“มวยไทยเป็นกีฬาที่เจ็บตัว ต้องปะทะร่างกาย แต่สิ่งที่เจ็บมากกว่าร่างกาย คือจิตใจ คือแผลที่รักษาไม่ได้ มันเลยเจ็บเจียนตายเหมือนนรก”

เสียงของ เมย์-ศิวัช เดชารัตน์ อธิบายที่มาที่ไปให้เราฟัง ว่าทำไมลิมิเต็ดซีรีส์ตีแผ่วงการมวยไทยของเน็ตฟลิกซ์ถึงมีชื่อว่า ‘Hurts like Hell’ เจ็บเจียนตาย

เรานัดพบเขาที่ร้านลิขิตไก่ย่าง นอกเหนือจากความอร่อยอันเลื่องชื่อลือชา คือร้านนี้ตั้งตระหง่านอยู่หลังเวทีมวยราชดำเนินมานานกว่า 50 ปี

บทเพลงสมัยคุณแม่ยังสาว ดังคลอบทสนทนาที่ว่าด้วยมวยไทยเป็นสำคัญ สลับกับการซดน้ำต้มยำรสจัด และผลัดกันตักส้มตำปูปลาร้าสุดแซ่บ ประหนึ่งพูดคุยเรื่องจิปาถะทั่วไปในบ่ายวันเสาร์

สังเวียนแรกของ ศิวัช เดชารัตน์ มือเขียนบทซีรีส์มวยไทย Hurts Like Hell ที่ใช้เวลาสร้าง 4 ปี

อาจฟังดูแล้วไม่เข้ากัน ถ้ามองว่ามวยเป็นกีฬาดุเดือด เต็มไปด้วยความรุนแรงเพียงเท่านั้น มือเขียนบทผู้ทุ่มเทเวลาทั้งปีศึกษามวย กำลังจะเปิดเผยเบื้องหลังให้เราฟังในไม่ช้า ว่าอะไรทำให้น้องใหม่ในวงการภาพยนตร์ หมกมุ่นกับการเขียนบทอย่างเอาเป็นเอาตาย ตั้งแต่วันแรกที่ยังออกอาวุธไม่เป็นเหมือนใครเขา จนถึงวันที่ก้าวขาขึ้นบนสังเวียนต่อหน้าคนกว่า 190 ประเทศอย่างสมศักดิ์ศรี

ไม่ใช่ไหว้ครู แต่เมย์เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ มีเพลง ด้วยรักและผูกพัน ของ เบิร์ด ธงไชย เป็นแทร็กเปิดตัว สนับสนุนโดยร้านลิขิตไก่ย่าง

ก่อนเสียงระฆังจะดัง เกร๊ง

สังเวียนแรกของ ศิวัช เดชารัตน์ มือเขียนบทซีรีส์มวยไทย Hurts Like Hell ที่ใช้เวลาสร้าง 4 ปี

หักปากกาเซียน

ปัจจุบันเมย์เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ควบโปรดิวเซอร์บางเวลาที่วันนี้วันดี สตูดิโอ โปรดักชันเฮาส์ล้านนา จ.เชียงใหม่ จากความชอบส่วนตัวทำให้เขาคลุกคลีอยู่กับการเขียนบทมานาน ทั้งรายการโทรทัศน์ สารคดี วาไรตี้ หนังสั้น นำเสนอผ่านหลากหลายช่องทาง โดยงานส่วนใหญ่ของเขาเป็นประเด็นปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ เมย์บอกว่ามันทำให้เขาเป็นคนรู้เยอะ

“พอได้ลองหาข้อมูลเยอะ ๆ ได้เจาะประเด็นหลาย ๆ อย่าง ทำให้เราเข้าใจโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย รู้สึกว่ายังมีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะ ซึ่งเป็นประโยชน์กับเรามาก ๆ 

“เคยทำรายการเกี่ยวกับชาวนาทั้งปี 70 เทป เรารู้เลยว่าถ้าลาออก เราไปทำนาได้เลย เพราะรู้ขั้นตอนทุกอย่างหมด พันธุ์ข้าว เวลาปลูก เคล็ดลับ เราเชี่ยวชาญด้านข้าวไปแล้ว (หัวเราะ)”

ยิ่งในแง่ภาพยนตร์ เมย์เป็นคนหนุ่มอายุ 30 ที่ยังคงสนุกกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนบทไปเรื่อย ๆ เสพงานเยอะเท่าไร ก็อยากรู้อยากลองทำมากขึ้นเท่านั้น สำหรับคนที่ไม่ชอบทำอะไรจำเจแบบเขา อาชีพเขียนบทที่ต้องศึกษาเรื่องราวใหม่ ๆ ให้รู้อย่างถ่องแท้ จึงเปรียบได้กับความท้าทายในการทำงาน และถือว่าตอบโจทย์การใช้ชีวิต

จนถึงวันที่ นิ้ง-ภัทนะ จันทร์เจริญสุข (โปรดิวเซอร์ Hurts Like Hell) และ แชมป์-กิตติชัย วรรณ์ประเสริฐ (ผู้กำกับ Hurts Like hell) ปรากฏตัวพร้อมกับไอเดียการทำหนังเกี่ยวกับมวยไทย มี 2 ความรู้สึกเกิดขึ้นกับเขา อย่างแรกคือดีใจ เพราะความใฝ่ฝันของเมย์ในฐานะคนเขียนบท คือการที่บทของตัวเองจะถูกทำเป็นภาพยนตร์ ติดตรงที่พอเรื่องมวยฮุคเข้าที่กกหู เขาก็ใช้คำว่า “แบลงก์ไปเลย”

“เราไม่รู้เรื่อง ไม่ถึงกับศูนย์นะ แต่รู้ในแง่ของคนทั่วไปว่ามวยเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง เราโตมากับปู่ที่ชอบดูมวยมาก แต่ไม่เคยรู้ว่ามวยเป็นยังไง เราเห็นสารคดีมวยไทยเยอะ มีการนำเสนอหลายแบบ แต่ก็ไม่อินเท่าไร”

ถึงอย่างนั้นเขาก็พร้อมที่จะหมกมุ่นและเจาะลึกมัน เหมือนที่เขาศึกษาจนมั่นใจว่าทำนาเป็นแล้วนั่นแหละ

สังเวียนแรกของ ศิวัช เดชารัตน์ มือเขียนบทซีรีส์มวยไทย Hurts Like Hell ที่ใช้เวลาสร้าง 4 ปี

คลุกวงใน

ครอบครัวของนิ้งเคยทำกิจการค่ายมวยมาก่อน ทำให้รู้เรื่องลับ ๆ หลายอย่างในวงการที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยรู้ ความตั้งใจของหัวเรือทั้งสองแห่งวันนี้วันดีสตูดิโอ จึงเป็นการนำเสนอเรื่องมวยในมุมมองที่แตกต่างออกไป 

เล่าอย่างย่อใน 2 บรรทัดสำหรับคนที่ยังไม่มีโอกาสได้ดู Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย เป็นซีรีส์กึ่งสารคดีที่หยิบเอาปัญหาที่ซุกไว้ใต้เวทีมวยมาเปิดเผย ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง อัดแน่นด้วยนักแสดงมากฝีมือและโปรดักชันมากคุณภาพ

แต่กว่าจะเป็นซีรีส์น้ำดีที่ควรค่าแก่การรับชม บอกเลยว่าคนทำงานเบื้องหลังที่เรียกตัวเองว่า ทีมโนเนม ก็เลือดตกยางออกไม่แพ้นักแสดงในหนัง โดยเฉพาะคนสร้างเรื่องอย่างเมย์ ถึงขนาดออกปากมาว่า “ถ้าไม่ศึกษาเรื่องนี้ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าในสนามเขา ‘เล่น’ อะไรกัน”

“เราเริ่มหาข้อมูลตามสื่อ หนังสือ ใกล้ ๆ ตัวเราก่อน มันจะนำไปสู่ข้อมูลบางอย่าง มีคนบางคนอยู่ในนั้น คนที่เราอยากไปสัมผัสจริง ๆ และมีใครบ้าง มีกี่ประเภท เพราะต้องหาตัวละครมาทำหนัง เราติดต่อคนในวงการจากคนใกล้ตัว ขอไปคุยกับเจ้าของค่ายนี้ได้ไหม อ่านข่าวไหนน่าสนใจก็ขอไปคุยกับเขา ทั้งเซียนมวย โปรโมเตอร์ นักมวย เทรนเนอร์ คนขายตั๋ว เยอะมาก 

“ถ้าจำไม่ผิด เราคุยไปเกือบ 50 คน เพราะเราไม่ได้อยากรู้แค่ข้อมูล เราอยากรู้ความรู้สึก พฤติกรรม ความเข้าใจของเขา ยิ่งถ้าเหตุการณ์รุนแรง เราก็อยากจะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในข่าวนั้น ๆ”

หลังผ่านการหว่านหาข้อมูลจากทั่วทุกสารทิศ ได้ข่าวมาเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ก็ถึงเวลาต้องเลือกว่าข่าวไหนจะกลายเป็นหมัดเด็ด เป็นข่าวที่ตอบโจทย์กับสิ่งที่เขาอยากเขียน ครอบคลุมประเด็นที่ต้องการทั้งหมด สำคัญคือต้องพิจารณาว่าผู้คนรอบ ๆ ข่าวนี้มีใครบ้าง และพฤติกรรมไหนที่ต่อยอดเป็น Conflict ของหนังได้

ความโชคดีคือทุกคนในวงการมวยไทยให้ความร่วมมือกับเขาทั้งสิ้น ไม่มีใครกลัวที่จะเปิดเผยข้อมูลให้ฟัง แม้บางเรื่องราวจะกระทบกระเทือนกับจิตใจมากก็ตาม (และอาจกระทบกระทั่งกับคนบางกลุ่ม) แตกต่างจากงานสารคดีชิ้นก่อน ๆ ที่เมย์บอกว่าหลายคนก็เลือกที่จะเก็บเงียบ

สิ่งที่ทีมงานให้ความสำคัญ คือไม่ใช่แค่หยิบยกข่าวที่น่าสนใจขึ้นมาเท่านั้น แต่พวกเขาจำเป็นต้องเข้าไปคุยกับบุคคลในข่าวจริง ๆ และเรื่องราวทั้งหมดต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของเรื่อง 

สังเวียนแรกของ ศิวัช เดชารัตน์ มือเขียนบทซีรีส์มวยไทย Hurts Like Hell ที่ใช้เวลาสร้าง 4 ปี

หากใครได้ดูแล้วจะพบว่าหนึ่งในเหตุการณ์ที่พวกเขาเลือก คือข่าวของ ฟ้าใหม่ ว.สุดประเสริฐ (พุฒ ลูกร่มเกล้า) นักมวยเด็กที่ต้องเสียคู่ชกไปจากการแพ้น็อกในยกที่ 3 นับเป็นข่าวที่สร้างความเศร้าสะเทือนใจแก่สังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งเมย์มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับทั้งเจ้าของค่ายมวย ผู้ปกครอง และตัวพุฒเอง

“ด้วยความที่เหตุการณ์มันยังใหม่มาก กลายเป็นว่าความรู้สึกของพุฒมันยังอยู่ เขาเองก็รู้สึกเหมือนได้ระบาย ได้พูดคุยกับเรา ไม่ได้อยากเก็บมันไว้คนเดียว ใจจริงของเขาก็อยากให้คนอื่นเข้าใจเหมือนกัน ว่าเขาไม่ได้มีเจตนาแบบนั้น ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 

เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกเขา ว่ามันคือกีฬา เขาทำตามหน้าที่ เขาแทบจะรู้สึกอึดอัดด้วยซ้ำที่ไม่ได้พูดกับใครเลย นั่นยิ่งทำให้คอนเทนต์ของเราหนักแน่นขึ้น”

ด้วยกระบวนการถ่ายทำ ต้นเรื่องทุกคนจะได้รับรู้ว่าข้อมูลที่ให้เมย์ไปจะถูกใช้ไปทำอะไรบ้าง ฟีดแบ็กของทุกคนเป็นไปในทางเดียวกันว่า ถึงแม้จะถูกเล่าในแง่มุมดำมืด แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยความปรารถนาดีต่อวงการมวยไทย 

วัตถุประสงค์ของพวกเขา ไม่ได้ตั้งใจตีแผ่วงการมวยไทยจนคนดูรู้สึกในแง่ลบ เพียงแต่อยากนำเสนอให้เข้าใจว่า ทุก ๆ อย่างดำเนินเช่นนี้มาโดยตลอด ทุกเหตุการณ์ที่มีความร้ายแรง ก็ไม่ได้แปลว่าจะลงเอยด้วยความเจ็บปวดเสมอไป เมย์ในตอนแรกก็เคยจำลองว่าโลกของมวยต้องโหดร้ายรุนแรงเช่นนั้น แต่ยิ่งศึกษาลึกลงไปในแต่ละด้านมากเท่าไร จากคนที่เคยมองเพียงผิวเผยก็เริ่มเข้าใจบริบท ความเป็นไปต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ติดกับดักสีเทาที่วางไว้

“เราไม่ได้อยากตีแผ่ แต่อยากให้เข้าใจมากขึ้น ทุกคนก็แค่พยายามจะอยู่ในวงการนี้ให้ได้”

เหมือนนักมวยที่โดนซัดจนน่วมขอโอกาสชกในยกต่อไปก็ไม่ปาน

สังเวียนแรกของ ศิวัช เดชารัตน์ มือเขียนบทซีรีส์มวยไทย Hurts Like Hell ที่ใช้เวลาสร้าง 4 ปี

นักชกข้ามรุ่น

จากคำถามที่เตรียมมาจากบ้าน ยังไงวันนี้ก็ต้องทราบให้ได้ ว่าทำไมการเล่าเรื่องของ Hurts Like Hell จึงเป็นกึ่งสารคดี คือสัมภาษณ์บุคคลจริงครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งเป็นพลังของการแสดง ทั้งที่วงการมวยไทยมีอะไรให้เล่าอีกเป็นมหากาพย์ เมย์ตอบว่าเขาไม่ต้องการให้คนดูเกิดคำถามกับหนัง ซึ่งเป็นเช่นนั้นจริงจากการดูจบเพียง EP แรก

“ถ้าเราดูหนังแล้วตั้งคำถามตลอดว่ามันคืออะไรเหรอ เราจะเริ่มงง แล้วจะดูไม่สนุก สิ่งที่ทีมโปรดักชันกังวลคือ คนดูจะรู้เรื่องไหม เราเล่าดีพอรึยัง จำเป็นจะต้องเลือกวิธีการที่ทำให้คนดูเข้าใจและสนุกด้วย เป้าหมายของเราคือการทำยังไงให้ไปสู่จุดนั้นให้ได้”

ด้วยความที่วันนี้วันดีผ่านการทำสารคดีมามากมาย ความถนัดจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งสำหรับนักชกมวยที่ยังไม่พร้อมข้ามรุ่น เพราะโปรเจกต์นี้ถือเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ของทุกคน ต้องอาศัยความมั่นใจเป็นอย่างมาก ถัดมาคือแพสชันเต็มเปี่ยมของนิ้งและแชมป์ สองเพื่อนซี้ผู้อยากมีภาพยนตร์ของตัวเองสักวัน รวมถึงตัวเมย์ที่ก็เพิ่งเคยเขียนบทหนังขนาดยาวเป็นครั้งแรก

“ทีมโปรดิวเซอร์และผู้กำกับเขามีความตั้งใจสูงมาก เราไม่อยากให้ความตั้งใจนั้นเสียไปเพราะเรา อะไรที่มีเรางัดออกมาหมดเลย ต้องใส่ให้สุด ถ้าคุณใส่ไม่สุด คุณก็อย่าใส่เลยดีกว่า

ตอนแรกที่เริ่มเขียน เรารีวิวกับทีมทุกคน คนที่ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน นั่งคุยกับเขา เล่าให้ฟัง แล้วให้เขาสะท้อนมาว่างงตรงไหน ควรปรับอะไรบ้าง เหมือนเป็นการทำสำรวจและพัฒนาบทตัวเองไปด้วย”

ทำไปทำมา ก็เนิ่นนานจนกินเวลามากกว่า 2 ปีที่เมย์หมกมุ่นกับการทำบทให้เสร็จสมบูรณ์ แบ่งเป็นการทำข้อมูลและลงมือเขียนอย่างละครึ่ง สิริรวมแล้ว 21 ดราฟต์ พัฒนาลากยาวมาจนถึงช่วงโปรดักชันแบบที่ซือแป๋ยังต้องเรียกอาจารย์

สังเวียนแรกของ ศิวัช เดชารัตน์ มือเขียนบทซีรีส์มวยไทย Hurts Like Hell ที่ใช้เวลาสร้าง 4 ปี

ออกอาวุธลับ

“เทคนิคการเล่าของเรามันมีเหตุการณ์หลายอย่างซ่อนอยู่ มุมมองทุกตอนแตกต่างกัน แต่มีความเชื่อมโยงถึงกัน มีคำหนึ่งที่พี่แชมป์กับพี่นิ้งพูดตลอดว่า ทำยังไงให้หนังมันดูมีอะไร ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันต้องมีอะไร” เมย์เล่าพร้อมกับเสียงหัวเราะ เมื่อนึกย้อนไปถึงตอนทำบทช่วงแรก ๆ

แน่นอนว่าระยะเวลาทำให้กระแสสังคมเปลี่ยนไป มีข่าวเกิดขึ้นอีกมากมายในวงการมวยนับตั้งแต่วันแรก เมย์เองก็รอบรู้มากขึ้น มีไดเรกชันหลาย ๆ อย่างที่อยากใส่ ความยากคือการปะติดปะต่อเรื่องราวที่สลับซับซ้อนพวกนี้ให้ร้อยเรียงกันไปได้ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเลยตลอด 21 ดราฟต์ คือโครงเรื่องและคอนเทนต์ในแต่ละตอนที่มั่นใจแล้วว่าเต็มอิ่ม เป็นเหตุผลว่าทำไมซีรีส์เรื่องนี้ถึงมีแค่ 4 ตอน อาศัยเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง และเต็มไปด้วยนัยยะสำคัญแอบแฝง 

