‘ผัสสะการมองเห็น’ น่าจะเป็นผัสสะสำคัญที่ผู้คนส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ใช้รับข้อมูล และเป็นประตูส่วนตัวเพื่อทำความเข้าใจโลกแวดล้อม เรามองเห็นโลกอย่างไร ความคิดความเชื่อของเราที่มีต่อโลกย่อมเป็นแบบนั้น และความคิดความเชื่อของเราต่อโลกเป็นเช่นไร การกระทำของเราที่มีต่อตัวเองและชีวิตอื่นก็ย่อมเป็นไปแบบนั้น

คอลัมน์ Rewilding 101 ตอนนี้ เลยอยากชวนเพื่อน ๆ ล้อมวง เพื่อสำรวจการมองเห็นในแง่มุมของเราเอง ดูว่าเราจะเห็นมากกว่าสิ่งที่เรามองอย่างไร หรือจะถูกมองเห็น ในโลกที่มีสิ่งต่าง ๆ เรียกร้องการถูกยอมรับและมองเห็นได้อย่างไร ผัสสะการมองเห็นของเราทุกคนที่จะค่อย ๆ ประกอบกัน จะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นคืนความสัมพันธ์กับธรรมชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ในฐานะสมาชิกสำคัญหนึ่งของระบบนิเวศ

Seeing is Believing

ก่อนจะอ่านต่อไป อยากให้เพื่อน ๆ ทำแบบทดสอบสั้น ๆ เพื่อทดสอบการมองเห็นของเราเองจากวิดีโอ ‘Gorilla Basketball Experiment’ แล้วดูสิว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ในชั่วขณะหนึ่งของเฟรมภาพที่เรามองเห็น น่าจะเต็มไปด้วยเหตุการณ์และข้อมูลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์หรือข้อมูลที่ปฏิสัมพันธ์กับเราโดยตรง ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานที่ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับเรา หากเราไม่มีกลไกของสมองที่เลือกรับข้อมูลบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับเรา และเลือกโยนข้อมูลที่สมองคิดว่าไม่จำเป็นทิ้งไป พวกเราทุกคนอาจจะเป็นบ้าจากสภาวะข้อมูลที่ท่วมท้นก็เป็นได้

ยิ่งในโลกที่ทุกวินาทีมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะถูกปลุกเร้าด้วยข้อมูลมหาศาล เพื่อให้เราเห็นและเชื่อ จนเราตัดสินใจรับข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของเรา หรือไม่ก็ตัดสินใจรับสินค้าและบริการนั้น ๆ การเห็นของเราจึงมีส่วนสำคัญที่พาโลกและความสัมพันธ์ที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ มาถึงจุดนี้

น่าสนใจว่าในก้อนข้อมูลที่กลไกทางสมองของเราเลือกโยนทิ้งไป บางครั้งอาจมีข้อมูลที่สำคัญกับเรามากในระยะยาว แต่เรากลับไม่เห็นมัน เพราะกลไกอัตโนมัติของสมองที่เราค่อย ๆ สั่งสมมานี้ ช่วยทำให้เราปลอดภัยและรู้สึกสบายใจในระยะสั้น ซึ่งธรรมชาติของสมองเลือกให้ความสนใจในสิ่งที่เคลื่อนไหวมากกว่าสิ่งที่หยุดนิ่ง

หากลองนึกย้อนกลับไป มนุษย์ส่วนใหญ่ก็ถูกเลี้ยงและกระตุ้นพัฒนาการด้านการมองเห็นมาแบบนั้น ตั้งแต่สมัยยังเป็นทารกตัวน้อย ผ่านของเล่นที่เคลื่อนไหว เสียงเพลงที่คอยกระตุ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สิ่งที่เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงได้ช้าในโลกที่ไม่เคยนิ่งเงียบ เช่น สถานที่ ต้นไม้ ผืนดิน หรือสัตว์เล็ก ๆ รอบตัว จึงไม่ได้อยู่ในโฟกัสหลักของเรา

ดังนั้นโลกที่เราเห็นและเชื่อว่ามันเป็นแบบนั้น อาจเป็นโลกคนละใบกับโลกที่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ดำรงอยู่ และการเห็นโลกในสายตาแบบที่เราเป็นอยู่ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเหนื่อยล้าอย่างไม่มีเหตุผล ว้าวุ่นใจกับอะไรที่เราก็บอกได้ไม่ชัด หลายครั้งเราเห็นอะไรมากมาย แต่จดจำรายละเอียดและความรู้สึกที่สำคัญไม่ได้ พบเจอผู้คนมากมายในแต่ละวัน แต่อาจจะไม่เคยสัมผัสแววตาของกันและกัน เพราะมันมีสิ่งที่ดูเหมือนจะน่าสนใจกว่าสิ่งที่อยู่นิ่ง ๆ ตรงนี้ รอเราอยู่ในวินาทีถัดไปเสมอ

Sit Spot การนั่งเฉย ๆ สังเกตสิ่งรอบตัว ไม่ Productive แต่ได้เข้าถึงโลกใหม่ในธรรมชาติ

Seeing is Connecting

อ่านมาถึงตรงนี้ อยากจะชวนเพื่อน ๆ แบ่งปันเรื่องราว ว่าแต่ละคนเคยมีประสบการณ์รู้สึกเชื่อมโยงกับสถานที่และผู้คน หรือสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ ผ่านการมองเห็นอย่างไรบ้าง ไว้เขียนมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

ผมอยากจะแบ่งปันประสบการณ์การมองเห็นและถูกมองเห็น ที่ประทับอยู่ในใจและยังจดจำบรรยากาศและความรู้สึกได้ดี ตอนสมัยยังช่วยงาน อาจารย์จุลพร นันทพานิช ผมได้เดินเท้าเข้าไปสำรวจบ้านเรือนของพี่น้องชาวปกาเกอะญอแถวลุ่มแม่น้ำเงา เราเดินเท้ากัน 3 วันเต็ม เพื่อจะเดินเข้าไปในหมู่บ้านติดชายแดนพม่า หมู่บ้านของผู้คนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติมาตั้งแต่บรรพกาล เราผ่านหุบห้วยที่มีเสียงชะนีร้อง และหมู่บ้านที่มีชื่อราวกับนิทานอย่าง ทีทอท เมโงโก และ เมโลเด บ้านเรือนที่เราเห็น เป็นบ้านที่มีหลังคาคล้ายกับตัวนิ่ม บ้านที่ทำด้วยมือและเป็นส่วนหนึ่งของผืนดินอย่างไม่แปลกแยก

บ่ายวันที่สอง ช่วงที่เราเดินผ่านทุ่งนาร้อน ๆ มาทั้งวัน พอตกบ่ายที่เราถึงชายหมู่บ้านฝนเริ่มตกหนัก จนเราต้องหาที่หลบใต้ชายคาบ้านหลังหนึ่ง ฝนตกอยู่นานจนเราต้องขอขึ้นไปหลบที่ชานระเบียงบ้าน แล้วเราก็เผลอหลับไปตอนไหนก็ไม่รู้ด้วยความเหนื่อย ตื่นมาอีกที มีแววตาของเด็กผู้หญิงในชุดเชวาสีมอม ๆ ตัวหลวม ๆ นั่งกอดเข่าจ้องมองพวกเราอยู่ตรงระเบียงบ้าน น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าถูกมองเห็นในลักษณะนี้จากสายตามนุษย์ เป็นสายตาที่ทั้งสงบและมีความรู้สึกตัวอยู่ในนั้น เป็นสายตาที่ให้พื้นที่กับสายตาของเรา ที่จะมองกลับไปแบบไม่หลบตาโดยปราศจากคำพูด มันให้เรารู้สึกลึก ๆ ถึงความเชื่อมโยงกับห้วงขณะตรงนั้น บรรยากาศ กลิ่นของสถานที่ และผู้คนที่แม้ไม่รู้จักชื่อ ได้มานอนอยู่ในเรือน ที่ไม่ได้เป็นเพียงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไว้ให้คนนอกอย่างเรามาศึกษาแล้วจากไป

Sit Spot การนั่งเฉย ๆ สังเกตสิ่งรอบตัว ไม่ Productive แต่ได้เข้าถึงโลกใหม่ในธรรมชาติ
Sit Spot การนั่งเฉย ๆ สังเกตสิ่งรอบตัว ไม่ Productive แต่ได้เข้าถึงโลกใหม่ในธรรมชาติ

ความรู้สึกของการเห็นและการถูกมองเห็นแบบนี้ ยังเกิดขึ้นอีกหลายครั้งทั้งกับมนุษย์ที่เรามีโอกาสพบเจอหรือสัตว์ อย่างเนื้อทราย ที่จะพบได้บ่อย ๆ บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติห้วยอุโมงค์ตีนดอยสุเทพ เวลาไปเดินในป่าตามลำพัง ห้วงขณะของสายตาที่สัตว์ป่ามองเราอย่างสงบและตื่นตัว หลายครั้งช่วยทำให้เราได้กลับมาเห็นตัวเองอีกครั้ง ตัวเองที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกทางนิเวศที่ใหญ่กว่าความคิดของเรา

อัลโด ลีโอโปลด์ (Aldo Leopold) นักนิเวศวิทยาชาวอเมริกัน ถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมาได้อย่างหมดจด ผ่านประสบการณ์ช่วงที่เขาเห็นประกายสีเขียวของแววตาหมาป่าที่ถูกเขายิงค่อย ๆ มอดดับลง การเห็นครั้งนั้นได้เปลี่ยนสำนึกของเขาที่มีต่อโลกแวดล้อม จากโลกที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางไปสู่สำนึกใหม่ที่เห็นโลกเป็นสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึกและการรับรู้ โดยมีเราอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในนั้น

ความรู้สึกของการมองเห็นและถูกมองเห็นแบบนี้ละมั้ง การเห็นที่ไปพ้นกลไกอัตโนมัติของสมองของเรา ที่โยนบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญทิ้งไป เราจึงเห็นโลกในมุมแบบที่เราพอใจจะเห็น ตัดสินใจจากการเห็นเพราะคิดว่าโลกมันก็เป็นแบบนั้น มีข้อมูลมากมายผ่านการเห็น แต่อาจจะไม่ได้สลักสำคัญกับความรู้สึกภายในของเรา ในขณะที่ลึก ๆ แล้วเราต่างก็โหยหาการเห็นจากกันและกันด้วยสายตาแบบนี้ เพื่อเติมเต็มช่องว่างของ ‘ความสัมพันธ์’ อันเป็นต้นธารหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสุข’

จาก Gorilla Basketball Experiment ถึง Sit Spot การนั่งนิ่ง ๆ แล้วใช้การมองเห็น เชื่อมเราเข้ากับทุกสรรพสิ่ง

Seeing is Presencing

แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างล่ะ ถึงจะกลับไปเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็น มองเห็นเพื่อให้เราอยู่ตรงนั้นจริง ๆ และรับรู้ถึงความเป็นทั้งหมดของสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก และการมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่เราอาจจะชอบและไม่ชอบ โดยมีผัสสะอื่น ๆ และดวงตาของเราเป็นเครื่องมือในการทำความรู้จักและสังเกตความเป็นไปของโลก

จอน ยัง (Jon Young) นักธรรมชาติวิทยา ผู้เป็นมัคคุเทศก์ทางธรรมชาติคนสำคัญแห่งยุคสมัย ได้รวบรวมวิธีการเชื่อมโยงเรากับโลกผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ เขาแนะนำกิจกรรมที่เรียกว่า ‘Sit Spot’ ให้เรา ลองให้ฝึกฝนและทำอย่างต่อเนื่อง อาจจะเริ่มต้นด้วยการหาสถานที่ที่เรานั่งอยู่อย่างเงียบ ๆ โดยไม่ถูกรบกวน อาจจะเป็นชายป่าใกล้บ้าน ในมุมใดมุมหนึ่งของสวนสาธารณะ สวนภายในบ้าน หรือตรงระเบียงที่มองออกไปภายนอกได้ ควรจะเป็นที่ที่เราไปนั่งได้บ่อย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่นั่งตรงนั้นเฉย ๆ อย่างน้อยสัก 15 นาทีขึ้นไป แล้วลองสังเกตสิ่งรอบตัว เพื่อบ่มเพาะสติและสัมปชัญญะในสถานที่แห่งนั้น

หากเราทำได้บ่อย ๆ ในสถานที่ที่เราค่อย ๆ คุ้นเคย เราอาจเริ่มเห็นสิ่งที่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน เช่น การเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ในแต่ละช่วงวันหรือฤดูกาล ความรู้สึกของสถานที่ที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบของชีวิตอื่น ๆ นับพัน วิธีการแบบนี้อาจดูแปลกสำหรับเราที่ไม่คุ้นเคยกับการไม่ทำอะไรเลยในสังคมที่ให้ค่ากับความ Productive ตลอดเวลา แต่วิธีนี้ค่อนข้างธรรมชาติ น่าจะคล้ายกับชาวบ้านที่คุ้นเคยกับป่า รู้จักป่า และเห็นรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแบบที่เราในฐานะคนที่ไม่คุ้นเคยกับป่านั้นไม่มีทางมองเห็น

ทอม บราวน์ ธรี (Tom Brown III) นักแกะรอยในป่า อธิบายว่า เวลาเราเดินในป่าหรือไปตามสถานที่ต่าง ๆ จะมีคลื่นพลังงานที่เราแผ่ออกมาจากตัวเป็นวงรัศมี (Concentric Ring) และเคลื่อนที่ไปพร้อมกับเรา สัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รับรู้ถึงพลังเหล่านี้ได้ เขาจึงหลบอยู่เงียบ ๆ เฝ้ามองเวลาเราเดินไปในพื้นที่ของเขา เราจึงเป็นเพียงคนผ่านทางในโลกของสัตว์และสิ่งมีชีวิต ในขณะที่พวกเขามองเราอยู่ แต่เรากลับไม่เห็นเขา

จาก Gorilla Basketball Experiment ถึง Sit Spot การนั่งนิ่ง ๆ แล้วใช้การมองเห็น เชื่อมเราเข้ากับทุกสรรพสิ่ง

หากเรานั่งนิ่ง ๆ อยู่ตรงนั้นสัก 30 นาที ร่างกายและลมหายใจของเราที่เริ่มสงบ จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ คลื่นพลังงานของเราจะถูกปรับจูนให้เป็นคลื่นเดียวกันกับสถานที่ตรงนั้น ตรงที่สิ่งต่าง ๆ ร่วมกันอยู่ จนกว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอื่นหรือพลังงานอื่นเข้ามารบกวนและจากไป คลื่นพลังงานของสถานที่และชีวิตตรงนั้นจะกลับเข้าสู่สภาวะดั้งเดิมอีกครั้ง

นี่เป็นวิธีที่พรานในอดีตใช้ล่าสัตว์ ชนเผ่าหลายวัฒนธรรมในโลกเข้าป่าเพื่อเห็นปัญญาในธรรมชาติ รวมทั้งนักธรรมชาติวิทยาหรือนักนิยมไพรในปัจจุบันใช้ผสานตนเองเข้ากับโลกทางธรรมชาติ

วิธีการและเรื่องราวที่เล่ามานี้ อาจฟังดูเป็นเรื่องราวของผู้คนและวิถีปฏิบัติที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรา หากเราลองจินตนาการเล่น ๆ ว่า ตัวเราและผู้คนที่เราพบเจอก็ไม่ต่างจากสัตว์นานาชนิดในป่า ที่มีทั้งดูน่ากลัว น่าเอ็นดู หวาดกลัว หรือสวยงามน่าดึงดูด และสถานที่อย่างที่ทำงาน ห้องประชุม โรงเรียน หรือเมืองที่เราอยู่ร่วมอาศัย เป็นสภาพนิเวศหนึ่งที่ไม่ต่างจากป่า เราก็น่าจะรู้สึกถึงประสบการณ์แบบที่ ทอม บราวน์ ธรี อธิบายได้ไม่ยาก

เราต่างเคยรับรู้ถึงบรรยากาศของพลังงานที่เปลี่ยนไป เวลามีใครเดินเข้ามาในห้องประชุม มวลอากาศในรถไฟฟ้า หรือบรรยากาศของสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองของเรา สถานที่เหล่านี้ต่างเป็นสถานที่ที่เรามองเห็นและถูกมองเห็น และอาจมองไม่เห็นและไม่ถูกมองเห็น หลายครั้งเราอาจจะเป็นสัตว์ป่าที่ตื่นกลัว ซ่อนอยู่และเฝ้ามองสัตว์อื่น ๆ ให้ผ่านไป ในขณะที่สัตว์ผู้ล่าก็ไม่คิดว่าโลกของมันมีเราซ่อนอยู่มุมใดมุมหนึ่ง เพราะอัตลักษณ์และการมีอยู่ของเราไม่ถูกรับรู้และปรากฏเห็น

หากมองจากมุมพระเจ้า เมืองของเราน่าจะเต็มไปด้วยคลื่น Concentric Ring ที่ว้าวุ่น แต่ในทางกลับกัน หากสถานที่นั้นเป็นที่ที่เราคุ้นเคยและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง เราจะเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็นง่ายขึ้น เชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และผู้คนอื่น ๆ ง่ายขึ้น การเห็นในแบบนี้มีส่วนสำคัญในการทำให้องค์ประกอบที่มีชีวิตในสถานที่แห่งนั้นกลับเข้าสู่สภาวะดั้งเดิมได้ดีขึ้น เราอาจจะเริ่มเห็นความงามของสิ่งต่าง ๆ ตามสามัญลักษณะของมัน พอเรารู้จักและเห็นความงามของสิ่งใด เราอาจจะรักษาและดูแลมันมากขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ตามใจของเราน้อยลง

จาก Gorilla Basketball Experiment ถึง Sit Spot การนั่งนิ่ง ๆ แล้วใช้การมองเห็น เชื่อมเราเข้ากับทุกสรรพสิ่ง
จาก Gorilla Basketball Experiment ถึง Sit Spot การนั่งนิ่ง ๆ แล้วใช้การมองเห็น เชื่อมเราเข้ากับทุกสรรพสิ่ง

Seeing is Rewilding

Sit Spot อาจจะไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมของนักธรรมชาติวิทยา ที่จะใช้มองเห็นความงามตามธรรมชาติของพื้นที่ธรรมชาติอย่างป่าเขาลำเนาไพร แต่น่าเป็นแบบฝึกหัดสำคัญของคนในยุคสมัยของเรา ที่จะค่อย ๆ ฟื้นคืนความสามารถในการมองเห็นของเราเอง การเห็นเพื่ออยู่ตรงนั้น และเป็นสักขีพยานของทั้งความสุข ความทุกข์ ความหวังและสิ้นหวัง ของชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศที่เราอยู่อาศัย ความสัมพันธ์หรือการเชื่อมโยงที่ว่านี้ อาจจะไม่ได้เต็มไปด้วยเรื่องดี ๆ ชวนฝัน หากแต่เป็นสายสัมพันธ์ที่ผูกโยงตัวเราเข้ากับสิ่งต่าง ๆ ที่เราจะไม่รู้สึกเพิกเฉย การมองเห็นที่ว่าจึงเป็นการโอบอุ้มความเป็นทั้งหมด

ดีพัค โชปา (Deepak Chopra) แพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย เคยอธิบายความหมายของคำว่า ‘ความเป็นทั้งหมด’ หรือ Wholeness ว่าคำคำนี้มีรากศัพท์มาจากคำว่า Holy ที่แปลว่า ‘ศักดิ์สิทธิ์’ และความรู้สึกที่เรา ‘โอบอุ้ม’ สิ่งต่าง ๆ เพราะเราเชื่อว่าโลกนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ ทุกชีวิตมีความศักดิ์สิทธิ์และจิตวิญญาณ หากเราสามารถฟื้นคืนศักยภาพในการมองเห็นของเรา เพื่อทำให้การเห็นของเรามีคุณลักษณะของการโอบอุ้ม Seeing is Holding ความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวน่าจะเปลี่ยนไปไม่น้อย

หากสถานที่ที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ชุมชน ในย่าน หรือเมือง โรงเรียน โรงพยาบาล หรือแม้แต่สถานที่ทำงาน มีที่ที่จะเป็น Sit Spot ให้เราได้นั่งเงียบ ๆ ได้ มีมุมดี ๆ ที่เราจะได้มองออกไปเพื่อเชื่อมโยงความเป็นไปของโลกภายนอกและชีวิตอื่น ๆ หรือมีที่ว่างที่เราจะได้นั่งล้อมวงและมองเห็นแววตากันและกันให้มากขึ้น สถานที่รอบตัวของเราในอนาคตน่าจะเปลี่ยนไปจากแบบที่เรารู้จักมาก ๆ เราจะมองเห็นสิ่งที่ไม่เคยถูกมองเห็นและใส่ใจมันมากขึ้น ในฐานะสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีความรู้สึกและจิตวิญญาณ

จาก Gorilla Basketball Experiment ถึง Sit Spot การนั่งนิ่ง ๆ แล้วใช้การมองเห็น เชื่อมเราเข้ากับทุกสรรพสิ่ง

Writer & Photographer

Avatar

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

สถาปนิกผู้ก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอและคุณพ่อลูกหนึ่ง ที่สนใจงานฟื้นฟูธรรมชาติผ่านงานออกแบบ กำลังหัดเขียนสื่อสารเรื่องราวการเรียนรู้จากธรรมชาติ และประสบการณ์ rewilding