20 พฤศจิกายน 2024
384

การมาสิงคโปร์รอบนี้ของเราน่าตื่นเต้นตั้งแต่เท้ายังไม่เหยียบพื้น เพราะเราได้รับคำเชิญมาร่วมงาน ‘Singapore Writers Festival 2024 (SWF)’ เทศกาลที่รวบรวมนักเขียนในสิงคโปร์และทั่วโลกไว้มากกว่า 300 คน ตั้งแต่ระดับได้รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ไปจนถึงเดบิวต์ออกหนังสือเล่มแรก

SWF เป็นเทศกาลที่จัดทุกปี นับตั้งแต่ครั้งแรกปี 1986 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวสิงคโปร์ได้พบปะคนในวงการวรรณกรรมทั่วโลก ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ให้นักเขียนในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เฉิดฉาย

ภาพ : Moonrise Studio

ก่อนมาเราจินตนาการไว้ว่างานนี้คงเหมือนกับงานหนังสือบ้านเรา แต่ภาพที่เราคิดไว้ออกจะไกลจากความเป็นจริงสักหน่อย เพราะเทศกาลนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการขายหนังสือ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิด ไอเดีย ประสบการณ์การทำงานที่จะช่วยพัฒนาวงการหนังสือเอเชียผ่านกิจกรรมมากถึง 200 โปรแกรม

เนื่องจากงานจัดในวันที่ 8 – 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บทความชิ้นนี้เลยถือเป็นบันทึกประสบการณ์ที่เราได้ไปร่วมงานนี้ครั้งแรก ผ่านกิจกรรมบางส่วนที่เรามีโอกาสเข้าร่วม เผื่อว่าเป็นข้อมูลให้บางคนที่สนใจเตรียมตัวไปร่วมงานครั้งหน้า และเป็นโอกาสที่เราได้สัมผัสย่านประวัติศาสตร์ (Civic District) ทำความรู้จักอีกด้านของสิงคโปร์ที่เป็นมรดกจากยุคล่าอาณานิคม

In Our Nature

พื้นที่จัดงานหลักอยู่ที่อาคารของ Arts House Limited (AHL) องค์กรที่ทำงานเพื่อสนับสนุนวงการศิลปะของสิงคโปร์ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดเทศกาล

อาคาร 2 ชั้นหลังนี้สร้างขึ้นในปี 1827 ความตั้งใจแรกเพื่อเป็นที่พักอาศัยของพ่อค้าชาวอังกฤษคนหนึ่ง ก่อนจะมีข้อพิพาทเรื่องที่ดิน รัฐบาลในยุคนั้นจึงยึดไปใช้เป็นสำนักงาน ต่อมาพัฒนาเป็นรัฐสภาแห่งแรกของสิงคโปร์ และปิดร้างไปในปี 2014 ประตูถูกเปิดออกอีกครั้งเพื่อเป็นที่ตั้งของ AHL

สถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียงและเป็นส่วนหนึ่งของการจัดเทศกาล คือโรงละครวิคตอเรียและคอนเสิร์ตฮอลล์ (Victoria Theatre and Concert Hall) เป็นสถานที่จัดการแสดงที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของสิงคโปร์

หากเรียกรวม ๆ ย่านนี้ถือเป็นย่านประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ (Civic District) นักท่องเที่ยวหลายคน (รวมถึงเรา) มักมาเยือนเพื่อถ่ายรูปและเสพสถาปัตยกรรมสวย ๆ แต่ในมุมของคนท้องถิ่น ที่นี่เปรียบเสมือนมรดกจากยุคที่พวกเขาตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในปี 1819 และยาวนานต่อเนื่องมาเกือบ 200 ปี

หลายที่ถูกปรับปรุงเพื่อลบร่องรอย และแสดงถึงความเป็นสิงคโปร์ที่คนสิงคโปร์กำหนดเอง การจัดเทศกาลที่นี่เลยเปรียบเสมือนการนำเสนอประวัติศาสตร์และความเป็นเอกราช

‘In Our Nature’ เป็นธีมเทศกาลครั้งนี้ Yong Shu Hoong ผู้อำนวยการเทศกาลคนใหม่เล่าถึงที่มาที่ไปว่า มาจากการระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทำให้หลายคนให้ความสนใจสุขภาพและธรรมชาติ ธีมงานปีนี้เลยอยากใช้สิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และดึงให้คนที่เหลือหันกลับมาสนใจเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

คำว่า ธรรมชาติ (Nature) มีหลายความหมาย ไม่ว่าจะเป็นความหมายตรงตัว หรือหมายถึงธรรมชาติของมนุษย์ สัญชาตญาณในการใช้ชีวิต ทำให้ทีมงานสนุกกับการออกแบบกิจกรรมภายใต้ธีมนี้

WEBTOON เทรนด์มาแรงในวงการวรรณกรรมเอเชีย

ไฮไลต์ของเทศกาลปีนี้อยู่ที่ WEBTOON หรือเว็บไซต์เผยแพร่การ์ตูนชื่อดังของเกาหลี เราได้คุยกับ Yong Shu Hoong เขาอธิบายว่า ที่เลือกไฮไลต์เป็นเว็บตูน เพราะซีรีส์เกาหลีได้รับความนิยมไปทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลายเรื่องมีที่มาจากการ์ตูนในเว็บตูน ซึ่งนี่ถือเป็นก้าวสำคัญในวงการวรรณกรรมเอเชียที่การ์ตูนมีบทบาทสำคัญและคนให้ความสนใจ

ภายในเทศกาลมีนิทรรศการให้เราเข้าใจความเป็นมาของเว็บตูน พร้อมเชิญนักวาดชื่อดังอย่าง Choi Gyu Seok ผู้วาด Hellbound ที่ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ฉายบน Netflix และ Kwang Jin ผู้วาด Itaewon Class ที่ถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ฉายบน Netflix เช่นกัน

นอกจากนี้ มีนักเขียนต่างชาติมาร่วมงานอีกมากมาย ไม่ว่าจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา อิตาลี โคลอมเบีย ฯลฯ เป็นความตั้งใจของ Yong Shu Hoong ที่อยากให้คนในวงการวรรณกรรมสิงคโปร์เข้าถึงความรู้และไอเดียในการสร้างงานของตัวเอง (เขากระซิบกับเราว่า หวังว่างานนี้จะสร้างนักวาดการ์ตูนสิงคโปร์ที่โด่งดังระดับเดียวกับนักวาดการ์ตูนเกาหลี)

จาก หลานม่า สู่การเชื่อมความสัมพันธ์กับคุณย่า-คุณยาย

“หนังบ้านคุณกำลังได้รับความนิยมที่นี่นะ”

ประโยคที่ Yong Shu Hoong บอกกับเรา พร้อมกับแนะนำกิจกรรมที่เราไม่ควรพลาดในงาน เป็นกิจกรรม ชื่อว่า ‘How to Tell a Million Stories Before Grandma Dies’ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ หลานม่า (How to Make Millions Before Grandma Dies)

และเหตุผลอีกอย่าง โปรแกรมนี้จัดโดยทีมงานระดับเยาวชน เป็นความตั้งใจที่ต้องการให้พื้นที่คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ เป็นการทำงานโดยเยาวชนเพื่อผู้ร่วมงานที่เป็นเยาวชนด้วยกัน 

ภาพ : Moonrise Studio

ทีมงานคนรุ่นใหม่จะออกแบบกิจกรรมโดยเริ่มจากสิ่งที่เขาสนใจ หนัง หลานม่า เป็นหนึ่งในนั้น โปรแกรมนี้ชวนนักเขียนที่มีผลงานเล่าเรื่องคุณย่า-คุณยายของของ Dana Lam, Prasanthi Ram และ Josephine Chia มาแชร์ประสบการณ์การสร้างความสัมพันธ์และความสำคัญของคนรุ่นเก่า ท่ามกลางโลกที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ แต่วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ก็ไม่ควรถูกละเลย เพราะเป็นรากเหง้าที่บอกว่าเราเป็นใคร 

ทั้ง 3 คนมีความเห็นตรงกันว่า การที่สิงคโปร์เคยตกอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษเป็นผลพวงให้ภาษาราชการเป็นภาษาอังกฤษ แม้จะมีภาษาอื่น ๆ อย่างจีน ทมิฬ และมลายู แต่คนส่วนใหญ่ทุ่มเทความสนใจไปที่ภาษาอังกฤษภาษาเดียว จนละเลยภาษาที่เป็นรากเหง้าของตัวเอง แล้วทำให้พวกเขาสื่อสารกับคนรุ่นก่อน ๆ ยากลำบากขึ้น ความรู้เกี่ยวกับบรรพบุรุษและที่มาที่ไปของตัวเองจึงลดลงตาม

ภาพ : Moonrise Studio

ครอบครัวของ Chia มีพื้นเพเป็นคนเปอรานากัน แต่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนจีน หนังสือของเธอจึงพยายามถ่ายทอดความเป็นเปอรานากัน ลูกผสมระหว่างจีนกับมลายูให้คนเข้าใจ ซึ่งผู้ที่ให้ข้อมูลหลัก ๆ คือคุณย่าของเธอ เป็นโอกาสที่เธอได้สื่อสารกับพวกเขา

เช่นเดียวกับ Ram ที่ครอบครัวฝั่งแม่อพยพมาจากอินเดีย การที่เธอเขียนหนังสือโดยเลือกใช้ช่วงเวลาที่แม่เติบโตที่อินเดีย ทำให้แม่ของเธอมีความสุขที่ได้ย้อนกลับไป ณ เวลานั้น และมีคนที่อ่านงานเธอมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับแม่

“ตอนที่ฉันเรียนรู้วัฒนธรรมจากญาติผู้ใหญ่นั้นเป็นแบบบนลงล่าง แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว มันเป็นการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนกัน”

ทัศนคติของสังคมต่อเรื่องความแก่ มีผลให้หลายคนมองว่า เมื่ออายุมาถึงวัยที่เป็นคุณย่า-คุณยาย นับเป็นจุดจบของชีวิต แต่สำหรับ Lam มันคือความโชคดีต่างหากที่พวกเขามีชีวิตมาถึงวัยนี้ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองส่งต่อให้ลูกหลาน และเธอเองก็กำลังอยู่ในวัยนี้ พร้อมที่จะส่งต่อเรื่องราวตัวเองให้หลาน ๆ

เรียนทำหนังสือกับคนพิการ

ในบรรดาโปรแกรมทั้งหมด เราตั้งตารอกิจกรรมนี้มากที่สุด เพราะได้ทำหนังสือเอง แถมได้ไปดูโลกของคนพิการในสิงคโปร์ เราเดินทางไปทำกิจกรรมที่ Society for the Physically Disabled หรือ SPD เป็นองค์กรสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือคนพิการ ให้พวกเขาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างสะดวกสบาย ไร้ข้อจำกัด

กิจกรรมทำหนังสือเป็นหนึ่งในโปรแกรมที่มีชื่อว่า ‘Artisan Collab’ เป็นความร่วมมือระหว่างนักออกแบบ ศิลปิน และ SPD เพื่อจัดอบรมและสนับสนุนให้คนพิการเข้าถึงการทำงานมาตั้งแต่ปี 1964 

ความประทับใจแรกหลังจากก้าวเท้าเข้ามา คือประตูทุกบานเป็นระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่รั้วไปจนถึงประตูห้องน้ำ มีเซนเซอร์จับสัญญาณคน เราว่ามันเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้คนพิการใช้ชีวิตได้คล่องตัว 

การขึ้นลงอาคาร 3 ชั้นก็มีทางเลือกทั้งลิฟต์ ทางลาด และบันได บริเวณทางเดินก็มีราวจับตลอดทาง ทำให้คนพิการใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง

ห้องจัดกิจกรรมมีโต๊ะตั้งอยู่ประมาณ 6 ตัว แต่ละโต๊ะมีสมาชิกประจำการเพื่อเตรียมสอนเรา ตั้งแต่ทำปก เย็บกระดาษ ไปจนถึงประกอบเป็นรูปเล่ม

การทำหนังสือไม่ยากนัก เป็นแบบเย็บกี่และมีคนคอยจับมือพาทำ คนที่ช่วยสอนเราคือ José อดีตนักบาสเกตบอลที่ประสบอุบัติเหตุจนต้องนั่งรถเข็น 

เจ้าตัวบอกว่าสภาพแวดล้อมสิงคโปร์ไม่ได้ทำให้การชีวิตนอกบ้านของเขายากเกินไป เราพยักหน้าเห็นด้วย เพราะเมื่อเทียบกับบ้านเราแล้ว ที่นี่คงเป็นสวรรค์ไปเลยแม้ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกที่ควรจะเป็น

ถ้าใครสนใจอยากมาเรียนทำหนังสือเหมือนเรา หรืออยากอุดหนุนสินค้าแบบอื่น ๆ จากฝีมือพวกเขา ติดตามรายละเอียดได้ที่นี่

เรียนเขียนกลอนกับนักเขียนพูลิเซอร์

ภาพ : Moonrise Studio

มางานนักเขียนทั้งที แต่ไม่มีกิจกรรมกับนักเขียนคงไม่ได้แน่ ๆ เราเลือกเข้าคลาสของ Gregory Pardlo ที่จะมาแชร์วิธีเขียนกลอน (Poetry) ฉบับเขา Pardlo เป็นกวีชาวอเมริกันและได้รับรางวัลพูลิเซอร์ในปี 2015

เขาเริ่มต้นด้วยเรื่องพื้นฐานที่สุด คือเป้าหมายของการสื่อสาร อย่าง Pardlo เขาแต่งกลอนเพราะต้องการให้คนเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาธรรมชาติและความเหลื่อมล้ำ เมื่อรู้วัตถุประสงค์แน่ชัด จะทำให้การแต่งกลอนง่ายขึ้น รู้ว่าต้องไปทิศทางไหน

“สิ่งที่เรากลัวมากที่สุด คือสิ่งที่เราอยากเขียนถึงที่สุด” การหยิบเรื่องใกล้ตัวมาเขียน จะเรียกว่าง่ายก็ง่าย เพราะเป็นเรื่องจากประสบการณ์ของเราเอง แต่มีความยากในแง่ที่ว่าจะเล่าอะไรและเราอยากพูดถึงแค่ไหน คำแนะนำของ Pardlo คือให้ลองเขียนออกมาก่อน หากเรายังลังเลไม่แน่ใจ สุดท้ายแล้วเราจะไม่มีโอกาสเขียน เมื่อเขียนแล้วเราจะได้เห็นและรู้ว่าควรไปต่ออย่างไร

สุดท้ายแล้วสิ่งที่เขาชอบมากที่สุด คือการอ่านกลอนให้คนอื่น ๆ ฟัง เขาว่ามันทำให้ได้ย้อนกลับไปช่วงเวลาที่เขียนกลอนพวกนี้ ได้กลับไปหาต้นเหตุที่ทำให้เขาผลิตงานออกมา บางทีเขาได้พบความรู้สึกหรือเกิดไอเดียใหม่ ช่วยในการลงมือทำงานชิ้นต่อไป

นี่อาจเป็นครั้งแรกที่เราได้มาร่วม Singapore Writers Festival เป็นการมาเพื่อเก็บประสบการณ์ แต่ประสบการณ์ที่เราได้รับก็ทำให้เชื่อว่าทริปครั้งต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้าคงเกิดขึ้นแน่ ๆ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตขับเคลื่อนด้วยแสงแดดและหวานร้อย