เราใช้เวลาแห่งความสุขมากมายในวัยเยาว์ไปกับสยามสแควร์ หลายคนก็คงเช่นกัน
ทุกครั้งที่เดินผ่านไปทางถนนพญาไท ตึกหลายชั้นอย่างโบนันซ่าก็ยังตั้งอยู่ตรงนั้น บางครั้งก็เลี้ยวไปดูกางเกง บางครั้งไปเฝ้าเพื่อนเจาะหู บางครั้งใช้เป็นทางผ่านเดินไป MBK จนกระทั่งวันหนึ่งภาพที่คุ้นตาก็หายไป สยามสแควร์เริ่มเงียบเหงาด้วยสถานการณ์โรคระบาด โบนันซ่าก็กลายเป็นตึกเรียนพิเศษตึกใหม่หน้าตาไม่คุ้น มากด้วยเสียงชื่นชมและเสียงวิจารณ์ นามว่า ‘SIAMSCAPE’
SIAMSCAPE เป็นความร่วมมือกันของทีม ‘ICES’ นำโดย East Architects ผู้รวมทีมสถาปนิกรุ่นใหม่อันประกอบไปด้วย Integrated Field, Creative Crews, และ Shma ในการทำโปรเจกต์ครั้งนี้
คอลัมน์ Public Space คราวนี้เราจะมาคุยกับหนึ่งในทีมออกแบบ อย่าง ประพันธ์ นภาวงศ์ดี และ วรวีร์ แจ่มสมบูรณ์ จากออฟฟิศภูมิสถาปนิก Shma เกี่ยวกับสวนดาดฟ้า Sky Scape พื้นที่ 1,160 ตารางเมตร ซึ่งเป็นส่วนที่พวกเขารับผิดชอบ
เราจะมาฟัง 2 ภูมิสถาปนิกผู้มีประสบการณ์เล่าไปพร้อมกันว่า สวนดาดฟ้าแห่งนี้มีแนวคิดในการออกแบบอย่างไร จะมีบทบาทอะไรในฐานะ Public Space ‘อีกเลเยอร์’ ของสยามสแควร์นอกเหนือไปจาก Walking Street ด้านล่าง ในช่วงเวลานี้ที่ทั้งย่านกำลังคืนชีพกลับมามีชีวิตชีวา และในอนาคตที่จะมาถึง
โบนันซ่าเลเวลอัป
“ตอนแรกเลย เขาต้องการจะอัปเดตโบนันซ่าเก่าให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้แห่งใหม่” ประพันธ์เริ่มเล่า หลังจากที่พวกเราตัดสินใจนั่งลงบนสเต็ปใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ท่ามกลางกลุ่มวัยรุ่นรายรอบ
สยามสแควร์แบ่งพื้นที่เป็นบล็อก บล็อกที่เราอยู่กันตอนนี้คือบล็อก H ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ของโรงเรียนพิเศษ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการศึกษา ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สถาปนิกที่ร่วมทำโปรเจกต์นี้จึงใช้เวลากันไม่น้อยในการตีโจทย์ ‘การเรียนพิเศษในยุคถัดไป’ ขึ้นมาใหม่ ที่การออกแบบสเปซคงจะเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว
การเรียนพิเศษเป็นฟังก์ชันหลักของอาคาร ทว่าด้วยความใหญ่โตของ SIAMSCAPE ที่จะสร้าง จึงต้องมีฟังก์ชันอื่นมาเติมความสมเหตุสมผล อย่างการเป็นอาคารจอดรถ เป็นร้านรวงต่าง ๆ และเป็นพื้นที่ของสำนักงานด้วย
“ทีม ICES คิดว่าอยากเปิด Public Space ที่อยู่ข้างบนสักอย่างหนึ่ง” ประพันธ์อธิบายที่มาก่อนจะมาเป็น Sky Scape “เราก็ลองมาหลายทางเลือกเลย มีตั้งแต่ทางเดินล้อมตึก หรือว่ามีหลาย ๆ ชั้น เหวี่ยงขึ้นมาจากข้างล่าง แต่ไป ๆ มา ๆ เมื่อปรับให้เข้ากับความเป็นจริงก็เหลือพื้นที่ประมาณนี้ ซึ่งเรามองว่าจะทำทั้งที ก็อยากให้พื้นที่เป็น Public Space ที่ดีให้กับเมืองมาใช้สอยได้”
PMCU อยากให้พื้นที่นี้รองรับกิจกรรมอันหลากหลายของคนเมือง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มาเรียนพิเศษและนิสิตนักศึกษาที่มาเดินเล่น ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์ ตลาด หรือกิจกรรมฮิตตอนนี้อย่างมินิคอนเสิร์ต ทาง Shma จึงออกแบบให้ที่นี่เป็น Hardscape ประกอบไปด้วยพื้นที่ราบสำหรับกิจกรรม และพื้นที่ที่ยกเป็นสเต็ป มีต้นไม้ร่มรื่นสำหรับให้คนมานั่งกิน นั่งเล่น นั่งดูดนตรีได้สบายอารมณ์ โดยพวกเขาเลือกให้ที่พื้นมีแพตเทิร์นลายทางยาวต่อมาจากเส้นตั้งบนอาคาร เพื่อให้รู้สึกถึงอาคารได้ชัดขึ้น
“ที่ทางเลือกอื่น ๆ หายไปก็เพราะเรื่องทุนในการก่อสร้างด้วย ยิ่ง Public Space มันเป็นที่ที่ขายไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องบาลานซ์ให้พอดี” นักออกแบบชี้แจงอย่างจริงใจ
ว่ากันตามตรง เราก็แอบเสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้เห็นทางเลือกอื่น ๆ ที่ประพันธ์เล่ามาถูกสร้างขึ้นจริง คงจะเป็นอีกมิติหนึ่งของลานสยามสแควร์ แต่เมื่อนึกถึงปัจจัยเรื่องทุนที่ต้องพิจารณาด้วยแล้ว Sky Scape เวอร์ชันปัจจุบันนี้ก็เป็นพื้นที่ของการพักผ่อนที่น่าสนใจไม่น้อย
พื้นที่สีเขียวที่มุมกระดาษ
สเต็ปที่ Shma ออกแบบมา ไม่ได้เป็นเพียงให้อัฒจันทร์อลังการไปเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสให้ใส่ Soil Bed เพื่อปลูกต้นไม้ใหญ่สร้างความร่มรื่นลงไปได้ด้วย
“เรารู้แหละว่ามันจะร้อน เราก็ต้องสร้างร่มไม้ให้จุดที่คนมานั่งเยอะที่สุด” วรวีร์พูดบ้าง มือก็ชี้ดงสีเขียวให้เราดู “มองไปด้านหลังจะเห็นเลยว่าเป็นป่าล้อมอยู่ เหมือนยกมุมกระดาษให้สูงขึ้นมาแล้วปลูกต้นไม้”
เพราะอยากให้สยามสแควร์อุดมไปด้วยพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้ที่ดูแลรักษาง่าย Shma จึงทำให้ดาดฟ้านี้กลายเป็น Eco Forest ที่มีการผสมผสานระหว่างพืชหลายสปีชีส์ ทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม
“ตอนนี้เขากำลังพูดกันนะครับว่า เราจะคืนธรรมชาติสู่เมืองได้ยังไงบ้าง” ประพันธ์เล่าให้เราฟัง “บางช่วงเทรนด์ก็จะเป็นต้นไม้ฟอร์มสวยชนิดเดียวทั้งหมด แต่เราคิดว่าถ้าทำจริงจะไม่เหมาะสม เพราะว่าในธรรมชาติไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันคือการรวมตัวกันของสปีชีส์ที่หลากหลาย”
ที่นี่มีทั้งไม้ยืนต้น 8 ชนิด และไม้พุ่มขนาดต่าง ๆ อีกรวม 12 ชนิด ภายในพื้นที่สีเขียว 555 ตารางเมตร
“ถ้าเกิดมีต้นหนึ่งติดโรค แล้วปลูกเหมือนกันหมดก็จะติดกันไปหมด แต่ว่าถ้ามีหลายสปีชีส์ อีกต้นหนึ่งอาจจะไม่อ่อนแอกับโรคนั้น ๆ ทำให้ไม่ติดตามไป” กล่าวโดยสรุปก็คือ หากมองระบบนิเวศในภาพใหญ่ ยิ่งหลากหลาย ยิ่งยั่งยืนนั่นแหละ
“Roof Garden นี้ช่วยลดอุณหภูมิด้วยนะ” วรวีร์เสริมขึ้นมาถึงข้อดี “หลังคาทั่วไปที่ไม่มีพื้นที่สีเขียวเลยจะสะท้อนความร้อนออกมา แต่ถ้าเรามีต้นไม้ ก็จะซับความร้อนได้เยอะพอสมควร”
แต่เรื่องราวก็ไม่ได้ง่ายอย่างการปลูกต้นไม้ใส่กระถาง อย่าลืมว่านี่คือสวนบนชั้น 10 ของอาคาร และโครงสร้างอาคารก็ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น โดยเฉพาะเมื่อชั้นล่างของ Sky Scape เป็นโถงกิจกรรมขนาดใหญ่ที่ไม่มีเสาคั่นกลาง (Long Span) ซึ่งเป็นส่วนรับผิดชอบของออฟฟิศอื่น
“ตอนแรกเราต้องการให้มีพื้นที่สีเขียวเยอะที่สุด มีต้นไม้ใหญ่เยอะที่สุด แต่ถ้าเราทำเป็นพื้นที่สีเขียวกระจาย น้ำหนักที่กดลงไปแต่ละจุดก็เยอะไปหน่อย เลยกระจุกตัวน้ำหนักดินให้มันอยู่เป็นที่ ๆ ไป”
น้ำหนักของ Roof Garden มากกว่าหลังคาหรือดาดฟ้าทั่วไปนัก เพราะต้นไม้หนึ่งต้นต้องเผื่อน้ำหนักไว้ประมาณ 1.5 ตันเลยทีเดียว
ชีวิตชีวาที่เชื่อมถึงกัน
ทีมออกแบบตั้งใจให้ที่นี่เป็น ‘ลานคนเมือง’ แห่งใหม่ของสยามสแควร์
“ตอนแรกนึกว่าเด็ก ๆ จะมามากกว่า แต่พอเปิดคนที่สยามก็มาด้วย ถ้ามาเสาร์-อาทิตย์นี่จะเห็นว่าคนยืนเต็มเลย” ประพันธ์พูดอย่างดีใจ ขณะที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้ แม้จะเป็นวันธรรมดาแต่คนก็มามากเหมือนกัน
พวกเขามองว่าสยามสแควร์แทบจะไม่มีพื้นที่โล่ง ๆ แบบนี้เลย หรือถึงมี บรรยากาศก็ไม่ได้ผ่อนคลาย นั่งใต้ร่มไม้ได้แบบนี้
“ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทาง คุณต้องตั้งใจมานั่ง” วรวีร์ให้ความเห็น ที่นี่ไม่ได้เข้าถึงง่ายเท่าไหร่ ผู้คนต้องรอลิฟต์หรือขึ้นบันไดเลื่อนมาถึง 10 ชั้น จุดหมายปลายทางจึงต้องคุ้มค่าพอที่จะเสียเวลาเดินทาง
เราถามภูมิสถาปนิกทั้งสองว่า พวกเขาตั้งใจวางส่วนต้นไม้ไว้ด้านนี้เพื่อให้คนมาชมวิวถนนพญาไทรึเปล่า ทั้งคู่ก็ตอบว่า จริง ๆ แล้วลองมาแล้วทุกมุม แต่สุดท้ายที่มาจบที่แบบนี้ เป็นเพราะหากวางไว้ที่ทิศตะวันตก ต้นไม้จะช่วยสร้างร่มเงาให้ดาดฟ้า รวมถึงพวกเขาอยากจะให้เดินออกมาจากอาคารแล้วถึงลานอีเวนต์ก่อน แล้วจึงเห็นต้นไม้เป็นพื้นหลัง ซึ่งบริเวณสเต็ปสูงที่สุดของสวนต้นไม้ก็เป็นจุดชมวิวกรุงเทพมหานครได้
“อย่างญี่ปุ่น เมืองเขาเป็น Verticle มาก ๆ เขามี Public Space เหล่านี้อยู่ตามที่ติดรถไฟฟ้า เขามีตึกที่ขึ้นมาแล้วมีคาเฟ่ให้คนไปนั่งอยู่ข้างบน เป็น Public Space ที่ดีนะ เราก็ได้ไอเดียมาจากตรงนั้นด้วย” ประพันธ์พูดถึงการพัฒนาเมืองของต่างประเทศ
“ตอนนี้สยามกำลังพัฒนาใหม่ ลองนึกภาพว่าทุกตึกทำประมาณนี้หมด แล้วมี Skybridge เชื่อมระหว่างอาคารหนึ่งไปอีกอาคารหนึ่ง มันก็จะมีพื้นที่สาธารณะลอยอยู่หลาย ๆ ที่”
ทีมออกแบบไม่ได้รู้ละเอียดนักว่าแผนพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์เป็นอย่างไร พวกเขาเพียงแต่คิดตามรูปแบบการพัฒนาในยุคปัจจุบันว่า จะต้องมีพื้นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวบนอาคารให้ได้มาตรฐาน และคิดต่อยอดไปว่า หากมองให้เป็นระบบมากขึ้น จะเชื่อมพื้นที่สาธารณะเข้าด้วยกันได้
“วันนั้นพี่เพิ่งมาดูดนตรีที่สยามฯ เด็ก ๆ สมัยนี้เล่นกันดีมากเลย สร้างชีวิตชีวาให้กับเมืองได้มาก” เขาเอ่ยถึงปรากฏการณ์ของ พ.ศ. 2565 นี้ ที่ Walking Street เปิดใช้งานแล้วมีวงดนตรีมัธยมมาทำการแสดงกัน จนหลายวงถึงกับแจ้งเกิดจากที่นี่ “แต่อย่างที่อย่างที่บอก Public Space ไม่จำเป็นต้องเป็น Main Street อันเดียวแล้วจบ เราแยกย่อยออกมาตามการใช้งานได้หลากหลายมาก”
ประพันธ์นึกถึงภาพ Highline ที่ผู้คนเดินไปได้ตลอด และแต่ละจุดมีฟังก์ชันที่ต่างกัน ตรงนี้เห็นวิวเมืองก็จะทำที่นั่งแบบหนึ่ง ตรงนั้นเห็นวิวถนนก็จะทำเป็นสเตเดี้ยมให้คนมองรถวิ่งไปวิ่งมา หากมีแม่น้ำก็จะทำพื้นที่ดูแลวิวแม่น้ำได้ด้วย
“ในสยามฯ เป็นไปได้มากที่สุดเลย ด้วยความที่เป็นเจ้าของเดียวกันทั้งหมด เราก็น่าจะคิด Master Plan ในการเชื่อมโยง Public Space ด้านบนได้ด้วย เหมือนที่เราพยายามจะทำกับตึกนี้ในตอนแรก เราพยายามคิดให้มันไล่ขึ้นมาจากข้างล่างไปสู่ข้างบน
“ถ้าเป็นอาคารนอกสยามฯ จะเป็น Property แยกกัน ทำยากหน่อย” ในขณะที่ต่างประเทศเป็นเรื่องปกติที่จะทำ Master Plan มาก่อน แล้วแบ่งให้แต่ละฝ่ายทำ ประเทศเรากลับยังทำแบบนั้นไม่ได้เท่าไรนัก
“เซ็นเตอร์พอยท์ที่ฮิตมาก ๆ ในรุ่นพี่ นั่นคือมินิมากนะ เป็นแค่หนึ่งเวิ้งเอง แต่คนยุคนั้นก็ดีใจมากแล้ว” ประพันธ์เริ่มอธิบาย เมื่อเราถามว่าการออกแบบพื้นที่สาธารณะของสยามสแควร์ต่อจากนี้เป็นต้นไป ต้องต่างจากยุคก่อน ๆ ยังไงบ้าง
วรวีร์คิดว่าพฤติกรรมผู้คนในย่านเปลี่ยนไปจากเดิม เจนเนอเรชันก่อนอาจมาเพื่อจุดประสงค์ที่เจาะจง เช่น หากพี่เบิร์ดมาเล่นที่ลานน้ำพุ ผู้คนก็จะพุ่งตัวไปที่ลานน้ำพุเพื่อดูพี่เบิร์ด แต่ปัจจุบันที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางก้อนใหญ่ ๆ เหล่าวัยรุ่นมาเพื่อดื่มด่ำบรรยากาศที่คนมารวมตัวกัน ดังนั้นจึงต้องคิดเรื่อง Flow อย่างละเอียดลออกว่าเดิม
“ปัจจุบันมันคือเรื่องการเชื่อมโยงของ Dot ของ Open Space เหล่านั้นให้เป็น Network มากขึ้น” ประพันธ์ยกตัวอย่างถึงประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง ว่าที่นั่นเชื่อมกันเป็น Network ที่เป็นมิตรต่อผู้คน (Citizen Friendly) หากไปเที่ยวย่านหนึ่งก็เดินสนุกได้ทั้งวัน “แล้วเราก็อยากให้ทางเดินเท้าเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง เป็นย่านที่ไม่มีรถเข้าไปเลย”
อีกเรื่องที่ทั้งคู่ฝากไว้ คือความร่มรื่นของพื้นที่ ว่าเราจะต้องดึงธรรมชาติกลับมาให้ได้ และสร้าง Micro Climate ที่ดี เหมาะกับสภาพอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“อย่างสิงคโปร์ เขาจะเชื่อมต่อหลังคากัน มีไกด์ไลน์ว่าอาคารนี้ควรยื่นออกมาอย่างนี้ เพื่อให้คนเดินต่อไปได้ นอกจากนี้ก็เรื่อง Verticle Green ต่าง ๆ ที่ทำให้พื้นที่สาธารณะมีระบบนิเวศที่ดี”
คิดว่าในประเทศไทยควรมีลานแบบนี้เยอะ ๆ ไหม – เราถามนักออกแบบทั้งคู่
“ลานคือที่ที่มีกิจกรรม ลานส่งเสริมการแสดงออกได้เยอะ คนรุ่นใหม่ชอบมากเลย เราก็อิจฉาเหมือนกันเพราะรุ่นเราไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรมแบบนี้” ประพันธ์ตอบ เขาบอกว่าถ้าเป็นก่อนหน้านี้คงนึกถึงหน้าลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ที่คนมาจัดกิจกรรมกันเยอะ “เราต่างพ่อต่างแม่ มีความต้องการพื้นที่ที่ต่างกัน บางคนอาจจะอยากได้มุมสงบเงียบ ๆ บางคนอาจจะอยากได้ผู้คนเดินผ่านมาผ่านไป ต้องพัฒนาให้มีความหลากหลาย ลานสำคัญสำหรับ Public Space นะ”
เราเอนกาย เลื่อนข้อศอกไปวางไว้บนสเต็ปที่นั่ง มองไปยังกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังถ่ายรูปวิวเมืองกันอย่างสนุกสนาน พลางคิดว่าถ้าอนาคตแต่ละลานเชื่อมถึงกันอย่างไหลลื่น คงจะเกิดกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย แล้วสยามสแควร์ก็คงเกิดสีสันใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนแน่นอน