“ผมบอกนิสิตแบบติดตลกว่า ถ้าใครมาลงเรียนประวัติศาสตร์เพราะอยากแสวงหาความจริงในประวัติศาสตร์ ให้ไปที่งานทะเบียนนะ แล้วไปขอใบลาออกมาให้อาจารย์ที่ปรึกษาเซ็น เพราะประวัติศาสตร์เราไม่ได้ศึกษาเรื่องของความจริง (Truth) ถ้าคุณอยากรู้เรื่องความจริงไปลงเรียนปรัชญาโน่น แต่ประวัติศาสตร์สอนการแสวงหาข้อเท็จจริง (Fact)”

นี่คือคำพูดของ อาจารย์บูม หรือ ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร รองหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งหลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะอาจารย์ประวัติศาสตร์ที่แต่งคอสเพลย์มาสอนหนังสือ พร้อมด้วยพร็อปประกอบการสอนมากมายที่สร้างเสียงฮือฮาให้นิสิตเสมอ

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์นอกกรอบที่แต่งชุดคอสเพลย์แบบไม่ซ้ำไปสอนประวัติศาสตร์

แต่เหนือไปกว่าฉากหน้าของความสนุกสนานและชุดคอสเพลย์ที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละวันแล้ว สิ่งสำคัญที่กว่านั้นคือแนวทางการสอน ซึ่งแตกต่างจากวิชาประวัติศาสตร์ในแบบที่หลายคนคุ้นเคยสมัยมัธยม เพราะการสอนของเขาไม่ใช่การเดินเข้าห้องแล้วบรรยายว่าอะไรเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ เพื่อให้นิสิตท่องจำไปสอบ แต่คือการสอนให้คิด วิเคราะห์ ตั้งคำถามต่อหลักฐานต่าง ๆ ไปจนถึงที่มาที่ไปและผลสืบเนื่องของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้น ๆ

วันนี้เราบุกมาถึงห้องทำงานของอาจารย์บูม และเมื่อก้าวเท้าเข้ามาก็ต้องตะลึงกับอุปกรณ์ประกอบการสอนและของสะสมมากมาย (เขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจในการแต่งห้องให้รก ๆ จากตัวเอกในหนังเรื่อง อินเดียน่า โจนส์) ทั้งหนังสือกองใหญ่ แผ่นโปสเตอร์สมัยเก่า ภาพถ่าย ดาบหลากหลายประเภท หมวกทหาร วิกผมสำหรับคอสเพลย์เป็นกษัตริย์ยุคโบราณ กล่องเครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องส่งโทรเลข ปากกาขนนก ส่วนมุมหนึ่งบนหลังตู้ก็มีทั้งพระพุทธรูป ไม้กางเขน หุ่นฟาโรห์ตุตันคาเมน หุ่นแมว ไปจนถึงฟิกเกอร์จากภาพยนตร์สมัยใหม่ อยู่รวมกันในจุดเดียว ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า ‘สภาเทพ’

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์นอกกรอบที่แต่งชุดคอสเพลย์แบบไม่ซ้ำไปสอนประวัติศาสตร์
ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์นอกกรอบที่แต่งชุดคอสเพลย์แบบไม่ซ้ำไปสอนประวัติศาสตร์

“นิสิตที่มาที่นี่ อย่างน้อยต้องได้จับและถ่ายรูปกับอะไรสักอย่างในห้อง ผมไม่เคยหวง แทนที่จะเก็บไว้ดูคนเดียว นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการเรียนการสอนดีกว่า” อาจารย์บูมกล่าว พร้อมยื่นแผ่นเสียงให้เราได้ลองสัมผัส

แม้ตอนนี้จะเป็นช่วงปิดเทอม ทำให้เราไม่มีโอกาสไปนั่งเรียนในคลาสของเขา แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่เขาเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟัง ก็ทำให้เรา – คนที่เคยนั่งหลับในวิชาประวัติศาสตร์สมัยมัธยม ต้องหูผึ่งด้วยความตื่นเต้น ทั้งในตัวเนื้อหาประวัติศาสตร์เอง ไปจนถึงเส้นทางชีวิตของเขา ที่กว่าจะถึงวันนี้ก็มีเรื่องเล่าเปี่ยมสีสันไม่ต่างอะไรจากชุดคอสเพลย์ที่เขาใส่และวิธีการสอน

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์นอกกรอบที่แต่งชุดคอสเพลย์แบบไม่ซ้ำไปสอนประวัติศาสตร์

ม้วนวิดีโอเปลี่ยนชีวิต 

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจประวัติศาสตร์ ต้องย้อนไปไกล….มาก….” เขาเริ่มต้นด้วยประโยคที่สมกับเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์

“ผมสนใจเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะตัววิชาประวัติศาสตร์เอง แต่เป็นเพราะภาพยนตร์ ตอนนั้นผมอยู่ ม.1 พ่อผมไปยืมวิดีโอเทปของญาติมา คือเรื่อง อินเดียน่า โจนส์ ภาค 3 สมัยนั้นยังเป็นม้วนเทป VHS อยู่เลย พอดูจบ ผมชอบมาก ประทับใจมาก จนทำให้เรารักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนับตั้งแต่วันนั้น และไม่เคยอยากเรียนอย่างอื่นเลย จนทุกวันนี้มาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เป็นแรงบันดาลใจที่อยากตามรอย อินเดียน่า โจนส์” 

ด้วยความที่ตัวเอกของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนโบราณคดีและอยู่ในฉากของประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลก ทำให้เด็กชายบูมวัย 11 – 12 ปี สนใจประวัติศาสตร์และโบราณคดีจนถึงขนาดเดินเข้าห้องสมุดไปหาหนังสือประเภทนี้อ่านจนครบทุกเล่ม เท่าที่เด็กในโรงเรียนต่างจังหวัดจะหาอ่านได้ในสมัยนั้น ในยุคที่ประเทศไทยยังไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์นอกกรอบที่แต่งชุดคอสเพลย์แบบไม่ซ้ำไปสอนประวัติศาสตร์

“เพื่อนผมก็ถาม อ่านไปทำไม ไม่ได้ออกสอบซะหน่อย ก็เราชอบน่ะ ผมอ่านจนความรู้ไปไกลมากขนาดที่จับผิดครูในห้องเรียนได้ แล้วก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โต เขาบอก อย่างเธอจะไปรู้อะไร คือสมัยนั้นนักเรียนรู้มากกว่าครูไม่ได้ ทำให้ช่วงชีวิตมัธยมสำหรับผมไม่ค่อยน่าจดจำเท่าไหร่”

ยิ่งพอถึงช่วงมัธยมปลายที่เขาต้องเรียนสายวิทย์ตามคำขอร้องของพ่อ ก็ทำให้เขาไม่มีความสุขกับการเรียนวิชาสายวิทย์เหล่านั้น แต่ในทางตรงข้าม เมื่อไหร่ที่อยู่นอกห้องเรียน กลับเป็นเวลาที่เขาไปขวนขวายหาความรู้ในสิ่งที่สนใจอย่างกระตือรือร้น เช่น การเรียนภาษาฝรั่งเศสด้วยตัวเอง จนทำให้สอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยกับเด็กสายศิลป์ จนสอบติดภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามที่ใฝ่ฝันตั้งแต่ ม.1

“ครอบครัวบอกว่าเรียนด้านนี้จะไปทำอะไรกิน คือเขาอยากให้ผมเรียนคณะทางวิทย์มากกว่า แต่คราวนี้ผมไม่ยอม เพราะการเรียนประวัติศาสตร์คือสิ่งที่รอคอยมาตลอด ซึ่งโชคดีที่ผมตัดสินใจแบบนี้ เพราะถ้าไปเรียนคณะสายวิทย์ก็คงได้เกรดไม่ถึง 2.00 แน่ ๆ”

ในขณะที่เมื่อเขาได้เรียนสิ่งที่ชอบ ทำให้สิทธารถเรียนจบด้วยดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 1 อีกทั้งตลอดระยะเวลา 4 ปี เขาใช้เวลาศึกษาหาความรู้อย่างคุ้มค่าชนิดที่ว่า ลงเรียนวิชานั้นวิชานี้เกินกว่าที่มหาวิทยาลัยกำหนดจนตารางแน่นเอี้ยด ทั้งวิชาปรัชญาหลายแขนง ประวัติศาสตร์การทูตอเมริกา การเมืองการปกครองรัสเซีย ปรัชญามาร์กซิสม์ ไปจนถึงภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร ที่ลงเรียนด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า แค่อยากรู้…

“บางวิชาทุกคนจะถามว่าเรียนไปทำไม ก็ชอบน่ะ ก็อยากรู้ คุณเคยทำอะไรที่ไม่ใช่เพื่อจุดมุ่งหมายเรื่องเงินกับเรื่องงานไหม คุณเติมเต็มตัวเองแค่นั้นเหรอ ถ้าผมจำไม่ผิด ตอนนั้นมหาลัยกำหนดให้เรียน 137 หน่วยกิต แต่ผมลงเรียนไป 150 – 160 หน่วยกิต จนแน่น Transcript ไปหมด”

บางวิชาเขาถึงขนาดสอบได้คะแนน 95 เต็ม 100 จนถึงขั้นอาจารย์ที่สอนเรียกพบเพราะอยากรู้จัก เนื่องจากไม่เคยเจอใครสอบได้คะแนนสูงเท่านี้มาก่อน

หลังเรียนจบปริญญาตรี สิทธารถเรียนต่อปริญญาโทสาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และระหว่างเรียนปริญญาโทก็ทำงานในกรมศิลปากร ตำแหน่งนักวิชาการวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วยอยู่ 3 ปี ก่อนลาออกมาเป็นอาจารย์แนวใหม่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์นอกกรอบที่แต่งชุดคอสเพลย์แบบไม่ซ้ำไปสอนประวัติศาสตร์

การเรียนประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่การท่องจำ

“การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่การต้องมาท่องชื่อกษัตริย์ ชื่อคนสำคัญในประวัติศาสตร์ให้ได้ทั้งหมด ผมเองยังจำไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้ถ้าอยากรู้อะไร แค่หยิบมือถือมาเปิดค้นดู มันไม่ได้เสื่อมเสียเกียรติภูมิแต่อย่างใด จะท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองไปทำไม ถ้าท่องแล้วอธิบายไม่ได้ คิดวิเคราะห์ไม่ได้”

อาจารย์บูมอธิบายว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีต้องมีทั้งหมด 3 ขั้น ซึ่งขั้นตอนที่เราคุ้นเคยกันสมัยมัธยมที่ครูสอนว่าอะไรเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ เป็นเพียงแค่บันไดขั้นแรกเท่านั้น

“ขั้นแรก คือเรียนเพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น What When Who ขั้นต่อมา คือสิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร คือ How และขั้นสุดท้าย คือการประเมินคุณค่า คนยุคนั้นทำแบบนี้แบบนั้นแล้วดีไหม เหมาะไหม สมควรไหม ซึ่งคำว่าดี ก็ต้องวิเคราะห์อีก เช่น ดีคืออะไร ดีสำหรับอะไร หรือดีสำหรับใคร ดีสำหรับชนชั้นปกครองกับดีสำหรับคนทั่วไปเหมือนกันไหม”

อย่างเช่นถ้าจะสอนเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 นิสิตต้องเรียนรู้ที่จะตอบคำถามว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 คืออะไร ความเป็นสงครามโลกอยู่ตรงไหน สงครามมีเหตุผลเบื้องหลังอะไร ผลจากสงครามนั้นนำไปสู่อะไร ฯลฯ

นอกจากการวิเคราะห์สาเหตุและประเมินคุณค่าแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการวิเคราะห์หลักฐาน ซึ่งสำคัญขนาดมีวิชาแยกออกมาที่ชื่อ ‘การวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์’

“ข้อมูลทุกอย่างไม่มีใครรู้หรอกว่าจริง แม้แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ เห็นกับตาแล้วแน่ใจเหรอว่าเป็นอย่างที่คิด จัดฉากหรือเปล่า บังเอิญหรือเปล่า เราเข้าใจสิ่งที่เห็นผิดได้ไหม วิชานี้จะสอนให้ดูหลักฐาน ดูข้อเท็จจริง แล้วก็ต้องวิเคราะห์ว่าเชื่อถือได้ไหม”

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์นอกกรอบที่แต่งชุดคอสเพลย์แบบไม่ซ้ำไปสอนประวัติศาสตร์
ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์นอกกรอบที่แต่งชุดคอสเพลย์แบบไม่ซ้ำไปสอนประวัติศาสตร์

อาจารย์บูมเล่าว่าการวิพากษ์หลักฐานแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการวิพากษ์ภายนอก ซึ่งเป็นการพิจารณาบริบทภายนอกของหลักฐานและของเจ้าของหลักฐานนั้น เช่น บันทึกประวัติศาสตร์นี้เขียนในยุคไหน โดยใคร จุดมุ่งหมายในการเขียนเป็นอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาแต่เขียนขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ ก็จะถือเป็นหลักฐานชั้นรองที่น่าเชื่อถือน้อยกว่าบันทึกที่เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาโดยตรง อย่างไรก็ตาม เรายังต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ผู้เขียนคือใคร มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน มีแนวโน้มที่จะโกหกหรือมีอคติหรือไม่ ส่วนลำดับถัดไปคือการวิพากษ์ภายใน หมายถึงการวิพากษ์บริบทความถูกต้องของเนื้อหาที่เป็นข้อเขียนในหลักฐานหรือบันทึกฉบับนั้น

“ตัวอย่างเช่น ประวัติศาสตร์กระแสหลักบอกว่ากรุงศรีอยุธยาแตกเพราะกรุงเสื่อม แต่ปัจจุบันก็มีกระแสรองขึ้นมาค้าน ถึงขนาดมีหนังสือชื่อว่า ในยุคอวสาน กรุงศรีฯ ไม่เคยเสื่อม ซึ่งก็มีหลักฐานมาโต้แย้ง เช่น เอกสารฝ่ายพม่าเขียนชื่นชมพระเจ้าเอกทัศน์ว่าคนนี้เก่งพอตัว หรือบันทึกส่วนตัวของบาทหลวงฝรั่งเศสที่เล่าว่าเห็นพระเจ้าเอกทัศน์ออกมาบัญชาการรบตลอด ซึ่งพอมีความต่างของข้อเท็จจริงแบบนี้ก็ต้องนำมาวิเคราะห์กัน”

การวิเคราะห์ก็เช่น เป็นไปได้ไหมที่ผู้เขียนของฝั่งไทยเขียนด้วยอคติบางอย่างต่อราชวงศ์เก่า ส่วนผู้เขียนฝั่งพม่าซึ่งเป็นเอกสารรายงานการรบไปยังกษัตริย์พม่า เป็นไปได้ไหมว่าเขียนให้ฝั่งตรงข้ามดูเก่งเพื่อปกปิดความผิดพลาดของตัวเอง ส่วนบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสก็เป็นไปได้ไหมที่จะเขียนด้วยความเข้าใจผิดบางอย่าง

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์นอกกรอบที่แต่งชุดคอสเพลย์แบบไม่ซ้ำไปสอนประวัติศาสตร์

“หลักฐานทุกอย่างมีปัญหาของมันหมด ผมไม่ได้พูดเลยว่าอะไรจริงไม่จริง เขาถึงบอกว่านักประวัติศาสตร์เป็นเหมือนตำรวจกาลเวลาที่ต้องหาหลักฐานและวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของหลักฐานเหล่านั้น”

หรือข้อมูลบางอย่างที่เคยเชื่อและบอกเล่าต่อกันมายาวนาน บางครั้งพอมีหลักฐานใหม่เผยออกมา ก็อาจต้องเปลี่ยนความคิด อย่างเช่นเรื่องขนมเค้กของ มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)

