เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ น้อยคนนักที่จะนึกถึง เบียร์ เป็นอันดับแรก แต่วันนี้เราจะพาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่จะเปลี่ยนมุมมองความคิดต่อเครื่องดื่มชนิดนี้ใหม่ เพราะบนถนนสามเสนมีเรื่องราวของเบียร์ยี่ห้อหนึ่งที่ไม่เพียงแต่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ชาติของเรามาช้านาน แต่ยังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทย ‘โมเดิร์น’ มาจวบจนปัจจุบัน

ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง ‘Singha Museum’ หรือ ‘พิพิธภัณฑ์สิงห์’ แหล่งเรียนรู้ที่บูรณะขึ้นมาจากโรงกลั่นเบียร์อายุกว่า 50 ปี ริมแม่น้ำ ในบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ภายใต้การดูแลของ คุณสรวิช ภิรมย์ภักดี ทายาทรุ่นที่ 4 ของ พระยาภิรมย์ภักดี ผู้ริเริ่มปณิธานในการสรรสร้างเบียร์ไทยยี่ห้อแรก ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2472

“ที่จริงแล้วยังมีพื้นที่และตึกที่มีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์อยู่ในบริเวณบริษัทอีกพอสมควร แต่ด้วยปัจจัยทางงบประมาณและการจัดการ เราจึงเริ่มเล็กๆ จากโรงกลั่นแห่งนี้ก่อน” คุณสรวิชกล่าว

เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ จึงมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละรอบไว้น้อย มีรถกอล์ฟสีครีมจัดไว้รับรองผู้เข้าชมจากประตูทางเข้าบนถนนสามเสน และพาแล่นผ่านผู้คนขวักไขว่ในส่วนโรงงานและสำนักงานใหญ่ปัจจุบัน มาลอดซุ้มประตูทรงคลาสสิก มีชื่อ ‘บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด’ สะกดตามอักขรวิธีไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จารึกไว้เด่นชัด

ขับเข้ามาจนมาถึงส่วนของพิพิธภัณฑ์ หรืออาคารหม้อต้ม ที่ยืนหยัดอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 และถือเป็นอาคารหลังที่ 2 ที่สร้างต่อเติมจากอาคารหลังแรกที่อยู่ติดกัน ดังนั้น หากจะกล่าวว่าสถานที่ตั้งของมิวเซียมแห่งนี้ถือเป็นไฮไลต์ด้วยตัวมันเองก็คงไม่ผิดนัก บรรยากาศในช่วงแรกนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังย้อนเวลากลับไปในอดีต ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าไปชมนิทรรศการด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ เยื้องไปไม่ไกลนักจากพิพิธภัณฑ์ ยังเป็นที่ตั้งของอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญ นั่นคือสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของเรื่องราวทั้งหมด

โดยเดิมที พระยาภิรมย์ภักดี (ชื่อเดิม บุญรอด เศรษฐบุตร) เคยทำธุรกิจเดินเรือรับส่งผู้โดยสารข้ามฟาก ระหว่างพระนครกับฝั่งธนบุรี จนได้รับพระราชทานราชทินนาม ‘ภิรมย์ภักดี’ สืบตระกูลขุนนางพ่อค้า ตามที่บิดาเคยได้รับมาก่อนในสังกัดกรมท่าซ้าย

จนกระทั่งต้นทศวรรษ 2470 ทางราชการมีดำริให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฝั่งธนบุรี เฉลิมฉลองวาระ 150 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้ท่านเจ้าคุณเล็งเห็นว่าเมืองไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง ธุรกิจเรือข้ามฟากของตนคงไม่สามารถตอบสนองคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป ประกอบกับได้ชิมเบียร์รสดีจากมิตรสหายชาวเยอรมัน ท่านจึงมีความคิดที่จะเป็นคนไทยคนแรกที่ตั้งโรงงานเบียร์ขึ้นในประเทศให้สำเร็จ อีกทั้งยังช่วยให้กำไรจากการจำหน่ายเบียร์นับแสนขวดที่ขายได้ในเมืองไทยสมัยนั้นไม่รั่วไหลออกไปต่างประเทศอีกด้วย

พระยาภิรมย์ภักดีในช่วงอายุ 57 ปี จึงออกเดินทางศึกษาดูงานในโรงงานผลิตเบียร์ต่างประเทศ เริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกับเริ่มการเจรจากับทางราชการเพื่อขอสัมปทานผลิตเบียร์ 

ต่อมา ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ท่านเจ้าคุณจึงเดินทางไปยุโรปเพื่อแสวงหาวัตถุดิบสำคัญและเครื่องจักรที่เหมาะสม รวมถึงหาตัวผู้เชี่ยวชาญด้านนี้

ใช้เวลา 6 เดือน จนในที่สุดท่านก็คัดเลือกให้บริษัทเมี้ยก (MIAG) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเล็กๆ ชื่อเบราน์ชไวก์ (Braunschweig) เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรส่วนต่างๆ แล้วขนส่งกลับมาทางเรือ ประกอบร่างขึ้นเป็นโรงเบียร์แห่งแรกในประเทศไทยบนที่ดินผืนนี้นี่เอง แน่นอนว่าเครื่องจักรเหล่านั้นถูกจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์สิงห์ในฐานะหมุดหมายสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในไทยด้วย

หลังจากที่พระยาภิรมย์ภักดีกลับมาที่ประเทศไทย และเจรจาต่อรองกับทางราชการจนได้รับสัมปทานเรียบร้อยแล้วจึงจดทะเบียนตั้งบริษัท ซึ่งในตอนแรกตั้งใจจะใช้ชื่อว่า ‘บริษัท เบียร์สยาม จำกัด’ แต่สุดท้ายตัดสินใจกลับมาใช้ชื่อของตนเอง คือ ‘บุญรอด’ จดทะเบียนเป็น ‘บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด’ แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2476 หนึ่งปีหลังจากที่สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย

ต่อมาใน พ.ศ. 2477 โรงเบียร์แห่งนี้จึงเริ่มผลิตเบียร์ออกวางตลาดได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยช่วงแรกมี 3 ยี่ห้อคือ ตราว่าวปักเป้าทอง ตราสิงห์ และตราพระปรางค์ ซึ่งภายหลังเหลือเพียง ‘ตราสิงห์’ อย่างเดียวเท่านั้น แปลว่าโลโก้ของสิงห์ที่เราคุ้นชินนั้นหาใช่โลโก้ของบริษัทบุญรอดไม่! และในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เราจะได้เห็นตราสัญลักษณ์บริษัทบุญรอดที่แท้จริง นั่นก็คือ ตราหนุมานคาบศร ซึ่งท่านเจ้าคุณเลือกมาใช้ด้วยความหมายที่มีนัย 2 ประการ

หนึ่งคือ ใช้แทนตัวท่านเองซึ่งเกิดปีวอก และสองคือ ความหมายที่ว่าหนุมานเป็นทหารเอกของพระราม หนุมานในตราบุญรอดบริวเวอรี่จึงคาบลูกศรอันเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏในพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งมีที่มาจากพระนาม ‘เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์’ (เดชน์ แปลว่า ลูกศร) อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งออกแบบให้มีแผนผังเป็นรูปลูกศรตามพระนามาภิไธยอีกด้วย

อีกหนึ่งบุคคลสำคัญในกระบวนการนี้ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ‘นักปรุงเบียร์’ หรือ Brewmaster ซึ่งตามประวัติแล้ว พระยาภิรมย์ภักดีสามารถเสาะหาตัวชาวเยอรมันเข้ามาร่วมงานกับโรงเบียร์แห่งแรกของสยามได้คนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน ท่านยังมีความต้องการให้คนในครอบครัวสามารถสืบสานงานด้านนี้ได้โดยไม่ต้องหวังพึ่ง หรือ ‘นำเข้า’ ชาวต่างชาติต่อไปในอนาคต 

ท่านเจ้าคุณจึงหมายมั่นให้ นายประจวบ ภิรมย์ภักดี บุตรชายของท่าน ซึ่งขณะนั้นศึกษาอยู่ในยุโรป ฝึกฝนเป็น ‘นักปรุงเบียร์’ คนแรกของสยาม! โดยเข้าฝึกงานในโรงเบียร์ที่ประเทศเยอรมนีตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จากนั้น 2 ปีต่อมาก็เข้าเรียนหลักสูตรนักปรุงเบียร์ที่สถาบันเดอเมินส์ ซึ่งก่อตั้งโดย ดร. อัลเบิร์ต เดอเมินส์ (Dr. Albert Doemens) และเมื่อสำเร็จแล้วจึงไปฝึกงานต่อในโรงเบียร์ฮัคเกอร์ และสถานีวิทยาศาสตร์เพื่อการผลิตเบียร์ จนสำเร็จการศึกษาด้านนี้และเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยในเมื่อ พ.ศ. 2479 ในฐานะนักปรุงเบียร์ไทยคนแรกในประวัติศาสตร์อย่างภาคภูมิ

นอกจากคุณประจวบแล้ว พระยาภิรมย์ภักดียังมีบุตรชายอีก 2 คน คือ คุณวิทย์ และ คุณจำนงค์ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้พันธกิจการสืบสานกิจการของทั้งสามและทายาทรุ่นหลาน เหลน ได้จากนิทรรศการ ผ่านการจัดแสดงจดหมายเหตุและของใช้ส่วนตัวของแต่ละคนในตระกูลเช่นกัน

ถ้าสังเกตดูในเอกสารเหล่านั้น เราจะเห็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญคือ ‘ครุฑตราตั้ง’ ที่บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พ.ศ. 2482 หนึ่งปีหลังจากที่สยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย แสดงให้ถึงจุดยืนของบริษัทในช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศ ได้อย่างดี

ถึงกระนั้น ต่อมาไม่นานเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ประทุขึ้นในยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2483 บริษัทบุญรอดก็เริ่มเข้าสู่ภาวะยากลำบาก เริ่มจากสภาวการณ์ของสงครามทำให้วัตถุดิบในการทำเบียร์เช่นมอลต์และฮอปส์ขาดแคลน และถึงแม้นายประจวบ ภิรมย์ภักดี จะพยายามทดลองแก้ปัญหาโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เช่น ข้าวเจ้า ผลิตเบียร์แทนมอลต์ที่ทำจากข้าวบาร์เลย์ (ผลิตออกมาเป็น ‘เบียร์ตราหมี’) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับการผลิตโซดาและน้ำอัดลมซึ่งขาดแคลนส่วนผสมและคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย

สถานการณ์ยังเลวร้ายลงไม่หยุดเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มลามเข้ามาในประเทศไทยใน พ.ศ. 2484 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มเข้ามาโจมตี ทิ้งระเบิดตรงจุดยุทธศาสตร์และที่ตั้งกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย เรื่องราวของสงครามนั้นยังคงอยู่ในพื้นที่นี้ อาทิ ช่วงหนึ่งเคยมีหน่วยทหารของญี่ปุ่นเข้ามาตั้งค่ายในพื้นที่โรงเบียร์จนทำให้เครื่องจักรเสียหายไปบางส่วน หรือแม้แต่โลโก้สิงห์ จากเดิมที่เคยเป็นสีแดงก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นสีทอง เพื่อให้ต่างจากสีของพรรคคอมมิวนิสต์

เกร็ดประวัติศาสตร์เหล่านี้ถูกเล่าผ่านสิ่งต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์อย่างนิ่งๆ แต่ชวนตื่นเต้นอย่างมากสำหรับเนิร์ดสายประวัติศาสตร์อย่างเรา ส่วนคนทั่วไปก็ย่อมต้องตื่นตาตื่นใจกับการได้เข้ามาชมโรงเบียร์โบราณที่ถูกบูรณะไว้อย่างสวยงาม (ซึ่งคุณสรวิชเคยเล่าว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากตัวตึกเคยถูกปิดตายไว้เป็นเวลานาน) สามารถถ่ายรูปกับหม้อต้มทองแดงทรงคลาสสิกที่หาดูได้ยาก 4 หม้อ รวมถึงเครื่องจักรดั้งเดิมทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงผังจำลองกรรมวิธีทำเบียร์แบบ Interactive ถึงขนาดบริษัทเองก็ใช้พื้นที่นี้สำหรับอบรมพนักงานใหม่และรับรองแขกเหรื่อหรือคู่ค้าต่างประเทศด้วย ให้ได้เข้าใจตรงกันว่าจากความตั้งใจของท่านเจ้าคุณตอนอายุเกือบ 60 ปี ที่แห่งนี้ได้เติบโตขยายตัวไปอย่างมหาศาล จนกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศได้อย่างไร

สุดท้าย แน่นอนว่าเราคงจะกลับบ้านไปอย่างไม่สนิทใจ หากไม่ได้ชิม ‘เบียร์’ ที่เป็นพระเอกของเรื่องราวทั้งหมดในมิวเซียม มิวเซียมนี้จึงมีบาร์เล็กๆ ไว้บริการดับกระหาย และเติมเต็มประสบการณ์ของผู้เข้าชม ด้วยเบียร์ที่เล่าเรื่องเอกลักษณ์ในอดีตอย่างสิงห์และลีโอ รวมไปถึงเบียร์น้องใหม่ในบริษัทอย่างอาซาฮี หรือ EST.33 ที่บอกเล่าเรื่องราวการปรับตัวอย่างไม่หยุดนิ่งสำหรับอนาคตต่อไป บอกได้เลยว่าวันนี้นอกจากกลิ่นดอกฮอปและข้าวบาร์เลย์แล้ว ยังมีกลิ่นประวัติศาสตร์คลุ้งอยู่ในแก้วของเราด้วย

‘พิพิธภัณฑ์สิงห์’ ตั้งอยู่ที่ บริษัท บุญรอด บริวเวอร์รี่ จำกัด เลขที่ 999 ถ.สามเสน แขวง ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม 10300

ติดตามวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ที่ www.thesinghastory.com

 

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographers

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล

Avatar

อัครักษ์ ยิ้มสอาด

เพิ่งเรียนจบจากมัธยมปลาย รักในการใช้ชีวิต ใช้ชีวิตไปกับการดูหนัง ใช้ชีวิตไปกับการถ่ายรูป ใช้ชีวิตไปกับการเดินเรื่อยเปื่อย และอีกไม่นานจะไปใช้ชีวิตกับเมืองเชียงใหม่