22 กุมภาพันธ์ 2023
4 K

“ค่าสัมภาษณ์วันนี้ ผมขอเป็นช่วยเก็บขยะในคลองนะครับ”

ซัน-ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ชาวบ้านริมคลองบางกอกใหญ่ คุณพ่อลูกหนึ่ง มนุษย์รักษ์โลก อดีตคนรักสิ่งแวดล้อมสุดโต่ง และเจ้าของ เรือไฟฟ้าสุขสำราญ Sun-powered Boat บอกกับเราและช่างภาพก่อนเล่าเรื่องชีวิตอันน่าสนใจของตัวเอง 

จากจุดต่ำสุดที่ไม่รู้ว่ามีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร สู่จุดสูงสุดที่อุทิศทั้งกาย-ใจให้สิ่งแวดล้อมจนเกือบเข้าขั้นหัวรุนแรง และชีวิตปัจจุบันที่อยู่อย่างเข้าใจทุกอย่าง รู้จักยืดหยุ่น โดยไม่ละเลยการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ 

วันนี้ซันพร้อมแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้คนรอบข้าง โดยเฉพาะเคล็ดลับวิชาเลี้ยงลูกสายกรีนที่ทำตามได้จริง ตั้งแต่ลิสต์รายการของใช้จำเป็นที่จะไม่เบียดเบียนเพื่อนและโลก จนถึงเรื่องเล็กน้อยของพ่อลูกอ่อนอย่างวิธีซักผ้าอ้อมให้สะอาด

คัมภีร์เลี้ยงลูกอย่างรักษ์โลกและชีวิตสายกรีนฉบับทำตามได้ของ ‘ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์’

(สปอยล์เนื้อหา : การสัมภาษณ์เต็มไปด้วยความสนุกและแรงบันดาลใจ)

(สปอยล์ฉากจบของเรื่อง : นักเขียนและช่างภาพใส่เสื้อชูชีพยืนอยู่ที่หัวเรือ โต้คลื่นของเรือแท็กซี่และเรือหางยาวที่แล่นสวนมา ใช้สวิงยาวกว่า 2 เมตรช้อนขยะที่มีตั้งแต่ขวดพลาสติก ซองขนม ถุงยางอนามัย ซาลาเปา ตุ๊กตา ไปจนถึงกระติกน้ำแข็งและรองเท้าผ้าใบไนกี้ แต่ที่ช้อนไม่ขึ้นคือเสาบ้านทั้งต้น!)

เด็กชายผู้ตามหาความหมายของชีวิต

การดำผุดดำว่ายในคลองบางกอกใหญ่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้ประดิษฐ์และเจ้าของธุรกิจเรือไฟฟ้าสุขสำราญ เพราะเขาต้องลงน้ำไปดึงขยะที่ติดใบจักรเรือออกทุก 2 เดือน แต่หากถามว่าเป็นชีวิตที่เปลี่ยนไปจากวัยเด็กไหม คำตอบคือเปลี่ยนมาก

ในวัยเด็ก เขาเพียงเล่นเรือพาย แต่ไม่เคยต้องใกล้ชิดกับน้ำขนาดลงไปแหวกว่าย เช่นเดียวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่อยู่ในความคิด ยิ่งบ้านของเขาอยู่ท้ายซอย เพื่อนบ้านไม่สุงสิง ซันยิ่งกลัวผีจนต้องเปิดไฟสว่างทั่วบ้าน ไม่มีหรอกการประหยัดพลังงาน จะมีใกล้เคียงก็แต่ความมัธยัสถ์ที่ส่งต่อมาทางครอบครัวซึ่งเป็นชาวจีน

กระทั่งเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รุ่นพี่ที่จบไปแล้วกลับมาพร้อมโปรเจกต์จัดการขยะในโรงเรียน ซันในฐานะหัวหน้าห้องจึงเข้าร่วมขบวนการคัดแยกและจัดการเศษขยะอาหารในโรงเรียนซึ่งมีปริมาณมหาศาลจนน่าตกใจ สวนทางกับสถิติที่ประชากรบางประเทศไม่มีแม้แต่อาหารประทังชีวิต

“แต่จุดเปลี่ยนชีวิตจริง ๆ คือตอน ม.1” เขาทิ้งช่วงหายใจเล็กน้อย

“พ่อแม่ของผมเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์พร้อมกัน จากชีวิตที่เคยมีพวกเขาดูแลอย่างดีมันเปลี่ยนไปทันที ผมช็อก แต่ก็ฟื้นจากช่วงเวลาที่ยากลำบากด้วยกิจกรรมของโรงเรียน คืออาสาสมัครลูกเสือกองร้อยพิเศษ

“ตอนนั้นผมไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ ก็อาสาไปอย่างนั้น แต่มันกลับทำให้ผมเจอเป้าหมายที่ทำให้ผมยังหายใจจนถึงตอนนี้” เขาบอกว่าจังหวะชีวิตเปลี่ยนไป จากหัวใจที่เคยเต้นเพื่อตัวเอง จึงได้รู้จักเต้นเพื่อผู้อื่น

คัมภีร์เลี้ยงลูกอย่างรักษ์โลกและชีวิตสายกรีนฉบับทำตามได้ของ ‘ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์’

เขาเริ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคม จนนานวันเข้าเป้าหมายจากการพาคนข้ามถนน เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สู่อาสากู้ภัยและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยอย่างหลังเริ่มจากการดูเรื่อง An Inconvenient Truth (2006) สารคดีที่ถ่ายทำเพื่อพิสูจน์ว่าโลกร้อนเกิดขึ้นจริง

“เรื่องนี้ช็อตฟีลผมมาก ผมคิดว่าประเด็นนี้สำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติและสรรพชีวิต ถ้าอยากอยู่ต่อต้องลงมือเปลี่ยน”

หลังจากนั้นความสุดโต่งแบบที่หลายคนคาดไม่ถึงจึงบังเกิด

การเดินทางของชายผู้อุทิศชีวิตให้สิ่งแวดล้อม

หนังจบคนไม่จบ ซันจัดการตั้งปฏิญญา 5 ข้อ ล่ารายชื่อผู้สนใจหลายพันคนเพื่อทำโปรเจกต์ Green University เปลี่ยนธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว แต่ขณะที่เรื่องเข้าสู่การประชุมสภามหาวิทยาลัย เขากลับเรียนจบก่อน ถึงอย่างนั้นก็มีรุ่นน้องที่สืบสานอุดมการณ์ต่อไป

โจทย์สำคัญในการใช้ชีวิตของซันคือการไม่รบกวนโลก แต่ในช่วงแรก เจ้าตัวยังบาลานซ์โจทย์นี้ได้ไม่ดีนัก

“สมัยก่อนผมคิดไม่ครบทุกด้าน ถือว่าไม่ได้สุดโต่งอย่างทุกวันนี้ เพราะตอนวัยรุ่นเราสุดโต่งเป็นบางเรื่อง พกกระบอกน้ำแต่ยังรับหลอดพลาสติกมาใช้ มีไปสุดถึงขั้นไม่สบายใจที่สตาร์ทรถแล้วเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล การสตาร์ทรถทุกครั้งต้องมีความหมาย ผมขับรถเที่ยวไม่ได้เพราะรู้สึกผิดมากเลยเลือกใช้จักรยาน

“แต่ยุคนั้นผมก็ไม่เข้าใจที่เขาบอกกันว่า จักรยานมันเดินทางได้แค่ในระยะสั้น ไปไกลกว่านั้นไม่ได้ 20 ปีที่แล้วผมจึงเป็นคนกลุ่มน้อยที่ปั่นไปเชียงใหม่ ใช้เวลา 7 วัน ไม่มีรถเซอร์วิส ผมคิดว่าถ้าจะไปต้องไปด้วยตัวเอง แบกอาหาร เสื้อผ้า เปล มุ้ง และอุปกรณ์ซ่อมจักรยานไปเองทั้งหมด เรื่องนี้ก็โดนกดดันจากครอบครัวมาตลอดว่าไม่อยากให้ทำ กลัวอันตราย เลยเก็บกดมาตั้งแต่มหาวิทยาลัย เรียนจบแล้วผมก็ทำตามฝันเลย”

คัมภีร์เลี้ยงลูกอย่างรักษ์โลกและชีวิตสายกรีนฉบับทำตามได้ของ ‘ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์’
คัมภีร์เลี้ยงลูกอย่างรักษ์โลกและชีวิตสายกรีนฉบับทำตามได้ของ ‘ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์’

เมื่อเวลาผ่านไป ซันเรียนรู้ที่จะเข้าใจว่า การไม่เบียดเบียนโลกเลยเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ยาก ดังนั้น ขอรบกวนโลกให้น้อยที่สุดดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่จะซื้อว่าสร้างขยะกี่ชิ้น นำไปรีไซเคิลได้ไหม หากไม่ได้จะไม่ซื้อ หรือการเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนออกไปซื้อข้าว ต้องพกปิ่นโตหรือหม้ออวยไปด้วย 

ยุคหนึ่งที่เขาพกของใส่ย่ามมาก ๆ แม่ยายถึงกับบอกว่า เขาเป็นมนุษย์ย่ามใหญ่

“ผมพกไว้เผื่อทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้น เช่น ญาติแฟนไปตลาด ผมเดินตาม พอเขาจะซื้อหมู ผมยื่นกล่องให้ ปิ่นโตผมก็พก จะเอาช้อนส้อมผมก็มี ซื้อแล้วผมถือให้ด้วย ไม่ต้องเหนื่อยเลย ขอแค่ไม่เกิดขยะก็แฮปปี้”

เรื่องเล่าความสุดของเขายังมีภาคต่ออีกเยอะ การันตีด้วยคำอธิบายจากบุคคลอื่นว่า เขาไปสุดจนเกือบเข้าขั้นหัวรุนแรง 

“ครั้งหนึ่งตอนทำงานอยู่มูลนิธิโลกสีเขียว มีองค์กรหนึ่งจัดงานปั่นจักรยาน แต่กลับแจกขวดพลาสติกและกล่องข้าวที่ใช้โฟม เราในฐานะมูลนิธิฯ ต้องการถอนตัว เพราะแนวคิดกับการกระทำสวนทางกัน เขาก็บอกว่าสปอนเซอร์ให้มาแบบนี้ สุดท้ายเราก็ไม่ได้ถอนตัว 

“ตอนนั้นรู้สึกไม่โอเคมาก ขณะที่ตอนนี้เราเข้าใจมากขึ้นและเอามาปรับกับตัวเอง กิจวัตรประจำวันหลังผ่านมากว่า 20 ปี ไม่มีอะไรพิเศษอีกต่อไป เมื่อเราคิดทุกขั้นตอนมาครบ การดำเนินชีวิตจึงง่ายและไม่รบกวนใคร”

หนึ่งในการปรับตัวของลูกคลองบางกอกใหญ่ คือเรือไฟฟ้าที่ลอยละล่องอยู่บริเวณท่าน้ำ นั่นเป็นผลผลิตจากเม็ดเงินหลายแสนบาท และความพยายามในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยไม่สร้างมลพิษทางน้ำ ทางเสียง และทางใจให้กับชุมชนริมคลอง 

คัมภีร์เลี้ยงลูกอย่างรักษ์โลกและชีวิตสายกรีนฉบับทำตามได้ของ ‘ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์’

บนเรือของซันมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งยังเป็นรูปแบบ Zero Emission มีน้ำดื่มบริการ ทั้งน้ำดื่มขวดแก้วแบบคืนขวดและน้ำกรองสำหรับคนที่อยากไปสุดกับเจ้าของเรือ

เขาทราบดีว่าสิ่งที่ทำไปอาจช่วยโลกได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะแขกที่ขึ้นมาใช้บริการยังคงหิ้วถุงช้อปปิ้งพะรุงพะรัง แต่ถึงอย่างนั้น ซันผู้มีวิธีการมองโลกเปลี่ยน แต่อุดมการณ์ยังแรงกล้าเหมือนเดิม ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการคิดและลงมือปฏิบัติจริงอย่างไม่ย่อท้อ

เผื่อสักวันแขกเหรื่อที่มาเห็นจะรับรู้ว่า แนวทางเหล่านี้ทำได้จริง ถึงตอนนั้นโลกคงได้มีคนรักเพิ่มอีกคน

คัมภีร์รักลูกและรักษ์โลก

การอยู่คนเดียว ทำกิจกรรมคนเดียว ดูจะเป็นเรื่องง่ายในการรักษ์โลกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เมื่อมีคู่ชีวิตมาอยู่ด้วยก็ต้องปรับจูนเข้าหากันในบางเรื่อง ซันรู้จักภรรยาของเขามานาน ทริปแรกของพวกเขาคือการปั่นจักรยานไปเที่ยวภาคใต้ 1 เดือน มีทั้งปั่นเองและแบกขึ้น บขส. ไปปั่นต่อ

“ตอนนี้ลงเอยด้วยดี แต่เขาไม่ได้ทำเหมือนเราเป๊ะ ชีวิตมันต้องบาลานซ์ เขาสร้างขยะอยู่บ้าง เราขอแค่เขาจัดการขยะอย่างถูกต้องก็พอ”

วันนี้ภรรยาของซันไม่อยู่บ้าน แต่ลูกสาวของเขากำลังนั่งเล่นรอไปเก็บขยะตอนเย็นกับเราอยู่ เรื่องน่าสนุกก่อนน้องเกิด คือการที่คุณพ่อมือใหม่ประกาศกร้าวว่าจะไม่เอา ‘แพมเพิร์ส’ แน่นอน เพราะการจัดการหลังจากนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากไม่ต่างจากผ้าอนามัยที่ไม่ค่อยมีใครยุ่ง ขยะเหล่านี้จึงจะอยู่คู่โลกไปอีกนานหลายร้อยปี ดังนั้น วิธีการของคนไม่สนใจเทคโนโลยีอย่างเขาจึงวนกลับไปที่ภูมิปัญญาโบราณอย่าง ‘ผ้าอ้อม’

ฟังมุมมองและวิธีเลี้ยงลูกอย่างรักษ์โลกของ ‘ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์’ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวพ่อผู้ไม่ยอมซูฮกให้แพมเพิร์ส

“เรื่องเจ็บ ๆ คัน ๆ คือวันที่ลูกผมคลอด เพื่อนที่รู้ว่าผมไม่เอาแพมเพิร์ส เขาขนแพมเพิร์สมาให้ด้วยความหวังดี แล้วบอกว่า เขาเห็นมาเยอะแล้ว คนที่ตั้งใจสุดท้ายก็ยอมแพ้ มันหยามกันสุด ๆ 

“ผมซักผ้าอ้อมเองทุกวัน วันละ 40 ผืน ลูกสาวจะมีของเหลวที่ออกจากร่างกายเยอะกว่าลูกชาย ทั้ง อุจจาระ ปัสสาวะ เลือดประจำเดือนที่เกิดจากฮอร์โมนตกค้างจากท้องแม่ และมีของเหลวอื่น ๆ อีก ผมใช้น้ำยาซักผ้าเด็กสูตรออร์แกนิก น้ำเหลือเอาไปใส่ต้นไม้ รดใบชะพลู ผมซักจนมือเปื่อยจะยอมแพ้แล้ว พอหันไปเห็นกล่องแพมเพิร์สของเพื่อนเลยฮึดขึ้นมา สุดท้ายก็ผ่านไปได้ 

“เพิ่มเติมคือ ขอฝากคนที่มีโอกาสสร้างบ้านใหม่ หากแยกถังพักน้ำทิ้งไว้รดน้ำต้นไม้น่าจะดีเลย”

ถึงจะดูดื้อรั้น แต่เขาก็ยอมใช้แพมเพิร์สตามคำขอของพยาบาลเฉพาะวันที่เดินทางไป-กลับโรงพยาบาล เพราะเด็กมักอุจจาระระหว่างเดินทาง เบ็ดเสร็จใช้ไปทั้งหมด 10 ชิ้น และเป็น 10 ชิ้นที่ได้รับแจกมาจากสปอนเซอร์ในโรงพยาบาล

“การผูกผ้าอ้อมของผมใช้แบบซูโม่ ซึ่งทำให้ดูดซับของเหลวได้ดีขึ้น จนสุดท้ายเลิกได้สนิท เพราะไปเจอเทคโนโลยีกางเกงผ้าอ้อมที่คุณสมบัติเหมือนแพมเพิร์ส แต่ซักได้ มีเหมือนแผ่นผ้าขนหนูเป็นไส้สอดในกางเกงอีกที ซับน้ำได้ดี ส่วนด้านนอกจะเคลือบกันน้ำออก ไม่มีขยะเลย เว้นแต่ตัววัสดุจะมีส่วนผสมของพลาสติก แต่ผมไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้น ผมไม่ได้รังเกียจพลาสติก เพราะมันใช้ซ้ำได้ก็แฮปปี้ แล้วอายุของกางเกงผ้าอ้อมก็ไม่ได้สั้นขนาดนั้น”

ก่อนที่ลูกเกิดยังมีอีกขั้นตอนที่ทำให้เขาถึงขั้นอยากเปิดคอร์สบรรยายการเตรียมตัวเลี้ยงลูกอย่างรักษ์โลก นั่นก็คือการศึกษาหาข้อมูลสินค้าที่ต้องใช้ และการทำลิสต์อำนวยความสะดวกให้เหล่าญาติสนิทมิตรสหายเพื่อไม่ต้องซื้อของมาเสียเที่ยว

“ผมเชื่อว่าทุกบ้านมีคนปรารถนาดีอยากซื้อของให้ลูกหลาน บางคนเขาไม่เคยมีลูก อาจไม่รู้ว่าต้องซื้ออะไร เรื่องมันก็จะจบง่าย ๆ ว่าซื้อนมหรือแพมเพิร์สที่คิดว่าน่าจะได้ใช้ แต่เอาจริง ๆ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเขาใช้จริงไหม เราเลยทำ Wish Lists ขึ้นมาว่า นี่คือบรรดาของที่เราได้ใช้แน่ ๆ แชร์ Google Drive ให้ ระบุชัดเจนถึงสเปกและสีในบางกรณี ใครจะให้อะไรเขียนจองไว้ได้

“ทางยุโรปทำเรื่องนี้เป็นปกติ แต่ในเมืองไทยไม่ค่อยเห็น บางคนคิดว่าเสียมารยาท เพราะของบางอย่างราคาแพง แต่เราคิดว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยคนซื้อเขามั่นใจได้ว่า ให้เราแล้วคุ้มค่า เพราะใช้จริง สิ่งที่เราทำเลยเป็นเหมือนการนำร่อง เพื่อน ๆ ก็มีทำตาม”

อย่างที่บอกว่าเขาอินจนอยากเปิดคอร์ส อีกหนึ่งตัวอย่างที่เล่าให้ฟังจึงย้อนกลับไปเรื่องของการซักผ้าอ้อม

ฟังมุมมองและวิธีเลี้ยงลูกอย่างรักษ์โลกของ ‘ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์’ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวพ่อผู้ไม่ยอมซูฮกให้แพมเพิร์ส

“ผ้าเปื้อนอุจจาระสีเหลืองทำเราเครียดมาก ผืนเดียวซักเป็นชั่วโมง แล้วหนึ่งวันมี 40 ผืน ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว จนมีคนแนะนำว่าคราบสีเหลืองให้เอาสบู่ก้อนมาป้ายแล้วแช่น้ำไว้ครึ่งชั่วโมง ขาวจั๊วะ ส่วนผ้าเปื้อนเลือด มีคนบอกให้ใช้น้ำอุ่นเพราะมันจะละลายออก โอ้โห ละลายแผ่เป็นดวง เพื่อนที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กใน Nursery อยู่สหรัฐฯ บอกให้เอาน้ำแข็งลูบ แล้วเลือดจะจับตัวเป็นก้อนหลุดออกมาเป็นเกล็ด มหัศจรรย์จริง ๆ” คุณพ่อพูดอย่างตื่นเต้น

นอกจากนี้ ซันยังตัดเย็บผ้าขนหนูเพื่อทดแทนสำลี เวลาพาลูกไปใช้ห้องน้ำสาธารณะก็พกผ้าขี้ริ้วไปเพิ่ม เพื่อลดการใช้กระดาษทิชชู และที่สำคัญคือ เขาให้ลูกอยู่ในสภาพธรรมชาติ สัมผัสความร้อนและความหนาว ตลอดจนรู้ว่าอากาศที่ฝนตกเป็นอย่างไรโดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ และอาบน้ำโดยไม่ใช้น้ำอุ่น

“เรื่องที่คนส่วนใหญ่ละเลยคือเปิดแอร์ ไม่เปิดหน้าต่างระบาย ทำให้เกิดค่าคาร์บอนไดออกไซด์สูงในห้อง ส่งผลให้เยื่อบุจมูกอักเสบ ติดเชื้อได้ง่าย เป็นภูมิแพ้กันง่าย ต่อมเหงื่อไม่ค่อยทำงาน ขณะที่ไตทำงานหนักแทน” เขาอธิบาย

ส่วนการบำรุงผิวเด็กบางครั้งก็จำเป็นต้องใช้ครีมเนื่องจากเกิดผื่นบนผิวหนัง ภรรยาของซันเลือกใช้ครีมสูตรออร์แกนิก ไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่มีน้ำหอม

“เรามีพาลูกออกไปใกล้ชิดธรรมชาติตั้งแต่อายุ 10 วันกว่า ๆ โดยใช้สนามหญ้าหลังบ้าน เคลียร์พื้นที่ให้สะอาดที่สุด ปราศจากมดหรือแมลง พาลูกเล่นเดินเล่นทราย เดินเท้าเปล่ากับพื้นหญ้า ชิมดอกไม้ ใบไม้ กินอาหารด้วยตัวเองสไตล์ BLW (Baby-Led Weaning) หรือการฝึกให้เด็กหยิบจับอาหารกินด้วยตัวเอง ทีนี้เราก็ไม่ต้องกลัวเขาจะหยิบเหรียญหรือหยิบของกลืนลงคอตอนโตขึ้นมาหน่อย เพราะเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองมาตลอดว่า อะไรกินได้หรือกินไม่ได้” คุณพ่อเล่า ซึ่งผลลัพธ์ไม่อาจการันตีได้ว่าเป็นเพราะเหตุผลนี้ไหม แต่ลูกสาวของเขาสุขภาพแข็งแรงดีและป่วยน้อยมาก

เมื่อเด็กน้อยเติบโตขึ้น เธอเริ่มชวนคุณพ่อออกเรือเพื่อเก็บขยะ ฝั่งผู้เป็นพ่อพยายามไม่ปฏิเสธ เพราะเขาถือเป็นนิมิตหมายอันดีและเป็นตัวชี้วัดพัฒนาการของลูก

“เราไม่เคยบังคับให้ลูกต้องเดินตามทางของเรา การเก็บขยะในคลอง หากเขาไม่สนใจ เราไม่เคยบังคับ เหมือนเราแค่เปิดทางเลือกให้เขาเห็นมากกว่า แต่ในทุกย่างก้าว ถ้าทำได้ ผมก็อยากให้เขาแคร์อย่างอื่นด้วยนอกจากตัวเอง”

ซันเล่าว่า หลังเก็บขยะขึ้นจากน้ำ สองพ่อลูกทนไม่ได้ที่จะไม่แยกขยะ ภายในบ้านจึงเต็มไปด้วยขยะที่ตนเองไม่ได้ก่อ ทั้งหลอด กล่องกระดาษ และกล่องพลาสติกใส แต่สิ่งที่ลูกของเขาเบื่อที่สุด คือการต้องแยกฉลากพลาสติกออกจากขวดพลาสติก

สาวน้อยในวัย 4 ขวบครึ่งบอกว่า “ทำไมไม่ทำให้ข้อมูลบนฉลากปั๊มติดกับขวดไปเลย จะได้เหลือขยะแค่ชิ้นเดียว”

“บางทีผมก็เรียนรู้จากลูกเหมือนกัน เพราะเด็ก ๆ มักมีมุมที่เราไม่มอง และพูดมันอย่างตรงไปตรงมา” คุณพ่อยิ้ม

การเติบโตของลูกคืออนาคตที่พ่อคนหนึ่งเฝ้ามองด้วยความห่วงใย ในส่วนของตัวเอง ซันพึงพอใจกับชีวิตประจำวันที่เขาทำอยู่ ด้วยความเชื่อว่าตัวเองเบียดเบียนโลกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปแน่นอน

การเดินทางหลายสิบปีตั้งแต่ ม.1 จนถึงวันที่เป็นพ่อคนไม่ได้เกิดขึ้นบนความบังเอิญ แต่หากให้ถอดบทเรียน น่าจะเป็นเพราะเขาไม่เคยถอดใจ และยังดิ้นรนหาทางออกใหม่เสมอ

สุดท้าย เราคิดว่าซันคงไม่อยากให้ใครเลียนแบบความสุดโต่งของเขา และมันคงจะดีกว่า หากทุกคนลองลงมือรักษ์โลกทีละนิดอย่างเข้าใจ ทำเท่าที่ไหว ไม่ฝืน และไม่บังคับใครให้รักในสิ่งเดียวกัน แล้วผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อชีวิตของคุณเอง ไม่ใช่เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของโลก แต่เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของ ‘เรา’

ฟังมุมมองและวิธีเลี้ยงลูกอย่างรักษ์โลกของ ‘ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์’ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวพ่อผู้ไม่ยอมซูฮกให้แพมเพิร์ส

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