คล้ายจะเป็นไฟลต์บังคับให้คนดูดูครบทุกตอนใช่ไหม – เราแย็บไปที

“ใช่ครับ” เมย์ขอโอกาสอธิบาย

“สิ่งหนึ่งที่คนเขียนบททุกคนต้องมี คือการวาง Easter Egg ที่ทำให้คนดูอยากติดตามต่อ เกิดความสงสัยว่าตอนต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น บางครั้งเราก็ลุ้นนะว่าจะมีใครที่จับสังเกตเราได้ไหม ไม่ใช่ใส่ไปแล้วคนดูงง”

แอบกระซิบหนึ่งอย่างให้รู้กันเท่านี้ ว่ามีอะไรซ่อนอยู่บนโต๊ะทำงานของพัดใน EP แรก ขอเพียงกวาดสายตาดูดี ๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังทำบทเสร็จคือการสร้างตัวละคร ที่เราจะพูดคุยกันต่อในยกถัดไป นักแสดงเองก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาบทร่วมกันกับเมย์ ผ่านการเวิร์กชอปเป็นจำนวนมาก ด้วยความที่มวยเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน คำพูด คาแรกเตอร์ ท่วงท่าต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นบทบาทที่จำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง เช่น เซียนมวยจะมีสัญลักษณ์ในการเล่นพนันที่คนนอกดูแล้วไม่เข้าใจ และจะเล่นกันไวมาก เป็นงานหนักของเมย์ที่ต้องเขียนบทเพื่อให้คนดูตามทันภายในเวลาไม่กี่วินาที

“ระหว่างเวิร์กชอปกับนักแสดง เราเอาตัวคนจริง ๆ มาเทรนกันจริง ๆ พอคุยกัน 3 มุมก็เริ่มเห็นไดเรกชันใหม่ ๆ เกิดการปรับเปลี่ยนแก้ไขบท พัฒนาจนชัวร์ ว่านี่คือบทที่พร้อมถ่าย

“ถึงแม้พี่นิ้งกับพี่แชมป์จะบอกว่า พี่อยากถ่ายแล้วนะ แต่ด้วยความที่เราอยากทำให้มันดี เราก็จะไม่ปล่อยผ่าน ก็เอาวะ ขออีกหน่อยแล้วกัน เราว่ามันยังไม่พร้อม”

เบื้องหลัง ‘Hurts Like Hell - เจ็บเจียนตาย’ ซีรีส์ตีแผ่มวยไทยที่ใช้เวลาสร้างนาน 4 ปี และเขียนบทถึง 21 ดราฟต์

ลงสนาม

พาร์ตของการสัมภาษณ์คนจริง พวกเขาคัดเลือกจากการสืบถามคนในวงการว่าใครคือตัวจริงที่สุดในเรื่องนั้น ๆ แต่พาร์ตของการแสดง พวกเขาเลือกคนจากแววตา เพราะตั้งใจให้สื่อสารผ่านสีหน้า และคิดว่าจะมีบทสนทนาเพียงหยิบมือในเรื่องนี้

แค่ปล่อยใบปิดของซีรีส์ก็สร้างเสียงฮือฮาให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก เมื่อนักแสดงมากฝีมือเบียดเสียดกันอยู่บนโปสเตอร์ จนยากจะเชื่อว่านี่คือผลงานของโปรดักชันเฮาส์ขนาดเล็กที่ไม่เคยทำหนัง

ย้อนกลับไปตอนทำบทเสร็จ 

“ทุก ๆ การสร้างตัวละคร มันจะมีหลักในใจว่าเรามองเห็นภาพนักแสดงคนไหน”

จินตนาการของเขาประกอบด้วย ปู-วิทยา ปานศรีงาม, เอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ และ ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม 3 ทหารเสือตัวจริงที่กระโจนออกมาจากบทภาพยนตร์ราวกับฝันไป 

“โอ้โห หน้าหนังเราจะใหญ่มากนะ แล้วเราต้องทำยังไงดีวะ” เมย์กุมขมับ

เบื้องหลัง ‘Hurts Like Hell - เจ็บเจียนตาย’ ซีรีส์ตีแผ่มวยไทยที่ใช้เวลาสร้างนาน 4 ปี และเขียนบทถึง 21 ดราฟต์

มวยถูกคู่

จิ๊กซอว์ชิ้นแรกที่เมย์ได้มาคือพี่ปูในบทบาท วิรัตน์ กรรมการมวย นักแสดงรุ่นใหญ่ที่มีผลงานการแสดงหนังต่างประเทศมามากมาย หลังได้เห็น Proposal และหน้าตาทีมงานวัยรุ่น พี่ปูก็ตบปากรับคำทันที

เมย์เล่าว่าพี่ปูต้องเรียนรู้ภาษามวยทุกอย่าง การเป็นกรรมการไม่ใช่แค่นับ 1 2 3 หรือจะสั่งให้ชกตอนไหนก็ได้ ทีมงานจึงจัดให้พี่ปูไปเทรนกับกรรมการห้ามมวยจริง ๆ จนได้การเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ ถึงขนาดให้พี่ปูลองขึ้นไปเป็นกรรมการตัวจริงในการแข่งขันมวยจริง ๆ ด้วยซ้ำไป 

จิ๊กซอว์ชิ้นต่อมาคือพี่เอกในบทบาท เสี่ยคม เซียนใหญ่ผู้ทรงอิทธิพล เมย์บอกว่าเป็นการติดต่อพูดคุยที่งงมาก เพราะจากที่เกริ่นนำเพียงสั้น ๆ พี่เอกกลับต้องการให้เขาเล่าเรื่องราวให้ฟังทั้งหมดเกือบ 1 ชั่วโมงเต็ม ต่อมาจึงเป็นการนัดเจอที่ทีมงานต้องบินลัดฟ้าเหมือนเชียงใหม่อยู่ใกล้แค่ปากซอย

พวกเขาร่วมกันสร้างปูมหลังของเสี่ยคมตั้งแต่วัยหนุ่มจนเข้าวงการมวย ระหว่างทางมีอุปสรรคอะไรที่ต้องฟันฝ่ามาบ้าง กระเป๋าใบเล็กที่แนบกายไว้ตลอดเวลาคงไม่ได้บรรจุแค่เงินจำนวนมาก แต่คนอย่างเสี่ยคมที่ดูอันตรายแม้เพียงสบตา พี่เอกคิดว่ากระเป๋าใบนี้ควรต้องมีปืน 

ทีมงานเตรียมปืนถ่ายหนัง 9 มม.ให้ตามคำขอ แม้ไม่ปรากฏให้เห็น แต่สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนออกมาผ่านสีหน้าท่าทางของเสี่ยคมจนคนดูรู้สึกได้

ถัดมาคือพี่ปีเตอร์ในบทบาท ต้อย ครูมวย แม้จะเป็นนักแสดงในดวงใจของเมย์ แต่เขาก็ขออนุญาตเปลี่ยนลุคให้พี่ปีเตอร์ด้วยการทำแผลเป็นและตัดผมสั้น 

ในหนังจะเห็นว่าครูต้อยต้องเข้าฉากกับวิเชียร (น้องภู-ภูริภัทร พูลสุข) ค่อนข้างเยอะ ซึ่งน้องภูเป็นนักมวยเด็กตัวจริง ส่วนพี่ปีเตอร์เป็นครูมวยที่ต่อยมวยยังไม่เป็นด้วยซ้ำ ตอนถ่ายทำจึงเป็นน้องภูเสียมากกว่าที่คอยบอกคิวว่าครูมวยคนนี้ควรจะตั้งรับลำแข้งของเขายังไง 

ทีมงานพาพี่ปีเตอร์ไปซึมซับบรรยากาศการต่อยมวยเด็กจริง ๆ พาไปดูการฝึกซ้อมที่ค่ายมวยของพ่อน้องภู ฝึกฝนจนมีลักษณะเหมือนครูมวยทุกประการ และเป็นคู่ซ้อมจริงด้วย โดยเฉพาะการเห็นครูมวยส่งเสียงเชียร์อยู่ข้างเวทีด้วยตา ทำให้เข้าใจว่าทำไมต้องลุ้นระทึกขนาดนั้น

ส่วน ณัฏฐ์ กิจจริต ในบทบาท พัด เซียนมวยผู้ทะเยอทะยาน ถูกตามหาในเวลาต่อมา เพียงบอกณัฏฐ์ว่าจะได้แสดงกับใครบ้าง เขาก็มาแคสต์ทันทีโดยไม่ต้องคิดให้มากความ

“ประจวบเหมาะกับเขาเพิ่งสึก ผมก็สกินเฮดเลย ลุคนี้เท่มาก พอเขามาแคสต์ บทนี้มันไม่มีทางหลุดจากณัฏฐ์ไปแน่นอน”

เบื้องหลัง ‘Hurts Like Hell - เจ็บเจียนตาย’ ซีรีส์ตีแผ่มวยไทยที่ใช้เวลาสร้างนาน 4 ปี และเขียนบทถึง 21 ดราฟต์

ท่าไม้ตาย

เมื่อบทประพันธ์พร้อมใช้ นักแสดงพร้อมลงสนาม ก็ถึงคราวเปิดกล้องถ่ายทำ 

หนึ่งในซีนที่ทรงพลังที่สุด และเป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์ไทยสำหรับเรา คือการพบกันระหว่างพี่ปูและพี่เอกบนรถแท็กซี่ เราถือโอกาสขอบคุณเมย์ที่คืนกำไรให้กับคนดูโดยไม่ต้องขอ

“ซีนนี้เป็นซีนที่… “ เขาเว้นวรรค “พูดแล้วขนลุกนะ”

“ในครั้งแรกที่เราได้ 2 คนนี้มา ทีมเราคิดกันเลยว่าทำยังไงให้เสือ 2 ตัวนี้มาอยู่ในที่เดียวกัน

“เราไม่อยากให้เขาเถียงกัน แต่อยากให้เขาเฉือนกันด้วยคำพูด ด้วยความรู้สึก ด้วยการแสดง ซึ่งเป็นซีนที่เวิร์กชอปบ่อยมาก แก้แล้วแก้อีก เคลียร์กันทีละไดอะล็อกเลยว่าพูดทำไม พูดเพราะอะไร มันไม่ใช่แค่สื่อสารกันเอง แต่มันกำลังสื่อสารกับคนดูทั้งหมด 

ตอนที่ถ่ายทำเสร็จคือ เชี่ย พวกพี่แม่งคมว่ะ ผมจะตัดยังไงให้คมเหมือนที่พี่เล่นกันได้วะ” 

รวมไปถึงซีนระเบิดอารมณ์ระหว่างณัฏฐ์และเม้ง (ภัทรพล ทองสุขา รับบท วิโรจน์) ที่ใช้วิธีถ่ายแบบลองเทคยาวเกือบ 2 นาที เป็นอีกซีนที่เมย์รู้สึกทึ่ง เพราะการแสดงที่ดึงพลังกันได้ตลอดเวลา การตัดสลับของสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ ต้องเฉียบคมเพื่อขับเน้นให้คนดูรู้สึกได้ 

เช่นเดียวกับบรรดาซีนชกมวยทั้งหลาย แค่ดูก็รู้สึกถึงหมัดหนัก ๆ ที่ 2 ฝ่ายสาวใส่กันไม่ยั้งมือ แต่ใครจะรู้ว่าความเป็นจริงเจ็บปวดมากกว่านั้น

เบื้องหลัง ‘Hurts Like Hell - เจ็บเจียนตาย’ ซีรีส์ตีแผ่มวยไทยที่ใช้เวลาสร้างนาน 4 ปี และเขียนบทถึง 21 ดราฟต์
เบื้องหลัง ‘Hurts Like Hell - เจ็บเจียนตาย’ ซีรีส์ตีแผ่มวยไทยที่ใช้เวลาสร้างนาน 4 ปี และเขียนบทถึง 21 ดราฟต์

พวกเขาถูกโควิด-19 เล่นงานจนอ่วม พักกองถ่ายไป 8 เดือนจนนักแสดงต้องขอรื้อฟื้นด้วยการเวิร์กชอปใหม่ หลังถ่ายทำกันไปแล้วเกินครึ่ง

บาดแผลใหญ่เกิดขึ้นระหว่าง 8 เดือนที่หายหน้าไปตัดต่อนี้เอง เมื่อพบว่าฉากต่อยมวยบนเวทีทั้งหมดดูเหลาะแหละไม่สมจริง จากการขอให้นักมวยออกหมัดแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อมีแรงถ่ายทำทั้งวันให้ได้

พวกเขาตัดสินใจถ่ายฉากต่อยมวยทั้งหมดใหม่ในปีที่ 3 ของการทำซีรีส์ ใช่ อ่านไม่ผิด

คราวนี้เมย์ขอให้นักมวยออกแรงเพิ่มเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ และเป็นไปได้ก็ขอให้ต่อยหมัด ตีเข่า ฟันศอก กันจริง ๆ จนนักมวยฝ่ายแดงร้องโอด ว่าการถ่ายทำเพื่อความสมจริงวันนี้เหนื่อยยากกว่าการฟิตซ้อมทั้งเดือนเสียอีก 

หัวใจใหญ่กว่าตับ

นึกขอโทษเมย์ในใจที่อาหารบนโต๊ะพร่องลงไม่มาก จากการพูดคุยกันเมามันจนเดินทางมาถึงยกสุดท้ายในที่สุด 

คุณรู้สึกยังไงเวลาคนพูดว่า Hurts Like Hell เป็น Original Series ที่ดีที่สุดของเน็ตฟลิกซ์ไทย – เราแย็บไปอีกทีจากคำชื่นชมที่ได้ยินมาหนาหู 

“ช่วงแรกรู้สึก 2 อย่าง หนึ่ง กลัว สอง ดีใจ 

“ดีใจเพราะมันเป็นหนังเรา แม้มันจะไม่ดีแต่เราได้ฉายแล้ว เหมือนความรู้สึกของการส่งลูกเรียนจบ ขอบคุณทุกอย่างที่สู้มา 4 ปีกว่าจะเสร็จ ทำให้เราใจฟูในการพัฒนาตัวเองในวงการนี้ต่อไป จากที่เคยพยายามเดินเข้าไปหาแสง จากที่เขาเคยยืนหันหลังให้ ตอนนี้เขายืนขึ้นแล้วหยิบกล้องมาหาเรา 

“แต่ก็กลัวว่าที่เขาชมมามันดีจริงใช่ไหม เรารับฟีดแบ็กจากสื่อเยอะมาก แต่เราก็อยากได้ฟีดแบ็กจากคนดูจริง ๆ แม้กระทั่งของคนในวงการมวย จะดีหรือไม่ดีก็ได้นะ เพราะการสะท้อนของคนดูจะทำให้โปรเจกต์ต่อไปดีขึ้น” 

ประสบการณ์คือเชิงมวยที่เมย์ได้จากสังเวียนแรกในวงการภาพยนตร์ พร้อมกับทักษะที่ไม่มีทางเข้าใจด้วยการอ่านในหนังสือ ผ่านการแก้ปัญหาที่ดาหน้าเข้ามาหานักมวยสมัครเล่นอย่างเขา

เราชวนเมย์ย้อนกลับไปตอนต้นของบทสนทนา ว่าเขาใช้เวลาศึกษาเรื่องการทำนาจนเชื่อว่าตัวเองปลูกข้าวเป็น หากเทียบกันหมัดต่อหมัด การคลุกคลีอยู่กับวงการมวยไทยนานหลายปี เราเองก็อยากรู้ว่าผู้ชายคนนี้กำลังอยู่ในยกที่เท่าไรของชีวิต

“เราเพิ่งก้าวขึ้นมาบนเวที และต่อยให้คนดูเห็นว่า เฮ้ย ไอ้คนนี้เชิงมวยแม่งดีว่ะยกแรก แต่จริง ๆ แล้ว เราว่ามันเพิ่งจบไฟต์ที่หนึ่ง 

“นักมวยคนหนึ่งมีไฟต์ต่อเป็นร้อย ๆ นี่คือไฟต์แรกของเราและทีมงาน นี่คือไฟต์แรกที่เราต่อยกัน 5 ยกจนคะแนนมันออกแล้ว ชนะหรือเสมอไม่รู้ขึ้นอยู่กับคนดู เราได้ประสบการณ์จากไฟต์นี้ และไฟต์ต่อไปเราจะเตรียมร่างกาย จะฟิตซ้อมยังไง จะข้ามรุ่นได้ไหม มันคือหลังจากนี้ 

“ขึ้นอยู่กับคนดู เซียนมวย เขาจะตามดูเราต่อไปไหม ส่วนคู่ต่อสู้คนต่อไปของเรา คือเราต้องชนะใจคนดูในไฟต์หน้าให้ได้”

แม้คนไทยบางส่วนจะไม่นิยมชมชอบหนังไทย แต่ความรู้สึกของเราหลังได้รับชมผลงานคนไทย ได้สนทนากับเลือดใหม่ของวงการตรงหน้า และได้ตั้งตารอเสียงลั่นระฆังในไฟต์ต่อไปอย่างมีความหวัง

พาลให้นึกถึงประโยคหนึ่งที่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนังไทยในเวทีโลก เคยกล่าวไว้ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 ทีมงานเบื้องหลังทุกคนทำให้เรายังคงเชื่อมั่นในประโยคเดียวกันนี้ 

Long live cinema 

ภาพยนตร์จงเจริญ

เบื้องหลัง ‘Hurts Like Hell - เจ็บเจียนตาย’ ซีรีส์ตีแผ่มวยไทยที่ใช้เวลาสร้างนาน 4 ปี และเขียนบทถึง 21 ดราฟต์

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล