ขนมหมดไปครึ่งหนึ่ง กาแฟหมดไปนานแล้ว
เราฟังเธอเล่าเรื่องมาหลายชั่วโมง เรื่องหนึ่งที่เราจำได้เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน
โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ติดต่อขอให้เธอกลับไปเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษแบบใหม่ ด้วยการสอนผ่านวรรณกรรม เจ้าของโรงเรียนเดินทางมาพร้อมลูกชาย ขอคุยกับเธอด้วยตัวเอง
“สมัยนี้ยังมีใครอยากอ่านวรรณกรรมอีกเหรอ” หญิงสาวถามหลังได้ยินคำชวน
เด็กชายที่นั่งเงียบมานานโพล่งขึ้นมา “ผมอยากเรียนครับ”
บทที่ 1
โดนัทโฮมเมดร้านนี้อร่อย หญิงสาวหลังพวงมาลัยรถพูดกับเราพลางคาดเข็มขัด ไม่นานนักเราก็มาหยุดอยู่หน้าร้าน MOON.DOUGHNUTS คาเฟ่หน้าตาทองหล่อกลางถนนนางงาม จังหวัดสงขลา
เรานั่งรถมาอย่างเกรงอกเกรงใจ เพราะโชเฟอร์วันนี้เป็นหญิงสาวอายุ 75 ที่สนุกกับการขับรถให้เด็กคราวลูกนั่ง แถมยังเป็นนักแปลระดับประเทศที่ทำให้นักอ่านไทยรู้จักวรรณกรรมคลาสสิกและหนังสือสายจิตวิญญาณอีกไม่รู้ต่อกี่เล่ม
คนที่เพิ่งรู้จัก เรียก สดใส ขันติวรพงศ์ ว่า อาจารย์
รู้จักกันมากหน่อย จะเรียกสมญานามว่า ลูกสาว ต่อท้ายด้วย เฮสเส หรือ เฮอร์มานน์ เฮสเส นักเขียนชาวเยอรมันผู้แนะนำปัญญาโลกตะวันออกให้คนตะวันตกรู้จัก เธอแปลงานของนักเขียนผู้นี้อย่างเจนจัดจนคนยกตำแหน่ง ‘ลูกสาวเฮสเส’ ให้
แต่คนสงขลาสนิท ๆ กันเรียกว่า ป้า ส่วนเธอเรียกตัวเองว่า พี่
สดใสไม่ใช่คนสงขลา เธอเกิดที่กระบี่ ในหมู่บ้านชายทะเลแวดล้อมด้วยทะเลอันดามัน ย้ายมาอยู่สงขลาเพราะเรียนและทำงานเป็นอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ร่วม 2 ทศวรรษ
สดใสแปลงานของเฮสเสเล่มแรกเมื่อ พ.ศ. 2524 หลังจากนั้นก็ทำงานแปลมาอย่างโชกโชนนับร้อยเล่ม ได้รางวัลนักแปลดีเด่น รางวัลสุรินทราชา ของสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย
นอกจากเฮสเส เธอทำให้เราได้อ่าน พี่น้องคารามาซอฟ ของ ดอสโตเยฟสกี, อันนา คาเรนินา ของ ตอลสตอย ฉบับภาษาไทย ยังไม่นับงานของนักเขียนอย่าง จอห์น เลน, อรุณธตี รอย, ติช นัท ฮันห์ งานวรรณกรรมคลาสสิกและงานวิชาการอีกมากเกินนิ้วนับ
แต่เหตุผลที่เรามาคุยกับสดใส ไม่ใช่เรื่องงานแปลหรอก
บทที่ 2
บ้านของสดใสอยู่ในซอยตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ สิ่งแรกที่เตะตา คือภาพวาดสีน้ำมันนับร้อยภาพที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมบ้าน
เรามาถึงสงขลา 1 วันก่อนเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567 จะเริ่ม เดินไปทางไหนก็พบแต่หนุ่มสาวกำลังขะมักเขม้นติดตั้งงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
ปีนี้สดใสไปร่วมแจมกับกลุ่ม Songkhla Sketchers กลุ่มนักวาดเล่าเรื่องเมืองผ่านงานสเกตช์ ปีก่อนเธอเคยร่วมงานกับร้านหนังสืออิสระ dot.b ไม่ได้ไปขึ้นเวทีเสวนาเรื่องงานแปล แต่จัดนิทรรศการภาพวาดของตัวเองในร้านหนังสือ
ภาพวาดของสดใสส่วนใหญ่คือภาพทะเลอันดามันที่เคยเห็นในวัยเยาว์ ภาพดอกไม้ที่เธอจัดใส่แจกันทุกเช้า บางครั้งก็เป็นภาพความทรงจำในหมู่บ้านริมทะเล เช่น ภาพ ‘หัวร้าน’ สะพานที่ยื่นออกไปในทะเล สุดปลายมีศาลาหลังเล็ก เวลาไม่สบาย พ่อของเธอจะพาไปนั่งรับลมทะเล ปัดเป่าความป่วยให้คลายลง
“ความประทับใจบางอย่างในวัยเด็ก มันกลับมาในเวลาที่เราทุกข์” เธอเล่า
ช่วงโควิด สดใสเกิดป่วยเป็นงูสวัดบริเวณใกล้ดวงตา ไม่มีสาเหตุ แต่เมื่อเป็นแล้วทำให้เธอมองไม่เห็น อ่านหนังสือไม่ได้ คนทำหนังสือมาตลอดชีวิตแล้วใช้สายตาไม่ได้คือทุกข์อันใหญ่หลวง
สดใสพยายามหากิจกรรมทำเพื่อบำบัดความเจ็บปวด เธอคว้าสมุดกับปากกาใกล้ตัว วาดโดยไม่ได้คิดถึงปลายทาง ปล่อยให้ใจบังคับเส้นสาย ก่อตัวเป็นรูปวาดที่ไม่อาจระบุความหมาย
จาก 1 ภาพ 2 ภาพ ไปสู่อีกหลายภาพนับไม่ถ้วน จากวาดในสมุดด้วยปากกาก็งอกออกมาเป็นสีน้ำและสีอะคริลิกบนผืนผ้าใบ
สดใสวาดทุกวัน เสร็จแล้วก็โพสต์ภาพใน Facebook เพื่อนฝูงทยอยกันมาคอมเมนต์ชื่นชม สักพักก็มีนักเขียน กวี นักวิชาการมาพูดถึง เลยเถิดถึงขั้นมีรุ่นน้องขอซื้อไปติดในธุรกิจโรงแรมที่กรุงเทพฯ ชวนไปจัดนิทรรศการ สดใสเลยได้เปลี่ยนวิถีชีวิตจากนักแปลสู่ศิลปินที่วาดเล่นแต่ดันขายภาพได้ในวัยย่าง 76
สดใสมีเพื่อนอยู่ในวงการศิลปะไม่น้อย เมื่อรู้ว่าเธอเขียนภาพ หลายคนจึงแนะนำทฤษฎีการวาดรูปอย่างหวังดี แต่นักแปลสาวลายครามวางความหวังดีไว้แล้ววาดจากใจ
เธอเชื่อว่าการแปลวรรณกรรมคลาสสิกกับการเขียนภาพล้วนอยู่ในครรลองเดียวกัน
“การอ่านสร้างสรรค์งานศิลปะ เราทำงานพวกนี้ได้ มาจากการอ่านทั้งนั้น ในหนังสือ ความงามข้ามกาลเวลา ของ จอห์น เลน บอกว่าทุกคนมีศิลปะอยู่ในตัว ศิลปะไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะไปตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือวางบนแท่นบูชา มันอยู่ทั่วไป อยู่ที่เราจะนึก เรื่องนี้เปลี่ยนความคิดเราเลยนะ หนังสือทุกเล่มที่อ่านและแปลตกตะกอนอยู่ในตัวเราโดยไม่รู้ตัว”
เจตนา นาควัชระ ครูแห่งดนตรีคลาสสิกเคยบอกว่าภาพของเพื่อนเป็นแบบ Impressionism ไม่ได้เอาฉากในวรรณกรรมเรื่องใดมาทำเป็นภาพ เธอไม่ได้ยึดหลักการใด แค่วาดเพื่อเอาบางสิ่งในตัวออกไป ไม่มีการสเกตช์แบบร่าง ทำเพื่อบำบัดตัวเอง
“เราเชื่อว่าควบคุมอะไรไม่ได้ ทุกอย่างมีวิถีของมัน เช่น เราตื่นขึ้นมาคิดว่าจะวาดภาพทะเล แต่พอลงสีฟ้าแล้วมันไม่ได้ เราอยู่กับธรรมชาติตลอดชีวิต ไม่ว่าที่กระบี่หรือสงขลา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของอากาศจนรู้ว่าสีนี้เป็นสีทะเลไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปเป็นทุ่งนาป่าเขา แล้วแต่ว่ารูปนั้นต้องการแสดงตัวเป็นอะไร กำหนดไม่ได้”
หลังอาการป่วยทุเลาลง ตากลับมาดีเหมือนเดิม สดใสหยุดวาดรูป แต่ก็ยังมีคนติดต่อขอให้เธอวาดภาพเป็นระยะ บ้างก็ส่งกระดาษหรือสีมาให้ เธอไม่เร่งร้อน ถ้าภาพนั้นอยากมาเมื่อไหร่ มันจะปรากฏขึ้นในใจเอง
“ศิลปะที่ต้องวาดแบบเป๊ะ ๆ ไม่ถูกกับจริตเรา พอทำงานอย่างอิสระเมื่ออายุมากแล้ว เราเลยไม่แคร์ใคร ไม่ได้ส่งประกวด ทำแล้วรู้สึกโล่ง สบายใจ
“แม้กับงานแปลที่ทำ เพื่อนก็จะทักอยู่เสมอ สดใสทำไมเธอกล้าจัง ฉันไม่กล้าเลยนะ เพื่อนที่ทักเอกอังกฤษนะ จบมหาลัยต่างประเทศ เราบอกว่า ถ้าฉันเรียนมากอย่างพวกเธอก็ไม่กล้า กลัวผิดไปหมด แต่ตอนนั้น เราไม่มีอะไรจะต้องเสีย”
บทที่ 3
“ขอวนดูหาดทีหนึ่งนะ” สดใสพูดเปรยก่อนหักพวงมาลัยเข้าถนนเลียบหาด
บ้านขันติวรพงศ์อยู่ที่ตำบลแหลมสัก เตี่ยและแม่ไม่ได้ทำประมง แต่รับซื้อกุ้ง ปลา จากเรือมาขายต่อ กระบี่ใน พ.ศ. 2500 ยังไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยว ถนนยังมีน้อย หมู่บ้านริมทะเลจะติดต่อกับโลกภายนอกต้องนั่งเรือเท่านั้น
ชีวิตเช่นนี้ทำให้สดใสมีภาพทะเลในใจ ตอนมาอยู่สงขลา งานอดิเรกที่ทำไม่ขาดคือการขับรถมาดูทะเล หาดสมิหลาคือสถานที่หลัก
หนังสือเล่มแรกที่แจ้งเกิดสดใสในฐานะนักแปล คือ The Prodigy ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส ชื่อภาษาไทยคือ บทเรียน เพื่อนรุ่นน้องของเธอส่งหนังสือเล่มนี้มาให้เป็นของขวัญ
บ้านของสดใสไม่มีใครอ่านหนังสือ เตี่ยเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน อพยพจากมณฑลฝูเจี้ยน แม่เป็นลูกครึ่งไทย-จีนที่ประสบเหตุตาบอดก่อนสดใสเกิด 4 – 5 ปี แต่ยังหาเลี้ยงครอบครัวได้เหมือนคนตาดี
เธอเคยอ่านนิตยสารอย่าง ผดุงศิลป์ บ้างในห้องสมุดโรงเรียนสตรีกระบี่ สดใสอ่านภาษาอังกฤษได้ ภาษาแปลของเธอจึงออกมาตัวเองจริง ๆ ไม่ได้ยึดโยงกับทฤษฎี เน้นจับอารมณ์ของตัวละครและถ่ายทอดออกมา
เธอเล่าว่าเหตุผลที่ตัดสินใจแปลเล่มนี้ นอกจากชอบเรื่องราวของตัวละครอย่าง ฮันส์ กีเบนราธ ส่วนหนึ่งยังเป็นการแปลเพื่อบำบัดตัวเองด้วย
สดใสเรียนจบคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอเลือกคณะนี้ด้วยใจอยากทำงานเป็นครูต่างจังหวัด จบปริญญาตรีก็ไปทำงานสอนที่วิทยาลัยครูสงขลา จากนั้นลาไปเรียนต่อปริญญาโท กลับเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งตอนต้น พ.ศ. 2516
โลกและไทยปีนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย สงครามเวียดนาม คอมมิวนิสต์ วิกฤตเดือนตุลาคมก่อตัวในช่วงเดียวกัน
สงขลากลายเป็นศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยทางเรือ เกิดเรื่องเศร้าสลดกับผู้ลี้ภัยแทบทุกวัน สดใสเสียเพื่อนและอาจารย์ไปกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ความไม่ไว้วางใจระบาดเป็นวงกว้าง ในห้วงนี้เองที่หนังสือคือทางออกของสดใส บรรยากาศชนบทในประเทศเยอรมนี และชีวิตที่แสนสะเทือนใจของฮันส์ ดึงใจของนิสิตปริญญาโทให้ยังไม่ล่มสลายไปกับเหตุการณ์บ้านเมือง
สมัยก่อนลิขสิทธิ์หนังสือยังเป็นเรื่องไม่แพร่หลายนัก หนังสือแปลในไทยมักเกิดจากการอ่านหนังสือแล้วชอบ และอยากเผยแพร่ให้คนอื่นรู้โดยบริสุทธิ์ใจ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สดใสแปลหนังสือเล่มแรกของตัวเอง เธอเปรียบเปรยว่า เมื่อต้องอ่านเพื่อแปล หนังสือจะกลายเป็นเพื่อน สดใสทำการงานนี้เพื่อหนีและรักษาตัวเองไปในตัว
นักแปลมือใหม่เรียนต่อด้านประวัติศาสตร์ วิทยานิพนธ์ของเธอเกี่ยวกับปัญหาอินโดจีนของฝรั่งเศสและไทย ต้องเข้าไปค้นเอกสารตามสถานที่ราชการ หลายคนอาจไม่รู้ว่าเธอได้เริ่มเขียนหนังสือเล่มแรกของตัวเองชื่อว่า ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศตะวันตก ตำราวิชาการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยและชาติตะวันตกตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงยุคสิ้นสุดสงครามเย็น
ช่วงค้นหาเอกสาร สดใสได้พบกับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในช่วงหลังหลายคน เช่น ชมัยภร บางคมบาง (ชมัยภร แสงกระจ่าง), เตช บุนนาค, นิรันดร์ สุขวัจน์ บรรณาธิการที่ทำให้หนังสือแปลเล่มแรกของสดใสออกวางแผง
วงการหนังสือไทยยุคนั้นยังไม่ต้อนรับงานแบบเฮสเสมากนัก หนังสือต้องอ่านแล้วบันเทิง งานที่เล่าปัญญาและปรัชญาตะวันออกจึงถูกมองว่าหนักไป อย่างไรก็ดี ยอดขายหนังสือพอไปได้ สดใสจึงได้แปลเล่มที่ 2 เพลงขลุ่ยในฝัน เปิดทางให้ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น
สดใสไม่ได้แปลตามทฤษฎีภาษามาก เธอเข้าใจว่างานวรรณกรรมต้องมีภาษาที่สละสลวย เต็มไปด้วยอารมณ์ ภาษาที่แปลใน 2 เล่มแรกจึงถูกเติมแต่งไม่น้อย นักเขียนและศิลปินใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำสดใสเรื่องภาษาว่า “บางคำมันเก้ออยู่ แกใช้คำนี้”
ศิลปินคนนั้นคือ เทพศิริ สุขโสภา นักเขียนและจิตรกรแห่งภาคเหนือ เธอเล่าว่าคำแนะนำครั้งนั้นเปลี่ยนความคิดที่มีต่ออาชีพนักแปลจวบจนวันนี้
สดใสทำงานแปลควบคู่กับงานเป็นอาจารย์สอนที่สงขลา งานที่ช่วงแรกกว่าครึ่งเป็นงานวรรณกรรมคลาสสิก แม้คนจะมองว่าอ่านยาก แต่งานกลุ่มนี้กลับให้บางสิ่งที่หนังสือแบบอื่นให้ไม่ได้
“สังคมหล่อหลอมให้เราเอาตัวรอด ความอ่อนไหวหรือ Sensitivity ของเราหายไป กระด้างขึ้น การอ่านงานพวกนี้ขุดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมา ทำให้เราพบ ‘ของจริง’ ที่อยู่ในตัว เวลาอ่านวรรณกรรม อย่างน้อยมันพัฒนาความเห็นอกเห็นใจหรือ Empathy ของเรา
“Empathy เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา แต่ในสังคมเราพัฒนายาก เพราะเราคิดถึงตัวเองกันมาก แต่พออ่านงานวรรณกรรมพวกนี้ จะสะท้อนให้เห็นความทุกข์ยากของคน เราร้องไห้ไปกับมัน รู้สึกไปกับมัน ไม่ใช่ดราม่านะ มันเป็นความรู้สึกจริง ๆ อ่านไปนานวันก็ซึมซับอยู่ในตัวเรา
“วรรณกรรมคลาสสิกมีสิ่งนี้ เนื้อหาพูดเรื่องหนักมาก แต่มีความหวัง แล้วมันก็สอนให้เราเห็นความงามเล็ก ๆ รอบตัว ตอนหลังเรามาทำงานแปลหนังสือที่พูดเรื่องใหญ่ ๆ อย่างพระเจ้า ถ้าไม่ได้ทำงานวรรณกรรมคลาสสิกมาก่อนคงไม่ได้เข้าใจนัก” สดใสเล่า
เธอยกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องความตาย ในวรรณกรรมคลาสสิกมักมีตัวละครเอกที่ต้องตายจากความทุกข์ยาก แต่การบรรยายความตายในเรื่องกลับทำให้เห็นความงามแฝงในน้ำตา
“ทำให้เห็นว่าความทุกข์ในโลก เราจะมองให้เห็นความงามของมันก็ได้ ไม่ใช่เห็นความงามของความทุกข์นะ แต่เราจะหลุดจากความทุกข์นั้นอย่างงดงามก็ได้
“งานคลาสสิกพวกนี้ให้เราได้เห็นความจริงของชีวิต มีสุข มีทุกข์ ความทุกข์บนโลกมาก แต่เราจะมองให้เห็นอีกด้านหนึ่งอย่างไรที่จะช่วยปลอบประโลมว่า ท่ามกลางโลกที่มีความทุกข์ก็มีความสวยงามอยู่ เราต้องเปิดตาเปิดใจที่จะเห็น ฝึกไปบ่อย ๆ เราจะเห็นเองโดยอัตโนมัติ แล้วมันก็ดีกับชีวิต”
บทที่ 4
สดใสใช้ชีวิตวัยเกษียณที่สงขลา ใช้เวลากับการแปลหนังสือ สูดลมหายใจทะเลฝั่งอ่าวไทยที่ได้ความรู้สึกไม่แพ้ฝั่งอันดามัน
ครั้งหนึ่งเคยมีเจ้าของโรงเรียนเอกชนขอให้สดใสกลับไปสอนวิชาวรรณกรรมให้นักเรียน เธอตอบรับ แต่วิธีสอนไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าชวนเด็กอ่านหนังสือแล้วมาเล่าเรื่องให้ฟัง เธอคิดว่านั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เด็กเติบโต
สดใสเล่าถึงชีวิตลูกศิษย์ที่เธอเคยสอน เติบใหญ่ทำงานในองค์กรชั้นนำ แต่ยังไม่ลืมรสชาติวรรณกรรมที่เคยอ่านวัยเด็ก แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับนักแปล อาจารย์ และศิลปินหน้าใหม่วัยลายคราม
เธอมักเปรียบชีวิตตัวเองว่ามีความเป็นเต๋า ไหลลื่น ไม่ยึดติด ราวกับไผ่ลู่ลม
ในวัยนี้ เพื่อนรุ่นเดียวกันมักพูดถึงความเจ็บและความตาย วรรณกรรมช่วยสดใสไว้ไม่ให้ตกกับดักวัยชรา
หนังสือเล่มหนึ่งที่มีอิทธิพลกับสดใสมากในช่วงหลังคือ Walking Each Other Home ของ Ram Dass กูรูจิตวิญญาณชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ
เนื้อหาคือการบันทึกบทสนทนาระหว่าง Ram และ Mirabai Bush ว่าด้วยเรื่องรอบตัวของชีวิต แน่นอนว่าสิ่งที่สดใสชอบที่สุดคือท่อนที่พูดเรื่องความตาย
“ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอะไร เราจะ Walk Home Together ทุกคนก็เดินไปสู่จุดนั้นด้วยกัน พออ่านปุ๊บ เราบอกเพื่อนเลยว่าตอนแก่เราอยากไปนั่งเป็นเพื่อนคนป่วยระยะสุดท้าย นั่งเป็นเพื่อน นั่งเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร แต่ให้รู้ว่าเราอยู่ด้วย”
เธอไม่ได้พูดเล่น ด้วยวัยที่ยังแข็งแรงดี สดใสจึงมักไปช่วยเพื่อนวัยเดียวกันที่ป่วย หกล้ม หรือแม้แต่ไปอยู่เป็นเพื่อนเสมอ
“เรามีบุญ ได้เจองานที่ดี ได้ฟอกใจเราทุกวัน ระหว่างทำงานเจอปัญหาเยอะแยะ แต่ปัญหาในงานก็คือปัญหาของมนุษย์ เราได้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ผ่านงานแปล มันดี ถ้าเรายังมีแรงก็คงทำต่อไป”
การแปลหนังสือ คือการหาคำที่เหมาะสม วางในจุดที่ถูกต้อง หลายครั้งก็มีแค่คำเดียวที่เหมาะ หน้าที่ของนักแปล คือแสวงหาคำเดียวคำนั้นที่จะทำให้คนอ่านหัวเราะ ยิ้ม และมีน้ำตาไปกับเรื่องราว
แก่นในหนังสือทุกเล่มของเฮสเส คือเดินทางค้นหาความหมาย ไม่ต่างกับชีวิตมนุษย์ ทุกคนล้วนค้นหาความหมายที่จะนำไปสู่ความสุข
มันเป็นเพียงเรื่องเดียวที่เราตามหา คล้ายกับการหาคำเดียวของนักแปล
เราเชื่อว่าสดใสเจอเรื่องเดียวของเธอแล้ว
ดวงตาเป็นประกายเมื่อมองภาพวาดและหนังสือที่รอการแปลถ้อยคำคือคำตอบ