ครั้นสิ้นสุดบทสนทนาอันยาวนานกับ เกม-สิทธิโชค ศรีโช บนโต๊ะกินข้าวที่ลานตาไปด้วยอาหารที่เขาออกแบบมาเพื่อเราโดยเฉพาะ เราคิดอยู่นานว่าจะนิยามตัวชาวขอนแก่นรายนี้ว่าอย่างไรให้ครอบคลุมตัวตนและสิ่งที่เขาทำมาทั้งหมด
เขาเคยเป็นนักศึกษานิเทศศิลป์ที่หลงใหลใน Cookbook มากกว่าตำราออกแบบ
เคยเป็นเด็กจบใหม่ที่พกช้อนทองเหลืองติดตัว เพราะฝันอยากเป็นนักชิมมืออาชีพ
เคยเป็นบรรณาธิการด้านอาหารของนิตยสาร Health & Cuisine อันเลื่องชื่อในวันวาน
เคยเป็นคนเขียนสคริปต์รายการอาหารที่มีคนดูแตะหลักแสนเพียงชั่วข้ามคืน
เคยเป็นนักออกแบบอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของน้อง ๆ เด็กนักเรียน
และกำลังเป็นยูทูบเบอร์ที่นำเสนอเรื่องราวของอาหารอีสานเมนูต่าง ๆ อย่างเจาะลึก ถึงขั้นพาไปชมแหล่งผลิตวัตถุดิบในแต่ละจาน
เชิญคุณผู้อ่านกลั้นน้ำลายไว้อย่าให้สอ แล้วไปอ่านเรื่องราวชีวิตที่หอมกรุ่นด้วยกลิ่นของอร่อยของ ‘กูรูอาหาร’ แห่งเมืองดอกคูนกันเถอะ

คนบ้านไผ่
“บ้านไผ่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีของกินอร่อยครับ คนจากหลาย ๆ อำเภอเข้ามาที่บ้านไผ่ก็เพื่อมาหาซื้อของกิน” เกมให้คำจำกัดความบ้านเกิดของตนเอง
“ที่นี่อยู่ห่างจากตัวเมืองมา 44 กิโลเมตร เป็นจุดความเจริญจุดแรก ๆ ของจังหวัดขอนแก่น เพราะมีรถไฟจากภาคกลางเชื่อมความเจริญมาถึง สมัยก่อนบ้านไผ่เป็นแค่เมืองเล็ก ๆ เมื่อรถไฟผ่านก็เกิดการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนเข้ามา เช่น คนจีน คนโคราช บ้านไผ่จึงค่อย ๆ พัฒนาจากกิ่งอำเภอเป็นอำเภอในที่สุด”

ความเจริญของอำเภอบ้านไผ่ที่เกมลืมตาดูโลก พิสูจน์ได้จากการมีโรงหนังถึง 3 แห่งในอำเภอเดียว มีห้างสรรพสินค้าซึ่งภายในมีลานสเก็ต และยังมีเหลาหรือภัตตาคารจีนหลายแห่ง
“ร้านอาหารร้านไหนที่คนเขาว่ามันอร่อยและพอจะพาไปได้ ยาย ตา หรือพ่อแม่ก็จะพาเราไปกิน ส่วนใหญ่ก็เป็นเหลาจีน เราได้กินผัดโป๊ยเซียน หอยจ๊อ กระเพาะปลา ไม่ก็ข้าวผัด นอกจากอาหารจีน ก็ยังมีร้านไอศกรีมโฮมเมดที่คนจีนมาทำ มีร้านขายเค้กของคนจีนสมัยก่อนที่บีบหน้าเป็นรูปกุหลาบ มีรอยัลไอซิ่ง ที่ตอนเด็ก ๆ ตื่นตาตื่นใจ อีกครั้งหนึ่งที่เป็นประสบการณ์ชีวิต คือครั้งแรกที่ได้กินข้าวผัดอเมริกันในร้านที่ขายอาหารแนวฝรั่ง กลับมาแล้วอาเจียนเลย เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้กินข้าวที่เอาไปผัดกับเนย
“อาหารเฉพาะตัวของบ้านไผ่ก็มีเยอะนะครับ มีคำกล่าวว่า “ใครมาบ้านไผ่แล้วไม่กินกุนเชียงก็เหมือนยังไม่มาบ้านไผ่” สมัยเด็ก ๆ เราเรียกมันว่า ‘หมูหวาน’ แล้วพอมาเจอหมูหวานในกรุงเทพฯ ก็งงว่าทำไมมันไม่เหมือนหมูหวานที่บ้านเรา หรืออย่างกวยจั๊บบ้านไผ่ก็จะเป็นกวยจั๊บเส้นใหญ่ ไม่เหมือนของอุบลฯ ที่เป็นเส้นเล็ก เจอเพื่อนสมัยเรียนมหาลัยเป็นคนอุบลฯ ก็เถียงกันเป็นบ้าเป็นหลังเลยว่า กวยจั๊บของจริงมันต้องเป็นเส้นใหญ่หรือเส้นเล็ก แล้วยังมีผัดไทยใส่ซอสเย็นตาโฟ ใส่หมู ใส่เต้าเจี้ยว วิธีการปรุงคล้าย ๆ หมี่โคราช เพราะคนขายย้ายมาจากโคราช เราเรียกมันว่าผัดไทยสีชมพู ถ้าเป็นคนภาคกลางคงไม่เรียกสิ่งนี้ว่าผัดไทย (ยิ้ม)”

ครอบ-ครัว
ไม่เพียงเกิดมาในท้องถิ่นที่ลือชาด้านของกินเท่านั้น ครอบครัวของเกมยังให้ความสำคัญกับอาหารและการกินอย่างยิ่งยวด นำโดยญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นเสมือนประมุขของบ้านอย่างคุณยาย
ยายของเกมเคยเป็นแม่ค้าขายกับข้าว บ้านที่เขาอยู่เป็นบ้านหลังใหญ่ที่สมาชิกนับสิบชีวิต ความเป็นผู้อาวุโสประจำครอบครัวประกอบกับอาชีพดั้งเดิม ส่งผลให้ยายใส่ใจเรื่องปากท้องของคนในบ้านเป็นพิเศษ
“สมัยก่อนครอบครัวเราจะอยู่รวมกันเป็นบ้านใหญ่ กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดในแต่ละวันคือการทำอาหาร พวกพี่ ๆ ผู้หญิงเขาถูกยายกวดขันให้ต้องเข้าครัว ไปหัดทำกับข้าวตามค่านิยมคนไทยสมัยก่อน ส่วนเราเขาก็ปล่อยให้วิ่งเล่น เราก็ชอบวิ่งเข้าไปเล่นในครัว เพราะเราไม่ได้ถูกกดดันเหมือนพวกพี่สาว ห้องครัวที่บ้านเลยเป็นพื้นที่สนุกของเรา (หัวเราะ)
“ยายเป็นคนจ่ายตลาดวันละหลายรอบ จ่ายตลาดเช้าแล้วยังจ่ายตลาดเย็นด้วย เวลากลับมาทำอาหาร ยายจะตั้งอาหารเป็นสำรับ ภาษาอีสานเรียกว่า ‘พา’ ในพาข้าวที่บ้านจะมีอาหารหลากหลาย เขาต้องทำอาหารเลี้ยงให้เพียงพอกับคนทั้งหมด เราเลยไปช่วยยายหิ้วของที่ตลาดบ้าง เลยทำให้เราได้ใกล้ชิดอาหาร”
เปลี่ยนจากวิ่งเล่นมายืนหน้าเตา
“เราเริ่มทำอาหารครั้งแรกแบบสนุก ๆ ตอนอยู่อนุบาล อาหารหลักที่บ้านเรากินกันคือส้มตำ ความที่บ้านมีคนอยู่เยอะมาก ยายก็จะเตรียมเครื่องไว้เลย ใครอยากกินก็ตำเอาเอง นั่นคือการทดลองทำอาหารครั้งแรก” เกมย้อนระลึกถึงครั้งแรกในชีวิตที่พลิกบทบาทจาก ‘ผู้กิน’ มาเป็น ‘ผู้ทำ’
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นในช่วงที่เขาเรียนชั้นประถม เมื่อพ่อกับแม่เลือกย้ายออกมาจากบ้านใหญ่ของยายมาสร้างบ้านของครอบครัวตัวเอง และเลือกปลูกฝังวิชางานบ้านงานเรือนให้ลูกชายลูกสาวอย่างเท่าเทียมกัน
“แม่เรามีแรงกดดันในตอนเด็ก คือเขาเป็นลูกสาวคนโตและเป็นคนไทยที่ต้องทำทุกอย่างในบ้าน เขาเลยมีความคิดว่าเกิดเป็นคนไม่ว่าเพศไหน ถ้ากินเป็นก็ต้องทำเป็น ถ้าใช้เสื้อผ้าได้ คุณก็ต้องซักเสื้อผ้าได้”
