ดินของชั้น
เมื่อเราอยากมีอาหารอร่อยทาน ก็ต้องเริ่มจากวัตถุดิบที่ดี พืชที่จะปลูกก็ต้องมีองค์ประกอบที่ดี เริ่มจากเมล็ดพันธุ์ดี ดินดี น้ำดี เกษตรกรดี วันนี้จะมาเล่าให้ฟังเรื่องดิน ดินในฝันของเกษตรกรสมัครเล่นอย่างผมคือ ต้องเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตเล็กๆ มีการอุ้มน้ำในอัตราที่เหมาะสม นิ่มและร่วน เต็มไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุ มีสีดีและมีกลิ่นดินที่ดี (กลิ่นตอนฝนตก) และไม่มีเมล็ดพันธุ์ของวัชพืชที่เราไม่ต้องการ
ประสบการณ์เกี่ยวกับดินเริ่มจากจะปลูกผักทานเอง ไปซื้อดิน 3 ถุง 100 ขุดหลุมเอาดินปลูกรองก้นเอาต้นอ่อนผักลง รดน้ำทุกวันผ่านไป 2 สัปดาห์ หญ้าวัชพืชสูงแซงผัก ลากเครื่องตัดหญ้ามาเรียบร้อย หญ้ามันลู่ตัวหลบเอ็นตัดหญ้าได้แต่ผักเราไม่หลบ
หญ้ายังอยู่ผักขาด 2 ท่อน (ฮา)
เริ่มต้นใหม่
ถ้าหญ้ามันโตแซงผักเรา รอบนี้เราก็เพิ่มความสูงให้ผัก
แปลงปลูก (Garden Bed) ต้องมา ขึ้นแปลงสูง 1 ฟุต ตอนนี้ก็ตัดหญ้าไม่ต้องห่วงผักละ ตัดไปตัดมาขี้เกียจ ไปดูตัวอย่างจากฟาร์มที่เมืองนอกเห็นรอบๆ แปลงเขาโรยหินกรวด รู้สึกน่าสนใจ

สั่งหินคลุกมาลงแล้วก็ไม่ต้องไล่ถอนวัชพืชอีกเลย แต่ก็พบอีกปัญหาว่า ผักเราสลดเพราะแดดมันกระทบหินแล้วมีไอร้อนจากพื้นขึ้นมา ไร่องุ่นที่ฝรั่งเศสเขาถึงชอบโรยใต้ต้นองุ่น คงเพราะทำให้อุ่นเวลาที่อากาศหนาว ไม่น่าเหมาะกับแดดบ้านเราที่ฆ่าอูฐได้
งานหินเลย ต้องทยอยตักหินออกแล้วปูหญ้านวลน้อยแทน เปลืองน้ำขึ้นหน่อยแต่ถือว่าช่วยทำให้อุณหภูมิรอบรอบแปลงลดลงได้อีกนิดหน่อย ขึ้นแปลงแรกค่าดิน 5,000 บาท
จบกันความฝันที่จะเป็นเกษตรกร
ฤดูถัดไปฉลาดขึ้นมาหน่อย มีวันหนึ่งรถหกล้อขนดินจอดเสียหน้าร้านกาแฟ เลยเดินเอาน้ำเย็นไปให้คนขับ สงสารแดดร้อน ก็นั่งรอช่างเป็นเพื่อนเขา คุยไปคุยมาก็รู้ว่าส่วนมากเขาขนดินถมที่ เลยฝากว่าถ้ามีดินดำให้ทักมานะ ผ่านไป 3 เดือน เขาทักมาว่าพี่เอามั้ย ก็เลยได้ดินดำมา 3 ลำรถ 5,000 บาท
ใส่ได้ 6 แปลง ตกแปลงละ 833 บาท ฉลาดขึ้นแต่เราก็ไม่แน่ใจว่ามีเคมีไหม ตอบได้เลยว่ามีแน่นอน
พักไว้เป็นปี รอว่าเริ่มมีวัชพืชขึ้นมีหนอนมีแมลงก็แปลว่าใช้ได้ แต่พอปลูกผักสัก 3 รอบ พลังงานหมดละ ต้องเติมพลังงานเข้าไปในดิน คือสารอาหารและแร่ธาตุในดิน
ผมตั้งใจเดินเส้นทางที่ไม่ใช้เคมี เลยเริ่มจากขี้วัวเพราะไม่ต้องซื้อ ขอฟาร์มวัวที่เราซื้อนมได้ แปลงผมก็ขุดรอกดินกลางแปลงให้เป็นหลุมยาวตลอดแนวแปลง แล้วก็เอาขี้วัว ใส่ไปแล้วตะล่อมดินกลบ มันจะเป็นกองดินพูน เหมือนเราใส่พลังงานลงไปครับ กองดินเราจะร้อน เช็กอุณหภูมิทุกวัน

ผ่านไป 2 สัปดาห์พอเอามือไปจับกองดินไม่ร้อนแล้ว ผมเกลี่ยดินออก ผมลองมูลสัตว์มาเกือบทุกชนิด แนะนำให้ใช้มูลของวัวกับแพะ มูลจากวัวผักงามสุดแต่วัชพืชก็งามพอสมควร
ของแพะนี่เป็นเม็ดกลมกลมตักง่าย วัชพืชในแปลงน้อยกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฟาร์มที่เราได้มูลสัตว์มา ว่าวัวจากฟาร์มที่ได้มาเขาปล่อยให้ไปเดินเล็มหญ้าเล่นด้วยไหม อาจจะมีเมล็ดหรือดอกหญ้าผสมเยอะ แต่แพะฟาร์มที่ผมได้มูลมามันคงเล็มใบไม้ตามพุ่มเยอะกว่าเล็มหญ้า
ออร์แกนิกมันยากนะครับ ผมไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ทำปุ๋ยคอกเอง ผมยังไม่รู้เลยว่าอาหารวัวกับแพะที่เขากินมันมีสารเคมีไหม แต่ฟาร์มที่ผมใช้ก็มีความเป็นอินทรีย์ระดับหนึ่ง
ตอนนี้ดินค่อนข้างมีความเป็นกรดสูงกว่าปกติ ผมเอาเศษใบไม้ เศษกิ่งไม้ ไปเผาในเตาเผาแบบไร้ควัน เพื่อให้ได้ขี้เถ้าที่มีความเป็นด่างมาผสม เพื่อให้ค่า pH เป็นกลางเหมาะแก่การปลูกพืช ระยะเวลาที่ผมเติมพลังงานกลับเข้าไปจนดินพร้อมปลูกรอบใหม่ ใช้เวลาประมาณเกือบเดือน

ผมเริ่มปลูกผักจนเก็บเกี่ยวใช้เวลา 45 – 60 วัน พักดินและเติมพลังงานกลับเข้าไปในดิน 30 วัน ถ้าผมอยากมีอาหารที่เก็บทานได้ตลอด ก็มีอยู่ 2 ทางเลือก
ใช้เคมีครับ ไม่ต้องรอ เริ่มแปลงใหม่ได้เลย พักดินคืออะไร ปุ๋ยเคมีไม่เข้าใจ ปุ๋ยเคมีคือการเติมพลังงานเข้าไปในพืชโดยตรง เหมือนเป็นทางลัด แต่เคมีไม่ยั่งยืนหรอกครับ มันประหยัดเวลาแต่เปลืองเงิน ทำลายโครงสร้างของดินและสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดิน และสร้างปัญหาในระบบอาหารอีกมากมาย
แต่ถ้าเราอยากเดินทางเกษตรอินทรีย์ เราจะเติมอาหารหรือพลังงานเข้าไปในดิน และให้พืชดึงพลังงานจากดินไปใช้ ผมต้องออกแบบการหมุนเวียนของแปลงผักให้มีช่วงพักดิน ต้องมีอีกแปลงที่สับเหลื่อมการใช้ปลูกได้ตลอด
ทฤษฎีนี้เป็นภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอ ผมเรียนรู้เรื่องนี้จากการไปเก็บน้ำผึ้งป่าที่หมู่บ้านหินลาดใน เขาเรียกระบบนี้ว่าไร่หมุนเวียน แปลงที่เขาพักดินปล่อยให้ธรรมชาติใช้เวลา 7 ปีในการสะสมพลังงานกลับเข้าไปในดินตามกลไกธรรมชาติ ดินถึงดำและนิ่ม ไร่หมุนเวียนตามวงรอบ พอปีที่ 6 เศษใบไม้ใบหญ้า มูลสัตว์ที่ทับถมบนหน้าดินสร้างพลังงานอยู่บนผิวแล้ว แต่ค่า pH ยังไม่เหมาะสม
เรื่องเข้าใจผิดเกิดตรงนี้เลยครับ
บนเขาไม่เหมือนแปลงผัก เขาใช้เตาเผาไร้ควันแล้วเอาขี้เถ้าไปโรยเพื่อปรับค่า pH ไม่ได้ เขาต้องเผาเพื่อปรับ pH
จบเลย
กลายเป็นภาพเดียวกับการเผาซางข้าวโพดบนดอย ซึ่งต่างกันมากนะครับ
ไร่หมุนเวียนของปกาเกอะญอนี่มีการทับถมของใบไม้ใบหญ้ามา 7 ปี ชาร์จพลังในดินมาเต็มที่ แต่ต้องใช้เถ้าเพื่อปรับค่า pH และการเผาก็มักทำในช่วงเวลาเดียวกัน คือก่อนเข้าฤดูฝน เพราะต้องลงเมล็ดพันธุ์ก่อนที่ฝนจะมา (คนปกาเกอะญอเขาจะฟังเสียงจิ้งหรีด ถ้าร้องประมาณนี้แปลว่าอีก 2 – 3 วันฝนมา)
ในขณะที่ไร่ข้าวโพดบนดอยให้พันธุ์ที่ตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง ครบ 3 แกนของเหตุแห่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เวลาเก็บก็เก็บไป แต่ฝักส่วนลำต้นคาไว้อย่างนั้น พอฤดูกาลหน้าจะลงเมล็ดใหม่ก็เผาเคลียร์ที่
ผมพยายามทำตามไร่หมุนเวียน แต่ผมหมุนเวียนแปลงไม่ได้ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ จึงต้องย้ายดินออกไปพักและเติมพลังงานนอกแปลงแทน ทุกรอบการปลูก ผมจะขนดินในแปลงออกไปพักในที่ที่เตรียมไว้ พอได้ขี้วัวก็เอามาใส่ในกอง เมื่อกองปุ๋ยหมักย่อยจนเป็นสีดำร่วน ผมก็เอามาถมใส่กองดินทับถมไปมา เหมือนเติมพลังงานกลับเข้าไปในดิน กองดินหนึ่งจะออกจากแปลงมาพักอยู่ประมาณ 2 ปี พอถึงวงรอบก็วนกลับไปใส่แปลงเหมือนเดิม

ชั้นของดิน
ทีนี้มาหาเหตุผลอธิบายดินกัน ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะการเกิดของดินเริ่มจากวัฏจักรของหิน (Rock) ที่เกิดขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติ ผ่านสภาพอากาศทั้งทางเคมีและฟิสิกส์ ทำให้หินและแร่ธาตุที่อยู่ในหินกัดกร่อน แตกตัวเป็นอนุภาคที่เล็กลงแล้วไปผสมกับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ผ่านกาลเวลาจนเกิดเป็นดิน
ดินมีมีองค์ประกอบจากธาตุทั้ง 4 คือ หิน ซึ่งมีแร่ธาตุตามธรรมชาติอยู่ในตัว ซากสิ่งมีชีวิตและจุลชีวะ อากาศ และน้ำ
แบ่งประเภทของดินเป็น 3 ประเภท ดินทราย ดินร่วน ดินเหนียว ชนิดของดินที่แตกต่างกัน มีผลมาจากขนาดของอนุภาคของหินที่อยู่ในดิน
ดินที่เหมาะสมในการเพาะปลูก จะมีการผสมกันของดินทั้ง 3 ชนิด แบบที่เรียกได้ว่าเป็นดินสายกลาง (Loam Soil)
แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าดินเราเป็นแบบไหน การส่งดินไปตรวจที่แล็บไม่ได้กินตังค์ผมหรอก เราสามารถใช้ความรู้ข้างถนนในการหาคำตอบ
วิธีการทดสอบประเภทดิน

1. วิธีการง่ายๆ คือ ขุดดินของเราในจุดที่เราอยากทดสอบมาบดๆ ทุบๆ ให้ร่วน แล้วใส่ไปในขวดโหลแก้วทรงกระบอกมีฝาปิด

2. ใส่ดินประมาณ 3 ใน 4 ของขวด อย่าลืมทุบดินให้ร่วนเพื่อจะได้ไม่มีพื้นที่ว่างในโหล ขีดเส้นระดับของน้ำที่จะเติมลงไป

- จากนั้นก็เทน้ำลงไปจนถึงเส้นเกือบเต็มขวดโหล แล้วปิดฝา

- เขย่าให้เหมือนกับเขย่าค็อกเทลจนได้ที่

- วางโหลพักไว้ประมาณ 1 นาที ส่วนที่เป็นทรายน้ำไหลผ่านได้ดีสุด จะไหลลงมากองที่ก้นขวดโหล เราก็เอาปากกาเขียนกระจกขีดระดับของชั้นที่เป็นทรายไว้
พักขวดโหลอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ดินส่วนที่เป็นดินร่วนจะไหลลงมากองเป็นชั้นถัดจากทราย เราก็เอาปากกาเขียนกระจกขีดวัดระดับของดินร่วนไว้
พักขวดโหลไว้อีก 24 ชั่วโมง ดินเหนียวจะลงมากองเป็นชั้นที่ 3 เราก็เอาปากกาเขียนกระจกขีดวัดระดับไว้ เอาไม้บรรทัดมาวัด แล้วเทียบบัญญัติไตรยางค์หาสัดส่วนเลยว่า ดินทั้ง 3 ชนิดรวมกันเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วสัดส่วนของดินแต่ละชนิดมีกี่เปอร์เซ็นต์ ผลที่ได้ออกมาคือความสัตย์จริงของดินเรา
แต่ไม่ว่าดินเราจะมีลักษณะไหน ทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยการเติมอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอกหรือขุยอินทรีย์ ถ้าดินเป็นลักษณะดินทราย อินทรียวัตถุจะไปเติมเต็มช่องว่างระหว่างดิน แต่ถ้าดินเราหนักไปทางดินเหนียว อินทรียวัตถุจะเติมออกซิเจนและเพิ่มช่องว่างในดิน ทำให้ดินร่วนขึ้น
ดินเป็นสิ่งมีค่า
pH เป็นมาตรในการวัดค่าความเป็นกรด (Acid) และความเป็นด่าง (Alkaline) มีค่า 1 – 14 ยกตัวอย่างจากที่ครูมัธยมต้นเคยสอนมา ค่า pH มีผลต่อสิ่งมีชีวิต เมื่อจะทำเกษตร การเข้าใจเรื่องนี้จึงสำคัญ
พืชต้องการสารอาหารไปหล่อเลี้ยง ค่า pH ที่พืชต้องการคือ Hydrogen Ions (H+) 6.5 – 7.0
pH มีความสำคัญต่อการเจริญเติมโตของพืช การรู้ค่า pH ของดินจึงสำคัญ
สันทรายเนี่ยนของเราวัดค่า pH ได้ 3 รูปแบบ แบบเรียบง่ายไม่ต้องลงทุน แบบลงทุนหน่อยแต่การใช้งานในชีวิตจริงรวดเร็ว แบบลงทุนหน่อยแต่ค่อนข้างใช้เวลาและแม่นยำ
ผมมีชุดทดสอบที่เป็นแถบสี มีเครื่องวัดค่า pH ในดินแบบที่ปักลงดินแล้วอ่านค่า
ถ้าผมไม่อยากซื้ออุปกรณ์อะไรเลยแต่อยากรู้แค่ว่าดินเราเป็นกรด เป็นด่าง หรือเป็นกลาง ก็เดินเข้าครัวใช้น้ำส้มสายชูกับเบกกิ้งโซดาเอามาทดสอบดิน


ตักดินใส่แก้วสัก 2 ใบ ใบแรกเทน้ำส้มสายชูลงไป ใบที่สองเอาเบกกิ้งโซดาละลายน้ำแล้วเทลงไป ดูปฏิกริยาที่เกิดกับแก้วทั้งสองใบ ถ้าใบแรกเกิดปฏิกริยาคือมีฟอง แปลว่าดินเราเป็นด่าง เพราะน้ำส้มสายชูเป็นกรด มีค่า pH ประมาณ 2 – 3 ถ้าดินเราเป็นด่างจะทำปฏิกริยากัน
เช่นกันกับแก้วใบที่สอง เบกกิ้งโซดาเป็นด่าง ค่า pH 11 ถ้าใบที่สองมีปฏิกริยา มีฟอง แปลว่าดินเป็นกรด เป็นมากหรือน้อยอยู่ที่ระดับของฟอง แต่ถ้าแก้วทั้งสองใบไม่มีปฏิกริยาเกิดขึ้นเลย แปลว่าดินเราเป็นกลาง

ที่ผมเจอส่วนมากคือดินมีความเป็นกรด ผมแก้ไขด้วยการเติมปูนขาว (Lime) ซึ่งได้มาจากการลองทำเอง
วิธีทำปูนขาวเริ่มจากหาเปลือกหอยมาเผา ไปตลาด ไปร้านอาหาร ไปที่ที่มีเศษเปลือกหอย ผมได้มาจากร้านส้มตำที่สันทรายนี่แหละ เอากระป๋องไปฝากไว้ ขอเศษเปลือกหอยรวมกับหอยทากที่จับได้ในแปลงของเรา
เมื่อมีเปลือกหอยเต็มถังแล้วรอวันที่เพื่อนมาทำบาร์บีคิวที่บ้านนี่แหละ ผมมีกิ่งไม้แห้งที่เก็บไว้จากการตัดแต่งกิ่งทุกๆ ปีก็เอามาทำเป็นฟืนเวลาย่างอะไรทานกับเพื่อน จังหวะนี้ก็ทยอยใส่เปลือกหอยเข้าไปในกองฟืน พอบาร์บีคิวสิ้นสุดลงก็มาร่อนเปลือกหอยแครงออกจากขี้เถ้า เก็บขี้เถ้าไว้ เอาเปลือกหอยเผาไปแช่น้ำแล้วเอาผ้ารองเอาค้อนทุบให้ละเอียด
ผมมีปูนขาว (Lime) สำหรับแก้ปัญหาดินเป็นกรดแล้ว ถ้าไม่งั้นก็ไปซื้อปูนขาว (Calcium Carbonate) ที่ทำมาจากการเผาหินปูน
คืนพลังให้ดิน
ความจริงแล้วปุ๋ยหมัก (Compost) กับ สารอินทรีย์ (Humas) เป็นคำที่ใช้ปนกันแต่มีสิ่งที่ต่างกันอยู่บ้าง ทั้งสองเป็นการย่อยสลายของซากพืช ต่างกันที่การมีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ
ปุ๋ยหมักเป็นการย่อยสลายแบบ Aerobic มีออกซิเจนเป็นตัวทำปฏิกริยากับคาร์บอนและไนโตรเจน พลังงานความร้อนจะถูกปลดปล่อยออกมา และซากของอินทรียวัตถุที่เราทับถมไว้กลายเป็นปุ๋ยหมัก
สารอินทรีย์ เป็นการย่อยสลายแบบ Anaerobic Fermentation เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่ออินทรียวัตถุย่อยสลายในสภาวะที่มีออกซิเจนต่ำ และในกระบวนการนี้จะปลดปล่อยแก๊สมีเทนออกมา
เมื่อเราพร้อมก็จะทำการทำปุ๋ยหมักสร้างสารอินทรีย์ เอาพลังงานคืนกลับให้ดิน เพื่อให้ดินส่งต่อพลังงานนั้นไปยังพืชที่เราปลูก และกลับคืนสู่ตัวเราแบบยั่งยืน เพราะเราช่วยธรรมชาติทำตามวัฏจักร การทำปุ๋ยหมักใช้องค์ประกอบ 4 อย่าง คาร์บอน ไนโตรเจน อากาศ และความชื้น
คาร์บอน คือ ซากพืชที่มีสีน้ำตาล ใบไม้แห้ง ฟาง กิ่งไม้เล็กๆ
ไนโตรเจน คือ ส่วนใดของพืชที่มีสีเขียว หญ้าที่เพิ่งตัด เศษผักในครัว วัชพืช
ผมใช้สัดส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนแบบ 3 : 1 ไม่มีอะไรตายตัว ใช้สัดส่วนตามที่อยากใช้ได้เลย แต่ผมลองมาแล้วว่า 3 : 1 ผมชอบสุด เพราะผมไม่ได้รีบร้อนที่จะใช้
อากาศ คือ การกระทุ้งหรือกลับกองเพื่อให้อากาศเข้าไป เพราะออกซิเจนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของการย่อย ผู้มีความรู้แนะนำให้กลับกองทุกวัน
ผู้มีความขี้เกียจอย่างเราขอสัปดาห์ละครั้งพอ (ขั้นต่ำ) ทำไปทำมาขั้นต่ำยังทำไม่ได้ ผมเลยออกแบบระบบท่อที่อัดลมเข้าไปในกองได้ เราก็ไม่ต้องพลิกกองอีกต่อไป ทำน้อยแต่ได้มาก
ส่วนน้ำก็พรมทุกวันได้เพราะไม่เหนื่อย ยิ่งเรามีปุ๋ยคอกจากมูลวัว เติมเข้าไปเลย จุลินทรีย์ที่ติดมาจากกระเพาะวัวจะยิ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาเร็วขึ้นอีก เมื่อปุ๋ยหมักเริ่มกระบวนการ จะเกิดความร้อนภายในกองปุ๋ยหมัก บางทีอุณหภูมิสูงถึง 60 องศาเซลเซียส ระยะเวลาเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว ถ้าอยากให้ปุ๋ยใช้ได้ในเวลาอันสั้นก็ต้องออกแรงเยอะ แต่ถ้ารอได้ 1 ปีก็ออกแรงน้อย
กองปุ๋ยหมักเราไม่ควรสูงเกิน 1.5 เมตร แล้วก็ไม่ต้องเหยียบหรือบีบอัดกอง ให้โปร่งๆ อากาศจะได้เข้าง่าย ปัจจัยที่จะทำให้ปุ๋ยหมักของเราเอามาใช้ได้เร็วหรือช้าคือ
- ความย่อยของใบไม้ ยิ่งละเอียดก็ยิ่งย่อยสลายง่าย
- อากาศ ถ้ารีบก็ต้องขยันพลิกกองปุ๋ยหมัก หรือขยันหาทางเติมอากาศเข้าไป
- น้ำต้องรดทุกวัน ทุกสัปดาห์ต้องอัดน้ำเข้าไปข้างในกองด้วย เพราะข้างในมีความร้อน
- จุลินทรีย์ที่เป็นตัวเร่งการย่อย ถ้ารีบก็หามาเติม
แต่ผมไม่ได้รีบร้อนจะใช้ เพราะใบไม้แห้งกับหญ้าเขียวที่เพิ่งตัดมาจากในสวนเราเอง ไม่ใส่เคมี ส่วนปุ๋ยคอกมาจากทั้งฟาร์มของเกษตรกรในกลุ่ม Sansaicisco เอง มาจากเกษตรกรในพื้นที่บางทีเราก็ไม่รู้การปนเปื้อน เลยอยากทิ้งไว้นานๆ ก่อนเอามาใช้ สารปนเปื้อนจะได้ลดลง


พอได้ปุ๋ยหมักแล้วเราก็เอาไปเติมในดินได้เลย เราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ หลายปีผ่านไป สิ่งเหล่านี้จะสะสมในชั้นดิน ถ้าชั้นดินเราดี มีสารอาหารเยอะ ก็ถือว่าบุญเก่าดี ปู่ย่าตายายใส่มรดกให้ไว้ในดิน แต่เราก็เติมพลังงานลงไปในดินได้เรื่อยๆ วันหนึ่งลูกหลานเราจะได้สบาย

ดินเป็น Non Renewable Resource เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติผ่านกาลเวลา และไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ในเวลาอันสั้น เราทำได้แค่ปรับสมดุลสิ่งต่างๆ ในดิน
ดินที่ดีจึงควรได้รับการรักษาไว้ อย่าให้เคมีมาทำลายมรดกในดินที่บรรพบุรุษเราสะสมไว้ให้
เราจะมีความมั่นคงทางอาหารได้ ก็ต่อเมื่อเรามีระบบวัฏจักรของธรรมชาติที่เกิดการหมุนเวียนแบบไม่จบสิ้น สิ่งมีชีวิตทุกอย่างรอบตัวเราทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งในกลไกทั้งหมดนี้ แต่มนุษย์เองนั่นแหละที่เป็นผู้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ทั้งหมดเป็นผู้ตัดตอนและทำลายวัฏจักรเสียเอง เพราะเราฉลาดจัด แต่ก็ไม่แน่ใจว่าความฉลาดของเราจะนำพามวลมนุษยชาติรอดพ้นจากการสูญพันธ์ใหญ่ครั้งที่ 6 นี้ได้หรือไม่

