เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่าอีก 2 ปี ประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงวัย’ อย่างสมบูรณ์

ข้อมูลเหล่านั้นเต็มไปด้วยสถิติตัวเลข และผลกระทบที่ตามมาในหลากหลายมิติ

เราต่างมองถึงผลข้างหน้า แต่กับเรื่องใกล้ตัวอย่างเรื่องบ้าน เราได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับวัยวันที่ล่วงเลยของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง รวมถึงตัวเอง ดีแค่ไหน

ลองสำรวจรอบบ้านไปพร้อมกันตอนนี้เลยก็ได้ 

เมื่อถึงวันที่พ่อแม่หรือตัวเราเองแก่ชรา แสงสว่างของบ้านหลังนี้รองรับสายตาที่เริ่มมองไม่ชัดเจนไหม แต่ละขั้นบันไดรองรับแขนขาที่อ่อนแรงไปตามวัยหรือไม่ หรือพื้นห้องน้ำที่ลื่นเกินไปจนอาจทำให้เราลื่นล้มได้ง่ายเกินไปหรือเปล่า

เราอาจพบว่าบ้านแสนอบอุ่นในวันนี้ ไม่ได้เป็นบ้านที่เราอยู่แล้วอุ่นใจได้ในวันข้างหน้า

บ้านอุ่นใจ แบบบ้านผู้สูงอายุ บ้านแห่ง Aging Society โดย มจธ. ที่ออกแบบมาให้ผู้สูงวัยอยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจ

ด้วยเหตุที่ว่านี้ กลุ่มอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่สนใจด้านนวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัย จึงได้รวมตัวกันศึกษาและออกมาเป็นโครงการวิจัยที่เน้นการออกแบบนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องการดูแลตนเอง

แต่หากมีเพียงเอกสารงานวิจัย คนทั่วไปอาจเข้าถึงความรู้เหล่านั้นได้ไม่ง่ายนัก คณะผู้ศึกษาจึงนำองค์ความรู้สร้างออกมาเป็นบ้านที่ทุกคนเข้ามาสัมผัสและทดลองใช้งานจริงได้ โดยตั้งชื่อเล่นง่ายๆ ว่า ‘บ้านอุ่นใจ’

ถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งคิดกันไปว่าบ้านหลังนี้คือสมาร์ทโฮมต้นแบบที่โชว์นวัตกรรมสุดเจ๋งพร้อมใช้ในอนาคต เพราะจุดประสงค์หลักของบ้านหลังนี้ คือการทำหน้าที่เป็นแหล่งองค์ความรู้ที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้ามาต่อยอดพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อผู้สูงอายุได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ความร่วมมือของอาจารย์จาก 2 คณะ

“ต้องขอออกตัวก่อนว่า บ้านหลังนี้ไม่เชิงเป็นต้นแบบ แต่เป็นบ้านแนวทดลองให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิดและทำมานั้น ถ้าอยู่ในสถานที่จริงจะเป็นอย่างไร”

อาจารย์ชู-รศ.ดร.ชูจิต ตรีรัตนพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เกริ่นให้เราฟังเมื่อเปิดเข้ามาในบ้านอุ่นใจ ดูภายนอกก็เหมือนกับบ้านสไตล์มินิมอลชั้นเดียว สะอาดตา แต่ที่โดดเด่นกว่ารูปลักษณ์ คือทุกอย่างในบ้านหลังนั้นเกิดขึ้นจากความใส่ใจ

อาจารย์ชู-รศ.ดร. ชูจิต ตรีรัตนพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

อาจารย์ชูเล่าย้อนถึงที่มาก่อนจะเกิดงานวิจัยชิ้นนี้ว่า เริ่มแรกกลุ่มอาจารย์ในฝั่งคณะสถาปัตยกรรมศาตร์ได้รวมตัวกันเพื่อทำงานวิจัย ออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการบริการเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ในชื่อว่า ABLE Lab ซึ่งย่อมาจาก Achieve Better Living for Elderly Laboratory โดยที่ผ่านมาได้รับทุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุร่วมกับผู้ประกอบการเอกชนภาคธุรกิจ

หลังจากการเก็บองค์ความรู้ในการทำโครงการต่างๆ มาสักระยะ ประกอบกับการได้ร่วมงานกับกลุ่มอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี จึงเห็นความเป็นไปได้ในการนำความรู้จากทั้งสองฝั่งมาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ร่วมกันได้

“ก่อนหน้านี้คณะสถาปัตยกรรมเคยออกแบบโปรแกรมฝึกพูด ทางคณะวิศวกรรมก็มาทำระบบให้ เวลานั้นเราคิดว่า บางทีนวัตกรรมไม่ใช่แค่เพียง Physical Product อย่างเดียว เพราะเทคโนโลยีก็มีส่วนอำนวยความสะดวกหลายอย่างให้กับผู้สูงอายุได้ เพียงแต่ว่าเราจะทำให้ง่ายและเข้ากับชีวิตประจำวันของเขาได้มากที่สุดอย่างไร”

เมื่อความเห็นพ้องกัน กลุ่มอาจารย์ทั้งสองคณะจึงระดมสมอง ลองนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุที่ต่างฝ่ายต่างมีอยู่ประสานกัน สุดท้ายจึงร่วมมือกันศึกษาวิจัยและสร้างออกเป็น ‘โครงการวิจัยต้นแบบในการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ’ และต่อยอดออกมาเป็นบ้านที่เนรมิตความรู้จากงานวิจัยให้เป็นจริง

บ้านที่ทุกฟังก์ชันมาจากการรับฟัง

จะว่าไป บ้านหลังนี้สร้างมาจากสุภาษิตไทยที่ว่า ‘ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน’ อย่างแท้จริง เพราะทุกฟังก์ชันการใช้งานในบ้านมาจากการรับฟังผู้สูงอายุทั้งสิ้น

คณะทีมงานเริ่มต้นการศึกษาด้วยการเข้าไปพูดคุยและเยี่ยมบ้านเพื่อเก็บข้อมูลความต้องการของผู้สูงอายุ 20 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันไป อาจารย์ชูพยายามจะจัดกลุ่มให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายนี้ 

“บางท่านอยู่ในกลุ่ม Independent ที่อยากดูแลตัวเอง แม้จะมีอาการป่วยตามวัยบ้าง แต่ก็ไม่อยากให้มีแต่คนคอยช่วย อีกกลุ่มอาจจะอายุมากแล้ว ประมาณแปดสิบถึงเก้าสิบปี กิจวัตรคือการกินและนอนดูทีวีเป็นหลัก อาจจะรู้สึกว่าชีวิตไม่ได้มีอะไรตื่นเต้นมากมาย เราก็เข้าใจชีวิตของเขาและความเป็นห่วงของลูกหลาน 

“หลายคนก็อยู่ในกลุ่ม Hobby Man สนุกกับการทำอะไรเองทุกอย่าง อยากทำตัวให้เป็นประโยชน์กับคนในบ้าน หรือคนหนึ่งก็อยู่ในกลุ่ม Care Giver คือเกษียณแล้ว แต่ต้องเลี้ยงหลาน ไม่มีชีวิตส่วนตัวเลย แต่ละคนก็มีบ้านและความต้องการที่ต่างกันไป”

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การใช้เทคโนโลยีของผู้สูงวัย ไม่ได้มีแค่เพียงการใช้ส่งไลน์สวัสดีวันจันทร์อย่างที่หลายคนคาดคิด เพราะจากการเข้าไปคลุกคลีพูดคุยกับผู้สูงวัยในบ้านที่แตกต่างหลากหลายนั้น ทีมงานวิจัยได้ข้อมูลว่า บางท่านใช้เทคโนโลยีเก่งกว่าคนหนุ่มสาวเสียอีก และการใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งภายในบ้านไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุหลายท่านเช่นกัน คุณตาบางท่านติดกล้องวงจรปิดในบ้านเป็นงานอดิเรกด้วยซ้ำ

