“คนนั้นไง อาจารย์สิงห์”
พี่ที่นั่งอยู่ด้วยกันชี้ให้ดูหนึ่งในสปีกเกอร์ที่กำลังพูดอยู่บนเวที เขาดูเป็นคนมีความรู้ มั่นอกมั่นใจ และ ‘ไนซ์’ ในขณะเดียวกัน
เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราได้ไปงาน GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero ซึ่งจัดเป็นปีที่ 3 และตั้งใจสื่อสารเกี่ยวกับการยกระดับความร่วมมือด้านความยั่งยืน ด้วยการต่อยอดการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ ควบคู่ไปกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์

หลังจากอาจารย์สิงห์พูดจบ เราได้พูดคุยกับเขาเป็นการส่วนตัว จึงได้มีโอกาสได้นัดหมายมาเยี่ยมเยือนเขาที่ RISC หรือ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ในวันนี้
ณ ออฟฟิศบนตึกสูงใจกลางเมืองที่มีบรรยากาศของนวัตกรรมล้ำสมัยแห่งนี้ เราจะมาคุยถึงประวัติชีวิต การทำงานกับ Upcycled Material และมุมมองเกี่ยวกับโลกของ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ดีไซเนอร์ที่มีแพสชันกับสิ่งแวดล้อมอย่างแรงกล้า ในคอลัมน์ In Design

อยู่อย่างสิงห์
‘สิงห์’ เป็นคนหลายบทบาท เขาเป็นสถาปนิก เป็นอาจารย์ประจำภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ มีศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (SCRAP LAB) อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาอยู่ที่ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ที่ที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ตอนนี้
“ผมเคยเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่งมาก่อนในระบบการศึกษาไทย” อาจารย์เล่าให้ฟังถึงชีวิตในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่เขาสอนอยู่ นึกไม่ถึงเลยว่าคนเก่งอย่างเขาจะเคยมีช่วงเวลาแบบนั้นด้วย “พอย้ายไปเรียนเมืองนอก ชีวิตก็เปลี่ยนไปเลย เราเจอสิ่งที่เราทำได้”
15 ปีในประเทศไทยไม่ได้ทำให้เขาค้นพบตัวเอง แต่อเมริกากลับให้สิ่งนั้น เขาได้เรียนสถาปัตยกรรม วิชาที่เขาชอบในระดับปริญญาตรี แล้วไปต่อ Building Assembly หรือการประกอบอาคารที่เยอรมนีในระดับปริญญาโท ส่วนปริญญาเอกที่ MIT เขาทำวิจัยเกี่ยวกับการนำความยั่งยืนเข้าไปใช้ในโครงการตามความสนใจของตัวเอง

“ผมสนใจเรื่องการออกแบบที่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และศึกษานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างที่ผมทำมันจะลิงก์อยู่กับแกนนี้”
ทำไมถึงมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ – เราถามด้วยความสงสัย เขาดูอินมากจริง ๆ
“ซีแอตเทิล วอชิงตัน ที่ผมไปอยู่ สิ่งแวดล้อมมันดี๊ดีครับ ผมอยู่ในหุบเขา แล้วออกไปทำกิจกรรมเอาต์ท์ดอร์ทุกสุดสัปดาห์ ทั้งพายเรือแคนู ไปแคมป์ปิ้ง ไปปินเขา ไปเล่นสโนว์บอร์ด เล่นสกี ผมไม่รู้สึกว่าธรรมชาติเป็นเรื่องไกลตัว” อาจารย์สิงห์รำลึกความหลัง “เรื่องสิ่งแวดล้อมมันเป็นสามัญสำนึก”
“ป่าหลังบ้านผมที่นู่นยังสวยกว่าสวนสาธารณะที่นี่เลย” คือประโยคที่อาจารย์สิงห์พูดแล้วเรารู้สึกจี๊ดในใจที่สุด
เขามองว่าคนไทยไม่ค่อยซาบซึ้งกับธรรมชาติ ต้นไม้เพื่อนบ้านแผ่เกินรั้วมาก็เป็นเรื่องผิด ใบไม้ร่วงตามพื้นหน้าบ้านก็พาให้อึดอัดใจ แต่กลับกัน บ้านของอาจารย์สิงห์ที่วอชิงตัน ถึงเป็นต้นไม้สาธารณะ เจ้าของบ้านที่อยู่ตรงนั้นก็ยังช่วยดูแลให้งอกงาม
ในปี 2006 อาจารย์สิงห์กับเพื่อน วีรนุช ตันชูเกียรติ ได้ช่วยกันก่อตั้ง OSISU แบรนด์ที่ทำผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุขึ้นมา เมื่อแบรนด์ไปได้ดี โด่งดังจนได้ส่งขายต่างประเทศ ไปลอสแอนเจลิส ไปฮอลลีวูด รศ.ดร.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น ก็ขอให้ช่วยนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาสอนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยบ้าง ด้วยเหตุนั้น ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ SCRAP LAB จึงถือกำเนิดขึ้น
“เราถอดรหัส OSISU มา เอาของที่เราทำขายมาสอนเด็ก ๆ เป็นขั้นตอน เราจะเน้นเรื่องการ Upcycling การแปลงขยะ บางเทอมเน้นขยะชุมชน บางเทอมเน้นขยะไม้ ขยะอาหาร ขยะโรงพยาบาล แล้วแต่ว่าสปอนเซอร์คือใคร เช่น สปอนเซอร์เป็นกรมหม่อนไหม ก็จะเป็นเศษไหม ขี้ไหม สารพัดไหมค้างสต็อก”

ถัดมาก็ถือคราวของศูนย์วิจัยที่ 2 อย่างศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC by MQDC
“ตอนนั้นผมสอนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มา 14 ปี แล้วก็คิดว่ามีคนพูดเรื่อง Green Buiding เยอะแยะ แต่ทำไมเมืองมันยังพังวะ” เขาใส่อารมณ์ “ไม่ใช่แค่ผม หลายคนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีงานวิจัยดี ๆ เต็มเลย แต่สุดท้ายไม่เห็นมีใครเอางานไปใช้ ไม่มีเลย ที่ผ่านมา 40 – 50 ปี การตัดสินใจเหมือนเดิม การเลือกวัสดุเหมือนเดิม แนวคิดก็เดิม ๆ
“ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้ เราต้องการยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบและการก่อสร้างให้ดีขึ้น
“ผมอยากทำ ก็เลยต้องกล้าก้าวออกมาจากมหาวิทยาลัยมาทำให้เห็นจริง”
อาจารย์สิงห์ได้คุยกับ ทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์ และ คุณวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ผู้บริหารบริษัท MQDC แล้วเห็นตรงกัน RISC จึงเกิดขึ้นด้วยงบประมาณของ MQDC และกลายเป็นเหมือน ‘สนามเด็กเล่น’ ให้นวัตกรรมต่าง ๆ เข้าสู่โครงการจริง เพื่อยกระดับคุณภาพการก่อสร้างและเมืองอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ใช่แค่โครงการของ MQDC ที่ได้นวัตกรรมไปใช้ แต่บริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ หรือองค์กรอื่น ๆ ก็ได้ทั้งนั้น
RISC ทำอยู่ 5 Hub ด้วยกัน
Hub แรก คือการดูแลเรื่อง Air Quality (ทั้งภายในและภายนอกอาคาร)
Hub ที่ 2 คือ Material and Resources พัฒนาวัสดุ และกำลังเน้นเรื่อง Low-carbon Material, Carbon-negative Material หรือ Upcycled Material
Hub ที่ 3 คือ Happiness Science หรือการเข้าใจความสุข ความเครียด และการมองสิ่งแวดล้อมของคนผ่านคลื่นสมอง
Hub ที่ 4 คือ Biodiversity ที่มองไปไกลมากกว่ามนุษย์ วิจัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศเมือง
และ Lab ที่ 5 คือ Resilience Science การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้เราอยู่รอดและพัฒนาต่อเนื่องได้ในอนาคต
“เราไม่มี Energy Lab แม้จะมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาเมือง เพราะมี Expertise ด้านนี้มากแล้ว” อาจารย์สิงห์พูด “เราอยากเติมเต็มช่องว่างเพื่อพัฒนาไปอย่างยั่งยืน เครื่องมือที่เรามีในแต่ละ Hub จะเป็นเครื่องมือที่สถาบันอื่น ๆ ยังไม่มีหรือมีไม่ครบครับ”

วันนี้ที่เราจะคุยกันเรื่อง Upcycled Material เกี่ยวข้องกับ Lab ที่ 2 ของ RISC และ SCRAP LAB
แล้ว Upcycling นี่มันคืออะไรกันนะ
“Good Question” นักเรียนนอกยิ้ม “มันก็เป็นสับเซตของ Recycling แหละครับ ปกติการรีไซเคิล เราจะได้วัสดุที่คุณภาพต่ำลง แต่ Upcycling คือมาแปรให้มีมูลค่ามากขึ้น น่าใช้ขึ้น คนอยากใช้นานขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน Life Cycle ก็ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน”
ฟังดูเป็นศาสตร์แห่งปัจจุบันและอนาคตทีเดียว
4 นวัตกรรมในวงการอสังหาฯ ที่ Upcycle จากเศษขยะ
01 UPCYCLING CARPET

“2 – 3 ปีที่แล้วประเทศเราเป็นอันดับ 6 ของโลกที่ทิ้งพลาสติกลงทะเล เลยคิดว่าถ้าจะสร้างโครงการที่ช่วยเหลือโลกให้ได้ผลจริง ๆ จะทำยังไงได้บ้าง
“เราเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นพื้นที่รองรับวัสดุกลุ่มนี้ได้ไหม” เป็นคำถามที่พวกเขาคุยกัน
โครงการของ MQDC เป็น Luxury และ Ultra luxury ของที่จะเข้าไปอยู่ในนั้นได้ อาจถึงขั้น ‘หรูหรา’ ในการจะทำผลิตภัณฑ์หรือวัสดุสักอย่างขึ้นมา อาจารย์สิงห์คิดถึงหลายตัวเลือก ตั้งแต่ปลอกหมอนไปจนถึงฝ้าเพดาน
“ผมรู้สึกว่าผมเป็นสถาปนิก ฉะนั้น ถ้าเราทำอะไรทั้งที ผมตั้งใจให้มันกลับมาสู่สถาปัตยกรรม” อาจารย์สิงห์มุ่งมั่น “แล้วผมก็คิดว่าถ้าจะรองรับขยะจำนวนมากได้มันต้องเป็นอะไร จะเป็นชุดพนักงานก็ได้อยู่หรอก เป็นม่านก็ได้ แต่พอชั่งน้ำหนักดูแล้วมันก็ไม่เยอะเท่าการเอามาทำพรม เลยตัดสินใจทำเรื่องพรม Upcycle สำหรับอาคาร”
ตรงกับที่ GC ได้มีการขับเคลื่อนการทำงานด้านความยั่งยืน มีความสนใจเรื่อง Upcycling และ Circular Economy อยู่ด้วย จึงมีการทำ MOU ร่วมกันเพื่อทำโครงการ Upcycling และได้ร่วมกับชุมชนและกลุ่มประมงไปเก็บขยะทะเล เก็บขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ มาทำโครงการกับ RISC ใช้ทำพรม
วิธีการทำพรมเริ่มตั้งแต่กระบวนการสับหรือการหั่นเป็นฝอย จากนั้นก็นำไปหลอม ขึ้นเส้นใยด้วยเครื่องเป็น PET Fiber ตามขนาดและสเปกต่าง ๆ ย้อมตามสีที่เราต้องการ แล้วเลือกเทคนิคถักทอสุดท้ายว่าอยากใช้แบบไหน มีทั้งแบบ Cut Pile และ Loop Pile รวมทั้งการถักด้วย โดยวัสดุที่ใช้ทั้งหมดก็คือพลาสติก rPET 100%
“แต่ละบริษัทใน Supply Chain มีหน้าที่กันแต่ละขั้นตอน” งานแบบนี้เครือข่ายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่ง “บริษัทที่ทำเส้น Fiber ให้คืออังไถ่ ส่วนขั้นตอนทำพรมนี่ ทำโดยทำโดยช่างฝีมือจากขอนแก่น บริษัท Carpet Maker”

พรมเส้นใยแปรรูปจากขวดพลาสติกนี้ นอกจากสวยงามเหมือนพรมพรมชั้นดีแล้ว (เราตกใจมากว่านี่คือพลาสติก 100% จริงเหรอ ไม่น่าเชื่อเลยจริง ๆ) ยังมีคุณภาพที่ดีกว่าพรมทั่วไปในท้องตลาด เช่น ป้องกันคราบสกปรก ไม่เกิดเชื้อรา ไม่ดูดซึมน้ำ นุ่ม ดูแลง่าย และไม่สะสมฝุ่นด้วย
“ตอนนี้ Magnolia ก็ใช้ Fendi หรือ Chanel ก็ใช้ และอีกหลายแบรนด์ใหญ่ก็ใช้ ไปไกลแล้วครับ” อาจารย์สิงห์เล่าด้วยรอยยิ้ม
02 SONITE SCAPA วัสดุจากเศษกระดุม

“วุ้นมะพร้าวเป็นอันแรกที่ผมเข้าไปทำงานกับ Sonite ตอนผมกลับมาจากต่างประเทศใหม่ ๆ แล้วก็ตั้ง SCRAP LAB” อาจารย์สิงห์เรียกแผ่นแรกซึ่งเป็นสีขาวด้วยชื่อเล่นที่ทุกคนเรียกกันว่า ‘วุ้นมะพร้าว’
“ตอนนั้นไปเยี่ยมโรงงานผลิตกระดุม แล้วได้เห็นการผลิตกระดุม พอเม็ดกระดุมร่วงออกมาจากแผงเหมือนรังผึ้ง เราสงสัยว่าเอาไปทำอะไร เขาก็บอกว่าเอาไปใช้อะไรไม่ค่อยได้ เพราะเป็นพลาสติกที่ไม่หลอมละลาย แปลว่าต้องฝังกลบเยอะในที่สุด ก็เลยคุยกันว่างั้นเอามาทำเป็นวัสดุใหม่อีกไหม เห็นมีโรงงานผลิตหินเทียมอยู่”
กระบวนการเปลี่ยนเศษกระดุมเป็นหินเทียม เริ่มจากการคัดแยกสีกระดุมออกเป็นกลุ่ม ๆ จากนั้นนำไปบด หากบดละเอียดมาก ก็เปลืองพลังงานและต้นทุนมาก สุดท้ายจึงมาจบลงที่บดหยาบแบบที่เห็น ซึ่งอาจารย์บอกว่าใช้พลังงานไม่มาก และยังพอเห็นเท็กซ์เจอร์ของเศษกระดุมอยู่
พวกเขานำเศษที่บดหยาบแล้ว มาผสมกับวัสดุที่ใช้ทำหินเทียมในถังกวน ด้วยปริมาณและความเร็วรอบที่เหมาะสม เทหล่อขึ้นรูป แล้วนำไปขัด การขัดจะมีฝุ่นออกมา แต่ก็พยายามนำฝุ่นนั้นไปทำอย่างอื่นต่อไม่ให้เหลือ Waste
“เราทดลองหลายวิธี อัดเศษกระดุมได้ไหม ขึ้นเป็นชิ้นงานโมเสกได้ไหม แล้วก็มานั่งสนทนากันว่าอันไหนมีตลาด ต้นน้ำ-ปลายน้ำเป็นยังไง ต้นทุนเท่าไหร่ถ้าทำแบบนี้ วางแผนยังไง ใช้ปริมาณเท่าไหร่ และจะขายใคร”
SONITE SCAPA ที่ได้ออกมานั้นช่วยลดภาระของสิ่งแวดล้อม เบากว่าหิน ตัดง่าย ช่างทั่วไปก็จัดการได้ และไม่มีรูพรุนแบบหินธรรมชาติ การไม่มีรูพรุนนี่แหละช่วยลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ ซึ่งวัสดุนี้นำไปใช้ได้หลายอย่าง ทั้งเก้าอี้ โต๊ะประชุม โต๊ะทำงาน เคาน์เตอร์ครัว เคาน์เตอร์ห้องน้ำ “ถ้าจะขายโรงพยาบาล เขาไม่ได้สนใจเรื่องกรีน เขาสนใจว่ามันจะเกิดเชื้อโรคสะสมในพื้นผิวรึเปล่า และรูปลักษณ์ดูดีรึเปล่า”
03 EMARBLE นวัตกรรมวัสดุหินเทียมจากเปลือกไข่ไก่เหลือทิ้ง

ปัญหาหลักของโรงงาน คือเขาทิ้งเปลือกไข่วันหนึ่งหลายสิบตัน เวลาเขาทำพวกไข่เหลว ไข่ผง ส่งเบเกอรี่ ส่งโรงแรม เขาจะตอกแล้วเอาเปลือกไข่ทิ้ง” อาจารย์สิงห์พูดถึงอีกโรงงานที่ได้ไปเยี่ยมชมมา “เปลือกไข่ใช้งานอะไรไม่ได้มาก บางคนขอไปทำปุ๋ย แต่ด้วยความที่มันเป็นตัน ๆ ทำปุ๋ยเท่าไหร่ก็ยังเหลือ”
เขาบอกว่าเปลือกไข่เป็นทรัพยากรที่มนุษย์สร้างใหม่ได้ แบบเดียวกับต้นไม้ เล็บหมู หรือเขาควาย จึงอยากนำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง ด้วยความที่เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตถึง 99% แข็งมาก จึงมาลงเอยที่การนำมาทำหินเทียม

เปลือกไข่มีโปรตีนเมือกเหลว ๆ เป็นชั้นขาว ๆ บาง ๆ ข้างใต้เปลือก การจัดการกับเปลือกไข่ในขั้นต้นจึงต้องใช้เครื่องแยกระหว่างแคลเซียมคาร์บอเนตกับชั้นโปรตีนขาว ๆ ที่มีเมือกนั้น ส่งเมือกไปทำเครื่องสำอาง แล้วนำเปลือกมาดำเนินการต่อกับบริษัท Sonite เจ้าเก่าเจ้าเดิม โดยใช้เปลือกไข่ 1600 ฟองต่อ 1 ตารางเมตร
“เปลือกไข่นี่แข็งจนใบเลื่อยทื่อเลยนะ” นวัตกรหัวเราะ ก่อนบอกว่าช่างชอบทำเปลือกข้าวที่นิ่มกว่าเปลือกไข่
ข้อดีของ EMARBLE ก็คล้ายผลิตภัณฑ์ก่อนหน้าอย่าง SONITE SCAPA คือไม่มีรูพรุน เชื้อโรคลงไปอยู่ไม่ได้ ทำความสะอาดง่าย ใช้กับโรงพยาบาลได้ดี
“ผมว่าสวยมาก ถ้าใช้ตามรีสอร์ตชายทะเลนี่ก็จะเลิศเลย มันเหมือนทราย” เขาพูดพลางชี้ให้ดูแบบขัดด้านและแบบขัดมัน
04 UPCYCLED WALKWAY

“ข้างหลังนั่น My Pride เลย ดูไม่สวยแต่ใช้เยอะมาก” อาจารย์สิงห์เดินอย่างกระตือรือร้นออกมาจากโต๊ะที่วางวัสดุต่าง ๆ เมื่อครู่
“นี่คือขอบถนนทำด้วยพลาสติก ปริมาณทำขอบถนนเยอะพอกับถนนเลย ถนนยาวกี่เมตรก็ยาวควบคู่กันไป”
วิธีทำ จะผสมเศษพลาสติกที่ได้จากหลุมฝังกลบ เข้ากับซีเมนต์ ทราย น้ำ โดยน้ำหนักของพลาสติกเหล่านี้อยู่ที่ 12 – 13% แต่หากพูดถึงปริมาตร พลาสติกเหล่านี้กินถึงไป 50% เรียกว่าช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้เป็นอย่างดี
“นี่เป็นเศษพลาสติก Low Grade เหม็นหึ่งครับ เขาจะฝังกลบหรือเผาถ้าเราไม่ทำอะไร”
แล้วคุณสมบัติต่างกับบล็อกปกติมั้ย
“ต้องได้มาตรฐาน มอก. ห้ามแตกต่างมาก” อาจารย์พูดจนเรามั่นใจในคุณภาพของบล็อกที่ผลิตโดยหนึ่งใน Supply Chain อย่าง ส.อรุณ “แต่เบากว่านะ เรื่องน้ำหนักเขาไม่ได้ว่าอะไร”
ไม่เพียงแต่ขอบถนน นวัตกรรมนี้ยังปรับได้หลายสูตร แล้วนำไปใช้ประโยชน์ต่างกัน ที่วางกองอยู่บนพื้นตรงหน้าเรานี้มีทั้งบล็อกไม่รับน้ำหนัก บล็อกระบายอากาศ (Ventilation Block) และบล็อกทางเดิน ซึ่งอาจารย์สิงห์บอกว่าบล็อกระบายอากาศและบล็อกขอบถนนจะใส่พลาสติกได้เยอะกว่าบล็อกทางเดิน เนื่องจากไม่ต้องกังวลว่าจะพังเท่าไรนัก

ในนามของความยั่งยืน
SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย และที่สำคัญไม่แพ้เรื่องสิ่งแวดล้อม ก็คือมนุษย์ สิงห์สนใจความยั่งยืนของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
SCRAP LAB เป็นศูนย์ที่ทำงานกับชุมชนอยู่เสมอ เราได้ฟังเขายกตัวอย่างงานหนึ่งที่น่าสนใจมา ก็คือ ‘กระเป๋าถุงน้ำยาล้างไต’
“เราทำงานกับโรงพยาบาลกลาง” เขาเล่า “เวลาผู้ป่วยฟอกไต ถุงน้ำยาล้างไตด้านบนจะสะอาดมาก ส่วนถุงล่างจะสกปรก ผู้ป่วยมักทิ้งรวมกันไปเลย กลายเป็นขยะติดเชื้อไปหมด เราเลยแยกถุงบนออกมา แล้วหารายได้จากตรงนี้คืนกลับไปที่โรงพยาบาล”
สิ่งที่เขาทำคือรับซื้อถุงเหล่านั้นมาจากโรงพยาบาล แล้วไปสอนชุมชนต่าง ๆ ตัดเย็บเป็นกระเป๋า ชุมชนที่ SCRAP LAB ทำงานด้วยโดยตรงจะอยู่ที่ดินแดง ส่วนชุมชนอื่น ๆ เป็นเครือข่ายของโรงพยาบาล ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลกลาง ตอนนี้ก็ขยายผลไปทั่วประเทศแล้ว
“พวกเรา SCRAP LAB จะส่งทีมไปสอน บางทีพยาบาลมาเรียน บางทีก็เป็นแขกในชุมชนมาเรียน บางทีก็เป็นคุณแม่วัยใส บางทีก็เป็นคนในเรือนจำ” เขาบอกว่า ในบรรดางานคราฟต์ กระเป๋าแฟชั่นเป็นสิ่งที่ขายดีและขายง่ายที่สุด

นอกจากกลุ่มคนที่ว่ามา ถ้าคนทั่วไปอยากจะมาเรียนเรื่อง Upcycling บ้างจะได้ไหม
“ที่ RISC มีสัมมนาสำหรับ Professional ส่วนที่ SCRAP LAB ใคร ๆ ก็มาเรียนได้ จะมีเยาวชนมานั่งเรียนเต็มไปหมด เด็ก ๆ จากมูลนิธิกระจกเงาก็มาครับ”
SCRAP LAB มี 9 สเต็ปในการสอน ผู้เรียนจะเข้าเรียนสเต็ปละ 1 – 2 สัปดาห์ เรียนไปเรื่อย ๆ จนครบคอร์ส จนปัจจุบันเห็นผลว่ามีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการ Upcycling เศษวัสดุเกิดขึ้นมามากมาย
“ในอนาคต Upcycled Material จะมีบทบาทมากขึ้นแน่นอน ทรัพยากรมันเริ่มร่อยหรอ สูญพันธุ์ไปเรื่อย ๆ แร่เงินก็จะสูญพันธุ์ แม้แต่ฟอสเฟตก็จะสูญพันธุ์ ทุกอย่างจะสูญพันธุ์แบบไม่กลับมาแล้ว สุดท้ายก็ต้องเอาของที่ขุดเจาะออกมาแล้วนี่แหละมาหมุนใช้ใหม่ ปรับใหม่ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น รับรองว่า Upcycled Material จะกลายเป็น Hot Topic ของสังคม”
เขาบอกว่า เป้าหมายของเราไม่ควรเป็น Net Zero Carbon แต่ควรเป็น Carbon Negative เพื่อที่จะบาลานซ์กับผู้คนที่ทำไม่ได้
“ราชมงคลธัญบุรี, Carpet Maker และ GC เป็นเครือข่ายที่ดีมากครับ” สิงห์พูดถึงมิตรที่ช่วยสนับสนุน พากันไปสู่ Carbon Negative “เราไม่มีทางเก็บขยะในทะเลระยองกลับมาผลิตผลงานได้เลยถ้าไม่มีเขา”


“ครั้งนั้นไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมมาร่วมงาน GC Circular Living Symposium ผมมาร่วมงานน่าจะทุกครั้ง เขาชวนผมมาเป็นวิทยากร แต่สุดท้ายแล้วผมก็ได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ จากสปีกเกอร์คนอื่น ๆ เป็นเวทีที่ผมได้เรียนรู้เยอะเลย”
เขาเดินนำเราดู ‘ห้องสมุดวัสดุ’ ของ RISC อย่างภูมิใจ แทนที่จะมีหนังสือเรียงเป็นตับอย่างที่อื่น ห้องสมุดที่นี่เต็มไปด้วย Upcycled Material และวัสดุอีโคอื่น ๆ ที่จะเปลี่ยนวงการอสังหาฯ ได้อีกมากมาย
“วัสดุที่ผมอยากทำอันต่อไป เพราะยังทำไม่สำเร็จ คือพวกกีบหมู กีบวัว ที่เขาเชือดกันทุกวัน แต่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ต่อ” สิงห์ อินทรชูโต เล่าถึงแผนในอนาคตด้วยตาที่เป็นประกาย
ชักอยากจะเห็นผลงานแล้วสิ

เห็นได้ว่าจากความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เกิดเป็นวัสดุใหม่ ๆ ที่สามารถหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่และรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
“เพราะศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของเราทุกคน”