The Cloud x British Council

For English Version, Click Here

ตอนนี้คำที่กำลังเป็นที่ฮอตฮิตมากในวงการนักออกแบบสร้างสรรค์พักหลังๆ มานี้ คือคำว่า Hackathon บางท่านอาจยังไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน เราจึงขอเล่าให้ฟัง

Hackathon คือการนำกลุ่มคนมารวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาบางสิ่งบางอย่างในระยะเวลาอันสั้นหรือภายในระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง เสมือนเป็นการระดมความคิดของเหล่านักสร้างสรรค์ จากนั้นก็เข้าสู่การนำเสนอโครงการกับเหล่าคณะกรรมการ และทีมที่ชนะก็จะได้รับเงิน Seed Funding เพื่อพัฒนาโครงการนั้นไป

กิจกรรม Hackathon ได้เกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย ภายใต้ชื่อ Social Innovation Hackathon 2020 นำโดย British Council องค์กรที่ทำงานในการสนับสนุนทั้งด้านหัตถกรรมและเมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย ในส่วนของเมืองสร้างสรรค์ ผลงานชิ้นสำคัญคือการสนับสนุนเหล่า Creative Hubs หรือศูนย์รวมคนและความสร้างสรรค์ให้กล้าคิด กล้าทำอย่างเต็มความสามารถ

Hackathon รวมไอเดียแก้ไขปัญหาชุมชนนางเลิ้งด้วยการสร้างพื้นที่รีไซเคิลพลาสติกให้ชุมชน

เราจึงอยากนำทุกท่านไปทำความรู้จักงานนี้ให้มากขึ้นกับ เจ-ดร.พัชรวีร์ ตันประวัติ หัวหน้าฝ่ายศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของ British Council และ จูเลี่ยน ฮวง Co-founder และตัวแทนจากทีม Creative Hubs ผู้ชนะจาก Weave Artisan Society จังหวัดเชียงใหม่ มาร่วมพูดคุยถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์และแก้ปัญหาชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนผ่านกิจกรรม Hackathon 

01

Hackathon

กิจกรรม Hackathon ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้านการพัฒนา Creative Hubs ของ British Council เพื่อทำให้ฮับหรือศูนย์รวมความสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ของกลุ่มคนที่จะมาช่วยกันระดมความคิดแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าการเป็นเพียง Co-working Space อย่างที่ใครหลายคนอาจตีความกันไป ซึ่งกิจกรรม Social Innovation Hackathon นี้ก็เกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ฮับได้ทำงานกับชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง

“โดยปกติ กิจกรรม Hackathon ที่ต่างประเทศเขาจัดกันใช้เวลาประมาณสองวัน แต่สำหรับ British Council เราใช้เวลาลงมือกันเป็นเดือน เพราะเราให้เวลากับฮับที่เข้าร่วมไปทำความรู้จักกับพื้นที่ ไปเรียนรู้เรื่องปัญหา รวมถึงมีเวลาที่จะไปคิดว่าจะไปทำอะไรกับพื้นที่นั้น

Hackathon รวมไอเดียแก้ไขปัญหาชุมชนนางเลิ้งด้วยการสร้างพื้นที่รีไซเคิลพลาสติกให้ชุมชน

“จากนั้นแต่ละฮับก็จะนำไอเดียมาคุยกันกับเหล่าที่ปรึกษา จนถึงช่วงที่เป็น Hackathon จริงๆ คือการเข้าไปทำงานในพื้นที่จริง ก็มีเวลาอีก สามวัน แล้วเข้าสู่กระบวนการ Pitching หรือเสนอโครงการให้กับทางคณะกรรมการ เพราะฉะนั้น ไอเดียหลักๆ ของ Hackathon คือการระดมไอเดียกันเพื่อแก้ไขปัญหา” หัวหน้าฝ่ายศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของ British Council เอ่ย 

“โครงการนี้เป็นเรื่อง Creative Placemaking ซึ่งเป็น Hackathon ด้านนวัตกรรมทางสังคมเพื่อใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาพื้นที่ให้น่าอยู่” 

และนี่จึงเป็นที่มาของกิจกรรม Social Innovation Hackathon ในครั้งนี้ โดยพื้นที่ที่แต่ละทีมจะต้องลงไปศึกษาและร่วมไปแก้ไขปัญหาก็คือชุมชนย่านนางเลิ้ง

02

นางเลิ้งสร้างสรรค์

มาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยเช่นเดียวกับเรา 

ว่าทำไมต้องเป็นชุมชนเก่าแก่ย่านนางเลิ้ง ที่ขึ้นชื่อเรื่องตลาดของอร่อย 

เธอบอกกับเราว่า “เริ่มต้นเลยย่านนางเลิ้งเป็นที่รู้จักอยู่แล้วในฐานะที่เป็นชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ แล้วก็เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย เพราะมีการพัฒนาของเมืองใหม่เข้ามา แถมยังเป็นย่านสำคัญในเชิงวัฒนธรรมมาตั้งแต่อดีต 

Hackathon รวมไอเดียแก้ไขปัญหาชุมชนนางเลิ้งด้วยการสร้างพื้นที่รีไซเคิลพลาสติกให้ชุมชน

“ถ้าเคยไปเดินย่านนางเลิ้ง เราจะเจอพวกตึกเก่าๆ เจอย่านธุรกิจด้วย เพราะมีทั้งโรงค้าไม้ แล้วก็โรงพิมพ์ ส่วนกลุ่มคนที่เขาอยู่กันดั้งเดิม ก็เป็นพ่อค้าแม่ค้ากันซะเป็นส่วนมาก พื้นที่ตรงนี้จึงมีความแตกต่างหลากหลายและน่าสนใจ” 

แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปตามยุคตามสมัย ก็ทำให้ปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น ซึ่งในจุดนี้เองที่เหล่า Creative Hubs จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาด้วยการระดมความคิดได้ 

“อีกประเด็นหนึ่งที่เราเลือกพื้นที่ตรงนั้น ก็เพราะว่าเราทำงานร่วมกับ FREC หรือ Ford Resource and Engangement Center มาก่อนแล้ว รวมถึงเรายังทำงานกับทาง Urban Studies Labs ศูนย์การศึกษาชุมชนและเมือง ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ สถาปนิก และนักเคลื่อนไหวที่สนใจการพัฒนาเมือง ทั้งสององค์กรนี้คลุกคลีและทำงานกับชุมชน ตั้งอยู่บนพื้นที่ของศูนย์อยู่ที่ย่านนางเลิ้งอยู่แล้ว เราก็เลยคิดว่าจะเริ่มโปรเจกต์นี้กันที่ย่านนางเลิ้ง” 

และก่อนการลงมือแก้ไขและพัฒนาชุมชน ก็เป็นการดีที่จะต้องเข้าใจพื้นที่และปัญหาที่มีก่อนถึงจะแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง 

“ตอนแรกที่เราประชุมกับทางกลุ่มพาร์ตเนอร์อย่าง FREC และ USL ที่ทำงานในพื้นที่นั้นมานานแล้ว เขามีการศึกษาและพบว่า ประเด็นหลักๆ คือมีผู้สูงอายุอยู่มาก คนรุ่นใหม่ในพื้นที่นางเลิ้งจะออกไปทำงานที่อื่น เลยเป็นประเด็นข้อต่อมาคือมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในพื้นที่มากขึ้น รวมถึงประเด็นปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะมีทั้งรถติด มีขยะ แถมยังมีเรื่องการสูญหายของวัฒนธรรม ความเป็นชุมชนดั้งเดิมเริ่มหายไป”

Hackathon รวมไอเดียแก้ไขปัญหาชุมชนนางเลิ้งด้วยการสร้างพื้นที่รีไซเคิลพลาสติกให้ชุมชน

และเพราะมีประเด็นปัญหาที่หลากหลายมากมาย แต่ละฮับที่เข้าไปศึกษาปัญหาจึงต้องชูประเด็นที่กลุ่มตนเองสนใจ ผ่านการพูดคุยกับชุมชน การลงพื้นที่ และการอ่านงานวิจัย 