“ผมได้ยินเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยอยู่มัธยม เป็นช่วงก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส ที่วันหนึ่งนางมารีนั่งเล่นไพ่เสวยสุขอยู่ในพระราชวัง แล้วได้ยินเสียงอื้ออึงที่ประตู นางก็เรียกมหาดเล็กมาถามว่า เสียงอะไรน่ะ มหาดเล็กก็ตอบ เสียงราษฎรมาร้องขอขนมปังพะย่ะค่ะ นางก็ถาม เหรอ… แล้วเขาร้องขอทำไมล่ะ มหาดเล็กก็บอก ราษฎรเขาอดอยาก ไม่มีขนมปังกินพะย่ะค่ะ พอนางได้ฟัง ก็ตอบกลับไปว่า ไม่มีขนมปังกิน แล้วทำไมไม่หาขนมเค้กกินล่ะ จนเรื่องนี้หลุดออกไปนอกวัง แล้วคนฝรั่งเศสไม่เคยลืมเรื่องนี้เลย จนวันหนึ่งนางก็โดนกิโยตีนตัดหัวเพราะเรื่องนี้”

อาจารย์บูมเล่าว่าหลังจากเรื่องนี้ถูกบอกเล่าต่อกันมายาวนาน จนวันหนึ่งก็มีหลักฐานใหม่ออกมาว่า ที่จริงแล้วนางมารีไม่ได้พูดประโยคนี้ แต่นี่คือเรื่องที่พบในบันทึกประวัติศาสตร์ในชั้นหลัง บันทึกขึ้นเมื่อผ่านการปฏิวัติฝรั่งเศสไปหลายสิบปีแล้ว

“ผมสมมติว่า ถ้ามีเอกสารที่เป็นจดหมายส่วนตัวของทวดของทวดของทวดของใครสักคนที่เคยอยู่ในคณะปฏิวัติ แล้ววันหนึ่งก็ถูกเปิดเผยออกมาแล้วมีข้อมูลขัดแย้งกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสที่เคยรับรู้มา ในฐานะนักประวัติศาสตร์ พอมีหลักฐานใหม่มาเราก็ต้องฟังไว้ แต่ถามว่าจดหมายนั้นผิดพลาดได้ไหม… ได้… เขาอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ เราก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าคนเขียนคือใคร มีอุดมการณ์ฐานคิดอย่างไร มีความสัมพันธ์กับใคร สมมติว่าถ้าเขาตั้งใจบิดเบือนข้อมูลจริง ใครบ้างที่จะได้ประโยชน์จากการบิดเบือนนั้น”

ดังนั้น นักประวัติศาสตร์จึงต้องมีการตั้งคำถามและวิเคราะห์ และพร้อมที่จะเปิดรับฟังข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดเวลา ซึ่งนั่นก็ไม่ได้มีประโยชน์แค่เรื่องประวัติศาสตร์เท่านั้น 

“สิ่งที่วิชาประวัติศาสตร์สอนก็คือให้ระแวดระวังกับการเสพข้อมูล ตั้งคำถามกับข้อมูลที่คุณเสพมา แล้ววิธีคิดในการวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เอาไปใช้วิพากษ์ข่าวทุกวันนี้ยังได้เลย เรื่องนี้มาจากไหน ใครพูด แล้วคนพูดเชื่อได้เหรอ พูดแบบนี้มีจุดประสงค์อะไร ถ้านิสิตทำได้อย่างนี้ ผมถือว่าประสบความสำเร็จละ คุณไม่ต้องเป็นนักประวัติศาสตร์อย่างผมก็ได้ คุณทำงานอะไรก็ได้ แต่ทุกครั้งที่คุณอ่านหรือเสพข้อมูลอะไรในชีวิตประจำวัน อยากให้นึกถึงระเบียบวิธีทางประวัติศาสตร์เหมือนสมัยตอนเรียน แล้วเอามาประเมินคุณค่าของข้อมูลข่าวสารนั้น นั่นแหละคือจุดหมายที่แท้ของการเรียนประวัติศาสตร์”

อีกทั้งการวิพากษ์หลักฐาน ไม่ใช่เพียงแค่วิเคราะห์ตัวหลักฐานและเจ้าของหลักฐานเท่านั้น แต่ต้องอย่าลืมหันกลับมาวิพากษ์ตัวผู้วิพากษ์เองด้วย

“เรามีความคิดความเชื่อได้ มีอุดมการณ์ได้ แต่ก็ต้องหมั่นตรวจสอบความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ของเราเสมอ เช่น ที่เราคิดถูกไหม เราเข้าใจผิดได้ไหม เรามีอคติไหม ซึ่งวิธีลดอคติให้เหลือน้อยที่สุด คือต้องรับฟังมุมมองอื่น ๆ ที่เราเห็นต่างด้วยเสมอ”

ห้องเรียนแห่งสีสันและอาจารย์นอกกรอบ

วันนี้อาจารย์บูมมาพบเราด้วยชุดเครื่องแบบฤดูร้อนของเสนาธิการทหารเรือญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเมื่อเจอกัน อาจารย์ก็ชวนให้เราสังเกตเนื้อผ้าสีขาวนวลของชุดเครื่องแบบ พร้อมบอกว่า ผ้าที่ใช้ตัดชุดราชปะแตนของไทยสมัยก่อนเป็นอย่างนี้ ทั้งของไทยและญี่ปุ่น นั่นคือเป็นผ้าฝ้ายดิบที่หาง่าย ราคาถูก ใส่สบาย ไม่ร้อน ต่างจากชุดราชปะแตนสมัยนี้ที่ตัดแบบมีรองในหนาแบบสูทสากลที่ทั้งร้อนทั้งแพง

“สมัย ร.5 ชุดราชปะแตนใช้ผ้าดิบแบบนี้นะ เพราะประหยัดและไม่เป็นภาระกับข้าราชการ ผมเคยไปพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่พะเยา เขาเก็บเสื้อราชปะแตนของเจ้าเมืองสมัยก่อนไว้ ซึ่งทำจากผ้าฝ้ายท้องถิ่นเมืองเหนือ”

แม้ในช่วงแรก ๆ การแต่งคอสเพลย์มาสอนจะถูกคำตำหนิติเตียนจากอาจารย์รุ่นเก่าอยู่บ้างว่าไม่เหมาะสม แต่สิ่งที่ทดแทนคำอธิบายได้ดีที่สุดคือประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับนิสิต ที่เห็นชัดว่าพวกเขาสนุกและตื่นเต้นกับการเรียนการสอนแบบนี้

“ลองดูครูในตะวันตกสิ เขาสอนประวัติศาสตร์โรมัน ก่อนเรียนก็ให้เด็กสวมบทบาทเป็นทหารชาวโรมัน เอาโล่มากระแทกกันสนุกสนาน ก่อนเริ่มเรียนมันต้องมีความสุขก่อนสิ การที่ผมสอนด้วยวิธีแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ ด้วยอุปกรณ์อย่างนี้ คือสิ่งที่โลกถือว่าเป็นเรื่องปกตินะ แต่ทำไมกลายเป็นเรื่องเก๋มากในประเทศนี้ สะท้อนว่าประเทศนี้มองและจัดการการศึกษาแบบไหน ถึงทำให้สิ่งที่ผมทำกลายเป็นเรื่องพิเศษ” 

อาจารย์บูมตั้งคำถามชวนคิด พร้อมอธิบายว่าเหตุผลเบื้องหลังของการแต่งตัวคอสเพลย์มาสอน นอกจากด้วยความชอบส่วนตัวแล้ว เขามองว่าความสุขและแรงบันดาลใจในการเรียนคือสิ่งสำคัญลำดับแรกของการศึกษา

“ผมเชื่อเรื่องความประทับใจแรกนะ เพราะความรู้ไม่ตายก็หาได้เรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น แต่คุณจะมีแรงบันดาลใจในการหาความรู้แค่ไหนล่ะ ต่อให้ความรู้มีมากมาย หนังสือมีเต็มห้องสมุด ถ้าคุณไม่อยากอ่าน ไม่สนใจค้นคว้า มันก็เท่านั้น สิ่งที่ผมจะให้คือแรงบันดาลใจต่างหาก ถ้าคุณมีแรงบันดาลใจในการแสวงหาความรู้ คุณจะแสวงหาได้ตลอดชีวิต ความรู้จากผมเป็นแค่เศษเสี้ยวที่จะให้คุณได้เท่านั้น”

ด้วยความชอบสะสมของเก่าอยู่แล้ว ทำให้เขามี ‘ของเล่น’ มากมายไปสร้างสีสันให้ห้องเรียนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นดาบโบราณ ตราครั่ง เตาหลอมครั่ง หมุดรางรถไฟ กระบอกใส่สาส์นพร้อมใบลานม้วนอยู่ข้างใน หน้ากากกันแก๊สของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนถึงหมวกโมเรียนของทหารสเปนโบราณที่เขาเล่าว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่เขาแทบพลิกแผ่นดินหา พร้อมเล่าเกร็ดความรู้ว่าความโค้งของหมวกโมเรียนที่แทบจะตั้งชันนี้ก็เพื่อให้ลูกธนูที่ยิงมาแฉลบออกไป

“ของบางอย่าง ถ้าได้เห็นของจริง ได้ฟัง ได้จับ ได้สัมผัส จะได้ความรู้สึกบางอย่างแบบที่ลำพังการอ่านหนังสือให้ไม่ได้ ของหลายชิ้นที่ผมนำไปเป็นสื่อการสอนในห้องเรียน นิสิตเขาจะตื่นเต้นมาก เพราะเคยเห็นแต่ในพิพิธภัณฑ์หรือในภาพยนตร์ อย่างผมเอาดาบกลาดิอุสสมัยโรมันไปสอน นิสิตเขาก็ถือถ่ายรูปเล่นกันเหมือนเด็ก นี่คือความประทับใจแรกของเขาในการเรียนประวัติศาสตร์โรมัน ผมอยากสร้างความรู้สึกนี้ให้เขาเหมือนอย่างที่ผมเคยประทับใจกับ อินเดียน่า โจนส์ สมัยเด็ก ๆ”

อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่เขาต้องการสอนเรื่องการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ของชาติตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม แต่แทนที่จะใช้วิธีบรรยาย เขาหิ้วกล่องเล่นแผ่นเสียงเข้าไปในห้องแล้วเปิดให้นิสิตฟัง สร้างความตื่นเต้นจนกระทั่งคลิปที่นิสิตถ่ายไว้กลายเป็นไวรัลในโลก TikTok

“อุปกรณ์นี้ไม่ใช้ไฟฟ้า ไม่ใช้ถ่านไฟฉาย แต่มีเสียงออกมาได้ เสียงออกมาได้ไง เด็กเขาตื่นเต้นกันมาก ผมก็บอกว่า คุณจำความรู้สึกนี้ไว้นะ แล้วจินตนาการว่าถ้าคุณเป็นไพร่สมัย ร.5 กำลังถูพื้นอยู่ในบ้านท่านเจ้าคุณ แล้วท่านเจ้าคุณซื้อสิ่งนี้มาเปิดในบ้าน เฮ้ย! เขาเอาเสียงมาเก็บในแผ่นนี้ได้ยังไง คุณคงมองฝรั่งที่ประดิษฐ์สิ่งนี้เป็นเทวดาใช่ไหม พวกเขาทำในสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อย่างในยุคที่น้ำแข็งเข้ามาใหม่ ๆ ก็ลือไปทั้งพระนครว่าฝรั่งปั้นน้ำเป็นตัวได้ หรือยุคที่รถไฟเข้ามาแรก ๆ ชาวนาที่เห็นรถไฟวิ่งผ่านทุ่งนา เขาลงนั่งยองยกมื้อไหว้เลยนะ เพราะเขามองเทคโนโลยีของฝรั่งเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์เหมือนเวทมนตร์ แล้วของพวกนี้แหละเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้เกิดการสยบยอมต่ออำนาจของชาวตะวันตก”

แม้บรรยากาศในห้องเรียนจะสนุกสนาน ทั้งชุดคอสเพลย์ อุปกรณ์ และวิธีการสอนที่เป็นกันเอง โดยนิสิตร่วมแสดงความคิดเห็นได้ โต้แย้งได้ คิดต่างได้ แต่เมื่อพูดถึงการสอบและการเก็บคะแนน ก็เรียกได้ว่าเข้มข้นถึงใจชนิดที่นิสิตหลายคนต้องพกยาดมเข้าห้องสอบ เพราะทั้งหมดคือข้อสอบอัตนัย และคำถามหนึ่งข้อประกอบไปด้วยหลายคำถามย่อย ๆ มากมายที่ต้องใช้การวิเคราะห์หนักหน่วง

“การเก็บคะแนนมีทั้งส่วนการบ้านที่ไปค้นคว้าข้อมูลได้ กับสอบปลายภาคที่ไม่ให้เปิดหนังสือ เพราะอยากให้เขาอธิบายสิ่งที่อยู่ในหัวออกมา ยกเว้นบางวิชาที่ข้อมูลเยอะ ๆ เช่น ประวัติศาสตร์การทหารที่มีชื่อรุ่นปืน รุ่นเครื่องบิน รุ่นรถถัง ก็จะให้เขาจดข้อมูลลง 1 แผ่น A4 นำเข้าห้องสอบได้”

การอนุญาตเพียงแผ่น A4 ก็มีเหตุผล เนื่องจากเขามองว่าการสอบ Open Book หรือเปิดหนังสือในห้องสอบจะมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น เนื่องจากหนังสือมีจำกัด นิสิตบางคนยืมหนังสือจากห้องสมุดได้ก่อน ก็เข้าห้องสอบด้วยหนังสือกองโต ขณะนิสิตคนที่ยืมไม่ทันก็ต้องวิ่งวุ่นหาซื้อ หรือถ้านิสิตบางคนมีทุนทรัพย์ไม่พอหรือหาซื้อไม่ได้ก็อาจต้องเข้าห้องสอบมือเปล่า

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์นอกกรอบที่แต่งชุดคอสเพลย์แบบไม่ซ้ำไปสอนประวัติศาสตร์

“ผมมองว่าวิธีนี้ไม่เท่าเทียม เลยให้เป็นจด 1 แผ่น A4 ซึ่งคราวนี้ทุกคนมีพื้นที่เท่ากัน บางคนจดตัวหนังสือเล็กจิ๋วใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า จนผมเคยเจอนิสิตถามว่า หนูขอเอาแว่นขยายเข้าห้องสอบได้ไหม” อาจารย์บูมเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

จากนั้น สำหรับคะแนนเก็บส่วนที่เหลือ เขาก็ให้นิสิตอภิปรายและโหวตกันในห้องเลยว่าอยากให้เก็บคะแนนด้วยการเช็กชื่อเข้าเรียนหรือว่าสอบเก็บคะแนน

“ส่วนใหญ่เลือกเช็กชื่อเพราะง่าย แต่บางรุ่นเลือกสอบเก็บคะแนนก็มีนะ เขาให้เหตุผลว่า แก ควิซเหอะ จะได้จบ ๆ ไป จะได้มีเวลาไปไหนมาไหน คือขี้เกียจเข้าเรียนว่างั้น”

หากเป็นอาจารย์คนอื่นก็คงไม่ชอบใจในเหตุผลนี้นัก แต่สำหรับเขากลับไม่ว่าอะไร

“ผมไม่ได้เป็นเจ้าของความรู้ โลกใบนี้มีความรู้มากมาย ถ้าคุณไปหาความรู้จากข้างนอก แล้วมาแสดงให้ผมเห็นในการสอบว่าคุณมีความรู้ ผมก็ให้เกรดไป วิชาที่สอนส่วนใหญ่ผมไม่เช็กชื่อ ก็เคยมีนิสิตที่เข้าเรียนแค่คาบเดียว แต่สุดท้ายผมให้เกรดเอ เพราะเขาแสดงให้เห็นในการสอบว่าเขามีความรู้ แม้ความรู้นั้นจะไม่ได้มาจากการเข้าเรียนกับผมก็ตาม 

“ผมไม่ใช่อาจารย์ประเภทที่บอกว่าผมคือผู้รู้พหูสูต คุณต้องมาฟังความรู้จากผมเท่านั้น เพราะความจริงแล้วความรู้อยู่ในหนังสือ อยู่ในมือถือคุณนี่ไง การมาเรียนในห้องทุกวันนี้ผมคิดว่าไม่ใช่การมาเอาความรู้เหมือนสมัยก่อน แต่เป็นการมาเก็บเกี่ยวเอา Wisdom มาเอาความคิด วิจารณญาณ และมาเอาแรงบันดาลใจมากกว่า”

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์นอกกรอบที่แต่งชุดคอสเพลย์แบบไม่ซ้ำไปสอนประวัติศาสตร์

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographers

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