อันยองอาเซโย

“พี่ๆ สมาชิกคะ รู้ไหมคะว่าคนเกาหลีรักคนไทย เพราะไทยเคยส่งกองกำลังทหารมาช่วยเกาหลีรบ…”

เสียงบรรยายของไกด์ประจำทริปการเดินทางมาเกาหลีครั้งที่ 2 (ในรอบไม่เกิน 1 เดือน) ของฉัน ชวนหวนนึกถึงประโยคเดียวกันที่เคยฟังจากท่านสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เมื่อครั้งมีโอกาสไปร่วมงาน So Thai Festival ในฐานะผู้สื่อข่าว นั่นเป็นครั้งแรกและรอบแรกของการมาเยือนแดนโสมขาวของฉัน

“ไทยเป็น 1 ใน 16 ประเทศที่ส่งทหารเข้าไปร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติเพื่อสู้กับเกาหลีเหนือที่บุกรุกเข้ามายึดเกาหลีใต้ คนเกาหลีที่อยู่ในรุ่นคุณปู่ของคนปัจจุบัน หรือรุ่นคุณพ่ออายุเยอะๆ เขาก็จะมีความประทับใจหรือว่าซาบซึ้งในบุญคุณของประเทศทั้งสิบกว่าประเทศที่มาช่วยเขาสู้รบ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ฉะนั้น คนเกาหลีเขาก็จะรู้จักประเทศไทยตั้งแต่ก่อนเราสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเขาเสียอีก เมื่อเราเจอคนเกาหลีรุ่นผู้ใหญ่ๆ พอบอกว่าเราเป็นคนไทย มาจากประเทศไทย เขาก็จะขอบคุณเราก่อนเลย”

แม้ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ฉันได้มีโอกาสมาร่วมงาน So Thai Festival แต่งานนี้จัดเป็นครั้งที่ 5 แล้ว และถึงจะเคยจัดมาหลายรอบ แต่รอบนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ตั้งแต่การย้ายมาจัดปลายเมษายนช่วงเวลาที่อากาศเป็นใจ ไปจนถึงการชวนศิลปินไทยรุ่นใหม่ บอกเล่าความเป็นไทยด้วยภาษาใหม่ๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน

เชื่อว่าถ้าให้ทุกคนคิดถึงนโยบายการทูตแบบ Soft Diplomacy คำตอบในใจหลายคนคงไม่พ้นการจัดงานโดยใช้รากเหง้าความเป็นไทยอย่างศิลปะ การแสดง ดนตรี หรืออาหาร เป็นเครื่องมือ แต่สำหรับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ปีนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้น ทุกกิจกรรมนำเสนอความเป็นไทยที่ร่วมสมัย ชวนตื่นเต้นและสนุกตั้งแต่เห็นโปสเตอร์งาน นี่ยังไม่นับรูปแบบกิจกรรมสนุกๆ และใกล้เคียงกับไลฟ์สไตล์ของคนเกาหลีใต้ เช่น สตรีทอาร์ต EDM สตรีทฟู้ด สินค้าจากไทยดีไซเนอร์ที่รวบรวมมาไว้ใจกลางเมืองอย่างลานคลองเกยชอน พลาซ่า

อยากรู้แล้วใช่ไหมว่างานในวันนั้นเป็นอย่างไร และศิลปินไทยรุ่นใหม่เขาพกอะไรไปอวดสายตาชาวเกาหลีจนเผลออุทานว่า แทบักกกก! (สุดยอด!)

ถ้ายังไม่เชื่อ

ตามมาเร็วๆ คาจา!

ครั้งแรกของความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง

ก่อนอื่น ขอปูพื้นฐานกันสักนิด ประเทศไทยกับประเทศเกาหลีใต้สถาปนาความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่เมื่อ 61 ปีที่แล้ว หากนับรอบอายุคนก็เลยวัยแซยิดมาหมาดๆ ซึ่งถือว่ายาวนานในระดับหนึ่ง แต่อันที่จริงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีมายาวนานก่อนหน้านั้น จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้สามารถย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยยุคโบราณ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งสองฝ่ายเคยติดต่อกันตั้งแต่สมัยยังเป็น “อาณาจักรโครยอ” กับ “อาณาจักรอยุธยา” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2493 หรือ ค.ศ. 1950 ซึ่งเป็นปีที่เกิดสงครามเกาหลีขึ้น ในปีนั้นมีการตั้งกองกำลังสหประชาชาติขึ้นมา ไทยส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับอีก 15 ประเทศ สงครามกินเวลาประมาณ 3 ปี จวบจน ค.ศ. 1953 หรือ พ.ศ. 2496 ก็สงบลง แม้ยังไม่ใช่การยุติสงคราม เป็นแค่สนธิสัญญาสงบศึก แต่สถานการณ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ก็ดีขึ้น

นั่นจึงเป็นประเด็นที่คนเกาหลีประทับใจอยู่ในความทรงจำ เขาคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบุญคุณ และมิตรภาพที่สำคัญ เป็นพื้นฐานที่สนับสนุนความมั่นคงและสันติภาพของประเทศมาจนกระทั่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต อย่างที่บอกคนเกาหลีชอบเมืองไทย รู้จักประเทศไทยดี การันตีจากในปีที่แล้วมีชาวเกาหลีใต้มาเที่ยวเมืองไทยประมาณ 1.8 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นอันดับ 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาประเทศไทย เป็นรองก็แค่สาธารณรัฐประชาชนจีนและมาเลเซียเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนกับประชากรที่มีเพียง 50 ล้านคนแล้ว ถือเป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เคยมาเยือนไทยที่สูงมาก และการเป็นชนชาติที่รู้จักเมืองไทยดีถือเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีมาจนปัจจุบันนี้

ครั้งแรกของ Thai Festival ที่ลองชวนศิลปินรุ่นใหม่มาร่วมวงด้วย

แม้ความสัมพันธ์จะมีมายาวนาน คนเกาหลีใต้เองก็รู้จักเมืองไทยดีอยู่แล้ว แต่สถานเอกอัครราชทูตฯ ก็ยังอยากให้คนเกาหลีรู้จักประเทศไทยในมุมมองใหม่ๆ ที่มากกว่าวัดพระแก้ว ผัดกะเพรา และต้มยำกุ้ง คนเกาหลีใต้เป็นคนแอ็กทีฟ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ค่อนข้างชื่นชอบศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ในเกาหลีใต้ ‘ลุค’ หรือ ‘แพ็กเกจ’ สินค้า จึงเป็นสิ่งที่จะดึงดูดสายตาคนที่แอ็กทีฟอย่างคนเกาหลี ไทยเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ของเกาหลีใต้ มีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีเป็นทุนอยู่แล้ว แต่เรายังมีพื้นที่อีกมากให้สองประเทศพัฒนาความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันอีก ไทยจึงต้องหามุมการนำเสนอหรือจุดประกายให้เขาเห็นชัดๆ ว่าเรามีอะไรน่าสนใจ

สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าการจัดงานเทศกาลไทยที่เมืองเดิม โดยมีกิจกรรมในงานซ้ำๆ เป็นสิ่งที่ไม่อัพเดต จึงต้องการทำอะไรแหวกแนวบ้าง เมื่อผ่านการเคาะไอเดียใหม่จนลงตัวที่ธีม ‘So Thai’ ขั้นตอนต่อไปคือการประชุมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอว่าจะทำอย่างไรให้งานสอดคล้องกันกับหัวข้อที่คิดไว้

จึงเป็นที่มาของการจัดงานเทศกาลไทยในปีนี้ซึ่งเน้นการนำเสนอประเทศไทยในแง่มุมที่ทันสมัยและแปลกใหม่ เต็มไปด้วยสีสันและความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งสะท้อนถึงความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยใส่รูปแบบกิจกรรมที่ใกล้เคียงกับไลฟ์สไตล์ของคนเกาหลีใต้เอาไว้

