ปลายเดือนเมษายน 2565

ผมมีโอกาสเดินทางไปร่วมเป็นเกียรติในงานแต่งงานของพี่ชายที่เคารพท่านหนึ่ง ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการบันเทิงและแวดวงสื่อมาเป็นเวลายาวนาน รวมถึงสื่อที่ผ่านเสียงที่เรียกว่า วิทยุกระจายเสียง

โดยนวัตกรรมความบันเทิงหลังสุดนี่เองที่ทำให้เราได้มาพบและวิสาสะกันเป็นเวลาหลายปี

ช่วงท้ายของปลายปาร์ตี้ฉลองมงคลสมรสคืนนั้น คุณแม่ของเจ้าสาว หรืออีกนัยก็คือ ‘คุณแม่ยาย’ ของฝ่ายเจ้าบ่าวได้ขึ้นไปบนเวที คว้าไมค์ และร้องเพลงขับกล่อมแขกเหรือที่มาร่วมงานด้วยบทเพลงอมตะอย่าง Daddy’s Little Girl

เมื่อมองไปที่บริเวณล่างเวที รายรอบงาน สายตาของผมก็ไปปะกับหลายใบหน้าที่คุ้นเคย ทั้งในระดับส่วนตัวและในฐานะแฟนคลับ ไม่ว่าจะเป็น ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร, พี่เอื้อง-สาลินี ปันยารชุน และอีกมากมาย

ทันใด ในหัวของผมก็พลันนึกถึงคลื่นวิทยุคลื่นหนึ่ง ซึ่งทั้งผู้ที่อยู่บนเวที รวมถึงเจ้าของหลายใบเหล่าหน้านั้นที่กำลังยืนรายล้อมอยู่หน้าเวที และร่วมฮัมเพลงด้วยกัน ได้เคยร่วมบุกเบิกด้วยกันมา นั่นคือ ‘Smile Radio’ ที่เคยโด่งดังในช่วง พ.ศ. 2530 – 2538

“พี่ ๆ มารวมตัวกันเกือบพร้อมหน้าเลยแฮะ” ผมพึมพำกับตัวเอง

การกลับมาของรายการวิทยุในตำนาน Smile Radio โดยบอสใหญ่ ปิ๋ว-วนิดา วรรณศิริกุล

กลางค่อนปลายเดือนกันยายน 2565

รุ่นพี่เจ้าบ่าวใหม่หมาดคนเดิมได้โพสต์ข้อความหนึ่งลงในโซเชียลมีเดียว่า ‘วิทยุยิ้มได้…อีกไม่กี่วันนี้’ โดยมีภาพประกอบที่มีชื่อซึ่งคน Gen-X อย่างผมต่างคุ้นเคย ละคิดถึง นั่นคือ ‘Smile Radio’

“นั่นไงเล่า!” ผมตบเข่าตัวเองฉาดใหญ่

ขณะที่ภายในหัวก็คิดต่อไปในอีกหลายคำถามว่า

หรือว่าทุกอย่างได้ถูกจัดเตรียมเอาไว้แล้ว ตั้งแต่แถว ๆ งานแต่งงาน

แล้วทำไม Smile Radio ถึงเลือกกลับมาในเวลานี้ ตอนที่วิทยุถดถอยลงทุกวัน ทั้งในแง่ของกระแสนิยม ไปจนถึงมูลค่าทางธุรกิจ ขณะที่มีสื่อใหม่ ๆ ครอบครองตลาดและหัวใจของผู้คน โดยเฉพาะคน Gen-Z หรือ Gen-Alpha ไปแทบทั้งหมดแล้ว

ซึ่งผมไม่กล้า และไม่อาจได้มาซึ่งคำตอบ

โดยไม่คาดคิด เพียงเดือนกว่า ๆ ถัดมา ผมก็พบตัวเองยืนอยู่บริเวณด้านหน้าสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ โดยสองหูมีเสียงผ่านหูฟังไร้สายเชื่อมเข้ากับสมาร์ทโฟนที่กำลังเปิดวิทยุผ่านเว็บไซต์ www.smileradio.live

“สวัสดีค่า คุณกำลังอยู่กับ ดีเจแซลลี่ สาลินี ปันยารชุน ที่นี่ Smile Radio” เสียงร่าเริงของดีเจที่ผมเติบโตมาด้วยดังผ่านหูฟังมา และตามด้วยเพลง ‘ไม่อยากเป็นไม้จิ้มฟัน’ ของวงปานามา ซึ่งไม่ได้ยินมานานเต็มที ก่อนจะตามมาด้วยบทเพลงร่วมยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายต่อหลายคนที่อยู่ร่วมวัยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็น “เพลงที่(เรา)คิดถึง”

การกลับมาของรายการวิทยุในตำนาน Smile Radio โดยบอสใหญ่ ปิ๋ว-วนิดา วรรณศิริกุล

ขณะที่สองตาผมกำลังอ่านทบทวนถึงหัวข้อที่เป็นเหตุผลให้ผมเดินทางมาที่แห่งนี้

“สไมล์ เรดิโอ (อังกฤษ : Smile Radio) เป็นรายการเพลงไทยสากลทางวิทยุในกรุงเทพมหานครที่โดดเด่นในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ดำเนินการผลิตโดย บริษัท มีเดีย พลัส จำกัด

…รายการ สไมล์ เรดิโอ เริ่มกระจายเสียงครั้งแรกทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เอฟเอ็ม 88.0 เมกะเฮิร์ตซ์ หรือที่เรียกกันว่า คลื่นสุดท้ายทางซ้ายสุด…

สามารถแจ้งเกิดคนขายเสียงจนต้องเผยหน้าค่าตาออกสู่สาธารณชนได้หลายคน อาทิ วินิจ เลิศรัตนชัย, หัทยา เกษสังข์, สาลินี ปันยารชุน… มีการจัดคอนเสิร์ตครั้งสำคัญ “Live Project” ที่ เอ็ม 88 ไลฟ์เฮ้าส์ รามคำแหง อีกทั้งยังได้ผลิตรายการโทรทัศน์และนิตยสารของตนเองด้วย…

…”สไมล์ เรดิโอ” ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงต้นปี พ.ศ. 2535 โดยต้องแพ้ประมูลคลื่นวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ และมีการลาออกของดีเจชื่อดังบางคน ทำให้รายการต้องย้ายไปกระจายเสียงทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบกที่เอฟเอ็ม 98.0 เมกะเฮิร์ตซ์ในชื่อเดิม แต่ได้ขยายการจัดรายการออกเป็น 5 คลื่น… แต่ดำเนินรายการได้อีกไม่กี่ปีก็ต้องปิดตัวลงในราวปี พ.ศ. 2538”

(ขอขอบคุณข้อมูลจาก Wikipedia : สไมล์เรดิโอ)

“สวัสดีค่ะ เรามานั่งคุยที่ไหนกันดี” คำถามแรกจากผู้หญิงเจ้าของผมบ๊อบและร่างผอมสูง ในชุดสีดำทะมัดทะแมง คนเดียวกับที่ขับร้องเพลง Daddy’s Little Girl บนเวทีคืนนั้น ก่อนที่จะเชิญชวนกันไปนั่งบริเวณโซฟาเล็ก ๆ ด้านหน้าห้องจัดรายการ ที่ ‘ดีเจแซลลี่’ กำลังนั่งประจำการอยู่

“เราจะคุยอะไรกันดีล่ะ” คือคำถามถัดมาของ คุณปิ๋ว-วนิดา วรรณศิริกุล ที่ชื่อนี้นามนี้ไม่เคยห่างหายไปจากความคุ้นเคยและภาพทรงจำของสื่อมวลชน ศิลปินนักร้อง ไปจนถึงแวดวงธุรกิจต่าง ๆ ทั้งในฐานะผู้หญิงเก่ง เจ้าของบริษัทโปรโมเตอร์ และออร์แกไนเซอร์รายใหญ่ของเมืองไทย เช่นเดียวกับเป็น ‘เจ้าแม่สื่อ’ จากหลากสื่อหลายแบรนด์ที่เคยร่วมบุกเบิกมา จะเว้นก็แต่สื่อวิทยุนี่แหละ ที่แทบจะหายไปจากสารบบของทั้งสื่อมวลชนและตัวเธอเองแล้ว

คำตอบของผมจึงกลายเป็นคำถามแรกของวันนั้น

ก่อนที่ทั้งเรื่องราวและความทรงจำต่าง ๆ จะพร่างพรู

ภาคแรก : Smile Radio & I

ทำไมคุณปิ๋วถึงกลับมาทำ Smile Radio ตอนนี้ครับ

เป็นเพราะเพื่อน 2 คนคือ เปิ้ล (หัทยา เกษสังข์) กับ เอื้อง (สาลินี ปันยารชุน) เขาไปทำรายการวิทยุอันหนึ่งแล้วมีปัญหา สุดท้ายก็เลยเกิดอาการคัน แล้วเราก็คิดว่า ถ้าจะกลับมาทำวิทยุ เราก็ตั้งใจมาตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ทำ Another Radio ทางเดียวที่จะกลับมาทำก็คือ ต้องทำ Smile Radio ถ้าไม่ใช่ Smile Radio พี่ไม่ทำ

Smile Radio มีผู้ก่อตั้งอยู่ 3 คน มี คุณรุจยาภา (ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร), คุณอิทธิวัฒน์ (อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ) ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ถ้าจะเริ่มทำก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกคนก่อน พี่เลยเริ่มจากไปคุยกับ คุณสมิทธิ (เพียรเลิศ) ลูกของคุณอิทธิวัฒน์ว่า อาอยากจะทำ Smile Radio เขาก็บอกว่า “โอเคเลยครับอาปิ๋ว คุณพ่อต้องดีใจมากถ้าอาปิ๋วเอากลับมาทำ” แล้วทุกอย่างก็เริ่มจากตรงนั้น ก็เริ่มคุยกับคนเก่า ๆ ของคลื่น ไม่ว่าจะเป็น พี่รุจ พี่นิมิตร (นิมิตร ลักษมีพงศ์), พี่วินิจ (วินิจ เลิศรัตนชัย)

เราบอกชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า วิทยุไม่เหมือนเมื่อก่อนนะ เพราะทุกวันนี้วิทยุถูก Disrupt ไปถึงจุด Rock Bottom คือไม่มีอะไรที่มันจะเลวร้ายไปกว่านี้แล้ว เราทำวิทยุมาตั้งแต่สมัยที่สปอตตัวละ 180 บาท มาเป็น 1,800 – 2,000 – 3,000 – 4,000 จากวันที่เราจ่ายค่าสถานีอยู่เดือนละ 200,000 บาท จนกระทั่งเราแพ้ประมูลเพราะถูกเจ้าอื่นประมูลไปเดือนละ 4,200,000 บาท

อันนั้นมันอดีต เดี๋ยวนี้วิทยุมันไม่มีแล้วค่าสถานี 3 – 4 ล้าน กลายมาเป็นเรตที่พอจับต้องได้ เราก็บอกเพื่อน ๆ ดีเจว่า เฮ้ย เรามาทำอะไรด้วยกันเถอะ เอา Smile Radio กลับมา แล้วเปิดเพลงที่พวกเราคุ้นเคยกัน เชื่อไหมว่าภายใน 2 อาทิตย์ Smile Radio ก็เกิดขึ้นได้ นอกจากทุกคนจะเห็นด้วย ทุกคนยังมาด้วยใจ เพราะค่าจัดที่พวกเขาได้นี่เป็นเหมือนแค่ค่ารถน่ะ มันไม่มีทางเป็นไปได้เลย ถ้าไม่ใช่เพื่อนกัน

ขณะเดียวกัน พี่ก็ต้องการพิสูจน์ว่า วิทยุยังอยู่ได้นะ ในวันที่มีแต่คนพูดว่า ไม่มีใครอยากลงสื่อวิทยุแล้ว พี่ไม่ยอมนะ มันดูถูกวงการวิทยุเกินไป

การกลับมาของรายการวิทยุในตำนาน Smile Radio โดยบอสใหญ่ ปิ๋ว-วนิดา วรรณศิริกุล

ถ้าประเมินในทางธุรกิจ สื่อวิทยุก็ค่อนข้างถดถอยลงจริง ๆ จนแม้แต่คนที่มีแพสชันอยากทำรายการวิทยุก็ยังไม่ค่อยกล้าลงสนามเลยนะครับ

พี่ไม่เชื่อว่าการที่เรากลับมาทำครั้งนี้ คือการทำด้วยแพสชันเท่านั้นนะคะ แต่พี่เชื่อว่าถ้าเราเป็น Top 5 เราก็อยู่ได้ ถามว่าอยู่ได้แบบไหน ก็อยู่ได้แบบต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป แล้วเราก็บริหารจัดการต้นทุนของเรา ก็มีกำไรได้ ใครจะอยากมาทำวิทยุเพื่อขาดทุนหรือเพื่อความสนุกอย่างเดียว ถึงแก๊งดีเจและทีมงานจะเป็นน้อง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะรักน้องจนลืมหูลืมตา ไม่ใช่ รักน้องด้วยแล้วก็ต้องพยายามทำให้มันเวิร์กด้วย 

ตอนนี้พี่มีชีวิตสุขสบายแล้ว ถ้าจะเริ่มต้นใหม่ต้องมี Branding ที่แข็งแรง ซึ่ง Smile Radio Branding ดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทางด้านของธุรกิจพี่มองว่ามันมีตลาด เพราะ Smile Radio เป็นตำนานของการเปลี่ยนแปลงในวงการวิทยุ แล้วมันอยู่ในวงโคจรของคนฟังมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เพราะฉะนั้น มีฐานแฟนซึ่งเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว เป็นกลุ่ม Generation X Generation Y ที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว

พูดถึงมุมนี้ ขออนุญาตเอาตัวเองเป็นหลักนะคะ สมัยก่อนถ้าบอกทำวิทยุแล้ว ไปเอากลุ่ม Generation Baby Boomer Gen-X Gen-Y ไม่มีใครอยากจะร่วมด้วย เพราะว่าเป็นกลุ่มคนแก่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ไง เดี๋ยวนี้คนใน 3 กลุ่มที่ว่านี้เขามีไลฟ์สไตล์นะ คือไม่มีอะไรที่เราทำแล้วลูกเราไม่ทำน่ะ นึกออกไหมคะ แต่ด้วยแนวคิดที่ว่านี้ก็กลายเป็นว่ารุ่นเราไม่รู้จะไปเสพอะไรตรงไหนยังไง เลยต้องเริ่มคิดแล้วว่า เฮ้ย มันต้องมีวิทยุให้รุ่นเราฟังแล้วล่ะ

วงการวิทยุเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน นับจาก Smile Radio ที่ปิดตัวไปเมื่อ พ.ศ. 2538

หลังจาก Smile Radio พี่ก็ทำวิทยุมาตลอด ถูกเชิญไปทำ Click Radio แล้วก็ยังอยู่ในวงการวิทยุ จนช่วงหลัง ๆ มานี้เองที่พี่ไม่ได้ทำเลยเพราะเบื่อการเปลี่ยนแปลง คือวิทยุต้องมีการแข่งขันกันเรื่องการประมูลตลอด ไม่จบไม่สิ้น เลยเหนื่อย และออกจากวงการวิทยุไปถาวรมาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว

ในมุมของผู้ฟัง พี่ไม่ถึงกับต้องการเปลี่ยนสิ่งที่มา Disrupt พวกนี้หรอกนะคะ ตอนแรกพี่ก็ตื่นเต้นกับระบบเลือกเพลงอัตโนมัติว่า เออ มันก็โดนดีนะ แต่ฟังไปนาน ๆ ก็เบื่อ มันไม่มีชีวิต ในขณะที่คนก็น่าจะยังชอบกัน กับการที่มีดีเจมาเลือกเพลงแล้วรู้สึกว่าโดนมากเลย

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของคุณภาพมากกว่า กลับไปที่ประเด็นเมื่อกี้ที่มีคนบอกว่า คนรุ่นใหม่ไม่ลงวิทยุแล้ว วิทยุตายแล้ว พี่ยอมรับไม่ได้ การที่มีวิทยุเยอะ ๆ เกลื่อน ๆ จนคนไม่รู้จะฟังอะไรเพราะว่ามันเหมือน ๆ กันหมด นั่นต่างหากที่ทำให้อยู่ไม่ได้

