ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนัก คำว่า Social Distancing หรือการมีระยะห่าง น่าจะเป็นพฤติกรรมและคำพูดติดปากคนทั่วโลกไปอีกนาน จนอาจจะเป็นพฤติกรรมใหม่ของมนุษย์ต่อไปในอนาคต ประมาณว่ายืนคุยกัน นั่งคุยกัน กินข้าวร่วมโต๊ะเดียวกัน อาจต้องมีระยะห่างเพื่อความปลอดภัย

ในความเป็นจริง เราคุ้นเคยกับระยะห่างในธรรมชาติมานานแล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่ได้สังเกต

ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสเดินป่าเป็นระยะทางไกลๆ กับเพื่อนหลายคน สังเกตว่าตอนแรกพวกเราจะเดินด้วยกันไปเงียบๆ สักพักหนึ่งแต่ละคนก็จะเดินทางทิ้งระยะห่างกัน จนไม่ได้เดินใกล้กันอีกต่อไป

เพราะแต่ละคนมีจังหวะก้าวเดินแตกต่างกัน มีระยะห่างกันโดยธรรมชาติของมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องเดินพร้อมเพรียงกัน แต่ไปถึงจุดมุ่งหมายเหมือนกัน

ธรรมชาติสอนให้รู้ว่า บางครั้งคนเราอยู่ใกล้กันมากอาจจะไม่ดี อยู่ไกลกันบ้างก็อาจจะดีกว่า

ในขณะเดียวกันมีบทวิจัยพบว่า แม้จะไม่มีโรคระบาดนี้ มนุษย์แต่ละชาติก็มีระยะห่างที่ไม่อยากให้คนอื่นเข้ามาใกล้เกินไปอยู่แล้ว อาทิ คนอาร์เจนตินา ไม่ต้องการให้คนแปลกหน้าเข้าใกล้เกินระยะ 76 เซนติเมตร ส่วนบรรดาเพื่อนสนิทเข้าใกล้ได้ในระยะ 39 เซนติเมตร 

คนเอเชียอาจจะมีระยะห่างใกล้กว่าคนอเมริกาใต้ ในขณะที่คนเมืองหนาวมีระยะห่างมากกว่าคนเมืองร้อน อันมีสาเหตุจากวัฒนธรรม ภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนด

ระยะห่างของแต่ละคนจึงถือเป็นระยะที่ปลอดภัยด้วย เช่นเดียวกับสัตว์ป่าในธรรมชาติ

ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสเดินป่า ตั้งใจไปถ่ายรูปช้างป่าในป่าใหญ่ รอเวลานานดักซุ่มตามโป่งในธรรมชาติ จนพบช้างป่าเดินออกมาหากินบริเวณนั้น 

ผมยืนถ่ายรูปในระยะห่างเกือบร้อยเมตร อันเป็นระยะห่างที่ปลอดภัยสำหรับทั้งสองฝ่าย ช้างเดินหากินหญ้า มองไปรอบๆ และกินอาหารต่อไป แต่เมื่อผมชะล่าใจเดินเข้าไปใกล้ๆ หวังจะได้ภาพที่ดีขึ้น ช้างตัวใหญ่มีปฏิกิริยาเร็วมาก เมื่อรู้ว่าระยะห่างระหว่างผู้มาเยือนต่างสายพันธุ์เริ่มผิดปกติ ช้างกางหูขึ้นทันที เป็นการเตือนว่าอย่าเข้ามาใกล้กว่านี้ จนผมชะงักยอมถอยห่างออกมา

ความจริงแล้ว Social Distancing ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาเนิ่นนานในธรรมชาติ

การรักษาระยะห่างเป็นเรื่องของความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ และบางทีมิตรภาพในธรรมชาติอาจขาดสะบั้นลง หากระยะห่างถูกละเมิด 

ระยะห่างแบบนี้ บางท่านเรียกว่า ระยะแห่งการให้เกียรติ หรือระยะที่ได้รับการอนุญาต

ระยะห่างระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์นี้ บอกไม่ได้ว่าห่างกันเท่าไร เพราะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและภูมิหลังของสัตว์แต่ละชนิดด้วย

ในประเทศที่มีการล่าสัตว์มาก ระยะห่างระหว่างคนกับสัตว์ป่าอาจจะห่างกันมากกว่าในประเทศที่ไม่ค่อยมีการล่าสัตว์ เพราะสัตว์ป่าย่อมคุ้นชินกับอันตรายจากสัตว์แปลกหน้าแตกต่างกัน

ในประเทศอินเดียที่ไม่มีการล่านก นักดูนกเข้าใกล้นกได้มากกว่าการดูนกในประเทศลาวที่การล่านกเป็นเรื่องปกติ

ครั้งหนึ่งผมเคยถ่ายรูปนกกระเรียนในธรรมชาติ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ ผมค่อยๆ แหวกพงหญ้าเคลื่อนเข้าไปใกล้นกกระเรียนกลางทุ่ง จนถึงระยะห่างที่ปลอดภัยสำหรับนก ที่ยังเดินหาหอยกินได้อย่างอิสระ แต่พอผมเคลื่อนไปข้างหน้าหลายก้าว นกกระเรียนก็เดินถอยห่างออกไปเช่นกัน และบางครั้งยังส่งเสียงร้องเตือนไม่ให้เข้าใกล้กว่านี้

ราวกับจะบอกผมว่า หากอยากรู้จักกัน เรียนรู้กัน ก็ควรมีระยะห่างเพื่อความปลอดภัยของทั้งสองฝ่ายนะ

การมีระยะห่างเพื่อความปลอดภัยของสัตว์ด้วยกันเองนั้น ยังพบเห็นได้ทั่วไปในธรรมชาติ อาทิ ม้าลาย ยืนระยะห่างและหาอาหารร่วมกับสิงโตได้ในพื้นที่เดียวกัน แต่หากสิงโตเข้ามาใกล้เกินไป ม้าลายรับรู้ถึงอันตรายได้ จะวิ่งหนีห่างออกไปอยู่ในระยะที่ปลอดภัยกว่า

ความจริงแล้ว Social Distancing ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาเนิ่นนานในธรรมชาติ
ภาพ : ทรงกลด บางยี่ขัน

ระยะห่างของสัตว์ ยังหมายรวมไปถึงความปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคแบบที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันด้วย

ใน ค.ศ. 1966 เจน กูดดอลล์ (Jane Goodall) นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังได้สำรวจพฤติกรรมของลิงชิมแปนซีในอุทยานแห่งชาติ ประเทศแทนซาเนีย สังเกตเห็นพฤติกรรมชิมแปนซีชื่อแม็กเกรเกอร์ ที่ติดเชื้อโปลิโอจากเชื้อไวรัส และบันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง In the Shadow of Man ค.ศ. 1971 ว่า 

“สมาชิกตัวอื่นในฝูงเริ่มทำร้ายและขับไล่แม็กเกรเกอร์ออกจากฝูง และเมื่อฝูงชิมแปนซีนั่งรวมกลุ่มเพื่อหาปรสิตบนตัวของกันและกันอยู่ใต้ต้นไม้ แม็กเกรเกอร์พยายามเข้าไปทักทายสมาชิกในฝูง แต่กลับได้รับการตอบรับอย่างเฉยเมย ด้วยการไม่ทักทายและเดินจากไปโดยไม่หันหลังกลับมามอง”

การขับไล่ลิงที่ติดเชื้อโรค คือการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปในฝูงลิงชิมแปนซี ยังมีสัตว์หลายชนิดที่ใช้วิธีรักษาระยะห่างจากสัตว์ที่ติดเชื้อโรค รวมไปถึงการไล่สัตว์เคราะห์ร้ายตัวนั้นออกจากฝูง

นอกจากสัตว์แล้ว ต้นไม้ยังมีปรากฏการณ์การรักษาระยะห่างบนเรือนยอดต้นไม้เช่นกัน ไม่ใช่เพื่อความปลอดภัย แต่เพื่อความอยู่รอด

เวลาเดินป่า หากลองแหงนหน้าขึ้นดูเรือนยอดของต้นไม้ต่างๆ ที่เป็นชนิดเดียวกัน จะเห็นว่าเรือนยอดต้นไม้ที่แม้จะขึ้นหนาแน่นเพียงใด แต่ก็ไม่แผ่กิ่งก้านสาขามาชิดกัน มีระยะห่างเสมอ

ความจริงแล้ว Social Distancing ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาเนิ่นนานในธรรมชาติ

ระยะห่างกิ่งก้านสาขาของต้นไม้มีชื่อเรียกว่าปรากฏการณ์ Crown Shyness หรือ ‘ปรากฏการณ์ต้นไม้ขี้อาย’ เป็นปรากฏการณ์ที่เรือนยอดของต้นไม้ชนิดเดียวกัน สูงใกล้เคียงกัน จะเว้นระยะห่างตรงเรือนยอดแต่ละต้น ราวกับว่าต้นไม้อายกันไม่กล้าใกล้ชิดกันมากกว่านี้ นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า มีเหตุผลเพื่อเปิดช่องว่างให้แสงแดดส่องลงถึงพื้นดินได้ ให้ต้นไม้หรือลูกไม้ด้านล่างได้รับแสงสว่างพอเพียงในการเจริญเติบโต และระยะห่างยังเป็นการลดการติดต่อของแมลงจากต้นไม้อื่นที่จะมาทำอันตรายได้

การเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย เพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าพืชหรือสัตว์ จึงเป็นเรื่องของธรรมชาติจัดสรรโดยแท้ ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว