พฤศจิกายน 2545

ณ อิมพีเรียล ลาดพร้าว วัยรุ่นนับร้อยชีวิตต่อแถวยาวเหยียด เพื่อรอรับแจกซีดีเพลง ความรู้สึกของฉันที่มีเธออยู่ด้วยกันอีกหนึ่งคนบนโลกใบนี้ ซิงเกิลผลิตขึ้นเป็นพิเศษเพื่อขอบคุณแฟนๆ ที่มาร่วมงาน Fat Festival ครั้งที่ 2 หลังจากหนึ่งในบทเพลงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกนี้ ทำสถิติติดอันดับเพลงยอดนิยมของคลื่น 104.5 ต่อเนื่องนานถึง 38 สัปดาห์

สำหรับใครหลายคน นี่คือปรากฏการณ์แรกที่ฝังอยู่ในความทรงจำ เมื่อพูดถึง Smallroom ค่ายเพลงเล็กๆ ที่เติบโตมาตั้งแต่กระแสอินดี้ครองเมือง ผ่านร้อนผ่านหนาวจนมาถึงสู่ยุคโซเซียลมีเดียที่ใครๆ ต่างก็ทำเพลงเองได้

จากวันนั้นถึงวันนี้ พวกเขาได้ปลุกปั้นศิลปินที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ สี่เต่าเธอ, Armchair, Death of a Salesman มาจนถึง Slur, Tattoo Colour, Polycat, The Richman Toy, Somkiat หรือเลือดใหม่อย่าง DEPT

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ Smallroom หยัดยืนข้ามกาลเวลา ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ชักชวน รุ่ง-รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ พี่ใหญ่ของค่าย มาร่วมหาคำตอบผ่านเรื่องราวและความทรงจำที่มีต่อห้องเล็กๆ แห่งนี้ตลอดสองทศวรรษ

รุ่ง-รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์, เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

01

‘..ห้องเล็กนะคะ..’

หลงใหลดนตรี ชื่นชอบความเท่ น่าจะเป็นคำจำกัดความตัวตนผู้ชายคนนี้ได้ชัดเจนสุด

เดิมที Smallroom ไม่ได้วางบทบาทเป็นค่ายเพลง แต่ตั้งใจเป็นมิวสิกโปรดักชันเล็กๆ รับจ้างผลิตเพลงเท่านั้น

เพราะเมื่อ พ.ศ. 2537 รุ่งเคยทำวงดนตรีชื่อ Crub ซึ่งถือเป็นต้นแบบแนวเพลง BritPop ของเมืองไทย แต่ปรากฏว่า 4 เดือนขายได้ทั้งหมด 20,000 ม้วน เจ๊งสนิท วงดนตรีแรกจึงต้องปิดฉากลงอย่างเงียบๆ

ปีถัดมาเขาหันมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ศิลปินน้องใหม่ สี่เต่าเธอ ถึงจะมีเพลงฮิตอยู่บ้าง แต่พอหักกลบลบหนี้ก็ยังไม่คุ้มทุนอยู่ดี จากนั้นก็มาทำค่ายเพลงชื่อ Subdisc ผลิตงานออกมา 2 อัลบั้ม คือ Suharit กับ EMELY แน่นอนว่าทั้งหมดไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนทุกอย่างจะสลายตัวไปพร้อมวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

แม้ชีวิตบนถนนสายดนตรีจะลุ่มๆ ดอนๆ จนต้องกลับมาทำงานตกแต่งภายใน แต่รุ่งกลับไม่เคยหยุดฝัน

เมื่อเทคโนโลยีถูกลง มีการใช้ Hard disk recording ซอฟต์แวร์สำหรับอัดเสียงมาช่วยทำเพลง เขาจึงรวมกลุ่มกับ พิซซ่า-ชัยบรรฑิต พืชผลทรัพย์, แจ๊ค-นิตินาท สุขสุมิตร และ เจ-เจตมนต์ มละโยธา สามสมาชิกวงพราว เพื่อนร่วมภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ เชาวเลข สร่างทุกข์ อดีตนักแต่งเพลงจาก Bakery Music สร้างทีมทำเพลงในฝัน รับผลิตเพลงโฆษณาแก่บริษัทต่างๆ

รุ่ง-รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์, เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

ประสบการณ์ครั้งใหม่ ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้การผลิตงานเพลงที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะการสร้างงานตามโจทย์ รู้จักการผสมผสานความเป็นไทยอย่างพอเหมาะ และเริ่มเห็นเส้นทางอาชีพจริงจัง

พ.ศ. 2542 ทั้งหมดจึงตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการในชื่อ Smallroom โดยได้ไอเดียมาจากคำทักทายเชิงปรามาสจากศิลปินหญิงแถวหน้าคนหนึ่ง ซึ่งมาอัดเพลงโฆษณาว่า “..ห้องเล็กนะคะ..” 

แต่การทำเพลงโฆษณาไม่ได้เป็นฝันเพียงอย่างเดียว พวกเขายังอยากปล่อยของ อยากนำแรงบันดาลใจที่ได้จากการฟังเพลงต่างประเทศ มาต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ๆ และนั่นเองที่นำมาสู่การหวนคืนสู่ตลาดเพลงไทยอีกหน

Smallroom 001 what happens in this smallroom วางแผงในวันคริสต์มาสปีเดียวกัน โดยเลข 001 มีต้นแบบมาจาก SARAH Records ค่ายเพลงระดับตำนานของอังกฤษ ซึ่งมีรหัสกำกับอัลบั้มแต่ละชุด ตั้งแต่ SARAH 1-100

ส่วนศิลปินในอัลบั้ม ประกอบด้วย สี่เต่าเธอกับวงดนตรีหน้าใหม่อีก 9 วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีมงานและเพื่อนฝูงที่คุ้นเคยกันดี อาทิ แจ๊ค วงพราว ฟอร์มทีมกับนักร้องสาวเสียงใสคนหนึ่งในชื่อ Groovy Airline, เจ วงพราว เรียกตัวเองว่า Penguin villa รวมถึง ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ที่มาร่วมสนุกโดยใช้นามแฝง Bonus

“พี่เต็ดนี่เรารู้จักมาตั้งแต่อยู่ Atime แล้ว แกเคยบอกว่า รุ่ง..กูเรียกมึงว่าเจ้าพ่อ Un-Pop นะ คือไม่ป๊อปเลย เราก็อยากเอาชนะ พอเขาจั่วหัวแบบนี้ เลยชวนมาทำ 001 โดยตอนนั้นเราอยากได้วงแบบนักร้องเสียงใหญ่ อย่าง Orange Juice ซึ่งเสียงพี่เต็ดน่าจะไปทางนั้นได้ จนออกมาเป็นเพลงขวัญใจ

“ส่วนเหตุผลที่ทำเป็น Compilation เพราะสมัยนั้นมีค่ายเพลงจากฝรั่งเศส จากเยอรมัน นำเพลงใหม่ของศิลปินมารวมกันวงละเพลงสองเพลง เราจึงอยากทำบ้าง โดยตกลงกันว่าจะไม่ใช่เครดิตเก่าเลย คิดชื่อวงใหม่ เพราะอยากรีเฟรช ไม่อย่างนั้นจะถูกมองว่าเป็นอัลเทอร์เนทีฟแบบไทยๆ แต่ Taxi ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่าย มองว่าผิดหลัก คุณควรใช้เครดิตเก่าในการขาย แต่เราก็แรง เพราะอยากให้มันแตกต่าง สุดท้ายเขาเลยขอแปะสติ๊กเกอร์ว่ามาจากอดีตวงอะไรแทน” 

ผลงานแรกของพวกเขาประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

เพลงแต่งงานของ moor เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักฟังเพลงรุ่นใหม่ โดยเฉพาะแฟนคลับช่อง Channel [V] Thailand เช่นเดียวกับเพลงจิตรกรรมของ Groovy Airline ซึ่งภายหลังถูกเปิดใน Fat Radio จนขึ้นอันดับ 1 นานถึง 4 สัปดาห์ แต่ที่สำคัญกว่าคืองบการผลิตอัลบั้มต่ำกว่าสมัยทำค่ายแรกเกือบเท่าตัว ทำให้เขามีเงินเหลือแจกผู้ร่วมงานแต่ละคน

“เอาตรงๆ เรารู้แค่ว่ามีคนชอบอยู่บ้าง แต่ไม่รู้ว่าเยอะแค่ไหน อีกสิ่งที่เรารู้ คือเราจะทำทิศทางอย่างนี้ และจะไม่ลงทุนสูง ทำให้ง่ายสุด สิ้นเปลืองน้อยสุด เพราะเราเจ็บมาเยอะแล้ว”

สูตรการทำงานช่วงต้นจึงเป็นการนำเงินที่ได้จากเพลงโฆษณามาหมุนเพื่อสร้างงานที่อยากทำ โดย 3 ปีแรกมีผลงานทั้งหมด 3 ชุด คือ Smallroom 001, Smallroom 002 และ The Love Boat ของสี่เต่าเธอ

ทว่าใน พ.ศ. 2544 นัดดา บุรณศิริ จาก Universal Music (ประเทศไทย) ได้ชักชวนให้รุ่งมาช่วยดูแลแผนกเพลงไทย เขาจึงส่งศิลปินในมือ อย่าง Armchair, Kaijo Brothers, บัวหิมะ และ ปุ๊ย-คืนสิทธิ์ สุวรรณวัฒกี มาออกอัลบั้มที่นี่แทน

“ทุกอัลบั้มที่เราส่งไปจะมีการผสมผสานให้ถูกใจคนไทยมากขึ้น แต่ยังคงความเท่ไว้ด้วย เช่น Armchair ชุด Pastel Mood มีความเป็น Café del Mar เป็น International Pop สูงมาก พอเป็นอัลบั้ม Design ก็ถูกทำให้เท่อีกแบบ มีความเป็น Electro ขึ้น คือแทนที่อ้วน (อธิษว์ ศรสงคราม) จะเป่าฟลุตก็หันมาเล่นคีย์บอร์ด แล้วเราก็อยากทำให้แอกทีฟขึ้น เพราะชุดแรกไปเล่นสดแล้วนิ่ง เป็นความเท่ต่อเนื่องกันไป โดยเราได้แรงบันดาลใจมาจาก blur ซึ่งเปลี่ยนทุกชุด คือโอเควงที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ออกกี่ชุดก็เหมือนเดิม เราก็ชอบ แต่ตอนนั้นรู้สึกว่า blur เท่มาก

“อย่างปุ๊ยก็เช่นกัน เราอยากทำอัลบั้มให้เป็นลูกทุ่ง Big Beat อารมณ์เหมือนให้ Fatboy Slim มาทำเพลงลูกทุ่ง เรียกว่าเป็นจินตนาการที่มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย คือทุกอัลบั้มที่เราทำจะมีการกำหนดทิศทางว่าอยากให้เป็นยังไง เพราะถึงจะไม่ใช่เงินเรา แต่เราก็อยากรับผิดชอบให้ทุกชุดประสบความสำเร็จที่สุด ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังเป็นแบบนี้อยู่”

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า Smallroom จะไม่ได้ลงทุนผลิตงานเองเลย เพราะหากศิลปินวงไหนที่ผสมความเป็นไทยได้ไม่มาก แต่งานแปลกใหม่น่าสนใจ อาทิ Death of a Salesman พวกเขาก็ยินดีที่จะเสี่ยงเช่นกัน 

ทั้งหมดนี้กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลงานที่เกิดจากห้องเล็กๆ แห่งนี้ โดดเด่น มีสไตล์ และเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเท่ท่ามกลางยุคที่กระแสเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย 

เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

02

ห้องเล็กที่ไม่เล็กอีกต่อไป

หลังอยู่เบื้องหลังคอยผลิตงานป้อนสังกัดอื่นมาพักใหญ่ ใน พ.ศ. 2547 Universal Music (ประเทศไทย) ประกาศปิดแผนกเพลงไทย ส่งผลให้ศิลปินอย่าง Armchair กลายเป็นวงไร้สังกัด 

รุ่งกับทีมจึงตัดสินใจเปลี่ยน Smallroom เป็นค่ายเพลงเต็มตัว อัลบั้มต่างๆ เริ่มหลั่งไหลออกมาต่อเนื่อง อาทิ Stylish Nonsense, Penguin Villa, Montonn Jira รวมถึง Suberbaker เจ้าของเพลงความรู้สึกของฉันที่มีเธออยู่ด้วยกันอีกหนึ่งคนบนโลกใบนี้ โดยเมื่อ พ.ศ. 2548 เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งใจจะผลิตอัลบั้มให้ได้สัก 25 ชุด

2 ปีนี้จึงเป็นช่วงที่พวกเขาเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง อาทิ Smallworld ค่ายเพลงที่แนะนำศิลปินอินดี้จากทั่วโลกมาให้ชาวไทยได้รู้จัก เปิดแผนกการตลาดและแผนกประชาสัมพันธ์จริงจัง รวมถึงโปรเจกต์ Muchroom ซึ่งหวังเป็นค่ายย่อยผลิตศิลปินที่มีกลิ่นดนตรีต่างจากค่ายหลัก แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็พับไปก่อน โดยหนึ่งในศิลปินอย่าง ขอนแก่น ได้โยกมาออกผลงานในสังกัด Smallroom แทน

เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย
เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

ขอนแก่นถือเป็นวงดนตรีที่รุ่งมักหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอ เพราะเป็นครั้งแรกที่ถูกแฟนเพลงวิจารณ์อย่างหนักว่า ‘ไม่แนวเลย’ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผลงานทั้ง 12 เพลงจากอัลบั้มกรุงเทพฯ นี้ถือเป็นสิ่งที่ช่วยกรุยทางให้ค่ายเล็กๆ แห่งนี้สร้างศิลปินที่แหวกขนบเดิมๆ ตามมาอีกหลายวง 

“ช่วงนั้นคนจะงงมากว่าทำไมเราทำป๊อป เราถูกด่าเยอะมาก แต่ส่วนตัวคิดว่าเราไม่ผิด เพราะการทำค่ายนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ชอบเพลงป๊อปหรือวงร็อกไทย เราฟัง Bodyslam ฟัง Big Ass เหมือนกัน ที่สำคัญคือขอนแก่นเป็นวงที่ดี เสียงแบบขอนแก่น เมโลดี้แบบขอนแก่นไม่เหมือนใคร น่าเสียดายที่วงไม่ดัง ณ ตอนนั้น”

ทว่าทั้งหมดนี้นับเป็นช่วงทดลองเท่านั้น เนื่องจากการผลิตงานส่วนใหญ่ยังอาศัยทุนจากเพลงโฆษณาเป็นหลัก 

กระทั่ง พ.ศ. 2549 Smallroom จึงเข้าสู่ระบบค่ายเพลงเต็มรูปแบบ หลังมีเครือข่ายมือถือยักษ์ใหญ่รายหนึ่งมาเป็นแหล่งทุนในการผลิตอัลบั้มเพลงทุกชุด โดยเฉพาะ 6 ศิลปินเลือดใหม่ อย่าง Lemon Soup, Slur, Tattoo Colour, Yarinda & Friends, กิ-กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร และ บอล-จารุลักษณ์ ชยะกุล

เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย
เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

“ปีนั้น Armchair ออกจากค่ายพอดี แต่เราดันขายสปอนเซอร์ไว้แล้ว เลยถามเขาตรงๆ ว่า Armchair ไม่อยู่แล้ว คุณติดไหม เขาบอกไม่ติด ซึ่งเราดีใจมาก ถือเป็นจุดเปลี่ยนเลย เพราะเราไม่ต้องเอาเงินจากเพลงโฆษณามาทำแล้ว โดยช่วงนั้นไฟแรงมาก บ้าพลัง รับเด็กมาเพียบ

“อย่าง Tattoo Colour ตอนนั้นไปเป็นกรรมการประกวดเพลง มันก็เลยถือโอกาสส่งเดโม่ด้วยเลย หรือ ญารินดา ตอนที่ส่งงานมาตกใจนะ เขาอยู่แกรมมี่นี่ พอเรียกเข้ามาก็ถูกจริตเลย ส่วนบอล ตอนเจอกันมีแค่ร้องกับกีตาร์โปร่ง แต่เพลงที่เขาแต่งตุนไว้ดีมากๆ ขณะที่กิเอาตรงๆ เราชอบ DOJO แล้วบังเอิญได้คุยกัน บวกกับช่วงนั้นฟัง Kahimi Karie เยอะเลยคิดว่าน่าจะทำสไตล์นี้ได้ แต่สุดท้ายอัลบั้มเดียวของกิก็ไม่ได้ทำเป็นญี่ปุ่นแบบนั้น”

แต่ถึงอะไรๆ ใน Smallroom อาจไม่เหมือนเดิม หากกระบวนการสร้างสรรค์งานกลับไม่เคยเปลี่ยนตาม รุ่งยังคงสนุกกับการได้ดึงความเท่หรือความน่าสนใจของศิลปินแต่ละวง โดยที่รักษาตัวตนของพวกเขาให้ได้มากที่สุด

เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

“หลักคิดง่ายๆ ของเราคือ ในค่ายไม่มี แล้วในประเทศยังไม่มี อย่าง Lemon Soup เราตั้งใจทำเป็น College Sound แบบที่สมัยเราฟัง Lemonheads อยากให้เป็นกลิ่นแบบนั้นทั้งชุด เช่นเดียวกับ Tattoo Colour เราคงไม่ไปบอกเขาให้แต่งเพลงให้ฟังดูยากขึ้น เพราะเราชอบเพลงที่เขาแต่งซึ่งฟังง่าย เพียงแต่จะทำอย่างไรให้เท่ขึ้น ถือเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อ 

“ประสบการณ์จากเพลงโฆษณาทำให้เราคิดว่า ต้องทำอัลบั้มให้เป็นรูปธรรมที่สุด อย่างบอล ตอนนั้นเราตั้งใจจะทำเป็น R&B ที่เท่สุดใน พ.ศ. นั้น แต่เราคงบอกไม่ได้ว่าจะฮิตทันทีหรือไม่ หลายคนมักพูดว่า ค่ายนี้ชอบมาก่อนเวลา ซึ่งเราเกลียดคำนี้มาก เราไม่ได้อยากมาก่อน อยากมาพร้อมกันนี่แหละ” บอสใหญ่แห่งห้องเล็กกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

คงเพราะแนวคิดแบบนี้เอง ทำให้ตลอดหลายสิบปีมานี้ Smallroom กลายเป็นแรงดึงดูดคนรุ่นใหม่ นักดนตรีหลายคนใฝ่ฝันจะร่วมงานกับที่นี่ เช่นเดียวแฟนเพลงซึ่งพากันยกให้เขาเป็นเจ้าพ่อเด็กแนวคนหนึ่ง

แต่พี่รุ่งของน้องๆ กลับมองต่างออกไป 

“เราไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในกระแสเลย แม้แต่ตอนที่พจน์ อานนท์ ทำหนังเรื่อง สมอลล์รูกูแนว ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาหมายถึงเรา หรือช่วง a day ดังๆ ที่ทุกคนต้องถือ a day สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับ Smallroom เราก็ไม่ได้ถูกพ่วงไปด้วย บางทีอาจเพราะเราอยู่แต่บริษัทจึงไม่ได้มองสถานการณ์ภายนอกมากนัก เอาความสนุกของตัวเองเป็นที่ตั้งเท่านั้น”

สิ่งเดียวที่ชายผู้นี้คาดหวัง คือความสำเร็จของสมาชิกในค่าย เขาอยากให้ทุกคนใช้ดนตรีเลี้ยงชีพได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำงานที่ตัวเองไม่อยากทำ จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมเขาถึงยอมยุบ Smallworld เพื่อนำเงินมาปั้นเด็กไทย หรือไม่ยอมรับศิลปินหน้าใหม่นานหลายปี ด้วยต้องการให้ทุกคนโด่งดังเสียก่อน เพราะทั้งหมดถือเป็นความรับผิดชอบในฐานะหุ้นส่วนทางดนตรี

“เรารู้สึกเสียใจทุกครั้งเวลาวงที่อยู่กับเราแล้วไม่สำเร็จ อย่างขอนแก่นก็ควรจะดัง Spoonfulz ก็ควรดังมากๆ แม้แต่ Polycat ก็ควรดังตั้งแต่เพลง ถ้าเธอคิดจะลืมเขา ไม่อย่างนั้นชีวิตคงดีไปนานแล้ว หรือบางเพลงต้องผ่านไปเป็นสิบปีถึงดัง ทำให้วงเหล่านั้นหากินไม่ได้หรือต้องไปอยู่ข้างนอก”

ตลอด 21 ปีในโลกของดนตรี แม้หลายคนมองว่า Smallroom เป็นพี่ใหญ่แห่งวงการอินดี้ แต่รุ่งยืนยันว่า ที่นี่ยังคงเป็นห้องเล็กๆ ที่อยากถ่ายทอดทางเลือกใหม่ๆ สู่สังคมเพลงไทยไม่เปลี่ยนแปลง

03

ห้องเรียนของ ‘พี่รุ่ง’

“ไม่เคยเผด็จการเลย เรานี่โคตรประชาธิปไตย” รุ่งเอ่ยขึ้นเมื่อถูกถามว่าเขาครอบงำศิลปินหรือไม่

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะผู้นำค่าย เขาย่อมมีอิทธิพลทางความคิดต่อสมาชิกในสังกัดไม่มากก็น้อย

หากแต่การครอบงำกับการกำหนดทิศทางนั้นเป็นคนละเรื่องกัน..

“สมมติศิลปินส่งเดโม่หรือเล่นสดให้เราฟัง เสร็จแล้วเราบอกว่า ‘มึงเหมือนวงนี้กูไม่เอา แบบนี้ไม่เรียกครอบงำ’ แต่เราต้องการชี้ว่า จะไปเหมือนเขาทำไม เอาง่ายๆ อย่าง Tattoo Colour ชุดแรก ถ้าปล่อยไปโดยไม่ทำอะไรเลยจะเหมือน Good September เลย ซึ่งความจริงงานเขาดีนะ แต่ไม่มีประโยชน์ที่ Tattoo Colour จะเป็น Good September อีกวง

เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย
เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

“แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องนั้น เด็กมักบอกเราว่าไม่เห็นเหมือนเลย เราก็ตอบว่า อย่างนั้นเอาให้คนในออฟฟิศฟังว่าเหมือนไหม เพราะฉะนั้นเผด็จการกับ Intention ไม่เหมือนกัน เราเป็นคนมีเป้ามีจุดของเรา สมมติย้อนกลับไปฟังขอนแก่น ถามตัวเองว่านี่คือ Bodyslam หรือ Big Ass เหรอ ไม่ใช่เพราะเสียงไอ้แดน (อภิเชษฐ์ พัจนสุนทร) ไม่ได้เป็นแบบนั้น ตอนที่ขอนแก่นออกมา ไม่เหมือนใครเลย แต่พอขอนแก่นหมดไปแล้ว ถึงจะมีวงที่เหมือนขอนแก่นออกมา”

ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง รุ่งจะพยายามถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ต่างๆ ของตัวเอง ให้กับศิลปินและคนเบื้องหลัง เพื่อเปิดโลกดนตรีให้กว้างขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าทุกคนไม่ต่างจากคู่หูหรือครอบครัว จึงควรแบ่งปันเรื่องราว ทัศนคติ มุมมองความคิดซึ่งกันและกัน

โดย Smallroom มีกติกาให้วงดนตรีต่างๆ ยืดถือ คือศิลปินแต่ละคนต้องเป็นตัวของตัวเอง เพราะรุ่งเชื่อว่า หากปราศจากความมั่นใจแล้วคงยากที่จะสร้างงานดีๆ ขึ้นได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคิดเสมอว่าตัวเองไม่เก่ง เพราะเมื่อไม่เก่งจะได้ขยัน และหากมีข้อสงสัยขอให้ถาม สุดท้ายคือเชื่อฟังผู้ใหญ่ ซึ่งก็หมายถึงรุ่ง ในฐานะผู้ควบคุมการผลิตงาน 

“เราทำงานเหมือนบัดดี้ คือวงห้าสิบ ค่ายห้าสิบ เราเชื่อว่าวงดนตรีต้องสร้างงานเรื่อยๆ อย่าหยุด ถ้าเมื่อไหร่ที่แต่งเพลงน้อยลง มีเพลงใหม่น้อยลง ถือว่าผิดแล้ว ค่ายมีหน้าที่กระตุ้น เพราะฉะนั้นกว่าที่อัลบั้มหรือเพลงใหม่จะออกมาได้ วงก็ต้องบิวต์พลังกันเองสุดๆ พลังตรงนี้จะถูกส่งมาถึงค่าย ค่ายก็มีหน้าที่ครีเอตว่า หนังเรื่องนี้ออกมาอย่างไรดี

“อย่าง DEPT อยากเป็นวงยุค 2020 ที่เท่แบบนี้ มีทัศนคติแบบวงรุ่นใหม่แบบนี้ พอเขาส่งพลังเข้ามา ค่ายต้องรู้แล้วควรปิดงานแบบไหน เราเคยคุยกันถึงขั้นที่ DEPT อยากให้เราทำอะไรที่ไม่ซ้ำแนวกันเลย คือเราคุยกันหมดทุกเรื่อง อยากให้ค่ายเราหลากหลายยังไง เพราะเราอยู่กันแบบหลายวงกันจริงๆ ไม่ใช่อยู่เป็นเอกเทศ ทุกวงต่างเชื่อมโยงกัน”

เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย
เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

แต่แน่นอน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อศิลปินชัดเจนกับตัวเองมากพอว่าต้องการไปในทิศทางใด ยกตัวอย่างเช่น Polycat ถ้าสังเกตจะพบว่า อัลบั้มที่ 2 80 Kisses ต่างจากอัลบั้มแรก 05:57 แบบหน้ามือเป็นหลังมือ

“ชุดแรกเรียกว่าไม่สำเร็จเลย พอชุดสองเขาก็เลยคุยกันเองว่าจะไปยังไงต่อ ตอนแรกก็ลังเลว่าจะเป็น EDM หรือย้อนยุคดี แต่สุดท้ายก็เลือกย้อนยุค จากนั้นเขาก็เข้ามาคุยกับเรา เราก็มีหน้าที่ให้ข้อมูลไปว่ามีแบบไหนบ้าง เราโตมากับวงประเภทไหน เพราะพวกนี้มันเกิดไม่ทัน ก็เหมือนเข้าคลาสกับพี่รุ่ง แต่เราจะเลือกเฉพาะที่เกี่ยวกับเขา ซึ่งพอย้อนยุคมันหนีไม่ได้ไกล เพราะหากจะทำ Synth-Pop ต้องเป็น 8os ไม่ใช่ 70s แน่ๆ และคงไม่ใช่ 90s เพราะยุคนั้นไม่ได้มี Synth มากนัก

“จากนั้นก็มาคุยกันว่ายุค 80s เป็นอย่างไร นักแสดงยุคนั้นมีใครบ้าง เขาต้องเสยผมแบบไหน เหมือนสร้างบรรยากาศให้ตลบอบอวล ฟุ้ง เป็นอุปทานหมู่ จำได้ว่าเรายกตัวอย่าง River Phoenix ดาราที่เสียชีวิตไปแล้วให้ นะ (รัตน จันทร์ประสิทธิ์) ซึ่งรู้สึกว่ามันก็เข้าใจ และเอาไปใช้กับตัวเอง”

เพราะฉะนั้น การทำงานระหว่างวงกับค่าย จึงไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นการค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดร่วมกัน

แน่นอนว่าการปะทะทางความคิดเป็นเรื่องปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทุกอย่างย่อมมีทางออก หากมีเหตุผลที่ดีมากพอ อย่างเพลง ร้อนของ ซิงเกิลล่าสุดของ Tattoo Colour ซึ่งรุ่งยอมรับว่าเขากับ รัฐ พิฆาตไพรี โปรดิวเซอร์และมือกีตาร์ประจำวงมีความเห็นสวนทางกันบ้าง แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ลงเอยด้วยดี  

“เราเคยพูดกับรัฐว่าเปียโนตอนขึ้น อยากให้กระแทกกว่านั้น แต่ท้ายสุด รัฐก็ไม่กระแทก ก็โอเคเรื่องนี้ อาจอยากเปิดมาแบบติ๋มๆ แล้วค่อยตูม แม้เราจะมองว่าเพลงนี้เปิดมาแล้วต้องตูมเลยก็ตาม ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนเราอาจไม่ยอม แต่ตอนนี้เรายอมเพราะมันไม่ซีเรียสขนาดนั้น เป็นมุมมองที่ขัดกันเฉยๆ หรือท่อนโซโล่ ตอนแรกไม่ได้เป็นแบบที่ทุกคนได้ยิน แต่อันนี้รัฐยอมเรา บอกพี่รุ่งคิดมาเลยแล้วกัน เราก็คิดให้ แต่ตอนเสร็จถามไปว่า ‘มึงเป็นมือกีตาร์ทำไมมึงไม่คิด’

เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

“อย่าง Slur ก็เหมือนกัน ซิงเกิลล่าสุด ไอ้บู้ (ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์) อยากปล่อยเพลงช้า เพราะบอกว่าไม่มีใครฟังเพลงเร็วแล้ว แต่เราบอกว่ายิ่งไม่มีคนฟัง ยิ่งต้องทำเพลงเร็ว คือยืนกันคนละฝั่ง สุดท้ายต้องโหวต คือวงกับทีมโปรดักชันในบริษัท สรุปเป็นเพลงเร็ว ที่สำคัญคือคนแต่งทุกเพลง คือไอ้เย่ (จักรพันธ์ บุณยะมัต) นักร้องนำก็เลือกเพลงเร็ว”

ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับที่ช่วยให้ชายผู้นี้นำพาห้องเล็กๆ แห่งนี้มาอยู่ในใจคนฟังเพลงรุ่นแล้วรุ่นเล่ามาไม่เสื่อมคลาย

04

ก้าวต่อไปในห้องเล็กๆ

ตลอด 21 ปีที่ผ่านมา Smallroom มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

หลังทำค่ายมาได้ปีกว่า พิซซ่ากับแจ๊คถอนตัวไปทำกิจการส่วนตัว พอ พ.ศ. 2557 เชาวเลขก็ขอลาออกไปทำค่ายของตัวเอง เช่นเดียวกับวงดนตรีอย่างสี่เต่าเธอ, Armchair, The Yers หรือ Lomosonic ที่แยกย้ายไปค้นหาฝันตามทางที่เลือก

สำหรับรุ่งแล้ว นี่เป็นธรรมดาของโลก ซึ่งคงไม่ต่างจากการที่เขากับเจยังเลือกผลักดันค่ายเล็กๆ แห่งนี้ต่อไป

หากแต่ในยุคโซเซียลมีเดีย ปัจจัยบางอย่างไม่เหมือนเดิม ศิลปินรุ่นใหม่อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาค่ายอีกแล้ว ในเมื่อมีช่องทางมากมายที่จะประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง ส่งผลให้ Smallroom ต้องปรับตัวเองไม่น้อย

“เด็กรุ่นใหม่เขาไม่ได้มองเครดิตว่าอยู่มานานไหม บางทียิ่งอยู่นานอาจเป็นผลลบด้วยซ้ำ เพราะเขาจะมองว่า มึงแก่แล้ว นี่ไม่นับศิลปิน เพราะท้ายที่สุดวงอย่าง Tattoo Colour หรือ Slur ก็จะมีอายุเยอะขึ้น เราคิดว่าบางทีหากเริ่มใหม่อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ เหมือนตอนที่ทำ Smallroom 001 ซึ่งเราเลือกไม่ใช้เครดิตเลย

เรื่องราว 20 ปีของ Smallroom สัญลักษณ์แห่งความเท่ยุคเด็กแนวเบ่งบานในวงการเพลงไทย

“แต่สิ่งสำคัญมากกว่าคือ เราต้องรีเซ็ตตัวเองตลอดเวลา เรายังฟังเพลงใหม่ๆ จากสตรีมมิ่งทุกวันศุกร์ สัปดาห์หนึ่งเป็นร้อยอัลบั้ม หรือใน Album of the year ก็เข้าไปอ่านรีวิว ไปลองฟัง ซึ่งพอฟังก็จะเกิดอาการหมั่นเขี้ยว เฮ้ย แบบนี้เมืองไทยยังไม่มี ข้อเด่นอย่างหนึ่ง คือเราเป็นมนุษย์ที่ทำไม่หยุด ซึ่งโดยอัตโนมัติมันก็จะส่งพลังไปให้วงต่างๆ ไม่หยุดตาม”

ในทศวรรษที่ 3 Smallroom จึงเริ่มรับศิลปินใหม่เข้ามาเสริมทัพ ทั้ง PETITE, IMAGE, DEPT หรือ Daynim หลังจากไม่ได้รับมานาน ซึ่งแต่ละวงต่างเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ และน่าจะเข้ามาช่วยเติมเต็มวงการเพลงไทยให้มีสีสันได้ดี

สำหรับรุ่งแล้ว เขาเชื่อสุดใจว่าค่ายเพลงยังจำเป็นอยู่สำหรับสารบบเพลงไทย เพราะนอกจากช่องทางการเผยแพร่ผลงาน สิ่งที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งต้องการ คือประสบการณ์และคนชี้ทางที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของวงให้แข็งแกร่งขึ้น

ส่วนก้าวต่อไปของค่ายเพลงแห่งนี้ รุ่งเผยถึงแผนในใจที่วางไว้นานหลายปี คือการส่งไม้ต่อไปยังคนรุ่นใหม่ในค่าย ซึ่งหากวันนั้นมาถึง Smallroom ก็คงไม่เหมือนเดิม แต่เขาก็มั่นใจว่า ดีเอ็นเอการทำเพลงที่ถ่ายทอดมาตลอดหลายปีจะยังคงอยู่และถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

“คงเหมือน Tim Cook กับ Steve Jobs หรือบริษัทญี่ปุ่นที่อายุเป็นร้อยปี ซึ่งมีหลายบริษัทโยนแล้วยังอยู่ได้ แต่ก็มีที่เจ๊งเหมือนกัน แต่ถึงยังไงเราก็ยังเชื่อในทีมโปรดักชันของเราว่าจะทำให้บริษัทนี้อยู่ต่อไปได้หลายสิบปี” ผู้นำค่ายห้องเล็กทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

ข้อมูลประกอบการเขียน

  • สัมภาษณ์คุณรุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563
  • นิตยสาร DDT ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2548
  • นิตยสาร DDT ปีที่ 2 ฉบับที่ 22 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2549
  • นิตยสาร a day ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2544
  • นิตยสาร a day ปีที่ 9 ฉบับที่ 107 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552

Writer & Photographer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว