20 พฤศจิกายน 2018
11 K

สมิธโซเนียน (Smithsonian) เป็นเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกาที่มีพิพิธภัณฑ์และสถาบันทั้งหมดราว 200 แห่ง ใน 45 รัฐ และได้รับการยอมรับว่าเป็นเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ระบบอาสาสมัครของที่นี่ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นระบบอาสาสมัครของพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลก

สมิธโซเนียนมีอาสาสมัครที่ยังเข้ามาช่วยงานอย่างสม่ำเสมอราว 6,000 คน

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian

อาสาสมัครพันกว่าคน หรือ 1 ใน 6 ของทั้งหมด ทำงานให้กับ National Museum of Natural History ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์ในเครือสมิธโซเนียนที่มีระบบอาสาสมัครใหญ่ที่แข็งแรงที่สุด และใหญ่ที่สุด ทิ้งอันดับสองแบบไม่เห็นฝุ่น

เหตุผลที่มีอาสาสมัครเยอะขนาดนี้เป็นเพราะงานของที่นี่หลากหลายมาก ต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นที่เน้นแค่เรื่องเดียว จำนวนพนักงานของพิพิธภัณฑ์ก็มาก ทำให้รับอาสาสมัครได้มากตามไปด้วย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีพนักงานประจำทั้งหมด 600 คน แต่ละวันมีอาสาสมัครมาช่วยงานประมาณ 100 คน

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian

มีทั้งอาสาสมัครปกติ และกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นเด็กมัธยมปลาย

ระบบอาสาสมัครของที่นี่ช่วยให้พิพิธภัณฑ์ประหยัดเงินไปได้ปีละ 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ช่วยนัดให้ The Cloud ได้พบกับ ลิซา มารี พอร์เตอร์ Volunteer Manager และ เบน เทเลอร์ Youth Volunteer Coordinator สองหัวเรือใหญ่ผู้ดูแลงานอาสาสมัครของ Smithsonian National Museum of Natural History

พวกเขายินดีเล่าเบื้องหลังการทำงานของระบบอาสาสมัครในพิพิธภัณฑ์ให้เราฟัง

01

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีงานให้อาสาสมัครทำประมาณ 200 งาน แบ่งออกเป็นงานในส่วนจัดแสดงโซนต่างๆ รวมถึงโต๊ะให้ข้อมูล และการพาทัวร์ ประมาณ 20 งาน และงานเบื้องหลังในส่วนวิจัย 7 สาขา รวมไปถึงงานถ่ายภาพ งานไอที และงานดูแลคอลเลกชัน ประมาณ 180 งาน

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian

02

คนที่จะสมัครเป็นอาสาสมัครต้องเลือกว่าจะสมัครตำแหน่งไหน เช่น ช่างภาพ หรือเลือกโซน เช่น โซนมหาสมุทร แต่ว่าไม่ได้เปิดรับทุกตำแหน่งพร้อมกัน บางช่วงก็ไม่รับบางตำแหน่ง กำหนดการคือเปิดรับปลายปี คัดเลือกต้นปี และเริ่มงานตอนกลางปี

03

อาสาสมัครไม่จำเป็นต้องเป็นคนอเมริกา แต่ต้องมีพาสปอร์ต ผ่านการเช็กประวัติ ผ่านสัมภาษณ์ ผ่านการอบรม ถึงจะเริ่มงานได้ พิจารณาจากคุณสมบัติว่าตรงตามที่ต้องการ ตอบสัมภาษณ์ได้ดี คนที่สัมภาษณ์คือเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ 2 คน และอาสาสมัคร 1 คน ปีที่แล้วมีคนสมัครทั้งหมด 400 คน ผ่านการคัดเลือกราว 200 คน

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian

04

พิพิธภัณฑ์ไม่ได้ต้องการคนที่เก่งที่สุด เช่น คนที่สมัครโซนแมลงไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาด้านกีฏวิทยา แต่ต้องชอบแมลง และต้องผ่านการอบรม ส่วนอาสาสมัครที่จะมาเป็นผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์มีวิธีการคัดเลือกที่ต่างไป หลักจากผ่านสัมภาษณ์แล้ว ต้องให้นักวิทยาศาสตร์สัมภาษณ์เพื่อตัดสินใจขั้นสุดท้าย

05

อาสาสมัครกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ คนวัยเกษียณ มาทำงานในช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ได้ เป็นกลุ่มคนที่อยากหาอะไรทำ หรือไม่ก็อยากใช้ความรู้ที่มีให้เป็นประโยชน์ด้วยการเป็นผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์ กลุ่มถัดมาคือคนวัยทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่คือคนที่แวะเวียนมาทำงานที่วอชิงตัน ดี.ซี. ชั่วคราว 2 – 3 เดือนถึง 2 – 3 ปี ตามมาด้วยกลุ่มนักศึกษา และคู่สมรสของคนที่มาทำงานที่นี่ คู่สมรสเหล่านี้มักจะไม่มีใบอนุญาตทำงาน จึงเลือกทำงานแบบอาสาสมัครแทน

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian

06

อาสาสมัครเยาวชนรับสมัครผ่านโรงเรียน โรงเรียนในวอชิงตัน ดี.ซี. มีกฎว่า เด็กที่จะเรียนจบมัธยมปลายได้ต้องผ่านการทำงานอาสาสมัครอย่างน้อย 100 ชั่วโมง หรือ 200 ชั่วโมง การทำงานในพิพิธภัณฑ์จึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กเรียนจบได้ นอกจากนี้ เด็กเหล่านี้ยังต้องแข่งขันกันเข้ามหาวิทยาลัยและขอทุนการศึกษา การมีใบรับรองจากพิพิธภัณฑ์ชื่อดังจึงเป็นข้อได้เปรียบ แล้วทางพิพิธภัณฑ์เองก็มีการปิดพิพิธภัณฑ์จัดงานให้เด็กมัธยมปลายเข้ามาเรียนรู้เพื่อสมัครเป็นอาสาสมัครด้วย

07

คัดเลือกอาสาสมัครเยาวชนจากความรักในวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ความรู้วิทยาศาสตร์ เด็กไม่จำเป็นต้องชอบเรียนวิทยาศาสตร์ แค่ชอบแนวคิดของวิทยาศาสตร์และอยากถ่ายทอดสิ่งนี้ให้คนอื่นฟังก็พอ ความชอบนี้มีค่ามากกว่าความฉลาด ทีมงานจะสัมภาษณ์เด็กพร้อมกัน 5 คน ให้เด็กลองนำกิจกรรมซึ่งไม่เคยทำมาก่อน เพื่อดูว่าเข้ากับคนอื่นได้ไหม

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian

08

อาสาสมัครทุกคนต้องผ่านการอบรมเบื้องต้น 3 ชั่วโมง เพื่อให้เข้าใจภาพรวมและระบบการทำงานโดยรวม จากนั้นต้องอบรมพิเศษสำหรับงานในแต่ละตำแหน่ง ถ้าเป็นคนนำชมทั้งพิพิธภัณฑ์ต้องอบรม 30 – 40 ชั่วโมง บางงานก็อบรมออนไลน์ได้ ถ้าเป็นงานเฉพาะทางนักวิทยาศาสตร์จะเป็นคนอบรมให้

09

โซนที่มีคนสมัครเป็นอาสาสมัครเยอะที่สุด มีระบบการทำงานของอาสาสมัครแข็งแรงที่สุด และมีอาสาสมัครมานานที่สุดคือ โซนแมลง

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian

10

อาสาสมัครต้องจองตารางทำงานล่วงหน้าทางเว็บไซต์ ถ้าเวลาที่ต้องการเต็มก็ต้องเลือกช่วงเวลาอื่น โดยการมาทำงานแต่ละครั้งต้องทำอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

11

สถานะของอาสาสมัครจะสิ้นสุดลงเมื่อทำงานไม่ครบ 96 ชั่วโมงต่อปี หรือไม่มาทำงานเลยในรอบ 4 เดือนโดยไม่แจ้งเหตุผล

12

อาสาสมัครบางคนก็ขอลาออกเอง เนื่องจากอายุมาก เพิ่งมีอาสาสมัครอายุ 90 กว่าปีมาขอลาออก 2 คน ซึ่งแต่ละคนทำงานอาสาสมัครมาราว 35 ปี

13

การทำโครงการอาสาสมัครไม่ใช่โครงการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย การทำให้สำเร็จต้องใช้ทั้งเงินและเวลา ต้องจ้างทีมงานมาดูแลแบบเต็มเวลา ใช้ทีมงานลงประกาศหา คัดเลือก เช็กประวัติ และจัดอบรม

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian

14

ช่วงการตามหาและคัดเลือกอาสาสมัครว่ายากแล้ว แต่การรักษาอาสาสมัครเหล่านี้ให้ทำงานกับพิพิธภัณฑ์นานที่สุดเป็นสิ่งที่ยากกว่าหลายเท่า เพราะต้องใช้ทั้งความเข้าใจ การดูแล ต้องสร้างสร้างแรงจูงใจ และต้องขอบคุณ

15

เหตุผลที่คนอยากเป็นอาสาสมัครมีมากมาย เช่น อยากเจอเพื่อนใหม่ อยากทำงานกับสมิธโซเนียน ทีมงานต้องหาเหตุผลเหล่านี้ให้เจอ และตอบโจทย์ให้ได้ ต้องทำให้อาสาสมัครรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ (อย่างเช่นการประชุมรวมอาสาสมัครก่อนเริ่มงานวันละ 2 ครั้งตอน 09.45 น. และ 13.50 น. แล้วก็สร้างแรงจูงใจผ่านกิจกรรมพิเศษ เช่น พาทัวร์โซนต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์แบบพิเศษ พาไปดูพิพิธภัณฑ์อื่น จัดเลกเชอร์พิเศษ เพื่อสร้างชุมชนอาสาสมัครให้แข็งแรง

16

ระบบแรงจูงใจง่ายๆ อย่างหนึ่งคือ การเลื่อนขั้น ถ้าทำครบตามชั่วโมงที่กำหนด อาสาสมัครจะได้สิทธิ์ในการทำสิ่งที่พิเศษขึ้น เช่น โซนแมลงจะได้ถือแมงมุมหายากออกมาให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว ทำให้อาสาสมัครอยากทำงานให้มากกว่าปีละ 96 ชั่วโมง

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian

17

อาสาสมัครเป็นคน ดังนั้น เมื่อคนมาอยู่ด้วยกันก็อาจจะกระทบกระทั่งกัน อาสาสมัครไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงก็เสียใจ ทีมงานต้องจัดการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ ต้องทำให้อาสาสมัครมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจ รับฟังความคิดเห็นของพวกเขา และต้องขอบคุณพวกเขา

18

วัยรุ่นมองว่าพิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ของครอบครัวหรือเด็ก แต่พิพิธภัณฑ์อยากให้พื้นที่ของทุกคน เจ้าหน้าที่จึงอยากให้มีวัยรุ่นมาเป็นอาสาสมัครให้ข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ เพราะถ้าวัยรุ่นมาพิพิธภัณฑ์แล้วเจอวัยรุ่นด้วยกันเป็นคนให้ข้อมูล เล่าเรื่องงานวิจัยให้ฟัง เป็นการเรียนรู้แบบเพื่อนกับเพื่อน ซึ่งมันดีกว่าการเล่าแบบเลกเชอร์

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian

19

เมื่อปีที่ผ่านมาอาสาสมัครใช้เวลาทำงานให้พิพิธภัณพ์แห่งนี้รวมกันทั้งหมด 93,000 ชั่วโมง คิดเป็นเงิน 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเงินเดือนของพนักงานประจำ 43 คน แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ ทำให้นักท่องเที่ยวที่ขี้เกียจอ่านบอร์ด เดินดูของผ่านตู้กระจกไปเรื่อยๆ ได้คุยกับอาสาสมัครที่หยิบเอาของออกจากตู้มาให้จับ ชวนคุย และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว

20

ถ้าพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยจะเอาระบบอาสาสมัครของสมิธโซเนียนมาใช้ คำแนะนำที่ได้รับมาก็คือ ต้องกำหนดตำแหน่งงานของอาสาสมัครให้ชัด และต้องมั่นใจว่าจะมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเต็มเวลาเพื่อดูแลอาสาสมัครเหล่านี้อย่างตั้งใจและทุ่มเท

พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน, Smithsonian

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป