“I’ll be the last one standing

Two hands in the air, I’m a champion”
คำร้องท่อนแรกแทร็ก The Champion ของ แคร์รี อันเดอร์วูด (Carrie Underwood) ที่ได้ยินเมื่อไหร่ ก็ชวนนึกถึง แชมป์-ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน 

เขามีชื่อเล่นว่า ‘แชมป์’ ตรงตามเนื้อเพลง, เป็นผู้รักษาประตูไทยที่ประสบความสำเร็จมากสุดในประวัติศาสตร์ จากการคว้า 25 โทรฟี่ในระดับสโมสรร่วมกับบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และปัจจุบัน ศิวรักษ์ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ ‘กัปตันทีมชาติไทย’ 

ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน นายประตูสำรองผู้ล้มเหลวซ้ำๆ สู่กัปตันทีมชาติไทยตอนอายุ 37 ปี

เราประหลาดใจไม่น้อย พอรู้ว่าเจ้าตัวเพิ่งผ่านวันคล้ายวันเกิดปีที่ 37 ของตัวเอง เพราะปกตินักเตะอาชีพเมื่ออายุเกิน 35 ปีขึ้นไป มักอยู่ช่วงใกล้ปลดระวาง เนื่องจากสภาพร่างกายโรยราตอบสนองได้ไม่เหมือนวัยหนุ่มสาว ความสามารถก็ตกลงมาจากเดิม 

ในขณะที่นักฟุตบอลรุ่นราวคราวเดียวกับ แชมป์ ศิวรักษ์ รีไทร์เกือบหมดแล้ว เขากลับยืนหยัดอยู่เป็นคนสุดท้าย และรักษามาตรฐานการป้องกันประตูอันยอดเยี่ยมไว้ได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง

นั่นคือความน่าทึ่งของ ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน ที่สัมผัสได้ด้วยสายตา จากมุมมองแฟนบอลที่ติดตามดูเขามานานนับสิบปี กระทั่งบทสนทนาในช่วงบ่ายวันหนึ่ง ได้เปลี่ยนความเข้าใจเราที่มีต่อตัวเขาอย่างสิ้นเชิง 

น้อยคนนักจะรู้ว่า กว่าจะมาเป็น ‘แชมป์’ คนที่ใครก็ต่างอิจฉาในความสำเร็จมากมาย ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน เริ่มต้นเล่นตำแหน่งนี้ จากสถานะนายประตูสำรองมือ 4 มือ 5 ที่ลืมโอกาสลงเฝ้าไปได้เลย 

‘แชมป์’ ผลักดันตัวเองจากโกลปลายแถวที่มักถูกมองข้าม ก้าวมาสู่ผู้รักษาประตูแนวหน้า และผู้นำในสนามของทีมชาติไทยได้อย่างไร 

ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน นายประตูสำรองผู้ล้มเหลวซ้ำๆ สู่กัปตันทีมชาติไทยตอนอายุ 37 ปี
6

“ผมเริ่มต้นเล่นฟุตบอลตอนอายุหกขวบ เล่นมาหมดทุกตำแหน่งยกเว้นประตู ส่วนใหญ่จะยืนเป็นกองหน้า เคยได้รางวัลดาวซัลโวด้วยนะ” เสียงจากปลายสายบอกกับเราถึงจุดเริ่มต้น

“พออายุประมาณสิบสามปี คุณพ่อ (ประสิทธิ์ เทศสูงเนิน) จับผมมาฝึกตำแหน่งผู้รักษาประตู ซึ่งผมไม่ถนัดเลย ฝืนธรรมชาติตัวเองมาก ตอนนั้นไม่เข้าใจพ่อเหมือนกันว่าทำไมตัดสินใจแบบนี้ แต่คิดว่าท่านคงมีเหตุผลของท่าน เพราะท่านเคยเล่นตำแหน่งนี้มาก่อนด้วย ท่านคงสอนผมได้ ผมก็เชื่อฟัง ทำตามที่พ่อบอก ไม่ได้งอแงอะไร”

ลองจินตนาการถึง เด็กชาย ม.1 ที่เล่นเป็นตัวเอาต์ฟิลด์มาเกินครึ่งชีวิต แต่วันหนึ่งกลับถูกคุณพ่อตัวเอง ผู้มีอาชีพเป็นคุณครูและโค้ชฟุตบอลทีมเยาวชนระดับจังหวัด บังคับให้เปลี่ยนมาสวมถุงมือ ยืนจังก้าอยู่หน้าปากประตู 

นี่คือบททดสอบอันยากลำบากด่านแรกของ แชมป์ ศิวรักษ์ แม้มีส่วนสูงที่เหมาะสม และในอดีตคุณพ่อประสิทธิ์ เทศสูงเนิน เคยปลุกปั้น จอห์น-น.อ.กัมปนาท อั้งสูงเนิน จนก้าวไปติดทีมชาติไทยมาแล้ว

“ผมพูดได้เลยว่าที่ตัวเองปรับตัวให้เข้ากับฟุตบอลสมัยใหม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อมองเห็นอนาคต และวางแผนให้ผมเล่นตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เด็ก” ศิวรักษ์ย้อนความหลัง 

“ท่านรู้ว่าในอีกยี่สิบปีข้างหน้า ฟุตบอลไทยจะเป็นอาชีพเต็มตัว ให้ค่าตอบแทนสูง ต่อยอดสร้างเกียรติยศชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูลได้ รวมถึงในอนาคต ฟุตบอลสมัยใหม่ต้องการผู้รักษาประตูที่ใช้เท้าเล่นบอลได้ดีด้วย

“พ่อจึงให้ผมเริ่มต้นเล่นตำแหน่งอื่นก่อน เพื่อฝึกการใช้เท้าไปในตัว และอีกอย่างเพื่อให้ผมเข้าใจธรรมชาติของผู้เล่นแต่ละตำแหน่ง อย่างผมเคยยืนกองหลังมาก่อน พอถูกจับไปยืนประตู ผมก็สั่งการเพื่อนได้ หรือเวลาเจอกับกองหน้าฝ่ายตรงข้าม ผมรู้ว่าธรรมชาติตำแหน่งนี้เป็นอย่างไร นั่นคือข้อได้เปรียบของผม”

แล้วข้อเสียเปรียบสำหรับคนที่เล่นตำแหน่งอื่นมาก่อน แล้วเปลี่ยนมาฝึกเป็นผู้รักษาประตูตอนอายุ 13 ปีล่ะ 

“ผมสู้เด็กคนอื่นไม่ได้เลย ต่างกันราวฟ้ากับดิน อยู่โรงเรียนก็เป็นตัวสำรองไม่ได้ลง ติดทีมฟุตบอลนักเรียนจังหวัดนครราชสีมา ก็เป็นมือสี่ มือห้า เพราะผมเริ่มต้นช้า ถึงแม้จะใช้เท้าดี แต่รับบอลไม่อยู่มือ เบสิกเราแย่มาก ไม่เหมือนคนที่ฝึกตำแหน่งนี้มาตั้งแต่แรก”

ศิวรักษ์ไม่เคยมีส่วนร่วมกับฟุตบอลรายการใหญ่ระดับประเทศเหมือนผู้เล่นทีมชาติไทยส่วนใหญ่ ที่สร้างชื่อมาจากบอลนักเรียน อาทิ กรมพละศึกษา, แชมป์กีฬา 7 สี ฯลฯ แค่เบียดลงสนามเป็นตัวจริงของทีมจังหวัด สำหรับเขาก็ถือว่ายากมากแล้ว 

4 ปีแรกที่เขาเริ่มฝึกเป็นโกล แชมป์ทำได้แค่ซ้อมกับทีมอย่างมีระเบียบวินัย พยายามตั้งใจทำทุกอย่างที่โค้ชสอน แม้สุดท้ายจบลงที่ม้านั่งสำรอง เฝ้ามองเพื่อนๆ ลงสนามในวันแข่งขัน และมันคงน่าเบื่อไม่น้อยสำหรับคนหนุ่มวัย 17 

ตอนนั้นคุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือเปล่าว่า บางทีคุณอาจไม่เหมาะกับตำแหน่งนี้ 

ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน นายประตูสำรองผู้ล้มเหลวซ้ำๆ สู่กัปตันทีมชาติไทยตอนอายุ 37 ปี

“ผมพยายามมาถึงขนาดนี้แล้ว หันหลังกลับไปคงไม่ได้ ทุกวันผมคิดแค่ว่า ออกไปซ้อมบอลเพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ยังไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องทีมชาติหรอก เอาแค่เก่งพอที่จะเล่นให้ทีมจังหวัด หรือในอนาคต ความฝันสูงสุดเลยคือ อยากต่อยอดไปเล่นไทยลีกสักครั้งก็คงดี”

สมัยวัยรุ่น แชมป์ ศิวรักษ์ ชอบอ่านหนังสือพิมพ์กีฬารายวันและรายสัปดาห์มาก แทบไม่เคยพลาดเลยสักเล่ม คอลัมน์ที่เจ้าตัวชอบมากคือ บทความแนะนำนักฟุตบอลดาวรุ่งอายุน้อย แม้คนเหล่านั้นจะมีอายุอานามใกล้เคียงกับเขาเอง แต่เจ้าตัวก็รู้สึกชื่นชมในความเก่งของเด็กรุ่นเดียวกันอยู่ดี 

วันหนึ่งที่ดูแสนธรรมดา สายตาของนักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เหลือบไปเห็นกรอบเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์กีฬาที่เขาซื้อมา ใจความบอกว่า ทีมนักเรียนไทย รุ่นอายุ 18 ปี เตรียมเปิดคัดตัวเยาวชน เพื่อรวมทีมไปแข่งศึกชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศมาเลเซีย 

“ผมไม่เคยเข้ากรุงเทพฯ มาก่อนในชีวิต แต่อยากไปคัดตัวมาก ผมหยิบหนังสือพิมพ์ไปให้พ่อดู ขอให้พ่อพาไปคัดหน่อย พ่อจึงพาผมนั่งรถบัสจากโคราชไปส่งที่กรุงเทพฯ จากนั้นพาไปฝากกับเพื่อนพ่อ ซึ่งทำงานออฟฟิศอยู่ในห้องใต้สนามศุภชลาศัย

“ด้วยความที่การคัดตัวใช้เวลาหลายวัน ผมไม่ได้มีเงินติดตัวมากมาย ไม่รู้จักใครในกรุงเทพฯ จึงขออาศัยนอนใต้โต๊ะทำงานของเพื่อนพ่อทุกวัน พอตอนเช้าได้เวลามีคนเข้ามาทำงาน ผมก็ตื่นออกไปข้างนอก หานอนตามใต้ต้นไม้ บนอัฒจันทร์บ้าง เพื่อรอเวลาช่วงเย็นที่เขาเรียกซ้อม”

5

ท่ามกลางเด็กนับร้อยชีวิตที่แบกความฝันมาคัดตัว ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน เล่าว่าเขารับรู้ได้ทันทีเลยว่า ฝีมือตัวเองคงไม่อาจสู้กับผู้รักษาประตูคนอื่นได้ เขาจึงเสนอตัวเป็น ‘ลูกหาบ’ คอยช่วยงานเหล่าสตาฟโค้ชที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน ทั้งยืนกลางแดดเก็บลูกบอล ยกน้ำ วิ่งไปซื้อของ ตลอดจนช่วยเก็บอุปกรณ์

คุณทำแบบนั้นทำไม 

“ก็คงอารมณ์เด็กบ้านนอกเข้ากรุงครั้งแรกที่อยากติดทีมชาติไทย ตอนนั้นฝีมือผมอยู่ปลายแถวมาก โกลคนอื่นที่มาคัดเขาเบสิกดีทั้งนั้น

“ผมพยายามทำให้โค้ชเห็นว่า ผมมาที่นี่ด้วยความตั้งใจจริง วันแรกที่มาคัดตัว ผมอาสาขอโค้ชช่วยเก็บบอล เขาเรียกใช้ให้ทำอะไร ผมทำหมด จน อาจารย์ปรีชาพัฒน์ ประยุทธ์เรืองกิจ (หนึ่งในทีมสตาฟโค้ช) ท่านคงสงสารผม ทุกวันหลังการคัดตัวเสร็จสิ้น ท่านจะเรียกผมมาติวพิเศษคนเดียว”

คงเป็นเพราะความขยัน ตั้งใจ ที่เขาแสดงออกมากกว่าใคร จึงทำให้ ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน ถูกเรียกติดทีมนักเรียนไทย รุ่นอายุ 18 ปี ในฐานะผู้รักษาประตูสแตนด์บาย มือ 4 ทั้งที่ความจริงสตาฟโค้ชไม่จำเป็นต้องเรียกเขาไปร่วมทีมก็ได้ เพราะถึงเอาไปก็ส่งชื่อลงแข่งขันไม่ได้อยู่ดี (ลงทะเบียนผู้รักษาประตูได้แค่ 3 คน)

“โค้ชคงเมตตา เห็นผมขยัน จึงอยากให้ผมได้ไปลองหาประสบการณ์ร่วมกันกับทีม แม้ผมจะไม่มีชื่อในรายการนั้นเลย แต่การติดทีมนักเรียนไทยครั้งแรก มันจุดประกายให้ผมอยากพัฒนาตัวเอง เพื่อสักวันหนึ่งจะได้ลงเล่นให้ทีมชาติไทย

“ปีนั้นผมกลับไปซ้อมหนักกว่าเดิมอีก ตั้งใจว่าเดี๋ยวพออายุสิบแปดปีจะมาคัดตัว (ทีมนักเรียนไทย) อีก หนึ่งปีผ่านไป ผมอายุสิบแปดปี ตัดสินใจกลับมาคัดอีกครั้ง คราวนี้ได้ติดทีมนักเรียนไทย เป็นหนึ่งในสามผู้รักษาประตู” 

 ชีวิตของนายประตูสำรองที่ปาบอลใส่ผนังเป็นหมื่นๆ ครั้ง กว่าจะได้สวมปลอกแขน เดินนำนักเตะทีมชาติไทยลงสู่สนาม

ครั้งนี้คุณได้ลงสนามเป็นตัวจริงไหม 

“เปล่า ผมก็ยังเป็นตัวสำรองอยู่ดี ไม่ได้เล่นเลย” เขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

บทเรียนจากการไม่ได้ลงสนามตัวจริงถึง 2 ทัวร์นาเมนต์ ทำให้ศิวรักษ์มองเห็นจุดบกพร่องของตัวเองชัดยิ่งกว่าเดิม เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน เขาจึงกลับบ้านเกิดไป เพื่อฝึกทักษะพื้นฐานของผู้รักษาประตูเพียงอย่างเดียว

“ผมคิดว่าการยืนตำแหน่ง การใช้เท้า จังหวะเซฟลูกยาก ผมทำได้ดีกว่าคนอื่น แต่ที่เราไม่ถูกเลือก เป็นเพราะพื้นฐานเราสู้คนอื่นไม่ได้ ปีนั้นผมซ้อมแต่เบสิกอย่างเดียว อยู่บ้านก็ทุ่มบอลใส่กำแพง เซ็ตละสองสามร้อยครั้ง ฝึกคนเดียวด้วยตัวเอง ทำท่าเดิมซ้ำๆ จนกว่าจะรับเข้าซองไม่หลุดมือ

“ผมทำแบบนี้ทุกวัน ทำมาไม่รู้กี่พันกี่หมื่นครั้ง พอลองเอาไปใช้สนามซ้อม เราเล่นได้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะพื้นฐานเราแน่นขึ้น ปัจจุบันผมอายุสามสิบเจ็ดปีแล้ว ก็ยังซ้อมปาบอลใส่ผนังอยู่คนเดียว ไม่เชื่อก็ลองถามคนรู้จักผมได้เลย”

 ชีวิตของนายประตูสำรองที่ปาบอลใส่ผนังเป็นหมื่นๆ ครั้ง กว่าจะได้สวมปลอกแขน เดินนำนักเตะทีมชาติไทยลงสู่สนาม
4

“It’s all about who wants it the most”

ไม่มีผู้รักษาประตูคนไหนในโลกปรารถนาเป็นตัวสำรองตลอดไป เพราะความโหดร้ายของตำแหน่งนี้คือ ถ้าไม่เป็นตัวจริง โอกาสลงสนามในเกมนั้นแทบเป็นศูนย์เลย ต่างจากผู้เล่นตำแหน่งอื่นที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนได้ตลอดเวลา 

แม้ในวัย 19 ปี ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน จะคุ้นชินกับเก้าอี้สำรองมากกว่ายืนเฝ้าพื้นที่หน้าปากประตู มักถูกมองข้ามมากกว่าได้รับเลือก แต่เขาไม่เคยละทิ้งความเชื่อมั่นว่า สักวันหนึ่งตัวเองต้องเป็นเบอร์หนึ่งให้ได้ 

อาจารย์วิสูตร วิชายา ติดต่อมาทางพ่อ ถามว่าอยากให้ผมไปอยู่กับทีมสโมสรธนาคารกรุงเทพไหม เขากำลังมองหาประตูมือสามมือสี่ที่เป็นเยาวชน มาเป็นลูกหม้อ เพราะโค้ชเห็นผมมีดีกรีเคยติดทีมนักเรียนไทยชุดสิบแปดปี”

เหมือนเสียงสวรรค์ที่เขารอคอย ศิวรักษ์ไม่ลังเลที่จะออกจากบ้านเกิดมาอยู่เมืองกรุงเพียงลำพัง แลกกับเงินเดือน 6,000 บาท

ธนาคารกรุงเทพในไทยลีกยุคนั้นจัดเป็นสโมสรทุนหนา มีขุมกำลังผู้เล่นชั้นดีเต็มทีม เฉพาะแค่ตำแหน่งผู้รักษาประตู มีทั้ง สมเกียรติ ปัสสาจันทร์ และ วัชรพงษ์ กล้าหาญ สองโกลฝีมือระดับแถวหน้าของเมืองไทยซึ่งขับเคี่ยวแย่งชิงมือหนึ่ง

