ถ้าพูดถึงแบรนด์ SMEG ผลิตภัณฑ์แรกที่คุณนึกถึงคงเป็นตู้เย็นสีจัดทรงโค้งมน หน้าตาเรโทร แบบที่เราเห็นใน Ads โฆษณาหรือภาพยนตร์ยุคเก่า
ส่วนผู้ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวตัวจริง คงรู้ว่าเตาอบแบรนด์นี้ขึ้นชื่อเป็นอันดับต้นๆ เรื่องความเสถียรของความร้อนและความทนทาน
SMEG เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง และออกสู่ตลาดด้วยเตาทำอาหารที่ทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบายยิ่งขึ้น
จุดเปลี่ยนของแบรนด์มี 2 ครั้งใหญ่ๆ ครั้งแรกคือตอนที่ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวที่หน้าตาเหมือนคู่แข่งเจ้าอื่นๆ ในตลาด เป็นการให้ความสำคัญกับดีไซน์ เพราะเชื่อว่าลูกค้าก็อยากได้ความสวยงามเช่นกัน
จุดเปลี่ยนครั้งที่สองคือตอนที่เจ้าของผู้เป็นพ่อส่งต่อธุรกิจให้กับลูกชาย หลังจากนั้น SMEG จึงทำงานร่วมกับดีไซเนอร์และแบรนด์ดังอีกมากมาย เกิดเป็นหลายคอลเลกชันที่ไม่ได้วางตำแหน่งว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ควบการเป็นงานศิลปะและงานออกแบบเข้าไปด้วย
Dolce & Gabbana, Disney Micky Mouse, FIAT500 และ Supreme คือตัวอย่างของการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา
แม้มีความสวยงามเป็นพระเอกด่านหน้า แต่ SMEG กลับให้ความสำคัญในดีไซน์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ ไม่ว่าเรื่องสรีรศาสตร์ รายละเอียดเล็กๆ อย่างการถนัดซ้าย-ขวา ไปจนถึงการนำองค์ความรู้จากการตีเหล็กของครอบครัวในอดีตมาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีอายุยืนหลายสิบปี และจะไม่ยอมใส่เทคโนโลยีเข้าไปในโปรดักต์ เพียงเพราะเป็นของใหม่ล่าสุดในตลาดเท่านั้น
The Cloud มาเยี่ยมโชว์รูมพร้อมพูดคุยกับ ธนัชพร สวนศิลป์พงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และ นภัสวรรณ สุขวุฒิไชย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ถึงความเชื่อและเป้าหมายของแบรนด์ SMEG
แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวที่ไม่อยากมีดีแค่สวย แต่อยากแก้ปัญหาการใช้งานของผู้คนอย่างยั่งยืน
1. SMEG ก่อตั้งโดยครอบครัวช่างตีเหล็กใน Guastalla เมืองเล็กๆ ในประเทศอิตาลี และเป็นผู้บุกเบิกการผลิตแบบ Mass Production ของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว
ใน ค.ศ.1948 Vittorio Bertazzoni ก่อตั้งแบรนด์ขึ้นโดยใช้ความรู้จากการตีเหล็กและการเคลือบสีอีนาเมลซึ่งเป็นวิชาชีพดั้งเดิมของครอบครัว ชื่อ SMEG ย่อมาจาก Smalterie Metallurgiche Emiliane Guastalla แปลว่าโรงงานเคลือบโลหะแห่งเมือง Guastalla เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเครื่องแรกของแบรนด์คือ Cooker ชื่อ Elizabeth ที่ด้านบนเป็นเตาแก๊สปรุงอาหาร ด้านล่างเป็นเตาอบ ตอบโจทย์ผู้คนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เศรษฐกิจกำลังกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง
พอถึงยุคอุตสาหกรรมหนัก เทคโนโลยีพัฒนาจากเดิมทีเคยผลิตแบบประกอบส่วนทีละชิ้น ก็เปลี่ยนเป็นคราวละมากๆ (Mass Production) SMEG เป็นแบรนด์แรกๆ ที่ผลิตเครื่องซักผ้า ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น ต่อมาจึงผลิตเครื่องล้างจานเครื่องแรกของโลกที่ใส่ได้ 14 ชุดอาหาร ซึ่ง 1 ชุดอาหารมีทั้งแก้ว จาน ชาม ช้อน ส้อม และอื่นๆ
2. ในยุคอุตสาหกรรมหนักที่เน้นเครื่องมือเครื่องใช้แข็งแรงทนทาน SMEG มองไกลไปถึงดีไซน์ที่สวยงามและรื่นรมย์
ค.ศ. 1985 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดของแบรนด์ สินค้าส่วนใหญ่ในยุคนั้นมีหน้าตาเรียบๆ ผลิตง่ายได้ทีละจำนวนมาก เน้นต้นทุนต่ำ การใช้งานทนทาน SMEG เล็งเห็นความต้องการของลูกค้าว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ชอบดีไซน์แข็งๆ ทื่อๆ เหลี่ยมๆ แต่มองหาอะไรที่สวยงามหรูหรามากขึ้น เราจึงเห็นแบรนด์ทำงานร่วมกับสถาปนิกและดีไซเนอร์มากมายนับจากนั้น โดยมี Guido Canali เป็นสถาปนิกชาวอิตาเลียนคนแรกที่แบรนด์ชวนมาร่วมงานเพื่อออกแบบเตาอบคอลเลกชันชื่อ Classica ที่มีรูปร่างชัดเจนและดีเทลเล็กๆ แบบที่เตาอบในท้องตลาดไม่เคยมีมาก่อน
และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าดีไซน์ของคอลเลกชันนี้ยังมีขายมาจนถึง ค.ศ. 2021 จะมีปรับก็แค่รายละเอียดเล็กๆ หรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย
3. สินค้าแสดงถึงค่านิยมและวัฒนธรรมอิตาเลียน และป้าย Made in Italy เป็นเหมือนเครื่องการันตีคุณภาพ
เมื่อพูดถึงสินค้าจากเยอรมนี เรามักคิดถึงความแข็งแรง ทนทาน เมื่อพูดถึงสินค้าจีน เรานึกถึงราคาที่ถูกกว่า เมื่อพูดถึงสินค้าจากญี่ปุ่น คงเป็นคุณภาพและความละเอียดที่ไม่มีใครทัดเทียม ส่วนเอกลักษณ์ของสินค้าจากอิตาลีคือ Craftsmanship ดีไซน์ และความสุนทรีย์ที่อยู่ในธรรมชาติของคนอิตาเลียน
วัฒนธรรมอิตาเลียนแสดงอยู่ในสินค้าทุกชิ้น ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างสีสันสดใสของเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว SMEG ที่มิกซ์แอนด์แมตช์สีตัดกันเหมือนบ้านเมืองในอิตาลี คอลเลกชัน Sicily is My Love ที่ทำร่วมกับ Dolce & Gabbana แบรนด์แฟชั่นสัญชาติเดียวกัน ที่นำลูกแพร์ ส้ม นก และสีแดง สีเหลือง ซึ่งเป็นตัวแทนของเมืองซิซิลี หรือแม้กระทั่งฟังก์ชันเตาหินสำหรับอบพิซซ่าโดยเฉพาะที่มีอยู่ในเตาอบบางรุ่น แถมยังสามารถซื้อติดตั้งเพิ่มเติมสำหรับรุ่นที่ไม่มีอีกด้วย
4. Fab สินค้าฮีโร่ที่เปลี่ยนภาพจำของตู้เย็นและไม่เคยเปลี่ยนดีไซน์เลยตั้งแต่ ค.ศ. 1997
ในปีนั้น เครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นสเตนเลส ไม่ก็สีเรียบๆ อย่างสีขาวและสีดำ ดีไซน์เหลี่ยม ตู้เย็นรุ่น Fab ของ SMEG จึงโดดเด่นและกลายเป็นที่จดจำอย่างมากเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นๆ ในท้องตลาด ด้วยสีสันสดใสมากว่า 10 สีและรูปทรงโค้งมน เป็นสไตล์ Retro แบบตู้เย็นที่เรามักเห็นในหนังเก่า เอกลักษณ์นี้ทำให้กระแสตอบรับดีและได้รับความนิยมมาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ซึ่งดีไซน์ก็ยังเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน
คนออกแบบก็ไม่ใช่สถาปนิกหรือดีไซเนอร์ชื่อดัง แต่เป็นทีม In-house ของแบรนด์ และในช่วงไม่กี่ปีมานี้เราอาจจะเริ่มเห็นแบรนด์อื่นทำตู้เย็นหน้าตาคล้ายคลึงกัน นั่นเป็นเพราะสิทธิบัตรที่ยืนยันว่าดีไซน์นี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ SMEG แต่เพียงผู้เดียวได้หมดอายุลงแล้ว
5. รุ่นพ่อทำงานกับสถาปนิก รุ่นลูกทำงานกับนักออกแบบและดีไซเนอร์
จุดเปลี่ยนอีกครั้งของ SMEG คือช่วงส่งต่อธุรกิจจากพ่อสู่ลูกชาย ในยุคของ Vittorio Bertazzoni เน้นออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวชิ้นใหญ่อย่างเตาอบ เตาทำอาหาร เครื่องล้างจาน เพื่อความแข็งแรงคงทนและดีไซน์ที่เป็นอมตะ ทำงานกับสถาปนิกเป็นหลัก ตั้งแต่ Guido Canali, Mario Bellini, Marc Newson จนถึง Renzo Piano ผู้ออกแบบอาคาร Pompidou ที่ปารีส
มาถึงยุคของลูกชาย Vittorio Bertazzoni Jr. เป็นผู้ริเริ่มและผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวขนาดเล็กออกมา จำพวกเครื่องตีไข่ เครื่องปั่น เพื่อให้เข้าชุดกับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีอยู่แล้ว และนำ Smeg ไปร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นต่างๆ อย่าง Dolce & Gabbana หรือ Supreme ที่ตอบโจทย์ความสนใจของลูกค้ารุ่นใหม่
6. ใช้ความเชี่ยวชาญในการทำเหล็กที่มีผลิตสินค้าที่แตกต่างจากตลาด
“ทำไมแค่กาต้มน้ำราคาถึงสูง” คือคำถามที่ลูกค้ามักถามแบรนด์อยู่เสมอ
การผลิตสินค้าจากเหล็กไม่ง่ายเหมือนพลาสติก เพราะพลาสติกมี Mold เป็นโครงหลัก วิธีการคือฉีดพลาสติกเข้าไปก็ขึ้นรูปทรงตามที่ต้องการ ส่วนการทำเหล็กยุ่งยากกว่านั้น ต้องดัดให้เป็นลักษณะที่ต้องการและเชื่อมแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน เหล็กที่สวยต้องเชื่อมให้มีความโค้งมน ไม่มีรอยต่อ เตาอบของ SMEG ที่ด้านไหนโค้งสวยงาม เป็นฉาก เป็นมุม ทำองศาพอดีกันทั้งหมด ไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยหวือหวา แต่เป็นความเชี่ยวชาญของครอบครัวช่างตีเหล็ก
สินค้าที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือมากที่สุดคือ เตาอบของ Renzo Piano สถาปนิกชาวอิตาเลียนที่โด่งดังเรื่องสไตล์ Inside-out เหมือนผลงานอาคาร Pompidou ที่นำโครงสร้างและระบบต่างๆ มาไว้นอกตึก พอจะออกแบบเตาอบ เขาไม่อยากให้ด้านในมืด จึงทำด้วยสเตนเลสทั้งหมด ทุกครั้งที่อบอาหาร ด้านในจะสว่างเปล่งประกายออกมา ซึ่งกระบวนการที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการทำเหล็กอย่างมากคือการผลิตขอบบริเวณฝาปิด ในขณะที่เตาอบรุ่นทั่วไปจะใช้เป็นขอบยางเพื่อกั้นความร้อน Renzo Piano ใช้สเตนเลสแทน ความท้าทายคือต้องทำให้พอดี ถ้าไม่พอดีความร้อนจะรั่ว แล้วจะรักษาความเสถียรของอุณหภูมิไม่ได้เลย
7. ตอบโจทย์คนชอบแต่งบ้านที่จุดอ่อนมักเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องครัว
ลูกค้าของ SMEG ส่วนใหญ่เป็นคนทำอาหารและชอบตกแต่งบ้าน ต้องการสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวเองได้ดีที่สุด บางคนชอบสไตล์ลอฟต์ เท่ๆ ดิบๆ บางคนชอบขาวๆ คลีนๆ เฟอร์นิเจอร์อื่นๆ มีให้เลือกหลากหลาย แต่มักประสบปัญหาเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวไม่เข้ากับสไตล์บ้านที่ออกแบบ
ถ้าเดินดูในโชว์รูมจะเห็นเลยว่า ด้านหนึ่งเป็นสไตล์ทันสมัย เรียบๆ เท่ๆ อีกด้านเหมือนอยู่ในครัวกระท่อมสวนอังกฤษ เพราะต้องการตอบโจทย์ความชอบที่แตกต่าง สินค้าของแบรนด์เลยมีให้เลือกหลากหลายสไตล์ มีผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวครบเซ็ตทุกชิ้นในแต่ละคอลเลกชัน ไม่ได้มีเพียงแต่ เตาอบ ตู้เย็น หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวขนาดเล็กเท่านั้น
โดยส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากยุคต่างๆ ตั้งแต่คอลเลกชัน Classica ในยุคอุตสาหกรรมหนัก Linea ที่ตอบโจทย์สไตล์โมเดิร์น หรูหรา เน้นกระจกวาวๆ เส้นตรงขนาน Victoria จำลองยุค 50 สีสันหลากหลาย มีความเป็นเลเยอร์ เหมือนกับเครื่องแต่งกายในสมัยเดียวกัน และเป็นเตาอบรุ่นเดียวของ SMEG ที่มีขอบบานประตูเป็นชั้น คอลเลกชัน Colonial เป็นยุคที่หลังคาสถาปัตยกรรมเป็นโดม เสากลม ผลิตภัณฑ์จึงมีหลักษณะโค้งๆ มนๆ ใช้สีทองเหลือง มือจับกลมๆ รีๆ นาฬิกาเตาอบก็ออกแบบใหม่ให้เป็นหน้าปัดนาฬิกาพกแทนจอดิจิตัล
หรือจะเป็นคอลเลกชัน Dolce Stil Novo ใช้สีดำตัดสลับกับสีคอปเปอร์และกระจกมันเงาแสดงถึงความทันสมัย
8. ดีไซน์ของ SMEG ไม่ได้มีดีแค่สวย แต่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาโดยใช้นวัตกรรมตามความจำเป็นของผู้ใช้
ทุกครั้งที่ออกแบบหรือพัฒนาสินค้าใหม่ ดีไซน์ของ SMEG ไม่ได้มุ่งที่ความสวยอย่างเดียว แต่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์การใช้งาน สินค้าหลายรุ่นมีลักษณะเหมือนเดิมมาตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก ที่เพิ่มเข้ามาคือเทคโนโลยีที่ตามสมัย โดยมองความจำเป็นของผู้ใช้เป็นหลัก และต้องเป็นฟังก์ชันที่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง ไม่ใช่มีไว้เพื่อความไฮเทคทันสมัยหรือกิมมิก
ถ้าไม่ช่วยให้การใช้งานง่ายขึ้น ก็ไม่ใส่
เรื่องหนึ่งที่แบรนด์ให้ความสำคัญมากคือ Ergonomics หรือ สรีรศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น Hand Blender ที่ออกแบบให้ด้ามจับมีสัมผัสนุ่ม กันลื่น จับแล้วเข้าอุ้งมือพอดี ไม่ต้องยกบ่า และอยู่ในท่าที่สบายที่สุด หรือ Stand Mixer ก็ออกแบบให้ปุ่มปรับความเร็วอยู่ด้านบน ใช้ได้ทั้งคนถนัดซ้ายและคนถนัดขวา ปลั๊กไฟถูกออกแบบให้อยู่ตรงกลาง จะวางมุมไหนก็ได้ทั้งหมด ไม่ต้องอ้อม