ขณะเดียวกัน เราก็เตรียมทุกอย่างมารองรับอยู่แล้ว ตอนนี้เรามีเป็นเว็บไซต์ เดือนหน้าเราก็มีแอปฯ เพราะฉะนั้นเรามีครบทุกแพลตฟอร์มมารองรับ ถ้าคุณคิดว่าตัวเองเป็นคนทันสมัย อยากฟัง อยากเสพในสิ่งที่ชอบในแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ก็ตามตรงนั้นไป แต่เอฟเอ็มนี่ยังไงก็ต้องมี เพราะว่าเป็นสื่อมาตรฐาน แล้วเราก็ต้องการจะขายโฆษณาทางวิทยุด้วย

การกลับมาของรายการวิทยุในตำนาน Smile Radio โดยบอสใหญ่ ปิ๋ว-วนิดา วรรณศิริกุล

หลังจากที่ Smile Radio กลับมา มองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง

พี่มีความสุขนะ พี่คิดว่าดีเจทุกคนก็มีความสุข แล้วก็น่าจะส่งผลให้มีบางสิ่งบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างตัวพี่เองเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไปเลย ก่อนหน้านี้พี่ดู Netflix แบบบ้าคลั่งมาก เพราะไม่รู้จะดูอะไร พี่ดูหนัง ดูซีรีส์เกาหลีหมดทุกเรื่อง ดูจนไม่มีอะไรจะดูแล้ว แม้แต่หนังที่ไม่ดียังต้องดูเลย 

แต่พอ Smile Radio เริ่มมีดีเจมาจัดรายการเต็มตัวตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พี่ไม่ได้ดูเน็ตฟลิกซ์มาหลายอาทิตย์แล้ว คือถ้ามีเรื่องดี ๆ ก็คงจะดู แต่ว่าไม่ดูทิ้งขว้างเหมือนเดิม ตอนนี้มีอะไรทำแล้ว ซึ่งทำแล้วเรามีความสุข มันเป็นการกลับมาที่น่ารัก แล้วคนก็ชอบใจกัน

กลับไปที่คำถามแรกที่ใคร ๆ ก็สงสัยว่า ทำไมเราถึงคิดอยากมาทำตรงนี้ พี่ก็อยากจะถามกลับเหมือนกันว่า แล้วทำไมไอ้ Rolling Stones หรือ Eagles มันมารวมกันแล้วถึงขายทัวร์ Sold Out ตลอดล่ะ เพราะมีความคิดถึงไง ซึ่งเราคิดว่า Smile Radio ก็เบอร์นั้น แล้วไม่ใช่แค่ดีเจมากันแค่คนสองคน แต่มากันทั้งกลุ่มทั้งก้อนเลย

นอกจาก Smile Radio ตอนนี้คุณปิ๋วยังทำธุรกิจอะไรอีกบ้างครับ

ตอนนี้พี่ก็มีรายได้จากชิงช้าที่ Asiatique นะคะ แล้วพอช่วงโควิด ไม่มีอะไรทำ ก็เลยสร้างบ้านที่เขาใหญ่ ปล่อยเช่าทาง Airbnb กับ Agoda เริ่มจากไม่รู้เรื่องเลย แค่ลองทำดู แต่ก็ได้เงินนะ เออ มันก็มีตลาดของมัน แล้วพอทำตรงนี้เพิ่มก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง เหนื่อยไหมก็เหนื่อย แต่ก็มีความสุข

เป้าหมายที่คุณปิ๋วที่อยากให้ Smile Radio ยุค 2022 เป็นคืออะไร

เราอยากจะเป็น Trendsetter ของตลาดกลุ่มนี้ที่ว่างอยู่ ถามว่าเราอยากไปใหญ่โตไหม เราก็อยากจะไป ถ้ามีคนมาจีบ อยากมาทำอะไรร่วมกัน เราก็ต้องเลือกคู่สมรสของเรานิดหนึ่งว่า เราต้องไปกับคนที่คิดในทางเดียวกัน ไม่ใช่ว่าคุณจะมาบิด Smile Radio เราเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะว่า DNA มันคือพวกเรา มันเริ่มจากพวกเรา แต่เมื่อถึงวันที่เราเกษียณจากตรงนี้แล้ว ก็อาจจะมีรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาทำ Smile Radio ก็ได้ เราคงไม่ปล่อยให้ Smile Radio แก่ตายไปกับเราหรอก เรากลับมาทำแล้ว เราก็อยากจะให้มันอยู่ต่อไป แบบที่ตอนอายุ 70 เรากลับมาดูได้อย่างภาคภูมิใจ (ยิ้ม)

ภาคสอง : Myself & I

“นี่คุณต้องไปที่ไหนต่อไหม”

หลังจากที่บทสนทนามาถึงถ้อยความเมื่อ 3 บรรทัดก่อนหน้า ก็มีคำถามนี้มาจาก ‘พี่ปิ๋ว’ ของชาว Smile Radio ซึ่งเมื่อผมตอบว่าไม่มีนัดหมายอะไรต่อ จึงเป็นเหมือนการตอบรับคำเชิญ และตกกระไดพลอยโจนร่วมไปปรากฏตัวที่ภัตตาคารเก่าแก่แห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากสถานีวิทยุมากนัก

เมื่อสถานที่เปลี่ยน หัวข้อการสนทนาจึงถือโอกาสขยับขยายประเด็น และย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้พูดคุยกันในช่วงก่อนหน้านั้น

คุณปิ๋วเริ่มต้นชีวิตการทำงานตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

พี่เรียนจบมาสายเลขาฯ สมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนอินเตอร์ เราเรียนสถาบันที่พูดภาษาอังกฤษ เลยได้ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ เงินเดือนเลยดี เรียนจบตอนอายุ 19 ก็เริ่มงานแรกเป็น Receptionist อยู่ที่โรงแรมดุสิตธานี ก่อนที่จะไปเป็นเลขาฯ ฝรั่ง แล้วก็ได้ไปทำงาน Refugee Project ของสถานทูตอเมริกา ตอนนั้นพี่เพิ่งอายุ 19 แต่ได้เงินเดือนหมื่นบาท คนอื่น ๆ ได้แค่ 1,500 เท่ที่สุดในรุ่นเลย พี่ทำอยู่ตรงนั้นประมาณปีครึ่ง พอหมดโครงการพี่ได้ค่าออกด้วยนะ ได้มา 6 หมื่น เลยซื้อรถมา 1 คัน

การกลับมาของรายการวิทยุในตำนาน Smile Radio โดยบอสใหญ่ ปิ๋ว-วนิดา วรรณศิริกุล

แล้วเริ่มต้นทำงานสายวิทยุได้อย่างไรครับ

พี่เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงจากการเป็นเลขาฯ คุณอิทธิวัฒน์ ที่ตอนนั้นเป็นประธานบริษัทไนท์สปอต โปรดักชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นผู้บุกเบิกมาก ทำรายการเพลงฝรั่ง 24 ชั่วโมง แล้วก็เป็นเจ้าเดียวของไทยที่จัดคอนเสิร์ตต่างประเทศ จะเอาแต่เบอร์ท็อปมาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Rod Stewart, David Bowie เบอร์ธรรมดา ๆ เราไม่ทำ ตอนนั้น The Stylistics ดังก็เอามา พี่ทำมาตั้งแต่อายุ 23 จำได้ว่าวงแรกที่พี่ทำคือวง Boomtown Rats ศิลปินคนที่สองที่ทำคือ Cliff Richards ถือเป็นเสน่ห์ของงานที่ทำตอนนั้นเลย เราได้นั่งรถกับ Cliff Richards

หลังจากนั้นก็ทำคอนเสิร์ตให้อีกหลายศิลปิน ทำ The Pointer Sisters, The Clash จนถึงจุดที่ต้องแยกตัวออกมา เพราะตอนนั้นไนท์สปอตถือลิขสิทธิ์บริษัท WEA ที่รวม 3 ค่ายเพลงคือ Warner Brothers, Elektra และ Asylum แต่คุณอิทธิวัฒน์อยากได้ลิขสิทธิ์ของค่ายเพลง CBS เลยต้องตั้งบริษัทขึ้นใหม่ พี่เลยตัดสินใจตามคุณอิทธิวัฒน์มา จากเลขาฯ ก็ได้มาเป็นผู้จัดการฝ่ายอะไรสักอย่าง

ต่อมาคุณอิทธิวัฒน์อยากตั้งบริษัทขึ้นมาอีก เพื่อทำทั้งคอนเสิร์ต วิทยุ เลยตั้งบริษัทชื่อ Media Plus คอนเสิร์ตแรกเป็นของ Paul Young ซึ่งสุดยอดมาก Sold Out ทั้ง 2 รอบเลย ขณะเดียวกัน Media Plus ก็ได้คลื่นวิทยุมา 3 คลื่น เป็น Smile Radio แล้วก็คลื่นเพลงฝรั่งอีก 2 คลื่น เราก็เริ่มจากตรงนั้น ได้ขยับมาเป็นหุ้นส่วนของคุณอิทธิวัฒน์

ถือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดเลยนะครับ จากเลขามาเป็นหุ้นส่วน

เขาเห็นว่าเราเป็นคนทำงาน ทำอย่างเมามันและมีความสุข นอกจากนั้นความที่ได้ภาษาอังกฤษ เวลาต้องติดต่อหรือส่ง Telex กับฝรั่งไม่เคยกลัวเลย ซึ่งต้องเป็นบริษัทอินเตอร์เท่านั้นถึงจะมีเครื่อง Telex เพราะยุคนั้นค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศยังแพงมากอยู่

สิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุดการทำงานกับคุณอิทธิวัฒน์คืออะไรครับ

(ตอบทันที) ธุรกิจบันเทิง พี่เป็นโปรโมเตอร์ได้เพราะได้วิชาจากคุณอิทธิวัฒน์ แล้วก็วิชาวิทยุ ได้เรียนรู้การทำธุรกิจจากแก แกเป็นนักธุรกิจที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นผู้บุกเบิก กล้าคิดกล้าทำ ส่งผลให้เรากล้าตามไปด้วย แล้วที่ดีมาก ๆ เลยคือแกกล้าสนับสนุน เราอาจจะมีแนวคิดประหลาดแต่แกก็สนับสนุน เราเรียนรู้จากแกเยอะ เป็นสิ่งที่หาเรียนรู้ไม่ได้ตามมหาวิทยาลัย แกเป็นอาจารย์ใหญ่ของพี่

พอมาทำ Paul Young นี่ลงทุนกันคนละแสนนะ ทั้งแก ทั้งคุณรุจ ทั้งพี่ ลงตังค์กันหมด พี่ไม่มีเงินก็ขายรถ แล้วตอนนั้นพี่เพิ่งแต่งงาน คุณแม่ก็เติมมาให้จนครบแสน พี่ก็เอาเงินก้อนนั้นมาลงทุน เรียกว่าทุบกระปุกเลย สุดท้ายก็เจ๊ง ไม่เหลือเลย

ทำไมคุณอิทธิวัฒน์ถึงเสนอให้ลงทุนร่วมกัน

เขาคงมองว่าเราปั้นได้มั้ง เพราะช่วงไนท์สปอต มีโปรเจกต์หนึ่งชื่อว่า Musical Youth แกทิ้งให้เราทำทุกอย่างเองคนเดียว พี่ก็ทำได้ จำได้ว่าตอนนั้นคุณอิทธิวัฒน์แกพูดกับพี่ว่า “Congratulation Promoter” เหมือนเขาทดสอบว่าเราตัดสินใจได้ เป็นโปรโมเตอร์ได้

พอคอนเสิร์ต Paul Young ไม่ประสบความสำเร็จ รู้สึกท้อบ้างไหมครับ

ไม่ คือตอนนั้นก็ร้องไห้กับคุณรุจนะ ถือเป็นการเรียนรู้ คราวหลังก็อย่าตั้งราคาผิดสิ ใจกล้า ๆ หน่อยสิ แต่นับจากนั้นบริษัทก็เกิด เพราะคอนเสิร์ตต่างประเทศนี่แหละ ส่วนพี่ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้น จากเงินเดือน 1 – 2 หมื่น จนเงินเดือนสุดท้ายของพี่คือ 2 แสน แล้วก็ขายหุ้นออกมา 

ตอนนั้นคุณปิ๋วออกจาก Media Plus เพราะอะไรครับ

คุณอิทธิวัฒน์ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้เครือวัฏจักร แล้วแกก็ออก พี่เลยออกตามไป เพราะรู้สึกว่า DNA ไม่ใช่แล้ว

การแต่งงานทำให้แนวคิดการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปบ้างไหมครับ

ไม่นะ แม่พี่บอกแม่พี่บูรณ์ (คุณสมบูรณ์ วรรณศิริกุล) ว่าแต่งงานแล้วขอลูกทำงานข้างนอกนะ คือเขารู้ว่าเราชอบทำงานข้างนอก แล้วบังเอิญโชคดีว่าแต่งงานไปที่บ้านเขา มีพี่ชายคนโต มีซ้อใหญ่ มีลูกมีหลาน ก็เลยมีพี่เลี้ยง ไม่ต้องห่วงเรื่องรีบกลับบ้าน เดี๋ยวไม่มีใครดูแลสามี เขาอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ กลายเป็นว่าเรามีอิสระในการทำงานเต็มที่ ตีหนึ่งแล้วคุณอิทธิวัฒน์ยังโทรมาคุยเรื่องงานอยู่เลย

การกลับมาของรายการวิทยุในตำนาน Smile Radio โดยบอสใหญ่ ปิ๋ว-วนิดา วรรณศิริกุล

เคยมีปัญหากับสามีเรื่องนี้บ้างไหมครับ

ทางสามีก็บ้างานของเขา คือเป็นช่วงตั้งตัวทั้งคู่ แล้วความที่โรงงานอยู่ข้างล่างบ้านเราด้วย เขาทำงานอยู่ล่าง เราก็เห็นตลอด แต่ว่าก็ต้องยกความดีให้เขาเลยนะ ว่าเขาก็มีความไว้เนื้อเชื่อใจเรา เรากลับดึก พาฝรั่งไปกินข้าว เขาก็ไม่งี่เง่า ก็โชคที่เขาเข้าใจ

คุณปิ๋วมีวิธีบาลานซ์เรื่องงานกับครอบครัวอย่างไรครับ

พี่คุยกับสามีตั้งแต่ต้นเลยว่า เรื่องในบ้านทั้งหมดเนี่ยฉันต้องเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิดของลูก จะเลี้ยงลูกยังไงลูกจะเรียนอะไร และเป็นเรื่องในบ้าน แต่ถ้าเรื่องข้างนอกบ้านฉันให้เธอเป็นใหญ่ เลยกลายเป็นว่าไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องในบ้าน เพราะว่าเราจะต้องเป็นคนตัดสินใจ ซึ่งเขาก็ยอม เพราะเขาไม่เคยต้องหาเลี้ยงเราเลย พี่หาเงินส่วนของเราเอง พี่อยากซื้อเสื้อผ้าให้ลูกยังไงก็ไม่มีใครว่าได้ เพราะเป็นเงินของเราเอง เออ แล้วรู้อะไรไหม พี่เป็นคนขอเขาแต่งงานนะ

ถ้างั้นช่วยขยายความเรื่องชีวิตรักของคุณปิ๋วหน่อยสิครับ

เขามาจีบพี่ตั้งแต่พี่อายุ 16 สมัยเรียนอยู่ มศ.2 เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ พี่ไปเต้นรำที่เดอะบับเบิ้ล คุณคงไม่รู้จักหรอก สมัยก่อนไม่มีกำหนดอายุคนเข้า 15 ก็ไปเต้นระบำได้ แล้วคุณสมบูรณ์เขาก็เดินมาจีบ ขอเต้นด้วย พอเต้นเสร็จก็ขอเบอร์โทรศัพท์ เราก็ให้เขาไป แล้วจากนั้นก็เป็นแฟนกัน แล้วก็เลิกกัน จนกระทั่งพี่จบเลขาฯ เขาก็หมั้น แล้วก็ถอนหมั้น เลิกกันไป พี่ก็ไปคบคนอื่น 

แต่พอถึงวันหนึ่งก็รู้สึกว่าอยากจะแต่งงาน พี่จำได้ว่าไปทำงานไนท์สปอต เดือนมกราคม แล้วมาเจอพี่บูรณ์อีกทีวันวาเลนไทน์ พี่บอก “ฉันจะแต่งงานแล้ว เธอจะแต่งกับฉันไหม” แต่งไหม ไม่แต่งก็เลิกกันไป เพราะก็ On-Off กันมาหลายปีแล้ว สุดท้ายเขาก็แต่งว่ะ แต่เอาจริง ๆ ลึก ๆ เราก็รู้ว่าเขารักเรา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเขาก็รักเรา เพราะฉะนั้นก็อย่างที่มีคนสอนว่าให้รักกับคนที่รักเรา ไม่ใช่แต่งกับคนที่เรารักเขา ซึ่งพี่โชคดีด้วยที่ได้สามีที่เข้าใจเราเสมอ

ได้สอนลูก ๆ เรื่องนี้ด้วยไหมครับ

ก็บอกให้เขาฟัง แต่คุณจะเลือกอย่างไร เป็นเรื่องของคุณ ไม่บังคับ แต่แม่ทำมาแบบนี้ แต่งเสร็จก็มีลูกเลย ครอบครัวก็ดำเนินมาด้วยดี

คุณปิ๋วเป็นคุณแม่แบบไหน

พี่เป็นคนทันสมัย จะทำอะไรพี่ไม่เคยห้าม เว้นแต่สูบบุหรี่ ถ้าจะสูบห้ามทำต่อหน้าแม่ แม่ให้สุขภาพที่ดีกับลูกแล้ว ถ้าจะทำลายก็ไปทำที่อื่น แต่ถึงอย่างนั้นพี่ก็ไม่รู้สึกว่าลูกพี่เคยขาดอะไร ถึงเวลาวันเกิดพี่ก็ต้องอยู่ งานวันแม่พี่ก็ต้องไป เวลาไปโรงเรียนลูกก็จะภูมิใจกัน ใคร ๆ ก็บอกว่า “แม่ฉันเป็น Celine Dion”

การกลับมาของ Smile Radio หลังจากหายไป 27 ปี ด้วยดีเจรุ่นใหญ่ชุดเดิม และวิธีคิดแบบที่รายการวิทยุยุคนี้ไม่มีคนทำ

คุณพีเค (พัสกร วรรณศิริกุล – ลูกชาย) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งว่า “แม่ผม She’s a very cool mom.”

พี่ภูมิใจนะ ลูกทุกคนจะภูมิใจว่าแม่ของพวกเขา Cool แม้ว่าเราจะเล่าให้ลูกฟังหมดนะคะว่า แต่ก่อนแม่เปรี้ยวยังไง เพราะเราคิดว่า สิ่งที่เราเป็นมันเป็นอุทาหรณ์ให้กับพวกเขาได้ โดยพวกเขาต้องไปคิดไปตัดสินใจเอาเอง

มีเรื่องอะไรที่คุณแม่ปิ๋วสอนลูกเป็นพิเศษไหมครับ

พี่สอนลูกเสมอว่าอย่าเกี่ยงงาน อันนี้ก็ไม่ใช่หน้าที่เรา อันนี้ฉันก็ไม่ทำ แค่ต้องจัดความสำคัญให้ดี

นั่นคือเคล็ดลับความสำเร็จในการทำงานของคุณปิ๋วเลยไหมครับ

(พยักหน้า) สู้แม่งหมด ถูกผิดก็ค่อยรู้กัน เรียนรู้กันไป พี่เป็นคนประเภท Go with the Flow เราไม่เคยเรียนทฤษฎีอะไรเยอะแยะ ไม่ใช่นักวิชาการที่จะมามีสูตรสำเร็จ แล้วเราก็แค่ทำโดยมีความสุข

แม้ว่า Flow นั้นอาจจะมีปลายทางไม่ดีก็ตาม?

เราไม่รู้ไง แต่ถ้าเรามี Positive Thinking เราก็ทำให้ Flow นั้นออกมาดีได้นะ ถ้ามัวแต่คิดว่ามันจะออกมาแย่ จะไปทำทำไมล่ะ หรือถ้าจะโดนโกงไปบ้างก็ไม่เป็นไร ลงทุนผิด เจ๊งไป ก็ช่วยไม่ได้ 

วันที่พี่เสียใจที่สุดคือวันที่พี่ออกจากวงการจัดคอนเสิร์ต เพราะพี่สูญเสียเงินไป 10 ล้านบาทภายในวันเดียว เป็นคอนเสิร์ตของ Lionel Ritchie พี่จ่ายค่ามัดจำไปแล้ว แต่สุดท้ายพอเกิดเหตุสึนามิที่ญี่ปุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นคือกลุ่มเป้าหมายของคอนเสิร์ตเราเลย พอเกิดเรื่องเขาก็ไม่มาดูกัน ฝรั่งเลยบอกว่า “You better give up” เพราะถ้ายิ่งเดินหน้าไปจะยิ่งเจ็บ เขาก็คืนเงินเรามาครึ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายก็หมดไป 10 ล้าน ทำให้เรารู้สึกว่าไอ้งานประเภทอย่างนี้ ใจมันไม่ได้แล้วเรา อายุมากขึ้นไม่อยากเสี่ยง เหมือนเล่นไพ่อะ โต๊ะเดียวจบเลย หลังจากนั้นก็หมดไปอีกหลายสิบล้านจากคอนเสิร์ตของนักแสดงไทยเรานี่แหละ เบ็ดเสร็จหมดไป 40 ล้าน

