“คนนั้นไง อาจารย์สิงห์” 

พี่ที่นั่งอยู่ด้วยกันชี้ให้ดูหนึ่งในสปีกเกอร์ที่กำลังพูดอยู่บนเวที เขาดูเป็นคนมีความรู้ มั่นอกมั่นใจ และ ‘ไนซ์’ ในขณะเดียวกัน

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราได้ไปงาน GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero ซึ่งจัดเป็นปีที่ 3 และตั้งใจสื่อสารเกี่ยวกับการยกระดับความร่วมมือด้านความยั่งยืน ด้วยการต่อยอดการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ ควบคู่ไปกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์

สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พา Upcycled Material โลดแล่นในวงการอสังหาฯ

หลังจากอาจารย์สิงห์พูดจบ เราได้พูดคุยกับเขาเป็นการส่วนตัว จึงได้มีโอกาสได้นัดหมายมาเยี่ยมเยือนเขาที่ RISC หรือ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ในวันนี้

ณ ออฟฟิศบนตึกสูงใจกลางเมืองที่มีบรรยากาศของนวัตกรรมล้ำสมัยแห่งนี้ เราจะมาคุยถึงประวัติชีวิต การทำงานกับ Upcycled Material และมุมมองเกี่ยวกับโลกของ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ดีไซเนอร์ที่มีแพสชันกับสิ่งแวดล้อมอย่างแรงกล้า ในคอลัมน์ In Design

สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พา Upcycled Material โลดแล่นในวงการอสังหาฯ

อยู่อย่างสิงห์

‘สิงห์’ เป็นคนหลายบทบาท เขาเป็นสถาปนิก เป็นอาจารย์ประจำภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ มีศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (SCRAP LAB) อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาอยู่ที่ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ที่ที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ตอนนี้

“ผมเคยเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่งมาก่อนในระบบการศึกษาไทย” อาจารย์เล่าให้ฟังถึงชีวิตในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่เขาสอนอยู่ นึกไม่ถึงเลยว่าคนเก่งอย่างเขาจะเคยมีช่วงเวลาแบบนั้นด้วย “พอย้ายไปเรียนเมืองนอก ชีวิตก็เปลี่ยนไปเลย เราเจอสิ่งที่เราทำได้”

15 ปีในประเทศไทยไม่ได้ทำให้เขาค้นพบตัวเอง แต่อเมริกากลับให้สิ่งนั้น เขาได้เรียนสถาปัตยกรรม วิชาที่เขาชอบในระดับปริญญาตรี แล้วไปต่อ Building Assembly หรือการประกอบอาคารที่เยอรมนีในระดับปริญญาโท ส่วนปริญญาเอกที่ MIT เขาทำวิจัยเกี่ยวกับการนำความยั่งยืนเข้าไปใช้ในโครงการตามความสนใจของตัวเอง

สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พา Upcycled Material โลดแล่นในวงการอสังหาฯ

“ผมสนใจเรื่องการออกแบบที่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และศึกษานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างที่ผมทำมันจะลิงก์อยู่กับแกนนี้”

ทำไมถึงมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ – เราถามด้วยความสงสัย เขาดูอินมากจริง ๆ

“ซีแอตเทิล วอชิงตัน ที่ผมไปอยู่ สิ่งแวดล้อมมันดี๊ดีครับ ผมอยู่ในหุบเขา แล้วออกไปทำกิจกรรมเอาต์ท์ดอร์ทุกสุดสัปดาห์ ทั้งพายเรือแคนู ไปแคมป์ปิ้ง ไปปินเขา ไปเล่นสโนว์บอร์ด เล่นสกี ผมไม่รู้สึกว่าธรรมชาติเป็นเรื่องไกลตัว” อาจารย์สิงห์รำลึกความหลัง “เรื่องสิ่งแวดล้อมมันเป็นสามัญสำนึก”

“ป่าหลังบ้านผมที่นู่นยังสวยกว่าสวนสาธารณะที่นี่เลย” คือประโยคที่อาจารย์สิงห์พูดแล้วเรารู้สึกจี๊ดในใจที่สุด

เขามองว่าคนไทยไม่ค่อยซาบซึ้งกับธรรมชาติ ต้นไม้เพื่อนบ้านแผ่เกินรั้วมาก็เป็นเรื่องผิด ใบไม้ร่วงตามพื้นหน้าบ้านก็พาให้อึดอัดใจ แต่กลับกัน บ้านของอาจารย์สิงห์ที่วอชิงตัน ถึงเป็นต้นไม้สาธารณะ เจ้าของบ้านที่อยู่ตรงนั้นก็ยังช่วยดูแลให้งอกงาม

ในปี 2006 อาจารย์สิงห์กับเพื่อน วีรนุช ตันชูเกียรติ ได้ช่วยกันก่อตั้ง OSISU แบรนด์ที่ทำผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุขึ้นมา เมื่อแบรนด์ไปได้ดี โด่งดังจนได้ส่งขายต่างประเทศ ไปลอสแอนเจลิส ไปฮอลลีวูด รศ.ดร.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น ก็ขอให้ช่วยนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาสอนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยบ้าง ด้วยเหตุนั้น ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ SCRAP LAB จึงถือกำเนิดขึ้น

“เราถอดรหัส OSISU มา เอาของที่เราทำขายมาสอนเด็ก ๆ เป็นขั้นตอน เราจะเน้นเรื่องการ Upcycling การแปลงขยะ บางเทอมเน้นขยะชุมชน บางเทอมเน้นขยะไม้ ขยะอาหาร ขยะโรงพยาบาล แล้วแต่ว่าสปอนเซอร์คือใคร เช่น สปอนเซอร์เป็นกรมหม่อนไหม ก็จะเป็นเศษไหม ขี้ไหม สารพัดไหมค้างสต็อก”

สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พา Upcycled Material โลดแล่นในวงการอสังหาฯ

ถัดมาก็ถือคราวของศูนย์วิจัยที่ 2 อย่างศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC by MQDC

“ตอนนั้นผมสอนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มา 14 ปี แล้วก็คิดว่ามีคนพูดเรื่อง Green Buiding เยอะแยะ แต่ทำไมเมืองมันยังพังวะ” เขาใส่อารมณ์ “ไม่ใช่แค่ผม หลายคนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีงานวิจัยดี ๆ เต็มเลย แต่สุดท้ายไม่เห็นมีใครเอางานไปใช้ ไม่มีเลย ที่ผ่านมา 40 – 50 ปี การตัดสินใจเหมือนเดิม การเลือกวัสดุเหมือนเดิม แนวคิดก็เดิม ๆ

“ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้ เราต้องการยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบและการก่อสร้างให้ดีขึ้น

“ผมอยากทำ ก็เลยต้องกล้าก้าวออกมาจากมหาวิทยาลัยมาทำให้เห็นจริง”

อาจารย์สิงห์ได้คุยกับ ทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์ และ คุณวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ผู้บริหารบริษัท MQDC แล้วเห็นตรงกัน RISC จึงเกิดขึ้นด้วยงบประมาณของ MQDC และกลายเป็นเหมือน ‘สนามเด็กเล่น’ ให้นวัตกรรมต่าง ๆ เข้าสู่โครงการจริง เพื่อยกระดับคุณภาพการก่อสร้างและเมืองอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ใช่แค่โครงการของ MQDC ที่ได้นวัตกรรมไปใช้ แต่บริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ หรือองค์กรอื่น ๆ ก็ได้ทั้งนั้น

RISC ทำอยู่ 5 Hub ด้วยกัน

Hub แรก คือการดูแลเรื่อง Air Quality (ทั้งภายในและภายนอกอาคาร)

Hub ที่ 2 คือ Material and Resources พัฒนาวัสดุ และกำลังเน้นเรื่อง Low-carbon Material, Carbon-negative Material หรือ Upcycled Material

Hub ที่ 3 คือ Happiness Science หรือการเข้าใจความสุข ความเครียด และการมองสิ่งแวดล้อมของคนผ่านคลื่นสมอง

Hub ที่ 4 คือ Biodiversity ที่มองไปไกลมากกว่ามนุษย์ วิจัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศเมือง

และ Lab ที่ 5 คือ Resilience Science การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้เราอยู่รอดและพัฒนาต่อเนื่องได้ในอนาคต

“เราไม่มี Energy Lab แม้จะมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาเมือง เพราะมี Expertise ด้านนี้มากแล้ว” อาจารย์สิงห์พูด “เราอยากเติมเต็มช่องว่างเพื่อพัฒนาไปอย่างยั่งยืน เครื่องมือที่เรามีในแต่ละ Hub จะเป็นเครื่องมือที่สถาบันอื่น ๆ ยังไม่มีหรือมีไม่ครบครับ”

สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พา Upcycled Material โลดแล่นในวงการอสังหาฯ

วันนี้ที่เราจะคุยกันเรื่อง Upcycled Material เกี่ยวข้องกับ Lab ที่ 2 ของ RISC และ SCRAP LAB

แล้ว Upcycling นี่มันคืออะไรกันนะ

“Good Question” นักเรียนนอกยิ้ม “มันก็เป็นสับเซตของ Recycling แหละครับ ปกติการรีไซเคิล เราจะได้วัสดุที่คุณภาพต่ำลง แต่ Upcycling คือมาแปรให้มีมูลค่ามากขึ้น น่าใช้ขึ้น คนอยากใช้นานขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน Life Cycle ก็ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน”

ฟังดูเป็นศาสตร์แห่งปัจจุบันและอนาคตทีเดียว

4 นวัตกรรมในวงการอสังหาฯ ที่ Upcycle จากเศษขยะ

01 UPCYCLING CARPET

สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พา Upcycled Material โลดแล่นในวงการอสังหาฯ

“2 – 3 ปีที่แล้วประเทศเราเป็นอันดับ 6 ของโลกที่ทิ้งพลาสติกลงทะเล เลยคิดว่าถ้าจะสร้างโครงการที่ช่วยเหลือโลกให้ได้ผลจริง ๆ จะทำยังไงได้บ้าง

“เราเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นพื้นที่รองรับวัสดุกลุ่มนี้ได้ไหม” เป็นคำถามที่พวกเขาคุยกัน

โครงการของ MQDC เป็น Luxury และ Ultra luxury ของที่จะเข้าไปอยู่ในนั้นได้ อาจถึงขั้น ‘หรูหรา’ ในการจะทำผลิตภัณฑ์หรือวัสดุสักอย่างขึ้นมา อาจารย์สิงห์คิดถึงหลายตัวเลือก ตั้งแต่ปลอกหมอนไปจนถึงฝ้าเพดาน

“ผมรู้สึกว่าผมเป็นสถาปนิก ฉะนั้น ถ้าเราทำอะไรทั้งที ผมตั้งใจให้มันกลับมาสู่สถาปัตยกรรม” อาจารย์สิงห์มุ่งมั่น “แล้วผมก็คิดว่าถ้าจะรองรับขยะจำนวนมากได้มันต้องเป็นอะไร จะเป็นชุดพนักงานก็ได้อยู่หรอก เป็นม่านก็ได้ แต่พอชั่งน้ำหนักดูแล้วมันก็ไม่เยอะเท่าการเอามาทำพรม เลยตัดสินใจทำเรื่องพรม Upcycle สำหรับอาคาร”

ตรงกับที่ GC ได้มีการขับเคลื่อนการทำงานด้านความยั่งยืน มีความสนใจเรื่อง Upcycling และ Circular Economy อยู่ด้วย จึงมีการทำ MOU ร่วมกันเพื่อทำโครงการ Upcycling  และได้ร่วมกับชุมชนและกลุ่มประมงไปเก็บขยะทะเล เก็บขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ มาทำโครงการกับ RISC ใช้ทำพรม

วิธีการทำพรมเริ่มตั้งแต่กระบวนการสับหรือการหั่นเป็นฝอย จากนั้นก็นำไปหลอม ขึ้นเส้นใยด้วยเครื่องเป็น PET Fiber ตามขนาดและสเปกต่าง ๆ ย้อมตามสีที่เราต้องการ แล้วเลือกเทคนิคถักทอสุดท้ายว่าอยากใช้แบบไหน มีทั้งแบบ Cut Pile และ Loop Pile รวมทั้งการถักด้วย โดยวัสดุที่ใช้ทั้งหมดก็คือพลาสติก rPET 100% 

“แต่ละบริษัทใน Supply Chain มีหน้าที่กันแต่ละขั้นตอน” งานแบบนี้เครือข่ายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่ง “บริษัทที่ทำเส้น Fiber ให้คืออังไถ่ ส่วนขั้นตอนทำพรมนี่ ทำโดยทำโดยช่างฝีมือจากขอนแก่น บริษัท Carpet Maker”

สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พา Upcycled Material โลดแล่นในวงการอสังหาฯ

พรมเส้นใยแปรรูปจากขวดพลาสติกนี้ นอกจากสวยงามเหมือนพรมพรมชั้นดีแล้ว (เราตกใจมากว่านี่คือพลาสติก 100% จริงเหรอ ไม่น่าเชื่อเลยจริง ๆ) ยังมีคุณภาพที่ดีกว่าพรมทั่วไปในท้องตลาด เช่น ป้องกันคราบสกปรก ไม่เกิดเชื้อรา ไม่ดูดซึมน้ำ นุ่ม ดูแลง่าย และไม่สะสมฝุ่นด้วย

“ตอนนี้ Magnolia ก็ใช้ Fendi หรือ Chanel ก็ใช้ และอีกหลายแบรนด์ใหญ่ก็ใช้ ไปไกลแล้วครับ” อาจารย์สิงห์เล่าด้วยรอยยิ้ม

02 SONITE SCAPA วัสดุจากเศษกระดุม

สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พา Upcycled Material โลดแล่นในวงการอสังหาฯ

“วุ้นมะพร้าวเป็นอันแรกที่ผมเข้าไปทำงานกับ Sonite ตอนผมกลับมาจากต่างประเทศใหม่ ๆ แล้วก็ตั้ง SCRAP LAB” อาจารย์สิงห์เรียกแผ่นแรกซึ่งเป็นสีขาวด้วยชื่อเล่นที่ทุกคนเรียกกันว่า ‘วุ้นมะพร้าว’ 

“ตอนนั้นไปเยี่ยมโรงงานผลิตกระดุม แล้วได้เห็นการผลิตกระดุม พอเม็ดกระดุมร่วงออกมาจากแผงเหมือนรังผึ้ง เราสงสัยว่าเอาไปทำอะไร เขาก็บอกว่าเอาไปใช้อะไรไม่ค่อยได้ เพราะเป็นพลาสติกที่ไม่หลอมละลาย แปลว่าต้องฝังกลบเยอะในที่สุด ก็เลยคุยกันว่างั้นเอามาทำเป็นวัสดุใหม่อีกไหม เห็นมีโรงงานผลิตหินเทียมอยู่”

กระบวนการเปลี่ยนเศษกระดุมเป็นหินเทียม เริ่มจากการคัดแยกสีกระดุมออกเป็นกลุ่ม ๆ จากนั้นนำไปบด หากบดละเอียดมาก ก็เปลืองพลังงานและต้นทุนมาก สุดท้ายจึงมาจบลงที่บดหยาบแบบที่เห็น ซึ่งอาจารย์บอกว่าใช้พลังงานไม่มาก และยังพอเห็นเท็กซ์เจอร์ของเศษกระดุมอยู่

พวกเขานำเศษที่บดหยาบแล้ว มาผสมกับวัสดุที่ใช้ทำหินเทียมในถังกวน ด้วยปริมาณและความเร็วรอบที่เหมาะสม เทหล่อขึ้นรูป แล้วนำไปขัด การขัดจะมีฝุ่นออกมา แต่ก็พยายามนำฝุ่นนั้นไปทำอย่างอื่นต่อไม่ให้เหลือ Waste

“เราทดลองหลายวิธี อัดเศษกระดุมได้ไหม ขึ้นเป็นชิ้นงานโมเสกได้ไหม แล้วก็มานั่งสนทนากันว่าอันไหนมีตลาด ต้นน้ำ-ปลายน้ำเป็นยังไง ต้นทุนเท่าไหร่ถ้าทำแบบนี้ วางแผนยังไง ใช้ปริมาณเท่าไหร่ และจะขายใคร”

SONITE SCAPA ที่ได้ออกมานั้นช่วยลดภาระของสิ่งแวดล้อม เบากว่าหิน ตัดง่าย ช่างทั่วไปก็จัดการได้ และไม่มีรูพรุนแบบหินธรรมชาติ การไม่มีรูพรุนนี่แหละช่วยลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ ซึ่งวัสดุนี้นำไปใช้ได้หลายอย่าง ทั้งเก้าอี้ โต๊ะประชุม โต๊ะทำงาน เคาน์เตอร์ครัว เคาน์เตอร์ห้องน้ำ “ถ้าจะขายโรงพยาบาล เขาไม่ได้สนใจเรื่องกรีน เขาสนใจว่ามันจะเกิดเชื้อโรคสะสมในพื้นผิวรึเปล่า และรูปลักษณ์ดูดีรึเปล่า”

03 EMARBLE นวัตกรรมวัสดุหินเทียมจากเปลือกไข่ไก่เหลือทิ้ง

สนทนากับ ‘สิงห์ อินทรชูโต’ แห่ง ม.เกษตรศาสตร์ เรื่องนวัตกรรมของ RISC ที่ Upcycle จากเศษขยะ

ปัญหาหลักของโรงงาน คือเขาทิ้งเปลือกไข่วันหนึ่งหลายสิบตัน เวลาเขาทำพวกไข่เหลว ไข่ผง ส่งเบเกอรี่ ส่งโรงแรม เขาจะตอกแล้วเอาเปลือกไข่ทิ้ง” อาจารย์สิงห์พูดถึงอีกโรงงานที่ได้ไปเยี่ยมชมมา “เปลือกไข่ใช้งานอะไรไม่ได้มาก บางคนขอไปทำปุ๋ย แต่ด้วยความที่มันเป็นตัน ๆ ทำปุ๋ยเท่าไหร่ก็ยังเหลือ”

เขาบอกว่าเปลือกไข่เป็นทรัพยากรที่มนุษย์สร้างใหม่ได้ แบบเดียวกับต้นไม้ เล็บหมู หรือเขาควาย จึงอยากนำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง ด้วยความที่เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตถึง 99% แข็งมาก จึงมาลงเอยที่การนำมาทำหินเทียม

สนทนากับ ‘สิงห์ อินทรชูโต’ แห่ง ม.เกษตรศาสตร์ เรื่องนวัตกรรมของ RISC ที่ Upcycle จากเศษขยะ

เปลือกไข่มีโปรตีนเมือกเหลว ๆ เป็นชั้นขาว ๆ บาง ๆ ข้างใต้เปลือก การจัดการกับเปลือกไข่ในขั้นต้นจึงต้องใช้เครื่องแยกระหว่างแคลเซียมคาร์บอเนตกับชั้นโปรตีนขาว ๆ ที่มีเมือกนั้น ส่งเมือกไปทำเครื่องสำอาง แล้วนำเปลือกมาดำเนินการต่อกับบริษัท Sonite เจ้าเก่าเจ้าเดิม โดยใช้เปลือกไข่ 1600 ฟองต่อ 1 ตารางเมตร

“เปลือกไข่นี่แข็งจนใบเลื่อยทื่อเลยนะ” นวัตกรหัวเราะ ก่อนบอกว่าช่างชอบทำเปลือกข้าวที่นิ่มกว่าเปลือกไข่

ข้อดีของ EMARBLE ก็คล้ายผลิตภัณฑ์ก่อนหน้าอย่าง SONITE SCAPA คือไม่มีรูพรุน เชื้อโรคลงไปอยู่ไม่ได้ ทำความสะอาดง่าย ใช้กับโรงพยาบาลได้ดี

“ผมว่าสวยมาก ถ้าใช้ตามรีสอร์ตชายทะเลนี่ก็จะเลิศเลย มันเหมือนทราย” เขาพูดพลางชี้ให้ดูแบบขัดด้านและแบบขัดมัน

04 UPCYCLED WALKWAY

สนทนากับ ‘สิงห์ อินทรชูโต’ แห่ง ม.เกษตรศาสตร์ เรื่องนวัตกรรมของ RISC ที่ Upcycle จากเศษขยะ

“ข้างหลังนั่น My Pride เลย ดูไม่สวยแต่ใช้เยอะมาก” อาจารย์สิงห์เดินอย่างกระตือรือร้นออกมาจากโต๊ะที่วางวัสดุต่าง ๆ เมื่อครู่ 

“นี่คือขอบถนนทำด้วยพลาสติก ปริมาณทำขอบถนนเยอะพอกับถนนเลย ถนนยาวกี่เมตรก็ยาวควบคู่กันไป”

วิธีทำ จะผสมเศษพลาสติกที่ได้จากหลุมฝังกลบ เข้ากับซีเมนต์ ทราย น้ำ โดยน้ำหนักของพลาสติกเหล่านี้อยู่ที่ 12 – 13% แต่หากพูดถึงปริมาตร พลาสติกเหล่านี้กินถึงไป 50% เรียกว่าช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้เป็นอย่างดี

“นี่เป็นเศษพลาสติก Low Grade เหม็นหึ่งครับ เขาจะฝังกลบหรือเผาถ้าเราไม่ทำอะไร”

แล้วคุณสมบัติต่างกับบล็อกปกติมั้ย

“ต้องได้มาตรฐาน มอก. ห้ามแตกต่างมาก” อาจารย์พูดจนเรามั่นใจในคุณภาพของบล็อกที่ผลิตโดยหนึ่งใน Supply Chain อย่าง ส.อรุณ “แต่เบากว่านะ เรื่องน้ำหนักเขาไม่ได้ว่าอะไร”

ไม่เพียงแต่ขอบถนน นวัตกรรมนี้ยังปรับได้หลายสูตร แล้วนำไปใช้ประโยชน์ต่างกัน ที่วางกองอยู่บนพื้นตรงหน้าเรานี้มีทั้งบล็อกไม่รับน้ำหนัก บล็อกระบายอากาศ (Ventilation Block) และบล็อกทางเดิน ซึ่งอาจารย์สิงห์บอกว่าบล็อกระบายอากาศและบล็อกขอบถนนจะใส่พลาสติกได้เยอะกว่าบล็อกทางเดิน เนื่องจากไม่ต้องกังวลว่าจะพังเท่าไรนัก

สนทนากับ ‘สิงห์ อินทรชูโต’ แห่ง ม.เกษตรศาสตร์ เรื่องนวัตกรรมของ RISC ที่ Upcycle จากเศษขยะ

ในนามของความยั่งยืน

SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย และที่สำคัญไม่แพ้เรื่องสิ่งแวดล้อม ก็คือมนุษย์ สิงห์สนใจความยั่งยืนของมนุษย์ด้วยเช่นกัน 

SCRAP LAB เป็นศูนย์ที่ทำงานกับชุมชนอยู่เสมอ เราได้ฟังเขายกตัวอย่างงานหนึ่งที่น่าสนใจมา ก็คือ ‘กระเป๋าถุงน้ำยาล้างไต’

“เราทำงานกับโรงพยาบาลกลาง” เขาเล่า “เวลาผู้ป่วยฟอกไต ถุงน้ำยาล้างไตด้านบนจะสะอาดมาก ส่วนถุงล่างจะสกปรก ผู้ป่วยมักทิ้งรวมกันไปเลย กลายเป็นขยะติดเชื้อไปหมด เราเลยแยกถุงบนออกมา แล้วหารายได้จากตรงนี้คืนกลับไปที่โรงพยาบาล”

สิ่งที่เขาทำคือรับซื้อถุงเหล่านั้นมาจากโรงพยาบาล แล้วไปสอนชุมชนต่าง ๆ ตัดเย็บเป็นกระเป๋า ชุมชนที่ SCRAP LAB ทำงานด้วยโดยตรงจะอยู่ที่ดินแดง ส่วนชุมชนอื่น ๆ เป็นเครือข่ายของโรงพยาบาล ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลกลาง ตอนนี้ก็ขยายผลไปทั่วประเทศแล้ว

“พวกเรา SCRAP LAB จะส่งทีมไปสอน บางทีพยาบาลมาเรียน บางทีก็เป็นแขกในชุมชนมาเรียน บางทีก็เป็นคุณแม่วัยใส บางทีก็เป็นคนในเรือนจำ” เขาบอกว่า ในบรรดางานคราฟต์ กระเป๋าแฟชั่นเป็นสิ่งที่ขายดีและขายง่ายที่สุด

สนทนากับ ‘สิงห์ อินทรชูโต’ แห่ง ม.เกษตรศาสตร์ เรื่องนวัตกรรมของ RISC ที่ Upcycle จากเศษขยะ

นอกจากกลุ่มคนที่ว่ามา ถ้าคนทั่วไปอยากจะมาเรียนเรื่อง Upcycling บ้างจะได้ไหม

“ที่ RISC มีสัมมนาสำหรับ Professional ส่วนที่ SCRAP LAB ใคร ๆ ก็มาเรียนได้ จะมีเยาวชนมานั่งเรียนเต็มไปหมด เด็ก ๆ จากมูลนิธิกระจกเงาก็มาครับ”

SCRAP LAB มี 9 สเต็ปในการสอน ผู้เรียนจะเข้าเรียนสเต็ปละ 1 – 2 สัปดาห์ เรียนไปเรื่อย ๆ จนครบคอร์ส จนปัจจุบันเห็นผลว่ามีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการ Upcycling เศษวัสดุเกิดขึ้นมามากมาย

“ในอนาคต Upcycled Material จะมีบทบาทมากขึ้นแน่นอน ทรัพยากรมันเริ่มร่อยหรอ สูญพันธุ์ไปเรื่อย ๆ แร่เงินก็จะสูญพันธุ์ แม้แต่ฟอสเฟตก็จะสูญพันธุ์ ทุกอย่างจะสูญพันธุ์แบบไม่กลับมาแล้ว สุดท้ายก็ต้องเอาของที่ขุดเจาะออกมาแล้วนี่แหละมาหมุนใช้ใหม่ ปรับใหม่ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น รับรองว่า Upcycled Material จะกลายเป็น Hot Topic ของสังคม”

เขาบอกว่า เป้าหมายของเราไม่ควรเป็น Net Zero Carbon แต่ควรเป็น Carbon Negative เพื่อที่จะบาลานซ์กับผู้คนที่ทำไม่ได้

“ราชมงคลธัญบุรี, Carpet Maker และ GC เป็นเครือข่ายที่ดีมากครับ” สิงห์พูดถึงมิตรที่ช่วยสนับสนุน พากันไปสู่ Carbon Negative “เราไม่มีทางเก็บขยะในทะเลระยองกลับมาผลิตผลงานได้เลยถ้าไม่มีเขา”

สนทนากับ ‘สิงห์ อินทรชูโต’ แห่ง ม.เกษตรศาสตร์ เรื่องนวัตกรรมของ RISC ที่ Upcycle จากเศษขยะ
สนทนากับ ‘สิงห์ อินทรชูโต’ แห่ง ม.เกษตรศาสตร์ เรื่องนวัตกรรมของ RISC ที่ Upcycle จากเศษขยะ

“ครั้งนั้นไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมมาร่วมงาน GC Circular Living Symposium ผมมาร่วมงานน่าจะทุกครั้ง เขาชวนผมมาเป็นวิทยากร แต่สุดท้ายแล้วผมก็ได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ จากสปีกเกอร์คนอื่น ๆ เป็นเวทีที่ผมได้เรียนรู้เยอะเลย”

เขาเดินนำเราดู ‘ห้องสมุดวัสดุ’ ของ RISC อย่างภูมิใจ แทนที่จะมีหนังสือเรียงเป็นตับอย่างที่อื่น ห้องสมุดที่นี่เต็มไปด้วย Upcycled Material และวัสดุอีโคอื่น ๆ ที่จะเปลี่ยนวงการอสังหาฯ ได้อีกมากมาย

“วัสดุที่ผมอยากทำอันต่อไป เพราะยังทำไม่สำเร็จ คือพวกกีบหมู กีบวัว ที่เขาเชือดกันทุกวัน แต่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ต่อ” สิงห์ อินทรชูโต เล่าถึงแผนในอนาคตด้วยตาที่เป็นประกาย 

ชักอยากจะเห็นผลงานแล้วสิ

สนทนากับ ‘สิงห์ อินทรชูโต’ แห่ง ม.เกษตรศาสตร์ เรื่องนวัตกรรมของ RISC ที่ Upcycle จากเศษขยะ

เห็นได้ว่าจากความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เกิดเป็นวัสดุใหม่ ๆ ที่สามารถหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่และรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง   

“เพราะศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของเราทุกคน”

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