23 กุมภาพันธ์ 2021
5 K

Slowstitch Studio คือสตูดิโอออกแบบและผลิตงานผ้าของ แอน-กรรณชลี งามดำรงค์ และ Sergey Tishkin หนุ่มชาวรัสเซีย ที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานด้วยกันที่เชียงใหม่ ทั้งคู่ช่วยกันออกแบบงานผ้าที่เป็นเอกลักษณ์จากการเรียนรู้ด้วยกันที่ญี่ปุ่น เทคนิคอย่างการย้อมผ้าอย่างชิโบริกลายเป็นตัวชูโรงของแบรนด์ ความพิถีพิถันของการค่อยๆ เย็บผ้าทีละฝีเข็ม ก่อนนำไปจุ่มย้อมสีครามอีกหลายครั้ง ก่อให้เกิดลวดลายเฉพาะตัว หลังจากค่อยๆ แกะด้ายออกจากผ้าแล้วคลี่ออกมาดู ความงดงามก็ปรากฏแก่สายตา นั่นทำให้ผ้าแต่ละผืนมีความพิเศษและคุณค่าในตัวเอง 

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

จากผ้าผืนสวยบนแผ่นดินสันกำแพง เชียงใหม่ พวกเขาพามันอวดโฉมไกลถึงเกาหลี ในงาน Seoul International Handmade Fair 2018 ก่อนจะพลาดโอกาสบินลัดฟ้าไปแสดงในงาน Maison & Objet Paris เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 เลยกลายเป็น Maison Online แทน ในปีที่ผ่านมา 

วันนี้เรานัดพบทั้งคู่ที่ออฟฟิศ ชวนพวกเขาค่อยๆ ถอดด้ายออกจากลายเย็บทีละเข็ม คลี่เรื่องราวของชีวิตออกเป็นหลายฉาก ตะเข็บที่ถูกถอดเผยร่องรอยของการเดินทาง เรื่องราวของชีวิตที่ก้าวเดินไปบนถนนที่เต็มไปด้วยผ้า

ไม่รีบแต่ลึกตามแบบของ Slowstitch Studio 

บ้านสีขาวสองชั้นที่ตอนนี้กลายเป็นออฟฟิศของ Slowstitch Studio ดูแสนอบอุ่นและน่ารัก แมวน้อยตัวหนึ่งเดินออกมาทักทาย บริเวณข้างบ้านมีหม้อครามหลายหม้อตั้งอยู่ รวมถึงพืชให้สีที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการย้อมอีกหลายชนิด บริเวณชั้นล่างมีทีมงานช่างเย็บและย้อมทำงานอย่างขะมักเขม้น ส่วนชั้นบนเป็นหน้าที่ของฝ่ายตัดเย็บ คอยทำหน้าที่สอดประสานกันอย่างลงตัว 

“เราใช้ทีมงานคนเชียงใหม่ เป็นการสร้างงานให้กับคนท้องถิ่น อาจจะไม่ใช่ทีมใหญ่ แต่เราก็ภูมิใจกับทีมเล็กๆ นี้ ช่างฝีมือที่อยู่กับเรา เราฝึกให้ทุกขั้นตอน เราค่อยๆ ฟอร์มทีมขึ้นมาแล้วก็ถ่ายทอดความรู้ที่เป็นผลึกแล้วไปสู่ทีม”

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

การทำงานผ้าของ Slowstitch Studio เป็นการทดลองไปเรื่อยๆ จากความรู้ของแอนและเซิร์จที่ได้มาจากการเรียนในมหาวิทยาลัยและคลาสเวิร์กช็อปที่ญี่ปุ่น นั่นทำให้สตูดิโอคิดค้นลวดลายหรือทดลองใช้พืชบางชนิดในการย้อมสี ผ้าแต่ละผืนที่ออกมาจึงมีความเฉพาะตัวและโดดเด่น

“ตอนแรกเราเคยคิดว่าจะจ้างเย็บเป็นชิ้นๆ แต่งานของเรามีความละเอียดสูง แต่ละลายมีขั้นตอนการทำซับซ้อน โดยเฉพาะสีธรรมชาติที่มีวิธีการเตรียมผ้าหรือสูตรย้อมที่แตกต่างกันไปสำหรับพืชแต่ละตัว  อีกอย่างเรายังทดลองและคิดลายผ้าหรือวิธีการเย็บใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ จึงต้องทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกัน ถ้าจะจ่ายงานนอกก็สอนงานและควบคุมคุณภาพของการผลิตได้ลำบาก จึงเลือกที่จะค่อยๆ ฝึกช่างฝีมือให้ทำงานอยู่ร่วมกับเราจะสะดวกกว่า”

ค้นพบตัวเองในวัยเด็ก

ด้วยความที่เป็นลูกสาวคนเล็ก เกิดห่างจากพี่ชายทั้งสามคนหลายปี ทำให้แอนแอบเหงาอยู่บ้าง ตอนเด็กเธอเลือกใช้เวลาว่างไปกับกิจกรรมที่ชอบอย่างการวาดรูปและการปักครอสติช นั่นอาจนับได้ว่าเป็นการก้าวเข้าสู่วงการแฮนดิคราฟต์ครั้งแรก ตั้งแต่ในวัยประถม ครั้นพอถึงวัยมัธยม เธอก็เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง และอยากจะก้าวออกจากกฎระเบียบที่เธอเห็นว่ามันไม่เข้าท่า

“ตอนที่เรียนมัธยม พอจบมอสองแอนรู้สึกอยากออกจากโรงเรียนมาก โรงเรียนห้ามซอยผม เรารู้สึกว่าทำไมเราต้องมาอยู่ในกรอบแบบนี้ เลยขอทางบ้านว่าอยากไปเรียนต่างประเทศ พ่อแม่ก็ไม่ให้ไป แต่อนุญาตให้ลองไปสอบโรงเรียนนานาชาติ ปรากฏว่าสอบติด เลยได้เข้าไปเรียนนานาชาติตอนมอสาม นั่นเปิดโลกเราเลยนะ สิ่งที่เราไม่เคยทำได้ สิ่งที่เราเคยถูกห้ามไม่ให้ทำ โดยที่ไม่เห็นจะมีเหตุผล เราได้ทำหมด และเราโต้เถียงกับครูได้ถ้าเรามีเหตุผล และครูก็พร้อมที่จะรับฟังเราด้วย ถึงตรงนี้เราไม่แอนตี้โรงเรียนแล้ว เราสบายใจกับการเรียนมากขึ้น”

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio
เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

เมื่อการใช้ชีวิตในโรงเรียนกลายเป็นเรื่องสนุก แอนเริ่มค้นพบตัวเองว่าจริงๆ แล้วเธอหลงใหลวิชาศิลปะ เธอชอบเรียนวาดรูป และสนุกไปกับการออกแบบสิ่งต่างๆ รอบตัว 

“ตอนที่เรียนเรามีโอกาสได้ทำแฟชั่นโชว์ในโรงเรียน เรารู้สึกเลยว่าเราชอบแฟชั่น เราอยากเรียนแฟชั่น สองปีสุดท้ายในโรงเรียนเราเลยตั้งมั่นว่าเราจะเข้าโรงเรียนออกแบบ เพื่อไปเรียนแฟชั่นในมหาลัย ในตอนนั้นเราก็เริ่มศึกษาแล้วว่าดีไซเนอร์คนไหนที่เราชอบ แล้วเขาเรียนที่ไหนมา เพราะอยากตามรอยเขา สุดท้ายเราเลือกที่อังกฤษ เราส่งพอร์ตแล้วสัมภาษณ์ก็รู้ผลเลย และเป็นมหาวิทยาลัยที่เราอยากเข้าอยู่แล้ว”

สิ้นปีการศึกษานั้น แอนบอกลาเพื่อนๆ และครอบครัว เป้าหมายของเธอคือการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ พอถึงลอนดอน เธอต้องรวบรวมความกล้าเพื่อสู้กับความท้าทายครั้งสำคัญในชีวิต กับการเรียนในรั้ว University of the Arts London

ความเปลี่ยนแปลงในหัวใจ กับทางแยกใหม่บนถนนเส้นเดิม

“ปีแรกเขาจะมี Foundation Year จะให้เรียนวนๆ ไปก่อน อย่างสองอาทิตย์นี้คุณเรียนกราฟิกก็เรียน แล้วก็ส่งงาน จากนั้นสองอาทิตย์หน้าไปเรียนแฟชั่น เด็กทุกคนต้องเรียนทุกอย่าง พอครึ่งเทอมหลังถึงจะเลือกได้ว่าคุณอยากเรียนอะไร ถ้าอยากเรียนแฟชั่น คุณก็ไปเรียนแฟชั่นได้ แต่ต้องทำพอร์ตเข้ามหาวิทยาลัยอีกทีหนึ่ง”

หลังจากได้มีโอกาสทดลองเรียนทุกวิชาที่มหาวิทยาลัยจัดไว้ให้ แอนพบว่างานที่ถูกกับจริตตัวเองกลับเป็นงานออกแบบลายผ้า (Textile) เธอมีความสุขกับการจัดวางรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หรือการจัดเรียงเส้นด้ายให้เข้าคู่กันได้อย่างลงตัว ใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือทั้งคืนเพื่อปักลายเล็กๆ ไม่กี่เซ็นติเมตร นั่นทำให้เธอหวนนึกถึงการปักครอสติชตอนเด็ก การฆ่าเวลาเล่นๆ ของหญิงสาววัยประถมในตอนนั้น กลายมาเป็นความหลงใหลที่ทำให้เธอเริ่มไขว้เขวจากความตั้งใจแรก

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

“พอได้มาทำ Textile เรารู้เลยว่านี่ต่างหากที่เป็นเรามากกว่าแฟชั่น เราไม่ชอบทำแพตเทิร์น ถ้าเข้าเรียนแฟชั่นอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรกเราหนีแพตเทิร์นไม่พ้น บวกกับสังคมมหาวิทยาลัยนั้น ทุกคนอยากเข้าแฟชั่น การแข่งขันมันสูงมาก ทุกคนมั่นใจ แต่ตัวเราไม่ชอบการแข่งขัน เราเลยไม่เอาแล้วแฟชั่น สุดท้ายเลยเลือกสมัครเข้า Textile”

ช่วงเวลา 3 ปีที่แอนได้ดำดิ่งลงไปในวิชาออกแบบลายผ้า (Textile) กลายเป็น 3 ปีที่สร้างรากฐานให้กับ Slowstitch Studio มาจนถึงทุกวันนี้ เธอได้โอกาสใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่เป็นของมืออาชีพ ได้เรียนรู้ศาสตร์ของการทอ ถัก พิมพ์ ย้อมสี และดิจิตอล ได้ออกแบบผ้าจากความว่างเปล่า เริ่มตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างการทอ ออกแบบการขัดกันของเส้นด้าย การย้อมสีด้ายที่นำมาใช้ พอสุดท้ายผลงานก็ออกมาประจักษ์แก่สายตา และนั่นคือความภูมิใจของเธอ

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

“เชื่อมั้ยว่าทุกครั้งก็จะติดปัญหาสักอย่าง ปัญหาเกิดขึ้นหน้างาน เส้นด้ายพันกันบ้าง อะไรไม่รู้เต็มไปหมด แต่เราเชื่อว่าทุกอย่างแก้ได้ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นปัญหาเราก็ชอบ เราชอบวิธีการคิดและกระบวนการของมัน”

หลังจากจบการศึกษา แอนพยายามหางานทำในลอนดอนแต่ก็ไม่พบงานที่ถูกใจ สุดท้ายจึงเลือกกลับกรุงเทพฯ และได้งานเป็นดีไซเนอร์ ออกแบบและผลิตพรมทอมือ ได้ทำงานหลากหลายที่เกี่ยวกับผ้า แต่พอทำได้ 2 ปีหัวใจก็บอกกับเธอว่า ได้เวลาออกเดินทาง เพื่อเปิดบทใหม่ให้กับชีวิตอีกครั้ง

ชีวิตบนผ้าผืนใหม่ในดินแดนอาทิตย์อุทัย

“เราชอบญี่ปุ่นอยู่แล้ว เพราะพี่ชายแต่งงานกับคนญี่ปุ่น และเคยไปเที่ยวตั้งแต่เด็ก ฝึกเรียนภาษาญี่ปุ่นเองจนพอพูดได้ เราเลยอยากไปญี่ปุ่น ก็ลองค้นดูว่าที่ญี่ปุ่นมีเวิร์กช็อปอะไรเกี่ยวกับงานผ้าบ้าง ไปเจอบล็อกของคุณ Bryan เขาเขียนบล็อกชื่อ Japanese Textile Workshops ลองอ่านแล้วก็ดูเข้าที อีกอย่างคนนี้เขาเขียนบล็อกเป็นภาษาอังกฤษ เป็นฝรั่งที่ไปอยู่ญี่ปุ่น คุยง่าย ติดต่อง่าย เพราะภาษาญี่ปุ่นเราก็ไม่ได้แข็งแรงมาก เลยตัดสินใจไปเรียนกับเขา”

เมืองฟูจิโนะเป็นเมืองในชนบทของญี่ปุ่น บ้านของอาจารย์ Bryan อยู่ใกล้เชิงเขา มีการทำฟาร์ม เลี้ยงไหม ปลูกคราม ปลูกชา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่แอนไม่เคยสัมผัสเลย เพราะเติบโตที่กรุงเทพฯ เรียนที่กรุงเทพฯ ไปเรียนต่างประเทศก็อยู่ในเมืองใหญ่ นี่จึงกลายเป็นการเปิดประสบการณ์ครั้งใหญ่ให้กับเธอ ที่จะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ไปพร้อมกับการเรียนรู้เรื่องงานผ้าอย่างที่ตั้งใจไว้

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

“จำได้ว่าครูสอนเทคนิคชิโบริ ย้อมคราม และคาตาโซเมะ เป็นการใช้แป้งข้าวเหนียวกั้นลาย พอจบคลาสสิบวันแล้วเรายังไม่อยากกลับ ครูก็ถามว่าอยากเรียนอะไรต่อ เราชอบเย็บก็เลยขอเรียนชิโบริ ตอนเรียนครูก็จะปล่อยเราทำไปเรื่อยๆ สงสัยตรงไหนก็ถาม ครูก็จะคอยแนะนำให้”

นอกจากการได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการเรียนแล้ว ที่นี่แอนยังได้พบกับเซิร์จ หนุ่มชาวรัสเซียที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นเช่นกัน เซิร์จทำหน้าที่ช่วยอาจารย์ในฟาร์ม ก่อนเริ่มหันความสนใจเข้าสู่งานผ้าโดยอัตโนมัติ และหนึ่งสิ่งที่ทั้งคู่ให้ความสนใจร่วมกันก็คือ ‘คราม’

“เราไม่เคยสนใจเรื่องสีครามมาก่อนเลย จนถึงตอนที่มาเรียน เราได้รู้ว่าธรรมชาติของครามนั้นแต่ละวันก็ให้สีไม่เหมือนกัน คือครูเขาปลูกเองด้วย ทั้งปลูก ทั้งหมัก ใช้ชีวิต ทุ่มเทลงไปตรงนั้น และครูสอนย้อมสีจากพืชพรรณอื่นๆ ด้วย ลองย้อมๆ มันก็เปิดโลกของเราเหมือนกัน เราไม่เคยเจอหรือสนใจอะไรแบบนี้ ตอนที่เราเรียนถ้าเราอยากใช้สีไหนเราก็ไปต้มเคมี หรือถ้าตอนเป็นดีไซเนอร์ก็แค่สั่งซัพพลายเออร์ว่าอยากได้อะไร แบบไหนเขาก็จัดหามาให้ แต่พอเราได้มาทำเอง เราพบว่ามันสวยงามทั้งงานและสภาพแวดล้อม เราได้คำนึงถึงสิ่งรอบกาย แล้วเอามาใช้กับงานของเราได้”

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

พอกลับเมืองไทย แอนทำงานฟรีแลนซ์ออกแบบสิ่งทอพร้อมกับเริ่มฝึกการทำชิโบริด้วยตัวเอง เธอเริ่มหลงใหลเข้าไปในศาสตร์และศิลปะของการกักและกั้นสี เย็บกั้นแล้วเกิดเป็นลวดลายเฉพาะ ความงามของครามทำให้เธออยากรู้ว่าครามเมืองไทยนั้นเป็นอย่างไร แอนชวนเซิร์จไปที่สกลนครเพื่อเรียนรู้เรื่องคราม ทั้งคู่ลงลึกไปในรายละเอียดทั้งทางด้านทฤษฎีและเทคนิค รวมถึงเขียนบล็อกขึ้นมาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของการมัดย้อมแบบชิโบริ และการย้อมสีจากพืชพรรณต่างๆ วันหนึ่งพวกเขาจึงคิดว่า ควรจะมีแบรนด์และสินค้าเป็นของตัวเองเสียที

ความลงตัวที่ก่อร่างเป็น Slowstitch Studio

หลังจากใช้เวลาในการศึกษาศาสตร์ทางด้านผ้ามาอย่างยาวนาน ท้ายที่สุดแอนและเซิร์จตัดสินใจทำแบรนด์ Slowstitch Studio ขึ้นมา ที่มาของชื่อเกิดจากการทำผ้าแต่ละลายใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะต้องการความประณีต ทั้งยังต้องผ่านขั้นตอนการทดลองต่างๆ จนกว่าจะพอใจ 

“ตอนนั้นเราเริ่มมีสินค้า เรามีผ้าแล้วมีคนจ้างเราทำปลอกหมอน เลยคิดว่าควรจะมีแบรนด์นะ แล้วเราก็เขียนบล็อกด้วย ตอนแรกที่เขียนก็ไม่คิดว่าจะขายของ เขียนให้ความรู้ บันทึกอะไรไป ทดลองสีธรรมชาติ ลองเสร็จแล้วก็เอามาเขียน จากนั้นก็เริ่มทำของ ปลอกหมอนเป็นงานชิ้นแรก งานมันเล็ก เราควบคุมได้ง่าย ต่อมาเราทำผ้าพันคอ ทำอะไรที่มันแบนๆ ก่อน”

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

ด้วยความเป็นดีไซเนอร์ที่ออกแบบผ้าแต่ละผืนด้วยตัวเอง แอนเลยรู้สึกเสียดายที่จะต้องตัดผ้าบางส่วนทิ้งไป การทำปลอกหมอนหรือการทำผ้าพันคอจึงตอบโจทย์ในใจตัวเองได้เป็นอย่างดี เธอหวนนึกถึงสมัยเรียนที่อังกฤษ โปรเจกต์สุดท้ายก่อนจบเธอเลือกโชว์ผ้าทั้งผืน แทนที่จะนำไปตัดเย็บเป็นอย่างอื่น นั่นก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน

หลังจากตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะทำงานผ้าเป็นอาชีพหลัก แอนเลือกขึ้นเหนือมาที่เชียงใหม่ เมืองในฝันของคนทำงานฝีมือหลายๆ คน แอนและเซิร์จเคยขึ้นมาเที่ยวเชียงใหม่และประทับใจในความงดงามของศิลปะวัฒนธรรมของที่นี่ ส่วนการลงหลักปักฐานนั้นยิ่งง่าย เพราะคุณแม่ของแอนมาซื้อบ้านไว้ที่เชียงใหม่ไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว

“แม่มีบ้าน เราเลยตัดสินใจง่ายมาก และเราเคยขึ้นมาเที่ยว เห็นว่ามีงานคราฟต์เยอะ เลยตั้งใจจะมาทำงานคราฟต์อยู่แล้ว และเพื่อจะออกจากวงจรฟรีแลนซ์ด้วย เพราะถ้าเราอยู่เชียงใหม่เราก็ทำงานไม่ได้ จะได้มุ่งไปที่งานนี้เลย พอมาอยู่ที่นี่ เราก็ได้มาเรียนรู้ว่า ที่นี่กับที่กรุงเทพฯ วัสดุที่ขายในตลาดมันต่างกัน เราได้ทดลองผ้าหรือวัสดุใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทำ ปีนั้นได้ออกงานเป็นครั้งแรกของแบรนด์ด้วย ก็คืองาน NAP 2015 ได้เปิดตัวแบรนด์ที่เราตั้งใจทำเสียที ทางธุรกิจอาจจะไม่ได้ดีมากนัก แต่เราก็ยังพอใจว่าเราได้นำเสนอสิ่งที่เป็นเรา เป็นงานผ้าแบบของ Slowstitch Studio”

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

หลังจากงานนั้น แอนและเซิร์จก็ช่วยกันทำให้ Slowstitch Studio เดินไปในทิศทางอย่างที่พวกเขาวาดไว้ พวกเขาทำออฟฟิศ จ้างคนเข้ามาช่วยทำงาน เพื่อให้มีสินค้ามากพอที่จะกระจายไปตามที่ต่างๆ เริ่มมีการฝากขายบนห้าง และตัดสินใจเช่าหน้าร้านที่โหล่งฮิมคาว ชุมชนแห่งศิลปะและวัฒนธรรมบนถนนสันกำแพงสายเก่า เพื่อรองรับลูกค้าที่ต้องการเข้ามาเลือกชมสินค้า

ความพิถีพิถันและประณีตที่สร้างความแตกต่าง

“เราคิดว่าเราเป็นแบรนด์ที่ใช้เวลาเยอะมากในการทำผ้าหนึ่งผืน บางครั้งเราเย็บเสร็จ ย้อม แล้วทำลายทับเข้าไปอีก เหมือนการเริ่มต้นใหม่อีกรอบ อีกอย่างหนึ่งเลยแอนคิดว่า พอเราไปญี่ปุ่น เราได้ดูงานของมาสเตอร์ญี่ปุ่นที่ทำงานชิโบริแล้วทึ่งมาก คิดไม่ออกเลยว่าเขาทำยังไง เราซึมซับสิ่งเหล่านี้มา แอนจำได้ว่าครูเคยบอกให้ย้อมผ้าผืนหนึ่งสิบครั้ง แล้วในระหว่างที่ย้อมและนำผ้าขึ้นผึ่งเราก็คุยกับเพื่อนไปเรื่อยเปื่อย ไม่ได้นับจริงจังว่าย้อมไปกี่ครั้ง พอแกะงานออกมาเสร็จครูก็บอกว่านี่เธอย้อมเก้าครั้งใช่มั้ย แสดงว่าสายตาของครูรับรู้ว่าครามมันหายไปเลเยอร์หนึ่ง ซึ่งเราก็ทึ่งมากในความละเอียดลออในการทำชิโบริของญี่ปุ่น สำหรับเรานะ ความสวยงามของชิโบริคือมันแทบไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย คือมีแค่ผ้า เข็ม ด้าย และการทดลอง”

แอนเล่าให้ฟังต่อว่า คำว่าชิโบริที่จริงแล้วเป็นคำกว้างๆ แปลว่าการมัด การดึง การกั้น แต่สิ่งที่ทำให้ชิโบริของญี่ปุ่นแตกต่าง คือการคิดวิธีเย็บก่อนย้อมหลายรูปแบบ เพื่อให้ผ้าเป็นรูปทรงที่มีความหลากหลาย การเปลี่ยนมุมองศา การเว้นระยะห่าง ก็จะได้หลากอารมณ์ ซึ่งเป็นความพิถีพิถันแบบคนญี่ปุ่น แล้วที่ญี่ปุ่นมีอุปกรณ์เฉพาะด้วย ซึ่งก็ทำขึ้นมาเองด้วยมือเช่นกัน

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

“ครามที่ญี่ปุ่นก็เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่ง ต้นครามก็เป็นแบบของเขาหน้าตาก็ไม่เหมือนบ้านเรา แล้วเขาจะมีวิธีการหมักเป็นก้อนที่เรียกว่า ซุคุโม ซึ่งต่างจากบ้านเรา เขาต้องหมักเป็นเวลาหนึ่งร้อยวัน มีห้องหมักแล้วก็พลิกกลับทุกวันเหมือนทำปุ๋ยหมัก”

การเรียนรู้เทคนิคและความพิถีพิถันแบบญี่ปุ่นทำให้ Slowstitch Studio ทำผ้าออกมาด้วยความประณีต และทุ่มเทเวลาลงไปกับการออกแบบ คิดค้นลวดลายใหม่ๆ การทำงานในทุกๆ วันคือการเรียนรู้ และผลของการเรียนคือลายผ้าสวยๆ ที่ผ่านการทดลองและทำซ้ำจนพอใจ

“เราพยายามโฟกัสกับงานของตัวเอง ทดลองกับงานของตัวเอง เรียนรู้ไปกับมัน ทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้ มีงานบางชิ้นที่เราทำออกมาได้ครั้งเดียว ครั้งหน้าเราก็อาจจะทำไม่ได้แล้ว บางครั้งก็เก็บไว้ เพราะเราไม่อยากจากชิ้นนั้นไป บางครั้งผ้าที่พับซ้อนกันหลายชั้น สีก็ดูดเข้าได้ไม่เยอะ ส่วนผ้าที่สีเข้มกว่า อาจจะเกิดจากการที่ผ้าไม่ได้ทับซ้อนกันมากเกินไป ทำให้สีซึมเข้าไปง่ายกว่า ไม่ได้อยู่ที่การย้อมหลายรอบอย่างเดียว มันเป็นเรื่องการวางสี แพตเทิร์น และการใช้เนื้อผ้า ที่ทำให้แบรนด์เราแตกต่าง เช่น เราเลือกผ้าไหมกับลายแบบนี้เพราะเราทดลองว่าเราย้อมสีแบบนี้ได้ ถ้าย้อมลงบนผ้าไหมจะให้สีที่โดดเด่น สดใสกว่าผ้าชนิดอื่น แล้วมันเหมาะกับเนื้อผ้านี้”

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

แม้จะเป็นดีไซเนอร์แต่แอนก็ชอบลงมือทำมากกว่าออกแบบเพียงอย่างเดียว เธอพบว่าการได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยมือของเธอเองคือสิ่งที่เธอรัก การทดลองงานใหม่ๆ ของ Slowstitch Studio จึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ และเธอยังขยายกรอบของตัวเองเพื่อทดลองผสมผสานหลายเทคนิคเข้าด้วยกัน

“เราลองเอางาน Eco Printing มารวมกับชิโบริ เราอยากลองใช้สีที่มาจากใบไม้โดยตรงเราก็ลงมือทำเลย สิ่งเดียวที่เราไม่ได้ทำเองคือเราไม่ได้ทอเอง เราซื้อจากชุมชนใกล้เคียงบ้าง บางทีก็สั่งทอจากที่อื่น เรายังเพิ่มงานปักเข้าไปในงาน แต่เราไม่อยากปักอะไรที่ดูเหมือนจริง เราชอบนามธรรมหน่อยๆ การเอางานปักเข้ามาเพื่อสร้างเท็กเจอร์ให้กับงาน บางครั้งด้วยความที่งานเราเนี้ยบ เลยอยากสร้างอารมณ์ของงานทำมือ เราออกแบบลายปักเอง แล้วให้ช่างที่กรุงเทพฯ ซึ่งปักเทคนิคที่มีชื่อว่า ‘ปักจักรร่อนสะดึง’ ได้ เป็นคนทำให้”

นอกจากนี้ ทางสตูดิโอยังได้จัดทำชุด KIT Ecoprint (Natural Bundle Dye Kit) เพื่อให้ลูกค้าซื้อไปทดลองทำด้วยตัวเองที่บ้าน พร้อมทั้งมีวิดีโอสาธิตขั้นตอนการทำอย่างละเอียด ซึ่งเป็นสินค้าที่คิดค้นออกมาในช่วง COVID-19 รวมถึงเปิดสอนเวิร์กช็อปให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป โดยออกแบบคอร์สให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้อีกด้วย

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio
เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

“จริงๆ มีคนถามถึงเวิร์กช็อปเยอะเหมือนกัน แต่การจัดสรรเวลาทั้งของเราและลูกค้าให้ตรงกันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกอย่างการทำผ้าแต่ละผืนของเราใช้เวลาค่อนข้างนาน เลยเหมาะกับคนที่มีเวลาและใจเย็น”

ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ทาง Slowstitch Studio เป็นแบรนด์หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของแบรนด์มีสัดส่วนระหว่างในและนอกประเทศครึ่งต่อครึ่ง เมื่อหน้าร้านเริ่มเงียบเหงา แอนและเซิร์จจึงหันไปโฟกัสกับโลกออนไลน์ หลายครั้งที่ทำงานลิมิเต็ดซึ่งเกิดจากการที่วัตถุดิบในการย้อมมีจำกัด พวกเขาเลือกที่จะลงขายบนอินสตาแกรม และได้รับผลตอบรับที่น่าพอใจ

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

Slowstitch Studio ทลายกำแพงตัวเอง สู่อนาคตที่เป็นไปได้มากกว่าเดิม

ก่อนจากกัน เราถามถึงอนาคตของแบรนด์ที่ทำงานกับสีธรรมชาติมาโดยตลอดว่ามีทิศทางอย่างไรบ้างหลังจากนี้ แอนหันหน้าไปหาเซิร์จพร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวที่เขาและเธอต่างได้คุยกันแล้วว่า ถึงเวลาที่จะต้องก้าวออกจากกรอบเดิมๆ เสียที

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

“จริงๆ เพิ่งจะคุยกับเซิร์จมาก่อนหน้านี้ไม่นานว่า แบรนด์เราโฟกัสกับการย้อมสีธรรมชาติมานานแล้ว แต่ในฐานะการเป็นดีไซเนอร์ เราว่ามันมีอีกหลายช่องทางที่ทำให้เราทำลวดลายผ้าหรือสินค้าใหม่ๆ โดยที่ไม่ต้องยึดติดกับกระบวนการนี้ อย่างการทำพิมพ์สกรีน เมื่อก่อนเราไม่เอาเลย แต่ตอนนี้เราทลายกำแพงตัวเอง เราลองใช้ต้นกำเนิดลายชิโบริของตัวเองนำมาทำบล็อกสกรีน ทำให้ลายผ้าของเรามีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยที่ไม่ได้ยึดติดว่าต้องชิโบริเป็นหลัก แต่ก็ยังมีรากฐานเดิมคือชิโบริ

“เราอยากจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เขามองเห็นงาน Textile ที่กว้างขึ้น ว่ามันไม่ได้มีแค่ย้อม ทอ คุณหยิบจับหลายๆ เทคนิคมารวมกันได้ ก่อนนี้มันก็เป็นเหมือนการปิดตัวเองเหมือนกันนะ สมมติเราบอกว่าเราจะใช้สีธรรมชาติ แต่ธรรมชาติไม่ได้ให้ทุกสีที่เราต้องการ แล้วเราจะให้ความคิดนี้มาหยุดเราเหรอ มันก็ขัดกับสิ่งที่เราอยากทำ อนาคตจากนี้ไปเราคงไปในรูปแบบนี้”

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ แอนจึงได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการต่างๆ บ่อยครั้ง เธอเล่าให้ฟังถึงแนวคิดที่น่าสนใจตอนหนึ่งว่า

“ปีก่อนเราได้เป็นที่ปรึกษาโครงการโคโยริให้กลุ่มร่มบ่อสร้าง อย่างงานผ้าแอนรู้สึกว่ามันยังพอไปได้ แต่ว่าอย่างร่ม มันอาจจะลำบากหน่อย อย่างโปรเจกต์นี้ เขาก็เอาโครงร่มมาทำเป็นโคมไฟ คือมันอาจจะต้องฉีกแบบนี้ แต่ว่าไม่ง่ายนะในการที่จะเปลี่ยนหรือตอบโจทย์ในทันที แต่มันก็ต้องทำ ต้องใส่ดีไซน์ลงไปมากกว่าเดิม คือวัตถุดิบของไทยเราดีมาก สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มมูลค่าหรือทำให้มันกลับมาน่าสนใจ แอนว่าการออกแบบที่ดีจะช่วยตรงจุดนี้ได้”

การเดินทางของ Slowstitch Studio เป็นจังหวะช้าๆ ที่เป็นจังหวะเดียวกันกับการก้าวเท้าของแอนและเซิร์จ ทั้งสองเลือกที่จะมุ่งมั่นไปในทิศทางที่เลือกและก้าวเดินไปอย่างมั่นคง แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นหัวใจหลักของการสร้างงานในอนาคต ไม่แน่ว่าครั้งถัดไปที่เจอกัน เราอาจจะได้คุยกันถึงเรื่องราวที่ต่างไปจากครั้งนี้ และรับรองได้ว่าจะเต็มไปด้วยความสุขและความพิถีพิถันในแบบฉบับของ Slowstitch Studio อย่างแน่นอน

เลาะลายเย็บ เก็บลายย้อม กับการเดินทางที่ไม่รีบเร่งของหนุ่มสาว Slowstitch Studio

Writer

Avatar

ศุภชัย กองประชุม

นักเย็บสมุดที่ใช้ชีวิตรายรอบไปด้วยสมุด หนังสือ ดนตรี กาแฟ สหาย และบทสนทนา ภายใต้อ้อมกอดของยอดดอยเชียงใหม่

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