การทำธุรกิจตัวเลข 7 – 8 หลักนี่ เรื่องใจถือเป็นเรื่องสำคัญมากเลยนะครับ

ใช่ ใจต้องถึง ในเวลานั้นก็อาจจะเจ็บปวด แต่มาถึงตอนนี้ไม่รู้สึกแบบนั้นแล้ว That’s it อย่าไปคิดเยอะ

ปิ๋ว วนิดา ตอนนี้กับ พี่ปิ๋ว วนิดา เมื่อ 30 ปีที่แล้วมีความแตกต่างกันไหมครับ

ต่างกันเยอะ ตอนนั้นสู้ตาย เดี๋ยวนี้ยังมียั้ง ใจมันกล้าน้อยลง จะทำอะไรคิดแล้วคิดอีก ก็เป็นเรื่องของวัย

ทุกวันนี้ยังมีสิ่งที่ยังเป็นห่วงอยู่ไหมครับ

ไม่มีนะ พี่แบ่งสมบัติไปหมดแล้ว เช่น พี่มีที่ภูเก็ตปล่อยเช่า ก็ให้ลูกสาวดูแล ที่เขาใหญ่ก็ให้ลูกชายไป

คือไม่ยึดติดกับทรัพย์สมบัติอีกต่อไปแล้ว

พี่ว่าพี่พร้อมดีกว่า พี่เห็นมาเยอะ พวกไม่พร้อม ตายไปโดยที่ยังไม่ได้จัดการอะไรเลย พี่น้องตีกันวุ่นวาย ของพี่จัดไว้เรียบร้อยหมดแล้วตั้งแต่ยังไม่ตาย ตอนนี้พี่ไม่มีสมบัติ ให้ลูกทั้งหมดเลย ทุกวันนี้ใจก็เลยรู้สึกเบา ไม่ต้องมีห่วงอะไร

เท่าที่คุยกันมาเหมือนทุกอย่างจะกลับไปเรื่องของใจทั้งหมดเลยนะครับ

ใช่ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ เอาจริง ๆ พี่ค่อนข้างไปในทางศิลปินมากกว่าเป็นนักธุรกิจ เพียงแต่ว่าแก๊งพี่ไม่มีใครเอาเรื่องธุรกิจ พี่เลยต้องมาในฝั่งนี้ แต่พี่เองก็ชอบด้านนี้เหมือนกัน มันเลยผสมผสานกันได้พอดี

“เมื่อกี้คุณไม่ค่อยกินอะไรเลยนะ”

เสียงท้วงด้วยห่วงใยจากเจ้ามือ หลังมื้ออาหารล่าสุดได้ผ่านไปยังคงก้องอยู่ในหัวผม จวบจนตอนที่เดินออกมาจากสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์แล้ว

ไม่ใช่เพราะว่าผู้หญิงเก่ง คนโตแห่ง Smile Radio เลี้ยงข้าวเย็นมื้ออร่อย แต่คำพูดนั้นก็ยังสะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง

ว่าเพราะเหตุใด Smile Radio ที่ถึงกลับมาได้ ทั้งที่มีข้อจำกัดหลายประการอย่างที่ ‘คุณปิ๋ว’ ได้กล่าวเอาไว้หลายครั้ง ตลอดการสนทนา

และเพราะอะไร ‘คุณปิ๋ว’ ถึงก้าวมาถึงจุดนี้ ที่บรรลุความสำเร็จทั้งในเส้นทางการทำงาน และชีวิตส่วนตัวได้

ทั้งหมดมาจาก ‘ใจ’

ใจที่มีขนาดใหญ่โตมากพอที่จะให้ โดยเฉพาะกับคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เรียกว่า ‘เพื่อน’

ใจที่กล้ารับผิด และพร้อมที่จะรับชอบ… 

ทั้งหมดทำให้ ‘คุณปิ๋ว’ เป็นตัวเองอย่างที่เคยเป็นมา และยังคงเป็นต่อไป

การกลับมาของ Smile Radio หลังจากหายไป 27 ปี ด้วยดีเจรุ่นใหญ่ชุดเดิม และวิธีคิดแบบที่รายการวิทยุยุคนี้ไม่มีคนทำ

Writer

Avatar

พีรภัทร โพธิสารัตนะ

คนรักดนตรีที่เริ่มต้นชีวิตนัก(อยาก)เขียนด้วยการเป็นนักวิจารณ์ดนตรีอิสระที่มีผล งานลงในนิตยสาร a day, Hamburger, Esquire และอีกมากมาย รวมถึงเคยถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตคนดังออกมาเป็นตัวหนังสือประเภทอัตชีวประวัติ มาแล้วหลายคน หลายเรื่องในหลายเล่ม ผ่านทั้งชื่อจริงและนามปากกาอย่าง ภัทรภี พุทธวัณณ นิทาน สรรพสิริ และวรวิทย์ เต็มวุฒิการ ก่อนหน้าที่จะผันตัวเองเป็น “บรรณาธิการตัวเล็ก” ให้กับนิตยสาร DDTแล้วนับจากนั้นบรรณาธิการตัวเล็กคนนี้ก็ไม่อาจหลีกหนีไปจากมนต์เสน่ห์ของานหนังสือได้อีกเลย ปัจจุบันทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารให้กับนิตยสารแจกฟรีภาษาจีนที่ชื่อ “Bangkok Youth” และยังคงฟังเพลง เขียนหนังสือ และเสาะหาเรื่องดีๆ มาประดับความคิดอ่านอยู่เสมอ

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์