ตู้เย็นรุ่น Fab ที่โด่งดังก็เช่นเดียวกัน แบรนด์มีให้เลือกด้ามจับและบานเปิดประตูไม่ว่าคุณจะถนัดซ้ายหรือขวา หากตำแหน่งที่วางตู้เย็นของคุณไม่เหมาะกับการเปิดบานด้านไหน ก็เลือกอีกด้านได้
9. ผลิตสินค้าแต่ละชิ้นโดยกระทบสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
Responsibility Policy ของ SMEG คือ ทำอย่างไรให้ใช้พลังงานในการผลิตต่ำที่สุด เกิดเป็นขยะให้น้อยที่สุด แบรนด์มองตั้งแต่การเลือกวัสดุจากทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสเตนเลส แก้ว อะลูมิเนียม และทองเหลือง เขาคิดไปถึงว่า หากวันหนึ่งคนเลิกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้แล้ว ต้องมั่นใจว่ามันจะเอาไปย่อยสลายหรือนำกลับมารีไซเคิลได้ ส่วนในกระบวนการผลิตใช้ค่าพลังงานไฟฟ้าน้อย สินค้าหลายรุ่นของ SMEG ได้คะแนน Energy Rating เท่ากับ A+
ถ้าแบรนด์จะโตได้ คนใช้ต้องมีความสุขกับการใช้งาน และโลกต้องอยู่ต่อไปได้
10. ไม่ได้ออกแบบโปรดักต์ แต่ออกแบบสภาพแวดล้อมโดยรอบ
เมื่อหลายปีก่อน แบรนด์เคยสัมภาษณ์ลูกค้าหลายคนที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “มีเครื่องใช้ไฟฟ้า SMEG หนึ่งชิ้นทำให้บรรยากาศในบ้านเปลี่ยน”
สิ่งที่ได้มาพร้อมกับตู้เย็นราคาหลักแสนคือการใช้งานดี ทนทาน ไปจนถึงสุนทรียะและความละมุนละไม ที่ทำให้รู้สึกมีความสุข SMEG เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวไม่กี่เจ้าที่มีรีวิวบนอินเทอร์เน็ต เล่าถึงบรรยากาศในห้องครัวที่เปลี่ยนไปทันทีเมื่อมีสินค้าของแบรนด์มาตั้ง
เหมือนที่เคยมีคนบอกไว้ มันไม่ใช่ประโยชน์ใช้สอย แต่เป็นประโยชน์ใช้สวย
11. ถ้าจะซื้อเครื่องทำขนม ก็ต้องลองทำขนมก่อนซื้อ
ก่อนขายสินค้าโดยเฉพาะเตาอบ SMEG จะสอบถามลูกค้าว่าจะซื้อไปใช้ทำขนมอะไร หากเป็นขนมพื้นฐาน เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ ทางแบรนด์จะเตรียมวัตถุดิบให้ล่วงหน้าเพื่อให้ลูกค้ามาลองทำก่อนตัดสินใจซื้อ หากเป็นขนมที่พิเศษขึ้นมาหน่อย ลูกค้าสามารถเตรียมวัตถุดิบมาทดลองเอง เพื่อทดลองใช้งานจริงก่อนซื้อ
คนทำขนมไม่ได้มีแค่โจทย์ว่าเตาอบใช้งานยังไง แต่ใช้เตาอบรุ่นนี้ทำขนมแบบนี้ยังไงต่างหาก SMEG จึงมีทีมแยกออกมาเพื่อหาคำตอบให้ลูกค้าหลังการขาย
‘ทำไมเค้กถึงหน้าแตก’
‘ทำไมตรงกลางถึงยุบ’
‘อบขนมเปี๊ยะด้วยเครื่องนี้ต้องทำยังไง’
แบรนด์จึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่คนขายเครื่องใช้ในครัว แต่เป็นที่ปรึกษาด้านการทำขนมและอาหาร สูตรไหนลูกค้าทำไม่สำเร็จ ทีมโภชนาการจะทดลองทำด้วยเตาอบรุ่นนั้น แบ่งปันสูตรและเทคนิค ซึ่งคำถามของลูกค้าก็เปลี่ยนไปตามเทรนด์ของโลกขนม บางช่วงเป็นขนมไข่ เมื่อปีกลายเป็น Basque Burnt Cheesecake การบริการส่วนใหญ่ทำผ่านโทรศัพท์ อินบ็อกซ์เพจ ถ้ายังไม่สำเร็จ ก็ชวนลูกค้าเขามาลองทำไปพร้อมๆ กัน
และหลายครั้งที่ลูกค้าคิดว่าเป็นเพราะเครื่องเสียในตอนแรก แบรนด์กลับไม่ต้องส่งช่างไปเช็กเครื่องด้วยซ้ำ
12. แบรนด์ที่อยู่คู่ครอบครัวนานกว่า 73 ปี จนกลายเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น
หลายคนอาจคิดว่าความสวยคือสิ่งที่ทำให้ SMEG ครองใจใครหลายๆ คน แต่จริงๆ แล้วดีไซน์ที่ไม่ได้จำกัดแค่คนกลุ่มเดียวและการใช้งานได้ดีต่างหาก คือข้อได้เปรียบ
ตู้เย็นหลายบ้านมีอายุนานถึง 30 ปี จนกลายเป็นสมบัติที่ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้ทุกวันนี้ยังมีคนมาถามหาอะไหล่ และขอคู่มือเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นเก่าที่ตกทอดมาจากคุณแม่ บางคนยอมรื้อดีไซน์ของนักออกแบบภายในใหม่เพื่อให้รองรับสินค้ารุ่นใหม่ที่กำลังจะออก
SMEG ซื้อใจคนด้วยฝีมือที่เฉียบขาด ดีไซน์หลากหลายที่เป็นอมตะ และบริการที่ทำให้รู้ว่ายังไงจะไม่มีวันทิ้งลูกค้าอย่างแน่นอน วันนี้แบรนด์เดินทางมานานถึง 73 ปี ท่ามกลางคู่แข่งใหม่ๆ ที่ราคาถูกกว่าหลายเท่า แบรนด์ยังคงแข็งแรงทั้งในเรื่องผลิตภัณฑ์และบริการ และยังยึดมั่นในสิ่งที่เชื่อมาตั้งแต่วันแรก คืออยากให้คนมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ออกแบบโดยเน้นการแก้ปัญหาและต้องไม่สวยอย่างเดียว แต่ใช้งานได้ดีอย่างไม่มีเปลี่ยนแปลง
13. เป็นมากกว่าแบรนด์ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ Made My Day ให้ทุกวันมีความสุข
สินค้าของ SMEG เปรียบเสมือนงานศิลปะ ยกตัวอย่างง่ายๆ ตู้เย็นของแบรนด์เปิดก็สวย ปิดก็สวย และไม่ได้เป็นแค่เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ในส่วนหนึ่งของทุกวัน แบรนด์มาถึงจุดที่จุดเด่นไม่ใช่เรื่องดีไซน์ มันคือความรื่นรมย์ในแต่ละวัน
แคมเปญล่าสุดของแบรนด์ชวนคนนึกถึงความสุขเรียบง่ายอีกครั้งผ่านเสียงเพลง นึกถึงกลิ่นหอมคลุ้งในบ้านทุกครั้งที่แม่อบขนมใหม่ๆ ในครัว นาทีที่สามีกลับมาเจอภรรยาทำเค้กไว้เซอร์ไพรส์ เช้าวันอาทิตย์ที่ได้ตื่นสายและดื่มกาแฟร้อนๆ สักถ้วย SMEG เชื่อว่าความสุขเกิดได้จากสัมผัสทั้งห้า และเสียงคือส่วนประกอบที่สำคัญมาก จากความตั้งใจ แรงบันดาลใจ เกิดเป็นเพลย์ลิสต์ทั้งสามที่แบรนด์ตั้งใจคัดสรรมาอย่างดี แต่ไม่ได้มีเพียงเพลย์ลิสต์ที่สะท้อนคุณภาพชีวิตผ่านเสียงเพลงเท่านั้น ยังมีเมนูอาหาร งานศิลปะ เวิร์กช็อป และสุนทรียะอื่นๆ ที่จะมาอยู่ได้ในทุกด้านและทุกจังหวะของชีวิตเร็วๆ นี้
ฟังเพลย์ลิสต์ Made My Day ของ Smeg ที่ประกอบด้วย Lazy Afternoon Tea, Sunday Baking และ Cooking is an Art ได้ที่ช่องทาง Spotify และ Youtube Channel พร้อมติดตามเมนูพิเศษของแบรนด์ ข้อมูลเวิร์กช็อป และข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ Facebook : Smegthai หรือเว็บไซต์ www.smeg.co.th/