สมบัติเพิ่มพูนแกลเลอรี ก่อตั้งโดย คุณสมบัติ วัฒนไทย
ปีนี้แกลเลอรีอายุ 45 ปี ส่วนกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งอายุ 72 ปี
สมบัติเพิ่มพูนเป็นแกลเลอรีเชิงพาณิชย์ผู้บุกเบิกธุรกิจแกลเลอรีมาตั้งแต่ยุคที่ลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ ด้วยขนาดอาคาร 6 ชั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ 1 ไร่ในสุขุมวิท ซอย 1 และสะสมงานศิลปะไว้กว่าพันชิ้น น่าจะถือได้ว่าเป็นแกลเลอรีเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ชั้น 6 เป็นที่เก็บสต็อกภาพ ชั้น 5 เป็นที่แสดงภาพหายากของศิลปินชั้นครูมากมาย เช่น ภาพวาดสีของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ภาพวาดในวัยหนุ่มของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ภาพวาดยุคจักรวาลของ อาจารย์ประเทือง เอมเจริญ และภาพสเกตช์ของ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์
ชั้น 1 – 4 เป็นพื้นที่ขายงานของศิลปินชื่อดังมากมาย รวมถึงภาพของนักวาดที่ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักพัน ที่นี่จึงเป็นตัวเลือกแรกเมื่อคนอยากหาซื้อภาพไปประดับบ้านหรือมอบเป็นของขวัญ โดยเฉพาะในกลุ่มของคนต่างชาติ
สมบัติเพิ่มพูนแกลเลอรีเน้นขายภาพที่ทุกคนเอาไปแขวนประดับได้จริงในชีวิตประจำวัน บางครั้งลดราคาเหลือหลักร้อย จนได้เห็นสาวยาคูลท์ซื้อภาพวาดกลับไปประดับบ้าน
อีกหนึ่งความพิเศษ คือการซื้อภาพจากศิลปินและนักวาดชุดใหญ่ โดยการซื้อขาดและจ่ายเงินสด เพื่อให้ศิลปินมีเงินก้อนไปใช้ ที่นี่จึงเปรียบเหมือนอีกหนึ่งลมใต้ปีกที่ช่วยประคับประคองศิลปินและวงการศิลปะไทย
คุณสมบัติเกิด พ.ศ. 2495 ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ในครอบครัวคนจีน เตี่ยเสียชีวิตตั้งแต่เธออายุ 5 ขวบ ตอนอายุ 14 แม่จึงพาเธอและพี่สาว 4 คนมาอยู่กรุงเทพฯ แถวซอยกิ่งเพชร ขายบัวลอยไข่หวาน เธอเรียนจบมัธยมปลายด้วยการสอบ กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน)
อายุ 18 สมัครเป็นพนักงานขายที่เซ็นทรัลวังบูรพา (ตามคำแนะนำของ คุณประทีป เลิศหัตถศิลป์ แฟนหนุ่มที่เคยเขียนป้ายโฆษณาให้ห้างแห่งนี้) แล้วได้เลื่อนขั้นเป็นแคชเชียร์
อายุ 21 แต่งงานกับคุณประทีป ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าของ บริษัท โฟร์อาร์ต(1994) จำกัด ธุรกิจป้ายและโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ พวกเขามีทายาท 4 คน ซึ่งนอกจากเลี้ยงลูกแล้ว คุณสมบัติก็ยังมาช่วยกิจการของสามีในทุกขั้นตอน
อายุ 27 เธอเอาไอเดียของสามีมาสานต่อจนเปิดเป็นโฟร์อาร์ตแกลเลอรี แกลเลอรีแห่งแรกของตัวเองบนถนนสีลม เมื่อ พ.ศ. 2522 แล้วขยายสาขาไปอีกหลายแห่ง มีทั้งประทีปแกลเลอรี ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์, โฟร์อาร์ตแกลเลอรี ที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ แล้วเปลี่ยนมาใช้ชื่อ สมบัติแกลเลอรี ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โรงแรมดุสิตธานี โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรมปาร์คนายเลิศ เดอะ พรอมานาด
สุดท้ายก็ปิดทั้ง 8 สาขามาเปิดรวมกันในชื่อ ‘สมบัติเพิ่มพูนแกลเลอรี’ ที่สุขุมวิทซอย 1 ใน พ.ศ. 2538 เมื่อเธออายุได้ 43 ปี
เมื่อต้องค้าขายกับชาวต่างชาติ เธอก็ลงเรียนภาษาอังกฤษที่แบร์ลิทซ์ (Berlitz Language Center)
เมื่อได้เห็นวิธีเลี้ยงลูกของลูกค้าชาวต่างชาติที่โรงแรมดุสิตธานีที่สอนให้เด็กมีเหตุผล ไม่ตามใจจนเคยตัว เธอก็เอาวิธีการนั้นมาสอนลูก
เมื่อเห็นว่าความรู้ที่ผ่านมาทั้งชีวิตกระจัดกระจาย เธอจึงเรียนปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในวัย 50 กว่า เมื่อสามีเสียชีวิต เธอก็เรียนปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเดิม ในวัย 67 ปี
แม้ว่าจะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เมื่อเธอกลับบ้าน เธอก็ยินดีที่จะเป็นแม่บ้านคนหนึ่งที่ดูแลให้ทุกคนมีความสุข
ตอนนี้เธอเตรียมส่งมอบสมบัติเพิ่มพูนแกลเลอรีให้กับลูกสาว เจ-ปนัดดา เลิศหัตถศิลป์ ผู้จัดการแกลเลอรีที่เรียนจบปริญญาโทด้าน Arts and Cultural Management จาก Pratt Institute สหรัฐอเมริกา และเป็นภรรยาของ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์
ลูกสาวและลูกเขยต่างยืนยันว่า ผมควรได้คุยกับคุณแม่ของพวกเขาสักครั้ง เพราะชีวิตของผู้หญิงวัย 72 คนนี้มันมาก!
คุณสนใจศิลปะตั้งแต่เด็กเลยไหม
เราเป็นคนที่ชอบเรื่องสี เรื่องการแต่งตัว ความเข้าใจสีนี่สำคัญนะ ตอนแฟนเขียนป้ายหนัง เรายังบอกเลยว่ามันจืดไปหรือเปล่า ต้องเข้มหน่อย เพราะอยู่กลางแจ้ง แล้วเราก็มาเรียนรู้มากขึ้นที่โรงงานบริษัทโฟร์อาร์ตซึ่งอยู่ติดกับบ้าน เรามีลูก 4 คน เลี้ยงลูกไปด้วย ดูแลบ้านไปด้วย แล้วก็ช่วยงานสามีไปด้วย อาจจะเป็นคนที่ชอบเรื่องสีอยู่แล้วเลยเรียนรู้เร็ว
สามีของคุณเริ่มต้นจากการเป็นช่างเขียนป้าย กลายมาเป็นเจ้าของบริษัทได้ยังไง
เริ่มจากเขียนป้ายอยู่ชั้น 2 โรงหนังเฉลิมไทย อยู่ในเครือพีรามิด (Apex) ตั้งแต่ยุคของ คุณซัว (พิสิฐ ตันสัจจา) พ่อของ คุณโต้ง (กัมพล ตันสัจจา) ตอนนั้นคุณโต้งยังเรียนอยู่เมืองนอก เขาเรียนวาดจาก เปี๊ยก โปสเตอร์ ที่วาดอยู่ด้วยกัน จน เปี๊ยก โปสเตอร์ ไปเอาดีทางการทำหนัง เขาเขียนภาพให้โรงหนังในเครือพีรามิด คุณซัวให้อยู่ที่ชั้น 2 หลังเฉลิมไทยไม่คิดค่าเช่า แล้วก็ให้เงินซื้อสี เขาสนับสนุนเพราะเห็นแฟนฝีมือดี สนับสนุนให้เป็นเถ้าแก่ เปิดบริษัทโฟร์อาร์ต พอทุบเฉลิมไทยก็ย้ายโรงงานไปอยู่ข้างบ้านที่จรัญฯ เขียนป้ายโฆษณาหนัง โฆษณาสินค้า บ้านจัดสรรที่เชียงใหม่ก็เขียน พอลูกชายคนเล็ก (ปิติ เลิศหัตถศิลป์) เรียนจบภูมิสถาปัตยกรรมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาก็มาช่วยพ่อเปลี่ยนเป็นเครื่องอิงก์เจ็ต นับถึงตอนนี้ก็เปิดบริษัทมา 50 กว่าปีแล้ว แฟนเพิ่งเสียไปเมื่อ 5 – 6 ปีนี้เอง
ทำไมถึงอยากทำแกลเลอรี
เราอยากเป็นตัวของตัวเอง อยากมีรายได้ เราคิดว่ามีโฟร์อาร์ตอยู่แล้ว ถ้าอนาคตเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังมีอีกธุรกิจ เริ่มทำตอนอายุ 20 ปลาย ๆ แกลเลอรีเป็นสิ่งที่แฟนชอบ เมื่อก่อนเราทำงานกับศิลปินเยอะ เขาก็มีแสดงงาน หรือคนงานเขาก็เขียนรูปพอร์เทรตกัน พอแสดงงานเราก็ช่วยซื้อ เรามีรูปอยู่ที่บ้านประมาณหนึ่ง ไม่รู้ว่าจะขายได้ไหม แต่รู้ว่าอยากทำธุรกิจ
สาขาแรกที่สีลม คุณกุ๊ก เพื่อนคุณโต้งเขาเปิดร้านอัดรูปด่วนชั่วโมงเดียวได้ แล้วมีพื้นที่ร้านเหลือ เราก็เอารูป 100 – 200 รูปที่มีไปขาย ทำควบคู่ไปกับงานที่บ้านได้ เราเคยเป็นคนทำงานมาก่อน ก็ไม่อยากอยู่บ้านเฉย ๆ ร้านแรกเราออกมาขายสัปดาห์ละ 2 – 3 วัน แล้วก็จ้างคนขาย พอออกมาทำแล้วก็เริ่มไปเซ้งที่เปิดร้านตามโรงแรม จนอายุ 30 มาเปิดร้านที่ริเวอร์ซิตี้ ก็ออกมาขายเองเต็มตัว
ร้านสาขาแรกขายดีไหม
พอได้ มาขายดีตอนเข้าไปเปิดร้านในโรงแรม เพราะมีลูกค้าพร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องโฆษณา เปิดปุ๊บขายได้ทันที เป็นลูกค้าต่างชาติ 70 คนไทย 30 เปิดไปได้สัก 20 – 30 ปี ก็กลายมาเป็นคนไทย 70 ต่างชาติ 30 สาขาที่ขายดีสุดคือโรงแรมดุสิตธานี กับ เดอะ พรอมานาด
คุณขายแบบไหนลูกค้าถึงชอบซื้อรูปกับคุณ ไม่ยอมซื้อกับพนักงานคนอื่น
ตอนแรกเป็นร้านเล็ก ๆ คนคงชอบคุยกับเรา ซึ่งเราไม่ได้เล่าอะไรมากนะ รูปที่ใช่ ซื้อขายกันไม่ถึง 5 นาทีก็เสร็จ ที่เหลือคุยเรื่องอื่น สมัยก่อนเราแรงนะ ขายรูปละ 500 บาท ใครชอบ คุยใหญ่เลย ใครเดินเข้ามาแล้วดูถูกรูป เราเดินหนีไม่คุยเลย แต่ที่สมบัติเพิ่มพูนฯ เราอยากให้รูปขายได้ด้วยตัวเองมากกว่า ใครอยู่ก็ขายได้
ลูกค้าคนต่างชาติเลือกซื้อจากรูปหรือชื่อของศิลปิน
ฝรั่งเขาดูศิลปะออกนะ เขาชอบรูปนี้ เห็นสี เห็นรูปแบบเขาก็ชอบ แต่เขาไม่รู้หรอกว่าศิลปินคนนี้ดังหรือไม่ดัง ประวัติเป็นยังไง
แล้วทำไมต้องทุ่มเงินซื้อรูปของศิลปินไทยดัง ๆ เข้าร้าน อย่างรูปของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
เราซื้อรูปอาจารย์ถวัลย์ตอนเปิดร้านที่โรงแรมดุสิตธานี ลองไปถามภรรยาอาจารย์ถวัลย์ (ทิพย์ชาติ วรรณกุล) ได้เลย เช็คใบแรกในชีวิตเขามาจากเรา ที่กล้าซื้อรูปอาจารย์ถวัลย์เนี่ย ตอนแรกไม่คิดว่าจะขายได้นะ เมื่อก่อนการสื่อสารกับศิลปินยาก ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่รู้ว่าใครอยู่จังหวัดไหน ซอยไหน เราก็หาไม่เจอ แต่อาจารย์ถวัลย์เป็นปรมาจารย์ของพวกศิลปินทั้งหลาย เราคิดว่าถ้าซื้อรูปอาจารย์ถวัลย์ เดี๋ยวคนอื่นก็จะตามมาเอง
ทำไมตอนนั้นถึงคิดว่ารูปอาจารย์ถวัลย์จะขายไม่ได้
ย้อนไปเมื่อ 40 ปีก่อน คนไทยไม่ได้สะสมรูป ฝรั่งก็ไม่ซื้อรูปใหญ่ขนาดนั้น เขาชอบรูปแนววัฒนธรรมไทยหรือวิว แต่อาจารย์ถวัลย์วาดเกี่ยวกับพลัง กล้ามเนื้อ มันน่าจะขายยาก
รอบแรกซื้อมากี่รูป
5 รูป 10 รูปมั้ง ไม่ค่อยซื้อรูปเดียวนะ ยิ่งศิลปินธรรมดาเนี่ย มาทีละเป็นสิบรูป
จำราคาที่ซื้อมาได้ไหม
ยุคนั้นอาจารย์ถวัลย์แพงแล้วนะ รูปหนึ่งก็หลายแสน แต่ต้องมีหลาย ๆ รูป แขวนให้ดูหลากหลาย เราชอบดูรูปด้วย เหมือนแขวนไว้ดู แต่ที่คิดว่าจะขายไม่ได้กลับขายดี เราเลยซื้ออาจารย์ถวัลย์มาเรื่อย ๆ
คุณเลยสนิทกับอาจารย์ถวัลย์มาก
เรารู้จักกันตั้งแต่เราอายุ 20 ปลาย อาจารย์ 30 ต้น ๆ เราคบกันมานานเหมือนครอบครัวเดียวกัน แต่ไม่ได้สนิทกันมาก มีระยะห่าง เพราะเขาต้องมีเวลาไปเขียนรูป เราก็ไม่ได้ขายแค่ศิลปินคนเดียว แยกย้ายกันทำงาน พอเราต้องการงานเขา หรือเขาอยากให้เราไปดูงานเขาก็เรียกเราไป เราจะไม่ใช่แบบ ขายได้รูปหนึ่งแล้วรีบไปซื้ออีกรูปมาขาย
เขาจะชวนเราไปดูรูปที่บ้านนวธานี ครั้งสุดท้ายเขาโทรมาถามว่าจะซื้อรูปไหม เราก็ไปเจอ เขาเชียร์รูปโน้นรูปนี้ เราซื้อมา 20 กว่ารูป พอกลับมาสักพักก็ได้ข่าวว่าเขาเป็นมะเร็งแล้วก็เสีย เราก็ซึ้งใจที่เขายังคิดถึงเพื่อนเก่า อยากให้ไปเก็บงาน มันเลยมีคุณค่าทางจิตใจมาก เป็นภาพช่วงท้ายของอาจารย์ถวัลย์ที่สมบูรณ์มาก ราคาสูงมาก เราเก็บไว้เป็นปีไม่ตั้งราคาขาย เพราะมันมีความหมายมาก
ถึงจะรู้จักกับศิลปินทั่วไทย แต่แกลเลอรีคุณก็ไม่รับหารูปให้ลูกค้า
ไม่ได้รับ เราอยากให้คุณมาดูรูปที่เรามีที่นี่ บางคนดูเสร็จอาจจะกลับไปซื้อตรงกับศิลปิน หรือซื้อกับคนอื่นก็ไม่เป็นไร เราให้บริการแบบนี้
พอคุณซื้อรูปของอาจารย์ถวัลย์ชุดแรกเข้าร้าน แล้วช่วยให้เข้าถึงศิลปินไทยคนอื่น ๆ ง่ายขึ้นอย่างที่คิดไหม
ก็มากันนะ เราอยากให้มีศิลปินหลากหลาย เมื่อก่อนเรามีงานของศิลปิน 200 กว่าคน ทั้งมีชื่อไม่มีชื่อ บางทีซื้อมาตอนไม่มีชื่อ วางทับ ๆ ไว้ หลาย ๆ ปี เปิดมาอีกที เอ้า เป็นศิลปินดังไปแล้ว สมัยก่อนอาจารย์ศิลปากรเขาต้องเรียนปริญญาโท ต้องแต่งงาน ต้องซื้อบ้าน เขาก็เขียนรูปมาขายเรา เราก็ซื้อ แล้วก็ไม่ใช่คนเดียวไง บางคนเรียนจบแสดงงาน ก็เชิญเราไปซื้อ แฟนเราก็ซื้อ ซื้อกัน 2 คน คิดดูจะเอาของไปไว้ที่ไหน บางคนเอามาส่งทีละ 10 – 20 รูป สต็อกมันเลยเต็มไปหมด
แกลเลอรีคุณขึ้นชื่อเรื่องการซื้อขาดรูปจากศิลปิน เอารูปมาส่ง รับเงินสดกลับไปเลย คุณตั้งใจแบบนั้น
เป็นความตั้งใจ เวลาไหว้พระไหว้เจ้า เราคิดว่าจะสนับสนุนศิลปินไทย จะค่อย ๆ คืนให้สังคม ถ้าเราซื้อรูปเขาน้อย ๆ เขาก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าซื้อหลาย ๆ รูป เขาได้เงินก้อนก็เอาไปทำอะไรได้ เราต้องเป็นเหมือนศาลาพักร้อน ต้องถือเงินสดไว้ ใครร้อนมา ถ้าโอเคอยู่ จะไปขายตรงหรือขายใครก็ไป เราเลยไม่ค่อยมีเรื่องบาดหมางกับศิลปิน
ทุกวันนี้ยังมีศิลปินขนรูปมาขายอยู่ไหม
ที่เล่าเป็นเรื่องในอดีตนะ ตอนนี้ไม่ได้เยอะแบบนั้นแล้ว ที่บอกว่าเรากล้าซื้อ หมายถึงซื้อจากศิลปินประจำที่ซื้อกันยู่แล้ว เพียงแต่เขามาขายเพิ่มให้เรา ไม่ใช่ว่าเขียนไม่ดีเราก็ซื้อ ตอนอยู่ที่โรงแรมดุสิตธานี มีเด็กที่เพิ่งเริ่มเรียนศิลปากร เพาะช่าง เขียนรูปบนกระดานเอามาขาย เขาอยากได้ค่าหอ ค่าเทอมอะไรก็ว่าไป แต่วาดบนกระดาษมันผุง่าย เราก็บอกว่า เธอเอาเงินไป แล้วก็เอารูปกลับไปด้วย ค่อยเขียนรูปมาใหม่
คุณได้อะไรจากการอุปการะศิลปินไทย
เรียกอุปการะก็ไม่ถูกนะ มันเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ในแง่หนึ่งเขาก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องเขียนผลงานให้ดี เพียงแต่เราจ่ายเงินสดแล้วก็พูดง่าย เราไม่เคยบอกว่า ฉันไม่มีเงินแล้ว ฉันไม่ซื้อ
เคยมีวันที่คุณไม่มีเงินสดเหลือสำหรับซื้อรูปด้วยหรือ
ก็ไม่ถึงขั้นไม่มีเงิน แต่บัญชีเดือนนั้นเป็นตัวแดงไง เราต้องใช้เงิน OD (Overdraft – เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี) ซึ่งเราต้องเสียดอกเบี้ย เราไม่ได้คิดว่าเสียดอกเบี้ยไปซื้องานเขา มันเป็นเรื่องหลังบ้านที่เราต้องจัดการเอง อย่างตอนซื้อรูปอาจารย์ถวัลย์ เราไม่มีเงินสด เราก็ไม่ได้บอกใครนะ เราไปเอาเงินสำรองที่ฝากประจำไว้ ปิดบัญชีให้หมดเลย เอามาจ่ายค่ารูป
ตอนนี้คุณมีสต็อกรูปอยู่มากแค่ไหน
รวมรูปเล็กรูปน้อยด้วยก็เป็นหลักพันรูป ขายลดราคาทิ้งไปเยอะแล้วด้วยนะ ซื้อขายรูปกันมันก็ต้องยื่นหมูยื่นแมว ได้รูปเขามาเราก็ต้องให้เงิน ศิลปินเขาเขียนรูปอย่างเดียว กว่าเขาจะเขียนเสร็จแต่ละรูป แต่เรายังขายรูป ยังมีโฟร์อาร์ต เราต้องนึกถึงเขาก่อน ถ้าขายคนนี้ไม่ได้ เดี๋ยวก็ขายคนนู้นได้ แล้วเราก็ไม่ต้องไปบอกเรื่องนี้กับเขา เขาจะได้ภูมิใจ ไม่ใช่ให้เงินแบบที่เขารู้สึกไร้เกียรติ ต้องทำให้เขาภูมิใจที่ได้รับเงินจากการขายรูปให้เรา เรามีทัศนคติแบบนี้
จุดเปลี่ยนสำคัญของคุณคือการซื้อตึก 6 ชั้นในพื้นที่ถึง 1 ไร่บนสุขุมวิทซอย 1 มาทำแกลเลอรี
เราเคยคุยกับ คุณวินัย พงศธร ซึ่งเป็นลูกค้าของเราตั้งแต่เราอายุ 30 กว่าว่า อยากมีตึกของตัวเอง เวลาผ่านไป เขาจะขายตึกนี้ เราก็มีลูกค้าเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินเยอะเลยไปขอกู้กับลูกค้ามาซื้อตึกจากลูกค้า (หัวเราะ) เรารู้แล้วว่าเขาจะให้กู้ 100 ล้าน ก็ไปคุยกับคุณวินัย เขาเปิดมา 140 ล้าน เราต่อเขาจนมาจบที่ 92 ล้าน มันก็ยังเหลือเงินไว้ตกแต่งภายในอีก 8 ล้าน แต่เราดันซื่อ ไปคุยกับธนาคารว่า ต่อราคาได้แล้ว ตกลงกันที่ 92 ล้าน เขาเลยบอกว่า งั้นธนาคารให้กู้ 92 ล้านนะ จะได้ไม่น่าเกลียด เลยต้องหาเงินมาตกแต่งเอง ค่อย ๆ ทำทีละชั้น ถ้าไม่บอกก็ได้มา 100 ล้านแล้ว (หัวเราะ)
พอเปิดแกลเลอรีใน พ.ศ. 2538 มันเปลี่ยนชีวิตคุณไปยังไง
ตอนนั้นที่พรอมานาดก็ขายดีนะ ฐานลูกค้าเราอยู่ตามโรงแรม ที่นี่เราเปิดทีละชั้น ยอดมันยังน้อยอยู่ ตัวเราก็ต้องมาอยู่ที่นี่ ต้องปิดร้านอื่น ๆ เพื่อนเขาก็ห่วงกัน เราก็ไม่เข้าใจ สักพักก็เข้าใจว่า อ๋อ ภาระมันเยอะเหมือนกัน
แต่คุณก็พาสมบัติเพิ่มพูนแกลเลอรีผ่านมาได้ทุกวิกฤต
ยากนะ แต่ก็ผ่านมาได้ ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งก็หนัก ถ้ารวมร้านตามโรงแรมด้วยก็เจอวิกฤตทางการเมืองมากมาย แต่เราได้ไปขายงานแฟร์ที่บรูไนด้วย ก็ได้เงินมาช่วยหมุน
ทำไมเมืองไทยไม่มีแกลเลอรีใหญ่ขนาดนี้
ไม่จำเป็นต้องทำใหญ่ขนาดนี้ แต่เราทำเพราะมีรูปเยอะ มันเป็นธุรกิจที่ดูเหมือนกำไรต่อรูปเยอะนะ ถ้าตึกใหญ่ขนาดนี้ รูปน้อย ๆ แขวนไปก็หายหมด ถ้าต้องซื้อรูปมาใส่ให้เต็มทั้งตึกไม่รู้ 500 ล้านจะพอหรือเปล่า แต่เรามีรูปเป็นต้นทุนอยู่แล้ว ถึงจะซื้อใหม่ก็ไม่ได้เยอะ
แกลเลอรีที่ขายงานศิลปะแบบคุณดูจะได้รับการยอมรับน้อยกว่าแกลเลอรีที่แสดงงานของศิลปินไหม
ได้รับการยอมรับมากกว่า แต่เปิดแล้วก็ปิดนะ แต่ของเราลองไปดูสิ มีทั้งคนซื้อไปแต่งบ้าน ซื้อไปเป็นของขวัญของฝาก รายได้พวกนี้เราก็เอามาซื้อรูปแพง ๆ ของศิลปิน ถ้าคุณอยากขายรูปแพงอย่างเดียว แล้วจะไม่ช่วยศิลปินเล็ก ๆ เหรอ
หลักเลือกซื้อรูปเข้าร้านของคุณคืออะไร
ถ้าเป็นรูปของกลุ่ม Painter ต้องดูสีก่อนแล้วค่อยดูเนื้อเรื่อง ความเข้าใจสีต้องมีนะ ไม่ใช่สีเน่า ๆ หรือสีโดด ๆ สีต้องมีความกลมกลืน ถึงจะมีเสน่ห์ สีดีแล้วถ้าเขียนแบบไม่มีมิติ แบนไปก็ไม่สวย แล้วค่อยมาดูเนื้อเรื่อง แล้วเราก็มาเลือกกรอบให้เข้ากับรูป แต่เราเปลี่ยนกรอบรูปให้เข้ากับบ้านลูกค้าได้
คุณค่าของรูปวาดของ Painter คืออะไร
ราคาถูกไม่ได้หมายความว่าไม่สวย บางรูปของศิลปินที่ราคาสูง ๆ เขียน 2 ขีดให้จินตนาการ แต่ภาพของ Painter เป็นเรื่องราวที่มีอยู่จริง วัด ตลาดน้ำ ไม่ต้องอธิบายเยอะ เพียงแต่เขาอาจเขียนหลายรูปเป็นแมส เดือนหนึ่งเขียนหลายรูป เราก็ต้องให้คุณค่าเขา
ที่นี่ไม่ค่อยมีภาพแนวฮวงจุ้ยหรือแนวพุทธศิลป์ปิดทองแบบที่เห็นขายตามแหล่งท่องเที่ยว หรือขายหมดแล้ว
เรารู้จักศิลปินเยอะ มีลูกค้าก็เยอะ ถ้าเราซื้อรูปที่ลูกค้าชอบ แล้วขายไม่หมด เราก็ต้องนั่งดูรูปที่เหลือ ถ้าซื้อรูปที่เราชอบ ไม่ซื้อไม่ขายเราก็เดินดูของเราได้ รูปทั้งหมดจึงเป็นรูปที่เราชอบ เราไม่ใช่นักธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ใช่ศิลปินร้อยเปอร์เซ็นต์ มันต้องผสมผสานกัน
เวลามีลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาในร้าน คุณจะแนะนำให้เขาซื้อรูปอย่างไร
ช่วง พ.ศ. 2536 – 2538 ตลาดหุ้นบูมมาก มีนักลงทุนมาซื้อรูปเยอะมาก ตอนโควิดช่วงแรกมีคนมาซื้อรูปเยอะเลย เราแนะนำให้เขาซื้อรูปตามกำลัง ให้ซื้อรูปที่ชอบ บางห้องไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแพงก็ได้ ถ้าซื้อเพื่อเก็งกำไรอาจจะผิดหวัง แต่ถ้าซื้อรูปที่ชอบไปดูจะไม่ผิดหวัง บางคนซื้อรูปธรรมดาไปแต่งบ้าน กลายเป็นความชอบ กลับมาเดินดูเริ่มเห็นความแตกต่างของฝีมือศิลปิน ก็เริ่มซื้อภาพของศิลปินที่ราคาแพงขึ้น
รูปที่แพงที่สุดในร้านของคุณราคาเท่าไหร่
ถ้าขายได้แล้วก็ 10 กว่าล้าน เรายังไม่มีรูปที่ขายได้ร้อยล้านแบบที่เขาประมูลกันนะ ราคาขายตั้งเท่าไหร่ก็ได้ แต่จะขายได้จริงไหมไม่รู้ ถ้าเอาราคาที่เราตั้งไว้ร้อยล้านก็มี แต่ยังไม่ได้ขายนะ
คนที่ซื้อรูปแพง ๆ ที่หายากมาก ๆ ไป เขาเอาไปเก็บไว้ในเซฟหรือแขวนโชว์ในบ้าน
เอาไปแขวนบ้านก็มี เขาก็มีมุมที่เหมาะจะติด การติดรูปสำคัญนะ ต้องดูรูปข้าง ๆ ด้วย จะรูปแพงรูปสวยยังไง ถ้าติดแล้วไม่ส่งเสริมกัน มันก็ดูดกัน ทำให้ไม่เด่น แต่คนที่ซื้อรูปไว้รอราคาขึ้น แขวนไปแล้วมันก็อาจจะไม่ใช่รูปที่ทุกคนในครอบครัวชอบนะ
ยุคนี้บางทีพ่อแม่ที่เคยซื้อรูปจากเราไปเสียชีวิต รุ่นลูกก็เอากลับมาขายเรา เราก็ช่วยซื้อ เปลี่ยนกันไปเปลี่ยนกันมา
ยุคนี้งานศิลปะพัฒนาไปไกลมาก มีสื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไปจนถึง NFT สมบัติเพิ่มพูนฯ ต้องปรับตัวตามไหม
บางกลุ่มก็ชอบรูปที่โมเดิร์นมาก ๆ เราก็มีบริษัทศูนย์สองของลูกเขยกับลูกสาว ทำงานพวกกราฟิกดีไซน์ เห็นรูปพวกนั้นจนชินแล้ว เราบอกเจว่าคนอื่นเขาฉีกไปไหนไกลแสนไกล หรืออาจจะขายได้แพงแสนแพง เราขอให้แกลเลอรีของเราเป็นสักที่หนึ่งได้ไหมที่ยังเป็นงานแฮนด์เมด เป็นภาพที่เล่าเรื่องเมืองไทย ยืนพื้นแบบนี้จะได้ไม่วอกแวก ฉันจะขายของฉันแบบนี้ แต่เราก็ปรับปรุงตึก ปรับปรุงรูปแบบนะ ให้มีคาแรกเตอร์สักร้านหนึ่งก็ยังดี
สมบัติเพิ่มพูนฯ ในยุคต่อจากนี้จะเป็นยังไงต่อ
ตอนนี้เราอายุ 72 แล้ว ลูกทุกคนก็ชอบศิลปะ แต่งงานมีครอบครัวกันหมดแล้ว มีฐานะไม่ได้เดือดร้อน ก็บอกเขาว่า ถ้าเราไม่อยู่แล้ว อาจจะขายรูปแค่ 2 ชั้น ที่เหลือทำเป็นออฟฟิศให้เช่า หรือทำอะไรที่สอดคล้องกับศิลปะก็แล้วแต่เขา
คุณมีภาพพอร์เทรตของตัวเองที่ศิลปินหลายคนวาด ยังมีศิลปินคนไหนที่อยากให้วาดอีกไหม
เฉย ๆ นะ เป็นคนที่แล้วแต่โอกาสจะมา ไม่ใช่คนที่ต้องวิ่งไปหาโอกาส ธรรมชาติของเราเป็นแบบนั้น เรารอโอกาสที่เข้ามา แล้วตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือก คนเราเฉือนกันตรงไหนรู้ไหม การตัดสินใจ บางคนรอก่อนค่อยตัดสินใจ โอกาสหายไหม หรือมีโอกาสดีเข้ามาแต่ตัดสินใจไม่ดี มันก็เสียโอกาส
การตัดสินใจครั้งที่ถูกที่สุดในชีวิต
อย่างเราไปทำจิตอาสา เป็นรองประธานสมาคม พอรู้สึกว่าไม่ใช่ ไม่ได้ช่วยเหลือผู้ยากไร้จริง ๆ เราก็ลาออกเลย ไม่ปรึกษาใคร คุณคนก็งง โทรมาถามว่าเป็นไร สำหรับเรา ถ้าไม่ใช่ ตำแหน่งสำคัญแค่ไหนก็ออก ไม่หวงตำแหน่ง
อะไรทำให้คุณตัดสินใจเรียนปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่รามคำแหงตอนอายุ 50 กว่า
ใคร ๆ ก็บอกว่าไม่ต้องเรียนก็ได้ คืออย่างน้อยเราอยากเป็นต้นแบบให้ลูกหลาน เมื่อก่อนเราเดินหน้าลูกตามเรา แต่ตอนนี้พอแก่แล้วให้ลูกขึ้นหน้า การไปเรียนทำให้เราได้เจอเด็ก เลยเข้ากับคนหลายยุคได้ เข้ากับลูกเขย เข้ากับลูกได้
ตอนมีร้านอยู่ที่โรงแรมดุสิตธานี เราเดินผ่านจุฬาฯ ตอนนั้นลูกยังไม่ได้เข้าจุฬาฯ เราไม่เคยมีชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัย เราก็อยากเรียน สุดท้ายลูกได้เรียนก่อน ลูกเรียนจุฬาฯ 2 คน เวลาเรียนเราก็มุมานะเต็มที่ เด็กใช้พลัง 10 เปอร์เซ็นต์ เราต้องใช้ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราจำไม่ได้ไง มันบังคับให้เราต้องอ่านเขียน นิสัยศิลปินก็ขี้เกียจเขียนอยู่แล้ว เราชอบจินตนาการ ชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรามีความรู้กระจัดกระจาย เราเรียนเพื่อให้จับมารวมกัน
ถ้าอยากพิสูจน์ตัวเอง แค่เรียนปริญญาตรีก็น่าจะพอ ไม่ต้องเรียนปริญญาโทก็ได้
ตอนนั้นสามีเสีย ก็ว่าง ลูกก็จะมาโอ๋ เราเลี้ยงลูกให้เป็นตัวของตัวเอง ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่เด็ก ๆ เราเลี้ยงลูกเพื่อให้เขาแต่งงานออกไปดูแลครอบครัวของเขา ไม่ต้องกลับมาดูแลเรา ไม่อยากเป็นภาระให้ใคร นิสัยคนจีนมั้ง เพราะเราก็อยู่ดูแลครอบครัวสามี
เราก็อยากออกไปหาอะไรทำ เลือกเรียนปริญญาโทตอนอายุ 67 เรียนจบตอนอายุ 69 ตื่นตี 5 อาบน้ำแต่งตัว นั่งรถจากจรัญสนิทวงศ์ไปเรียนรามฯ ทุกเช้า เรียนด้วยความภูมิใจนะ เรารู้สึกว่าไม่เหมือนมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วไป คนถามว่าแก่แล้วจะเรียนทำไม ทำไมไม่ไปเที่ยวล่ะ เราอยากให้มีอะไรทำในชีวิตประจำวันไง ตอนเรียนเราก็ไม่หวังพึ่งเด็กนะ เด็กจับกลุ่มติวกันเราก็ไม่ว่าง เขาขอให้เราช่วย เราก็ช่วยทุกเรื่อง แต่เราไม่ให้เขาช่วย ไม่ใช่อีโก้นะ ตอนใกล้จบมีจดหมายจากมหาวิทยาลัยมาเชิญไปรับรางวัลนักศึกษาดีเด่นเป็นตัวแทนของคณะบริหาร ในงานครบรอบ 50 ปีสถาปนามหาวิทยาลัย ภูมิใจมาก
คุณเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ การที่กลับบ้านไปก็ยังต้องทำงานเป็นแม่บ้านดูแลทุกคนในครอบครัว ทำให้คุณรู้สึกอะไรไหม
เราเป็นสะใภ้คนโตของครอบครัวจีน จะทำงานข้างนอกยังไง กลับไปก็ต้องช่วยทำงานที่บ้าน ต้องรีบกลับไปทำอาหารให้แม่ผัว ให้ลูก เราทำอาหารให้คนใช้ด้วย เขาทำไม่เป็น เราเห็นเขากินอร่อยเราก็ดีใจ แต่เดี๋ยวนี้ทำน้อยลงแล้ว ลูก ๆ เขานัดกันมาเยี่ยมเราทุกสัปดาห์ บางทีก็ซื้ออะไรเข้ามากิน เราเห็นมันกระจัดกระจายก็อดทำไม่ได้ อย่างช่วยตรุษจีน สารทจีน ยังไงเราก็ต้องทำ มันเป็นความสุข ความสุขอย่างหนึ่งของเราคือทำให้คนกินอิ่ม
ถ้าชีวิตคุณเป็นภาพวาด จะเป็นสีอะไร
ชีวิตเราไม่ได้สบายนะ เป็นสะใภ้คนโตของครอบครัวคนจีน แม่สามีมาจากเมืองจีน แล้วก็ยังมีพี่น้อง มีลูก 4 คน เราต้องดูแล ขับรถไปจ่ายตลาด หุงข้าว ทำอาหาร เลี้ยงลูก แล้วก็รีบออกมาขายของ มาแกลเลอรี ที่บ้านไม่ได้สนใจเลยว่าเราทำงานได้เงินเท่านั้นเท่านี้นะ เราจะเหนื่อยแค่ไหน ซึ่งก็เป็นเราเองนั่นแหละที่อยากออกจากบ้านมาทำงานเอง กลับบ้านไปถอดชุดก็เป็นคนใช้เหมือนเดิม เราทำได้ทุกอย่าง จากคนทำกับข้าวไม่เป็น ก็ทำอาหาร เลี้ยงลูก ส่งลูกเรียนเมืองนอก คนจีนไม่ให้ลูกเรียนสูง แต่เราไม่คิดแบบนั้น ไปเลย ชีวิตเราทำอะไรเองทุกอย่าง ไม่รู้ว่าตัวเองสีอะไร สงสัยจะเป็นแอบสแตรกต์ที่สีไม่ได้ร้อนแรงมาก เรา
คิดว่าสีที่ร้อนแรงไม่มีเสน่ห์นะ มันต้องมีหนัก มีเบา
แต่ถ้าถามว่าชอบสีไหน ชอบสีขาว เพราะมันว่างเปล่า เราเติมจินตนาการใส่อะไรลงไปก็ได้ คุยแล้วได้อะไรไหมเนี่ย (หัวเราะ) เราเป็นครอบครัวสบาย ๆ เหมือนบ้าน คุณกมลา สุโกศล คือสนุกกับงาน ไม่เครียด ถึงเครียดก็เครียดในความสนุก สนุกในความเครียด ทำงานเหมือนไม่ได้ทำ สุกี้พูดเรื่อยเลยว่า แม่ 2 คนนี้ไม่รู้จักแก่กันสักที (หัวเราะ)