ได้ข่าวมาว่าทางฮอลลีวู้ดกำลังจะนำอมตะเทพนิยายอย่าง สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้ง 7 มาจัดสร้างเป็นหนังใหญ่อีกครั้ง จึงนึกขึ้นได้ว่าเรื่องราวที่มาจากนิยายพื้นบ้านรัสเซียเรื่องนี้ ประกอบด้วยระบบสัญลักษณ์และความหมายต่าง ๆ ที่ซับซ้อนทับถมกันอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางปรัมปราคติ ดาราศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงวัยของเด็กสาว ภาวะการขาดมารดา ไล่ยาวไปถึงปรัชญากรีก ซึ่งเป็นปกติของเรื่องราวมุขปาฐะที่สะสมความหมายต่อกันมาเรื่อย ๆ ผ่านกาลเวลามายาวนานจะพึงมี จึงอยากนำมุมมองทางด้านศาสนาคริสต์ที่ทับซ้อนอยู่ในเรื่องออกมาคลี่ขยายความหมายดูบ้างว่า นิทานโบราณเรื่องนี้ซ่อนความหมายแบบคริสเตียนอะไรไว้บ้าง

ภาพ : https://vancouver.broadway.com
โดยปกติถ้าท่านใดมีความคุ้นชินกับคริสต์ศาสนามาก่อน จะพบว่าศาสนานี้เต็มไปด้วยเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ เต็มไปหมด พระเยซูคริสต์เองก็ตรัสสอนด้วยเรื่องนิทานอุปมาเป็นหลัก ชาวตะวันตกจึงคุ้นเคยกับการอุปมาและการแกะอุปมาและสัญลักษณ์
เวลาเราหยิบการ์ตูนเรื่อง สโนว์ไวท์ ขึ้นมาดู ก็มักจะเกิดคำถามขึ้นในใจเสมอ ๆ เช่น ทำไมคนแคระต้องมี 7 คน ทำไมนางเอกต้องผิวสีขาว ทำไมต้องปากสีแดง ทำไมนางเอกจะต้องถูกแม่มดยั่วยวนให้กินแอปเปิ้ล ทั้ง ๆ ที่จะกินอะไรก็ได้ แล้วการกลับคืนชีพของสโนว์ไวท์ทำให้เรานึกถึงอะไรนะ บางท่านก็คงคุ้น ๆ กับเรื่องราวแบบนี้ เราลองมาพิจารณากันทีละเรื่องทีละตอนดู

ความหมายของสี : ชีวิตและการเปลี่ยนแปลง
เริ่มจากชื่อของนางเอกของเรื่อง – สโนว์ไวท์ ลักษณะหน้าตาผิวพรรณของเธอนั้นถูกบรรยายออกมาว่า ‘ขาวเหมือนหิมะ’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความดีงามบริสุทธิ์แบบเด็ก ๆ ชวนให้นึกถึงความบริสุทธิ์ของมนุษย์คู่แรกคืออาดัมกับเอวาในสวนเอเดน ส่วนปากของเธอนั้นเป็นสีแดง หมายถึงชีวิต ความทรมาน (สีของเลือด) และวัยสาวสะพรั่งที่กำลังมาถึง (Coming of Age) ซึ่งเป็นความหมายหลักที่ซ่อนไว้ของนิทานเรื่องนี้
นั่นคือการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเข้าสู่วัยสาวที่พร้อมจะแต่งงาน และต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และจะต้องเรียนรู้ระบบศีลธรรมแบบผู้ใหญ่คริสเตียน ส่วนผมของเธอนั้นเป็นสีดำขลับ หมายถึงความตายที่จะปรากฏในท้ายเรื่อง
ความจองหอง : ปฐมมลทินของมนุษยชาติ
มารดาของสโนว์ไวท์นั้นตายในวันที่เธอเกิด พระราชาผู้บิดาจึงแต่งงานใหม่กับแม่มด พล็อตนี้เป็นปมทั่วไปของนิทานโบราณที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และสร้างความเห็นอกเห็นใจของผู้ฟัง ช่วยเสริมความรู้สึกว่าการขาดมารดาทำให้ชีวิตในวัยเด็กไม่สมบูรณ์ (โดยเฉพาะพัฒนาการทางอารมณ์และทางจริยธรรม) เพราะในอดีต หน้าที่การเลี้ยงลูกสาวก็ย่อมาจากทางฝั่งมารดามากกว่าบิดา แม่มดเองก็เน้นย้ำความชั่วร้ายแบบคริสเตียนที่เด็กผู้หญิงที่กำลังจะเติบโตไปเป็นสาวโดยขาดมารดาต้องเผชิญ
สัญลักษณ์ของแม่มดนั้นเห็นได้ชัดเจนหลายประการ โดยเฉพาะการครอบครอง ‘กระจกวิเศษ’ พูดได้ (หมายถึงโต๊ะเครื่องแป้ง-สัญลักษณ์ของความฟุ้งเฟ้อลุ่มหลงตัวเอง และดูย้อนแย้งมากที่กระจกควรจะเป็นสิ่งที่สะท้อนความจริงที่สุด กลับสร้างความลุ่มหลงมากกว่าการตระหนักรู้แจ้ง)

กระจกนั้นคอยชมนางแม่มดอยู่ตลอด ว่าสวยสะคราญยิ่งกว่าใครในพิภพโลกา ตอกหมุดย้ำบาปแรกของชาวคริสต์ คือ Pride หรือความเย่อหยิ่งจองหองถือว่าตนดีกว่าชาวบ้าน ซึ่งเพราะบาปนี้ จึงทำให้นางแม่มดยังมีบาปอีกหลายประการตามมาอีกเป็นพรวน ได้แก่ ความอิจฉาริษยา ความสนใจแต่ตัวเอง ความโหดร้ายทารุณ มากมายมหาศาลจนนางทนเห็นใครดีกว่าไม่ได้ ต้องหาทางกำจัดลูกเลี้ยงไปเสีย
แม่มดจึงจ้างนายพรานออกไปฆ่าสโนว์ไวท์ แต่นายพรานเกิดสงสารจึงปล่อยเธอไป แล้วเอาหัวใจของหมูป่ามาถวายราชินีแม่มด นางจัดการกัดกินหัวใจบริสุทธิ์นั้นอย่างตะกละตะกราม-ตรงนี้อธิบายได้ว่า บาปหรือความชั่วร้ายนั้นย่อมกัดกินความดีงามในจิตใจ โดยใช้หัวใจจริง ๆ เพื่อเพิ่มความน่าสะพรึงกลัวของความชั่วให้สมจริงสมจัง

การเป็นผู้ใหญ่ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์และเรียนรู้ระบบศีลธรรม
สโนว์ไวท์ต้องร่อนเร่ไปในป่า เธอได้พบบ้านของคนแคระทั้ง 7 ซึ่งตามชื่อของการ์ตูนวอลดิสนีย์ คือ Dopey, Grumpy, Doc, Happy, Bashful, Sneezy และ Sleepy นั้น เห็นได้ชัดมากว่าตั้งตาม ‘อารมณ์ 7 ประการ’ ของมนุษย์ คนแคระจึงเป็นอุปมา หมายถึง ความต่ำต้อยตามสภาพธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะคล้อยไปตามอารมณ์ต่าง ๆ 7 แบบ คนแคระจึงต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา เพราะถูกจองจำด้วยอารมณ์มากกว่าการใช้ปัญญา เหมือนกับอาดัมและเอวาที่ถูกพระเจ้าสาปให้ต้องทำงานหนัก หลังจากถูกขับไล่จากสวนเอเดน อย่างไรก็ตาม การทำงานก็ยังเป็นสัญลักษณ์ถึงการชำระบาปตามพระคัมภีร์เดิมและอุดมการณ์ ตามแบบชาวคริสเตียนยุคกลางที่เชื่อมั่นในคุณธรรมของการทำงานหนัก
สโนว์ไวท์พบว่าบ้านของคนแคระนั้นทั้งรกและสกปรกโสโครก นางจึงจัดการทำความสะอาดให้ อุปมาถึงมนุษย์ผู้รู้ตัวมีสติ มีคุณธรรมย่อมแลเห็นความไม่สมบูรณ์ของอารมณ์ตัวเอง การจัดการอารมณ์ให้คงที่และเป็นระเบียบอยู่เสมอ จึงเป็นสัญญาณของการก้าวจากวัยเด็กเจ้าอารมณ์ ไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในร่องในรอย คนแคระจึงอนุญาตให้สโนว์ไวท์อาศัยอยู่ด้วยได้อย่างเป็นมิตร
การช่วยเหลือดูแลคนแคระจึงตรงกันข้ามกับบาปมหันต์ 7 ประการของแม่มด นั่นคือสโนว์ไวท์เป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรมศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการ ได้แก่ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความบริสุทธิ์ ความพอประมาณ การกุศล ความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ความเมตตา ทั้งหมดนี้เป็นคุณลักษณะของสโนว์ไวท์

การฟื้นคืนชีพ : สโนว์ไวท์ ‘ตาย’ และฟื้นคืนชีพ
ต่อมาเมื่อราชินีแม่มดทราบความจริงว่า สโนว์ไวท์ไม่ตายจริง แต่โดนพรานหลอก เธอจึงปลอมตัวเป็นหญิงชราถือแอปเปิ้ลมายั่วยวนให้สโนว์ไวท์กิน แม้ว่าบรรดาคนแคระจะสั่งไว้แล้วว่าไม่ควรไปยุ่งกับคนแปลกหน้าที่ไม่น่าไว้วางใจ
พล็อตเรื่องตอนนี้ชัดเจนมากว่า นิทานเรื่องนี้คงจะพัฒนามาจากเหตุการณ์ในคัมภีร์ปฐมกาล ตอนที่งูปีศาจมาหลอกลวงให้เอวากินแอปเปิ้ล เอวาหรืออีฟกับสโนว์ไวท์จึงมีภาพลักษณ์ที่ทับซ้อนกันอยู่ ในด้านความอ่อนไหวทางอารมณ์ของมนุษย์เพศหญิง ซึ่งในสมัยโบราณถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอและหวั่นไหวถูกหลอกลวงได้โดยง่าย เมื่อสโนว์ไวท์กินแอปเปิ้ล เธอจึงต้องตาย เหมือนกับปฐมบิดรมารดาของมนุษยชาติ ที่ถูกพรากความเป็นอมตะไปเพราะไม่เชื่อฟังพระเจ้า
เมื่อเธอตาย บรรดาคนแคระต่างหดหู่ใจและนำร่างเธอใส่ไว้ในโลงแก้ว จนในที่สุดเจ้าชายองค์หนึ่งก็มาจุมพิตเธอ หรือในบางเวอร์ชันก็ว่าเอาโลงของเธอบรรทุกรถม้าไป แล้วพอรถกระแทก แอปเปิ้ลที่ติดขัดอยู่ในคอของสโนว์ไวท์ก็หลุดออก ชวนให้เราคิดถึง ‘ลูกกระเดือก’ ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘แอปเปิ้ลของอาดัม’ เจ้าชายจึงเปรียบเสมือนพระเยซูคริสต์ผู้เข้ามาเอาแอปเปิ้ลที่ติดคอ ซึ่งหมายถึงบาปแรกในปฐมกาลออก แล้วเธอก็กลับคืนชีพ ซึ่งก็เป็นเค้าโครงเดียวกับการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสต์นั่นเอง

หลังการกลับคืนชีพของสโนว์ไวท์ เธอก็ได้แต่งงานกับเจ้าชาย เรื่องตรงนี้ให้ภาพลักษณ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแต่งงานศักดิ์สิทธิ์ในสวรรค์ ปรากฏในหนังสือวิวรณ์ว่า มนุษย์จะเป็นเจ้าสาวของพระคริสต์ ในขณะเดียวกัน ก็ตอกย้ำการผ่านเข้าสู่วัยสาวที่พร้อมจะเข้าสู่ประตูวิวาห์ สำหรับสโนว์ไวท์นั้น เธอได้ผ่านจากความเป็นเด็กเข้าสู่หญิงสาวที่กำลังจะแต่งงาน โดยผ่านบททดสอบคุณธรรมและความชั่วร้ายต่าง ๆ จนเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ ตามหลักความคิดศีลธรรมแบบคริสต์ศาสนา
ทั้งหมดจึงเป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ซ่อนเอาไว้ในนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ เราเชื่อว่าแต่เดิมนั้น ผู้ใหญ่คงใช้สอนใจเด็กสาวที่กำลังก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ว่าจะต้องมีคุณธรรมสมบูรณ์พร้อมผ่านทางเครื่องหมายต่าง ๆ
อันที่จริงนิทานเรื่องนี้ก็ยังตีความต่อไปได้อีกหลายแนวทาง ตามแต่ว่าจะใช้หลักการจากศาสตร์แขนงใดมาพิจารณา แต่สำหรับคอลัมน์ที่เกี่ยวกับคริสต์ศาสนา แนวนี้คงจะเห็นได้ชัดเจนและสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว