครื่องเขียน-อุปกรณ์ศิลปะเก่าแก่ ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่และออนไลน์ โดยยังครองใจคนทุกวัย

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา The Cloud ได้คุยกับ ดร.ปุณณมี สัจจกมล Head of CEO Office ของบริษัท พรเกษม กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้าของสมใจ เขาเล่าว่าในช่วงโควิด-19 ที่พรเกษมต้องปิดคลินิก แล้วเปลี่ยนการจ่ายยาทั้งหมดผ่านการส่งไปรษณีย์ ทำให้ต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่างสำหรับหีบห่อ ซัพพลายเออร์เจ้าเดียวที่หาสินค้าให้ได้ทันเวลาคือสมใจ 

“พี่ใหญ่ (ดร.ปุณณมี) บอกว่า ‘แม้สมใจจะไม่ใช่เจ้าที่ราคาถูกที่สุด แต่เรายืนยันที่จะซื้อจากเขา เพราะวันที่เราเดือดร้อน เขาเป็นคนแรกที่ยื่นมือเข้ามาช่วย’”

ตาลอมยิ้มหลังเล่าเล่าเรื่องพี่ใหญ่จบ สำหรับสมใจแล้ว ความสัมพันธ์กับคู่ค้าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ แน่นแฟ้นตั้งแต่รุ่นคุณยาย คือการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ลูกเรียนจบหรือยัง ภรรยาเป็นอย่างไรบ้าง คือมื้ออาหารในวันสำคัญหลายมื้อ คืออีกครอบครัวที่ต้องดูแลกัน

สินค้าทั้งหมด 20,000 รายการ รายชื่อคู่ค้าที่สั่งสินค้าทุกสัปดาห์มากกว่า 50 เจ้า การดูแลความสัมพันธ์ในยุคสมัยของทายาทรุ่นสามก็แตกต่างออกไป 

มิตรภาพยังอยู่ แต่สิ่งที่เพิ่มมาคือความร่วมมือทางธุรกิจที่ต้องได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เธอบอกว่าสิ่งสำคัญคือ การเข้าใจสถานการณ์ของอีกฝ่าย เอาใจเขามาใส่ใจเรา และประเมินสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยความเป็นกลาง หากมีข้อมูลที่แลกเปลี่ยนเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้ก็ช่วยกัน เช่น ข้อมูลการขายสินค้าที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้า เป็นต้น

กฎ 5 ข้อที่ตาลยึดถือในการรับช่วงต่อคู่ค้า คือ ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ สนับสนุนซึ่งกันและกัน มีความเข้าใจ ช่างสังเกต ไปจนถึงรวดเร็วและแข็งแรง 

สมใจ

ทายาทรุ่นสามที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสมใจ ย้อนนึกไปถึงวันแรกที่เริ่มทำงาน

จากตำแหน่งนักวิเคราะห์ที่ American Express สหรัฐอเมริกา ทำงานท่ามกลางซูเปอร์สตาร์ใน Top Tier ของสายงานต่าง ๆ การทำงานธุรกิจที่บ้านต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

แต่นี่คือการผจญภัยบนเส้นทางที่ตาลและ ‘สมใจ’ ไม่เคยเดินมาก่อน 

เธอเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในทุก ๆ วัน และถ้าวันหนึ่งถึงเส้นชัยของตัวเอง หรือไม่สามารถมอบอะไรให้ธุรกิจต่อไปอีกแล้ว ก็พร้อมไปทำงานอย่างอื่น 

“เราพยายามทำให้ตำแหน่ง CMO (Chief Marketing Officer) ของเราเป็นกลาง เป็นแค่ตำแหน่งหนึ่ง ไม่ใช่เจ้าของและไม่ใช่ตัวเรา เป็นตำแหน่งที่ใครก็สามารถรับช่วงต่อได้ 

“วันหนึ่งก็ต้องมีคนรุ่นใหม่เข้ามา เราคุยสิ่งเดียวกันนี้กับครอบครัวด้วย เพื่อถ้าวันหนึ่งเกิดใครคนไหนไม่พร้อมทำต่อ มีภาระหน้าที่ หรือมีทางเลือกที่ดีกว่ากับตัวเองและครอบครัว เราต่างจะได้ขยับออกมาได้”

คุยกับทายาทร้านสมใจ เมื่อร้านเครื่องเขียน-อุปกรณ์ศิลปะเก่าแก่ ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่และออนไลน์ โดยยังครองใจคนทุกวัย

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล