“ขอให้หายป่วยไวๆ นะครับ พวกเราจะช่วยมาส่งอาหารให้พี่ทุกวันเอง”

ประโยคจากไรเดอร์ของบริษัทหนึ่งที่กล่าวกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กักตัวอยู่บ้าน

ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจเดลิเวอรี่ที่ดุเดือด บางบริษัทต้องถอนตัวออกจากตลาด ในวงการการส่งอาหาร บริษัทใหญ่ๆ ยังคงขาดทุนอยู่ 

‘SKOOTAR’ สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยคนไทย เพื่อคนไทย ก่อตั้งใน ค.ศ. 2014 สามารถทำกำไรได้ 

ปัจจุบันอยู่มา 6 ปีแล้ว ล่าสุดแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่ Robinhood ตกลงเป็นพาร์ตเนอร์กับ SKOOTAR และให้ไรเดอร์ของบริษัทช่วยส่งอาหารให้ 

ในธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างมาก และการเผชิญกับบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ SKOOTAR อยู่รอดและเติบโตได้อย่างไร

SKOOTAR สตาร์ทอัพให้บริการด้วยหัวใจ และมุ่งแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่าง ‘มือโปร’

จุดเริ่มต้น

“ผมไม่ได้ชนะใครเลย” เป็นคำตอบของ ม.ล.กมลพฤทธิ์ ชุมพล หรือ คุณโก้ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด เมื่อเราถามว่า สิ่งที่ทำให้ SKOOTAR เอาชนะเจ้าอื่นได้คืออะไร 

“เราอยู่รอดได้ เพราะเราโฟกัสว่า ลูกค้าคือใคร แก้ปัญหาอะไรให้เขา”

SKOOTAR สตาร์ทอัพให้บริการด้วยหัวใจ และมุ่งแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่าง ‘มือโปร’

ตอนเริ่มตั้งธุรกิจ คุณโก้และทีมผู้บริหารตั้งเป้าหมายไว้ว่า SKOOTAR จะแก้ปัญหาให้ธุรกิจไทยและเมสเซนเจอร์

ทีม SKOOTAR เริ่มตั้งแต่การเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของ SMEs ที่ต้องใช้บริการเมสเซนเจอร์ และคุยกับตัวเมสเซนเจอร์เอง 

“ผมไปที่ศูนย์รับเช็ค พี่ๆ เมสเซนเจอร์เขาต้องนั่งรอคิวกันสองสามชั่วโมงอยู่แล้ว ผมก็ไปชวนเขาคุยเรื่องชีวิต ถาม A day in a life ไปนั่งข้างเขาเลย ชวนคุย รอนานไหม หาลูกค้าอย่างไร” คุณโก้เล่าถึงช่วงเริ่มต้นทำแอปพลิเคชันนี้ 

ในสมัยนั้น เมืองไทยยังไม่มีแอปพลิเคชันเรียกเมสเซนเจอร์หรือสั่งอาหารอย่างแพร่หลายนัก เจ้าของธุรกิจ SMEs ที่ต้องส่งเอกสาร วางบิล หรือรับเช็ค ก็ต้องวิ่งไปเองบ้าง หรือจ้างวินมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอยให้ช่วย บางครั้งก็ประสบปัญหาเมสเซนเจอร์หลงทางบ้าง หรือทำเอกสารตกหล่นบ้าง ฝั่งเมสเซนเจอร์ก็มีปัญหาเรื่องการหาลูกค้า ตลอดจนการคิดคำนวณราคา

แอปฯ ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งหมด ผู้ใช้งานกดเรียกเมสเซนเจอร์จากโทรศัพท์ได้ มีระบบติดตามว่าเมสเซนเจอร์วิ่งไปถึงไหนแล้ว ราคาเป็นมาตรฐาน และออกใบเสร็จให้กับลูกค้าที่เป็นองค์กรได้ ส่วนเมสเซนเจอร์ก็ได้ค่าจ้างที่ดี และมีลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ 

ด้วยบริการที่ยังไม่มีในเมืองไทย ทำให้ SKOOTAR ระดมทุนได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถระดมทุนจากโครงการ DTAC Accelerate สำหรับทุนก้อนแรก ระดมทุนจากกองทุน 500 Startups และกองทุน Galaxy Ventures รวมไปถึงได้รับเงินทุนจากนักลงทุนอิสระ (Angel Investors) ด้วย

ช่วยแก้ปัญหาที่คาดไม่ถึง

ในช่วงต้นนั้น ทางบริษัทมองว่าลูกค้าคือกลุ่มองค์กร และ SKOOTAR จะมาช่วยส่งเอกสารต่างๆ ในขณะนั้นยังไม่มีบริการ Food Delivery แพร่หลายอย่างทุกวันนี้ ครั้งหนึ่ง มีคุณแม่ลูกเล็กท่านหนึ่งติดต่อเข้ามา ลูกเธอป่วย แต่เธออยู่คนเดียวกับลูก ออกไปซื้ออาหารและยาไม่ได้ ตอนนั้นเป็นเวลาค่อนข้างดึกแล้ว จึงลองเรียก SKOOTAR ดู 

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คุณโก้และทีมเห็นว่า ธุรกิจได้ช่วยเหลือผู้คนในแบบที่คาดคิดไม่ถึง

รูปแบบธุรกิจของ SKOOTAR เองจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป จากเดิมที่นิยามตนเองว่าเป็น ‘เมสเซนเจอร์ออนไลน์มือโปร’ ก็ปรับเป็น ‘บริการขนส่งด่วนออนไลน์มือโปร’ เนื่องจากบริษัทมิได้จัดส่งแค่เอกสารเพียงอย่างเดียว แต่ส่งสิ่งของ (สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์) และอาหาร ช่วงโควิด-19 มีการช่วยโรงพยาบาลให้ส่งอาหารถึงผู้ป่วยและผู้ที่ต้องกักตัวในราคาย่อมเยา และวางแผนขยายไปให้บริการในจังหวัดอื่นต่อ

SKOOTAR สตาร์ทอัพให้บริการด้วยหัวใจ และมุ่งแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่าง ‘มือโปร’
SKOOTAR สตาร์ทอัพให้บริการด้วยหัวใจ และมุ่งแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่าง ‘มือโปร’

‘มือโปร’ 

คุณโก้ใช้คำว่า ‘มือโปร’ อยู่บ่อยครั้งเมื่อกล่าวถึงนิยามธุรกิจนี้

ทาง SKOOTAR ฝึกเมสเซนเจอร์ให้เป็นมือโปรอย่างแท้จริง บริษัทอื่นอาจสอนไรเดอร์ให้ใช้แอปพลิเคชันเป็น แต่ที่นี่เริ่มตั้งแต่สอนมารยาทการบริการ เอกสารมีกี่ประเภท เมื่อรับเอกสารมา ลองสังเกตและแจ้งผู้รับว่า เซ็นเอกสารตรงไหน เอกสารฉบับไหนคือสำเนา แผ่นไหนคือต้นฉบับ ต้องแยกให้ออก

นอกจากนี้ การอบรมยังละเอียดถึงขั้นสอนเมสเซนเจอร์ให้รู้จักวิธีเข้าเช็ค เมสเซนเจอร์รู้จักคำว่า ใบ D/O ใบ B/L (เอกสาร 2 ชนิดนี้คืออะไร อ่านเฉลยได้ตอนท้ายบทความ) 

หากเป็นไรเดอร์ที่มีหน้าที่ส่งอาหาร ก็จะสอนวิธีจัดวางอาหาร วางแบบใดอาหารจะไม่หก และส่งถึงมือลูกค้าได้โดยสวัสดิภาพ 

ในช่วโควิด-19 นี้ เมสเซนเจอร์ของ SKOOTAR บางคนก็สร้างความประทับใจให้ลูกค้าด้วยความใส่ใจเช่นนี้ บ้านหนึ่งครอบครัวเดินทางและลืมให้อาหารสุนัขที่บ้าน จึงให้ไรเดอร์ไปซื้ออาหารและฝากเทให้สุนัขกิน เมื่อเจ้าของดูจากกล้องวงจรปิด ก็เห็นไรเดอร์ค่อยๆ จัดถาดอาหาร และเปิดกล่องอาหาร เอาฝาพัดให้อาหารหายร้อน และเรียกให้น้องหมามากิน 

‘คน’ สำคัญ

อะไรคือคำแนะนำที่อยากฝากให้กับน้องๆ ที่สนใจทำสตาร์ทอัพ

คำตอบแรกที่คุณโก้ตอบทันทีคือ เลือกเพื่อนร่วมอุดมการณ์ดีๆ ยิ่งตำแหน่งสำคัญ ยิ่งต้องใช้เวลา 

ในอดีต SKOOTAR เลือกทีมงานอย่างรวดเร็ว แม้บางคนมีทักษะดี แต่ Mindset ไม่ตรงกับทีมงานคนอื่น จึงทำให้เกิดปัญหากันในทีมค่อนข้างมาก หรือบางครั้ง พนักงาน 2 คนทำตำแหน่งเดียวกัน มีทักษะพอๆ กัน แต่คนหนึ่งมี Mindset ที่ดี ทำให้ผลงานแตกต่างจากพนักงานอีกคนเป็นอย่างมาก

ตัวอย่างของ Mindset ที่สตาร์ทอัพนี้มองหาในผู้สมัคร คือ ‘Be the Solution’ กล้าริเริ่มเสนอแนะ ลงมือทำ ‘Be Adaptive’ ลองปรับตัว ลองใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการทำงาน ลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ‘Be Kind’ เห็นอก เห็นใจ รับฟังกัน 

ครั้งหนึ่ง ในออฟฟิศมีพนักงานคนหนึ่งกำลังเร่งเตรียมงานแต่งงาน รุ่นพี่อีกคนหนึ่งก็อาสาช่วยทำงานบางส่วนให้ เพราะไม่อยากให้น้องทำงานหนักเกินไปจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว นี่คือลักษณะของ Be Kind ในแบบของ SKOOTAR 

คำถามสัมภาษณ์งานในอดีต จะเน้นไปที่การดูว่าผู้สมัครทำอะไรได้บ้าง เคยทำงานลักษณะไหนมา แต่ปัจจุบัน รูปแบบของคำถามเปลี่ยนไป คำถามส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเข้าใจ Mindset ของคนคนนั้น เช่น เป้าหมายชีวิตคืออะไร มีโปรเจกต์ไหนที่ทำแล้วรู้สึกภูมิใจที่สุด หรือให้ลองจัดลำดับดูว่าตนเองต้องการแบบไหน A. ความสำเร็จ B. เพื่อนร่วมงานที่ทำงานเข้ากันได้ดี ไม่มีปัญหา C. คำยกย่อง คำชื่นชม คำถามเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจวิธีคิดและทัศนคติของผู้สมัครได้ดี

SKOOTAR ยังให้ความสำคัญกับไรเดอร์ คุณโก้บอกกับทีมงานเสมอว่า คนขับก็คือลูกค้าของเรา หากคนขับไม่มีความสุข ก็จะไม่มีคนไปดูแลลูกค้าต่อ มีการสำรวจความพึงพอใจของไรเดอร์อย่างต่อเนื่อง มี Line Group ของทีมงานกรุ๊ปหนึ่ง ชื่อ ‘Driver Marketing’ เป็นทีมเฉพาะกิจช่วยดูแลความสุขของเมสเซนเจอร์โดยเฉพาะ 

คนขับบางคนต้องรับภารกิจไปส่งอาหารให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่กักตัว ทางทีมก็จะสื่อสารกับคนขับว่า พวกเราเป็นไรเดอร์มือโปรฯ มีภารกิจที่สำคัญอย่างไร นั่นทำให้ไรเดอร์ไปส่งอาหารพร้อมบอกลูกค้าว่า “ขอให้หายป่วยไวๆ นะครับ พวกเราจะช่วยมาส่งอาหารให้พี่ทุกวันเอง”

สตาร์ทอัพขนส่งด่วนออนไลน์มือโปรสัญชาติไทยที่บริการด้วยใจ และตั้งใจจะแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างมืออาชีพ

การเลือกและการเติบโต

ที่ผ่านมา SKOOTAR ประสบความสำเร็จในการระดมทุนจากกองทุนและนักลงทุนอิสระอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถึงจุดที่เงินทุนเพียงพอ ทางบริษัทตัดสินใจที่จะยังไม่ระดมทุนเพิ่มอีก

“เราดูแลธุรกิจไทย” คุณโก้กล่าวอย่างชัดเจน

SKOOTAR ‘เลือก’ โฟกัสว่า ลูกค้าหลักคือลูกค้าองค์กร ไม่ได้จะขยายใหญ่เพื่อไปแข่งกับบริษัทรายใหญ่รายอื่น แทนที่จะเอาเงินทุนมาขยายธุรกิจให้ใหญ่โต แต่กลับใช้เงินทุนและกำไรที่มี ลงทุนกับการรับฟังลูกค้าและช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

ลูกค้ารีวิวคนขับว่าอย่างไรบ้าง มีไรเดอร์คนไหนมีปัญหาหรือไม่ 

มีการทำแบบสำรวจ และ Net Promoter Score (การวัดความพึงพอใจลูกค้า และสำรวจว่าลูกค้ายินดีแนะนำบริษัทต่อให้ผู้อื่นหรือไม่) 

มีเคสหนึ่ง ลูกค้าต้องการส่งเค้กหน้านิ่ม ซึ่งเป็นขนมที่บอบบางและเสี่ยงต่อการขนส่งเป็นอย่างยิ่ง ทีมงานก็ประชุมกันเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาให้กับลูกค้า โดยเสนอวิธีการแพ็กและให้คำแนะนำเพิ่มเติมกับไรเดอร์เพื่อให้การส่งปลอดภัยยิ่งขึ้น

การมุ่งแก้ปัญหาให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้ได้พบกับโอกาสในการขยายธุรกิจ จากการรับส่งเอกสารเพียงอย่างเดียว ก็เริ่มขยายมาส่งพัสดุ สินค้า ตลอดจนการส่งอาหาร ล่าสุด ยังมีบริการพัฒนาซอฟต์แวร์บริหารจัดการระบบขนส่งให้กับองค์กรใหญ่ๆ อีกด้วย และในปลายปีนี้ จะเปิดให้บริการขนส่งด้วยรถขนาดใหญ่ รองรับกับความต้องการลูกค้าที่สูงขึ้นในช่วงโควิดนี้ 

เรื่องราวของธุรกิจนี้ทำให้เห็นวิถีสตาร์ทอัพโดยคนไทย เพื่อคนไทย ที่มองเห็นลูกค้าและความต้องการของพวกเขาชัดตั้งแต่วันแรก แม้รูปแบบธุรกิจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่สิ่งที่ SKOOTAR ยังตั้งใจรักษาอยู่ คือการมุ่งแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่าง ‘มือโปร

สตาร์ทอัพขนส่งด่วนออนไลน์มือโปรสัญชาติไทยที่บริการด้วยใจ และตั้งใจจะแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างมืออาชีพ

หมายเหตุ : 

  • ใบ D/O หรือ Delivery Order คือ ใบปล่อยสินค้า ผู้นำเข้าจำเป็นต้องใช้สำหรับนำไปปล่อยตู้สินค้าที่ท่าเรือหรือท่าอากาศยาน
  • ใบ B/L มาจากคำว่า Bill of Lading หมายถึง ใบตราส่งสินค้าทางเรือ ใช้แจ้งว่าใครคือเจ้าของสินค้า ตลอดจนรายละเอียดสินค้า

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน