ธุรกิจ : ห้างสิริบรรณช้อปปิ้ง เซนเตอร์

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2533

ประเภท : ห้างสรรพสินค้า 

ผู้ก่อตั้ง : นิรันดร์ และ จีระ พิตรปรีชา

ทายาทรุ่นสอง : พ่อหนุ่ย-จิรายุสถ์ พิตรปรีชา

ทายาทรุ่นสาม : โปร-จีระเกษม พิตรปรีชา

อาคารเก่ากำแพงสีไข่ไก่ แต่งแต้มด้วยกราฟฟิตี้สวยงาม ประตูเหล็กยืดสีฟ้า มีตัวอักษรบนป้ายหน้าร้านว่า ‘สิริบรรณ’ บ่งบอกว่านี่คือร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตย์ดีเด่น ประเภทอาคารพาณิชย์ ประจำปี 2560 ไม่ผิดแน่

ส่วนปากกา ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด เครื่องคิดเลข สมุด ม้วนด้าย ลูกบอล ถ้วยรางวัล แม้กระทั่งฮูลาฮูป… เป็นสิ่งที่พอจะยืนยันคำพูดของทายาทผู้รับช่วงต่อ พ่อหนุ่ย-จิรายุสถ์ พิตรปรีชา ที่กล่าวไว้ว่า “ขายตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ”

เราเดินสำรวจร้านทุกซอกมุมที่มีสินค้าวางเรียงรายแน่นขนัด 360 องศา แบบที่ถ้าเดินเข้ามาด้วยความคิดว่างเปล่า ก็คงต้องเผลอซื้ออะไรกลับไปสักชิ้น จนถึงห้องเก็บของข้างในที่ยังคงอัดแน่นไปด้วยเครื่องเขียนจนต้องปีนบันไดขึ้นไปชั้นลอย เพื่อพบว่าพนักงานเกือบทุกคนในร้านเป็นวัยรุ่นยุคสงครามโลกผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสิริบรรณมาตั้งแต่ โปร-จีระเกษม พิตรปรีชา ทายาทรุ่นสามยังไม่เกิด

แต่เราไม่ได้เดินทางมาถึง จ.ตรัง เพื่อพูดคุยกับพวกเขาแค่การทำธุรกิจร้านเครื่องเขียน 

เพราะสินค้าที่แน่นเอี้ยดจนล้นร้านได้ขยับขยายกลายเป็น สิริบรรณช้อปปิ้งเซนเตอร์ ห้างท้องถิ่นหนึ่งเดียวของจังหวัดที่อยู่คู่กับคนตรังมา 30 ปีจนถึงปัจจุบัน

จากร้านเครื่องเขียนสู่ 'ห้างสิริบรรณ' ห้างท้องถิ่นเดียวในจังหวัดที่อยู่คู่คนตรังมา 30 ปี
จากร้านเครื่องเขียนสู่ 'ห้างสิริบรรณ' ห้างท้องถิ่นเดียวในจังหวัดที่อยู่คู่คนตรังมา 30 ปี

สิริบรรณ

แบบเรียน – เครื่องเขียน

พ่อหนุ่ยรับหน้าที่รำลึกความหลัง เมื่อครั้งที่ร้านเครื่องเขียนสิริบรรณถือกำเนิดขึ้นราว ๆ 70 ปีก่อน โดย คุณแม่จีระ พิตรปรีชา ผู้ประกอบอาชีพเป็นครู พ่วงด้วยการศึกษาระดับปริญญาซึ่งนับว่าหายากในสมัยนั้น 

“แกคิดว่าอยากจะทำธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ยายเลยบอกว่า ในเมื่อเป็นครูอยู่แล้ว มีความรู้เรื่องหนังสือหนังหา ก็ทำร้านเกี่ยวกับหนังสือหนังหาสิ

“ตอนเด็ก ๆ ถ้าไม่ได้ไปโรงเรียนก็กินนอนเล่นอยู่ร้านตลอด ช่วยขายของ แล้วก็อ่านหนังสือในร้าน ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออ่านเล่น กำลังภายใน ไม่อยากอ่านหนังสือหนัก ๆ เท่าไหร่ แต่ก็ได้เห็นอะไรจากหนังสือเยอะแยะ”

พ่อหนุ่ยเล่าว่า สมัยก่อนบ้านเกิดของเขาถือว่ารุ่งเรืองมาก เพราะตรังคล้ายจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจขนาดใหญ่ของภาคใต้ การเปิดกิจการร้านเครื่องเขียนขึ้นมาจึงเติบโตได้ไว บวกกับความสามารถที่แม่จีระมี ยิ่งทำให้ที่นี่กลายเป็นร้านในดวงใจใครหลายคนไม่ยาก 

หนึ่ง แกเป็นคนขยัน สอง แกเป็นคนเอาใจใส่ สาม แกรู้จักการสั่งสินค้าเข้ามาเพื่อสนองความต้องการของลูกค้า และสี่ แกบริหารธุรกิจเป็น

“ลูกค้าต้องการอะไรเราก็พยายามมีให้หมด ตั้งแต่เข็ม ด้าย กิ๊บ เสื้อผ้ากีฬา อุปกรณ์กีฬา มีหมดครับ กระบี่กระบองมีหมดครับ พูดง่าย ๆ ว่า ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ อยู่ที่ว่าใครจะมาหาอะไรที่สิริบรรณ”

นอกจากแม่จีระจะเปิดร้านเครื่องเขียน พ่อนิรันดร์ก็สวมบทเป็นพ่อค้าตลาดนัด ขายทั้งเสื้อผ้า เครื่องสำอาง รองเท้า มีรายได้มากพอจะส่งลูกชายคนโตอย่างหนุ่ยไปศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ จบปริญญาตรีในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนได้ดิบได้ดีไปต่อ MBA ไกลถึงสหรัฐอเมริกา

เมื่อเท้าเหยียบพื้นดินบ้านเกิดนั่นเอง ความคิดเรื่องการขยายกิจการจึงเกิดขึ้น

จากร้านเครื่องเขียนสู่ 'ห้างสิริบรรณ' ห้างท้องถิ่นเดียวในจังหวัดที่อยู่คู่คนตรังมา 30 ปี
จากร้านเครื่องเขียนสู่ 'ห้างสิริบรรณ' ห้างท้องถิ่นเดียวในจังหวัดที่อยู่คู่คนตรังมา 30 ปี

สิริบรรณ

สรรพสินค้า

“ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าเราจะเป็นอะไร” พ่อหนุ่ยเกริ่น “แต่น้อง ๆ เรามีเส้นทางของเขา คนหนึ่งก็ไปเป็นอาจารย์ที่จุฬา (ศาสตราจารย์จิระพัฒน์ พิตรปรีชา) อีกคนก็ไปเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ (จิระนันท์ พิตรปรีชา)

“เราเป็นพี่คนโต คิดไปคิดมาก็อยากกลับมาช่วยดูแลที่บ้าน แล้วถ้าเรียนมาจบขนาดนี้ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาด้วยตัวเองเลยมันก็อายเพื่อน จึงได้เอาเงินในกระเป๋าตังค์มาจ่าย แล้วก็กู้เงินเพิ่ม”

เริ่มจากการเปิด​​ร้านสิริบรรณสรรพสินค้าใน พ.ศ. 2526 จำหน่ายสินค้าที่พอมีพื้นฐานและความน่าเชื่อถือจากรุ่นพ่อ นั่นคือเครื่องสำอางและแบรนด์เสื้้อผ้าชั้นนำต่าง ๆ ที่คนตรังหาซื้อได้ยาก พ่อหนุ่ยเล่าว่าช่วงเริ่มต้น เขาเองก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไม่ต่างจากใคร

“มีทั้งขึ้นทั้งลงเป็นช่วง ๆ บางช่วงก็ดี บางช่วงก็แย่ เราก็คิดว่าทำการค้ามันก็คือซื้อมาขายไป แต่การทำซูเปอร์มาร์เก็ตกำไรมันน้อยมาก แต่เราก็แก้สถานการณ์มาเรื่อย ๆ จนได้รับความนิยม” 

ถึงหัวปี พ.ศ. 2533 ลูกชายคนเล็กของบ้านอย่างโปรก็ได้ถือกำเนิด ส่วนท้ายปี ห้างสิริบรรณช้อปปิ้งเซนเตอร์ก็คลอดตามมาในเดือนพฤศจิกายน 

จากร้านเครื่องเขียนสู่ 'ห้างสิริบรรณ' ห้างท้องถิ่นเดียวในจังหวัดที่อยู่คู่คนตรังมา 30 ปี
จากร้านเครื่องเขียนสู่ 'ห้างสิริบรรณ' ห้างท้องถิ่นเดียวในจังหวัดที่อยู่คู่คนตรังมา 30 ปี

สิริบรรณ

ช้อปปิ้ง เซนเตอร์

เราเดินทางต่อมาถึงห้างท้องถิ่นเดียวของจังหวัด แวะสูดกลิ่นอายความดั้งเดิมที่หาได้ยากในเมืองหลวง ทั้งการตกแต่งภายใน การจัดวางสินค้า รวมทั้งแบรนด์ไทยหลากหลายประเภทที่คนเมืองอย่างเราทำได้แค่สั่งทางไกลเท่านั้น ก่อนถึงเวลาสนทนากับคนทำธุรกิจต่างวัยในบทบาทพ่อลูก ที่หากวางเทียบกันเฟรมต่อเฟรม สิริบรรณทั้งเก่าและใหม่ก็แทบไม่ต่างกันนัก

ที่นี่เป็นห้างสามชั้น ขนาดกะทัดรัดให้ได้ทำเวลาซื้อของ แต่กว่าจะเป็นห้างที่บุกเบิกร้านรวงยอดฮิตอย่าง KFC, Swensen’s หรือ Dunkin Donut แห่งแรกในจังหวัด มันผ่านการปรับปรุงมาแล้วถึง 3 ครั้ง

“เพราะพื้นที่มันเล็กเกินไป” เจ้าของห้างเผย “เดิมย่านนี้ก็เหมือนนอกเมืองแล้วนะ รอบ ๆ นี้เป็นที่ว่าง ไม่ก็ห้องแถว เป็นบ้านอยู่อาศัย แต่ไม่ได้เป็นย่านการค้าเหมือนตอนนี้ 

“ตอนเปิดใหม่ต้องคำนวณพื้นที่จอดรถ ต้องหาที่ให้ร้านต่าง ๆ มาเช่า หาสถาปนิกดี ๆ มาช่วยออกแบบเส้นทางการเดินภายในห้างให้ลงตัว จับจ่ายใช้สอยได้อย่างต่อเนื่อง เดินไม่หลง ติดตั้งบันไดเลื่อน สิ่งอำนวยความสะดวก เพราะบางช่วงลูกค้ามีน้อย เราก็ต้องพยายามปรับให้มีลูกค้ามากขึ้น”

พ่อหนุ่ยบอกว่าเศรษฐกิจเมืองตรังค่อนข้างเปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะผกผันตามราคายางพาราและปาล์ม ยิ่งคู่แข่งอย่างโรบินสันเกิดขึ้นไม่กี่ปีก่อน ไหนจะการประกาศว่าจะมีการสร้างคอนโดมิเนียมหรูใจกลางเมืองเร็ว ๆ นี้ สะท้อนให้เห็นว่าจังหวัดตรังมีศักยภาพมากพอที่คนจะลงทุน

จากร้านเครื่องเขียนสู่ 'ห้างสิริบรรณ' ห้างท้องถิ่นเดียวในจังหวัดที่อยู่คู่คนตรังมา 30 ปี
จากร้านเครื่องเขียนสู่ 'ห้างสิริบรรณ' ห้างท้องถิ่นเดียวในจังหวัดที่อยู่คู่คนตรังมา 30 ปี

เราถามพ่อลูกตามตรงว่า นั่นส่งผลกระทบกับห้างของพวกเขารึเปล่า

“แน่นอน โรบินสันเป็นบริษัทที่มีกลยุทธ์สินค้าในแนวเดียวกัน” พ่อหนุ่ยยอมรับทันที พร้อมอธิบายให้ฟังต่อทำไมสิริบรรณจึงสู้ได้ “ในปีแรกที่เขาเข้ามาเนี่ยไม่กระทบ เพราะว่าตอนนั้นยางพาราราคากิโลละ 150 บาท แต่ตอนนี้เขาเพิ่งขยายไปหลายพันตารางเมตร แต่เราโชคดี ข้อแรก เราอยู่ในทำเลที่ดี ข้อสอง ขนาดเราไม่ได้ใหญ่ พูดง่าย ๆ คือเราโฟกัสเฉพาะจุดที่เป็น Niche Market ของเราได้” 

งั้นด้วยวิธีการแบบไหน เราอยากจะรู้นัก

“ต้องมีเคล็ดลับส่วนตัว” เพียงแต่คนเป็นพ่อไม่ยอมเผยไต๋

“คนเราชอบไม่เหมือนกัน ต้องหาว่าเราจะโฟกัสจุดไหน ต้องสร้างอะไรขึ้นมาเองที่ทำให้มันแตกต่าง ซึ่งเราก็มีแนวทางของเราอยู่แล้ว” เขายืนยันหนักแน่น ต่อให้ไม่ยอมแง้มบอก

อย่างต่อมาที่เราสนใจจากคนเป็นลูก คือค่ายางพาราที่เคยกระโดดขึ้นไปถึงกิโลละ 150 บาท ซึ่งเป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตของคนทั้งจังหวัด 

“เมื่อก่อนยางกิโลละ 100 คนออกรถป้ายแดงกันเต็มเลย แต่ตอนนี้ค่อนข้างคงที่ บวกลบน้อยแล้ว เมื่อเทียบกับตอนนั้น”

แล้วตอนนี้ราคาเท่าไร เราถามอีก

“50 บาท แย่สุดก็จะมีช่วงที่ 3 โล 100”

น่าสนใจว่าพวกเขาจะเอาตัวรอดจากวิกฤตในอนาคตได้ยังไงในเมื่อราคาขายขึ้นและลงสุด

ยิ่งผลัดเปลี่ยนมาอยู่ในมือทายาทรุ่นสาม

จากร้านเครื่องเขียนสู่ 'ห้างสิริบรรณ' ห้างท้องถิ่นเดียวในจังหวัดที่อยู่คู่คนตรังมา 30 ปี
ห้างท้องถิ่นเดียวของ จ.ตรัง ต่อยอดจากร้านเครื่องเขียนเก่าของแม่ หยัดยืนต่อสู้กับโมเดิร์นเทรด และกำลังส่งต่อให้รุ่นสาม

ทายาทรุ่นสาม

ถ้านับญาติกับห้างสิริบรรณ โปรก็เป็นพี่คนกลางที่โตกว่าไม่มาก ส่วน วิน-วศิน พิตรปรีชา พี่คนโตตัวจริง รับช่วงต่อดูแลโรงแรมเรือรัษฎา อีกหนึ่งกิจการของครอบครัว

ซึ่งเด็กที่เติบโตมาพร้อม ๆ กับห้าง ก็น่าจะคุ้นเคยกับการทำธุรกิจพอสมควร แต่ผิดคาด

“ความจริงผมไปเรียนกรุงเทพฯ กว่าจะกลับ แล้วเรียนจบช้าด้วย ผมเรียนบัญชีแต่ตกเลข” นั่นไง ว่าแล้ว

แต่ที่ว่าช้า ก็ช้าเพียงครึ่งปี กว่าจะได้จับธุรกิจครอบครัวก็เกือบจะเข้าเลข 3 และแม้ในช่วงต้นเราจะเดาผิด แต่การเลือกเรียนศาสตร์ที่เกี่ยวกับตัวเลข โปรก็น่าจะสนใจห้างสิริบรรณอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ตอนนี้เขากำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้งานจากคุณพ่อ

“ความจริงที่นี่พัฒนาได้เยอะ เพราะคนตรังมีกำลังซื้อสูง ยิ่งโดยเฉพาะถ้ายางพารามีราคาสูง อีกอย่างคือคนตรังจะทานอาหารนอกบ้านตลอด ประมาณ 5 มื้อต่อวัน”

ฟังดูน่าตกใจ แต่พอนึกย้อนไปถึงมื้ออาหารที่ได้กินมาทั้งวันกับท้องป่อง ๆ เราก็เข้าใจได้ พลางฟังโปรเล่าต่อถึงโอกาสของเขา

“ติ่มซำยังมีทั้งเช้ายันเย็นเลย เพราะเที่ยงคืนคนก็ต้องมาปาดยาง ซึ่งเราจะเน้นเรื่องร้านอาหารมากขึ้น มองว่ามันเป็นแม่เหล็กที่จะดึงคนเข้ามาได้ พวก Department Store คนเขาก็ไปซื้อออนไลน์ ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตก็แข่งขันค่อนข้างสูง บางเจ้าเขาก็ลดราคาลงได้เยอะ เพราะเขามีหลายสาขา เราก็เลยจะเน้นขายปลีกมากกว่า แล้วก็เริ่มลองทำขายส่งแบบยกแพ็คไปด้วยครับ”

ส่วนปัญหาที่นักธุรกิจหน้าใหม่มองเห็นก็ยังเป็นเรื่องอาคารอยู่เช่นเคย ดูท่าว่าคงจะปรับปรุงเป็นครั้งที่ 4 ในไม่ช้า

ห้างท้องถิ่นเดียวของ จ.ตรัง ต่อยอดจากร้านเครื่องเขียนเก่าของแม่ หยัดยืนต่อสู้กับโมเดิร์นเทรด และกำลังส่งต่อให้รุ่นสาม
ห้างท้องถิ่นเดียวของ จ.ตรัง ต่อยอดจากร้านเครื่องเขียนเก่าของแม่ หยัดยืนต่อสู้กับโมเดิร์นเทรด และกำลังส่งต่อให้รุ่นสาม

“แปลนห้างมันเก่า ในมุมลูกค้าก็คงรู้สึกอึดอัดอยู่นิดหน่อย ถ้าเป็นโรบินสันจะเดินสบายๆ ผ่อนคลาย แล้วก็มีอะไรทำได้หลายอย่าง ลูกค้าของเราส่วนมากจะเป็นคนที่ตั้งใจมาซื้อ และผมว่าตัวเลือกเรายังน้อยไป คิดว่าจะหาอะไรที่โมเดิร์นเทรดไม่มี แต่ถ้าไปทำห้างไลฟ์สไตล์เราก็ตายกันพอดี เพราะว่าเราสู้โรบินสันไม่ไหว”

การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นโมเดิร์นเทรดจึงไม่ใช่ทางออก แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าท้อ แต่โปรก็เลือกสู้ด้วยการบริการทุกระดับประทับใจ 

ด้วยฐานลูกค้าของสิริบรรณเป็นคนวัยทำงาน ข้าราชการ แตกต่างจากห้างใหญ่ที่เจาะกลุ่มวัยรุ่น โปรจึงอยากทำให้ลูกค้าพึงพอใจแล้วกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งความหวังที่พอจะทำให้พวกเขาหยัดยืนอยู่ต่อได้ คือจำนวนห้างสรรพสินค้าในภาคใต้ที่มีอยู่ไม่กี่แห่ง และสิริบรรณในวันธรรมดาก็มีลูกค้าจากจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาจับจ่ายมากกว่าคู่แข่งเสียอีก 

นอกจากการบริการที่ใกล้ชิดเป็นกันเองฉบับคนท้องถิ่น โปรยังมองหาแบรนด์ใหม่ ๆ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ชั้น 2 ของห้างให้ประกอบกิจกรรมได้หลากหลายขึ้น ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ จากปัจจุบันที่หนักไปทางร้านขายเสื้อผ้า เช่น ร้านกาแฟเจ้าดัง ร้านหนังสือ 

ส่วนร้านเครื่องเขียนสำหรับวัยเรียน ไม่ต้องห่วง เขามีของดีประจำตระกูลอยู่แล้ว

ความลับอย่างหนึ่งที่โปรบอกกับเราเมื่อพักคุยจิปาถะกับเขาชั่วครู่ คือครอบครัวของเขาแต่งตั้ง โกเหลียง ให้เป็นผู้บริหารร้านเครื่องเขียนสิริบรรณ ชายชราไม่มีความเกี่ยวโยงกันทางสายเลือด แต่ไว้เนื้อเชื่อใจกันจากการเป็นพนักงานดีเด่นมาแล้วหลายทศวรรษซ้อน ซึ่งเขามีแผนจะเปิดร้านเครื่องเขียนสาขา 2 ที่ห้างนี้ด้วย

เมื่อรุ่นพ่อต้องถึงคราววางมือ ส่วนลูกชายทั้งสองก็เพิ่งเริ่มเข้ามารับช่วงต่อ ทีนี้ก็เหลือแค่รอดูผลลัพธ์แล้วว่า ลูกชายคนเล็กของบ้านนามว่า ห้างสิริบรรณช้อปปิ้งเซนเตอร์ ในมือของทายาทรุ่นสามจะเป็นยังไงต่อไป

ห้างท้องถิ่นเดียวของ จ.ตรัง ต่อยอดจากร้านเครื่องเขียนเก่าของแม่ หยัดยืนต่อสู้กับโมเดิร์นเทรด และกำลังส่งต่อให้รุ่นสาม

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์