ตลอดทั้ง 2 วันของการจัดงาน ฉันเลยได้เห็นทั้งการแสดงนาฏศิลป์ปกติของไทย แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีวงดนตรีหรือการแสดงที่ร่วมสมัย เป็นศิลปะสมัยใหม่หลากหลาย เช่น ตอนพิธีเปิดมีการแสดง live painting ของ Alex Face ระหว่างงานมีโชว์จาก KAAN Show โชว์จากแพรวาจีจี้ เกิร์ลกรุ๊ปสาวไทยหัวใจกาฬสินธุ์ การเปิดมินิคอนเสิร์ตของคุณแม่บานเย็นและแคนดี้รากแก่น ปิดท้ายด้วย EDM จาก DJ Machina หรือแม้แต่โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานเทศกาลไทยที่มีดีไซน์สะดุดตาฉันตั้งแต่แรกเห็น แตกต่างไปจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และทุกงานเทศกาลไทยที่ผ่านมา

“บางส่วนเราก็ได้การสนับสนุนจากภาคเอกชน ทั้งการบินไทยและไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้กรุณานำศิลปินแห่งชาติมาร่วมงานด้วย เนื่องจากเป็นนโยบายของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ อยู่แล้วที่สนับสนุนศิลปินแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงให้เกียรติมาร่วมงาน 2 ท่าน คือ บานเย็น รากแก่น พอพูดปุ๊บใคร ๆ ก็รู้จัก แล้วคนไทยที่อยู่เกาหลีจำนวนเป็นแสนก็คงอยากจะมาได้มาฟัง มาชม มาเห็นตัวจริงของท่าน

“อีกท่านคือ อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ท่านมีความเชี่ยวชาญและเป่าขลุ่ยได้ไพเราะ ท่านก็กรุณามาแสดงในงานด้วย”

กิจกรรมและการแสดงก็มีแล้ว ที่ขาดไม่ได้เลยคืออาหารไทย โดยปีนี้หยิบเรื่องราวของสตรีทฟู้ดมาเล่า ในงานนี้เลยได้เห็นทั้งลูกชิ้นปิ้งเสียบไม้ ส้มตำ ผัดไทย ยำวุ้นเส้น ยำมาม่า เบียร์ไทย ไปจนถึงชาไทยตรามือที่แถวยาวเหยียดตลอดทั้งวัน

“อาหารไทยนี่เป็นการบูรณาการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ที่ไปติดต่อร้านอาหารไทยมาร่วมในงาน โดยหลักจะเป็นร้านอาหารไทยที่อยู่ในเกาหลี เราก็ต้องการให้คนเกาหลีเขาได้รู้จักอาหารไทยที่เป็นของแท้ ของจริง เพราะฉะนั้น ร้านอาหารไทยที่มาออกงานในเทศกาลของเราจะเป็นร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Select ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงพาณิชย์ที่ให้การรับรองร้านอาหารที่มีการกำหนดว่ารสชาติต้องเหมือน วัตถุดิบต้องใช้ของไทย บรรยากาศร้านต้องมีความเป็นไทย เลยจะมี 7 – 8 ร้านที่เห็นกัน” ท่านสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เล่าถึงภาพรวมการจัดงานครั้งนี้ให้ฟัง

และนอกจากการโปรโมตให้ชาวแดนกิมจิรู้จักประเทศไทยในมุมมองใหม่ๆ แล้ว เบื้องหลังของ So Thai Festival ยังเป็นเทศกาลไทยแลนด์ 4.0 เพื่อส่งเสริมภาคเศรษฐกิจในอนาคต

“เราก็ต้องการให้คนเกาหลีเขาได้เห็น ได้รู้จักประเทศไทยในมุมมองใหม่ๆ นอกเหนือจากมุมมองที่เป็นไทยดั้งเดิม ไทยแบบคนเกาหลีรุ่นก่อนๆ ให้เขาเห็นว่าขณะที่ประเทศเกาหลีพัฒนาไปเรื่อยๆ เราก็มีพัฒนาการของเราและอยู่ในช่วงที่พยายามปรับตัวของไทยแลนด์ 4.0 มีนวัตกรรม มีธุรกิจที่ใช้องค์ความรู้มากขึ้น ต่อยอดไปสู่การที่จะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในสาขา ในแขนงที่ประเทศไทยให้การสนับสนุน อย่าง EEC (Eastern Economic Corridor โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก)

“ที่เราพยายามโปรโมต EEC เพราะเชื่อว่าประเทศเกาหลีมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีบริษัทผลิตรถยนต์ต่างๆ เมื่อเขารู้จักประเทศไทยเขาก็จะได้มาลงทุนเพิ่มเติมในเมืองไทย ในสาขาที่ใช้นวัตกรรมมากขึ้น เทคโนโลยีที่สูงขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หวังว่าจะทำให้ภาคเอกชนเกาหลีรู้จักประเทศไทยในมุมมองที่กว้างขึ้น

“การมีศิลปิน มีการนำเสนอเกี่ยวกับประเทศไทยให้คนเกาหลี หรือคนไทยที่อยู่เกาหลีได้มามีประสบการณ์ชื่นชมร่วมกัน จึงเป็นหัวใจของงานนี้” ท่านสิงห์ทอง กล่าวปิดท้าย

ครั้งแรกของโปสเตอร์งาน Thai Festival ที่ออกแบบโดยศิลปินเลือดใหม่ กช กชวัช

อย่างที่บอก โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งาน รวมถึงกราฟิกภาพรวมของงานสะดุดตาตั้งแต่ก่อนได้มาเห็นที่งานจริง เมื่อได้โอกาสฉันก็รีบหาตัวผู้ออกแบบเพื่อคุยด้วยทันที

กช-กชวัช บูรณภิญโญ คือศิลปินหน้าใหม่ที่เพิ่งมีนิทรรศการแสดงผลงานครั้งแรกของตัวเองไปหมาดๆ เด็กสถาปัตย์ผู้หลงรักลายไทยและหลงรักวิชาศิลปะตั้งแต่อนุบาลคนนี้ เขาเป็นนักวาดภาพประกอบที่มีฟูลไทม์เป็นศิลปิน และเขาคือผู้รับหน้าที่ออกแบบกราฟิกภายในงาน Thai Festival ทั้งหมด

นอกจากสารพัดภาพในวงกลมที่มองเผินๆ เหมือนเป็นภาพเหมือนลายไทยอย่างลายกระหนกซ้อนอยู่ แต่ถ้าเพ่งดูอย่างละเอียดจะเห็นเป็นศิลปะใหม่ๆ โลดแล่นอยู่ในนั้น ทั้งคาแรกเตอร์เด็กน้อยสามตาของ Alex Face อาหารไทย ผลไม้ และการแสดงนาฏศิลป์ของไทย ทั้งหมดนี้ ถูกรวมไว้ใน ‘ซัม-แทกึก’ (Sam-Taegeuk) ตราสัญลักษณ์รูปหยินหยางสามสีที่คล้ายกับในธงชาติเกาหลี

“ตัวโปสเตอร์ของงานคอนเซปต์คือไทยกับเกาหลี ผมพยายามหาสัญลักษณ์ของเกาหลีที่ทั้งคนไทยและคนเกาหลีเข้าใจได้ง่าย เลยเลือกหยิบความเป็นเกาหลีเชิงสัญญะของ ซัม-แทกึกใช้ และตัวพื้นหลังของโปสเตอร์ก็จะเป็นลายไทยดั้งเดิม เปรียบเสมือนประเทศไทย ส่วนลายไทยประยุกต์ที่เข้ามาในพื้นที่ของซัม-แทกึก ก็เปลี่ยนจากลายไทยเดิมเป็นลายไทยที่มีความสนุกสนาน มีชีวิต

“ภายในซัม-แทกึก แบ่งออกเป็น 3 ส่วน มีสีเหลือง แดง น้ำเงิน ในแต่ละส่วนก็จะบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ที่นี่ เช่น สีแดงแสดงออกถึงอาหาร ก็จะมีภาพของอาหารอยู่ สีเหลืองก็จะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เป็นศิลปะยุคใหม่ของไทย ส่วนสีน้ำเงินก็จะเป็นการแสดงต่างๆ ความเป็นไทยในเกาหลี ในกรุงโซล

“พอเรานำสิ่งที่เป็นไทยมาอยู่ในซัม-แทกึก สัญลักษณ์ประเทศเกาหลี แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวระหว่างไทยกับเกาหลีเกิดขึ้นในไทยเฟสติวัลครั้งนี้”

ครั้งแรกของ Alex Face ที่ได้ทำ Live Painting บนเวที

“ปกติจะเพนต์กำแพงกลางแดดตลอด” (หัวเราะ)

Alex Face หรือ พัชรพล แตงรื่น ศิลปินสตรีทอาร์ตเจ้าของคาแรกเตอร์เด็กหญิงสามตาหน้าบึ้งที่ปรากฏตัวบนกำแพงมาแล้วทุกมุมเมืองไทย ในงานนี้เขาไม่ได้พาน้องสามตาหน้าบึ้งตึงมาแต่อย่างใด เขาพาสองคาแรกเตอร์สีต่างขั้วอย่างขาวและดำ ที่เปรียบตัวหนึ่งเหมือนเกาหลีเหนือส่วนอีกตัวเป็นเกาหลีใต้กอดกันด้วยท่าทีอบอุ่น ยิ้มแย้ม และภาพที่ว่านี้เป็นงานเขาเพนต์ให้ชมสดๆ บนเวทีเป็นครั้งแรกในชีวิต

“ก่อนหน้านี้มีข่าวเรื่องเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้เริ่มจะกลับมาจับมือกัน เราเลยเลือกสื่อคาแรกเตอร์ด้วยสีที่ไม่เหมือนกัน สื่อถึงความต่าง ตัวหนึ่งขาว ตัวหนึ่งดำ ถึงมันจะต่างกันแต่ว่ามันก็ยังสามารถที่จะรักกันได้ กอดกันได้ อยากให้ออกไปในแง่ของ Positive มากกว่า ให้คนเห็นแล้วรู้สึกแบบมีอารมณ์ที่ Positive”

ถ้าพูดว่าเขาคือศิลปินที่เจนเวทีก็คงไม่ผิด แล้วอะไรคือความท้าทายของงานนี้ เราถามด้วยความสงสัย

        ความท้าทายสิ่งหนึ่งคือการต้องมายืนพ่นบนเวที จะต้องยืนพ่นต่อหน้าที่คนเฝ้าดู ซึ่งต้องมีสมาธิเยอะหน่อย ไม่เหมือนตอนเราทำงานปกติที่แค่ใช้เวลาของเราไป แต่อันนี้มีเวลาจำกัด ทำให้เราต้องวางแผน การ Live Painting เช่นโชว์นานไปก็อาจจะน่าเบื่อ เร็วไปก็อาจจะแบบ เห้ย เสร็จแล้วเหรอ เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนที่เขาดูเห็นว่าเรากำลังทำ Live Painting เห็นกระบวนการที่มันแบบสนุกด้วย ไม่น่าเบื่อเกินไป ไม่นานเกินไป และไม่ช้าเกินไป อย่างชิ้นที่ทำอยู่เราเว้นพื้นที่ขนไว้ เพื่อหลังทำจะได้เห็นความแตกต่างว่ามันมีอะไรเปลี่ยนไปในงาน ไม่ใช่เสร็จแล้ว แค่เราขึ้นไปเติม ทำท่าว่าเราแค่ไปยืนเติมนั้นนิดหน่อย”

แล้วในความคิดเขาอยากให้คนเกาหลีมองภาพเมืองไทยแบบไหน เราถามต่อ

“เราว่าในสมัยนี้การเอาแบบความเป็นไทย ที่พูดถึงลายกระหนก ลายไทย หรืออะไรที่เหมือนแบบไทยจ๋าๆ เรารู้สึกว่าคนเขารับรู้หมดแล้ว คราวนี้เลยอยากให้เห็นว่าความเป็นไทยสามารถไปอยู่กับนานาชาติได้เหมือนกัน เช่น กราฟฟิตี้ หรือ District Art ไม่ใช่จำกัดแค่ว่าเราจะทำแบบไท้ยไทยอย่างเดียว โลกสมัยนี้มันเชื่อมต่อกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะที่ไหนสื่อสารกันได้หมด”

หลังจบงาน ภาพที่เขาเพนต์นี้จะนำไปติดที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เชื่อไหมว่าระหว่างที่เขาอยู่ด้านล่างเวที ชาวเกาหลีมาทักทายและขอถ่ายรูป ไปจนถึงขอลายเซ็นเขาไม่ขาดสาย เชื่อแล้วจริงๆ ว่า Alex Face และสตรีทอาร์ตเป็นแม่เหล็กดึงดูดของงานอีกหนึ่งคน

ครั้งแรกของ Bearbrick ตัวแรกที่เอ็ม ภาคภูมิ เพนต์ได้มาเยือนเกาหลี

แฟน Bearbrick ต้องเคยผ่านตาผลงานของ เอ็ม-ภาคภูมิ เจริญพานิชย์ แห่ง KHRAM Factory ผู้เปลี่ยนของเล่นให้กลายเป็น Custom Toy จากการเติมศิลปะจากลวดลายไทยๆ มาบ้างแล้วแน่ๆ ความพิเศษครั้งนี้คือเขาพาตัวหนุมานในร่าง Bearbrick ซึ่งเป็นงานชิ้นแรกที่เขาลงมือวาด บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้ชาวเกาหลีชมถึงที่

“ตัวหนุมาน แนวคิดคือการนำความเป็นไทยในอดีตเข้ามาร่วมอยู่กับปัจจุบัน แรกเริ่มมาจากการที่เราคิดว่าถ้าใครอยากดูงานแบบไทยๆ อาจจะต้องไปที่วัดหรือพิพิธภัณฑ์ แต่ถ้าเขาได้ดูงานนี้ในของเล่นมันก็จะได้เรื่องความสนุก และเราก็คิดว่าการเอาเอกลักษณ์ไทยๆ หรือลายไทยเข้าไปใส่ในนั้น เราอยากให้มันจะพาความเป็นไทยไปสู่สายตาคนอื่นโดยที่ไม่ต้องไปดูในวัด ส่วนคนเล่นของเล่นก็จะได้ดูไปด้วย ได้เข้าถึงวัฒนธรรมของไทย ลวดลายไทย ศิลปะไทย ได้อีกทาง”

นอกจาก Bearbrick ตัวแรกที่เขาวาดลวดลายแบบไทยๆ แล้ว ในงานนี้เขายังหยิบเอา Bearbrick ที่ผ่านการเพนต์หลากหลายคาแรกเตอร์มาด้วย เช่น พญาครุฑสีแดง ลายเครื่องครามไทยอย่างลายตาสับปะรดขนาด 1,000 เปอร์เซ็นต์ไปจนถึงตัวที่ทดลองทำงานผ้าให้เจ้า Bearbrick สวมด้วย

ครั้งแรกของคนเกาหลีที่ได้แดนซ์ EDM ผสมดนตรีไทยกลางลานคลองชองกเยชอน

ไม่คิดว่าการแสดงปิดท้ายวันของงาน So Thai Festival จะเป็นงานคอนเสิร์ตขนาดย่อมของ DJ Machina กับแนวดนตรี EDM หาใช่วงดนตรีไทยเดิมแบบที่คิดไว้เลยสักนิด

EDM ย่อมาจาก Electronic Dance Music คือแนวเพลงอิเล็กทรอนิกที่สามารถนำมาเต้นรำได้ แต่ของ DJ Machina ล้ำไปกว่านั้น เขานำดนตรีไทยมาผสมกับ EDM ทั้งโปงลาง ระนาด ขลุ่ยไทย ที่ดึงสเน่ห์ของเครื่องดนตรีไทยของมาด้วยซาวนด์ที่แปลกหูแต่รวมกันอย่างลงตัว

DJ Machina แจ้งเกิดจากการเอาเพลงดนตรีไทยมาผสมกับ EDM ในเพลงโปงลางมอนสเตอร์ ซึ่งเป็นเพลงแรกที่เขาแต่งโดยนำเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานอย่างโปงลาง มาลองประยุกต์ กับดนตรีแนว Electro House เพลงนี้เองส่งให้ได้ขึ้นเวทีระดับโลกอย่าง Arcadia : The Bangkok Landing

แต่เดี๋ยวก่อน โน้ตของเครื่องดนตรีสากลมี 8 โน้ต ส่วนเครื่องดนตรีไทยมีเพียง 5 โน้ต เขาทำได้อย่างไร

มันยากในขั้นตอนแต่งครับ ว่าเราจะทำอย่างไรให้มันอยู่ในฐานความพอดี ไม่ให้ดูไทยเกินไปจนเราไม่สามารถนำมาเบลนด์กับ EDM ได้ แล้วความยากอยู่ที่ตัวโน้ตของเครื่องดนตรีไทยระบบเสียงเขาจะไม่เหมือนกับสากล ซึ่งเป็น Diatonic Scale (ไดอาโทนิค สเกล) เป็นสเกลที่มี 8 โน้ต แต่ของไทยมีแค่ 5 โน้ต เรียกว่า Pentatonic Scale (เพนทาโทนิค สเกล) แล้วก็วิธีการจูนโน้ต ความยากของความถี่ก็จะไม่เหมือนกันด้วย

อย่างเช่นไปตอนไปอัดระนาดเอก โน้ตที่ตีจะไม่ตรงกับโน้ตในเปียโน ผมก็ต้องให้มือระนาดจูนตะกั่วใหม่ เพื่อให้โน้ตในระนาดที่เวลาตีไปตรงกับบอร์ดเปียโน ความยากก็จะอยู่ในขั้นตอนนี้”

เมื่อฉันถามเขาว่า อยากให้ชาวเกาหลีเข้าถึงความเป็นไทยแบบไหนในสายตาเขา คำตอบที่ได้ทำให้สายตื๊ดอย่างฉันรีบกรอกใบสมัครเป็นแฟนคลับเขาทันที

“ผมว่าถ้าอยากให้คนเกาหลีเข้าถึงความเป็นไทยอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของเพลงนี่แหละครับ เพลงไทยเป็นเพลงที่มีเสน่ห์มาก ด้วยความที่มีระบบเสียงของตัวเอง มีเครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ เราอยู่ในยุค 2019 เราก็ต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นสื่อกลาง ทำให้เขาเข้าใจได้ง่ายขึ้น ทำให้เขาบริโภคได้ง่ายขึ้น

“ผมก็เหมือนเป็นหนึ่งในตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่อยากจะส่งดนตรีไทยเพื่อให้ชาวต่างชาติได้เห็น ไม่ต้องคนเกาหลีก็ได้ ผมอยากเอาดนตรีไทยเนี่ยแหละมาใส่ในดนตรีของ EDM ดนตรีที่อยู่ในกระแส ณ ขณะนี้ ทำให้ส่งไปถึงคนได้ง่ายขึ้น คนก็จะ อ๋อ นี่ดนตรีไทยนะ เอามาเต้นได้ด้วยนิ”

จากที่ได้เห็นวัยรุ่นหนุ่มสาว เด็กน้อย อาจอชิ และอาจุมม่า ออกเสต็ปกันแบบไม่มีใครยอมใครตลอด 90 นาที ก็เชื่อสุดใจเลยว่าภาษาของโลกแห่งเสียงดนตรีเชื่อมคนให้เข้าถึงกันโดยไม่ต้องสื่อสารด้วยภาษาใดๆ

ตลอด 2 วันที่อยู่ในงาน และหลังการเดินทางไปเกาหลีครั้งนั้น ฉันบอกกับตัวเองว่าจะต้องกลับมาอีก

รู้ตัวอีกที ฉันก็หลงรักเกาหลี (และอปป้า) และกำลังจะเดินทางไปเป็นครั้งที่ 3  (ในรอบไม่เกิน 1 เดือน) อีกแล้ว

อันยองและฮันกุก ซารังแฮโย

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล