4

1

นับเลขช้า ๆ สูดหายใจเข้าลึก ๆ ผ่อนลมหายใจออก เตรียมตัวหลีกหนีจากความวุ่นวายไปสู่ความสงบ ชีวิตช้า ๆ ที่ทำให้สบายใจ

ทว่ายังไม่ทันจะได้เริ่มหายใจให้ช้าลง พระพิรุณก็กระหน่ำฟ้าฝนลงมาดั่งแกล้งกัน เหลือบตามองท้องฟ้าที่มืดครึ้มแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจยาว ๆ ตามมาด้วยเงาของความกังวลที่วันนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปสำรวจ ‘Slow Life บางกอก Market’ แห่งนี้เสียแล้ว

กระนั้นความร้อนใจของเราก็ได้ดับลงด้วยผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ผู้มาพร้อมแนวคิดชีวิตที่ช้าลงโบกมือเรียกเราเข้าบ้านด้วยรอยยิ้ม

เชฟจิ้น-กวีวิรัญจ์ บัวสุวรรณ Slow Life บางกอก

ปรับบ้านเพื่อแบ่งปัน 

จิง-ธีรา ลี้อบาย เจ้าของตลาด Slow Life บางกอก และศิลปินนักวาดภาพสีน้ำผู้สนใจสิ่งแวดล้อม เปิดบ้านพาเราเข้าไปนั่งในพื้นที่ ‘พักทำสวน’ ที่เปิดเป็นคาเฟ่ให้ผู้คนได้เข้ามาพักผ่อนพร้อมรับประทานอาหารที่ดีและอร่อย 

ทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามายังบ้านสีขาวสลับน้ำตาลหลังนี้ บรรยากาศชวนนึกถึงบ้านพักต่างจังหวัดสวย ๆ สักหลังที่ทำให้เราได้หย่อนใจในวันเหนื่อยล้า จนย้อนคิดได้ว่า นับวันพื้นที่แสนสงบในกรุงเทพฯ ยิ่งหายาก ด้วยความเจริญและเศรษฐกิจที่เติบโต เมืองหลวงของเราจึงมีภาพจำของความวุ่นวาย เร่งรีบ ตึกสูงและคอนโดมิเนียม ที่แห่งนี้จึงเป็นดั่งขุมทรัพย์ใน ‘ลาดพร้าว’ ย่านที่ถูกขนานนามว่า ไฟแดงชาตินี้ ไฟเขียวชาติหน้า 

Slow Life บางกอก : ตลาดออร์แกนิกแสนสงบที่คืนบรรยากาศ 'ลาดมะพร้าว' ในอดีตให้ย่านลาดพร้าว

จิงเล่าให้เราฟังว่า เจ้าของบ้านตัวจริงคือ เชฟจิ้น-กวีวิรัญจ์ บัวสุวรรณ ที่สนใจวัตถุดิบท้องถิ่น ธรรมชาติ และการเกษตร ผู้เป็นเจ้าของแนวคิด Slow Life ในบางกอก 

“พี่จิ้นเป็นเจ้าของบ้าน โตที่นี่ ตรงนี้ก็เป็นญาติกันไปหมดจนสุดคลองลาดพร้าว เป็นที่ดินของคุณตาคุณยาย คุณลุงคุณป้า ตัวพี่จิ้นเติบโตมากับการวิ่งเล่นริมสวน พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นลาดพร้าวที่เป็นลาดมะพร้าวจริง ๆ พอเมืองเข้ามา ก็ยังอยากเก็บบรรยากาศเดิม ๆ ไว้” จิงเล่า

เชฟจิ้น-กวีวิรัญจ์ บัวสุวรรณ Slow Life บางกอก

บ้านขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่นี้ชั้นล่างเป็นร้านอาหาร ส่วนด้านบนเป็นแกลเลอรี่ที่เปิดให้ศิลปินเข้ามาแสดงผลงานได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากการเป็นคาเฟ่หรือบ้านพักริมสวนของสองสามีภรรยาแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นสนามเด็กเล่นให้ผู้คนได้รู้และได้ลองทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ 

Slow Life บางกอก : ตลาดออร์แกนิกแสนสงบที่คืนบรรยากาศ 'ลาดมะพร้าว' ในอดีตให้ย่านลาดพร้าว

“ไม่ได้อยากให้ที่นี่เป็นบ้านของเรา หรือร้านของเราอย่างเดียว เราเปิดให้หลาย ๆ คนเข้ามา อย่างเชฟเขาก็เป็นเชฟในระบบทั่วไป นอกจากวันทำงานแล้ว พอมีวันหยุด 1 วัน ก็อยากทำอะไรที่มันมีคุณค่า มากกว่าเมนูที่ระบบสั่งมา เลยชวนให้น้องมาอยู่ที่นี่ เขาจะดีไซน์เมนูของเขา เปิดพื้นที่ให้คนที่อยากลอง”

Slow Life บางกอก : ตลาดออร์แกนิกแสนสงบที่คืนบรรยากาศ 'ลาดมะพร้าว' ในอดีตให้ย่านลาดพร้าว

ย้อนรอยวันเปิดตลาด

นอกเหนือจากตัวบ้านที่เปิดเป็นคาเฟ่แล้ว จุดมุ่งหมายที่พาเรามาที่นี่ คือตลาด Slow Life บางกอก

ตลาดแห่งนี้เริ่มมาจากงานขึ้นบ้านใหม่ ด้วยความที่ทั้งสองคนอยู่ในแวดวงสินค้าออร์แกนิกอยู่แล้ว จึงถือโอกาสชวนเพื่อนนำสินค้ามาขายที่บ้าน แต่ก็ไม่ได้สานต่อโปรเจกต์นี้มากนักเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 หลังภาวะโรคระบาดนี้ดีขึ้น จิงจึงตัดสินใจกลับมาจัดตลาดอีกครั้ง ประกอบกับในช่วงนั้นได้พบกับมูลนิธิ MOA ซึ่งสนับสนุนเกษตรกรเรื่องออร์แกนิก สุนทรี ปรัชญา ธรรมชาติกับศิลปะ ตลอดจนสุขภาพและวัฒนธรรม จากเดิมทีที่การทำงานพัฒนาเกษตรกรต้องดำเนินการในต่างจังหวัดเท่านั้น ตลาดนี้จึงเป็นโอกาสให้ได้พัฒนาเกษตรกรในกรุงเทพฯ ร่วมด้วย

พอมีคำว่าออร์แกนิกขึ้นมา เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ในโลกอันกว้างใหญ่ของนิยามคำว่าออร์แกนิกนั้น ความเข้าใจของเราจะถูกต้องสักเศษเสี้ยวหนึ่งไหม 

Slow Life บางกอก : ตลาดออร์แกนิกแสนสงบที่คืนบรรยากาศ 'ลาดมะพร้าว' ในอดีตให้ย่านลาดพร้าว

จิงคิดอยู่สักพักก่อนตอบว่า “เราก็คุยกันอยู่เหมือนกันนะ ว่าอะไรจะมาชี้วัดว่าออร์แกนิก เราว่ามันคือหัวใจของคนที่ทำ บางคนอาจจะคิดว่าแค่ตรารับรอง มันก็คือออร์แกนิกแล้ว ใจของคนทำสำคัญกว่า ถ้าเราตั้งใจทำ ตั้งใจไม่ใช้ยา ถึงปริมาณไม่ได้เยอะ ไม่ได้สวยงามก็ดีกว่า ออร์แกนิกไม่ใช่แค่มาตรฐานหรือตรากำกับ มันคือจิตใจของผู้คนนี่แหละ” 

จุนเจือกันไม่ขาด 

คุยกันไปมาได้สักพัก ฟ้าที่มืดครึ้มก็สว่างจ้า กลับมาทอแสงแดดสวยเหมือนเดิม เรามองออกไปจากประตูกระจกของร้านเห็นบรรดาพ่อค้าแม่ค้ายกโต๊ะ เก้าอี้ และร่มคันสวย กลับมาจัดหน้าร้านกันอย่างขันแข็ง จึงถือโอกาสให้จิงพาเดินชมตลาดพลางพูดคุยกัน

Slow Life บางกอก : ตลาดออร์แกนิกแสนสงบที่คืนบรรยากาศ 'ลาดมะพร้าว' ในอดีตให้ย่านลาดพร้าว

ความเป็นกันเอง สบาย ๆ ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เป็นจุดเด่นที่สังเกตเห็นได้ทั้งตลาด หรืออาจกล่าวได้ว่า ที่นี่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรมากมาย ในราคาค่าแผงเพียง 100 บาท พ่อค้าแม่ค้าต่างพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือกัน นอกจากนั้นความพิถีพิถันในการเลือกลูกตลาดให้ลูกค้าที่เข้ามาซื้อของได้รับประโยชน์สูงสุด ก็เป็นอีกความน่าสนใจที่ทำให้ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงตลาดออร์แกนิกธรรมดา

Slow Life บางกอก : ตลาดออร์แกนิกแสนสงบที่คืนบรรยากาศ 'ลาดมะพร้าว' ในอดีตให้ย่านลาดพร้าว

Slow Life บางกอก Market เปิดพื้นที่ให้สินค้าออร์แกนิก เกษตรอินทรีย์ พืช อาหารที่ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และเหล่างานคราฟต์เข้ามาขาย โดยคำนึงมากกว่าเพียงตัวผลิตภัณฑ์ เพราะจิงและจิ้นมองลึกลงไปถึงความสัมพันธ์ ร้านค้าที่เข้ามาเป็นลูกตลาดต้องมีจุดเด่นที่บอกได้ว่าสินค้าของคุณต่างจากคนอื่นอย่างไร และนอกจากดีต่อร่างกายแล้ว มันดีต่อใจอย่างไร

ชิมรสชาติพิเศษล้ำ

จิงพาเราเดินมาถึงร้านสวนดินคานาอัน รถเข็นคันเล็ก ๆ ที่ขายพัฟย่าง ทั้งรสเผือก เห็ดอบชีส ไก่เทอริยากิ และผักโขมอบชีส แต่สิ่งที่สะดุดตาเรามากที่สุด คือ ‘ปลาส้มฟัก’ เมนูที่เราพยายามมองหา ‘ฟัก’ ในอาหารชนิดนี้ 

เด็กกรุงเทพฯ ตาใสอย่างเราไม่เคยได้ยินเมนูนี้มาก่อน พี่เจ้าของร้านอธิบายให้ฟังว่า ปลาส้มฟักก็เหมือนแหนม แต่เป็นแหนมที่ทำจากเนื้อปลา โดยรากศัพท์เกิดจากการผสมคำว่า ปลาส้ม แปลว่าการนำปลาไปหมักดอง กับฟักที่หมายถึงการสับหรือบดละเอียด ปลาส้มฟักร้านนี้ใช้ปลาจากเขื่อนอุบลรัตน์ ไม่มีก้างและไม่มีผงชูรส 

Slow Life บางกอก : ตลาดออร์แกนิกแสนสงบที่คืนบรรยากาศ 'ลาดมะพร้าว' ในอดีตให้ย่านลาดพร้าว

 เดินถัดมา 3 – 4 ร้าน เราสังเกตเห็นร้านที่เหมือนรถขายกาแฟทั่วไป แต่มีเลม่อนปลูกเองจากสวนที่นำมาสรรสร้างเป็นเมนูพิเศษมากมาย ตั้งแต่เครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่นอย่างเลม่อนน้ำผึ้ง หรือกาแฟเลม่อนที่มีรสหวานอมเปรี้ยวขมปลาย ช่วยให้วันฟ้าหมอง ๆ สว่างขึ้นมาได้ 

 ระหว่างพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ เจ้าของร้านชวนเราชิมเมล็ดโกโก้สด สัมผัสแรกคือกลิ่นโกโก้ที่หอมตีขึ้นจมูก ก่อนจะตามมาด้วยความมันและรสขมบาง ๆ ความรู้สึกคล้ายกำลังทานเมล็ดถั่วที่มีกลิ่นโกโก้หอมตลบอบอวลทั้งปาก

ตลาดสโลว์ไลฟ์ใจกลางลาดพร้าวที่อยากให้ทุกคนหายใจช้าลง ด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย อาหารออร์แกนิก งานคราฟต์ และสังคมเกื้อกูล

นอกจากนั้นยังมีร้านข้าวต้มมัดที่มีคุณยายวัย 80 ปี ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนนำมาขาย โดยขนมในตะกร้าสานนั้นเวียนกันไปในการจัดตลาดแต่ละครั้ง ตั้งแต่ถั่วแปบ ขนมใส่ไส้ ขนมกล้วย ตลอดจนขนมฟักทอง อาจเรียกได้ว่า คุณจะได้สุ่มทานขนมไทยอร่อย ๆ ทุกครั้งที่มาเยือนตลาดแห่งนี้

ตลาดสโลว์ไลฟ์ใจกลางลาดพร้าวที่อยากให้ทุกคนหายใจช้าลง ด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย อาหารออร์แกนิก งานคราฟต์ และสังคมเกื้อกูล

พาทัวร์ออกนอกถิ่น 

หลังตลาดแห่งนี้จัดต่อเนื่องมาถึง 3 ครั้ง จิงและจิ้นยังคงมุ่งหวังให้ตลาดนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในรูปแบบของคอมมูนิตี้ที่เพื่อน ๆ พร้อมช่วยเหลือกัน โดยอาจจะเปิดโปรเจกต์ใหม่ด้วยการพาลูกตลาดไปสัญจรยังที่ต่าง ๆ 

ตลาดสโลว์ไลฟ์ใจกลางลาดพร้าวที่อยากให้ทุกคนหายใจช้าลง ด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย อาหารออร์แกนิก งานคราฟต์ และสังคมเกื้อกูล

“เราไม่ได้อยากให้เป็นร้านอย่างเดียว เราอยากให้เป็นที่ที่คนมารวมกัน มาเจอกันที่นี่แล้วก็ไปเจอกันที่อื่นได้อีก มารู้จักกันที่นี่แล้วพากันไปที่อื่นได้อีก”

ฝึกจนชินด้วยเวิร์กชอป

สำหรับเดือนกันยายนนี้ ตลาด Slow Life บางกอก จัดขึ้นในธีม Workshop Village ชวนคุณเข้ามาทดลองทำงานคราฟต์ด้วยพลังกายและพลังใจ แนวคิดของธีมนี้เกิดขึ้นจากการรับความคิดเห็นของผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมตลาดเมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมา ประกอบกับความต้องการปรับพื้นที่โซนสวนให้คนเข้าไปเดินเล่นได้ จนกลายเป็นต้นกำเนิดของงานในครั้งนี้ สำหรับเดือนถัด ๆ ไป Slow Life บางกอก Market ก็จะรับข้อเสนอแนะและปรับธีมไปตามความสนใจของผู้คนในตลาดเช่นกัน

ตลาดสโลว์ไลฟ์ใจกลางลาดพร้าวที่อยากให้ทุกคนหายใจช้าลง ด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย อาหารออร์แกนิก งานคราฟต์ และสังคมเกื้อกูล

ผ้าผ่อนเกิดอาภรณ์

หลังเดินวนชมมารอบตลาด ก็ถึงเวลาที่เราขอเข้าร่วมเวิร์กชอปการเย็บเสื้อง่าย ๆ กับร้าน Beehive Art-icle Rare แนวคิดหลักของการตัดเย็บเสื้อผ้านี้ คือการมอง ‘เครื่องนุ่งห่มให้เป็นเครื่องนุ่งห่ม’ หากมองย้อนไปในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มนุษย์มองเสื้อผ้าต่างออกไปจากอดีต เราใช้เสื้อผ้าเป็นเครื่องประดับร่างกาย สิ่งเพิ่มความสวยงาม โดยลืมหน้าที่หลักอย่างการเป็นเครื่องนุ่งห่มไป ปัญหาจากแนวคิดเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะขยะแฟชั่นล้นเมือง คนใส่เสื้อครั้งเดียวแล้วก็ทิ้ง Beehive Art-icle Rare จึงนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ในการตัดเย็บเสื้อผ้าให้เราได้สวมใส่อย่างสวยงามและรักษ์โลกในคราวเดียวกัน 

เรากับการตัดเย็บเสื้อผ้า ถ้าพูดให้คนในครอบครัวฟังก็คงขำแล้วบอกว่ามันเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะชั้นสูง แต่กว่า 1 ชั่วโมงในการทำเวิร์กชอปนี้ไม่น่าเบื่อเลย และทำให้เราได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ของการตัดเย็บเสื้อผ้าอีกด้วย 

เริ่มต้นจากการเลือกผ้าที่ต้องการ จากนั้นนำผ้ามาฉีกออกมาเป็น 2 ส่วนคือ ด้านหน้าและด้านหลังของตัวเสื้อ จากนั้นวัดพื้นที่บริเวณคอเสื้อและใช้เข็มกลัดกลัดไว้เพื่อเย็บไหล่ทั้งสองข้าง ก่อนเย็บด้านข้างของลำตัว และติดป้ายร้านเพื่อแสดงเป็นเครื่องหมายว่า ‘วันนี้เราได้มาเจอกัน’

ตลาดสโลว์ไลฟ์ใจกลางลาดพร้าวที่อยากให้ทุกคนหายใจช้าลง ด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย อาหารออร์แกนิก งานคราฟต์ และสังคมเกื้อกูล

ช่วงเวลา 50 กว่านาทีที่นั่งอยู่ใต้ชายคาของร้านนี้ มีสมาชิกร่วมตัดเย็บกับเราอีก 1 คน จนคล้ายเป็นสภากาแฟในช่วงบ่ายที่ได้ร่วมพูดคุยกันถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม ด้วยความแตกต่างของช่วงวัยทำให้คุณป้าถามเราถึงเทรนด์การรักษาสิ่งแวดล้อมในวัยรุ่น จากประเด็นการแยกขยะและเสื้อผ้า Fast Fashion นำไปสู่การพูดคุยระดับนโยบายของประเทศ การกำจัดขยะ และปัญหางบประมาณประเทศที่จำเป็นต้องลงทุนกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

“พอพูดเรื่องการแยกขยะ บางทีเราไม่ได้แยกขยะ แต่เราไม่สร้างขยะตั้งแต่แรก พยายามซื้อของมือสอง ใส่เสื้อมือสอง มันก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น” คุณป้าเจ้าของร้านสรุปประเด็นที่พูดคุยกัน หลังเราเล่าเรื่องเสื้อผ้ามือสองของโกดังต่าง ๆ

ช่วงบ่าย 3 – 4 โมงเย็นที่เรานั่งใช้เข็มสะกิดเนื้อผ้าไปมาจนเป็นทรง วงนั่งเล่นขึ้นมาซ้อมดนตรีขับกล่อมให้ใจเย็นลง ดั่งช่วงเวลาเวทมนตร์ เวิร์กชอปนี้จึงมอบเสื้อสวย ๆ ให้สวมกลับบ้านอย่างภาคภูมิใจ พร้อมด้วยบทสนทนาดี ๆ ที่เปิดมุมมองใหม่ในหลากหลายประเด็น

ตลาดสโลว์ไลฟ์ใจกลางลาดพร้าวที่อยากให้ทุกคนหายใจช้าลง ด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย อาหารออร์แกนิก งานคราฟต์ และสังคมเกื้อกูล

เงาสะท้อนช้าจนชาญ

จากตอนแรกที่รู้สึกหลงถิ่นเหลือเกินกับการเดินทางเข้ามายังพื้นที่นี้ ด้วยนิสัยรีบร้อนของมนุษย์กรุงเทพฯ ที่ฝังลึกในดีเอ็นเอ แถมยังไม่เข้าใจคำว่าสโลว์ไลฟ์อย่างถ่องแท้ จนพาลให้จิงต้องอธิบายความหมายให้ฟังอยู่หลายรอบ

“คนทั่วไปคิดว่าสโลว์ไลฟ์หมายถึงต้องใช้ชีวิตช้า ๆ อะไรแบบนี้ใช่ไหม (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วไม่เลยนะ ไม่ต้องใช้ชีวิตช้า ๆ ที่นี่มี Gadgets เทคโนโลยีทั่วไป ติดโซลาร์เซลล์ เราใช้โรบอตดูดฝุ่นบ้าน ใช้เทคโนโลยีทุกอย่าง แค่ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบกดดันหรือเร่งรีบในระบบของสังคม แค่ทำสิ่งที่เราอยากทำนั่นแหละ มันเป็นความสุขภายใต้มุมของเรา เรายังไปเดินห้างปกติ ไม่ต้องกินอาหารออร์แกนิกเท่านั้น ผงชูรสก็กินได้ ส่วนตัวเรารู้สึกว่าความหลากหลายนั้นสำคัญกว่า เรากินสารพิษหลาย ๆ อย่างแล้วก็คละเคล้ากัน เราก็อยู่ได้” เราท้าวคางนั่งฟังจิงอย่างตั้งใจ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าประโยคนี้เปลี่ยนความคิดเราไปมากมาย 

เชฟจิ้น-กวีวิรัญจ์ บัวสุวรรณ Slow Life บางกอก

ที่นี่เป็นเสมือนขุมทรัพย์ใจกลางเมืองที่พาเราไปพักผ่อนสบาย ๆ โดยไม่ต้องขับรถหลายชั่วโมงไปถึงต่างจังหวัด ด้วยสภาพแวดล้อม สังคม และผู้คน จะชวนให้เราได้พักหายใจ ทำอะไรช้าลง คิดอะไรช้าลง  

หากคุณมีเวลาว่างในวันหยุดเสาร์แรกของต้นเดือนหน้า เราอยากชวนให้คุณได้ไปสัมผัสประสบการณ์ดี ๆ ของตลาดที่จัดขึ้นด้วยใจ ณ Slow Life บางกอก Market

ตลาดสโลว์ไลฟ์ใจกลางลาดพร้าวที่อยากให้ทุกคนหายใจช้าลง ด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย อาหารออร์แกนิก งานคราฟต์ และสังคมเกื้อกูล

Slow Life บางกอก 

ที่ตั้ง : ซอยจามจุรี รัชดา32/ลาดพร้าว23 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร (แผนที่

วัน-เวลาทำการ​ : ทุกเสาร์แรกของเดือน เวลา 10.00 – 18.00น.

โทรศัพท์ : 08 9897 9651

Facebook : Slow Life บางกอก 

Writer

Avatar

ปณิตา พิชิตหฤทัย

นักเรียนสื่อผู้ชอบเล่าเรื่องแถวบ้าน ความฝันสูงสุดคือการเป็นเพื่อนกับแมวสามสีทุกตัวบนโลก

Photographer

Avatar

ณัฐวุฒิ เตจา

เกิดและโตที่ภาคอีสาน เรียนจบจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ สนใจเรื่องราวธรรมดาแต่ยั่งยืน ตอนนี้ถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตนเอง ในอนาคตอยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นบ้าง