“ดังนั้น ในชีวิตจริงแล้ว คำว่า ‘ผู้สูงอายุ’ จึงไม่ได้มีความหมายหรือความต้องการที่เป็นเพียงมาตรฐานเดียวกัน หรือเหมือนกันทุกคนได้” อาจารย์ชูเน้นถึงความสำคัญ

แต่ท้ายสุดแล้วการออกแบบฟังก์ชันต่างๆ นั้นควรเป็นการออกแบบแนวร่วมสมัย เพื่อให้คนทุกวัยในบ้านใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย 

บ้านอุ่นใจ แบบบ้านผู้สูงอายุ บ้านแห่ง Aging Society โดย มจธ. ที่ออกแบบมาให้ผู้สูงวัยอยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจ

“ผู้สูงอายุก็ไม่ได้อยากได้โปรดักต์เพื่อผู้สูงอายุสักเท่าไหร่ ในขณะเดียวกันลูกหลานก็รู้สึกว่าเท่ ไม่ได้รู้สึกขัด เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เราก็มาสรุปกันว่า แต่ละโซนของบ้านควรมีฟังก์ชันอย่างไรบ้าง ถ้าเป็นเทคโนโลยีก็ควรต้องเป็นแบบที่มองไม่เห็น และกลมกลืนไปกับบ้านธรรมดา” อาจารย์ชูอธิบายหลักสำคัญของการออกแบบที่คำนึงถึงจิตใจของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ

เบื้องหลังอัดแน่นด้วยงานวิจัยและความใส่ใจ

เมื่อได้รู้ที่มาที่ไป อาจารย์ชูก็พาเดินชมบ้านเชิงทดลองหลังนี้ไปทีละโซน ทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านที่เบื้องหลังอัดแน่นไปด้วยงานวิจัยและความคิดเห็นของผู้สูงวัยและผู้ดูแล

พื้นบ้านเรียบเสมอเท่ากันไม่มีสเต็ปหรือขั้นบันไดแบ่งโซนในบ้านเพื่อความปลอดภัย

บ้านอุ่นใจ แบบบ้านผู้สูงอายุ บ้านแห่ง Aging Society โดย มจธ. ที่ออกแบบมาให้ผู้สูงวัยอยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจ

บานประตูหน้าต่างเน้นเป็นบานเลื่อน เพื่อไม่ต้องใช้แรงเหวี่ยงในการเปิดปิด และเลี่ยงการใช้ลูกบิดที่มือของผู้สูงวัยอาจจับได้ไม่ถนัดแล้ว

ห้องครัวมีเคาน์เตอร์ครัวที่ปรับระดับได้ เพื่อให้ง่ายในการทดลองค้นหาระดับความสูงที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน

ตู้เสื้อผ้าและตู้รองเท้าไม่มีบานพับ แต่เป็นผ้าม่านสีสบายตากั้นไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการเปิดปิดโดยไม่ต้องใช้แรงเยอะ ไม่เกะกะหรือเสียพื้นที่รอบข้าง ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้เป็นผลงานที่มีการผลิตสินค้าจำหน่ายจริงแล้ว

บ้านอุ่นใจ แบบบ้านผู้สูงอายุ บ้านแห่ง Aging Society โดย มจธ. ที่ออกแบบมาให้ผู้สูงวัยอยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจ

หน้าต่างในห้องโถงเป็นบานเกล็ดที่ปรับการรับแสงสว่างจากภายนอกได้หลายระดับ เพื่อให้สบายสายตาสำหรับการทำกิจกรรมที่หลากหลายในช่วงเวลาที่แตกต่าง

บ้านอุ่นใจ แบบบ้านผู้สูงอายุ บ้านแห่ง Aging Society โดย มจธ. ที่ออกแบบมาให้ผู้สูงวัยอยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจ

แสงไฟในบ้านไม่ได้เน้นจากไฟบนเพดานเพียงอย่างเดียว แต่มีไฟดาวน์ไลท์ส่องลงตามทางเดิน เพื่อไม่ให้รบกวนสายตาในยามค่ำคืน

ที่น่าสนใจมากคือ ในห้องน้ำแยกโซนแห้งและเปียกชัดเจน ไม่มีสเต็ปคั่น แต่แทนที่ด้วยช่องระบายน้ำที่มีฝาปิดเจาะรูเพื่อวางเรียบไปตามพื้น

ในห้องอาบน้ำ มีแผ่นกระเบื้องหลายแผ่นวางเรียงต่อกัน ไล่ตั้งแต่เฉดสีอ่อนไปเข้ม เมื่อสอบถามอาจารย์ชูจึงได้รู้ว่า กระเบื้องหลากสีนี้มีไว้เพื่อใช้ในการทดลองหยดน้ำ แชมพู หรือสบู่ลงไป แล้วให้ผู้สูงอายุมองดูว่าเห็นหรือไม่ เพราะในชีวิตจริงการลื่นล้มอาจมีปัจจัยจากการมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ 

นอกเหนือจากการมองเห็นแล้ว ผิวสัมผัสเมื่อถูกน้ำก็สำคัญเช่นกัน การเลือกกระเบื้องในห้องน้ำให้ปลอดภัยนั้นจึงควรมาจากการทดสอบทดลองอย่างถี่ถ้วน

บ้านอุ่นใจ แบบบ้านผู้สูงอายุ บ้านแห่ง Aging Society โดย มจธ. ที่ออกแบบมาให้ผู้สูงวัยอยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจ

อยู่สบายและปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี

ส่วนด้านระบบเทคโนโลยีภายในบ้าน อั๋น-วสันต์ ตันสกุล นักศึกษาปริญญาโทจากภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในฝั่งวิศวกรรมระบบ พร้อมดูแลระบบการควบคุมในบ้านอุ่นใจเล่าว่า ระบบควบคุมเพียง 3 ส่วนเท่านั้น คือ แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เซิร์ฟเวอร์กลางในบ้านสำหรับเก็บข้อมูล และกล่องควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด

ระหว่างนี้อาจารย์ชูเปิดแอปพลิเคชันทดสอบให้ดูว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่างที่เสียบปลั๊กสามารถควบคุมและสั่งงานจากแอปพลิเคชันได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปิดเปิดหรือหรี่แสงไฟ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ หรือเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงระบบการแจ้งเตือนด้านความปลอดภัย เช่น การตรวจจับควัน สัญญาณกันขโมย รวมไปถึงระบบการตรวจจับการล้มหรืออุบัติเหตุภายในบ้าน

แอปพลิเคชันที่ว่านี้ แบ่งการใช้เป็น 2 ฝั่งคือ ผู้สูงอายุและผู้ดูแล 

ในฝั่งผู้สูงอายุจะมีหน้าตาแอปพลิเคชันที่ดูง่าย ใช้งานง่าย กดสั่งงานเพียงไม่กี่ปุ่ม หรือเลือกตามโหมดของกิจกรรมต่างๆ ที่มีการตั้งค่าไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้แล้ว เช่น อ่านหนังสือ งีบหลับ นอนหลับ ซึ่งสั่งงานได้ในไม่กี่คลิกเท่านั้น รวมไปถึงการกดปุ่ม SOS เพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ซึ่งหากผู้สูงวัยสวม Smart Watch ก็สามารถสั่งงานได้เช่นกัน

ส่วนในฝั่งของผู้ดูแลจะมีความซับซ้อนขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเป็นระบบที่ต้องตั้งค่าให้เรียบร้อย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้กดใช้ในคลิกเดียวได้อย่างสะดวกสบาย

ปรับใช้กันได้ ไม่ต้องสร้างบ้านใหม่

“ทุกอย่างในบ้านปรับเปลี่ยนตามรูปแบบบริบทต่างๆ ได้ตลอดเวลา” อาจารย์ชูเริ่มอธิบายว่า อุปกรณ์ทุกชิ้นในบ้านหลังนี้ไม่มีงาน Built in แต่เน้นเป็นชิ้นงานที่เลือกนำไปปรับกับบ้านที่อยู่อาศัยเดิมของผู้สูงอายุได้ 

“บ้านที่สร้างเมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อนจะเป็นโมเดลบ้านสองชั้น เพราะเรารับวัฒนธรรมตะวันตกมา และยังไม่มีการศึกษาเผื่อผู้สูงอายุขนาดนี้ พอพ่อแม่เริ่มแก่ขึ้นบันไดไม่ไหว ก็ต้องมารีโนเวตบ้าน แต่ด้วยความที่ไม่มีการเตรียมพร้อม ก็อาจจะต่อเติมเท่าที่ทำได้ เราจึงคิดว่าองค์ความรู้หรือไกด์ไลน์ในบ้านหลังนี้น่าจะช่วยได้ ถึงก่อนหน้านี้ไม่ได้เตรียมตัวไว้ ทำตอนนี้ก็ยังไม่สาย เราไม่ได้คิดว่าต้องมาสร้างทุกอย่างตามบ้านนี้ แต่เราเสนอเป็นทางเลือกหนึ่งที่นำไปปรับใช้ได้”

ด้านระบบเทคโนโลยีต่างๆ ก็เป็นแบบ Plug and Play ที่เลือกใช้แยกเป็นระบบได้อย่างสะดวกสบาย 

บ้านอุ่นใจ แบบบ้านผู้สูงอายุ บ้านแห่ง Aging Society โดย มจธ. ที่ออกแบบมาให้ผู้สูงวัยอยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจ

  “อุปกรณ์ในระบบควบคุมทุกอย่างเป็นการเดินลอยทั้งหมด เพื่อให้ต่อเติมเพิ่มเพื่อการทดสอบได้ง่าย หรือจะประยุกต์แต่ละส่วนไปใช้กับบ้านที่อยู่อาศัยเดิมก็ทำได้เช่นกัน” อั๋นอธิบายเสริม 

“ระบบของเราสามารถนำไปใช้กับบ้านอยู่อาศัยเดิมของผู้สูงอายุได้ เพียงแค่ให้มีพื้นที่ติดกล้องระบบของเราก็พอแล้ว และสามารถเลือกเพียงระบบใดระบบหนึ่งไปได้ เช่นวันนี้อยากจะย้ายตำแหน่งแอร์ในบ้านหลังนี้ เราก็ย้ายกล่องควบคุมไปไว้ในจุดติดตั้งแอร์ใหม่ได้เลย” 

บ้านอุ่นใจ แบบบ้านผู้สูงอายุ บ้านแห่ง Aging Society โดย มจธ. ที่ออกแบบมาให้ผู้สูงวัยอยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจ

นอกเหนือจากการสร้างแบบแยกส่วน เพื่อง่ายต่อการปรับเข้ากับบ้านที่มีสภาพแตกต่างกันไปแล้วนั้น อาจาย์ชูเน้นถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างบ้านหลังนี้อีกครั้ง

“อาจเห็นว่าบ้านหลังนี้ดูไม่ค่อยเสร็จสมบูรณ์ในเชิงโครงสร้าง แต่เราจงใจ เพดานต้องเปิดไว้เผื่อมีการต่อเติมเพื่อการทดสอบต่างๆ ได้ ผนังที่เปิดและตีโครงไม้ไว้เพื่อการติดตั้งอุปกรณ์ในการทดสอบเช่นกัน เช่นระดับไฟ LED บนผนังเราปรับระดับสูงต่ำได้ เพื่อทดสอบว่าความสูงแค่ไหนจะไม่รบกวนสายตา โดยเฉพาะในเวลากลางคืน อาจารย์ที่สอนเรื่องแสงก็พานักศึกษามาศึกษามาทดสอบได้” 

อยู่ได้อย่างสบายกาย และสบายใจ

แม้จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในบ้านเพื่อความอำนวยสะดวกสบาย แต่ในแง่มุมของความเป็นส่วนตัวก็เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพราะบ้านที่อยู่แล้วสบายกายนั้นควรมาคู่กับการอยู่แล้วสบายใจ

“ระบบในบ้านหลังนี้อาจจะไม่ได้ต่างจากระบบที่ขายในท้องตลาดทั่วไปก็จริง แต่สิ่งที่แตกต่างคือ การปรับให้เหมาะกับผู้พักอาศัย เพราะมีการวิจัยเบื้องหลัง มีรายละเอียดเล็กน้อยที่ทางทีมใส่ใจไปถึงรายละเอียดจากประสบการณ์ของผู้ใช้” 

ความใส่ใจที่อั๋นพูดถึง คือการมองให้ลึกไปถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ใช้ ที่บางครั้งผู้พัฒนาเทคโนโลยีอาจมองข้ามไป

“ตัวอย่างเช่น ระบบการตรวจจับคนล้ม ตอนแรกในมุมของวิศวกร เราจะมองว่าทำเป็นระบบง่ายๆ ก็ได้ คือมีกล้องแล้วนำวิดีโอมาวิเคราะห์ แต่ถ้ามองให้ละเอียดอ่อนลงไปกว่านั้น ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเขาเหมือนถูกมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลา ไม่มีความเป็นส่วนตัว เมื่อได้ข้อมูลนี้เราจึงปรับระบบให้ผู้สูงอายุสบายใจว่า ทางระบบจะไม่สตรีมภาพไปให้ผู้ดูแลเห็น หากมีเหตุล้มเมื่อไหร่ จะมีเพียงการแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลเท่านั้น”

การทำงานออกแบบที่เน้นการคำนึงถึงผู้ใช้เป็นสำคัญ นอกจากเป็นการสร้างความสบายใจให้ผู้สูงอายุแล้ว ยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้กับวิศวกรระบบอย่างอั๋นด้วยเช่นกัน

“การได้ร่วมทำโครงการนี้ ทำให้ได้เพิ่มมุมมองความเข้าใจในด้านประสบการณ์ของผู้ใช้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อได้มาร่วมทดสอบระบบร่วมกับผู้สูงอายุ เราได้เห็นช่องว่างที่เคยต่อกันไม่ติด อย่างเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมยิ่งเราพยายามให้ผู้สูงอายุใช้ เขายิ่งไม่รับ พอมาทำงานนี้ก็ได้เห็นช่องว่าง บางอย่างเราต้องปรับให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยที่เราดูแลด้วย ทุกคนอาจมองว่าง่าย แต่ไม่ได้ง่ายสำหรับเขานะ เราต้องเพิ่มความเข้าใจตรงนี้ด้วย” 

พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์เพื่อวันข้างหน้า

บ้านทั่วไป เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วก็เท่ากับจบภารกิจของผู้ออกแบบและสร้างสรรค์ แต่สำหรับบ้านอุ่นใจไม่เป็นเช่นนั้น

บ้านอุ่นใจจะอยู่ภายใต้การศึกษาและต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป ตราบเท่าที่ทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านจะเกิดเป็นนวัตกรรมที่มีบริษัทต่างๆ นำไปพัฒนาเป็นสินค้าและบริการให้กับผู้สูงอายุได้จริง

“เราหวังว่าจะใช้บ้านหลังนี้เป็นพื้นที่ทำให้เกิดความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ที่ทำนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ เผื่อว่าเขาอยากทำการทดสอบหรือทดลองเพื่อหาองค์ความรู้หรือมองหางานวิจัย ที่ต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์ของเขาตอบโจทย์กับผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นชิ้นงานสินค้าที่ใช้ได้จริงมากขึ้นเรื่อยๆ

อาจารย์ชู-รศ.ดร. ชูจิต ตรีรัตนพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“ดังนั้นเราจึงต้องการความร่วมมือและการต่อยอดไปอีกสักระยะ จนวันหนึ่งบ้านหลังนี้จะเป็นบ้านต้นแบบได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าตอนนี้ใครสนใจมาร่วมวิจัยองค์ความรู้เพิ่มเติมในเชิงพฤติกรรมและการออกแบบสำหรับผู้สูงอายุ หรือบริษัทใดสนใจอยากศึกษาทดสอบเรื่อง Home Operation ต่างๆ เราก็ยินดีอย่างยิ่ง” อาจารย์ชูฝากข้อความชวนด้วยรอยยิ้มเปี่ยมความหวัง

แม้ว่าที่ผ่านมาในประเทศไทยอาจยังไม่มีโปรดักต์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยมากนัก แต่อย่างน้อยอาจารย์ชูหวังว่า บ้านหลังนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับแวดวงอุตสาหกรรม เข้ามาให้ความร่วมมือกับภาคการศึกษาในการเตรียมพร้อมรับกับสังคมในอนาคตข้างหน้ามากขึ้น

ที่สำคัญคือการสร้างแรงบันดาลใจและส่งมอบแนวคิดของการทำงาน ไปพร้อมกับการสร้างประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งมีความหมายและคุณค่าต่ออาชีพในอนาคตอย่างแท้จริง

“อย่างน้อยการสร้างบ้านอุ่นใจก็นับเป็นการสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์และใช้งานได้จริง เพราะถ้าศึกษาวิจัยแล้วแต่ไม่มีการนำไปใช้ก็ไม่ถือเป็นนวัตกรรม นอกจากนี้ เราก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ โดยที่ไม่ใช่ให้เพียงองค์ความรู้ทางด้านการออกแบบ แต่เป็นการสร้าง Mindset สร้างจิตสำนึกให้เขาทำงานรับผิดชอบและเป็นประโยชน์ต่อสังคม 

“พูดง่ายๆ คือ ถ้าออกแบบไปแล้วไม่มีประโยชน์ต่อใคร ก็ไม่น่าทำ แต่ถ้างานของนักศึกษาออกแบบมาแล้วช่วยคนได้ หรือได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ชีวิตของคนเราดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือคนกลุ่มไหน เป็นงานที่เกิดประโยชน์และดีต่อใจ ก็นับเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นใจของนักศึกษาและอาจารย์ด้วยเช่นกัน”

บ้านอุ่นใจ จากโครงการวิจัยต้นแบบการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อปรับสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ เป็นในงานวิจัยชิ้นสำคัญที่พิสูจน์ถึงวิสัยทัศน์ในการสร้างนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมอันสอดคล้องกับยุคสมัยที่มีมาตลอด 60 ปี ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ในโอกาสการสถาปนาครบรอบ 60 ปีนี้ มจธ. พร้อมเดินหน้าต่อไปภายใต้แนวคิด “สังคมปริวรรต พิพัฒน์อนาคต” ด้วยการริเริ่ม 6 แนวทางสำคัญ นั่นคือ

1. พัฒนากำลังคนและเร่งสร้างพันธมิตรสำหรับอนาคต (Developing human resources and accelerating partnerships for the future)

2. ปรับเปลี่ยนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital transformation)

3. ธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพและตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม ทำหน้าที่ของตนเองภายใต้การเป็นพลเมือง (Effective governance and good citizenship)

4. สร้างแรงบันดาลใจเพื่อการสร้างผู้นำแห่งอนาคต (Inspiring future leaders)

5. มหาวิทยาลัยสุขภาพดีและยั่งยืน (Healthy and sustainable university)

6. มุ่งสร้างนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ (Entrepreneurial university)

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

ธันวา ลุจินตานนท์

หุ้นส่วนร้านล้างฟิล์มที่ถูกทักเสมอว่าไม่เห็นอยู่ร้าน ชอบถ่ายรูปผู้คนเพราะสนุกเวลาได้ฟังหรือพูดคุยกับเค้า และชอบแดดฤดูหนาวเพราะความคมกับโทนของมันช่างสวยงามแต่คนรอบข้างไม่มีใครเข้าใจ