หลังกินมื้อเที่ยงรสชาติจัดจ้านฝีมือคนตรัง เราก็เดินทางมาถึง ‘Sirichai Design Hotel’ อ.กันตัง ทันในช่วงบ่าย ด้วยฝีมือการขับรถลู่ลมของคนตรังอีกเช่นกัน
เราถือโอกาสระหว่างทางพูดคุยกับพี่คนขับ เพราะเห็นว่าศิริชัยเป็นโรงแรมเก่าแก่ที่อยู่คู่จังหวัดมานาน แต่กลับได้รับคำถามกลับมา เมื่อพี่คนขับไม่เข้าใจว่าเราจะเข้าไปคุยกับโรงแรมเก่าที่ดูร้างไร้ไปทำไม
คำตอบคือ ก๊วง-เมธี สกุลส่องบุญศิริ ทายาทรุ่นสาม ได้ปัดฝุ่นโรงแรมเก่ากว่า 60 ปีของปู่ให้กลายเป็นที่พักสไตล์คนรุ่นใหม่ โดยคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณความเป็นเมืองท่ากันตังในอดีต ตั้งแต่การตกแต่ง ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่วางขายในคาเฟ่ ไปจนถึงเมนูอาหารจากร้านค้าในชุมชน

มีทายาทมากมายเลือกใช้ชีวิตต่อในเมืองหลวงเมื่อพบว่าตัวเองชื่นชอบอะไร
แต่ก๊วงกลับบ้านเกิดมาพร้อมปริญญาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเปลี่ยนปมวัยเด็กที่เคยถูกล้อว่าเป็นลูกหลานโรงแรมร้างให้กลายเป็นความภาคภูมิใจของชีวิต
“ผมเกิดมามันก็โทรมแล้ว”
กลิ่นหอมของกาแฟเป็นตัวเริ่มต้นบทสนทนาของเราในวันนี้้ ส่วนก๊วงรับหน้าที่เป็นบาริสต้า
เขาชงกาแฟไปเล่าไปว่า คาเฟ่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างตั้งใจ แต่เป็นเพราะลูกค้าที่เข้าพักมักจะขอเครื่องดื่มรสชาติดีจากเจ้าของโรงแรมที่ชื่นชอบอเมริกาโน่
ทว่า กระป๋องชาไทยกลับเป็นเมนูที่เขาเลือกสรรให้คนกรุงชิม
“เพราะมันเป็นชาใต้” ก๊วงให้เหตุผล


เราพลิกเจ้ากระป๋องชาในมือไปมาอย่างงุนงง เพราะจำได้ว่าไม่กี่นาทีก่อนยังเห็นก๊วงขมักเขม้นชงชาใส่แก้ว เขาบอกว่านี่เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ที่เขายึดมั่น คือการทำโรงแรมศิริชัยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด จึงเปลี่ยนแก้วพลาสติกให้กลายเป็นกระป๋องอะลูมิเนียมที่นำไปรีไซเคิลและกลับมาใช้ซ้ำได้
หลังได้ยินเรื่องราวที่คงเป็นแค่อินโทร เราพบว่าที่นี่น่าสนใจกว่าที่คิด และก๊วงคงไม่ได้ทำแค่ปัดฝุ่นแน่ ๆ
ความเก่าของศิริชัยแท้จริงแล้วเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1944 เป็นอาคารไม้จำนวน 12 ห้อง ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันนี้เอง ก่อนย้ายมาที่นี่เมื่อปี 1967 ในยุคที่ อ.กันตังเฟื่องฟูจากการเป็นเมืองท่าของคนใต้ แขกไปใครมาก็จะต้องแวะมานอนพักเพื่อรอขึ้นเรือไปค้าขาย รับส่งสินค้า ทั้งในและต่างประเทศ จนมีภาพจำคือขบวนรถไฟที่แน่นขนัดจนต้องนั่งบนหลังคา
“แต่ผมเกิดมามันก็โทรมแล้ว ไม่เคยเห็นยุครุ่งเรือง” เขาเบรกรถไฟดังเอี๊ยด พลางหัวเราะไปด้วย เพราะเวลาล่วงเลยไป อ.กันตังก็ได้รับความนิยมลดน้อยลง จากเมืองท่าเหลือเพียงเมืองทางผ่าน จากรถไฟเคยมาวันละ 4 รอบเหลือเพียงรอบเดียว ไม่มีเรือขนส่งมาเทียบท่า และไร้เงาของนักท่องเที่ยว
“ก่อนที่ผมจะกลับมาคือแทบจะไม่มีลูกค้ามาเข้าโรงแรมด้วยซ้ำ ไม่มีใครกล้าเข้า
“มันโทรมมาตั้งแต่เราเด็ก ตอนอยู่โรงเรียนเราโดนล้อว่าเป็นลูกหลานที่นี่ เหมือนเป็นปมในใจ ผมมีแผนไว้อยู่แล้วว่าจะปรับปรุง เรียนจบเริ่มคิดว่าอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง หาไปเรื่อย ๆ ก็ไม่เจอ จนมาขอที่บ้านว่า งั้นทำโรงแรมแล้วกัน เพราะไหน ๆ มันก็เป็นของเราอยู่แล้ว”
โรงแรมสุดหวงแหนที่โรยราไปตามความชราของปู่ ผ่านมือลูกชายที่ประกอบอาชีพรับราชการ จึงตกทอดมาสู่หลานในที่สุด เพียงแต่ไม่มีอะไรง่ายดังใจนึก

“มันยังไม่ตอบโจทย์”

“ตอนแรกปู่ก็ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่” กะไว้แล้ว
งั้นคุณโน้มน้าวปู่ยังไง – เราถาม
“โน้มน้าวไม่ได้หรอกครับ แต่ว่าลองเลย” เขาตอบยิ้ม ๆ ก่อนจะเผยความลับ
“ครั้งแรก เรารีโนเวตเล็ก ๆ ก่อน อย่างหน้าตาโรงแรมยังเหมือนเดิมครับ แค่ปรับความสะอาด ขัดพื้นให้น่าพักขึ้น ปู่ก็เริ่มเห็นว่ามีคนเข้ามาพักเพิ่ม แต่ถามว่าเยอะไหม ก็ยังไม่เยอะ
“แล้วถึงจะทาสีใหม่ คนกันตังก็ยังเห็นว่ามันเก่าเหมือนเดิม” คนขับรถเรายืนยันความจริงข้อนี้ได้ดี
“มีคนมาจอดหน้าโรงแรม ดูอยากจะพักแหละ แต่ว่าไม่มั่นใจว่ามันจะเป็นยังไง ผมเห็นบ่อยมาก รถมาจอดแล้วก็ขับไป เลยรู้สึกว่าการรีโนเวตนี้น่าจะยังไม่ตอบโจทย์ ผมเลยออกแบบใหม่”


จากโรงแรมศิริชัยจึงแปลงโฉมเป็น Sirichai Design Hotel ด้วยความตั้งใจให้มีกลิ่นอายของเมืองท่า ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในท่าเรือและสถานีรถไฟ
ก๊วงปรับด้านหน้าโรงแรมให้โมเดิร์นขึ้นแต่ก็ไม่ถึงกับหรูหรา ส่วนชั้นล่างตกแต่งด้วยการนำเหล็กมากัดสนิม ผสมกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ ร่วมกับบรรดาของเก่าที่ยังคงเก็บไว้ ทั้งพื้นเดิมจากยุคปู่ โต๊ะที่เราเห็นตรงหน้าก็มาจากวงกบประตู-หน้าต่างเดิม ที่รื้อและนำมาดีไซน์ใหม่โดยฝีมือช่างจากกันตังทั้งหมด
แต่ทั้งหมดนี้จะมากพอให้คนตรังเห็นการเปลี่ยนแปลงรึเปล่า
“ผมเคยคิดจะเปลี่ยนชื่อโรงแรม” เขาบังเอิญพูดสิ่งที่เราสงสัยในใจ
“รู้สึกว่าจะทำยังไงให้คนเปลี่ยนไป เพราะคงคิดว่าจะเก่าแบบเดิม มีชื่อเสียงแบบเดิม แต่คำว่า ศิริชัย จริง ๆ ไม่ได้แย่ แล้วมันก็ขลังด้วย เพราะพระตั้งให้”
โอเค เราเข้าใจแล้วว่าทำไม
อย่างต่อมาที่เขาลงมือเปลี่ยนหลังการปรับปรุงครั้งที่ 2 จึงหนีไม่พ้นความคิดของคนในชุมชน

“เราต้องไปหาชุมชน”
“เพราะคนที่อยู่ในกันตังมันแคบ เขาเกิดมาก็เห็นโรงแรมนี้กันทุกคนแหละ แล้วเขาก็หลอนเรื่องผี” หลานชายเปิดอก
“โดยปกติของที่นี่ คือชาวบ้านเขาจะคุยกันว่าลูกหลานกลับมาหาไม่มีที่ให้นอน ตอนเย็นกินข้าวที่บ้าน นั่งคุยกันเสร็จ 3 – 4 ทุ่ม ก็กลับไปนอนโรงแรมในเมือง ไอ้เราก็สนใจว่าทำไมไม่นอนแถวนี้ โรงแรมเยอะแยะ เขาบอกว่ามันเก่าแล้ว เขาไม่อยากให้ใครมา”
ก๊วงจึงตัดสินใจเปลี่ยนความคิดตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว และนั่นทำให้คนตรังกลับบ้านเป็นลูกค้าหลักของเขาจนถึงตอนนี้
“เราไม่ได้ประชาสัมพันธ์อะไรเลย แต่ดึงคนในชุมชนเข้ามาดูว่าเปลี่ยนไปยังไงบ้าง คาเฟ่จะเป็นตัวหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแนวคิด เพราะถ้าเปิดแต่โรงแรมเฉย ๆ ไม่มีใครเดินเข้ามา แนวคิดมันก็จะไม่เปลี่ยน และเรามีโปรโมชันลด 10% ให้คนกันตังตลอดเวลา”
ภายในร้านเองก็มีการวางขายงานฝีมือของคนในชุมชน เราเห็นทั้งผ้าบาติก ผ้าทอ รวมถึงขนมที่ไม่ใช่ครัวซองต์ เบเกอรี่ แต่เป็นเหล่าขนมโบราณขึ้นชื่อของคนใต้ที่เขารวบรวมไว้ให้ ก๊วงบอกว่าหากอยากซื้อของกลับไปฝากใคร ก็ขอให้มาลองชิมที่ร้านเขาเสียก่อน
“เมืองนี้มันเงียบลง ผมคนเดียวไม่มีทางทำให้อำเภอนี้กลับมาอีกครั้งหรอก เราต้องไปหาชุมชน หรือให้ชุมชนมาหาเราบ้าง ชวนเขาคุย ชวนเขาเสนอไอเดีย หรือมีผลิตภัณฑ์ก็เอามา เราตั้งขายให้ฟรีเลย แล้วก็เอาตังค์ไปให้เขา กลายเป็นว่าโรงแรมก็เหมือนร้านขายของ ลูกค้าเข้ามาก็ต้องเดินดูครับ”


“เหมือนตายตาหลับ”
เราเดินขึ้นบันไดเก่าแก่ตามก๊วงไปชมห้องพักที่เขาบอกว่าโครงสร้างเดิมทำให้ปรับปรุงยากมาก แต่บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ก็ทำจนสำเร็จ
“รูปทรงมันดูก็รู้ว่าเก่าครับ คานเยอะมาก สร้างใหม่ไม่ได้ อย่างวิศวกรรุ่นใหม่เขาจะนิยมทำให้พอประมาณ คือคำนวณไว้แล้วว่าอันนี้รับน้ำหนักเท่านี้ ต้องสร้างแค่นี้พอ แต่นี่คนรุ่นเก่าเขาสร้างเผื่อไว้เยอะเลย ไม่รู้กี่เสาก็ตั้งเต็มไปหมด” ก๊วงหัวเราะร่วน

“ช่างเมื่อก่อนไม่มีแปลน เขาก็สร้างแบบแข็งแรงที่สุด ผมจะเดินท่อเชื่อมท่อน้ำใหม่ พอเจาะลงไปเจอคานด้านล่าง เราไม่รู้ท่ออยู่ตรงไหน สายไฟอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้”
โรงแรมมีทั้งหมด 20 ห้อง จากห้องพัดลมเปลี่ยนเป็นแอร์ทั้งหมด เดินไฟและระบบน้ำใหม่ให้ปลอดภัยและทันสมัยขึ้น แม้จะแก้ไขโครงสร้างห้องไม่ได้ แต่ก็ปรับสัดส่วนใหม่ให้คล่องตัว แบ่งออกเป็นห้อง Deluxe มีระเบียงส่วนตัวพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ห้อง Superior ตกแต่งในสไตล์มินิมอลกะทัดรัด ห้อง Standard เลือกได้ทั้งเตียงเดี่ยวหรือคู่ในราคาสบายกระเป๋า และห้อง Bunk Bed เตียง 2 ชั้น สำหรับวัยรุ่นสายลุยทุกท่าน
และสิ่งสำคัญที่ทุกห้องมีร่วมกัน คือหนังสือของโรงแรม
คุณเขียนเองเหรอ – เราสงสัย เพราะมันไม่ได้มีเพียงประวัติของศิริชัยเพียงเท่านั้น

“ใช่ครับ ผมรวบรวมร้านอาหาร ของอร่อยในกันตัง อยากกินแบบไหนก็็บอก จะอาหารตามสั่ง ข้าวต้ม หมูกระทะ ก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า อยากกินร้านไหนก็ได้เลย เราทำแผนที่ไว้ให้แล้ว โรงแรมอยู่ตรงนี้ลูกค้าไปไหนได้บ้าง แล้วส่วนใหญ่ลูกค้าจะถามหามื้อเช้า ซึ่งเราไม่ได้มีอาหารแบบในโรงแรมบริการ แต่ให้คนในชุมชนเอาเมนูของร้านเขามาวางไว้ตรงคาเฟ่ข้างล่าง แล้วเขาก็มาส่งให้”
มากไปกว่านั้น เป้าหมายต่อไปที่ก๊วงอยากไปให้ถึง คือการทำให้ศิริชัยเป็นโรงแรมปลอดขยะ เห็นได้จากเครื่องดื่มที่เขาเสิร์ฟในกระป๋องนั่นแหละ ซึ่งก๊วงบอกว่าเขาใช้หลอด Bioplastic ย่อยสลายได้เอง ถุงกระดาษ ไม่มีพลาสติกแม้แต่น้อย ส่วนภายในห้องพักของเขา คงมีเพียงถังขยะกับที่ห่อแก้วที่ยังต้องพึ่งพามันอยู่ ทั้งหมดนี้้เป็นไอเดียที่ซึบซับมาจากคุณพ่อคุณแม่ ข้าราชการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมาก่อนเขาหลายปี
“โรงแรมเราแยกขยะหมดแล้วก็เอาไปขาย แล้วผมจบวิศวกรรมเครื่องกลพลังงานมา เลยคิดว่าหลังจากนี้จะทำโปรเจกต์จัดการพลังงาน ลดค่าไฟของโรงแรมลงด้วยครับ”

ก๊วงพาเราชมโรงแรม เล่าถึงรายละเอียดต่าง ๆ อย่างภาคภูมิใจ อาจเป็นเพราะเขาไม่ได้ลงแรงปรับปรุงมันเพื่อแค่ให้ทันสมัยขึ้้น แต่ยังทำเพื่อขจัดปมวัยเยาว์ให้หายเป็นปลิดทิ้ง
“ตอนนี้หายแล้วนะครับ หายแล้วจริง ๆ” เขายืนยัน
“เมื่อก่อนถ้าพูดถึงโรงแรมจะมีแต่ด้านลบ ตอนนี้มีแต่คนคุยกับเราเราในแง่บวกมากขึ้น โรงแรมเป็นยังไงบ้าง คนมาเยอะขึ้นนะ จากที่แทบไม่ทักกันเลย”
แล้วเจ้าของโรงแรมตัวจริงที่เห็นมันทั้งในวันที่รุ่งโรจน์สุดขีดและโรยราสุดขั้วอย่างปู่ล่ะ
“แกไม่ค่อยพูด แต่แกยิ้มแล้วบอกว่า เออ เหมือนตายตาหลับ”
3 Things
you should do
at Sirichai Design Hotel

01
ไหว้พระ 3 ศาลเจ้า กันตังมี 3 ศาลเจ้าหลักที่สายมูห้ามพลาด คือ ศาลเจ้าฮกเกี้ยนก๋งก้วน ศาลเจ้าเก่งจิวโฮ่ยก้วน และศาลปู่เจ้ากันตัง ครบทั้งเรื่องงาน ความรัก และโชคลาภ

02
กินมื้อเช้ารอบตลาดกันตัง รอบ ๆ โรงแรมมีทั้งติ่มซำ บะหมี่ อาหารอิสลาม ให้ได้เลือกทาน และใกล้กันยังมีสถานีรถไฟให้ไปถ่ายรูปชิก ๆ

03
เที่ยว 4 เกาะเมืองตรัง ห่างจากที่พักไปประมาณ 30 นาที จะเจอท่าเรือที่ออกไปดำน้ำ ดูปะการังน้ำตื้นได้ ทั้งที่เกาะกระดาน เกาะมุข และแวะชมความสวยงามของถ้ำมรกต สถานที่ติด 1 ใน 10 Unseen Thailand