ด้วยความคิดนั้น ลูกชายอย่างเกมจึงถูกสั่งสอนให้ฝึกทำกับข้าวด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง ในช่วงแรกแม่ซึ่งเป็นครูก็สอนทำเมนูง่าย ๆ ให้ อย่างไข่ดาว ไข่เจียว หรือ ‘หมูเค็ม’ ตามคำเรียกของคนบ้านไผ่ ซึ่งหมายถึงหมูรวนซีอิ๊วดำ เหยาะน้ำตาลกับซอสหรือน้ำปลาสักเล็กน้อย
แต่นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของความรักที่เด็กน้อยคนหนึ่งมีต่อชีวิตการทำครัว เมื่อขึ้นชั้น ป.3 เกมเริ่มทำกับข้าวด้วยตัวเองคล่องแล้ว ไม่ว่าของชอบส่วนตัวอย่างขนมจีนน้ำยาลาว อาหารจานหลักในบ้านอย่างผัดผัก หรืออาหารงานบุญที่บ้านยายทำทุกเทศกาลอย่างแกงเห็ด ล้วนผ่านปลายตะหลิวของเกมมาทั้งสิ้น
“แม่มีทักษะการสอนที่ดีเพราะเป็นครู เราก็แทบไม่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจากการทำอาหาร ภายใต้การสอนแม่จะคอยดูอยู่ห่าง ๆ” เขายกความดีความชอบให้คุณแม่ซึ่งเป็นครูสอนทำอาหารคนแรกในชีวิต
เลขวัยที่เพิ่มพูนขึ้นยังแปรเปลี่ยนความสนุกไปในทิศทางใหม่ จากห้องครัวที่เคยเป็นพื้นที่สนุกเพราะได้เข้าไปเล่นซน เกมกลับมีความสุขกับพื้นที่นี้เมื่อได้ยืนนิ่ง ๆ ปรุงอาหารอยู่หน้าเตาไฟ และได้พักผ่อนหย่อนใจด้วยการชมรายการสอนทำอาหารผ่านหน้าจอโทรทัศน์
“จุดที่ทำให้เราเข้าไปอยู่ในโลกของการกินเลยก็คือตอนเป็นเด็ก เราจะถือปากกากับกระดาษจดสูตรอาหารตามรายการทำอาหารทางโทรทัศน์ แล้วด้วยทักษะการเลกเชอร์ของเด็ก เราก็จดไม่ทัน หรือบางอย่างจดทันแต่มาทำตามแล้วทำไม่ได้ เราก็เลยจะจินตนาการว่าคนที่มาให้สูตรมันหวงสูตร ก็เลยบอกกับตัวเองว่าถ้าเรามีโอกาสเป็นคนบอกสูตรนะ เราจะบอกสูตรให้หมดเลย ไม่หวงอะไรทั้งสิ้น”
แล้วอีกหลายปีต่อมา ความตั้งใจนั้นก็กลายเป็นจริง

เข้ากรุง
พอถึงวัยเข้าเรียนอุดมศึกษา หนุ่มบ้านไผ่อย่างเกมเลือกศึกษาต่อด้านออกแบบนิเทศศิลป์จาก ม.ดังในบ้านเกิดอย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเขาได้แอบกระซิบกับเราว่า ในเวลาที่เพื่อน ๆ ง่วนอ่านหนังสือออกแบบศิลปะ เขาชอบจะดอดไปอ่านตำราอาหารมากกว่า
เกมร่ำเรียนการออกแบบจนจบ แล้วเลือกเปิดร้านเหล้าพร้อมกับทำกับแกล้มขายเพื่อสะสมทุนรอน ตอนหลังร้านเหล้าแห่งนั้นได้ปิดตัวลงไป บัณฑิตหนุ่มจากอีสานจึงตบเท้าเข้าเมืองกรุงเพื่อหาอาชีพที่เหมาะกับตัวเขา ซึ่งก็ได้งานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ของแบรนด์เสื้อผ้าแห่งหนึ่ง ทว่าชีวิตในสายงานออกแบบกราฟิกของเกมก็มาถึงจุดจบในเวลาอันสั้น เขาทำงานที่นั่นได้ไม่ถึงปี ที่ทำงานก็ปิดตัวลง ในจังหวะชีวิตที่เขารู้ตัวเองว่าอยากเป็นนักเขียนแนวอาหาร
“นิตยสารอาหารตอนนั้นมีอยู่ 3 – 4 เล่ม มี แม่บ้าน, ครัว, Gourmet & Cuisine แล้วก็ Health & Cuisine พอได้อ่านนิตยสารพวกนี้แล้วก็ชอบนะ อย่าง Health & Cuisine เขาจะชอบพูดถึงอาหารบางอย่างที่เป็นอาหารฟิวชัน นำวัตถุดิบที่เป็นต่างชาติมาผสมผสานกับความเป็นไทย มีสอนทำอาหารต่างชาติและอาหารไทยง่าย ๆ เพื่อสุขภาพ เรารู้สึกว่ายังเข้าไม่ถึง แต่อยากรู้จักมันให้มากขึ้น”
ช่วงนั้น Health & Cuisine ยังไม่เปิดรับคนใหม่ แต่สำนักพิมพ์อมรินทร์ผู้พิมพ์นิตยสารฉบับนั้นได้เปิดตัวนิตยสารแนวแม่และเด็กชื่อ Real Parenting และกำลังเปิดรับสมัครกองบรรณาธิการอยู่พอดี
“รีบไปสมัครที่นั่นเลย ถึงไม่ได้อยากทำงานกับนิตยสารนี้ แต่ก็อยากเข้าไปก่อนเพื่อที่จะหาช่องทางย้ายไปสังกัด Health & Cuisine ที่อยู่ในสำนักพิมพ์เดียวกัน กรรมการที่สัมภาษณ์ท่านก็ชมว่าพูดเก่งดีนะ แต่ทั้งหมดที่พูดมาไม่เห็นเกี่ยวกับแม่และเด็กเลยนี่ เลยถามเราว่ามีเล่มไหนอยากทำเป็นพิเศษมั้ย พอรู้ว่า Health & Cuisine เขาก็ว่างานยังไม่ว่าง ให้ไปอยู่นิตยสาร สุดสัปดาห์ พร้อมกับโอกาสทดลองงาน 1 เดือน”

บรรณาธิการนิตยสาร
ช่วง 1 เดือนที่ทำงานอยู่กับนิตยสาร สุดสัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่เกมเครียดมาก เพราะ…
“วิถีชีวิตเราไม่ใช่คนสุดสัปดาห์ ที่พอเลิกงานเขาจะต้องไปอัปเดตเทรนด์ ไปสยาม ดูหนัง ฟังเพลง เราไม่ใช่ เราอยากเลิกงานแล้วกลับบ้านทำขนม กินอาหาร เพราะนั่นคือตัวเรา”
แต่ด้วยความตั้งใจที่เกมแสดงออกมาให้ทุกคนเห็น ประจวบเหมาะกับมีคนลาออกจากนิตยสารในดวงใจพอดี เกมจึงได้รับโอกาสทองที่เขาตั้งตาคอยมาตลอด คือการได้ร่วมงานกับนิตยสาร Health & Cuisine
“ตอนนั้นรู้สึกว่ามีความสุขมาก นี่มันเป็นงานในฝันของเรา” เกมยิ้มบอกด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย “สมัยก่อนเราจะพกช้อนส้อมทองเหลือง ตอนทำงานกราฟิกอยู่โรงงานก็จะไม่กินอาหารจากช้อนส้อมโรงงานเลย เพราะใฝ่ฝันว่าจะเป็นนักชิม ก็เลยจะกินด้วยช้อนส้อมนี้ ตอนจะสัมภาษณ์เข้า Health & Cuisine เราก็เอาช้อนส้อมทองเหลืองไปโชว์ว่าเรามีช้อนทองเหลืองส่วนตัว เราชอบทำและชอบชิมอาหารมาก”
ทำงานอยู่ที่นี่ได้สักระยะ บรรณาธิการที่สัมภาษณ์เกมเมื่อตอนรับเข้าทำงานก็จำได้ว่าเขามีช้อนส้อมนักชิมอยู่ติดตัว เมื่อมีการเปิดคอลัมน์ชิมอาหารแนวใหม่ เขาจึงได้รับเลือกให้ดูแลบทความส่วนนี้
“ที่จริงตอนนั้นมีคอลัมน์ชิมที่เป็นคอลัมน์ใหญ่อยู่แล้ว เป็นแนวชิมอาหารแล้วประเมินว่าร้านนี้ได้หรือไม่ได้ ทำงานเหมือนมิชลินสตาร์ แต่เขาเปิดคอลัมน์เล็กให้เรา เป็นเนื้อหาประเภท 10 ร้านผัดไทยเจ้าดังที่ไม่ควรพลาด แล้วต้องมีข้อมูลประกอบว่าผัดไทยคืออะไร มีที่มาที่ไปแบบไหน ก็ต้องไปหาข้อมูล มันทำให้เราได้ศึกษาองค์ความรู้ของอาหารนั้น ๆ เกิดเป็นความเชี่ยวชาญมากขึ้น ก็เลยเป็นทักษะที่ติดตัวมา”
นักออกแบบอาหาร
เกมทำงานอยู่ที่ Health & Cuisine ได้ 2 ปีเศษ ๆ นิตยสารแห่งนี้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตัวเขาย้ายไปอยู่แผนกเอเจนซี่ทำหนังสือในเครืออมรินทร์ได้ครึ่งปี อมรินทร์ก็ทำธุรกิจเสริมเป็นรายการโทรทัศน์ของ Health & Cuisine และตัวเขาได้รับข้อเสนอให้เป็นผู้ลองคิดสูตรมานำเสนอผ่านรายการ
“ยุคสมัยนั้นยังไม่มีช่องอมรินทร์ทีวีอย่างทุกวันนี้ มีแต่ช่อง 3, 5, 7, 9 ซึ่งบังเอิญว่ารายการของ Health & Cuisine ได้รับแอร์ไทม์ (เวลาออกอากาศ)
“ถึงแม้ว่าตอนนั้นเราจะออกมาแล้ว แต่เราก็ยังเป็นคนของ Health & Cuisine โดยสายเลือด เขาก็เลยชวนเราไปทำงานว่าเป็นฟู้ดสไตลิสต์มั้ย เขียนสคริปต์ เป็นครีเอทีฟมั้ย เราก็เลยได้เรียนรู้เกี่ยวกับวงการทีวีที่เกี่ยวกับอาหาร แต่ตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เราต้องคิดสูตรอาหารเองเพื่อที่จะนำมาถ่ายทำลงรายการ เราต้องเป็นคนเขียนสคริปต์เอง และต้องดีลร้านต่าง ๆ ตอนนั้นลูกค้าเป็นซอส Kikkoman เราต้องกินอาหารญี่ปุ่นแทบทั่วสุขุมวิท เป็นกำไรที่เราได้จากงานนี้”
บทบาทการเป็นนักออกแบบสูตรอาหารของเกมจึงเริ่มขึ้นด้วยเหตุนี้



คลิปสอนทำอาหาร
เกมทำงานโทรทัศน์อยู่ได้ประมาณ 3 ปี บรรณาธิการนิตยสารแผนกอาหารคนเดิมก็โบกมือลาต้นสังกัดไปอยู่ที่อื่น เกมจึงได้กลับมาทำงานนิตยสารใหม่ในฐานะบรรณาธิการอาหาร
เขากล่าวถึงช่วงเวลานั้นด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มว่าทั้งสนุกทั้งเหนื่อย เพราะต้องอ่านต้นฉบับของลูกน้องที่ออฟฟิศ ตรวจสอบคุณภาพ พิสูจน์อักษร ควบคู่กับทำคอลัมน์ของตนเองไปด้วย
“สิ่งหนึ่งที่แม็กกาซีนเล่มนี้มี แล้วเล่มอื่นอาจจะไม่มี คือสูตรอาหารทุกสูตรไม่ว่าจะมาจากคิดค้นขึ้นเอง หรือมาจากคนอื่น ต้องผ่านการทดลองทั้งหมด
“เวลาใครรู้ว่าเราทำงานอยู่นิตยสาร เขาก็เลยจะคาดหวังว่าเราต้องทำอาหารเป็นและทำได้ดีทุกอย่าง คำถามที่คนรู้จักมาถามเราก็เช่นว่า ผัดหมี่กระเฉดยังไงไม่ให้เส้นขาด? เจียวไข่ยังไงไม่ให้ไข่เจียวยุบ? ผัดวุ้นเส้นยังไงไม่ให้เส้นมันกอดกัน? เราเลยคิดว่านี่คือปัญหาของคนทำอาหาร ในคลิปวิดีโอสอนทำอาหารสมัยนั้นก็มีแต่สอนว่าทำยังไง ไม่ได้สอนวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ พอได้สมมติฐานปุ๊บ เราก็เลยลองทำคลิปเลย”
นั่นคือที่มาของคลิปสอนทำอาหารชื่อ ‘เคล็ดไม่ลับแค่คุณไม่รู้’ ที่ตัวเขาและเหล่าทีมงานช่วยกันถ่ายทำและตัดต่อด้วยกล้องมือถือทั้งหมด
“คลิปแรกของพวกเราเป็นเรื่องแกงเขียวหวาน ทำแกงเขียวหวานยังไงให้มะเขือยังเขียว ปล่อยออกไปครั้งแรกมีคนมาดู 35,000 คน ช็อกมาก เพราะคิดว่าคนดูแค่ 200 คนก็ดีมากแล้วนะ
“พอคลิปที่ 2 เจียวไข่ยังไงให้ไข่เจียวยังไม่ยุบ คลิปนั้นภายในข้ามคืนก็มีคนมาดูเป็นแสน ผ่านไปไม่ถึงเดือนก็ขยับขึ้นเป็น 3 แสน 5 แสน เรารู้ว่าอันนี้คือสิ่งที่ใช่ กลายเป็นว่าทำคลิปออกมา ยอดจะเป็นแสน บ้างก็ 8 หมื่น บางทีก็สะสมกันไปถึงเป็นล้าน”
อย่างไรก็ดี ความสุขในการทำคลิปสอนทำอาหารที่เล่าถึงวิธีแก้ปัญหาที่คนครัวทุกคนต้องเจอก็อยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากนิตยสารอันเป็นที่รักยิ่งของเกมต้องปิดตัวลง

กลับบ้านไผ่
“ที่จริงเราเป็นคนที่ออฟฟิศไม่ยอมให้ออก อยากให้ไปต่อในฝ่ายออนไลน์ แม้ว่านิตยสารจะเลิกผลิตไปแล้ว แต่เพราะนิตยสารเป็นสิ่งที่ตัวเรารักมาก พอมันไม่อยู่แล้วเราก็ไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม ก็เลยไปไหว้งาม ๆ ขอออกจากงานมาพร้อมกับเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ”
น้ำเสียงของเกมเหมือนคนปลงตกได้ เมื่อเขาเล่าให้เราฟังถึงสาเหตุที่กลับมาอยู่บ้านที่อำเภอบ้านไผ่
15 ปีในกรุงเทพฯ สอนหลักสูตรชีวิตให้กับเกมมากมายไม่แพ้สูตรอาหารที่เขาค้นคิดในช่วงนั้น ทันทีที่ออกจากงานนิตยสาร เกมมุ่งมั่นอยากหันมาฝึกงานเกษตรเพื่อให้เข้าถึงต้นรากของสายพานอาหาร
“เราได้ไปยืนอยู่ในหลายจุดของอาหารแล้ว แต่ยังไม่เคยไปถึงต้นน้ำของอาหารเลย” ความคิดนี้ดลใจให้กูรูอาหารชาวอำเภอบ้านไผ่ไปหัดเรียนทำนาที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรตินานถึง 6 เดือน เพาะผัก ปลูกข้าว เลี้ยงเป็ด ใช้ชีวิตเยี่ยงชาวนาบนผืนนา 1 ไร่ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์จัดไว้ให้ ก่อนจะลงเอยด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวรอบตัวบ้าน เพื่อความคล่องตัวและประหยัดต้นทุนทางการผลิต
“ภาษาอีสานเรียกว่า ‘บืน’ ให้นึกถึงปลาที่พยายามกระเสือกกระสนตัวมันเองขึ้นมาบนพื้น” เขาอุปมาตัวเองด้วยศัพท์ภาษาที่ราบสูง “ตัวเราก็ต้องบืนเหมือนกัน พยายามที่จะอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เราเลือกมาอยู่ด้วยตัวเองให้ได้”

ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 แล้วที่อดีตบรรณาธิการอาหารได้หวนคืนถิ่น แม้จะเคยต้อง ‘บืน’ ตัวเองเพื่อกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด แต่วันนี้เขากลับได้พบความสุขใหม่ในถิ่นเก่า เริ่มจากการทำอาหารง่าย ๆ จากวัตถุดิบที่เพาะปลูกรอบรั้วบ้านตัวเองไว้ส่งขายเลี้ยงชีพ
เขายังคงรับเขียนบทความอาหารหรือเนื้อหาต่าง ๆ ที่ตนเองชื่นชอบอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการกลับบ้านคราวนี้ช่วยให้เขาได้ทำความเข้าใจกับรากเหง้าความเป็นขอนแก่นในตัวเอง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และวัฒนธรรม จนเป็นผู้รู้เรื่องขอนแก่นที่คนทั่วไปให้การยอมรับ และเคยได้เขียนเล่าข้อมูลความเป็นมาของจังหวัดในห้องขอนแก่น 500 ปี ในพิพิธภัณฑ์กรมธนารักษ์มาแล้ว
ความรู้ด้านการออกแบบของเขายังได้รับการนำไปต่อยอดเป็นประโยชน์แก่จังหวัดขอนแก่น อาทิ การที่เขาได้รับเลือกเป็นผู้จัดการโครงการ Lunch and Learn Project ซึ่ง TCDC ขอนแก่น จัดขึ้นเพื่อออกแบบอาหารกลางวันที่ทั้งถูกปากและถูกหลักโภชนาการ แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย เป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก
และเขายังเริ่มต้นใหม่กับการทำคลิปสอนทำอาหารในยูทูบ ในช่อง SRI Cooking Channel ซึ่งไม่เพียงทำคอนเทนต์สอนเคล็ดลับวิธีการปรุง หากยังพาผู้ชมไปทำความรู้จักกับขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบ และพาชมของดีในจังหวัดขอนแก่น ด้วยการเล่าเรื่องที่สนุกสนาน มากสีสัน เปี่ยมแปล้ด้วยสาระ
“ความเป็นอีสานถูกเผยแพร่เยอะขึ้นก็จริง แต่ว่ามันยังไม่พอ ดังนั้นนอกจากเรามีความรู้ความสามารถแล้ว เรายังมีพื้นที่สื่อ ก็จะใช้พื้นที่สื่อของเราในการบอกเล่าเรื่องราวของอีสานออกไป” ชายหนุ่มที่พวกเราตั้งสมญาแก่เขาว่า ‘กูรูอาหารแห่งบ้านไผ่’ เปิดเผยเป้าหมายในการทำสื่อวิดีโอของเขา
“สิ่งที่เราทำเป็นประจำคือให้กำลังใจผู้ประกอบการ เพราะเวลาเราไปกินก็ชอบพูดคุย ด้วยสันดานคนเป็นสื่อก็ชอบเจ๊าะแจ๊ะพูดคุย แล้วพอเราเริ่มสนิทก็จะได้รู้ข้อมูลเบื้องลึก โดยเฉพาะพ่อครัวแม่ครัวในอีสาน คนทำธุรกิจ ต้องเผชิญอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น กับดักความยากจน ก็จะให้กำลังใจเสมอ ด้วยความที่เรามีทักษะทางอาหาร บางอย่างที่เราแนะนำกับเขาได้ว่าทำแบบนี้แล้วมันจะดีขึ้น เราก็จะให้คำแนะนำเขาเลย
“เรามองว่ามันจะทำให้คนที่ทำอาหารอีสานเองก็อยู่ได้ แล้วเขาก็จะพัฒนาตัวชิ้นงานของเขาให้ดีขึ้น ส่วนคนที่ไม่รู้จักอาหารอีสาน เราก็จะใช้พื้นที่สื่อของเราทำให้เขารู้จักนี่แหละครับ”