“เพราะฉะนั้น ประเด็นปัญหาที่แต่ละฮับชี้ชวนออกมาก็จะต่างกันไปตามความสนใจ บางคนเน้นไปที่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและขยะ บางกลุ่มมองเรื่องวัฒนธรรมเป็นหลัก บางคนมองเรื่องธุรกิจการค้าว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจแถวนั้นเติบโตได้ ซึ่งเราก็เปิดกว้างให้ทางฮับไปคิดกันมา” 

03

Social Innovation Hackathon

จากการรวบรวมฮับสร้างสรรค์ที่มีความน่าสนใจ ก็มีฮับเข้าร่วมทั้งหมด 4 ฮับด้วยกัน คือ ทีมที่ 1 Weave Artisan Society จากจังหวัดเชียงใหม่ ทีมที่ 2 Factopia จากจังหวัดนนทบุรี ทีมที่ 3 Prayoon for Art ประยูรเพื่อศิลปะ และทีมที่ 4 อีเลิ้ง จากกรุงเทพมหานคร ซึ่งทุกทีมล้วนแล้วเป็นเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาพัฒนานางเลิ้ง

แต่ละทีมมีวิธีการทำงานอย่างไร กว่าจะได้ออกมาเป็นทีมผู้ชนะ เจเล่าให้ฟังว่า

“ความตั้งใจของเราคือต้องการเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่เพราะติดปัญหา COVID-19 เลยต้องเลื่อนมาเป็นเดือนพฤศจิกายน แต่เราก็เริ่มลงพื้นที่กันตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว พอลงพื้นที่ได้ประมาณสองสัปดาห์ เราก็จะให้แต่ละทีมไปคิด นำเสนอ แล้วก็ปรับต่อในช่วงที่เราจัดเป็น Hackathon สามวัน จะมีฮับจากอังกฤษคอยเป็นที่ปรึกษา รวมถึงที่ปรึกษาคนไทยเข้ามาช่วยให้ไอเดียเพิ่มเติมด้วย  

Hackathon รวมไอเดียแก้ไขปัญหาชุมชนนางเลิ้งด้วยการสร้างพื้นที่รีไซเคิลพลาสติกให้ชุมชน

“ขั้นตอนสุดท้ายของการนำเสนอโครงการ เราได้เชิญผู้ตัดสินทั้งหมด ห้าคน ทั้งผู้อำนวยการของ British Council ผู้อำนวยการของ FREC ตัวแทนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ตัวแทนของชุมชน และอาจารย์ที่มีความรู้ทางสถาปัตยกรรมและผังเมือง เข้ามาดูความเหมาะสม” 

เกณฑ์การให้คะแนนพิจารณาจากทั้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ แผนทางธุรกิจที่ดีในแง่ของการพัฒนาเป็น Business Model รวมถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 

“ขั้นตอนที่แต่ละทีมพัฒนามาแต่ละโครงการดีหมดเลย เพราะตอบสนองความต้องการของชุมชนได้ทั้งหมด อย่างโครงการของอีเลิ้ง เขาเสนอเป็น Urban Farming ทำพื้นที่ปลูกผักในพื้นที่รกร้างแห่งหนึ่งของนางเลิ้ง และยังเป็น Co-working Space สำหรับคนในชุมชนที่ตั้งต้นจากปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เพราะชาวบ้านไม่มีพื้นที่สีเขียวที่จะใช้ทำการเพาะปลูก รวมถึงไม่มีพื้นที่กิจกรรม 

“ส่วนกลุ่ม Factopia มองภาพรวมในเชิงธุรกิจ คือคนที่มาไม่ค่อยรู้ว่ามานางเลิ้งแล้วมีอะไร เขาเลยเสนอแนวคิดการปรับปรุงทั้งระบบ ทำเป็นเว็บไซต์บอกเวลาเปิด-ปิด ทำ Local Currency เพื่อให้เงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชน 

“หรืออย่างทีมประยูรเพื่อศิลปะ เขาสนใจในเรื่องเชิงวัฒนธรรมและสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เขามองว่านางเลิ้งยังมีเรื่องราวที่เอามาเล่าต่อได้ เลยเสนอให้ทำเป็นเกม Augmented Reality เวลาเข้าไปในพื้นที่ก็จะเห็นตัวละครขึ้นมาเล่าเรื่อง เพื่อกระตุ้นให้คนเข้ามาในพื้นที่และมาเรียนรู้เรื่องราวของนางเลิ้ง 

และทีมผู้ชนะอย่าง Weave Artisan Society มองในแง่เรื่องสิ่งแวดล้อม “Weave แตกต่างกันออกไป อาจไม่ได้มองภาพกว้างเท่าทีมอื่น แต่ประเด็นสำคัญเลยคือเรื่องถุงพลาสติก เพราะตอนที่เราออกไปทานข้าวกัน เราเห็นเลยว่าไม่ว่าจะซื้ออะไรก็ตาม แค่ซื้อของหนึ่งอย่าง เขาก็ใส่ถุงพลาสติกแล้ว” 

จูเลี่ยน ตัวแทนจาก Weave Artisan Society ถึงกับพยักหน้าและบอกเราว่า แรงบันดาลใจของโครงการที่เขาทำก็มาจากวันนั้น วันที่เข้าไปทานข้าวแล้วได้รับถุงพลาสติก 

04

Weave Artisan Society

แต่ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้ถึงสิ่งที่ทีมสร้างสรรค์ทีมนี้คิดค้นจนได้รับรางวัล เราควรไปทำความรู้จักกับพวกเขาให้ดียิ่งขึ้นกันก่อน

Weave Artisan Society คือ คือ Creative Hub จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแนวความคิดคือการทำงานร่วมกับชุมชน ตัวแทนอย่างจูเลี่ยนจึงเริ่มเล่าที่มาให้เราได้ฟังกัน 

“เราทำหลายอย่างมาก เราดูทั้งเรื่อง Design and Research หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตก็เป็นจุดมุ่งหมายในการออกแบบของเราด้วย เรามี Design Studio ที่ร่วมมือกับดีไซเนอร์ท้องถิ่นและช่างฝีมือ ซึ่งดูการออกแบบทั้งโครงการขนาดเล็ก ระดับเมือง ถึงโครงการระดับใหญ่

Hackathon รวมไอเดียแก้ไขปัญหาชุมชนนางเลิ้งด้วยการสร้างพื้นที่รีไซเคิลพลาสติกให้ชุมชน

“และการที่เราเชื่อมโยงโครงการเหล่านี้เข้าด้วยกัน คือการดึงเหล่า Artisan หรือช่างฝีมือในเชียงใหม่ให้มาพูดคุยกัน ซึ่ง Weave จะอยู่ไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือของชุมชนที่กว้างขึ้น ซึ่งชุมชนในความหมายของเราไม่ใช่แค่คนที่อยู่รอบๆ ตัว แต่เป็นรอบๆ เมือง”

“ที่เราสนใจจะเข้าร่วมโปรเจกต์นี้ เพราะเราเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำโครงการในกรุงเทพฯ และเมื่อเราลงไปวิจัยกับชุมชนนางเลิ้ง เราเห็นความคล้ายคลึงทางบริบทสังคมระหว่างชุมชนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ กับชุมชนนางเลิ้งที่กรุงเทพฯ แล้วเราก็มีความสงสัยว่าการทำงานที่วัวลายจะมีผลลัพธ์ที่สอดคล้องหรือใกล้เคียงกับที่กรุงเทพฯ ไหม”

ในมุมมองของนักออกแบบชุมชนนางเลิ้งเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เหมือนกับวัวลาย เพราะเป็นชุมชนที่ถูกถักทออย่างพิถีพิถัน เสมือนเป็นจุดกำเนิดของบางสิ่ง เช่นเดียวกับความเป็นล้านนาที่กำลังจะถูกเปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา 

“พอได้มาทำงาน Hackathon ก็รู้สึกสนุกมาก เพราะว่าปกติเวิร์กช็อป ทั่วไปจะโฟกัสที่การออกแบบเป็นส่วนใหญ่ Hackathon จริงๆ ไม่ได้โฟกัสแค่การดีไซน์ แต่เป็น Implementation มากกว่า ว่าจะทำออกมาใช้งานได้จริงได้อย่างไร เพราะว่าผลลัพธ์สุดท้าย ชุมชนต้องใช้ได้ เลยเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับผมและ Weave ด้วย  

“เราไม่ได้มาจากกรุงเทพฯ เราไม่ได้มาจากนางเลิ้ง เรามาทำตรงนี้ด้วยมุมมองของคนอื่น และผมก็คิดว่านี่คือสิ่งที่ทำให้ Weave พิเศษและน่าสนใจ เพราะถ้าเรามาจากกรุงเทพฯ หรือว่าเรามาจากนางเลิ้ง เราอาจจะไม่ได้คิดที่จะทำแบบนี้ก็ได้ ตอนที่เราไปนางเลิ้ง เราไม่มีอะไรในหัวเลย ไม่มีไอเดีย เราแค่เปิดกว้างกับทุกอย่าง เพราะทุกอย่างคือโอกาสและมันมีความเป็นไปได้ 

“หลังจากเข้าร่วม ผมว่าความงามของ Hackathon คือการเปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยกัน หลังจากที่เราเข้าไปคุยกับชุมชนจริงๆ เราก็รู้ว่าพวกเขามีปัญหาเรื่องขยะพลาสติก แล้วเราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมตั้งแต่หัวจรดท้ายปลายทางในการเก็บและจัดการขยะพลาสติก เราเลยเห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนขยะให้เป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าได้”

แต่งานนี้ต้องขอบอกเลยว่าไม่ง่าย เพราะปัญหาแรกที่พวกเขาพบก็คือทำอย่างไรให้คนในชุมชนเก็บขยะถุงพลาสติกมาให้พวกเขาเพื่อนำมาต่อยอด 

Hackathon รวมไอเดียแก้ไขปัญหาชุมชนนางเลิ้งด้วยการสร้างพื้นที่รีไซเคิลพลาสติกให้ชุมชน

“สุดท้ายเราก็ได้มาสองวิธี วิธีการแรก คือการสร้าง Recycling Station ขนาด 1×1 เมตร รอบตลาด เพื่อให้คนหรือลูกค้าที่มาตลาด ช่วยเราแยกขยะตามถังต่างๆ ส่วนวิธีการที่สองจะยากขึ้นมาหน่อย เป็นการเวิร์กช็อปร่วมกันกับชุมชนสอนให้เขาแยกขยะ แล้วเราก็สร้าง Recycling Station ขนาดใหญ่ขึ้น ให้ชุมชนเอาขยะมาแล้วขายให้กับเรา เหมือนเป็นแรงกระตุ้นให้เขาอยากแยก อยากนำขยะมาให้ ไม่ช้าเราก็จะทำให้ชุมชนได้เห็นว่าถุงพลาสติกก็มีค่า จากนั้นเราก็จะสร้างเวิร์กช็อปอีกครั้งในการเปลี่ยนถุงพลาสติกให้เป็นวัตถุดิบและเปลี่ยนให้เป็นวัสดุอื่นๆ ได้ เช่น ผ้าใบกันสาด”

ซึ่งการแปรสภาพขยะถุงพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าใบที่ชุมชนใช้ประโยชน์ได้ก็มีวิธีการทำที่แสนง่ายดาย เพียงแค่ใช้เตารีดเท่านั้นเอง   

“พอได้ถุงพลาสติกมาแล้วก็ใช้เตารีดรีด เพราะตอนที่เราพูดคุยกับทีมงาน เราต้องการทำอะไรที่ชุมชนทำเองได้ ไม่ว่าจะมีดีไซน์ยังไงก็ตาม ต้องง่ายไว้ก่อน จะซับซ้อนหรือยากไม่ได้ เพราะพอเริ่มมีเทคนิคเยอะ คนจะไม่ค่อยสนใจ แค่นำพลาสติกสามสี่ชั้นมาซ้อนกันแล้วรีดก็ เรียบร้อยแล้ว 

“ซึ่งไอเดียการรีดพลาสติกมาจากการร่วมมือกับ Design Local Studio ของ เป่าเป้ (อี้เหิน หวัง) เขาทำงานกับ Precious Plastic ตอนนั้นเราใช้พลาสติกไปสร้าง Pavilion งาน Music Festival ที่สิงคโปร์  เลยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับพลาสติกมาก่อน แต่คราวนี้เราใช้วิธีการที่ต่างออกไป และต้องใช้ความร่วมมือของชุมชน เพราะจุดประสงค์ของเรา คือการส่งต่อความรู้ที่ชุมชนนำไปใช้ได้ในอนาคต เพื่อทำให้เกิดผลกระทบวงกว้างสำหรับชุมชนนางเลิ้งเอง”

จูเลี่ยนมองว่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะทำโปรเจกต์เช่นนี้ เพื่อดูว่าชุมชนจะเปลี่ยนไปในทิศทางใดได้บ้าง เพราะในอีก 2 – 3 ปีอันใกล้ หากชุมชนพัฒนาไปทิศทางอื่น พวกเขาจะเสียโอกาสและความสามารถที่จะทำงานกับชุมชน 

ในฐานะของผู้ที่คลุกคลีกับพื้นที่ เจก็บอกกับเราว่า “ชุมชนเองเขาก็อยากได้โครงการที่มันเกิดประโยชน์กับพื้นที่จริงๆ บางครั้งคนลงไปทำวิจัยแล้วก็ไป คือเหมือนมาเอาไปจากนางเลิ้ง แต่ไม่เคยเอาอะไรมาคืน เขาก็จะรู้สึกว่าถ้าจะเข้ามาทำอะไร ก็ขอให้เกิดประโยชน์กับนางเลิ้งจริงๆ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นด้วย เพราะเราเห็นความสำคัญว่าทำไมชุมชนนางเลิ้งถึงต้องถูกอนุรักษ์ไว้” 

Hackathon รวมไอเดียแก้ไขปัญหาชุมชนนางเลิ้งด้วยการสร้างพื้นที่รีไซเคิลพลาสติกให้ชุมชน

ด้วยความคิดตั้งต้นที่อยากแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาขยะที่พบในชุมชนนางเลิ้ง ทำให้ทีม Weave Artisan Society คิดพัฒนาที่จะทำให้นำเอาขยะมาใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงพัฒนาพื้นที่และสร้างรายได้ให้กับชุมชน

“โครงการนี้มันตอบโจทย์หมดทุกองค์ประกอบ ทั้งสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน ความเป็นไปได้ รวมถึงแผนธุรกิจที่ต่อยอดได้ คือการนำขยะพลาสติกมา Upcycle ให้เป็นวัสดุผ้าใบที่กันน้ำได้ เก๋ตรงที่ใส่ดีไซน์ลงไปได้แล้วแต่จะออกแบบในแง่ศิลปะ แล้วก็ยั่งยืนในแง่ที่ชุมชนทำเองได้ด้วย และจะเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นผ้าใบกันสาดตามบ้าน และตามตลาดได้ 

Hackathon รวมไอเดียแก้ไขปัญหาชุมชนนางเลิ้งด้วยการสร้างพื้นที่รีไซเคิลพลาสติกให้ชุมชน

“รวมถึงเราสามาถสร้างความน่าสนใจให้กับพื้นที่ โดยการให้คนมาใช้งาน สร้างร่มเงา และสร้างพื้นที่ให้กับเด็ก แล้วชุมชนเองก็เรียนรู้เกิดการสร้างรายได้ และพัฒนาเป็นอาชีพต่อได้ด้วย” เจบอกกับเรา

หลังจากได้รับชัยชนะแล้ว งานต่อไปที่ทีม Weave ต้องทำ คือการลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือชุมชนในอีก 1 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะใช้เวลาอีก 6 เดือนพร้อมกับเงินลงทุนที่ได้รับไปทั้งสิ้น 600,000 บาทเพื่อทำให้โปรเจกต์เป็นรูปเป็นร่างและเป็นจริง

แม้โครงการ Hackhathon ที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาชุมชนนางเลิ้งจะเป็นเพียงโครงการเริ่มต้นบนพื้นที่ชุมชนเมือง แต่ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ในประเทศไทย เพราะนอกจากเป็นประโยชน์กับคน ชุมชน ยังเป็นการเปิดขยายความคิดสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมนักคิด นักออกแบบ ในบ้านเราอีกด้วย นี่จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาทั้งคน ทั้งเมือง ให้สร้างสรรค์ได้ไปพร้อมๆ กัน

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'