ขณะที่ ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน เป็นเพียงเด็กหนุ่มวัย 19 ปี ได้ซ้อมกับร่วมกับรุ่นพี่ภายในทีมชุดใหญ่ แต่คงไม่กล้าไปฝากความหวังหรือคิดว่าเขาจะเบียดสมเกียรติกับวัชรพงษ์ ให้ไปนั่งสำรองดูเขาลงเฝ้าเสาได้หรอก

“พวกพี่ๆ (สมเกียรติ ปัสสาจันทร์, วัชรพงษ์ กล้าหาญ) เขาเก่งมากจริงๆ” ศิวรักษ์เอ่ยปากถึงสองอดีตรุ่นพี่ในทีมบัวหลวง 

 ชีวิตของนายประตูสำรองที่ปาบอลใส่ผนังเป็นหมื่นๆ ครั้ง กว่าจะได้สวมปลอกแขน เดินนำนักเตะทีมชาติไทยลงสู่สนาม

“ผมพยายามก๊อปทุกอย่างที่พี่เกียรติและพี่อ้วน (วัชรพงษ์) ทำตอนอยู่ในสนามซ้อม อยากรู้อะไรผมถามหมด ไม่เคยอาย เช่น ผมถามพี่เกียรติว่า ทำไมพี่ถึงลุกเร็ว แกบอกให้ผมลองล้มแบบทำท่าหงายหลังกับคว่ำหลังลุก อ๋อ ผมถึงได้เข้าใจว่าทำไมแกถึงเซฟท่านี้ เพราะนับตั้งแต่นั้นมา ผมไม่เคยหงายหลังรับบอลอีกเลย

“ผมถามพี่อ้วนว่า ทำไมถึงออกไปรับลูกเปิดด้านข้างได้ดีจัง ทั้งที่แกตัวเล็กกว่าผมมาก พี่อ้วนก็สอนว่า เราต้องไปถึงจุดที่บอลจะตกก่อน เพื่อชิงความได้เปรียบ ไม่ใช่รอบอลมาใกล้ถึงแล้วค่อยกระโดดไป บางทีมันไม่ทัน ซึ่งก็จริงอย่างที่แกสอน”

สัมผัสแรกในฟุตบอลอาชีพนัดแรกของ แชมป์ ศิวรักษ์ มาเร็วกว่าที่เขาคิด เนื่องจากสโมสรธนาคารกรุงเทพ เปิดฤดูกาล 2003 ด้วยผลงานสะดุดแพ้หลายเกม วิสูตร วิชายา จึงตัดสินใจทดลองส่งมือโกลคนหนุ่มที่รอ ‘โอกาส’ พิสูจน์ตัวเองมาทั้งชีวิต

เหมือนฉากของพระเอกในซีรีส์เกาหลีไม่มีผิด เกมนัดดังกล่าว ศิวรักษ์ใช้ทั้งมือและเท้าช่วยเซฟ มีส่วนสำคัญในการพาทีมคว้าชัยชนะ 1 – 0 พร้อมกับถูกเลือกให้เป็นแมน ออฟ เดอะแมตช์ หลังจากนั้น ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน สามารถยึดตำแหน่งมือหนึ่งสโมสรธนาคารกรุงเทพมาต่อเนื่อง 4 ซีซั่น ก่อนย้ายไปอยู่ทีมที่ใหญ่กว่าอย่างบีอีซี เทโรศาสน ใน ค.ศ. 2008 

สิ่งที่เราสนใจคือ คุณให้กำลังใจหรือบอกกับตัวเองอย่างไรในวันที่มีสถานะเป็นแค่ตัวสำรอง ผมชวนเขาย้อนความหลัง 

“อย่างแรกคือ เราต้องยอมรับความจริงว่าฝีมือยังสู้เขาไม่ได้ แสดงว่าประตูตัวจริงเขาต้องมีอะไรที่ดีกว่าเรา เราก็ต้องพยายามให้มากกว่าเดิม พัฒนาตัวเองต่อไป แต่อันดับแรกต้องกล้ายอมรับความจริงให้ได้ก่อนว่าเรายังดีไม่พอ

“ถ้าเรามัวแต่ปิดกั้น คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว เราก็จะอยู่กับที่ อย่าลืมว่าฟุตบอลมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อาชีพผู้รักษาประตูไม่มีหรอกครับ ไม่โดนยิง ยังไงก็ต้องเสียประตูอยู่แล้ว

“ฉะนั้น เราต้องเต็มที่กับการฝึกซ้อมทุกมื้อ เผื่อเวลาโดนคู่แข่งยิงเข้า เราก็จะไม่ต้องมานั่งเสียใจว่า กูทำเต็มที่ยังวะ อ๋อ ลูกนี้ เราเสียประตูเพราะเซฟไม่ได้จริงๆ งั้นไม่เป็นไร เอาใหม่”

 ชีวิตของนายประตูสำรองที่ปาบอลใส่ผนังเป็นหมื่นๆ ครั้ง กว่าจะได้สวมปลอกแขน เดินนำนักเตะทีมชาติไทยลงสู่สนาม
3

เชื่อหรือไม่ ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน ก่อนจะได้โทรฟี่ 25 แชมป์ (ไทยลีก 6 สมัย, เอฟเอ คัพ 4 สมัย, โตโยต้า ลีกคัพ 5 สมัย, ไทยแลนด์ แชมเปี้ยน คัพ 1 สมัย, โตโยต้า พรีเมียร์ คัพ 3 สมัย, แม่โขง คลับ แชมเปี้ยนชิพ 2 สมัย, ฟุตบอลพระราชทานถ้วย ก. 4 สมัย) ครั้งหนึ่ง เขาเคยมือเปล่าไร้ความสำเร็จในระดับสโมสร ทั้งตอนที่ค้าแข้งกับสโมสรธนาคารกรุงเทพและบีอีซี เทโรศาสน จนอายุล่วงเลยเข้าสู่วัย 27 ปี

“ตั้งแต่เริ่มต้นเล่นกับธนาคารกรุงเทพ ผมคิดมาเสมอว่าทำอย่างไรถึงช่วยให้ทีมเป็นแชมป์ แต่หน้าที่ของผมทำได้เพียงช่วยให้ทีมเสียประตูน้อยสุด อย่างน้อยถ้าเราไม่โดนยิง ทีมก็มีโอกาสได้หนึ่งแต้มเป็นอย่างต่ำ ผมจึงฝึกฝนตัวเองอย่างหนักในทุกปี

“ผมไม่เคยลงสนามด้วยเป้าหมายว่า ปีนี้ฉันอยากช่วยให้ทีมติดท็อปทรี สมมติฤดูกาลหนึ่งมีสามสิบนัด ผมบอกกับตัวเองก่อนลงสนามทุกนัด ตั้งแต่เกมแรกของฤดูกาลว่าต้องได้แชมป์นะ ต้องเป็นจ่าฝูงให้ได้ พอไม่ได้ตามที่หวังไว้ ก็มีผิดหวังเป็นธรรมดา แต่อย่างน้อยมันทำให้เรารู้ว่า ณ ตอนนั้น เรายังดีไม่พอ ปีหน้าต้องทำให้ดีกว่าเดิม”

ในฤดูกาล 2010 สโมสรบุรีรัมย์ พีอีเอ (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน) ทีมหน้าใหม่ตัดสินใจดึงตัว แชมป์ ศิวรักษ์ ไปเป็นส่วนหนึ่งเพื่อไล่ล่าถ้วยรางวัล เขาตอบรับข้อเสนอนั้น เพราะสโมสรแห่งนี้เปี่ยมไปด้วยแรงกระหายอยากประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับตัวเขาที่โหยหา รอคอยมันมานานแสนนาน 

ส่วนเรื่องราวหลังจากนั้นน่ะเหรอ ก็คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการลูกหนังไทยไงล่ะ! 

 ชีวิตของนายประตูสำรองที่ปาบอลใส่ผนังเป็นหมื่นๆ ครั้ง กว่าจะได้สวมปลอกแขน เดินนำนักเตะทีมชาติไทยลงสู่สนาม
2

“ชีวิตผมมันธรรมดามากเลยนะ” 

เขาเกริ่นถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง แม้ปัจจุบันจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างมาก ในฐานะกัปตันทีมชาติไทย

“ผมตื่นเช้าออกกำลังกาย เข้ายิม ซ้อมคนเดียว ครอบครัวจะได้เห็นผมอีกทีก็ตอนเกือบเที่ยง เพราะผมออกไปตั้งแต่เช้าตรู่ ทำแบบนี้ตลอด ตกเย็นไปซ้อมฟุตบอล ช่วงว่างระหว่างนั้นก็มีดูแลธุรกิจบ้าง หากเว้นว่างจากการทำงาน ผมก็อยู่บ้านกับลูก ภรรยา ไม่ได้มีชีวิตหวือหวาอะไร”

หากศิวรักษ์บอกว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่คือความธรรมดา คงเป็นความธรรมดาที่แสนพิเศษ ไม่อย่างนั้นเราคงเห็นนักฟุตบอลอายุ 37 ปี ยืนระยะอยู่ในเกมระดับสูงเต็มไปหมด 

ยิ่งคุณประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ พอถึงช่วงวัยหนึ่งก็อาจรู้สึกถึงจุดอิ่มตัว หมดความกระหาย ไม่แปลกเลยหากใครหลายคนจะบอกลาอาชีพนักฟุตบอล ตอนอายุเท่ากันหรือน้อยกว่า ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน 

คุณมีวิธีรักษามาตรฐานการเล่น สภาพร่างกาย และระดับของแรงจูงใจได้อย่างไร ในเมื่อผ่านการคว้าแชมป์ทุกรายการภายในประเทศ 

 ชีวิตของนายประตูสำรองที่ปาบอลใส่ผนังเป็นหมื่นๆ ครั้ง กว่าจะได้สวมปลอกแขน เดินนำนักเตะทีมชาติไทยลงสู่สนาม

“ผมยังพัฒนาตัวเองไปได้อีกไง ผมไม่เชื่อว่าคนเราแก่เกินจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ยกตัวอย่าง เอ็ดวิน ฟาน เดอซาร์ (Edwin van der Sar-อดีตผู้รักษาประตูสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ได้แชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก สมัยที่สอง ตอนอายุ 38 ปี) เขาก็ยังรักษาฟอร์มพีกจนถึงอายุสามสิบเก้าสี่สิบปี ผมจึงเชื่อว่าถ้าเราดูแลตัวเองดี เราสามารถยืนระยะการเล่นกีฬาไปถึงอายุสี่สิบปีได้แน่นอน

“ผมเข้มงวดตั้งแต่อาหาร เพราะบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เคยส่งผมไปฝึกฟุตบอลกับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ที่นั่นทำให้ผมเห็นว่านักฟุตบอลระดับโลกเขาดูแลตัวเองอย่างไร พอเดินทางกลับไป ผมก็ศึกษาหาข้อมูลงานวิจัย เพื่อหาคำตอบว่านักกีฬาวัยอย่างผม ควรกินอะไรถึงจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด ผมจริงจังถึงขั้นนั้นเลยนะ

“ผมเป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ อยู่แล้ว หลังจากนั้นก็ปรับอาหารการกิน ผมไม่กินของมัน ของทอด แม้แต่ไข่ผมก็ไม่กินแบบทอดน้ำมัน กินแบบไข่ต้มแทน ผมรับประทานผัก ผลไม้ เป็นหลัก เสริมด้วยธัญพืชและถั่ว ส่วนแป้งและขนม ผมกินน้อยมาก ขนาดกาแฟผมยังไม่ใส่น้ำตาลเลย ผมกินแบบนี้มาหลายปีแล้ว ผลลัพธ์คือไขมันในร่างกายผมน้อยกว่าเกณฑ์ทั่วไป ซ้อมฟุตบอลได้นานขึ้น ระบบขับถ่าย ระบบเผาผลาญ ในร่างกายทำงานได้ดี

“มันสำคัญมากต่อตัวผม เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ผมยิ่งซ้อมหนักขึ้นกว่าเดิม จากเคยซ้อมเช้า-เย็น มื้อละหนึ่ง ชั่วโมง ก็เพิ่มเวลาเป็นมื้อละหนึ่งชั่วโมงยี่สิบนาที แต่ผมยังไหวอยู่ เพราะเลือกกินแต่ของมีประโยชน์ และให้พลังงานเพียงพอ

“ดังนั้น ทุกคนเก่งขึ้นได้ ไม่เกี่ยวหรอกคุณอายุเท่าไหร่ สมมติคุณอายุสี่สิบ ห้าสิบปี ถ้าคุณไม่เคยขี่มอเตอร์ไซค์มาก่อนในชีวิต แต่พยายามหัดทุกวัน ยังไงวันหนึ่งก็ต้องขี่ได้อยู่แล้ว เหมือนกันเลย นักฟุตบอลยิ่งซ้อมเยอะยิ่งเก่ง เว้นเสียแต่ว่า คุณไม่เอาจริงเอาจังกับมันมากพอ แค่นั้นเอง”

 ชีวิตของนายประตูสำรองที่ปาบอลใส่ผนังเป็นหมื่นๆ ครั้ง กว่าจะได้สวมปลอกแขน เดินนำนักเตะทีมชาติไทยลงสู่สนาม
1

“I’ve been waiting my whole life

To see my name in lights”

ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน ถูกเรียกตัวติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรกตอนอายุ 20 ปี แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา เขามีสถานะเป็นเพียงแค่ตัวสำรองอดทน ที่อาจได้รับโอกาสเป็นครั้งคราว แต่ไม่ใช่มือ 1 ตัวจริง

แม้เขาจะประสบความสำเร็จกับสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้รางวัลเกียรติยศส่วนตัวมากมายแค่ไหน แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่ถูกเลือกเป็นคนแรกของทัพช้างศึกอยู่ดี 

อายุของแชมป์ในตอนนั้นกำลังเข้าสู่วัย 35 ปี ซึ่งในทางปฏิบัติดูไปได้ยากเหลือเกินที่จะเบียดแย่งชิงมือหนึ่งมาได้

ผมถามเขาว่าทำไมคุณถึงยังไม่ถอดใจเลิกเล่นทีมชาติไทย เพราะ 14 – 15 ปีที่ผ่านมา คุณเหมือนเหนื่อยฟรี เป็นได้แค่เพียงมือ 2 – 3 ของทีม 

 ชีวิตของนายประตูสำรองที่ปาบอลใส่ผนังเป็นหมื่นๆ ครั้ง กว่าจะได้สวมปลอกแขน เดินนำนักเตะทีมชาติไทยลงสู่สนาม

“ผมบริสุทธิ์ใจอยากช่วยชาติ ไม่ว่าสถานะใดก็ตาม ทุกครั้งที่มีชื่อ ผมถือว่านี่คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ของตัวผม เพราะคนเรามีโอกาสได้ติดธงแค่ช่วงชีวิตที่เล่นฟุตบอลเท่านั้น

“ทุกครั้งที่มีประกาศรายชื่อทีมชาติไทย ผมยังลุ้นและตื่นเต้นเสมอ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ผมคิดว่ายิ่งเรามีประตูเก่งๆ ติดมามากเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลดีต่อทีมชาติ ผมคิดถึงผลการแข่งขันเป็นหลัก ใครจะลงเป็นประตูตัวจริงก็ได้ ไม่เป็นไร เราส่งกำลังใจให้เขาข้างสนาม ขอให้ทำหน้าที่ให้ดี เพื่อให้ทีมชาติไทยชนะ

“ส่วนตัวผม ถ้าตอนนี้ยังไม่ได้รับโอกาส ก็คงต้องกลับไปฝึกซ้อมให้มากกว่าเดิมในวันข้างหน้า บางทีการที่ผมไม่ได้เป็นมือหนึ่งทีมชาติมานานหลายปี ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมอยากพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อสักวันจะได้มีโอกาสนั้น ผมภูมิใจเสมอเวลาสวมเสื้อทีมชาติไทย”

ความพยายามของ ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน ในที่สุดก็ไม่สูญเปล่า เพราะหัวหน้าผู้ฝึกสอนทัพช้างศึกคนปัจจุบัน อากิระ นิชิโนะ (Akira Nishino) ตัดสินใจเลือกผู้รักษาประตูจอมเก๋า ทำหน้าที่เป็น ‘กัปตันทีมชาติไทย’

คงไม่ต้องบรรยายว่าเขาภาคภูมิใจกับบทบาทนี้มากแค่ไหน สำหรับคนที่รอโอกาสมาทั้งชีวิต จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้รับเกียรติให้สวมปลอกแขน เดินนำนักเตะทีมชาติไทยลงสู่สนาม 

“มันคงเป็นผลของความพยายามที่ผมพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ยอมอดทนซ้อมเยอะแบบไม่กลัวเหนื่อย ผมมั่นใจแม้กระทั่งปัจจุบัน ผมก็ยังคงซ้อมหนักอยู่ และน่าจะเป็นผู้รักษาประตูที่ซ้อมพิเศษมากกว่าใครๆ”

ชีวิตของ ‘ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน’ นายประตูสำรองที่ปาบอลใส่ผนังเป็นหมื่นๆ ครั้ง กว่าจะได้สวมปลอกแขน เดินนำนักเตะทีมชาติไทยลงสู่สนาม

ติดตามข่าวเคลื่อนไหวของฟุตบอลทีมชาติไทย ได้ทาง Facebook : ช้างศึก

Writer

Avatar

อลงกต เดือนคล้อย

เจ้าของเพจ alongwrite และบรรณาธิการบทสัมภาษณ์แห่ง Main Stand

Photographer

Avatar

ศุภกิตติ์ วิเศษอนุพงศ์

ช่างภาพประจำทีมชาติไทยชุดใหญ่ ที่ได้รับโอกาสติดตามทีมมาตั้งแต่ปี 2016