Snowpiecer (2020)

ประเภท Post-Apocalyptic Dystopian Thriller

ประเทศ United States of America

โปรดิวเซอร์ Scott Derrickson, Bong Joon-ho, Dooho Choi และ Miky Lee

ผู้เขียนบทโทรทัศน์ Bong Joon-ho และ Kelly Masterson

นักแสดงนำ Jennifer Connelly, Daveed Diggs, Mickey Sumner และ Alison Wright

ความยาว ออกอากาศถึงตอนที่ 4

*บทความนี้เป็นบทวิเคราะห์ เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์และ 2 ตอนแรกของซีรีย์*

01

Parasite ชนชั้นปรสิต ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์มาหมาดๆ เมื่อต้นปี ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ บงจุนโฮ (Bong Jun Ho) หยิบประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสัมคมและชนชั้นมาบอกเล่า ผลงานที่ผ่านมาของเขาขับเคลื่อนด้วยประเด็นนี้เสมอ ผ่านพล็อตเรื่องแปลกใหม่ที่ผสมผสานทั้งความ Real และ Surreal เข้าไว้ด้วยกัน เพราะแม้พล็อตและมุมมองในหนังหลายๆ เรื่องของเขาจะมีความแฟนตาซีอยู่ แต่มันก็ช่างคลับคล้ายคลับคลาโลกทุนนิยมใบนี้เสียจริงๆ

หลายคนอาจไม่รู้ว่าบงจุนโฮเคยกำกับ Snowpiercer (2013) ภาพยนตร์ที่มีนักแสดงฮอลลีวูดแถวหน้าอย่าง คริส อีแวนส์ (Chris Evans) และ ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) รับบทนำมาแล้ว หนังเรื่องนี้นำพล็อตเรื่องโคตรล้ำจากคอมมิกสัญชาติฝรั่งเศส Le Transperceneige (1982) มาดัดแปลง 

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น, Bong Jun Ho, บงจุนโฮ

โดยบอกเล่าเรื่องโลกใบใหม่ของมนุษยชาติ ที่สร้างขึ้นบนขบวนรถไฟที่จะวิ่งวนรอบโลกตลอดกาลเพื่อเอาตัวรอด เมื่อโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็งใหม่จากการกระทำของมนุษย์ ขนวนเหตุของวับัติภัยครั้งนี้มาจากการที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก พยายามหยุดยั้งวิกฤตโลกร้อน ด้วยการปล่อยสารเคมีสร้างความเย็นที่คิดค้นขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่คิด อุณหภูมิลดลงเรื่อยๆ จนต่ำกว่าจุดที่สิ่งมีชีวิตจะดำรงอยู่ได้ โลกทั้งใบจึงล่มสลายลงจากสภาพอากาศเยือกแข็งภายนอก สิ่งมีชีวิตทุกชนิดสูญสิ้น

มีคนเพียงหยิบมือเดียวที่ได้ขึ้นขบวนรถไฟแห่งอนาคต สัญญะเรื่องความเหลื่อมล้ำของคนต่างชนชั้นในหนังเรื่องนี้ ถูกบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา ผ่านสภาพความเป็นอยู่ การเลือกปฏิบัติ และโอกาสที่ได้รับซึ่งต่างกันราวฟ้ากับเหว แม้ว่าจะอยู่บนรถไฟขบวนเดียวกันก็ตาม 

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น
Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น

คนหัวขบวนหรือคนรวยอยู่ตู้หน้า ใช้ชีวิตหรูหราสุขสบายไปด้วยสิ่งอำนายความสะดวก ในขณะที่คนท้ายขบวน ห่วงโซ่ที่ต่ำที่สุดบนรถไฟขบวนนี้ ต้องใช้ชีวิตอดอยากยากเข็ญ ถูกตีตราและปฏิบัติราวกับไม่ใช่เพื่อนมนุษย์

การถูกกดขี่มาอย่างยาวนานทำให้คนท้ายขบวนเจ็บแค้นและลุกฮือขึ้นปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในโลกใบนี้ เพื่อความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาควรได้รับ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน โดยพวกเขาต้องเดินทางยาวไกลจากรถไฟตู้ท้ายไปสู่หัวรถจักรที่ซึ่ง Mr.Willford ชายผู้คิดค้นรถไฟขบวนนี้และกุมอำนาจเบ็ดเสร็จอาศัยอยู่

Snowpiercer (2013) ในเวอร์ชันหนังจบสมบูรณ์ ด้วยการบอกเล่าการต่อสู้สู่อิสรภาพของคนชายขอบจากท้ายขบวน ดังนั้นเมื่อได้ยินข่าวการสร้าง Snowpiercer (2020) เวอร์ชันซีรีส์ที่มีความยาวมากขึ้นหลายเท่า ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า บงจุนโฮในฐานะผู้อำนวยการสร้างจะขยายจักรวาลเรื่องราวในขบวนรถไฟเหล็กนี้อย่างไร

02

Snowpiercer (2020) ในเวอร์ชันซีรีส์เริ่มฉากแรกด้วยการอธิบายที่มาที่ไปของรถไฟขบวนนี้ ตั้งแต่การแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อนที่ไม่ประสบความสำเร็จ จนถึงการเริ่มต้นออกเดินทางของรถไฟที่มีทั้ง ‘ผู้มีตั๋ว’ และ ‘ผู้ลักลอบขึ้นฟรี’ 

ไทม์ไลน์ในซีรีส์คือ 7 ปีหลังโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง ซึ่งเร็วกว่าไทม์ไลน์ในหนัง มีตัวเอกของเรื่องเป็นอดีตตำรวจสืบสวนคดีฆาตกรรม Andre Layton รับบทโดย ดาวีด ดิกส์ (Daveed Diggs) ผู้แอบขึ้นรถไฟฟรีมาตั้งแต่แรก ทำให้ต้องเป็นคนท้ายขบวนที่ใครๆ ก็พากันเรียกว่า ‘Taily’ ซึ่งล้อกับคำว่า Tail ที่แปลว่าหาง คู่กับ Melanie Cavill รับบทโดย เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี (Jennifer Connelly) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของรถไฟที่ดูเหมือนจะเป็นคนจัดการควบคุมทุกอย่าง

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น

เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อ Mr.Willford ผู้สร้างรถไฟขบวนนี้ และไม่เคยออกจากหัวจักรมาเจอใครบนรถไฟเลย ต้องการความช่วยเหลือจากตำรวจสืบสวนคนเดียวในรถไฟเนื่องจากมีเหตุฆาตรกรรมเกิดขึ้น และนักสืบสวนบนรถไฟที่มีไม่เคยทำหน้าที่จริงๆ สักคน (คิดดูว่ามีคนหนึ่งเคยเป็นกองกลางทีมฟุตบอลอังกฤษ) 

Andre เลยได้เดินทางจากท้ายขบวนขึ้นมายังส่วนอื่นๆ เจอสถานบันเทิงที่ไม่ได้เรียกว่า ไนต์คลับ แต่เป็นไนต์คาร์ เจอกับฟาร์มวัวเนื้อที่เป็นวัวกลุ่มสุดท้ายของโลก สวนเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักและผลไม้ทุกชนิดที่นึกถึง ซึ่งมีถึง 130 ตู้ จน Andre พูดประโยคหนึ่งขึ้นมาว่า “มีเยอะขนาดนี้… ก็ยังแบ่งให้คนท้ายขบวนไม่ได้เหรอ” 

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น

ฉากที่แสนสะเทือนใจและทำให้คนดูอย่างเราๆ อนุมานได้ถึงความอดอยากของคนท้ายขบวน คือตอนที่ Andre ได้กินขนมปังปิ้งและซุปธรรมดาๆ ครั้งแรกในรอบ 7 ปี เขาเบิกตาโพลงด้วยความดีใจ และค่อยๆ ละเลียดอาหารราวกับมันเป็นสมบัติล้ำค่า ปกติคนท้ายขบวนจะได้รับส่วนแบ่งอาหารเพียงไม่กี่ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ จะเรียกว่าอาหารก็เรียกได้ไม่เต็มปาก เพราะมันมีสภาพน่าสะอิดสะเอือนพอประทังชีพได้เท่านั้น

สิ่งที่เราชอบและคิดว่าซีรีส์ทำได้ดีกว่าภาพยนตร์มาก คือความสมจริงในแง่วิศวกรรม หัวรถจักรที่ต้องลากตู้รถไฟถึง 1,001 ตู้ มันต้องมีพลังงานมหาศาลขนาดไหน มีนักวิจารณ์ชาวต่างชาติให้ข้อมูลไว้ว่า ถ้าตู้รถไฟของ Snowpiercer แต่ละตู้มีความยาวเท่าตู้รถไฟ Amtrack ของสหรัฐอเมริกา รถไฟขบวนนี้จะมีความยาวตั้งแต่หัวรถจักรถึงท้ายขบวนถึง 26 กิโลเมตร แถมยังต้องควบคุมกลไกต่างๆ เพื่อสู้กับสภาพอากาศแปรปรวนโหดร้ายข้างนอกอีก

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น

ในเวอร์ชันภาพยนตร์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความคล้อยตามให้ผู้ชมเห็นความเป็นไปได้ว่า รถไฟที่เทพขนาดนี้มันเกิดขึ้นจริงได้ คือต้องมีมันสมองระดับโลกจริงๆ ถึงจะคิดค้นอะไรแบบนี้ได้ และ Snowpiercer เวอร์ชันซีรีส์ก็ทำให้เชื่อได้ไม่ยาก 

เพราะซีรีส์เปิดเผยหลายๆ ฉากที่ทำให้เราได้เห็นความยากลำบากในการทำงานของทีมวิศวกรระดับหัวกะทิของโลกที่มารวมตัวกัน เพื่อให้รถไฟวิ่งต่อไปได้อย่างราบรื่น แม้จะต้องเจอกับพายุหรือหิมะถล่มอย่างรุนแรง 

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น

03

เพราะซีรีส์เล่าเรื่องผ่านเหตุการณ์สืบสวนสอบสวน ทำให้ตัวเอกได้ไปเจอและพูดคุยกับคนหลากหลายบนรถไฟ เราเลยได้เห็นคาแรกเตอร์ของผู้โดยสารมากกว่าที่เห็นในภาพยนตร์ 

เริ่มจากคนชั้นหนึ่ง ชั้นนี้เป็นคนที่ซื้อตั๋วรถไฟในราคาแพงที่สุด ได้กินอาหารดีๆ และไม่เคยต้องกังวลว่าจะมีทรัพยากรไม่พอใช้ เพราะพวกเขาจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ถูกจำกัดสิทธิ หนึ่งในนั้นเป็นชาวจีนที่เดาว่าน่าจะเป็นตัวแทนของนักธรุกิจ ในแต่ละวันก็ใช้ชีวิตไปกับความจรรโลงใจ แต่บางครั้งก็อยากได้รสชาติตื่นเต้นในชีวิต พวกเขาบางคนเบื่ออาหารดีๆ ของตัวเองและโหยหาอาหารธรรมดาๆ จากชั้นสาม และนิยมชมชอบกิจกรรมต่อสู้ชั้นล่างเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น 

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น

ชนชั้นสอง ซีรีส์ยังไม่พาเราไปเจอกับคนชั้นนี้เท่าไหร่ คงต้องดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร แต่เดาว่าน่าจะเป็นชนชั้นกลางที่มีความรู้ความสามารถ และมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนงานบางอย่างในขบวนรถไฟ เพราะประโยคติดหูที่ Melanie มักพูดเป็นคีย์เวิร์ดในเรื่องคือ “ทุกคนบนรถไฟขบวนนี้ล้วนมีหน้าที่ที่ต้องทำ”

ชนชั้นสาม คนชั้นปากกัดตีนถีบ เป็นภารโรง ทำงานในสถานบันเทิง ไม่ได้มีความรู้หรือการศึกษาสูง จึงต้องทำงานใช้แรงงาน สภาพแวดล้อมทางสังคมเองก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ มีแก๊งมาเฟียคุม มีการขายยาเสพติด บางคนเอาเด็กทารกมาเลี้ยงในบาร์เพราะต้องทำมาหากินไปด้วย 

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น
Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น

ต่อมาคือท้ายขบวน ส่วนที่ผู้ลักลอบขึ้นรถไฟทั้งหมดอาศัยอยู่อย่างแออัด เป็นคนชายขอบของสังคมที่ถูกริดรอนสิทธิและไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ นอกจากแท่งโปรตีนสีดำเป็นอาหารประทังชีวิต แม้จะเป็นคนที่มีวิชาชีพและความสามารถมากมายตอนอยู่บนโลก แต่เมื่ออยู่ท้ายขบวน หน้าต่างให้เห็นแสงข้างนอกไม่มีสักบาน ตู้รถไฟก็หนาวเหน็บ ถ้าต้องมีการถูกตัดสิทธิในอะไรก็ตาม ตู้นี้จะเป็นตู้แรกที่ผู้คุมรถไฟนึกถึง 

คนท้ายขบวนเคยพยายามปฏิวัติระบบการปกครองแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ทำให้กลุ่มผู้ก่อกบฏในครั้งนั้นถูกตัดแขนขวา (ตัดด้วยวิธีอะไรต้องไปดูเอง) ทำไมต้องแขนข้างขวา? เพราะแขนขวาคือสัญลักษณ์ของการมีสิทธิ์มีเสียง หมายถึงความสามารถในการโหวตในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ในระบบสังคมที่มีความเสมอภาค แขนขวาที่ถูกกำจัดเท่ากับสิทธิ์ที่ถูกริดรอนนั่นเอง

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น, Bong Jun Ho, บงจุนโฮ
Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น, Bong Jun Ho, บงจุนโฮ

อย่างไรก็ตาม จาก 3 ตอนแรกที่ออกอากาศแล้ว เราแทบไม่เห็นความเห็นแก่ตัวในรถไฟตู้นี้เลย เมื่อถูกลดอาหาร พวกเขามีการวางแผนแบ่งกันโดยให้คนแก่ เด็ก และนักสู้ที่เตรียมไว้สำหรับการปฏิวัติ ให้คนพวกนี้กินก่อน หรืออย่างตอนถูกตัดน้ำไฟก็มีการตกลงขอความร่วมมือกันอย่างจริงจัง

04 

ประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นตั้งแต่เวอร์ชันหนังเรื่อยมาจนซีรีส์ คือทำไมคนท้ายขบวนถึงเรียกร้องมากมายขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ขึ้นลักลอบขึ้นรถไฟมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้เสียเงินซื้อตั๋วด้วยซ้ำ ในขณะที่ชนชั้นนำต้องเสียเงินมหาศาลซื้อตั๋ว และแน่นอนว่าเงินพวกนั้นถูกนำมาสร้างขบวนรถและรางสำหรับ Snowpiercer 

ถ้า Mr.Willford ไม่ปล่อยให้คนเหล่านี้ขึ้นมา พวกเขาก็คงแข็งตายอยู่ในโลกน้ำแข็งไปตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน แล้วจะเรียกร้องหาความเท่าเทียมได้อย่างไร ในเมื่อคุณก็ไม่ได้จ่ายเงินอย่างเท่าเทียมมาตั้งแต่ต้น ทั้งภาพยนตร์และซีรีส์ไม่ได้ให้คนตอบกับเรื่องนี้ เพราะมันเป็นประเด็นปลายเปิดที่มองได้หลายแง่มุม 

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น, Bong Jun Ho, บงจุนโฮ
Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น, Bong Jun Ho, บงจุนโฮ

ในโลกทุนนิยม ก็อาจจะจริงกับความคิดที่ว่า ถ้าคุณไม่ได้จ่ายก็อย่ามาเรียกร้องสิทธิ แต่ถ้ามองในแง่สิทธิมนุษยชน คนทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม คนท้ายขบวนก็เหมือนผู้ลี้ภัยจากบางประเทศที่กำลังมีปัญหาเข้าตาจน และต้องอพยพมายังประเทศอื่นๆ คนเหล่านี้ไม่มีทางเลือก เขาไม่ได้อยากให้มีสงครามกลางเมือง เขาไม่ได้อยากให้เกิดภัยพิบัติ ดังนั้นแม้จะเป็นผู้ลี้ภัย ก็สมควรได้รับสิทธิพื้นฐานอย่างพลเมืองเช่นกัน 

ซีรีส์พยายามบอกเล่าเรื่องการแบ่งชนชั้นอย่างเข้มข้น จนบางครั้งก็รู้สึกว่ามันโจ่งแจ้งไปหน่อย แต่ความโจ่งแจ้งนี่เองที่ทำให้เห็นว่าภายใต้เรื่องของชนชั้น มันมีเรื่องภาระหน้าที่ ระบบ และความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

มีฉากหนึ่งที่ Melanie ถาม Andre ว่า “คุณเห็นอะไรเวลาที่มองรถไฟขบวนนี้” 

“ผมเห็นป้อมปราการแห่งชนชั้น” เขาตอบทันที

“แค่นั้นเหรอ แต่ฉันเห็นมนุษย์กลุ่มสุดท้ายที่รอดชีวิตสามพันคน”

ใช่แล้ว เพราะ Snowpiercer ยังวิ่งอยู่ ทุกคนจึงยังมีชีวิต และการที่รถไฟยังวิ่งอยู่ได้ไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ แต่มาจากการทำงานอย่างหนักหน่วงของคนมากมายบนรถไฟขบวนนี้ และระบบที่ถูกวางไว้อย่างมีที่มาที่ไป เพื่อรักษาสมดุลของทุกอย่างที่ดำรงอยู่บน Snowpiercer

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น, Bong Jun Ho, บงจุนโฮ

เวอร์ชันภาพยนตร์จบแบบคว่ำกระดาน คือล้มระบบชนชั้นบนรถไฟนี้ไปเลย Set Zero เริ่มต้นใหม่ (เกิดอะไรขึ้น ขอให้ไปดูเองเช่นกัน) แต่เราเชื่อว่าเวอร์ชันซีรีส์คงเลือกตอนจบแบบอื่นแน่นอน เพราะอย่างที่บอกว่าประเด็นเหล่านี้มันมองได้หลายแง่มุม

Snowpiercer (2020) คือซีรีส์เกี่ยวกับชนชั้นแบบแนวนอนที่ใครดูก็น่าจะเชื่อมโยงได้ไม่ยาก เพราะการเปรียบเปรยและแสดงสัญลักษณ์ที่ชัดเจน ถือเป็นซีรีส์ที่สมจริงในระดับหนึ่ง การลำดับเรื่องราวที่ปูเรื่องและคลี่ปมต่างๆ ออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง ที่สำคัญคือแม้จะเป็นโลก Dystopia แต่คนดูอย่างเราๆ กลับไม่รู้สึกไกลตัวเลย ทุกการกระทำของทุกตัวละครที่เกิดขึ้นบนรถไฟขบวนนี้มันเกิดขึ้นในสังคมอยู่ทุกวี่วัน เหมือนได้เห็นโลกย่อส่วนอย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว

Snowpiecer ซีรีส์ที่นำเสนอความจริงของสังคมผ่านรถไฟแห่งความเหลื่อมล้ำและชนชั้น, Bong Jun Ho, บงจุนโฮ
รับชมได้ทาง Netflix

Writers

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน