‘สิริ ศาลา’ เป็นชื่อที่วนเวียนในหัวเราอยู่ปีสองปี ถึงการ ‘จะ’ เกิดขึ้นของวิลล่าส่วนตัวริมแม่น้ำ

ไม่นานนัก ก่อนเรายกหูเครื่องมือสื่อสารถึงเจ้าบ้าน ก็ได้ยลภาพ สิริ ศาลา ฉบับเสร็จสมบูรณ์ คงไม่ต้องกระซิบว่าหัวใจรัวเป็นกลองจังหวะอะไร ยอมรับว่าตื่นเต้นที่จะทำความรู้จักและล้อมวงสนทนาในบ้านไทยบรรยากาศสบาย ๆ

เราเดินโต๋เต๋ย่านจรัญสนิทวงศ์ พลางคิดในใจว่าวิลล่าที่เป็นหมุดหมายจะซ่อนแอบอยู่ตรงไหน มองซ้าย มองขวา ก็เห็นแต่บ้านเรือนและผู้คน พอนาฬิกาส่งเสียงแจ้งเวลานัดหมาย ก็รีบจ้ำอ้าวเข้าซอย จนเจอวิลล่าริมคลองบางกอกน้อยที่ซุกซ่อนตัวอยู่ข้าง ๆ เพื่อนบ้านชุมชนริมน้ำ ไม่หวือหวา ไม่แปลกแยก ทว่ากลมกลืนกับบริบทโดยรอบอย่างน่ารัก

เกริ่นให้คุณฟังมายืดยาว ขอชวนเดินสำรวจ สิริ ศาลา ด้วยกัน, ก่อนจะถึงตัวบ้าน ต้องเดินลัดเลาะกำแพงสีขาวสะอาดตา ที่ถูกแต่งแต้มด้วยผักสวนครัวกินได้สีเขียวขจี แถมส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ชวนผ่อนคลาย เผลอเพลินใจสักพัก กีรติ เทพโสพรรณ และ เออร์มา โก (Irma Go) สองเจ้าบ้านก็ออกมาต้อนรับด้วยท่าทีอบอุ่นและเป็นกันเอง 

คู่สามีภรรยาเชื้อเชิญเรานั่งในห้องสมุดขนาดจิ๋วใต้ถุนบ้าน เพื่อพูดคุยถึงที่มา-ที่ไปของการอนุรักษ์บ้านไทย ด้วยการปรับโฉมเป็นวิลล่าส่วนตัวที่เปิดบ้านต้อนรับแขกผู้มาเยือน ให้มาสัมผัสเสน่ห์ของความเป็นไทยในอีกหนึ่งรูปแบบ

“แพสชันแรกของเราคือการอนุรักษ์ คอนเซ็ปต์ของเรา คืออยากให้แขกได้ทดลองใช้ชีวิตในอีกแบบหนึ่ง เพราะเราคิดว่ากรุงเทพฯ มันมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งที่ผมและคนทั่วโลกรู้จักกันอยู่แล้ว ส่วนด้านนี้เป็นด้านที่เราภูมิใจและยังไม่มีคนรู้จัก สิ่งที่เราสองคนอยากให้ สิริ ศาลา เป็น คือ วิลล่าแห่งแรกของกรุงเทพฯ ที่อยู่ริมคลองบางกอกน้อย”

เป็นเวลากว่า 5 ปี ตั้งแต่แรกพบยันจบงาน ที่เธอและเขาศึกษา เรียนรู้ เข้าใจ ‘ความเป็นไทย’ จนพร้อมส่งมอบประสบการณ์และความตั้งใจอันดี ที่ต้องการอนุรักษ์บ้านไทย อันรวมวิถีชีวิตของผู้คนริมน้ำ ผ่านการสร้าง สิริ ศาลา วิลล่าส่วนตัวขนาด 3 เรือน บนพื้นที่ 1 ไร่นิด ๆ ซึ่งตระกูลเจ้าของเดิมสร้างเป็นที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 

ขนมไทยและชาเย็นชื่นใจถูกยกมาเสิร์ฟ เพื่อแกล้มกับเรื่องเล่าที่คุณและเราจะได้สดับรับฟังด้วยกัน

แรกพบ สบตา

Siri Sala : บูรณะเรือนเก่าร้อยปีสมัย ร.6 เป็นวิลล่าส่วนตัวสุดอบอุ่นริมคลองบางกอกน้อย

“ตอนปี 2016 ภรรยาผมเจอบ้านหลังนี้ครั้งแรก…” กีรติเกริ่นถึงรักแรกพบของภรรยา

ขณะเออร์มาล่องเรือหางยาวเที่ยวคลองบางกอกน้อยกับครอบครัวและเพื่อนพ้อง เธอก็สะดุดตากับบ้านและป้ายประกาศขาย จนกลับมารบเร้าให้สามีช่วยยกหูถึงเจ้าบ้าน เพราะภาษาไทยเธอไม่แข็งแรง (เออร์มาเป็นสาวฟิลิปปินส์) แต่จนแล้วจนรอดภารกิจซื้อบ้านริมคลองก็ไม่สำเร็จ ด้วยเบอร์ติดต่อที่แนบไว้ดันไร้การตอบรับจากปลายสาย 

“แต่ในใจของเออร์มายังคิดถึงบ้านหลังนี้อยู่ตลอด เขาเคยเปรยกับผมว่า ด้วยความที่เขาเป็นคนต่างชาติ เขาเห็นว่าประเทศไทยดูแลรักษาเฉพาะวัดกับพระราชวัง พอเป็นบ้านคนธรรมดากลับไม่มีกฎหมายหรือใครเข้ามาดูแล 

“1 ปีผ่านไป เขาก็ยังติดใจ จนขอให้ผู้ช่วยของผมช่วยหาบ้านริมน้ำให้” กีรติเล่า

Siri Sala : บูรณะเรือนเก่าร้อยปีสมัย ร.6 เป็นวิลล่าส่วนตัวสุดอบอุ่นริมคลองบางกอกน้อย

‘บ้านริมน้ำแถวไหนไม่รู้’ คือคำสำคัญที่เออร์มาส่งต่อให้ผู้ช่วยสำหรับภารกิจตามหา ‘บ้านริมน้ำแถวไหนไม่รู้’ – แต่ด้วยโชคชะตา ฟ้าลิขิต หรือเว็บไซต์ค้นหาอันดับหนึ่งอย่าง Google ก็ไม่ทราบ ที่ทำให้เธอเจอบ้านหลังนั้นอีกครั้ง

สาวเจ้ากับมาเล่าให้สามีฟังถึงประวัติความเป็นมาของบ้านไทย 3 หลัง ในพื้นที่ 1 ไร่นิด ๆ เลียบคลองบางกอกน้อยว่า บ้านหลังแรกถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยตระกูลเจ้าของเดิมทำอาชีพเกี่ยวข้องกับการเก็บภาษี ก่อนจะสร้างบ้านอีกสร้างหลังตามวาระโอกาสและจำนวนลูกหลาน กระทั่งเหตุการณ์น้ำท่วมมาเคาะถึงหน้าเรือน บ้านไม้ได้รับความเสียหายมากเกินกว่าทายาทรุ่นปัจจุบันจะดูแลไหว จึงเป็นสาเหตุให้ตัดสินใจแขวนป้ายประกาศขาย 

“เออร์มาไม่เคยอยากได้อะไรมากขนาดนี้มาก่อน” ฝ่ายชายพูดด้วยรอยยิ้ม “ในที่สุดเราก็ซื้อบ้านหลังนั้นมา โดยเออร์มามีความตั้งใจอยากจะบูรณะ แต่พอคุยกับสถาปนิกที่เชี่ยวชาญ เขาบอกว่า สภาพบ้านไม่สามารถรักษาได้ ไม่ปลอดภัยหากบูรณะทั้งหมด เขาเลยต้องถมที่ดินและทำใหม่ แต่สุดท้ายเราก็เก็บบ้านที่สมบูรณ์ที่สุดไว้หนึ่งหลัง” 

นั่นคือ เรือนทรงปั้นหยา ที่มีเสาเดิม พื้นเดิม หน้าต่างเดิม และประตูเดิม (เปลี่ยนแค่ฝาบ้านและหลังคา)

Siri Sala : บูรณะเรือนเก่าร้อยปีสมัย ร.6 เป็นวิลล่าส่วนตัวสุดอบอุ่นริมคลองบางกอกน้อย
Siri Sala : บูรณะเรือนเก่าร้อยปีสมัย ร.6 เป็นวิลล่าส่วนตัวสุดอบอุ่นริมคลองบางกอกน้อย

ส่วนการบูรณะ ‘เรือนเดิม’ ให้เหมือนเดิมที่สุด เป็นฝีมือของช่างผู้เชี่ยวชาญจากอยุธยา ที่เออร์มาและกีรติจับมือกันทัวร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดราชบุรี เพื่อหาช่างฝีมือดีที่เข้าใจและชำนาญด้านการสร้างและอนุรักษ์บ้านไทย เดิมทีเรือนปั้นหยาหลังนี้เคยเป็นเรือนนอนขนาด 3 ห้อง สองเจ้าบ้านแปลงโฉมใหม่เป็น ‘Heritage Bar’ ห้องอเนกประสงค์สำหรับทุกคน จะมานั่งเล่น นอนเล่น จิบเครื่องดื่มมีสี ฟังดนตรีดี ๆ หรือแลกเปลี่ยนบทสนทนาก็ได้

Siri Sala : บูรณะเรือนเก่าร้อยปีสมัย ร.6 เป็นวิลล่าส่วนตัวสุดอบอุ่นริมคลองบางกอกน้อย
Siri Sala : บูรณะเรือนเก่าร้อยปีสมัย ร.6 เป็นวิลล่าส่วนตัวสุดอบอุ่นริมคลองบางกอกน้อย

ก่อนเดินสำรวจวิลล่า เราโยนคำถามให้หญิงสาวชาวฟิลิปปินส์ตรงหน้า (คิดว่าคุณอาจสงสัยเหมือนกัน)

อะไรเป็นเหตุผลให้คุณอยากอนุรักษ์บ้านเก่าร้อยปีริมน้ำหลังนี้ – เราถาม

“สารภาพตามความจริง ฉันก็ไม่รู้” เธอพูดขึ้นทันที “แต่เมื่อเดินเข้ามาในบ้านหลังนี้ มันมีความรู้สึกแรงกล้าบางอย่าง และฉันอยู่ประเทศไทยมา 21 ปี กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปมากจากเมื่อ 20 ปีก่อน และวิถีชีวิตแบบนี้กำลังจะหายไป ซึ่งบ้านหลังนี้ยังมีสภาพเหมือนเดิมกับเมื่อร้อยปีก่อน มันพิเศษมาก ๆ ขณะเดียวกันฉันคิดว่าเราควรจะรักษาและหาวิธีแบ่งปันวิถีชีวิตแบบนี้ให้กับคนอื่น ๆ ให้เขามาสนุกกับวิถีสมัยใหม่ของเขา บนพื้นที่ความเป็นไทยที่ควรอนุรักษ์”

สิริ ศาลา

สิริ ศาลา ประกอบด้วยเรือน 3 หลัง ได้แก่ เรือนบางกอกน้อย เรือนหอ และเรือนสิริ 

กีรติและเออร์มาเตรียมรองเท้าแตะคู่สบายให้เราเปลี่ยนก่อนเดินขึ้นบันไดชมชั้นสองของวิลล่า ฝ่ายชายรับหน้าที่เล่าเรื่องราวอย่างคล่องแคล่ว เขาหยุดหน้า ‘เรือนบางกอกน้อย’ พร้อมผายมือ ยิ้มหวาน ชวนเราเข้าไปสำรวจด้านใน

“ห้องนี้ผมได้แรงบันดาลใจจากคลองบางกอกน้อย ภาพวาดด้านบนก็ได้แรงบันดาลใจจากวัดสุวรรณาราม ที่อยู่ตรงข้ามกับเรา เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ด้านในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังสวยมากครับ ผมเลยให้ศิลปินที่รู้จักกันมาวาดภาพให้ เป็นภาพปลาพันธุ์ต่าง ๆ ที่พบในคลองบางกอกน้อย” เขาเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย

เรื่องราวของคู่รักที่บูรณะเรือนเก่าร้อยปีเป็นที่พัก ให้แขกสัมผัสความเป็นไทยและเสน่ห์ชุมชนริมน้ำ
เรื่องราวของคู่รักที่บูรณะเรือนเก่าร้อยปีเป็นที่พัก ให้แขกสัมผัสความเป็นไทยและเสน่ห์ชุมชนริมน้ำ

ภายในห้องตกแต่งด้วยเครื่องเรือนสภาพเอี่ยมของคุณป้าเจ้าของเดิม แถมกีรติยังมีโอ่งมังกรในห้องน้ำ ให้แขกต่างชาติสัมผัสความฟินฉบับไทย ๆ ของการใช้ขันจ้วงน้ำเย็นเฉียบจากโอ่งมาสาดลงผิวกาย แค่นึกก็สดชื่นทันตา

“พอคุณป้า (เจ้าบ้านเดิม) แต่งงานปุ๊บ คุณพ่อก็สร้างเรือนหอให้ตรงนี้” เขาเกริ่น พร้อมพาเราเดินไปห้องฝั่งตรงข้าม “ห้องนี้เป็นเรือนหอจริง ๆ ของคุณป้า ตอนแรกที่ผมมาเห็น ติดวอลเปเปอร์เต็มเลย ส่วนเตียงตรงนั้นก็เป็นเตียงแต่งงานของคุณป้า สีแปลกมาก เป็นสีเทอร์ควอยซ์ แต่ผมทำสีใหม่ให้คล้ายเดิม และเพิ่มความยาวของเตียง”

เรื่องราวของคู่รักที่บูรณะเรือนเก่าร้อยปีเป็นที่พัก ให้แขกสัมผัสความเป็นไทยและเสน่ห์ชุมชนริมน้ำ

เราร้องโอ้โฮตั้งแต่แรกเห็น เตียงสีสวยโดนใจ ส่วนตู้และโต๊ะเครื่องแป้ง คุณป้าก็มอบให้ เพื่อเสริมความเป็น ‘เรือนหอ’ เจ้าบ้านให้ศิลปินวาดภาพสื่อรัก อีกด้านเป็นการพบรักของนกสองตัวที่กำลังชวนกันสร้างรัง ส่วนอีกด้านเป็นครอบครัวเต่า ซ่อนความหมายถึงครอบครัวและการครองรักยืนยาว (แค่เรื่องราวก็หวานหยด จนอยากออกเรือน)

เรื่องราวของคู่รักที่บูรณะเรือนเก่าร้อยปีเป็นที่พัก ให้แขกสัมผัสความเป็นไทยและเสน่ห์ชุมชนริมน้ำ
เรื่องราวของคู่รักที่บูรณะเรือนเก่าร้อยปีเป็นที่พัก ให้แขกสัมผัสความเป็นไทยและเสน่ห์ชุมชนริมน้ำ

ถ้าคุณยังเพลิดเพลิน ขอชวนขยับเท้าเดินกันต่อ เปิดประตูเยือน ‘เรือนสิริ’ เป็นเรือนที่หน้าตาโมเดิร์นขึ้นมาหน่อย การออกแบบเลยทันสมัยตามกัน กีรติบอกว่าเรือนนี้มีห้องที่มีทีวีและเกม ลูก ๆ ของเขาชอบมากเป็นพิเศษ

ความพิเศษของ เรือนสิริ คือ ออกแบบให้มีห้องย่อยถึง 4 ห้อง คือ เรือนสิริสันต์ เรือนสิริเกษม เรือนสิริสุข และเรือนสิริฤดี ซึ่ง 3 เรือนข้างต้นตั้งอยู่บนชั้นสองข้างบ้าน ส่วนเรือนสิริฤดี ตั้งอยู่ชั้นล่าง มาพร้อมวิวสวนเขียวขจีและอ่างอาบน้ำกลางแจ้ง (บรรยากาศดีมาก ฝาบ้านเก่าที่กั้นความเป็นส่วนตัวก็สวยคลาสสิกสุด ๆ) ซึ่งเรือนหลังนี้ก็ปรับการใช้งานได้อเนกประสงค์ เป็นมากกว่าห้องนอน บางทีก็เป็นห้องทำสปาและนวดผ่อนคลาย เหมาะกับผู้สูงอายุด้วยนะ เพราะไม่ต้องก้าวเดินขึ้นบันไดให้ปวดเมื่อย แถมเป็นมิตรกับเพื่อนสัตว์สี่ขา มาพักผ่อนทั้งทีก็คลุกคลีอยู่ด้วยกันได้ทั้งวัน

เรื่องราวของคู่รักที่บูรณะเรือนเก่าร้อยปีเป็นที่พัก ให้แขกสัมผัสความเป็นไทยและเสน่ห์ชุมชนริมน้ำ

บรรยากาศแวดล้อมก็ร่มรื่นและสดชื่นจากต้นไม้สีเขียวรอบบริเวณ ชอบมากที่ลมโกรกสบายตัว และมองเห็นวิวคลองบางกอกน้อยอยู่ไม่ไกล ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นวัดสุวรรณาราม ข้างเคียงเป็นเพื่อนบ้านชุมชนริมน้ำ ขอวกกลับเข้ามาใน สิริ ศาลา อีกครั้ง นอกจากเรือนใหญ่ทั้ง 3 เรือน ยังมีห้องนั่งเล่นเปิดโล่งใต้ถุนบ้านที่ออกแบบให้ใช้งานเป็นพื้นที่สารพัดประโยชน์ตามฉบับบ้านไทยสมัยก่อน

มีห้องสมุดขนาดกะทัดรัด บรรจุหนังสือประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทย พ่วงบอร์ดเกมสนุก ๆ และเฟอร์นิเจอร์โบราณอายุหลักร้อยปีจากเจ้าบ้านเดิมให้ชมจนเพลินตา

มีห้องอาหารกว้างขว้าง (สนุกตรงที่โต๊ะกินข้าวถูกตัดทอนมาจากแผ่นไม้จากฝาบ้านเดิม ยาวกว่า 6 เมตร) พร้อมครัวจิ๋วและอุปกรณ์ครบครัน ซึ่งเจ้าบ้านพยายามออกแบบตู้ให้เหมือนตู้กับข้าวสมัยเก่าแต่ดูร่วมสมัย บนตู้ก็วางด้วยข้าวของที่เจ้าบ้านเดิมเก็บไว้ให้ 

เรื่องราวของคู่รักที่บูรณะเรือนเก่าร้อยปีเป็นที่พัก ให้แขกสัมผัสความเป็นไทยและเสน่ห์ชุมชนริมน้ำ
เรื่องราวของคู่รักที่บูรณะเรือนเก่าร้อยปีเป็นที่พัก ให้แขกสัมผัสความเป็นไทยและเสน่ห์ชุมชนริมน้ำ

ในพื้นที่ยังมีสวนขนาดย่อมให้ตื่นมาฟังเสียงนกน้อยร้องเพลงรับอรุณ และนั่งผ่อนคลายยามตะวันลับขอบฟ้า หากเดินเข้าไปด้านในสุดติดของพื้นที่ มีสระน้ำเกลือเลียบคลองให้ออกแรงว่ายพอหอมปากพอหอมคอ และความใส่ใจของสามี-ภรรยา ที่เราว่าน่ารักดี คือ การแมตช์สีกระเบื้องให้เป็นโทนสีเดียวกับแม่น้ำ (เออร์มากระซิบว่า สีกระเบื้องหลังคา เธอก็ตั้งใจให้เป็นสีเดียวกับคลองบางกอกน้อย แน่นอน ไม่ใช่สีฟ้าสดใสในจินตนาการ แต่เป็นสีเขียวตุ่นที่ถอดแบบมา)

อีกอย่างที่สองเจ้าบ้านส่งเสริม คือ ของตกแต่งภายในวิลล่ามาจากศิลปินและดีไซเนอร์ชาวไทย ที่หยิบจับวัสดุไทย ทำงานกับช่างฝีมือไทย แต่ปรุงแต่งออกมาอย่างร่วมสมัย พอหยิบมาวางในเรือนไทยก็เก๋ไก๋ไปอีกแบบ

เรื่องราวของคู่รักที่บูรณะเรือนเก่าร้อยปีเป็นที่พัก ให้แขกสัมผัสความเป็นไทยและเสน่ห์ชุมชนริมน้ำ

มาเยือน วิลล่า

การเข้าพัก สิริ ศาลา ไม่เพียงหย่อนใจและเปิดประสบการณ์ความเป็นไทย กีรติและเออร์มายังเตรียมกิจกรรมให้ทำอีกเพียบ เพราะเขาและเธอเชื่อว่าการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่คัดสรรมา จะทำให้แขกได้สัมผัสวัฒนธรรมและเสน่ห์ชุมชนจริง ๆ อาทิ การตักบาตรยามเช้า คลาสเล็ก ๆ สอนพับดอกบัว จ่ายตลาด เก็บผักสวนครัว มาปรุงอาหารไทย นวดไทยสบายตัว โยคะร่างกายและจิตใจ เรียนมวยไทยกับค่ายมวยเพชรยินดี ล่องเรือสำรวจคลองบางกอกน้อย ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์บนคุ้งน้ำเจ้าพระยากับนักโบราณคดี และทัวร์ Hidden Gem รอบกรุงเทพฯ กับไกด์ท้องถิ่น

บางครา วิลล่าแห่งนี้ก็ถูกแขกผู้มาเยือนปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่ฉลองวันเกิด สถานที่จัดงานอีเวนต์ พื้นที่บรรเลงดนตรีแจ๊ส หรือดินเนอร์มื้อพิเศษแบบส่วนตัว ที่มีเชฟคอยออกแบบเมนูอาหาร รังสรรค์เมนูทั้งอาหาร-ขนมไทย อาหารตะวันตก และอาหารมังสวิรัติ ขอเพียงบอกความต้องการ กีรติ เออร์มา พ่อครัวและแม่ครัวรสมือดีพร้อมจัดให้! 

“สถานที่ของเราไม่ใช่ร้านอาหาร ไม่ใช่โรงแรม แต่มันคือ ‘บ้าน’ ผมอยากให้แขกที่มาพัก เขาได้ ‘เห็นชีวิต’ และ ได้ ‘ใช้ชีวิต’ จริง ๆ การมาอยู่ที่นี่เขา Customize ได้ทั้งหมด เพราะผมเชื่อว่าแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน

“เหมือนเวลาผมมีเพื่อนมาเยี่ยมบ้าน คงไม่มีเมนูอาหารให้เลือก แต่ผมคงรู้ใจเพื่อนคนนี้อยู่แล้วว่าเขาชอบหรือต้องการอะไร ซึ่งที่นี่ก็เป็นแบบนั้น ผมว่านี่มันคือหน้าที่ของบ้าน หน้าที่ที่ต้องต้อนรับขับสู้ให้ดีที่สุด ซึ่งมันธรรมดา ไม่ทางการ แต่กลับ Meaningful มาก ๆ” กีรติเล่าถึงความตั้งใจที่เขาอยากให้บรรยากาศแบบนั่นเกิดขึ้นที่นี่

“เราเปิดบ้านให้แขกเข้าพักครั้งละกลุ่ม แขกหรือครอบครัวก็เลยใช้บ้านได้ทั้งหลัง เขาจะได้รับความเป็นส่วนตัวเต็มที่ จะใส่ชุดนอนลงมากินข้าวก็ได้นะคะ” เออร์มาหัวเราะ “ที่นี่ไม่มีล็อบบี้ ไม่มีแขกคนอื่น เราอยากให้แขกที่มาได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยจริง ๆ ซึ่งไม่ใช่การช้อปปิ้ง แต่เป็นการล่องเรือหรือทำกิจกรรมที่ทำให้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น กิจกรรมบางอย่างของ สิริ ศาลา เราก็พยายามจ้างงานคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด”

เพราะเป็นน้องใหม่ของย่าน กีรติและเออร์มา จึงอยากผูกสายสัมพันธ์อันดีกับพี่ น้อง เพื่อนพ้อง ข้างเคียงละแวกชุมชนคลองบางกอกน้อย ด้วยการยินดีเข้าไปทำความรู้จัก เรียนรู้ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของคนที่นี่อย่างถ่อมตัว

“ตอนที่เราเพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ ๆ เพื่อนบ้านส่งบะหมี่ผัดมาให้เราสิบห่อ หรือตอนปีใหม่เขาก็ส่งคนมาบอกว่าจะร้องคาราโอเกะกัน อาจเสียงดังนิดหน่อย พวกเราก็ร้องแจมด้วยเลยครับ เพื่อนบ้านของเราน่ารักมากจริง ๆ 

“หรือวัดสุวรรณารามก็ตาม อาจเพราะตัวผมอยู่สุขุมวิทมานาน จนลืมไปว่าวัดสำคัญยังไง วัดเป็นศูนย์กลางของผู้คนและชุมชนยังไง จนกระทั่งมาอยู่ที่นี่ ทำให้ผมดื่มด่ำและเข้าใจสิ่งนั้นอย่างกระจ่าง จากการที่เจ้าอาวาสโทรมาชวนผมไปตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา วันลอยกระทงก็โทรมาชวนผมและลูก ๆ ไปลอยกระทงที่วัด พอท่านรู้ว่าผมทำที่พัก ก็แนะนำคนในชุมชนให้มาช่วยงานในด้านต่าง ๆ ท่านรู้จักทุกคนและเป็นศูนย์กลางจริง ๆ” กีรติเล่าความประทับใจ

เราว่าสิ่งสำคัญคือ เขาพยายามเชื่อมโยงกับชุมชน และพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วย

กลับมา เรียนรู้

“ผมอยากให้ สิริ ศาลา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเห็นประเทศไทยในอีกมุมมอง และความจริงที่สำคัญที่สุด ผมอยากให้แขกมีความสุขและได้เป็นตัวเองในบ้านของเรา ผมหวังว่าเขาจะสนุกและเห็นคุณค่าของชุมชนนี้

“การทำโปรเจกต์นี้ตลอด 5 ปี ทำให้ผมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เยอะมาก เข้าใจความเป็นไทยมากขึ้นด้วย และอีกอย่างผมไม่เคยทำงานกับภรรยามาก่อน ผมต้องชื่นชมเออร์มา ถ้าไม่มีเขา คงไม่มี สิริ ศาลา เพราะเขาเป็นคนแรกที่เห็นและเชื่อ ซึ่งการทำงานของผมก็ช่วยพาเขาไปถึงจุดที่ต้องการได้ บวกกับเรามีคนเก่ง ๆ รอบตัวคอยให้ความรู้อยู่ตลอด”

ความจริงที่เราไม่ได้บอกคุณ ทีแรกฝ่ายสามีไม่เห็นด้วยกับภารกิจซื้อบ้านริมน้ำของภรรยาสักเท่าไหร่

เราชวนกีรติย้อนถึงวันแรกที่รักแรกสมัย 18 ของเขาเอาโปรเจกต์นี้มาขาย เขามีท่าทีอย่างไรนะ

“ตอนที่เออร์มาติดต่อเบอร์นั้นไม่ได้ ผมโล่งอกเลย” เขายิ้ม 

“แต่สุดท้ายผมเห็นว่าเออร์มาเชื่อในสิ่งนั้นจริง ๆ เขามี Good Vision ผมเลยต้อง Trust the Vision นั้น ผมมองว่าชีวิตคู่มันคือการซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน และครั้งนั้นเป็นครั้งที่เออร์มาเชื่อ หน้าที่ของผมคือซัพพอร์ตสิ่งนั้น” 

ในวันนี้ วันที่ความพยายามตลอด 5 ปีของกีรติและเออร์มาสัมฤทธิ์ผล บ้านเก่าร้อยปีบนที่ดินริมน้ำถูกบูรณะและวิถีชีวิตแบบไทยก็ถูกอนุรักษ์ โดยมีเบื้องหลังเป็นการเรียนรู้และเข้าใจความสัมพันธ์ชีวิตคู่ของ ‘คู่ชีวิต’

ขนมไทยและชาเย็นชื่นใจพร่องปริมาณลงมาก เพราะถูกแกล้มด้วยสารพันเรื่องราว 

ตอนนี้บทสทนาขนาดยาวถูกทอนเป็นขนาดสั้น เราหวังว่าคุณที่เดินสำรวจ สิริ ศาลา ด้วยกัน จะได้รับมวลความประทับใจ และสัมผัสถึงความอบอุ่น ตลอดจนมิตรไมตรีผ่านตัวอักษรและรอยยิ้มของเจ้าบ้าน 

ด้วยความสัตย์จริง พวกเขายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดบ้านต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากทั่วทุกสารทิศ

Siri Sala Private Thai Villa

ที่ตั้ง : 28/8 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 34 แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร (แผนที่)

เว็บไซต์ : https://www.sirisala.com

Facebook : Siri Sala Private Thai Villa

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

สิปปกร วงศ์ธนาภา

ช่างภาพที่หลงรักชุมชนต่าง ๆ ทั่วไทย จนอยากบอกเลิกกับกรุงเทพฯ รักตัวหนังสือที่ทำเห็นภาพ จนอยากบอกเลิกกับกล้องตัวเอง